หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow เศษสงคราม สร้างดอกไม้ คิตตี้ แม็คคินซี่ | รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 61 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

เศษสงคราม สร้างดอกไม้ คิตตี้ แม็คคินซี่ | รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ พิมพ์
Wednesday, 27 July 2011
Life Style

วันที่ 7 มิถุนายน 2554

เศษสงคราม สร้างดอกไม้ คิตตี้ แม็คคินซี่
โดย : รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์

 

 
                                                   ภาพโดย : อนุช ยนตมุติ


จุดพลิกผันชีวิตของนักข่าวหญิงสู่การทำงานเพื่อผู้ลี้ภัย ไม่ได้มีที่มาจากห้องเรียน การอ่านสารคดีสงครามแต่เกิดขึ้นกลางดินโคลน ไกลเมืองแต่ใกล้ปืน

ภาพของค่ายผู้ลี้ภัย คนหนีตายจากสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาจเป็นเพียงจินตนาการไกลสุดขั้วราวเทพนิยายของใครหลายคน ทั้งที่พวกเขาเหล่านั้น มีตัวตนจริงและอยู่ใกล้กับเราราวสัมผัสได้...โดยเฉพาะชายแดนฝั่งตะวันตกของไทย


ยุโรปตะวันออก : ครั้งหนึ่ง สโลโบดัน มิโลเชวิซ ผู้นำยูโกสลาเวีย อาจเป็นผู้สั่งการสังหารใครหลายคนในสงครามบอสเนีย แต่สำหรับ คิตตี้ แม็คคินซี่ (Kitty McKinsey) บางอย่างในตัวเธอถือกำเนิดขึ้น ณ สมรภูมิแห่งนั้น

พลิกผันจากอาชีพนักข่าวต่างประเทศของสำนักข่าวใหญ่ สู่ตำแหน่งเจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายข่าวสารข้อมูลประจำภูมิภาคไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ของ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) คิตตี้ เปลี่ยนสถานะจากผู้บันทึก-บอกเล่าเหตุการณ์ผ่านหน้าสื่อมาเป็นผู้หยิบยื่นส่งความช่วยเหลือให้ผู้ลี้ภัยโดยตรง


"ฉันรับรู้เรื่องราวต่างๆ ของผู้ลี้ภัยมามากมาย แต่สิ่งที่ฉันจะบอกจริงๆ คือ พวกเขาไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือเป็นสิ่งของหรืออะไรเลย พวกเขาแค่อยากช่วยตัวเองได้มากกว่า"


อาจเป็นเรื่องของการสื่อสาร หรือพรมแดนระยะทาง ผู้ลี้ภัยมักถูกกีดกันให้อยู่ไกลตา ห่างเหินจากกระแสสนใจของสังคม บางครั้งก็เป็นเรื่องความสับสนด้านนิยาม ใครคือ "แรงงานต่างด้าว" ใครคือ "ผู้ลี้ภัย"...อะไรคือ "กะเหรี่ยง" อะไรคือ "ชาวเขา"

นอกจากควันปืนและคนตาย ที่ชายแดนของสงคราม คนนับหมื่นแสนต่างรอโอกาสเพียงแค่ให้ได้มีชีวิตในฐานะมนุษย์ คิตตี้ ถ่ายทอดเรื่องราวว่า ความโหดร้ายไม่ได้มีอยู่แค่ในสนามรบ

และในขุมนรกก็ยังมีดอกไม้บาน

 

เริ่มต้นอาชีพนักข่าวอย่างไร

ฉันเริ่มสนใจงานข่าวตั้งแต่อายุ 16 โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับโซเวียต ก็เลยตัดสินใจไปเรียนเกี่ยวกับยุโรปตะวันออกและภาษารัสเซียที่แคนาดา แต่กว่าจะได้เป็นนักข่าวจริงๆ ก็อายุ 19 วันจันทร์ที่ผ่านมาฉันอายุ 59 แล้ว แสดงว่าทำงานข่าวมาตั้งแต่ 40 ปีก่อน (หัวเราะ)

สมัยนั้นฉันยังชอบงานเขียนด้วยนะ ก็เลยเข้าไปเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์ของโรงเรียนมัธยม เพราะฉะนั้น สิ่งที่ฉันชอบ 2 อย่าง ทั้งภาษาและงานเขียนก็มารวมกันได้พอดีในอาชีพนักข่าว

 

ทั้งที่เป็นคนอเมริกัน ทำไมถึงสนใจเรื่องราวของโซเวียต

สมัยเด็กๆ คุณพ่อของฉันเคยพาไปดูการประชุมสมัชชาใหญ่ของ UN (สหประชาชาติ) แล้วฉันก็เริ่มคิดว่าอยากเป็นล่ามแปลภาษา แต่ถ้าต้องแปลภาษาฝรั่งเศส หรือสเปนเป็นอังกฤษ คงจะมีคู่แข่งแย่งงานเยอะ ก็เลยเลือกเรียนภาษารัสเซีย

ทุกวันนี้คุณพ่อก็ยังแซวอยู่ว่า ตั้งแต่วันที่พาไปดูประชุม UN ใช้เวลาตั้งนานกว่าจะได้เข้ามาทำงานใน UN จริงๆ (หัวเราะ)

ตอนที่เริ่มเรียนภาษารัสเซีย ช่วงนั้นโลกกำลังอยู่ในช่วงสงครามเย็นพอดี ฉันคิดว่าเรียนเกี่ยวกับโซเวียตในอเมริกาคงไม่ใช่เรื่องดีแน่ ก็เลยไปเรียนที่แคนาดา เพราะถ้าอยู่ในอเมริกา เราจะสอนกันแต่ว่า จะต่อต้านพวกเขายังไง แต่ถ้าไปเรียนในประเทศเป็นกลาง ฉันก็สามารถเรียนรู้ได้ทั้ง 2 ฝ่าย อเมริกา และโซเวียต เพราะอย่างนี้ฉันก็เลยอยู่ในต่างประเทศตั้งแต่อายุ 17 และเริ่มงานนักข่าวครั้งแรกที่แคนาดา

ตอนเป็นนักข่าวแรกๆ ฉันถูกมอบหมายให้ไปอยู่สายข่าวอาชญากรรมกะกลางคืน ต้องทำข่าวกับตำรวจ ตั้งแต่ 3 ทุ่ม ถึง 8 โมงเช้า ตระเวนไปตามสถานีตำรวจ 11 สถานี เพื่อไปถามว่ามีข่าวอาชญากรรมให้ทำบ้างหรือเปล่า

 

ดูเป็นงานอันตรายสำหรับผู้หญิง?

(หัวเราะ) จริงๆ เมืองออตตาวา ในแคนาดา ไม่ค่อยอันตรายหรอก มันเป็นเรื่องเหยียดเพศมากกว่าที่หลายๆ คนไม่ค่อยอยากให้ผู้หญิงทำงานแบบนี้

บางครั้งถ้ามีคดีข่มขืน ตำรวจก็จะปิด ไม่ยอมบอกฉัน เพราะเห็นว่าเป็นนักข่าวผู้หญิง จริงๆ คดีข่มขืนก็เกิดแต่กับผู้หญิง ฉันก็ไม่ค่อยเข้าใจนะว่าทำไมเขาไม่บอกให้รู้บ้าง

 

จากตรงนั้น ทำไมถึงได้มาทำงานกับ UNHCR

ตอนนั้น พอออกจากแคนาดา ฉันกลับไปทำงานกับหนังสือพิมพ์ในอเมริกา แต่ได้ไปประจำอยู่ในภาคพื้นยุโรปอยู่ 20 ปี แถวๆ ยุโรปตะวันออก ติดกับเขตโซเวียต ฉันทำข่าวมาตั้งแต่ก่อนระบบคอมมิวนิสต์ล่มสลาย จนถึงการเลือกตั้งครั้งแรกในระบอบประชาธิปไตยเลย

ตอนปี 1991-1995 หลังสหภาพโซเวียตแตก มีสงครามหลายครั้งในยุโรปตะวันออก ทั้งบอสเนีย สโลวีเนีย โครเอเชีย ประมาณปี 1999 ฉันได้เข้าไปทำข่าวเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยที่หนีการไล่ล่าของ สโลโบดัน มิโลเชวิซ (อดีตผู้นำยูโกสลาเวีย) ออกมาจากโคโซโว การได้พบกับเหตุการณ์แบบนั้น ก็ทำให้เริ่มรู้สึกแล้วล่ะว่า ฉันอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อพวกเขา

หลังจากนั้นก็เริ่มทำงานให้เพื่อผู้ลี้ภัย ปี 2002 ฉันก็ได้เข้ามาทำงานใน UN ตามที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่ปี 1969

 

อะไรคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจว่า ต้องลงไปทำงานเพื่อผู้ลี้ภัย

เพราะพวกเขาเป็นคนธรรมดาที่มีศักดิ์ศรีเท่ากันกับเรา (เน้นเสียง)

ครั้งหนึ่งฉันเคยเจอคนที่ต้องรีบหนีออกจากบ้านของตัวเอง ทั้งที่ยังไม่ได้ใส่รองเท้า พวกเขาก็เป็นคนเหมือนกับฉัน แต่เพราะอุบัติเหตุบางอย่างทำให้เราต่างกัน เขาเป็นผู้ลี้ภัย แต่ฉันไม่ได้เป็น

พวกผู้ลี้ภัยต้องอยู่ในเต็นท์บนพื้นโคลนแห้งๆ ไม่มีอาหาร ไม่มีอะไรเลย แต่คนพวกนี้มีน้ำใจมาก บางทีมีกาแฟเหลือแค่ถ้วยเดียว ก็ยังอุตส่าห์เอามาแบ่งให้ฉัน นั่นทำให้ฉันคิดว่า ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อพวกเขาบ้าง

 

แล้วสิ่งที่เรียกว่าเป็นความประทับใจจริงๆ?

มีอีกครั้งหนึ่งในปี 1999 ฉันยังทำงานเป็นนักข่าวอยู่ ผู้ลี้ภัยแอลเบเนียถูกขับไล่ออกมาจากโคโซโว พวกเขารอเข้าประเทศมาเซโดเนีย แต่มาเซโดเนียไม่ยอมเปิดชายแดน คนเป็นหมื่นต้องรออยู่ที่นั่นประมาณ 9 วัน

คุณลองคิดดู ประมาณสิ้นเดือนมีนาคม ในยุโรปเป็นฤดูฝน คนพวกนี้ต้องยืนรอกลางทุ่งโล่งๆ ไม่มี น้ำ อาหาร ไม่มีแม้แต่ห้องน้ำ ตลอดสัปดาห์กว่าๆ จนกระทั่งมาเซโดเนียอนุญาตให้พวกเขาเข้าประเทศนั่นแหละ UNHCR จึงได้เข้าไปสร้างค่ายขนาดใหญ่มากๆ ให้ผู้ลี้ภัยใช้เป็นที่พัก ต้องใช้รถบัสหลายคันขนคนจากเส้นพรมแดนเข้ามาที่ค่าย

ตอนนั้นฉันทำงานให้ Radio Free Europe ที่นั่นไม่มีสัญญาณมือถือ ฉันมีโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมอยู่เครื่องหนึ่ง เอาไว้รายงานข่าวสดเรื่องผู้ลี้ภัย ผู้ชายคนหนึ่งเห็นฉันใช้โทรศัพท์ เขาเดินมาหา บอกว่า ขอใช้โทรศัพท์หน่อย เพราะเขายังมีญาติทำงานอยู่ในต่างประเทศ เยอรมนี หรือไม่ก็ สวิตเซอร์แลนด์ เขาแค่ต้องการโทรไปบอกว่า เขายังสบายดี ยังมีชีวิตอยู่ ฉันก็ให้ใช้ เขาคุยอยู่ประมาณ 30 วินาที คงไม่กล้าใช้นานเพราะเกรงใจ

หลังจากนั้นฉันก็ทำงานของฉันต่อไป สักพักชายคนที่ขอใช้โทรศัพท์ก็เดินมาส่งนมช็อกโกแลตให้ฉันกล่องนึง ซึ่งเขาก็เหมือนคนอื่นๆ ในค่ายนั่นแหละ ที่ไม่มีอะไรติดตัว ไม่มีอะไรกินเลยตลอด 8-9 วันที่ผ่านมา แล้วนมช็อกโกแลตนั่นก็เป็นของอย่างแรกที่ UNHCR แจกให้กับผู้ลี้ภัย เขาเอามาให้เพื่อขอบคุณเรื่องโทรศัพท์ (น้ำตาซึม)

นั่นแหละที่ฉันบอกว่าพวกเขามีศักดิ์ศรี เขาไม่ได้ต้องการรอรับอะไรจากเราเลย เขาพร้อมที่จะเสียสละให้เราทุกอย่าง

 

งานของ UNHCR แตกต่างจากงานสื่อมวลชนอย่างไรบ้าง

ตอนที่เป็นนักข่าว แล้วไปสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัย ฉันรู้สึกอยากจะยกทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ให้พวกเขาตลอดเวลา ก็เลยคิดว่าถ้าทำงานกับหน่วยงานที่สามารถช่วยคนได้จำนวนมาก คงจะดีกว่าที่ฉันจะลงมือช่วยทีละคน

ฉันคิดว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับฉันก็คือ อาชีพนักข่าวเป็นบทบาทที่ดีมาก แต่นักข่าวคือคนวงนอก ทำได้แค่สังเกตการณ์อยู่ห่างๆ ในขณะที่ตอนนี้ฉันเป็นคนวงใน และมีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยมากกว่าเดิม

ตอนเป็นนักข่าวหน้าที่ของฉันคือ คอยบอกหน่วยงานอย่าง UN ว่า "พวกคุณต้องทำอะไรสักอย่างสิ" แต่หน้าที่ของฉันตอนนี้คือ "ฉันต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง"

 

ในมุมมองของคุณ บทบาทของสื่อในประเทศไทยที่มีต่อผู้ลี้ภัยเป็นอย่างไรบ้าง

จริงๆ สื่อชอบทำข่าวเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย หรือกลุ่มผู้อพยพอยู่แล้ว แต่ในประเทศไทยมีความสับสนอยู่ระหว่าง "ผู้ลี้ภัย" กับกลุ่มอื่นๆ อย่างผู้อพยพหรือแรงงานต่างด้าว นั่นคือจุดประสงค์ที่ฉันอยากจะทำความเข้าใจกับสื่อไทยว่า ผู้ลี้ภัยคือคนไม่มีทางเลือก ถูกบังคับให้ออกจากบ้าน มีใครก็ไม่รู้มาเผาหมู่บ้านของเขา มาไล่ยิงเขา เพียงเพราะความแตกต่าง หรือไม่ก็แค่อยู่ผิดที่ผิดทาง

และก็ไม่ใช่เรื่องของจำนวน เราคาดไม่ได้หรอกว่าพวกเขามีมากแค่ไหน อาจจะมี 1,000 คนเดินทางเข้ามาพร้อมกัน ในเรือ 3 ลำ รถไฟทั้งขบวน หรือเครื่องบิน 10 ลำ อย่าเหมาว่าพวกเขาเป็นเหมือนกันแล้วไล่เขาออกไปทั้งหมด ในกลุ่มคนเหล่านั้นอาจจะมีเพียง 1 คน ใน 1,000 ที่ต้องการความช่วยเหลือในฐานะผู้ลี้ภัย ซึ่งเราก็ต้องช่วยเขา

 

แล้วอะไรคือความแตกต่างระหว่างผู้ลี้ภัยกับคนไร้สัญชาติ

ผู้ลี้ภัยยังมีสถานะเป็นประชากรของประเทศใดประเทศหนึ่ง เพียงแต่เขาถูกผลักดัน หรือไม่ก็หนีออกมา ในขณะที่คนไร้สัญชาติไม่ว่าจะเกิดที่ไหนหรืออยู่ที่ไหนก็คือไม่มีประเทศไหนยอมรับ ยอมให้สัญชาติกับเขาเลย ยกตัวอย่างเช่น ชาวปาเลสไตน์ เขาไม่มีประเทศ ไม่มีพาสปอร์ต

คนไร้สัญชาติอยู่คนละสถานะกับผู้ลี้ภัย หากคุณเป็นคนไร้สัญชาติ คุณอาจจะอยู่ในประเทศที่คุณเกิดได้ คุณไม่จำเป็นต้องออกไปก็ได้ ในขณะที่ผู้ลี้ภัย มีสัญชาติ แต่ถูกบังคับให้ออกไป

 

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ถือว่าเรามีผู้ลี้ภัยเพิ่มมากขึ้นหรือเปล่า

มองจากภาพรวมก็ถือว่าลดลง เพราะเราได้นำผู้ลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามด้วย ตัวเลขอย่างเป็นทางการใน 9 ค่าย ผู้ลี้ภัยมีประมาณ 93,000 คน ซึ่งนั่นนับเฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนกับทางการไทยนะ ยังมีอีกมากที่เรายังไม่รู้จำนวน ฉันคิดว่าน่าจะมีอีกราว 40,000 คน ที่ตกสำรวจ เพราะมีแต่รัฐบาลเท่านั้นที่สามารถให้การรับรองสถานะผู้ลี้ภัยได้

 

คุณคงเคยได้ยินเรื่องประเทศไทยกับโรฮิงยา คนไทยเราไม่ค่อยได้รับข่าวสารเรื่องนี้มากนัก

พวกเขาอยู่ในภาคตะวันตกของพม่า เป็นชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม ซึ่งรัฐบาลพม่าไม่ยอมรับในฐานะประชากร พวกเขามีสิทธิน้อยกว่าคนพม่ามากๆ ทำให้คนโรฮิงยาจำนวนมากเลือกที่จะขึ้นเรือหนีออกมานอกประเทศ ไปหางานทำในมาเลเซีย

ทุกวันนี้มีพวกเขาราว 27,000 คนในค่ายผู้ลี้ภัย 2 ค่าย ของ UNHCR ในบังคลาเทศ บางส่วนก็ถูกกักกันอยู่ในประเทศไทย

 

ทำไมต้องเสี่ยงไปมาเลเซีย เพราะว่าที่นั่นมีมาตรการรองรับผู้ลี้ภัยดีกว่าไทยหรือเปล่า

อาจจะเป็นเพราะเชื้อชาติ และศาสนาอิสลามของเขาใกล้เคียงกับมาเลเซียมากกว่า พวกเขาก็เลยอยากไปหางานทำที่นั่น แม้ว่ามันจะเป็นการทำงานแบบผิดกฎหมายก็ตาม

 

ได้มีโอกาสพูดคุยกับพวกโรฮิงยาในค่ายกักกันบ้างไหม

จริงๆ ไม่ค่อยมีใครเคยพูดคุยหรือสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ เพราะรัฐบาลไทยไม่ได้ให้สถานะผู้ลี้ภัยกับชาวโรฮิงยา แต่เราเข้าไปช่วยดูความเป็นอยู่ของพวกเขาได้ พวกเขาก็อยากมีที่อยู่ที่ดีขึ้น กว้างขวางขึ้น แต่จริงๆ พวกเขาไม่ได้ต้องการมาอยู่ในสถานะแบบนี้หรอก อย่างน้อย เราแค่อยากเห็นพวกเขามีสถานะผู้ลี้ภัยก่อน

 

จริงๆ แล้วค่ายผู้ลี้ภัยมีกำหนดเวลาหรือเปล่าว่าอยู่ได้นานแค่ไหน

ผู้ลี้ภัยที่ไหนก็อยากกลับบ้านมากกว่า พวกเขาไม่อยากอยู่ในค่ายนานๆ หรอก จริงๆ UNHCR ไม่มีกำหนดระยะเวลา รัฐบาลไทยก็ไม่มีกำหนด ก็ต้องอยู่ไปจนกว่าเราจะส่งเขากลับบ้านได้อย่างปลอดภัย

 

ค่ายผู้ลี้ภัยที่ไหนต้องอยู่กันยาวนานที่สุด

ของไทยก็ใช่...แล้วก็มีซูดานตะวันตก ในดาฟูร์ อยู่กันมานานมาก แต่จริงๆ เราไม่ได้อยากจะพูดว่าใครอยู่มานานแค่ไหนนะ เพราะไม่ได้มีใครอยากเป็นผู้ลี้ภัยหรอก แค่สัปดาห์เดียวก็นานเกินไปสำหรับพวกเขาแล้ว ฉันคิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าเอามาจัดอันดับกัน คงไม่มีใครอยากได้ตำแหน่งผู้ชนะการลี้ภัยนานที่สุดหรอก

 

การที่เมืองไทยมีผู้ลี้ภัยเข้ามาจำนวนมากตลอดมา นั่นบอกอะไรเราได้บ้าง

เพราะไทยมีเพื่อนบ้านแบบพม่า (ตอบทันที) ผู้ลี้ภัยไม่ได้มาจากดวงจันทร์ เขามาจากประเทศเพื่อนบ้านเรานี่แหละ
ประเทศไหนก็ตามที่มีผู้ลี้ภัย ปัจจัยหลักๆ เลย ก็คือเพื่อนบ้าน ที่มักมีความขัดแย้ง มีการสู้รบ เกิดความรุนแรงเสมอๆ จนมีคนหนีเข้ามาในประเทศเรา


อย่างไรก็ตาม เราต้องขอบคุณประเทศไทยที่ยอมให้กลุ่มผู้ลี้ภัยได้อาศัยอยู่ในค่าย เพราะถ้าไม่มีบ้านเรา เขาก็ไม่มีที่ไป

ในทางตะวันตก มีปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัยจากพม่า แต่ขณะเดียวกัน ทางตะวันออก เราก็มีความขัดแย้งกับกัมพูชา มีความเสี่ยงที่จะมีผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นจากทางฝั่งนี้หรือไม่

ก็คงคาดการณ์อะไรไม่ได้...


สำหรับ UNHCR เรามีความชำนาญ ในเวลาฉุกเฉิน มีเรื่องเร่งด่วน เราสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้ทันที ที่ผ่านมา เวลามีการสู้รบ ทั้งไทยและเขมรยังสามารถดูแลคนของตนเองได้ ไม่ได้เคยขอให้ UNHCR เข้าไปช่วย ก็คิดว่าตอนนี้สถานการณ์ยังอยู่ในข่ายควบคุมได้อยู่

 

ตอนนี้ยังมีโอกาสลงไปเยี่ยมผู้ลี้ภัยในค่ายอยู่หรือเปล่า

ไปบ่อยค่ะ เมื่อ 2 เดือนที่แล้วก็เพิ่งไปที่ค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละ จ. ตาก แล้วก็ต้องเดินทางบ่อย เพราะมีประเทศที่ดูแล 16 ประเทศ แต่สิ่งที่ชอบคือการได้ไปพูดคุยกับผู้ลี้ภัย มันทำให้ฉันมีพลังในการทำงานมากขึ้น

 

พลังแบบไหน?

เป็นแรงบันดาลใจ เพราะผู้ลี้ภัยต้องผ่านอะไรมา แทบจะเอาชีวิตไม่รอดเลย แต่เขาก็ยังรักษาศักดิ์ศรีของเขาไว้ได้ ยังเข้มแข็ง กล้าหาญ ถึงแม้เขาจะมีน้อยกว่าเรา แต่เขาสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ได้ มันก็เลยเป็นกำลังใจว่า เรามีมากกว่าเขาอีก เราก็ควรจะทำอะไรดีๆ มากขึ้น


ขอยก 3 ตัวอย่างให้ฟัง

หนึ่ง เวลาคนอเมริกันหิว พวกเขามักจะพูดว่า "โอ้! หิวจะตายอยู่แล้ว" (Oh! I'm starving.) ทั้งๆ ที่ไม่ได้กินอาหารแค่ครึ่งชั่วโมง ขณะที่ผู้หญิงชาวพม่าคนหนึ่ง มีลูก 8 คน เธอต้องเดิน 3 อาทิตย์ เพื่อมารับข้าว ซึ่งไม่พอสำหรับลูกทุกคน เธอรู้สึกผิดมาก เวลาไม่มีอะไรให้ลูกกิน ที่ผ่านมา ฉันจึงไม่เคยพูดว่า "หิวจะตายอยู่แล้ว" เลย

สอง เคยเจอเด็กผู้หญิงพม่าคนหนึ่ง อายุ 16 ปี ฉันถามเธอว่า อะไรทำให้เธอมีความสุข สำหรับเด็กวัยเดียวกันในเมือง อาจจะตอบว่าการช็อปปิ้ง ไปเที่ยว ดูหนัง แต่เธอตอบว่า เมื่อคุยกับคนอื่น แล้วรู้ว่าคนในครอบครัวอื่นเสียชีวิตหรือถูกฆ่า ขณะที่ครอบครัวเธอยังได้อยู่กันพร้อมหน้า นั่นล่ะ...ทำให้เธอมีความสุข

สาม เคยเจอผู้ลี้ภัยที่เดินเหยียบกับระเบิดจนขาขาด 2 หนซ้อน แล้วเขาก็ทำขาเทียมจากไม้ไผ่ขึ้นเอง ฉันคิดว่าเขาเป็นผู้ชายที่ทั้งโชคร้ายที่สุดและโชคดีที่สุดในโลก เขากล้าหาญและไม่ได้รอความช่วยเหลือ วันเดียวกัน เจอผู้ชายอีกคน เหยียบกับระเบิด 2 ครั้งเช่นกัน ขาขาดข้างหนึ่ง แขนขาด 2 ข้าง ตาบอดข้างหนึ่ง แต่ยังทำเกษตรได้

ทั้งหมดคือแรงบันดาลใจที่คอยบอกว่า จริงๆ ปัญหาของคนแบบเรามันเล็กนิดเดียว หรือไม่ เราก็แทบจะไม่มีปัญหาอะไรเลย

 

คุณเลือกทำงานกับผู้ลี้ภัยเพื่อให้เขาได้กลับบ้าน ขณะที่คุณเองแทบไม่ได้อยู่บ้านตัวเองเลย?

นั่นก็เป็นสิ่งที่ฉันสงสัยเหมือนกัน (หัวเราะ) จริงๆ คงไม่มีคำตอบ ฉันก็รักครอบครัว กลับไปเยี่ยมพวกเขาที่บ้านตลอด เพียงแต่ว่าที่นั่นอาจจะไม่เหมาะกับเราเท่าที่นี่

 

การมีทูตสันถวไมตรีเป็นคนดังอย่าง แองเจลิน่า โจลี สามารถช่วย UNHCR ได้อย่างไรบ้าง

ในแง่ของ UNHCR เนื่องจากเธอพูดหรือทำอะไรออกมาจากใจ ค่อนข้างใกล้ชิดกับเรื่องผู้ลี้ภัยและต้องการสื่อจริงๆ เวลาที่เธอพูดออกไป ก็ช่วยทำให้คนมองเห็นสถานการณ์ที่ไม่เคยมองมาก่อน แล้วคนก็จะฟัง

 

จริงๆ แล้วจำเป็นไหมว่าต้องเป็นคนดัง

ถ้าถามว่าจำเป็นหรือเปล่า...ก็ไม่ถึงกับจำเป็น เพราะในหน่วยงานของเราก็ทำงานกันอย่างจริงจังอยู่แล้ว แต่สำหรับ UNHCR ต้องถือว่าโชคดีที่ได้แองเจลินา เพราะเธอก็ทุ่มเท เวลาไปเยี่ยมที่ค่ายผู้ลี้ภัยก็ไม่จำเป็นต้องให้บอดี้การ์ดมาคอยดูแล แล้วเวลาเธอไปให้สัมภาษณ์นิตยสารต่างๆ อย่าง โว้ค แวนิตี้ แฟร์ คนก็รู้จัก UNHCR และเรื่องผู้ลี้ภัยมากขึ้น

 

คุณคิดว่าคนไทยยังไม่ค่อยเข้าใจผู้ลี้ภัยในประเด็นอื่นๆ อีกไหม

น่าจะเป็นเรื่องความสับสนระหว่าง ผู้ลี้ภัย กับ แรงงานต่างด้าว เพราะในเมืองไทยมีแรงงานต่างด้าวเยอะมาก คนก็อาจจะสับสน


สิ่งที่อยากจะเน้นคือ แต่ก่อนคนอาจจะคิดว่าคนไทยไม่ค่อยเข้าใจผู้ลี้ภัยหรือรังเกียจพวกเขา แต่พอเรามีโครงการให้เจ้าหน้าที่ออกไปอธิบายและบอกเล่าสิ่งที่ UNHCR ทำ เมื่อคนไทยได้รับรู้แล้วว่าจริงๆ ผู้ลี้ภัยคืออะไรและสถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร คนไทยมีน้ำใจ พร้อมช่วยเหลือ และเปิดรับดีมากๆ

 

........................................................

หมายเหตุ : ทำความรู้จักและเข้าใจผู้ลี้ภัยมากขึ้นได้ในเทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัย ชมฟรี วันที่ 20-22 มิถุนายน ที่พารากอน ซีเนเพล็กซ์ ติดตามรายละเอียดที่ www.unhcr.or.th

 

ที่มา...กรุงเทพธุรกิจ : http://www.bangkokbiznews.com

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >