หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow เหนือความยากคือความง่าย : พระไพศาล วิสาโล
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 71 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

เหนือความยากคือความง่าย : พระไพศาล วิสาโล พิมพ์
Wednesday, 13 April 2011


นิตยสารสารคดี : ฉบับที่ ๓๑๓ :: มีนาคม ๕๔ ปีที่ ๒๗


คอลัมน์รับอรุณ : เหนือความยากคือความง่าย
พระไพศาล วิสาโล


อตุล กูวานเด (Atul Guwande) ศัลยแพทย์ชาวอเมริกัน เล่าถึงคนไข้ผู้หนึ่งซึ่งมีเลือดออกมากระหว่างผ่าตัดเพื่อรักษาริดสีดวงทวาร และนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ แม้จะห้ามเลือดได้แต่ตับได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ไม่กี่วันต่อมาเขามีอาการทรุดหนักจนต้องย้ายเข้าห้องไอซียู ร่างกายของเขาสั่นเทา ไข้ขึ้นสูง หัวใจเต้นเร็วมาก และมีออกซิเจนในเลือดต่ำ

ผลจากห้องแล็บพบว่าเขามีอาการตับวาย และติดเชื้อ นอกจากนั้นถุงปัสสาวะที่ว่างเปล่ายังบ่งชี้ด้วยว่าไตของเขาก็วาย ไม่กี่ชั่วโมงต่อมาความดันเลือดได้ตกลง การหายใจแย่ลง และเขาเริ่มไม่รู้สึกตัว เห็นได้ชัดว่าร่างกายของเขาทุกระบบ รวมทั้งหัวใจ กำลังจะหยุดทำงาน

ถึงตอนนี้แพทย์และพยาบาลระดมกำลังช่วยเขาอย่างสุดความสามารถ ท่อไม่น้อยกว่า ๓ ท่อถูกแทงเข้ากับร่างกายของเขา ทั้งที่คอ ข้อมือ และหน้าอก อุปกรณ์นานาชนิดรวมทั้งเครื่องช่วยหายใจและเครื่องฟอกไตถูกนำมาใช้อย่างเร่งด่วนเพื่อเพิ่มออกซิเจนในเลือดและรักษาความดันเลือดให้คงที่ รวมทั้งปรับสารต่างๆ ในร่างกายเช่น เกลือแร่ โดยเฉพาะโปตัสเซียมให้เป็นปกติด้วย

ผ่านมาได้ ๑๐ วัน เขามีอาการดีขึ้น ความดันเลือดกลับมาเป็นปกติ ไข้ลดลง ความต้องการออกซิเจนก็ลดลง แต่พอถึงวันที่ ๑๑ ขณะที่แพทย์เตรียมปลดเครื่องช่วยหายใจ จู่ๆ เขาก็มีไข้สูงขึ้นอย่างฉับพลัน ความดันเลือดตก ออกซิเจนในเลือดก็ลดลง ร่างกายสั่นหนาว

แม้แต่แพทย์เองก็ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เขาติดเชื้อแน่นอน แต่ไม่มีใครรู้ว่ามีสาเหตุจากอะไร เครื่องเอ็กซเรย์และเครื่องซีทีสแกนก็ตอบไม่ได้ แม้แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะไป ๔ ชนิด ไข้ยังขึ้นสูง มีช่วงหนึ่งหัวใจของเขาเต้นระรัว จนแพทย์ต้องช็อคหัวใจด้วยไฟฟ้าจนกลับมาเต้นเป็นจังหวะปกติ

คณะพยาบาลใช้เวลาถึง ๒ วันกว่าจะรู้ว่าความผิดปกติมาจากไหน มีการสันนิษฐานว่าท่อที่ใส่ไปในร่างกายของเขา คงมีท่อใดท่อหนึ่งติดเชื้อ จึงมีการใส่ท่อใหม่ แล้วเอาท่อเก่าไปเพาะเชื้อในห้องแล็บ ๔๘ ชั่วโมงต่อมาผลก็ออกมา ทุกท่อล้วนติดเชื้อ การติดเชื้ออาจเริ่มต้นที่ท่อใดท่อหนึ่งก่อน อาจเกิดขึ้นตอนใส่ท่อเข้าไป จากนั้นเชื้อก็เข้าสู่กระแสเลือด และลามไปยังท่อที่เหลือ

จากประสบการณ์ของอตุล การติดเชื้อในท่อเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยมากจนถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ในสหรัฐอเมริกามีการศึกษาพบว่า หากอยู่ในห้องไอซียูเกิน ๑๐ วัน ร้อยละ ๔ ของท่อที่ต่อเข้ากับผู้ป่วยจะมีการติดเชื้อ แม้ตัวเลขจะไม่สูง แต่ก็สามารถทำให้ถึงตายได้ถึงร้อยละ ๒๘ นอกจากนั้นยังพบอีกว่า คนที่อาศัยเครื่องช่วยหายใจเกิน ๑๐ วัน ร้อยละ ๖ จะติดเชื้อที่ปอด ซึ่งสามารถทำให้ถึงตายได้ถึงร้อยละ ๔๐-๕๕ แต่คนไข้แต่ละคนไม่ได้อาศัยแต่เครื่องช่วยหายใจเท่านั้น หากยังต้องพึ่งพาอุปกรณ์อีกหลายอย่าง ซึ่งล้วนมีความเสี่ยงทั้งนั้น ดังนั้นเมื่อมองในภาพรวมแล้ว ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยในห้องไอซียูลงเอยด้วยการป่วยด้วยโรคแทรกซ้อน และหากเกิดขึ้นแล้วโอกาสรอดมีน้อยมาก

การติดเชื้อจนถึงตายนั้น เป็นแค่หนึ่งในบรรดาปัญหานับร้อยนับพันที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยในห้องไอซียู โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงว่าวันหนึ่งๆ มีการดูแลรักษาหรือทำหัตถการกับคนไข้นับร้อยครั้ง (มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อ ๑๐ ปีก่อนระบุว่า คนไข้ในห้องไอซียูแต่ละคนต้องการการทำหัตถการโดยเฉลี่ย ๑๗๘ ครั้งต่อวัน มีตั้งแต่การให้ยา ไปจนถึงการดูดเสมหะ) แต่ละครั้งก็มีความเสี่ยงทั้งนั้นหากมีอะไรผิดพลาด

ด้วยเหตุนี้การรักษาชีวิตของผู้ป่วยในห้องไอซียูจึงเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย ยิ่งมีโรคใหม่ๆ เกิดขึ้นขณะที่เทคโนโลยีก็มีความซับซ้อนมากขึ้น ย่อมทำให้การเยียวยารักษาคนไข้ในห้องไอซียูซับซ้อนตามมาด้วย (อย่าลืมว่า ๑๗๘ ครั้งเป็นตัวเลขเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว ปัจจุบันอาจเพิ่มกว่า ๒๐๐ แล้วก็ได้) เราจะทำอย่างไรเมื่อเผชิญกับความซับซ้อนอย่างนี้ สำหรับการแพทย์สมัยใหม่ วิธีการที่นิยมก็คือการเน้นความชำนาญเฉพาะทาง ด้วยเหตุนี้แพทย์เฉพาะทางจึงกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการรักษาผู้ป่วย ในภาวะวิกฤตในห้องไอซียู

อย่างไรก็ตามอตุลได้ชี้ว่า ทุกวันนี้ความซับซ้อนในการรักษาได้เพิ่มขึ้นมากจนถึงจุดที่เป็นไปไม่ได้เลย ที่จะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดประจำวันได้ แม้จะดูแลโดยแพทย์ซึ่งเป็นอภิผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (super-specialist) ก็ตาม เพราะยิ่งมีขั้นตอนที่ซับซ้อนมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดปัญหาก็เพิ่มขึ้นตามมาด้วยจนเกินความสามารถของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะรับมือได้

กรณีผู้ป่วยที่เล่ามาข้างต้นเป็นตัวอย่างของปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา กับคนไข้ทุกคนที่อยู่ในห้องไอซียูนานหลายวัน จะว่าไปแล้วการที่ท่อติดเชื้อนั้นไม่ใช่ปัญหาที่ซับซ้อนพิสดารเลยเมื่อเทียบกับปัญหาอื่นๆ อีกมากมายที่สามารถเกิดได้กับผู้ป่วยหนัก แต่กว่าจะรู้ว่ามันคือสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเกือบตาย ก็ใช้เวลานาน ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เมื่อรู้แล้วจะป้องกันมิให้ปัญหานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

มีความพยายามที่จะแก้ปัญหานี้มานานแล้ว รวมทั้งการใช้วิทยาการที่ล้ำยุคเพื่อจัดการกับเชื้อโรคที่แปดเปื้อนและพร้อมจู่โจมร่างกาย แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหานี้อย่างได้ผล จวบจนเมื่อแพทย์เฉพาะทางผู้หนึ่งได้เสนอวิธีที่ง่ายมาก โดยใช้กระดาษ ๑ แผ่นและปากกา ๑ ด้ามเท่านั้น ปีเตอร์ โปรโนวอสท์ (Peter Pronovost) เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้ป่วยวิกฤตในโรงพยาบาลจอห์นฮอปกินส์ (Johns Hopkins Hospital) เขาได้ทำเช็คลิสต์หรือรายการขั้นตอนที่แพทย์จะต้องทำทั้งก่อนและหลังจากใส่ท่อผู้ป่วย มีทั้งหมด ๕ ขั้นตอน คือ ๑. ล้างมือด้วยสบู่ฆ่าเชื้อ ๒. ทำความสะอาดผิวหนังผู้ป่วยด้วยยาฆ่าเชื้อคลอเฮกซิดิน (chlorhexidine) ๓. เอาผ้าปลอดเชื้อคลุมร่างผู้ป่วยบริเวณที่จะทำหัตถการ ๔. สวมหน้ากาก หมวก เสื้อกาวน์ และถุงมือปลอดเชื้อ ๕. เมื่อใส่ท่อแล้วให้ทำแผลที่ใส่ท่อนั้นด้วยเทคนิคปราศจากเชื้อ สิ่งที่แพทย์ต้องทำคือตรวจสอบกับเช็คลิสต์นี้เพื่อให้แน่ใจว่าได้ทำทุกขั้นตอนจนครบ

วิธีนี้ง่ายมาก ไม่ต้องใช้สมองเลยก็ทำได้ อีกทั้งเป็นวิธีการที่รู้และสอนกันมานานหลายปีแล้ว ดังนั้นการนำเสนอวิธีนี้ให้แพทย์ทำจึงถูกมองว่าเป็นเรื่องปัญญาอ่อน แต่โปรโนวอสต์ยืนยันที่จะให้ทดลองใช้วิธีนี้ เขาได้ขอให้พยาบาลในห้องไอซียูของเขาสังเกตแพทย์ว่าได้ทำตามขั้นตอนดังกล่าวหรือไม่ หลังจากสังเกตอยู่หนึ่งเดือนก็พบว่ามีผู้ป่วยถึง ๑ ใน ๓ ที่แพทย์ได้ข้ามขั้นตอนอย่างน้อย ๑ ขั้นตอน

เดือนต่อมาเขาได้ขอให้ผู้บริหารโรงพยาบาลออกคำสั่งอนุญาตให้พยาบาลหยุดแพทย์ได้ หากพบว่าแพทย์ได้ข้ามขั้นตอนในเช็คลิสต์นั้น อีกทั้งพยาบาลยังมีหน้าที่ถามแพทย์ด้วยว่ามีท่อใดที่ควรถอด เพื่อไม่ให้ท่อถูกคาไว้นานเกินไป นี้เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะพยาบาลมักไม่กล้าเตือนแพทย์ตรงๆ อย่างไรก็ตามเขาบอกพยาบาลไปว่า หากแพทย์ไม่ฟังพยาบาล พยาบาลสามารถขอให้ฝ่ายบริหารเข้ามาแทรกแซงได้

โปรโนวอสท์และคณะได้ตามผลเป็นเวลา ๑ ปีเต็ม สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเหนือความคาดหมาย จนแม้แต่เขาก็ไม่เชื่อว่ามันเป็นความจริง นั่นคือ อัตราการติดเชื้อจากท่อลดลงจากร้อยละ ๑๑ จนเหลือศูนย์ ดังนั้นจึงทดลองทำอีก ๑๕ เดือน ปรากฏว่ามีการติดเชื้อจากท่อแค่ ๒ รายเท่านั้น จากการคำนวณของเขา การทำเช็คลิสต์ช่วยป้องกันมิให้ติดเชื้อ ๔๓ ราย ป้องกันมิให้มีคนตาย ๘ คน และประหยัดเงินได้ถึง ๒ ล้านดอลลาร์

ความสำเร็จดังกล่าวทำให้เขาทำเช็คลิสต์อย่างอื่นอีก เช่น ทำเช็คลิสต์เพื่อให้แน่ใจว่าพยาบาลไปตรวจคนไข้ที่มีปัญหาความเจ็บปวดทุก ๔ ชั่วโมงและให้ยาระงับปวดตรงเวลา วิธีนี้ช่วยให้คนไข้ที่ไม่ได้รับการบรรเทาความปวดลดลงจากร้อยละ ๔๑ เหลือร้อยละ ๓ นอกจากนั้นเขายังทำเช็คลิสต์สำหรับผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อให้แน่ใจว่าเตียงคนไข้เอียงขึ้นอย่างน้อย ๓๐ องศา เป็นการป้องกันมิให้เสลด น้ำลายหรือเศษอาหารเข้าไปในหลอดลม เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ปอด รวมทั้งให้ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร เพื่อป้องกันโรคแผลในกระเพาะ ปรากฏว่าคนไข้ที่ไม่ได้การรักษาอย่างถูกต้องลดลงจากร้อยละ ๗๐ เหลือร้อยละ ๔ การป่วยด้วยโรคปอดติดเชื้อลดลงถึง ๑ ใน ๔ คนตายลดลง ๒๑ คนเมื่อเทียบกับปีก่อน

การวิจัยพบว่า เพียงแค่แพทย์และพยาบาลในห้องไอซียูทำเช็คลิสต์ของตัวว่า ควรทำอะไรบ้างในแต่ละวัน การดูแลคนไข้จะมีคุณภาพดีขึ้นมาก ถึงขั้นว่า เพียงชั่วไม่กี่อาทิตย์ ระยะเวลาที่คนไข้อยู่ในห้องไอซียูลดลงถึงครึ่งหนึ่ง

ต่อมาเขาได้รับเชิญให้นำวิธีการนี้ไปใช้กับห้องไอซียูในรัฐมิชิแกน เพียงแค่ ๓ เดือนแรก การติดเชื้อในห้องไอซียูของทั้งรัฐลดลงร้อยละ ๖๖ ห้องไอซียูหลายแห่งซึ่งเคยมีการติดเชื้อถึง ๑ ใน ๔ ลดลงเหลือศูนย์ เมื่อทดลองครบ ๑๘ เดือน พบว่านอกจากจะป้องกันมิให้มีคนเสียชีวิตถึง ๑,๕๐๐ คนแล้ว ยังประหยัดเงินถึง ๑๗๕ ล้านดอลลาร์ ทั้งหมดนี้เพียงเพราะเช็คลิสต์ธรรมดาๆ เท่านั้น

ไม่มีใครคาดคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลต่างๆ มาเป็นเวลานาน อย่างการติดเชื้อบริเวณท่อที่ใส่เข้าไปในร่างกายนั้น จะแก้ได้ด้วยวิธีง่ายๆ แบบนี้ และเมื่อเอาวิธีเช็คลิสต์ไปใช้กับการแก้ปัญหาอย่างอื่นที่ยืดเยื้อเรื้อรัง มานาน ก็สามารถลดความสูญเสียทั้งชีวิตและเงินทองไปได้มากมายเช่นกัน สิ่งที่น่าสนใจก็คือ วิธีการดังกล่าวมักถูกต่อต้านจากแพทย์และพยาบาล เหตุผลประการหนึ่งก็คือ มันง่ายเกินไป บางคนถึงกับบอกว่ามันเป็นวิธีการที่ "งี่เง่า" เพราะสิ่งที่ระบุให้ทำในเช็คลิสต์นั้นเป็นเรื่องที่รู้ดีกันอยู่แล้ว แต่เมื่อติดตามสังเกตกันจริงๆ กลับพบว่า วิธีที่ว่าง่ายเหล่านี้กลับถูกละเลยหรือมองข้ามไป (เมื่อโปรโนวอสท์นำวิธีการนี้ไปใช้กับโรงพยาบาลของรัฐมิชิแกน ปัญหาหนึ่งที่พบก็คือ มีห้องไอซียูไม่ถึง ๑ ใน ๓ ที่มีสบู่ฆ่าเชื้อคลอเฮกซิดิน)

สิ่งง่าย ๆ มักถูกมองข้าม ทั้ง ๆ ที่ก่อผลดีมากมาย ก็เพราะผู้คนมองว่าเป็นเรื่องหญ้าปากคอกหาไม่ก็ดูแคลนว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เรื่องเล็กน้อยนี้แหละที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ย้อนหลังไปเมื่อ ๑๗๐ ปีก่อนก็เคยมีเรื่องราวทำนองนี้เกิดขึ้น

ช่วงคริสต์ทศวรรษ ๑๘๔๐ โรงพยาบาลชั้นนำในยุโรปได้ประสบปัญหาอย่างหนึ่งที่แก้ไม่ตก นั่นคือแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรจำนวนไม่น้อยตายด้วยโรคชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่าไข้ หลังคลอด (puerperal fever) หญิงที่มาคลอดที่โรงพยาบาลนั้น ทุกคนไม่มีความเจ็บป่วยมาก่อน แต่หลังจากคลอดได้ไม่นานก็เสียชีวิต ในโรงพยาบาลบางแห่งการอุบัติของโรคนี้สูงมาก กล่าวคือ ๑ ใน ๖ ของหญิงที่มาคลอดในโรงพยาบาลตายด้วยโรคนี้

ไม่มีใครรู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร มีการสันนิษฐานต่างๆ นานา เช่น อากาศไม่ดี อาหารไม่ถูกสุขลักษณะ เครื่องแต่งกายของผู้หญิงรัดแน่นเกินไป แต่มีแพทย์หนุ่มผู้หนึ่งเห็นต่างออกไป อิกนาซ เซมเมลไวส์ (Ignas Semmelweis) สังเกตว่า แม่ซึ่งคลอดที่บ้านนั้น มีโอกาสที่จะตายด้วยโรคนี้น้อยกว่าที่โรงพยาบาลของเขาในกรุงเวียนนาถึง ๖๐ เท่า ใช่แต่เท่านั้นแม่ซึ่งคลอดด้วยหมอตำแยในโรงพยาบาลก็ตายด้วยโรคนี้แค่ ๑ ใน ๓ ของแม่ที่ทำคลอดด้วยแพทย์

วันหนึ่งเขาได้ข่าวว่าแพทย์ผู้หนึ่งถึงแก่กรรมอย่างกะทันหัน เขาเสียชีวิตไม่กี่วันหลังจากที่พานักศึกษาแพทย์ผ่าศพ ระหว่างที่ผ่าศพ มีดได้บาดมือเขา หลังจากนั้นเขาก็ป่วย อาการคล้ายกับแม่ที่ตายหลังคลอด คือเป็นไข้สูง และเมื่อชันสูตรศพก็พบว่ามีการอักเสบที่เยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มสมอง เยื่อหุ้มหัวใจ และเยื่อบุช่องท้อง

กรณีดังกล่าวทำให้เขาพบคำตอบว่าแท้จริงแล้วไข้หลังคลอดนี้มาจากแพทย์นั่นเอง กล่าวคือสมัยนั้นเมื่อแพทย์ผ่าศพเสร็จ มักจะตรงเข้าห้องผู้ป่วยเลย รวมทั้งทำคลอด โดยไม่ได้ล้างมือให้สะอาด (อย่าลืมว่าตอนนั้นเป็นช่วงก่อนที่หลุยส์ปาสเตอร์จะพบว่าโรคติดต่อเกิดจาก แบคทีเรีย) ดังนั้นเชื้อโรคจากศพ โดยเฉพาะศพที่ตายด้วยไข้หลังคลอด จึงติดมือแพทย์แล้วต่อไปยังหญิงที่มาทำคลอด นี้คือเหตุผลว่าทำไมหญิงที่คลอดด้วยหมอตำแยไม่ว่าที่บ้านหรือที่โรงพยาบาล จึงตายด้วยโรคนี้น้อยมาก

การค้นพบดังกล่าวจึงทำให้เซมเมลไวส์เสนอให้แพทย์ทุกคนล้างมือด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หลังจากผ่าศพและก่อนทำคลอด ปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่นานอัตราการตายของผู้หญิงหลังคลอดในโรงพยาบาลของเขา ลดเหลือไม่ถึงร้อยละ ๑ ในเวลา ๑๒ เดือนเขาสามารถช่วยชีวิตแม่ได้ถึง ๓๐๐ คนและทารก ๒๕๐ คน

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเซมเมลไวส์ถูกต่อต้านมากเพียงใดจากแพทย์ เพราะการค้นพบของเขาชี้ชัดว่าสาเหตุการตายของแม่และเด็กนั้นเกิดจากแพทย์ มิใช่จากอะไรอื่น อีกทั้งยังเสนอให้ปรับพฤติกรรมของแพทย์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแพทย์ก็เช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่นๆ ที่มักเรียกร้องให้ผู้อื่นเป็นฝ่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมากกว่า

ไม่มีใครนึกว่าปัญหาร้ายแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังนั้นสามารถแก้ได้อย่างชะงัดด้วย วิธีง่ายๆ เช่นนี้ นั่นก็เพราะผู้คนมักคิดซับซ้อน ยิ่งปัญหาร้ายแรงใหญ่โตมากเท่าใด ก็ต้องใช้วิธีการที่ซับซ้อน ทุ่มทุนด้วยทรัพยากรที่มากมาย ซึ่งมักหนีไม่พ้นการใช้เทคโนโลยีที่ล้ำยุคพิสดารและราคาแพง แต่บ่อยครั้งเพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็สามารถแก้ปัญหาสำคัญได้มากมาย อตุล ได้ชี้ว่า มาถึงวันนี้วิธีการของโปรโนวอสท์ซึ่งกระตุ้นให้แพทย์หันมาใส่ใจกับการทำสิ่ง ง่ายๆ ขั้นพื้นฐานอย่างครบถ้วนได้ช่วยชีวิตผู้คนมากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์ในห้อง ทดลองคนใดจะทำได้ แต่ถึงกระนั้นความสำเร็จของเขาก็ได้รับความสนใจจากวงการแพทย์หรือสื่อมวลชน น้อยกว่าความสำเร็จของนักวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาเทคโนโลยีแปลกใหม่

นี้ก็ทำนองเดียวกับการช่วยชีวิตคนจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เพียงแค่การออกกฎหมายและรณรงค์ให้ผู้ขับขี่ใช้หมวกกันน็อคเท่านั้นสามารถลด จำนวนคนตายไปได้มากมาย น.พ.วิทยา ชาติบัญชาชัย หัวหน้าศูนย์อุบัติเหตุและวิกฤตบำบัด โรงพยาบาลขอนแก่น เคยกล่าวว่า "ผมผ่าตัดไปตลอดชีวิต ยังช่วยชีวิตคนไม่ได้เท่ากับที่รณรงค์(ให้สวมหมวกกันน็อค) ๖ เดือนเลย" แต่วิธีง่ายๆ เหล่านี้ย่อมไม่มีวันได้รับความสนใจมากเท่ากับความสำเร็จในการผ่าสมองของผู้ ที่ได้รับอุบัติเหตุอย่างหนักจนรอดตายได้

ว่ากันอย่างถึงที่สุดแล้ว สาเหตุที่สิ่งง่ายๆ กลับเกิดขึ้นได้ยาก ก็เพราะเราถูกฝึกมาให้คิดและทำอย่างซับซ้อน จนสิ่งง่ายๆ กลายเป็นเรื่องยากขึ้นมา ระหว่างการทำ กับ การไม่ทำ ใครๆ ก็รู้ว่าการไม่ทำนั้นง่ายกว่า แต่ในชีวิตจริงผู้คนส่วนใหญ่กลับไม่สามารถอยู่นิ่งๆ หรืออยู่เฉยๆ ได้ (แม้ไม่ต้องทำมาหากินเลยก็ตาม) กลับดิ้นรนทำอะไรต่ออะไรมากมาย ทั้ง ๆ ที่ทำแล้วก็ใช่ว่าจะมีความสุข กลับกลายเป็นการหาเรื่องใส่ตัวด้วยซ้ำ เพราะเหตุนี้ผู้คนจึงกลัวการนั่งสมาธิเป็นอย่างยิ่ง ทั้งๆ ที่ไม่ต้องทำอะไรนอกจากนั่งนิ่งๆ และดูลมหายใจเฉยๆ เท่านั้น แม้แต่คนที่สามารถพาตนมานั่งสมาธิได้แล้วก็ตาม ก็ยังมีปัญหาอีกเพราะพยายามเข้าไปจัดการกับความคิดปรุงแต่งไม่หยุดหย่อน แทนที่จะดูมันเฉยๆ ทั้งๆ ที่การดูเฉยๆ โดยไม่ต้องทำอะไรกับมันนั้น เป็นเรื่องง่ายแสนง่าย แต่คนส่วนใหญ่ทำไม่ได้และไม่ยอมทำ เพราะถูกฝึกมาให้ทำอะไรต่ออะไรมากมาย จนอยู่เฉยๆ หรือทำใจเฉยๆ ไม่ได้ จะยอมอยู่เฉยได้ก็ต่อเมื่อมองว่านั่นเป็น "การกระทำ" อย่างหนึ่ง

เมื่อขึ้นสูงแล้วจะกลับคืนสู่สามัญ ย่อมทำได้ยาก แต่สามัญธรรมดานี้แหละที่สำคัญอย่างยิ่ง ปัญหาของชีวิตและโลกมักเกิดขึ้นเพราะเรารังเกียจสิ่งสามัญ ง่ายๆ พื้นๆ และเมื่อเห็นปัญหาแล้ว มักแสวงหาทางออกด้วยวิธีการที่ซับซ้อน ทั้งๆ ที่วิธีการง่ายๆ ก็มีอยู่

มีนิทานเรื่องหนึ่งซึ่งค่อนข้างแพร่หลาย เป็นเรื่องของนักธุรกิจที่เห็นชายชรานั่งเล่นอยู่บนสะพานปลายามสาย ชายชราเพิ่งเสร็จจากการหาปลา นักธุรกิจแปลกใจที่ชายชราไม่ออกไปหาปลาอีก ชายชราถามว่าเพื่ออะไร "เพื่อจะได้มีเงินมากขึ้นไงล่ะ" ชายชราถามว่า มีเงินมากๆ เพื่ออะไร "เพื่อจะได้ซื้อเรือลำใหญ่ขึ้น" ชายชราถามต่อว่ามีเรือลำใหญ่เพื่ออะไร "ลุงจะได้หาปลาได้มากขึ้น จะได้มีเงินซื้อเรือหลายๆ ลำ" ชายชราถามอีกว่า ทำเช่นนั้นเพื่ออะไร "เพื่อจะได้มีเงินมากขึ้น ต่อไปลุงจะได้ไม่ต้องทำงาน มีเวลาพักผ่อน" ชายชราจึงตอบว่า "ก็ฉันกำลังทำอยู่ตอนนี้แล้วไงพ่อหนุ่ม"

เส้นทางที่ลัดตรงนั้นมีอยู่ แต่เป็นเพราะเราชอบหนทางที่ซับซ้อน กว่าจะถึงจุดหมายปลายทางก็เหนื่อย หาไม่ก็หลงทางไปเลย


------------------------------

จาก เว็บ

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >