หน้าหลัก arrow หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 97 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

ชีวิตภายในในภารกิจของตน : พระคุณเจ้าบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ พิมพ์
Wednesday, 12 January 2011

ชีวิตภายในในภารกิจของตน

บทนำ

เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มีความเข้าใจกระจ่างชัดยิ่งขึ้น จึงใคร่เรียนชี้แจ้งให้ทราบถึงความเป็นมาของบทความนี้พอสังเขป ซึ่งเป็นการเรียบเรียงจากคำอภิปรายของพระคุณเจ้าบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ ในการประชุมสภากรรมการสามัญประจำปี 2531 ของ สคทพ. (คณะกรรมการคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา) การประชุมในครั้งนั้นได้จัดให้มีการศึกษาและพิจารณาไตร่ตรองสมณสาสน์ "ความห่วงใยเรื่องสังคม" (Sollicitudo Rei Socialis) ของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 เพราะในสมณสาสน์ฉบับนี้ มีผลเกี่ยวข้องกับแนวคิดและทิศทางในการทำงานของพระศาสนจักรในประเทศไทย ที่ทำงานด้านพัฒนาสังคมร่วมกับประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง (ตีพิมพ์ใน "สารมหาพรต" ฉบับวัยเยาว์ และศักดิ์ศรีร่วมสมัย)

นอกจากนั้น ยังได้มีการพิจารณาไตร่ตรองถึง "ทิศทางงานอภิบาลของพระศาสนจักรในประเทศไทย" (สาสน์ของสภาพระสังฆราชฯ) ซึ่ง สคทพ. ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในโครงการให้การศึกษาและอบรมเพื่อฟื้นฟูและปฏิรูปชีวิตคริสตชน โดยนัยนี้ เพื่อให้การทำงานพัฒนาภายในพระศาสนจักรเองผนึกแน่นเป็นหนึ่งเดียวกัน (Solidarity) แต่ละองค์กรสมาชิกจึงมีบทบาทในการสนับสนุนกันและกัน และเพื่อให้การดำเนินปฏิบัติบังเกิดผลดีอย่างแท้จริง สคทพ. จึงมีแนวทางของเรา (แนวคิดและทิศทางในการทำงานพัฒนาของ สคทพ.) เป็นแม่บทในการทำงานอีกส่วนหนึ่งด้วย ดังนั้น ในคำอภิปรายของพระคุณเจ้า นอกจากจะเป็นการพิจารณาไตร่ตรองดังกล่าวแล้ว ยังมุ่งหมายให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงชีวิตภายใน (ชีวิตจิต) กับภารกิจที่ทุกคนปฏิบัติจริงในชีวิตอีกด้วยว่า จะต้องสัมพันธ์และประสานสอดคล้องกัน มิใช่เป็นอยู่ในลักษณะที่แบ่งแยกเป็นคนละส่วน ตามความเข้าใจและการปฏิบัติแบบเดิมของบางบุคคลเท่านั้น


ชีวิตภายใน ในภารกิจของแต่ละคน

พระศาสนจักรในประเทศไทย โดยความคิดริเริ่มของสภาพระสังฆราชฯ ได้ประชุมสัมมนาเรื่อง "โครงการความจำเป็นเร่งด่วนของพระศาสนจักรในประเทศไทย" เพื่อให้เป็นแผนงานในภารกิจแห่งพระศาสนจักรในประเทศไทยสืบไป โดยได้เสนออุดมการณ์ของพระศาสนจักรว่า พระศาสนจักรควรจะมีคติภาพ (VISION) เป็นอย่างไร และเมื่อมีคติภาพ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดแล้ว ก็มีปณิธาน (MISSION) ที่จะทำให้คติภาพ (VISION) นั้นเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาได้

"พระศาสนจักรในประเทศไทยเข้าใจว่า ตนเองควรจะต้องเป็นอย่างไร พระศาสนจักรในประเทศไทย จะเป็นประชากรของพระเป็นเจ้า ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกันในความรัก แสวงหา ติดตาม และประกาศพระคริสตเจ้าในสังคมไทย โดยเป็นสักขีพยานด้วยชีวิตสมถะ เมตตา รักสันติ ถ่อมตน และพร้อมที่จะพัฒนา อุทิศตนรับใช้ทุกคน โดยเฉพาะผู้ยากไร้ " นี่คือคติภาพ (VISION) ของพระศาสนจักรในประเทศไทย เมื่อมีคติภาพเช่นนี้แล้ว เราจึงตั้งปณิธานว่าจะอุทิศตนฟื้นฟูชีวิตให้ชิดสนิทกับพระเจ้า ร่วมมือและแบ่งปันซึ่งกันและกัน แสวงหาคุณค่าแห่งพระอาณาจักรในสังคมไทย เจริญชีวิตเรียบง่าย ใกล้ชิด และรับใช้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ยากไร้ เมื่อมีเป้าหมาย และตั้งปณิธานว่าจะต้องบรรลุเป้าหมายเช่นนี้แล้ว จึงเห็นถึงความต้องการเร่งด่วนที่ต้องเริ่มดำเนินการ คือ

1) ปลุกจิตสำนึก และอบรมสมาชิกทุกระดับให้ซาบซึ้งถึงชีวิตภายใน และภารกิจของพระศาสนจักรในสังคมไทยตามบทบาทของแต่ละคน โดยใช้กระบวนการสัมผัสชีวิตที่ต่อเนื่อง

2) ค้นหาเครื่องมือ เพื่อการสัมผัสชีวิตที่เหมาะสมกับระดับต่างๆ ทั้งทางเทคนิคและเทวศาสตร์

3) บนพื้นฐานเทวศาสตร์ จะศึกษาเทวศาสตร์แห่งกางเขน การอวตาร การกลับใจ และรหัสธรรมปัสกา

4) ประเมินตัวเองจากประสบการณ์นั้นกับชีวิตและบทบาทของตน เพื่อจะได้มีทัศนะและท่าทีใหม่ต่อชีวิตภายในและภารกิจ" 

สืบเนื่องจากแผนแม่บทนี้ พวกเราก็คงจะสำนึกได้ว่า เรากำลังถือตามแผนแม่บทนี้อยู่แล้ว และสำหรับตัวเองในฐานะที่เป็นพระสังฆราช ก็คิดว่ามีหน้าที่ที่จะต้องกระตุ้นเตือนพวกเรา และแสดงความคิดเห็นเพื่อเป็นการแบ่งปันในเรื่องเทวศาสตร์ เราได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องภารกิจของพระศาสนจักรแล้ว เวลานี้ให้เรามาเข้าใจถึงชีวิตภายในในการทำภารกิจของเรา ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกับคำว่า "ชีวิตภายใน" เสียก่อน ที่จริงแล้วก็ชอบที่จะใช้คำว่า "ชีวิตจิต" มากกว่า เพราะว่าเมื่อเราพูดถึงจิต จะมีความหมายในด้านศาสนา และมีรากฐานทางพระคัมภีร์มากกว่า

"กระนั้นก็ดี ในการพยายามลุถึงการพัฒนาแท้จริง เราต้องไม่เว้นที่จะตระหนักถึงมิตินั้น ซึ่งเป็นธรรมชาติมนุษย์โดยเฉพาะที่พระเป็นเจ้าทรงสร้างมาตามพระฉายาและละม้ายคล้ายพระองค์" (เทียบ ปฐก1: 26) "เป็นธรรมชาติทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิต ซึ่งมีสัญลักษณ์อยู่ในเรื่องที่สองของการเนรมิตสร้าง อาศัยธาตุ 2 ประการ คือ ดิน ซึ่งพระเป็นเจ้าทรงใช้สร้างกายมนุษย์ และปราณแห่งชีวิต ซึ่งพระองค์ทรงเป่าทางจมูกมนุษย์" (เทียบ ปฐก 2 : 7) (สมณสาสน์ความห่วงใยเรื่องสังคม 29)

ดินเป็นร่างกายมนุษย์ แล้วพระเป็นเจ้าก็ได้เป่าลมปราณชีวิตเข้าไปทางจมูก ให้เป็นรูปภาพ แล้วดินนั้นก็เป็นมนุษย์ ดังนั้นจึงใช้คำว่าชีวิตฝ่ายจิต ชีวิตฝ่ายจิตหรือปราณแห่งชีวิตนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ปราณนี้ทำให้คนเป็นคน และเราจะแยกปราณแห่งชีวิตนี้ออกจากดินไม่ได้ เพราะถ้าแยกออกจากกันเมื่อไร คนก็จะไม่เป็นคน เช่นเดียวกันกับน้ำซึ่งประกอบด้วยไฮโดรเจน และอ๊อกซิเจนมารวมกันจึงเป็นน้ำ ฉะนั้นเราจึงพูดได้ว่า ปราณแห่งชีวิตนี้อยู่ในเนื้อหาของคน เป็นแก่นของคน เป็นพลังที่จะต้องก่อให้เกิดกิจการงาน และปราณแห่งชีวิตไม่แยกจากเนื้อหาของมนุษย์ มีอยู่ในมนุษย์ทุกๆ คน เพราะฉะนั้น จึงเป็นการยืนยันคำสอนของเราที่ว่า ชีวิตมนุษย์เป็นของประทานจากพระเป็นเจ้า เป็นพระคุณโดยตรงจากพระเป็นเจ้า เพราะเป็นปราณแห่งชีวิตที่มาจากพระองค์

ดังนั้นเมื่อมนุษย์เราทำงาน เราต้องทำอย่างคน ทำโดยมีจิต หรือโดยมีมิติภายใน ดังที่มีคำกล่าวที่ว่า เวลาเราเบื่อ หมดกำลังใจ เรามักจะพูดว่าเราไม่มีจิตใจที่จะทำงาน แต่หากคนหนึ่งทำงานโดยที่มีจิตใจ เขาจะทำงานด้วยความกระตือรือร้นและมีชีวิตชีวา และยิ่งเมื่อเราพูดถึงภารกิจ ภารกิจนี้ย่อมไม่ธรรมดา แต่เป็นงานที่เราได้รับมอบหมายจากพระเป็นเจ้า จากพระเยซูคริสต์ ซึ่งเราจะต้องทำสืบต่อพระภารกิจของพระองค์ในโลกนี้ ยิ่งจะต้องทำให้เราทำงานแบบมนุษย์คือ ต้องมีจิตใจมีมิติภายใน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราทำงานพัฒนาคน

"การมองคนแบบครบทุกมิตินั้น เป็นการมองชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจ การตัดสินใจ วัฒนธรรม ศาสนา และมิติทางความสัมพันธ์ของคนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด กับเพื่อนบ้าน กับสังคม และกับธรรมชาติ โดยเน้นความกลมกลืนกันอย่างลึกซึ้งในทุกมิติ" (แนวทางของเรา สคทพ. ข้อ 1.5 หน้า 11)

หากเรามองคน เข้าใจคนในแบบนี้ คนที่มีทั้งดินและปราณแห่งชีวิต เราก็จะไม่คลาดจากแนวทางที่ถูกต้อง ฉะนั้น การทำภารกิจของเราในฐานะที่เราเป็นองค์กรของพระศาสนจักร จึงต้องทำแบบครบทุกมิติอย่าได้แยกงานไว้ทางหนึ่ง และการสวดภาวนาไว้อีกทางหนึ่งเช่นนี้ นับว่าเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง หมายความว่า เราทำงานไม่ใช่แบบคน แต่เป็นแบบดินทีหนึ่ง แล้วก็แบบปราณแห่งชีวิตอีกทีหนึ่ง เมื่อเราได้ทำความเข้าใจดังนี้แล้ว จึงใคร่ขอเสนอคำว่า ชีวิตจิต ในการทำภารกิจของเรา ในการทำภารกิจของเรานั้น ให้เรามีเป้าหมายดังต่อนี้ในการทำงานเพื่อเสริมสร้างมิติภายในดังนี้


1) ความเป็นปึกแผ่น

เราทำงานพัฒนาคนเพื่อเสริมสร้างพระอาณาจักรของพระเป็นเจ้า หมายความว่า เราจะช่วยให้มนุษย์ทุกคนมีความเป็นปึกแผ่น (Solidarity) ซึ่งก่อนหน้านี้เรามักจะกล่าวว่า เพื่อให้มีความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันในทุกด้าน ซึ่งหากมนุษย์เจริญชีวิตกันแบบนี้ เราถือว่ามนุษย์เป็นเสมือนครอบครัวใหญ่ในพระอาณาจักรของพระเจ้า และดังนั้นเป้าหมายสำคัญของการทำงานพัฒนาก็คือ เพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยการประกาศข่าวดีแห่งพระวรสาร ประกาศทั้งคำพูดและกิจการ และทั้งการเจริญชีวิตของเราตามคุณค่าที่เราประกาศนั้น

"ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความเป็นปึกแผ่นเป็นคุณธรรมคริสตชน ในสิ่งที่ได้กล่าวแล้วจนถึงบัดนี้ เป็นไปได้ที่จะชี้ให้เห็นถึงหลายอย่างที่ตรงกัน ระหว่างความเป็นปึกแผ่นและความรัก ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสานุศิษย์ของพระคริสต์" (เทียบ ยน 13 : 35)

"ณ จุดที่เราพยายามจะเสริมสร้างให้มีความเป็นปึกแผ่นนี้ ความสำนึกถึงปิตุภาพของพระเป็นเจ้าเหนือทุกคน ถึงภราดรภาพของทุกคนในพระคริสต์ "บรรดาบุตรในพระบุตร" การประทับอยู่และการให้ชีวิตโดยพระจิต จะให้ทัศนธรรมใหม่ถึงโลก หลักเกณฑ์ใหม่สำหรับอธิบาย

ดังนั้น ความเป็นปึกแผ่นของเรา นอกเหนือสัมพันธภาพแบบมนุษย์และตามธรรมชาติซึ่งทั้งใกล้ชิดและเข้มแข็งแล้ว ในแสงสว่างแห่งความเชื่อ ก็ยังเห็นแบบใหม่แห่งเอกภาพของมนุษยชาติ ซึ่งต้องดลใจความเป็นปึกแผ่นของเราในที่สุด แบบอย่างเอกภาพสูงสุดนี้ ซึ่งเป็นแสงสะท้อนถึงชีวิตภายในของพระเป็นเจ้า พระเป็นเจ้าหนึ่งเดียวในสามพระบุคคล เป็นความหมายที่เราคริสตชนหมายถึง เมื่อใช้คำว่า สหพันธ์ (Communion)"

ด้วยเหตุนี้ พวกเราจะต้องทำงานเพื่อให้โลก ให้จักรวาลเป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนเช่น พระตรีเอกภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ว่าโลกจักรวาลหรือมนุษยชาติจะมีจำนวนเท่าใดก็ตาม แต่จะต้องเป็นหนึ่งเดียว และความสัมพันธ์ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกันนี้เป็นคุณค่าที่มนุษย์ทุกชาติ ทุกภาษา ทุกศาสนา ยอมรับนับถือว่าเป็นคุณค่าสูงส่งและประเสริฐ คุณค่านี้ไม่ใช่พบอยู่ในเฉพาะพระศาสนจักรของเราเท่านั้น แต่ยังพบอยู่ในที่อื่น ในชุมชนอื่น ในศาสนาอื่น เพราะฉะนั้น พวกเราที่ทำงานเป็นองค์กรของพระศาสนจักรนี้ จะต้องเปิดใจให้กว้าง ต้องพร้อมที่จะรับรู้ถึงคุณค่าของพระอาณาจักรที่อยู่ในชุมชนอื่นและในศาสนาอื่น ยอมเอามาพัฒนา ช่วยกันปกปักรักษา โดยอาศัยหลักแห่งข่าวดีของพระวรสาร

ในการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างพระอาณาจักรนี้ เราต้องการชีวิตฝ่ายจิตที่เปิดตัว ใจกว้าง ถ่อมตน ไม่ถือว่าเราเป็นฝ่ายถูกต้องหรือเป็นฝ่ายที่มีความจริงหมดทุกอย่าง แต่ทว่าฝ่ายอื่นเขาก็มีคุณค่าแห่งพระอาณาจักรอยู่ เราจึงมีหน้าที่ที่จะต้องไปค้นคว้า และเมื่อพบแล้วก็ควรทะนุถนอมพัฒนาขึ้นตามหลักข่าวดีของพระวรสาร และถ้าหากว่าคุณค่าเหล่านั้นกำลังจะถูกทำลายไป เราต้องช่วยกันปกป้องรักษาไว้ นี่เป็นชีวิตฝ่ายจิตที่เราหมายถึงในการทำงานพัฒนา

"พระศาสนจักรรู้ดีว่า ความสำเร็จฝ่ายโลกหาใช่พระอาณาจักรของพระเป็นเจ้าไม่ แต่ความสำเร็จเหล่านี้สะท้อนให้เห็น และในอีกแง่หนึ่งคือ การบอกล่วงหน้าถึงเกียรติมงคลแห่งพระอาณาจักร พระอาณาจักรที่เรารอคอยตอนปลายประวัติศาสตร์ ในเมื่อพระสวามีเจ้าจะเสด็จมาอีก" (สมณสาสน์ความห่วงใยเรื่องสังคม 48)

เพราะฉะนั้นเราต้องเสริมสร้างพระอาณาจักรตั้งแต่ในโลกนี้ อย่างไม่มีวันจบสิ้น เพราะว่าวันที่จักรวาลและมนุษย์จะรวมเป็นปึกแผ่นเดียวกันได้นั้นเราไม่ทราบ แต่เรามีความหวังว่า ในตอนสิ้นประวัติศาสตร์ เมื่อพระสวามีเจ้าจะเสด็จมานั่นแหละจึงจะถึงซึ่งความสมบูรณ์ และนี่คือจิตตารมณ์ของการทำงานเพื่อเสริมสร้างพระอาณาจักรของพระเป็นเจ้า จะเป็นไปได้ไหมว่าพวกเราที่มีความเชื่อมั่นอย่างนี้แล้ว จะทำงานเหมือนกับว่าทั้งโลกจักรวาลนี้จะสำเร็จไปไม่ได้


2) มรรคาแห่งไม้กางเขน

"ณ ที่นี้ ทัศนวิสัยก็กว้างขึ้น ความฝันถึง "ความก้าวหน้าอันไม่จำกัด" ปรากฏมาอีก เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงโดย "แนวคิดใหม่" ซึ่งความเชื่อของคริสตชนสร้างขึ้น โดยยืนยันแก่เราว่า ความก้าวหน้าเป็นไปได้ก็เพราะว่า พระเป็นเจ้าและพระบิดาทรงตัดสินตั้งแต่แรก ที่จะให้มนุษย์มีส่วนในสิริมงคลของพระองค์ในพระเยซูคริสต์ ซึ่งเสด็จกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย ในพระองค์ "เราได้รับการไถ่ เดชะพระโลหิตของพระองค์...การอภัยบาปของเราได้" (สมณสาสน์ความห่วงใยเรื่องสังคม 31)

ผมขอสรุป ความคิดใหม่ ซึ่งความเชื่อของเราสอนว่า ในการพัฒนาโลกจักรวาลและมนุษยชาติ ไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีชีวิต ที่ได้รับการพัฒนาอย่างสมบูรณ์นั้น เป็นชีวิตที่สมบูรณ์ในองค์พระคริสตเจ้า เพราะฉะนั้นพระคริสตเจ้าจึงเป็นเป้าหมายของงานพัฒนา เป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์อันดีระหว่างทุกสิ่ง ระหว่างมนุษยชาติเหล่านี้กับพระเจ้า พระคริสตเจ้าทรงเป็นเป้าหมายของงานพัฒนาอย่างที่เราเข้าใจนี้อย่างไร ด้วยเหตุว่า พระคริสตเจ้าทรงเป็นพระฉายาสมบูรณ์ของพระบิดาพระผู้สร้าง แต่สำหรับมนุษย์นั้นได้ทำให้พระฉายาของพระองค์มัวหมองไปเพราะบาป ดังนั้น เราจึงต้องพัฒนาตัวเราเอง และจักรวาลนี้ให้สมบูรณ์แบบพระคริสตเจ้า

องค์พระคริสตเจ้าทรงเป็นพระฉายาที่สมบูรณ์ของพระบิดาเจ้า โดยการพิชิตบาป ชนะความตาย และกลับเป็นขึ้นมามีชีวิตใหม่ เนื่องด้วยเหตุนี้เอง เราทุกคนและจักรวาลทั้งหลายก็ได้รับการอภัยบาป ได้มีความสัมพันธ์อันดีกันใหม่ระหว่างกันและกัน ระหว่างเรากับพระเจ้า โดยอาศัยพระโลหิตของพระองค์ รวมความว่า วิถีทางหรือมรรคาที่จะทำให้เราเป็นฉายาที่สมบูรณ์เหมือนกับพระคริสตเจ้า ซึ่งเป็นองค์พระฉายาที่สมบูรณ์ของพระเป็นเจ้านั้น คือ มรรคาแห่งธรรมล้ำลึกปัสกา ซึ่งสำเร็จไปโดยอาศัยความตายบนไม้กางเขน ก็ด้วยเหตุว่า หากไม่มีการทรมาน การหลั่งพระโลหิต ความตายบนไม้กางเขน ก็จะไม่มีการกลับคืนชีพและมีชีวิตใหม่ ซึ่งในความเข้าใจเช่นนี้ จึงเป็นทัศนะใหม่ที่กว้าง ในการเข้าใจงานพัฒนาของเรา จะขออธิบายขยายความถึงการที่ได้กล่าวว่า ในพระธรรมล้ำลึกปัสกาต้องมีไม้กางเขน และการกลับเป็นขึ้นมามีชีวิตนั้นหมายความว่าอย่างไร

ในองค์พระเยซูคริสตเจ้า พระบิดาทรงปรารถนาให้เราพิชิตบาป และให้บาปมีอยู่เพื่อความดีที่ใหญ่กว่าของเรา บาปจะนำความดีที่ยิ่งใหญ่กว่ามาให้เราได้อย่างไร ในพิธีกรรมปัสกา ในการขับร้องประกาศเฉลิมฉลองปัสกาเป็นภาษาลาตินนั้น ได้พูดถึงบาปอันน่าชื่นใจ (O! Felix Culpa) ทำไม...เพราะว่า บาปนี่แหละได้นำพระบุตรของพระเป็นเจ้ามาให้แก่โลก ทำให้มนุษย์ได้รับความรอด ได้ชีวิตใหม่ บาปที่มีอยู่เพื่อความดีที่ยิ่งใหญ่กว่าของเรานี่แหละ เป็นพระธรรมล้ำลึกของไม้กางเขน ก็มิใช่บาปหรอกหรือ ที่ได้ก่อให้เกิดกลไกอันวิปริตและกำลังครอบงำเราอยู่ ทำให้เรายากที่จะหลุดพ้นเขี้ยวเล็บของมัน เพราะบาปนี่แหละทำให้เราต้องต่อสู้ ต้องเอาชนะมันและผลของมันแบบองค์พระคริสต์ด้วย

การต่อสู้เพื่อที่จะเอาชนะบาปและผลของบาปนี่เองคือ ความดีสำหรับเรา ซึ่งจะต้องทำให้เราสลายตัวเอง และเปลี่ยนเป็นคนใหม่ หากว่ามนุษย์ไม่เปลี่ยนทัศนคติเก่า ไม่ทำลายทัศนคติเก่า เราก็ไม่มีทางที่จะทำลายกลไกอันวิปริตได้ เรารู้ว่าบาปมีไว้เพื่อความดีที่ใหญ่กว่าของเรา ก็โดยอาศัยพระคริสตเจ้า เพราะพระองค์เองได้ทรงพิชิตบาปแบบที่พระองค์ยอมสลายตัวพระองค์เอง มอบกายถวายชีวิตของพระองค์ และดังนี้ ชีวิตภายหลังการกลับเป็นขึ้นมาของพระองค์จึงเป็นชีวิตใหม่ เป็นชีวิตที่เป็นอิสระไม่ถูกจำกัดอยู่ในกาลเวลา พระศาสนจักรจะต้องทำอย่างไรในการพิชิตบาปและผลร้ายของบาป

ดังนั้น ส่วนหนึ่งของคำสั่งสอน และการปฏิบัติแต่โบราณของพระศาสนจักรคือ ความมั่นใจว่า พระศาสนจักรมีหน้าที่โดยกระแสเรียกของตน (พระศาสนจักรเอง ศาสนบริกร และสมาชิกทุกคนของพระศาสนจักร) ที่จะบรรเทาความทุกข์ร้อนของบรรดาผู้ยากไร้ทั้งไกลและใกล้ มิใช่เพียงแต่จากสิ่งฟุ่มเฟือยของตนเท่านั้น แต่จากสิ่งที่ "จำเป็น" ด้วย เมื่อเผชิญกับหลายๆ คนที่ขาดแคลน เราไม่สามารถจะนิ่งเฉยเพื่อเก็บไว้ เครื่องประดับวัดที่เหลือเฝือ และเครื่องประดับล้ำค่าสำหรับการนมัสการพระเป็นเจ้า ตรงกันข้ามอาจจะเป็นความจำเป็นที่จะขายทรัพย์เหล่านี้ เพื่อจัดหาอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า และที่อยู่อาศัยสำหรับบรรดาผู้ที่ขาดแคลนสิ่งเหล่านี้... ดังที่ได้กล่าวแล้ว ณ ที่นี้ เราได้รู้ถึง "ลำดับของค่านิยม" (ในกรอบของสิทธิกรรมสิทธิ์) ระหว่าง "มี" กับ "เป็น" โดยเฉพาะในเมื่อ "การมี" ของคนกลุ่มน้อย อาจนำมาสู่ความเสียหายมาสู่ "การเป็น" ของคนอื่นจำนวนมาก (ความห่วงใยเรื่องสังคม 31)

เพราะฉะนั้นสำหรับพระศาสนจักร การที่จะต้องต่อสู้กับบาปและผลร้ายของบาป จะต้องผ่านมรรคาแห่งไม้กางเขน คือ การเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนจิตใจ การกลับใจเสียใหม่ โดยเฉพาะในการทำภารกิจของเราแบบที่มีมิติภายในนี้ จำเป็นต้องเปลี่ยนชีวิตและจิตใจ แน่ละ มิใช่แต่เพียงปัจเจกบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อของบาป 2 ประการที่เด่นชัด คือ ความกระเหี้ยนกระหือรืออยากจะได้กำไร และความกระหายอำนาจ โดยไม่คำนึงถึงอะไรทั้งสิ้น แต่ทว่า ชาติและกลุ่มต่างๆ ก็อาจจะตกเป็นเหยื่อได้เช่นกัน สิ่งนี้ยังนำเอา "โครงสร้างของบาป" เข้ามา ซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว เมื่อเราพูดถึงกลไกอันวิปริต ซึ่งสร้างความวิปริตขึ้นในสังคม และในสากลจักรวาล สิ่งนี้เกิดจากทัศนคติที่เป็นบาป ทั้งบาปส่วนตัวและบาปของกลุ่มชน เราจะทำลายกลไกอันวิปริตนี้ได้ ก็ต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ แม้จะมีความยากลำบากสักเพียงใดก็ตาม เพราะนี่ก็คือมรรคาแห่งไม้กางเขน

แนวทางนี้ทั้งยาวและซับซ้อน และยิ่งกว่านั้นยังถูกคุกคามมิได้ขาด เนื่องจากความอ่อนแอของการตัดสินใจ และความสำเร็จของมนุษย์ และเพราะความแปรปรวนของสิ่งแวดล้อมภายนอกที่คาดคะเนไม่ได้ กระนั้นก็ดี เราก็ต้องกล้าที่จะออกเดินทางตามแนวทางนี้ และเมื่อก้าวไปแล้ว หรือเดินไปได้ส่วนหนึ่งแล้ว ก็จะกล้าเดินต่อไปจนถึงบั้นปลาย" (ความห่วงใยเรื่องสังคม 38) ชีวิตจิตในจิตตารมณ์ของมรรคาแห่งไม้กางเขน เรียกร้องเรา ให้เรากล้าที่จะเดินต่อไป แนวทางของชีวิตที่จะต้องเปลี่ยนนี้ เป็นแนวที่ตรงกันข้ามกับทัศนคติเดิม ซึ่งเราก็ทราบดีอยู่แล้วคือ เราต้องสลายตัวเอง โดยเห็นแก่ผู้อื่น เราอาจจะบอกว่ามันเป็นอุดมการณ์สูงส่งใครจะทำได้ แต่เราอย่าลืมว่าสิ่งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของมรรคาแห่งไม้กางเขนด้วย

อีกส่วนหนึ่งของมรรคาแห่งไม้กางเขนก็คือ การเลือกอยู่ข้างคนจน การรักคนจนมากกว่า "สคทพ. ปวารณาตัวว่า เราจะทำการพัฒนาเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้งมวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อคนยากไร้ แต่มิใช่เพื่อผลประโยชน์เฉพาะของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมืองก็ตาม" (แนวทางของเรา สคทพ. ข้อ 5.2 หน้า 15)

ณ ที่นี้ข้าพเจ้าจะชี้ให้เห็นเพียงอย่างเดียวคือ การเลือกคนจน หรือการชอบคนจนมากกว่า นี่เป็นการเลือกได้ หรือแบบจำเพาะของความเป็นเอกในการปฏิบัติความรักคริสตชน ซึ่งธรรมประเพณีทั้งหมดของพระศาสนจักรก็เป็นพยานอยู่... มันมีผลกระทบต่อชีวิตของคริสตชนแต่ละคนไม่ว่าชายหรือหญิง ในแง่ที่เขามุ่งที่จะลอกแบบชีวิตพระคริสต์ แต่เช่นเดียวกันก็ยังหมายถึง ความรับผิดชอบด้านสังคมของเรา และดังนั้น ยังหมายถึงวิธีดำเนินชีวิตและการตัดสินใจตามหลักเหตุผลของเรา ในการเกี่ยวข้องกับการเป็นเจ้าของ และการใช้ทรัพย์สมบัติของเรานั้น

นอกจากนั้น ปัจจุบันนี้เมื่อคำนึงถึงมิติสากลซึ่งอุบัติขึ้นต่อปัญหาสังคม การเลือกคนจน และการตัดสินใจซึ่งดลใจเรานั้นเป็นมิติภายใน จะไม่รวมไม่ได้ ถึงคนจำนวนมหาศาลที่หิวโหย คนที่ขัดสน คนไร้ที่อยู่อาศัย คนที่ขาดยารักษาโรค และซ้ำร้าย คนที่ไม่มีความหวังถึงอนาคตที่ดีกว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่คำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ว่ามีอยู่จริง การทำเป็นไม่รับรู้ถึงคนจำนวนมหาศาลเหล่านี้ ก็จะหมายถึงการเป็นเหมือน "เศรษฐี" ซึ่งแสร้งทำเป็นไม่รู้จักลาซารัส คนขอทานที่นอนอยู่ที่ประตูบ้านของตน"(เทียบลก.16 : 19-31)(ความห่วงใยเรื่องสังคม 42)

พวกเราคงเข้าใจแล้วใช่ไหมว่า ทำไมพระศาสนจักรในประเทศไทย จึงเน้นถึงการรับใช้ประชาชน โดยเฉพาะคนยากจน ยากไร้ เพราะคนเหล่านี้มีจำนวนมหาศาลนั่นเอง ฉะนั้น เมื่อเราจะตัดสินใจทำอะไร จำเป็นต้องคำนึงถึงคนส่วนใหญ่ที่มีจำนวนมหาศาลในสังคม ซึ่งเป็นคนยากไร้ หิวโหย และเราต้องตัดสินใจเลือกข้างคนจน รักคนจนมากกว่า เราจึงกล่าวได้ว่า เรื่องมรรคาแห่งไม้กางเขนนี้ ยังมีอะไรอีกมากมายที่เราจะใช้เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานของเรา เพื่อให้มีมิติภายใน ให้มีชีวิตจิต และหากเราทำงานพัฒนาแบบที่เราเข้าใจตามที่ได้ศึกษานี้ ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่มีชีวิตจิต


3) ภาวนา และปัญญาสมาธิ

"สคทพ. มีความใฝ่ฝันที่จะเสริมสร้างอาณาจักรของพระเจ้าในโลกนี้ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง และจากประสบการณ์ในการทำงานกับชุมชน เราได้ค้นพบคุณค่าแห่งพลังสร้างสรรค์ของประชาชนที่ยังคงดำรงอยู่ในวิถีชีวิตของพวกเขา คุณค่าแห่งพลังสร้างสรรค์ดังกล่าวนั้นมีคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว กล่าวคือ มิติทางเศรษฐกิจ การตัดสินใจ วัฒนธรรมและศาสนา มีการประสานสอดคล้องกัน และประสมกลมกลืนซึ่งกันและกันอย่างมีเอกภาพ

มิติทางความสัมพันธ์ของคนกับสิ่งสูงสุด กับเพื่อนบ้าน กับธรรมชาติ เป็นพลังที่ก่อให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีการดำรงชีวิตที่เรียบง่าย มีสันติ และกอปรไปด้วยคุณธรรมในชุมชน เราเห็นว่าคุณค่าแห่งพลังสร้างสรรค์เหล่านี้ เป็นพลังที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมในทุกๆ ระดับได้ ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำการสร้างอาณาจักรของพระเจ้าตามแนวคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้า"(แนวทางของเรา สคทพ. ข้อ 4 หน้า 14)

"ส่งเสริมให้มีกระบวนการศึกษาที่เริ่มจากชีวิตจริงของประชาชน โดยร่วมเรียนรู้จากการเสวนาระหว่างชีวิตกับชีวิต เพื่อสร้างจิตสำนึกร่วมกันถึงคุณค่าที่ดีงามต่างๆ ที่ประชาชนมีอยู่ รวมทั้งการตรวจสอบ วินิจฉัยสังคม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม-ศาสนา โดยอาศัยการศึกษาไตร่ตรองตามแนวคำสอนทางศาสนา เพื่อยึดเอาคุณค่าที่ส่งเสริมการสร้างสรรค์เป็นหลักในการดำรงชีวิต และถือเอาคุณค่าดังกล่าวเป็นพลังสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ ประชาชนทุกคน โดยเฉพาะคนยากไร้" (แนวทางของเรา สคทพ. ข้อ 6.1 หน้า 15)

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นการยืนยันว่า แนวทางของเราตรงกับคำสอนของพระศาสนจักร เป็นธรรมชาติทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิต ซึ่งมีสัญลักษณ์อยู่ในเรื่องที่สองของการเนรมิตสร้าง อาศัยธาตุ 2 ประการคือ ดิน ซึ่งพระเป็นเจ้าทรงใช้สร้างกายมนุษย์ และปราณแห่งชีวิต ซึ่งพระองค์ทรงเป่าทางจมูกมนุษย์ (เทียบ ปฐก. 2: 7) เมื่อกล่าวถึงลมปราณก็หมายถึง ลมปราณของพระเจ้า ซึ่งเป็นจิตของพระเจ้าที่อยู่ในตัวเรา เป็นเหมือนพลังที่ให้กำลังแก่เราตามธรรมชาติด้วย และลมปราณหรือพลังตามธรรมชาตินี้ จะต้องพัดกลับไปหาพระองค์ที่ทรงเป็นบ่อเกิดของชีวิตและเจ้าของลมปราณนี้ ฉะนั้น ในการทำงานโดยจะเสริมสร้างคุณค่าที่ดี ซึ่งมีอยู่ในที่ต่างๆ นั้นจึงเป็นไปไม่ได้ว่า เราจะทำงานโดยที่ไม่ภาวนาหรือไม่ติดต่อกับสิ่งสูงสุด

มนุษย์เป็นฉายาของพระเจ้า แม้ว่าจะพร่ามัวไป แต่ก็ยังพยายามที่จะสะท้อนพระองค์ออกมา หมายความว่า มนุษย์เราจะต้องหันหน้าเข้าหาพระเจ้า ในการทำงานเพื่อพัฒนาโลก ในการดิ้นรนเพื่อการหลุดพ้นนั้น เราจะต้องโหยหาพระเจ้า สนิทสัมพันธ์อยู่กับพระบิดาพระผู้สร้าง อยู่กับพระบุตรพระผู้ไถ่ และอยู่กับพระจิตพระผู้ทรงประทานปราณแห่งชีวิต เพราะฉะนั้นในการดิ้นรนเพื่อจะได้หลุดพ้นในความหมายนี้ ก็เพื่อเราจะได้กลับจิตกลับใจ และการที่เราจำเป็นต้องสนิทสัมพันธ์อยู่กับสิ่งสูงสุด อยู่กับพระเจ้า นี่เองคือเป็นการภาวนา เป็นชีวิตจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการที่เราจะพัฒนาให้สังคมหลุดพ้นจากกลไกอันวิปริตนี้ หนทางก็คือ มรรคาแห่งไม้กางเขน

มรรคาแห่งไม้กางเขน ซึ่งหมายความว่า ตัวเราจะต้องสลายไป เพื่อลมปราณของพระเจ้าจะได้เข้าครอบครองเราอย่างเต็มเปี่ยม และดังนี้เราจะได้หลุดพ้นเป็นอิสระจากบาปและผลร้ายของมันได้ เราทุกคนอยากดำรงชีวิตอยู่ในกระบวนการที่ช่วยให้เราหลุดพ้นจากตัวเอง ฉะนั้น การภาวนาจึงมิใช่เป็นการวอนขอเพื่อให้พระเจ้าช่วยเรา หากแต่เราภาวนาเพื่อวอนขอพระเจ้าให้เรารู้จักสลายตัวเราเอง และเพื่อจะได้ก่อให้เกิดความเป็นปึกแผ่นในการทำงาน


4) มิติชุมชนของศีลศักดิ์สิทธิ์และพิธีกรรมต่างๆ

มิติชุมชนของศีลศักดิ์สิทธิ์และพิธีกรรมต่างๆ หมายความว่า ในศีลศักดิ์สิทธิ์ และในการทำพิธีกรรมต่างๆ มีด้านสังคมอยู่อย่างอุดม เพราะว่าศีลศักดิ์สิทธิ์และพิธีกรรมต่างๆ นั้นมีไว้มิใช่เพื่อปัจเจกบุคคล แต่มีไว้เพื่อชุมชน เมื่อสร้างชุมชนให้เป็นประชากรของพระเป็นเจ้า "ส่งเสริมการรณรงค์เทศกาลมหาพรตและจิตตารมณ์มหาพรตให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมชุมชน" (แนวทางของเรา สคทพ. ข้อ 6.4 หน้า 16)

การรณรงค์เทศกาลมหาพรต เป็นวิธีการอย่างหนึ่งเพื่อจะได้เสริมสร้างจิตตารมณ์มหาพรต จิตตารมณ์มหาพรตก็คือ จิตตารมณ์ที่เชื้อเชิญเรา ให้พยายามสลายตัวเองเพื่อผู้อื่น เราตั้งใจว่าเราจะทำให้จิตตารมณ์เช่นนี้เข้ากับธรรมเนียมวัฒนธรรมของเรา ของประเทศไทย ให้เรามาพิจารณาศีลศักดิ์สิทธิ์บางอย่างสักเล็กน้อย ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า ศีลศักดิ์สิทธิ์มีไว้เพื่อประชากรของพระเป็นเจ้าในฐานะที่เป็นชุมชน อาทิเช่น

ศีลล้างบาป เป็นการรับสมาชิกใหม่เข้ามาเป็นประชากรของพระเป็นเจ้า มารับชีวิต มารับปราณแห่งชีวิตในพระจิตเจ้า

ศีลอภัยบาป เป็นศีลแห่งการคืนดีกันระหว่างมนุษย์กับเพื่อนมนุษย์ ซึ่งทำผิดต่อกัน และดังนี้ก็เป็นการคืนดีกับพระเป็นเจ้าด้วย

ศีลกำลัง เป็นการยืนยันถึงพระจิตเจ้าที่เสด็จมาในตัวเราเมื่อรับศีลล้างบาป มิใช่เพื่อช่วยให้คนคนนั้นเอาตัวรอดไปสวรรค์ แต่ว่าเพื่อพระจิตของพระเจ้าจะได้บันดาลให้มีอาณาจักรของพระเจ้าในโลกนี้ ให้ผู้ที่ได้รับพระจิตเจ้านั้น มีกำลังที่จะเสริมสร้างพระอาณาจักรของพระเจ้าในโลกนี้ มีกำลังที่จะต่อสู้กับบาป

"ก่อนอื่นหมด พระอาณาจักรของพระเป็นเจ้าเป็นปัจจุบัน ในพิธีกรรมศีลมหาสนิท ซึ่งเป็นสักการบูชาของพระสวามีเจ้า ในพิธีนั้น พืชผลต่างๆ ของแผ่นดินและกิจการของมือมนุษย์คือ ปังและเหล้าองุ่น เปลี่ยนไปอย่างลับลึก แต่ก็จริงๆ และในแก่นสาร อาศัยฤทธานุภาพแห่งพระจิต และวาจาของผู้ประกอบพิธี เปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตของพระสวามีเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระเป็นเจ้า และโอรสของพระนางมารีย์ อาศัยพระองค์ พระอาณาจักรของพระบิดา ก็เป็นปัจจุบัน อยู่ท่ามกลางเรา" (สมณสาสน์ความห่วงใยเรื่อง 48)

ในการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท พระสงฆ์เป็นผู้ประกอบพิธี โดยใช้ผลิตผลจากแผ่นดินคือ ปัง และเหล้าองุ่น ซึ่งเป็นผลิตผลของน้ำมือ - น้ำพัก - น้ำแรงของมนุษย์ เอามาเปลี่ยนให้เป็นสิ่งสูงสุดคือ เป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซูคริสตเจ้า ดังนั้น เมื่อเข้าไปรับศีลมหาสนิท ควรที่จะต้องทำให้พระธรรมล้ำลึกแห่งปัสกาคือ มรรคาแห่งไม้กางเขนเป็นจริงเป็นจังขึ้นในการดำเนินชีวิตของเรา

เมื่อเรารับศีลมหาสนิท ผลที่ได้รับจะตรงกันข้ามกับการที่เรารับอาหารทางฝ่ายกาย นั่นก็คือ ร่างกายของเราจะย่อยอาหารให้สลายไป กลับกลายเป็นเลือดเนื้อของตัวเรา แต่ในการรับศีลมหาสนิท เรารับองค์พระคริสตเจ้า เพื่อเป็นอาหารบำรุงเลี้ยงชีวิตจิต พระคริสตเจ้าที่ได้เสด็จมาในตัวเรานี่เอง พระองค์จะสลายตัวเราให้กลับกลายเป็นพระองค์ แล้วนั้น ตัวเราจะค่อยๆ สลายไป จนว่าเป็นองค์พระคริสตเจ้าเองที่ได้เจริญชีวิตอยู่ในตัวเรา และเราจะได้เจริญชีวิตอยู่ในพระองค์

------------
ที่มา : สารมหาพรต ปีที่ 6 ฉบับที่ 2/2532 หน้า 17-21 และสารมหาพรต ปีที่ 6 ฉบับที่ 3/2532 หน้า 8-15

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >