หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow 'มิดะ' แถลงการณ์ ไม่มีแม่ครูผู้ชำนาญและลานสาวกอด : รมณ รวยแสน
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 70 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

'มิดะ' แถลงการณ์ ไม่มีแม่ครูผู้ชำนาญและลานสาวกอด : รมณ รวยแสน พิมพ์
Wednesday, 02 February 2011


'มิดะ' แถลงการณ์ ไม่มีแม่ครูผู้ชำนาญและลานสาวกอด

โดย : รมณ รวยแสน


หลังถูกให้ความหมายผิดๆ มาเนิ่นนาน ชาวอาข่าจึงออกแถลงการณ์ว่า 'มิดะ' ไม่ใช่แม่ครูผู้เจนจัด และ 'ลานสาวกอด' ไม่ใช่สถานที่จะมากอดกันง่ายๆ

ยาวนานหลายสิบปี ที่คำว่า "มิดะ" ถูกนำเสนอซ้อนทับกับภาพของหญิงชาวอาข่าที่ "เป็นหมันและเป็นหม้าย" ผู้รับบทบาทส่งมอบความรู้ "กามวิธี" ให้หนุ่มน้อย เช่นเดียวกับคำว่า "ลานสาวกอด" ที่ถูกเข้าใจในฐานะ "เวทีสาธารณะ" สำหรับกิจกรรมทางเพศ

...เวลาผ่านไป แต่ภาพที่ว่านั้นยังคงลอยวนอยู่ในความเข้าใจของคนจำนวนมาก และยิ่งไปกว่านั้นมุมมองที่ผิดเพี้ยนยังคงถูกผลิตซ้ำในรูปแบบใหม่ๆ

วันนี้คน "อาข่า" ผู้รับผลกระทบโดยตรงจาก "ความเข้าใจผิด" ที่สั่งสมมานานหลายทศวรรษ ขอนำเสนอเรื่องราวว่าด้วย "มิดะ" และ "ลานสาวกอด" จากฟากฝั่งของคนอาข่าเอง และร้องขอความเข้าใจที่ถูกต้องจากเพื่อนร่วมสังคม


หมี่ดะหรือมิดะ

"พาไปบ้านหน่อยสิ อยากไปเที่ยวลานสาวกอด อยากเจอมิดะ" แสนชัย จูเปาะ หนุ่มน้อยวัยใกล้ 20 ปี เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่ตามมาหลังจากที่ใครสักคนรู้ว่าเขาเป็นคนอาข่า หรือที่บางคนยังติดเรียกว่าอีก้อ พวกเขามักถามคำถามอย่างนี้ด้วยสายตากรุ้มกริ่มอย่างที่ต้องการให้รู้กันว่า อยากไป "ลานสาวกอด" อยากไปหา "มิดะ" แบบในบทเพลงที่ใครๆ ก็ร้องได้

คำว่า "มิดะ" เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2492 ในหนังสือ 30 ชาติในเชียงราย เขียนโดย บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ และมีหนังสืออีกหลายเล่มถัดจากนั้นที่พูดถึงมิดะเช่นเดียวกัน ก่อนจะกลายเป็นบทเพลงชื่อดัง ขับร้องโดยจรัล มโนเพชร ที่ทำให้คนทั้งประเทศรู้จัก "มิดะ" ในฐานะหญิงสาวทำหน้าที่ให้ประสบการณ์ทางเพศแก่ชายหนุ่มอาข่าในวัยก่อนออกเรือน และสถานที่พลอดรักของหนุ่มสาวบนดอยสูงนั้นมีชื่อว่า "ลานสาวกอด"

ในขณะที่ชาวอาข่าพูดถึงคำว่า "มิดะ" ว่า มีคำที่ใกล้เคียงที่สุดคือ "หมี่ดะ" เป็นคำเรียกหญิงสาวอาข่าที่ยังไม่ได้แต่งงาน ส่วน "ลานสาวกอด" นั้นไม่มีอยู่จริง มีแต่ลานวัฒนธรรมหรือ "แตห่อง" สถานที่สำหรับพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับคนในหมู่บ้าน

ผลกระทบที่คนอาข่าได้รับจากความหมายของมิดะและลานสาวกอดในแบบที่พวกเขาไม่ยอมรับนั้น มีผู้หญิงอาข่าในหลายชุมชนถูกล่วงละเมิดทางเพศ เพราะเข้าใจผิดว่าสามารถกอดผู้หญิงอาข่าคนไหนก็ได้เมื่อเข้าไปในหมู่บ้าน หรือเมื่อผู้หญิงอาข่าที่ไปเป็นลูกจ้างหรือทำงานบริการ ก็ถูกเข้าใจผิดว่าสามารถทำได้แบบเดียวกับมิดะในบทเพลง

อาจู จูเปาะ ประธานชมรมอาข่าในประเทศไทย วัย 47 ปี เล่าว่า เขาเผชิญกับปัญหานี้มาตั้งแต่อายุ 15 ปี เห็นคนต่างถิ่นเข้าไปในหมู่บ้านของตัวเอง ล่วงเกินผู้หญิงอาข่าเพราะความเข้าใจผิด จนเกิดเป็นคดีความฟ้องร้องกันถึงศาล และจนทุกวันนี้เขายังต้องตอบคำถามหนุ่มสาวอาข่าที่ลงจากดอยไปเรียนหนังสือ หรือทำงานในตัวเมืองถึงเรื่อง "มิดะ" และ "ลานสาวกอด" รวมถึงตอบคำถามสื่อที่เชิญเขาไปให้สัมภาษณ์ผ่านรายการวิทยุบ้าง โทรทัศน์บ้าง

"เด็กรุ่นใหม่ๆ เขาจะปกปิดตัวเองไม่อยากให้ใครรู้ว่าเป็นอาข่า เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาอาย" อาจู เล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นว่าไม่เคยจางหายไป เขาตอบคำถามครั้งแล้วครั้งเล่า ท่ามกลางเสียงเพลงมิดะที่ยังถูกร้องอยู่ในผับบาร์แทบทุกคืน


คลายปม "ลานสาวกอด"

กลางปี 2553 มีสำนักพิมพ์หนึ่งตีพิมพ์หนังสือการ์ตูนเนื้อหาเกี่ยวกับ "มิดะ" และ "ลานสาวกอด" ในความหมายในแง่ลบซ้ำอีก

"รู้สึกแปลกใจว่าทำไมเขาแปลมิดะว่าอย่างนั้น...มีเพื่อนที่โรงเรียนมาถามว่ามิดะแปลว่าครูสอนเรื่องนั้น...เพราะรู้ว่าเราเป็นคนอาข่า หลังจากที่เขาไปอ่านการ์ตูนเล่มหนึ่งมา" มยุรี เมชิกู่ บอกถึงสิ่งที่รู้สึกเมื่อเจอเพื่อนเรียนมัธยมด้วยกัน ถามถึงคำเรียกหญิงสาวตามความเข้าใจของเธอเองตลอดมา

หลังจากนั้น กลุ่มคนอาข่าออกมาเคลื่อนไหวที่จะสร้างความเข้าใจเรื่องมิดะและลานสาวกอดอีกครั้ง มีการเสวนาย่อยๆ หลายครั้งเพื่อตามหาคำว่ามิดะและลานสาวกอดในประเพณีและวัฒนธรรมของคนอาข่า พร้อมนำเสนอในรูปของงานวิชาการในงานเสวนา หัวข้อเรื่อง "มายาคติอาข่าในสังคมไทย : คลายปมมิดะและลานสาวกอด" ที่จัดไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยชมรมอาข่าในประเทศไทยเข้าไปร่วมจัดกับโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

การอภิปรายทางวิชาการในหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมิดะและลานสาวกอดเกิดขึ้นในหลายหัวข้อ ไม่ว่าจะเป็น "อาข่าย้อง : อาข่าอารยะ" โดย ไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก ผู้อำนวยการสมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมชาวอาข่าเชียงราย เขานำเสนอผลการศึกษาพิธีกรรมต่างๆ ของคนอาข่ารวมทั้งตำนานเกี่ยวกับผู้หญิงอาข่าซึ่งมีอยู่หลายตำนาน แต่ละตำนานของผู้หญิงอาข่า ไม่ว่าจะเป็นตำนานว่าด้วยผู้หญิงอาข่าเป็นบุตรสาวของพญานาค จึงเชื่อกันว่าบุตรสาวนั้นมีพลังที่สุด หรือตำนานผู้หญิงเป็นบุตรสาวของคนป่า กล่าวถึงคนป่าไม่มีเสื้อผ้าใส่ ถูกจับมาและก่อนนำเข้าหมู่บ้านได้จัดแต่งตัวโดยใช้เครื่องนุ่งห่มต่างๆ ซึ่งต่อมาก็เป็นชุดประจำตัวของผู้หญิงอาข่า โดยไม่มีตำนานใดเอ่ยถึง "มิดะ" หรือ ผู้หญิงอาข่าแบบเดียวกับในบทเพลงมิดะ

นอกจากนี้เขายังได้นำเสนอการศึกษาเรื่องระบบชื่อว่า ชายหญิงแต่ละวัยชาวอาข่าเรียกแตกต่างกันออกไปนั้น พบคำว่า "หมี่ดะ" (Miq davq) เป็นคำเรียกหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน โดย "หมี่" มาจากคำว่า "ด่องหมี่" หมายถึง "หาง" มีที่มาจากภาษิตที่ว่าคนอาข่าเปลี่ยนไปเป็นอื่นไม่เหมาะสม แม้กบลูกอ๊อดหางหายได้แต่โคนหางก็ยังมี จึงใช้คำว่า "หมี่" เป็นคำนำหน้าสำหรับเรียกหญิงสาว ส่วนคำว่า "ดะ" มาจากคำว่า "ยาดะ" หมายถึง "เดือยไก่" แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงวัยเข้าสู่ความเป็นหนุ่มสาวและมีพละกำลัง

สำหรับเรื่องของ "ลานสาวกอด" นั้น ปฏิภาณ อายิ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ชนเผ่าออนไลน์ มูลนิธิกระจกเงา จังหวัดเชียงราย นำเสนอไว้ในการอภิปรายทางวิชาการ "กระบวนการเรียนรู้ชาติพันธุ์อาข่าและคลายปมมิดะ" ว่า ตามที่มีผู้เขียนตำราเผยแพร่เรื่องลานสาวกอด โดยอ้างว่า ลานสาวกอดมาจากคำสองคำผสมกัน คือ "แต" กับ "ห่อง" นั้น ได้มีผู้รู้ชาวอาข่า ซึ่งมีตำแหน่งทางวัฒนธรรม ระบุว่าเกิดจากคำ 4 คำ และย่อเหลือ 2 คำ "แต" มาจาก "ตอแต" แปลว่า ท่องเที่ยว "ห่อง" มาจากคำว่า "มี้ห่อง" แปลว่า แผ่นดิน "แตห่อง" จึงมีความหมายว่า ดินแดนในการท่องเที่ยว ซึ่งไม่ได้มีความหมายเชิงชู้สาวตามที่เข้าใจกัน

และ "แตห่อง" ก็มีความสำคัญ 4 ประการด้วยกัน คือ พิธีกรรม, ถ่ายทอดความรู้, แลกเปลี่ยนความเห็น และสร้างความสามัคคี อาทิ บทบาทในแง่ของพื้นที่การถ่ายทอดความรู้นั้น จะมีชายหญิงนั่งสลับกันอยู่ แต่มีอาข่าทุกช่วงอายุ ทั้งผู้อาวุโส คนทำงาน วัยรุ่น และเด็ก อยู่ร่วมด้วย ไม่ได้มีเฉพาะอาข่าหนุ่มสาวเท่านั้น

นอกจากนี้ยังได้มีการศึกษาอาข่าในต่างประเทศ เช่น จีน พม่า ลาว เพื่อตามหา มิดะ และ ลานสาวกอด ตามที่มีการกล่าวอ้าง กลับไม่พบประวัติทั้งงานเขียนและวิถีชีวิตอาข่าในประเทศใด ที่มีความเกี่ยวข้องกับ มิดะ และ ลานสาวกอด อย่างที่อาข่าในประเทศไทยเผชิญ


วิกฤติมิดะ สร้างโอกาส

หากจะมีการคัดง้างตามมาอย่างไร ก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า "ผลประโยชน์จากความเข้าใจอันคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ มิดะ และ ลานสาวกอด มีมูลค่าสูงมาก เป็นสินค้าผลิตซ้ำและยังขายได้ เกินกว่าจะยอมรับข้อมูลใดๆ"

ปนัดดา บุญสารนัย นักวิจัยศูนย์ศึกษาชาติพันธ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ความเข้าใจผิดเรื่องมิดะ มีมานานแล้ว มีความพยายามแก้ไขให้ถูกต้องมาหลายครั้ง ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก จากหนังสือ เป็นบทเพลง ครั้งนี้อยู่ในรูปของการ์ตูน อาข่าคนรุ่นใหม่ไปเจอ จึงเป็นประเด็นขึ้นมาอีก

"ครั้งนี้ถือเป็นการผลิตซ้ำเพื่อตอบโต้กับวาทกรรมที่สังคมไทยได้สร้างไว้ให้ ถือเป็นพลังของคนกลุ่มเล็กๆ"

ปนัดดา บอกว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจ ในแง่ที่สามารถเชื่อมให้คนอาข่าต่างรุ่นกันได้เข้ามาพูดคุยกัน เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และยังทำให้คนอาข่ารุ่นใหม่ ได้หวนมาที่รากเหง้าของตัวเอง

"เมื่อเกิดประเด็นนี้ขึ้นมา ทำให้เขาได้หวนกลับมาทำความรู้จักตัวเองมากขึ้น ตอนนี้เรื่องเข้าใจผิดเข้าใจถูกมันเล็กไปแล้ว เพราะเขาได้กลับมาทำความรู้จักตัวเองมากขึ้น ทำความเข้าใจตัวเอง ตอนนี้มีความพยายามประกาศความเป็นอาข่าในหลายรูปแบบ บางคนทำเว็บไซต์ บางคนทำดนตรีอาข่า"

ปนัดดา ยังชี้ให้เห็นต่อว่า มิดะเป็นตัวอย่างเล็กๆ ของการสร้างเรื่องสมมติ แล้วถือเป็นเรื่องจริง เมื่อมีคนมาอธิบายความจริงกลับไม่เชื่อ เชื่อเรื่องสมมติมากกว่า เหมือนการดูละครไทยแล้วเชื่อว่าคนไทยอยู่ในบ้านหลังใหญ่ มีคนรับใช้หลายคน

"เราอยู่ในสังคมมายาคติ เราต้องรู้จักกรอง รู้จักเลือก ถ้าเราไม่ใฝ่หาความรู้ด้วยตัวเราเอง เราจะได้รับแต่ความคิดสำเร็จรูป ต้องยอมรับว่าเรามีวัฒนธรรมที่ไม่ได้รักการเรียนรู้ ค้นคว้าหาความจริง เราเชื่อง่าย แต่เราต้องหัด ต้องตั้งคำถาม อย่าเชื่ออะไรเร็วเกินไป เปิดโอกาสให้กับตัวเอง ได้ตั้งคำถาม ถ้ามีคำถามแล้วเราจะค้นคว้าหาคำตอบ ถ้าไม่ตั้งคำถามแล้วค้นหาความจริงแล้วจะเกิดความรู้ใหม่ๆ ขึ้นได้อย่างไร"

"มิดะ" และ "ลานสาวกอด" จะมีความหมายอย่างไรนั้น อาจจะเป็นเรื่องน่าติดตาม แต่ไม่มากเท่ากับกระบวนการตั้งคำถามและค้นหาความจริงของคนอาข่า และการได้เห็นการต่อสู้ที่จะไม่ยอมจำนนง่ายๆ นั้นสวยงามและกล้าหาญ


.........................................................................


แถลงการณ์ มายาคติ คลายปมมิดะและลานสาวกอด


กราบเรียน ท่านผู้อาวุโสอาข่าทุกท่าน นักวิชาการ นักเขียน เจ้าของลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อมวลชนทุกแขนง

อาข่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ในภาคพื้นเอเชียคือ มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ประเทศพม่า ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม และทางเหนือของประเทศไทย คนไทยรู้จักชาว "อาข่า" มาเป็นเวลาช้านาน โดยเฉพาะ "มิดะ" และ "ลานสาวกอด"

คำว่า "มิดะ" เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2492 ในหนังสือภาษาไทยเรื่อง "30 ชาติในเชียงราย" โดยผู้เขียนชื่อ บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ และหลังจากนั้นปีพ.ศ.2496 ได้เขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ชื่อ "ชาวเขาในประเทศไทย" ต่อมามีหนังสือมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้เกิดขึ้น เช่น หนังสือ "เรื่องลับน่ารู้ของอีก้อ" ที่เขียนโดย ปิยพงศ์

แต่สิ่งที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่รู้จักคำว่า "มิดะ" นั้นมาจากศิลปินเพลงชาวเหนือ จรัล มโนเพชร ได้แต่งเพลงชื่อว่า "มิดะ" ที่กล่าวถึง "มิดะ" หญิงสาวผู้เป็นครูสอนเพศศึกษาให้แก่ชายหนุ่มชาวอาข่าที่กำลังเข้าสู่วัยออกเรือน อีกทั้งยังกล่าวถึง "ลานสาวกอด" อีกด้วย จากชื่อ "ลานสาวกอด" นี้ ทำให้คนทั่วไปเกิดความเข้าใจว่า ลานสาวกอดเป็นสถานที่พลอดรัก เป็นสถานที่ที่สามารถกอดสาวได้ตามใจชอบ

ด้วยความเข้าใจใน "มิดะ" และ "ลานสาวกอด" ที่ได้ถ่ายทอด ตอกย้ำ ซ้ำ ทวน ตามสื่อต่างๆ ทั้งบทเพลง หนังสือ ภาพยนตร์ การ์ตูน จึงทำให้เกิดวาทะกรรม "มิดะ" และ "ลานสาวกอด" ขึ้น ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบในเชิงลบ ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อผู้หญิงอาข่ารวมถึงผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อีกด้วย ทำให้ชาวอาข่าออกมาแสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างอัตลักษณ์ "ความเป็นอาข่า" ในแบบที่เขาไม่ได้เป็นผู้สร้าง

ชาวอาข่าได้กล่าวถึงคำว่า "มิดะ" หรือ "หมี่ดะ" ว่า เป็นคำเรียก หญิงสาวธรรมดาของอาข่าที่ยังไม่ได้แต่งงาน ไม่ได้เป็นชื่อตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น ส่วน "ลานสาวกอด" นั้นไม่มีอยู่จริง มีเพียงแต่ "ลานวัฒนธรรม" หรือ "แต ห่อง" เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญในทางพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับคนในหมู่บ้าน เป็นแหล่งถ่ายทอดบูรณาการความรู้จากรุ่นสู่รุ่น เป็นแหล่งแสดงความคิดเห็นเพื่อสร้างความสมัครสามัคคีแก่ผู้คนในหมู่บ้าน ดังนั้นเรื่องราวด้านเพศสัมพันธ์ของชาวอาข่า โดยเฉพาะที่ว่าด้วย "มิดะ" และ "ลานสาวกอด" นั้น จึงเป็นเพียงจินตนาการของผู้เขียนสารคดีและบทเพลงเท่านั้น

"มิดะ" ที่เป็นแม่ครูชำนาญโลกีย์สอนลีลารักแก่ชายหนุ่มนั้นจึงไม่เคยมีอยู่จริงในสังคมอาข่า มีแต่ "หมี่ดะ" ที่เป็นหญิงบริสุทธิ์ผู้เตรียมพร้อมต่อหน้าที่เมียและแม่ของตน "กะลาล่าเซอ" ที่ไม่ใช่ "ลานสาวกอด" และ "ลานสาวกอด" ที่ไม่ได้มีไว้กอดสาว แต่คือ "แดข่อง" ลานประเพณีที่ชายหญิงมาร่วมกันร้องเพลงเต้นรำขับกล่อมหมู่บ้านและผู้คนให้ซึมซับวิถีแห่งวัฒนธรรมอาข่า โลกทางวัฒนธรรมทางเพศของชาวอาข่าที่แท้จริงนั้นจึงมีความละเมียดละไมและกลิ่นอายความงดงามในฐานะมนุษย์ธรรมดาๆ กลุ่มหนึ่งอยู่อย่างเต็มเปี่ยม มิใช่สังคมอิสระทางเพศดังที่หลายๆ คนเข้าใจ

ดังนั้นจากนี้เป็นต้นไป หากสื่อใดๆ มีความประสงค์ที่จะเผยแพร่เรื่องราวของมิดะ และลานสาวกอดก็ให้ถือการแถลงข่าวนี้เป็นหลัก และหากสำนักพิมพ์ใดๆ มีความประสงค์จะตีพิมพ์ก็ขอให้เอาแถลงการณ์นี้แนบท้ายก็จะดียิ่ง

ขอขอบพระคุณ ณ โอกาสนี้ สวัสดีครับ


อาจู จูเปาะ

ประธานชมรมอาข่าในประเทศไทย

 

------------------

จากเว็บ http://www.bangkokbiznews.com

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >