
ปาฐกถา งานของพระศาสนจักรกับบทบาทด้านความยุติธรรมในสังคม : พระสังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ |
![]() |
Wednesday, 12 January 2011 | ||||
ปาฐกถา งานของพระศาสนจักรกับบทบาทด้านความยุติธรรมในสังคม เมื่อเราพูดถึงพระศาสนจักร พวกเราคาทอลิกทุกคนก็คงเข้าใจดีแล้ว นั่นหมายถึงกลุ่มผู้นับถือศาสนาคาทอลิก ซึ่งประกอบด้วยบรรดาฆราวาส, พระสงฆ์, นักบวชชายหญิง และเมื่อพูดถึงพระศาสนา เราเคยมีความเข้าใจว่า พระศาสนากับสังคมโลกนั้นอยู่กันคนละฝั่ง และเราเคยเข้าใจว่า ศาสนาก็ไม่น่าที่จะมายุ่งเกี่ยวกับสังคมโลก ซึ่งความคิดแบบนี้ พระศาสนจักรของเราต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า พระศาสนจักรต้องยุ่งเกี่ยวกับสังคมโลก
เมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา เรามีการสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง โดยมีการพูดอย่างแจ่มแจ้งในพระธรรมนูญเกี่ยวกับพระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ (Gaudium et Spes) ที่กล่าวว่า พระศาสนจักรต้องมีส่วนร่วมในความห่วงกังวลในความฝัน ในความทุกข์ ความสุขของสังคมโลกด้วย
สืบเนื่องจากท่าทีและคำสอนของพระศาสนจักรว่าต้องเกี่ยวข้องกับโลก (ซึ่งที่จริงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องเก่า) พระศาสนจักรเคยมีส่วนในการทำให้สังคมดีขึ้น ทั้งในด้านการศึกษาก็ดี, การรักษาพยาบาลและสุขภาพ แม้แต่ด้านการเมือง พระศาสนจักรเอง โดยเฉพาะในยุโรปก็เคยมีส่วนช่วยทางด้านการเมือง ให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง และในด้านปัญหาของคนงาน พระศาสนจักรก็เคยเกี่ยวข้องในด้านคนงานด้วย ในปี ค.ศ. 1962 - 1965 จากวาติกันที่ 2 ได้ชี้ให้เห็นว่า พระศาสนจักรต้องยุ่งเกี่ยวกับโลกอย่างไร ในฐานะที่ต้องทำภารกิจที่พระคริสตเจ้าได้มอบไว้ให้ประกาศข่าวดี เพื่อเสริมสร้างพระอาณาจักรของพระเจ้าที่เป็นสังคมมนุษย์ที่อยู่ด้วยกันฉันพี่น้อง มีความโอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันและกัน ไม่เบียดเบียน ไม่ข่มเหงกัน โดยมีสำนึกว่าตนเองต่างก็เป็นลูกของพระบิดาเจ้าองค์เดียวกัน นี่เราเรียกว่าเป็นอาณาจักรของพระเจ้า ฉะนั้น ในฐานะที่เราเป็นคาทอลิก เป็นคริสตชนที่มีความเชื่อเลื่อมใสในพระคริสตเจ้า จึงเป็นภารกิจของเราที่สืบเนื่องมาจาก พระเยซูคริสตเจ้า เมื่อเป็นเช่นนี้ จากวาติกันที่ 2 (21-22 ปีล่วงมาแล้ว) พระศาสนจักรทั่วโลกก็สนใจในปัญหาสังคมอย่างพิเศษ ในปี ค.ศ. 1967 สองปี หลังจากประชุมสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ก็มีสมณสาสน์ฉบับหนึ่งเรียกว่า เอกสารการพัฒนาประชาชาติ (Populorum Progressio) ซึ่งในตอนท้ายพระสันตะปาปา ได้มีพระประสงค์ที่จะตั้งคณะกรรมการยุติธรรมและสันติ (Justice and Peace) ในภาษาลาตินว่า (Justice et Paix) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคนให้สมบูรณ์ เพื่อเสริมสร้างความยุติธรรมในสังคมโลก และเพื่อดำรงไว้ซึ่งสันติในสังคม
1. คณะกรรมการฯ นี้จะต้องช่วยจัดระบบวิชาการอบรมของพระศาสนจักรทั้งหมด ให้สอดคล้องกับปัญหาสังคมในปัจจุบัน 2. เสริมสร้างความยุติธรรมและความเสมอภาคในระบบสังคม และระบบเศรษฐกิจโลก 3. ทำทุกอย่างเพื่อก่อให้เกิดสันติในสังคมโลก 4. พยายามมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการพัฒนาคนให้สมบูรณ์ 5. ร่วมมืออย่างแข็งขันกับองค์กรอื่นๆ ที่อยู่นอกพระศาสนจักรทั้งองค์กรรัฐและองค์กรเอกชน เมื่อพระองค์ได้ตั้งกรรมการนี้ พร้อมกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์แล้ว ก็สนับสนุนให้พระศาสนจักรในส่วนต่างๆ ของโลกเริ่มตั้งแต่ในโลกที่ 1 (ในยุโรป, อเมริกาเหนือ, อเมริกาใต้ และออสเตรเลีย) ที่มีคาทอลิกจำนวนมาก ก็สนับสนุนให้พระศาสนจักรแต่ละประเทศตั้งคณะกรรมการยุติธรรมและสันติขึ้นมาด้วย ส่วนในแอฟริกา หรือเอเชีย ซึ่งมีคริสตชนเป็นจำนวนมาก ก็ให้คอยเวลาก่อน หลังจากที่ได้รับการกระตุ้นจากส่วนกลางของพระศาสนจักรคาทอลิก ก็ปรากฏว่ามีการเคลื่อนไหวกิจกรรมที่เด่นชัดในด้านการสนับสนุน และเสริมสร้างความยุติธรรมขึ้นมา ที่เห็นเด่นชัดก็เป็นที่ อเมริกาใต้และยุโรป โดยเฉพาะในอเมริกาใต้ จะเห็นเด่นชัดว่าตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมนั้น เป็นสภาพที่ผู้ร่ำรวยและผู้ที่ยากจนอยู่ห่างไกลกันมาก และที่ดินส่วนใหญ่ก็อยู่ในกรรมสิทธิ์ของคนเพียงไม่กี่ตระกูล และพระศาสนจักรทั้งในอเมริกาใต้และอเมริกากลาง ก็มีพลเมืองที่นับถือคาทอลิกมาก ต่างก็เรียกร้องให้มีการแบ่งปันที่ดิน ในฝ่ายยุโรป ซึ่งหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรปก็ได้มีการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมมากและเกิดปัญหาเกี่ยวกับคนงาน และรายได้ พระศาสนจักรในยุโรปไม่ว่าจะเป็นที่เยอรมัน, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์ ได้ออกมาต่อสู้เข้าฝ่ายกรรมกรเพื่อเรียกร้องให้นักลงทุนทั้งหลายได้คำนึงถึงสวัสดิการของคนงานต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งคนงานก็ถูกใช้แบบเครื่องยนต์
ในทวีปเอเชีย มีสภาพเศรษฐกิจและสังคมอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่เหมือนกับยุโรป ซึ่งกว่าจะเริ่มงานที่เป็นตัวเป็นตนได้ก็ต้องรอถึงปี ค.ศ. 1970 ซึ่งพระสันตะปาปา ปอล ที่ 6 ได้เสด็จมาเยี่ยมนครหลวงของฟิลิปปินส์ และพระองค์ได้เป็นประธานของการประชุมสหพันธ์สภาพระสังฆราชแห่งเอเชียเป็นครั้งแรก ซึ่งเอกสารที่ออกมาจากการประชุมนี้ ก็เพื่อกระตุ้นในพระศาสนจักรได้ทำงานเพื่อร่วมกันพัฒนาสังคม และให้อยู่ฝ่ายประชาชนที่กำลังดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตน ในที่นี้หมายถึงคนยากจนที่ถูกกดขี่ ไม่ว่าโดยระบบเศรษฐกิจก็ตาม, ไม่ว่าโดยระบบการเมืองก็ดี หรือระบบการโฆษณาก็ดี ชาวเอเชียเป็นพันล้านต้องอยู่ใต้ระบบทั้ง 3 นี้ ซึ่งกดขี่ไม่ให้โอกาสที่จะเจริญชีวิตเป็นมนุษย์ที่จะคิด ที่จะแสดงความคิดเห็น ที่จะพูดออกมาได้แบบมนุษย์ที่มีอิสระ สำหรับเมืองไทย ที่จริงในเมืองไทยก็ได้รับอิทธิพลจากการสังคายนาวาติกันที่ 2 ย้อนไปในปี คศ. 1968 สภาพระสังฆราชแห่งประเทศไทยได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 คณะ เพื่อทำการพัฒนาสังคม เรียกว่า กรรมการคาทอลิกสังคมสงเคราะห์ ต่อมาก็เริ่มจับงานเครดิตยูเนี่ยน ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นงานแรกที่พระศาสนจักรในไทยจับ เพื่อสนับสนุนให้เป็นระบบ เป็นงานที่สอนประชาชนคนธรรมดาให้รวมกลุ่มกัน ให้ทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม และจากกลุ่มนี้ก็ถือตามหลักการและจิตตารมณ์ของสหกรณ์ ขอให้เราสังเกตว่า งานที่พระศาสนจักรทำในด้านสังคมแบบเป็นระบบตามความหมายที่ว่าพัฒนาสังคมนี้นั้น เราเริ่มโดยงานให้การศึกษาแก่มวลชน พระศาสนจักรในไทยเคยทำงานเกี่ยวกับการศึกษามาตั้งแต่ 100 ปีล่วงมาแล้ว เช่น โรงเรียนต่างๆ รวมทั้งโรงเรียนที่อยู่ตามวัด แต่ว่าการศึกษาแบบใหม่ (มวลชนหรือการศึกษาผู้ใหญ่) คือ เอาประชาชนมาพูดคุยกันและดูว่ามีปัญหาอะไร เอามารวมกันและศึกษาปัญหาของเขาดู รวมถึงหาวิธีแก้ พระศาสนจักรในไทยเริ่มงานพัฒนาสังคมโดยเอางานให้การศึกษาแก่มวลชน และออกมาเป็นรูปเครดิตยูเนี่ยน ต่อมาในปี ค.ศ. 1972 เครดิตยูเนี่ยนก็ได้รวมตัวกันเป็นชมรมกลุ่มออมทรัพย์พัฒนา และยังไม่ได้จดทะเบียน โดยอยู่ในระยะทดลอง ขณะที่เราทำงานโดยให้การศึกษาแก่มวลชน เราได้รับเอกสารจากกรุงโรมในปี ค.ศ. 1970 เกี่ยวกับเรื่องคณะกรรมการยุติธรรมและสันติ แต่ยังไม่ตั้งคณะกรรมการพิเศษนั้น ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1977(2520) สภาพระสังฆราชก็เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะตั้งคณะกรรมการยุติธรรมและสันติขึ้นมา โดยมี พระคุณเจ้าบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ เป็นผู้รับผิดชอบ และในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1977 ก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ที่ยังเหลือในปัจจุบันก็มี คุณพ่อโมลิ่ง เอส. เจ, อาจารย์พีรพันธ์ พาลุสุข ฉะนั้น คณะกรรมการฯ นี้จึงมีอายุ 11 ปี
ถ้าเราพิจารณาเป้าหมายและวัตถุประสงค์ ก็คงจะบ่งบอกได้ว่า เราควรจะทำอะไร เพื่อจะได้เข้าใจงานของ ยส. ดังคำกล่าวของพระสันตะปาปา ปอล ที่ 6 ได้กล่าวไว้ในเอกสารตั้งคณะกรรมการ ยส. ว่า คณะกรรมการนี้ตั้งขึ้นมาอยู่บนรากฐานแห่งเจตนารมณ์ของสังคายนา เป็นเสมือนลูกไก่ที่บอกเวลาอยู่หลังคาโบสถ์ หรือบนหลังคาบ้าน (ในยุโรปไก่เป็นสัญลักษณ์ที่บอกทิศทางลม และมักจะอยู่ใกล้ชิดนาฬิกา) เพราะฉะนั้น พระประสงค์ของ พระสันตะปาปา ปอล ที่ 6 ที่ให้สัญลักษณ์ของไก่ ก็เพื่อกระตุ้นให้พระศาสนจักรตื่นอยู่เสมอ (ตื่นดูว่าทิศทางลมนั้นพัดไปทิศทางใด) และให้ตอบสนองทั้งในหัวใจและในกิจการต่อกิจกรรมแห่งความรัก (ว่าลมนั้นพัดไปทางนี้แล้ว สังคมมันพัดไปในทางนี้แล้ว สังคมกำลังเปลี่ยนไปแล้ว เราในฐานะที่เป็นสมาชิกในพระศาสนจักร เราจะต้องมีความรู้สึกอย่างไร และทำอะไรเพื่อแสดงความรักของเรา) ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการยุติธรรมและสันติก็ถือภารกิจนี้ เราเป็นเหมือนไก่ที่ขันบอกเวลาและทิศทาง ให้บรรดาสัตบุรุษในพระศาสนจักรได้รู้ว่าเวลานี้เป็นเวลาอะไร ให้รู้ว่าทิศทางของลมกำลังพัดไปทางไหน (ความเป็นไปของสังคมโลก) และเราควรจะมีความรู้สึกอย่างไร, ทำอะไร เพื่อตอบสนองคำเรียกร้องของพระเจ้าในการที่จะตอบสนองตามคำดลใจของพระจิต ต่อความเป็นไปของกาลเวลานั้นๆ ฉะนั้น หน้าที่ประการแรกของ ยส. ในไทย คือ พยายามที่จะปลุกจิตสำนึกของบรรดาสัตบุรุษทุกคนตั้งแต่ฆราวาสไปจนถึงบรรดาพระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวชต่างๆ ได้เห็นความสำคัญของภารกิจนี้ คือด้านความยุติธรรมในสังคม (ดังเอกสาร ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน) "Justice in the World" ซึ่งเป็นผลของสมัชชาพระสังฆราชทั่วโลกในปี ค.ศ. 1977 และ ยส. รับภาระหน้าที่ที่จะแปลสารวันสันติสากล ที่ถือเอาวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี โดยที่ พระสันตะปาปา ปอลที่ 6 ได้เริ่มทำมาในปีแรกหลังจากที่ได้ตั้ง ยส. เมื่อปี ค.ศ. 1967 - 1968 และล่าสุดในปีนี้เอง (1988) ดังสารของพระสันตะปปา ยอห์น ปอล ที่ 2 เรื่อง เสรีภาพในการนับถือศาสนา เงื่อนไขแห่งสันติภาพ นี่เป็นการปลุกจิตสำนึกของพวกเราให้มีความรู้สึก และทำกิจกรรมบางอย่างที่ตอบสนองต่อความรัก ที่เรามีต่อเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก ในทุกอย่างที่เราทำได้ ทุกคนมีความเป็นห่วงงานเกี่ยวกับความยุติธรรมว่าเป็นงานที่ล่อแหลม เพราะเหตุว่า ความยุติธรรมในโลกนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง แต่มีสาเหตุมาจากหลายประการ คือ ด้านเศรษฐกิจ (การกดขี่ทางเศรษฐกิจ) , การกดขี่ทางอำนาจบ้านเมือง นอกจากนั้น มีการกดขี่ทางด้านความคิด ซึ่งออกมาในรูปของการโฆษณาชวนเชื่อ และมาจากลัทธิทางการเมือง เป็นต้น การกดขี่ดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ มีอยู่จริงในสังคมไทย และผู้ที่มีอำนาจก็มีเงิน, มีเครื่องมือ, มีอาวุธ ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้สามารถเป็นโล่ห์ป้องกัน คนที่มีอำนาจเอากฎหมายมาเสมือนเป็นอาวุธ ที่จะทำลายคนส่วนใหญ่ เมื่อเป็นเช่นนี้งานด้านความยุติธรรมก็ต้องไปปะทะกับอำนาจเงิน ซึ่งเป็นอำนาจที่มีความฉลาด ฉะนั้นเราต้องเอาความฉลาดของเราไปสู้ ด้วยเหตุนี้ ยส. ก็ต้องใช้ความฉลาดรอบคอบ เราไม่อาจจะทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เราอยากจะทำได้ งานที่เราทำได้คือ การแก้ปัญหาทางด้านกรรมกร, การละเมิดสิทธิมนุษยชน, ปัญหาด้านงานพัฒนาบางอย่างที่แยบยล ซ่อนเงื่อนความอยุติธรรมเอาไว้ใต้องค์การพัฒนานั้นๆ โดยที่เราต้องบอกว่า โครงการเหล่านั้นไม่ดี เช่น การสนับสนุนการท่องเที่ยว ที่มีการซ่อนเงื่อนอย่างแยบยล, โครงการปลูกป่า, โครงการพัฒนาชาวเขา ฯลฯ
พระศาสนจักรทราบดีว่า โดยส่วนรวมทั่วไปในโลกเรามีคาทอลิกจำนวนเล็กน้อย จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ กับศาสนาอื่น เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่มีอยู่ไม่ถึงครึ่งเปอร์เซ็นต์ เราต้องทำงานแบบไมใช่ถือธงนำหน้า แต่เราต้องเป็นแบบที่หาเพื่อน โดยพยายามสร้างข่ายที่โยงใยกับเพื่อนๆ ของเรา ทั้งที่มีอยู่ในประเทศและต่างประเทศที่มีความคิดเช่นเดียวกับเรา นี่เป็นความคิดกว้างๆ ว่าพระศาสนจักรทำอะไรอยู่ ทำไมจึงทำและเราทำมาแล้วอย่างไร ทำไมจึงทำอย่างนั้น เกี่ยวกับงานพระศาสนจักร เช่น พระศาสนจักรในโลกที่ 1 คริสตชนเป็นชนกลุ่มใหญ่ ฉะนั้น พระศาสนจักรในอเมริกาเหนือเมื่อไม่กี่ปีมานี้ได้ออกเอกสารสำคัญเกี่ยวกับความยุติธรรมในสังคมมา 2 ฉบับ ฉบับแรก เป็นเอกสารที่เกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ เป็นความยุติธรรมในด้านการเมืองระหว่างโลกค่ายตะวันออกกับโลกค่ายตะวันตก (ค่ายคอมมิวนิสต์กับค่ายโลกเสรี) เมื่อปี ค.ศ. 1983
ฉบับที่สอง เมื่อปี ค.ศ. 1985 เป็นเอกสารเกี่ยวกับความยุติธรรมในด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศอภิมหาอำนาจ เป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจและมีบรรษัทข้ามชาติหลายบรรษัท ดังนั้นพระศาสนจักรจึงคิดว่า จะต้องเขย่าประตูธรรมของพวกบรรษัทข้ามชาติเหล่านั้น ให้สำรวจมโนธรรมของตัวเองว่าได้ถือความยุติธรรมหรือไม่เพียงใด
Powered by AkoComment 2.0! |
< ก่อนหน้า | ถัดไป > |
---|