หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 40 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


บทไตร่ตรองทางเทววิทยาจากผลกระทบโลกาภิวัตน์ : พระสังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ พิมพ์
Wednesday, 09 February 2011

บทไตร่ตรองทางเทววิทยา

โอกาสสัมมนา "เชื่อมโยงจุลภาค - มหภาคในวิกฤตเศรษฐกิจ" 

พระสังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์


การไตร่ตรองทางเทววิทยาหรือที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Theological Reflection คืออะไร คือการไตร่ตรองความเป็นไปต่างๆ ในชีวิตของเรา จากมิติศาสนา มิติแห่งความเชื่อของเราว่าเหตุการณ์ความเป็นไปในชีวิตของเราในโลกนี้ มันเป็นสัญญาณแห่งกาลเวลา ที่พระเป็นเจ้าได้ส่งมาให้แก่เรา เพื่อสอนเรา หรือเพื่อเตือนสติเราในเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งสำหรับพวกเราที่ทำงานพัฒนาสังคมก็หมายถึง มนุษย์ สังคม และสิ่งต่างๆ ทั้งหลาย เราควรจะต้องมีหลักยึดประการใดบ้าง ซึ่งหลักยึดนี้ มิใช่เนื่องมาจากผลประโยชน์ แต่ว่าเนื่องมาจากความรัก

งานพัฒนาของเราที่จะกระทำในนามของพระศาสนจักรนั้น เราทำจากฐานของความเชื่อทางศาสนาของเรา หรือโดยเฉพาะจากคำสอนหลักที่เราได้จากเอกสารสังคายนาวาติกันที่ 2 ที่ชื่อเป็นภาษาลาตินว่า GAUDIUM ET SPES แปลว่าความยินดีและความหวัง หมายความว่า พระศาสนจักรคือกลุ่มคริสตชนก็ต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสังคมโลก ต้องร่วมความยินดีและร่วมความหวังกับสังคมโลกด้วย คำสอนนี้เป็นหลักในการทำงานพัฒนาสังคมของคริสตชน ในยามวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เราพบว่ามันมีผลลบ ก็แน่นอนวิกฤตนี้มันมาในเทศกาล ในสมัยนี้ที่เขาเรียกว่า โลกาภิวัตน์ ที่จริงโลกาภิวัตน์ก็มีแง่บวก ซึ่งเราก็ทราบดีแล้ว แต่ก็มีแง่ลบอยู่มากและเมื่อพูดถึงวิกฤต เราก็หมายถึงแง่ลบ ฉะนั้นเมื่อมีแง่ลบแล้วมันก็ก่อให้เกิดความทุกข์ต่อมนุษย์ แล้วพวกเราในฐานะที่เป็นศาสนิก เป็นคริสตชนก็ต้องร่วมทุกข์ แล้วก็หาวิธีที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์อันนั้น

ในพระสมณสาสน์ การพัฒนาประชาชาติ (POPULORUM PROGRESSIO) ที่พวกเราใช้เป็นหลักสำคัญในการทำงานพัฒนาคนมาตลอด เอกสารฉบับนี้ออกมาในปี 1967 สองปีหลังจากการปิดสังคายนาวาติกันที่ 2 ในปี 1965 เป็นเอกสารที่ได้อรรถาธิบายขยายความสาระของเอกสาร GAUDIUM ET SPES โดยที่พระสันตะปาปา ปอล ที่ 6 ได้กล่าวถึง มิติสากลของปัญหาเศรษฐกิจและสังคม และทรงเตือนว่าศาสนิกชนต้องสนใจปัญหาเศรษฐกิจสังคมและการเมือง การเมืองนี่เห็นชัด ซึ่งมันมีมิติสากลอยู่ และพระองค์ได้เสนอความร่วมมือสากล ดังนั้น พระศาสนจักรจึงสนับสนุนองค์กรระหว่างชาติ เช่น World Bank และ IMF ซึ่งกำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้น โดยมีจุดประสงค์จะช่วยเหลือมนุษย์ในตอนแรกๆ แต่ก็ในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร พระศาสนจักรในระดับผู้นำไม่ได้นิ่งนอนใจ และในระดับผู้ตามคือ พวกเรานี่ก็พยายามเอาเอกสารคำสั่งสอนเหล่านี้มาย่อย มาศึกษากัน ในระดับประเทศ ในระดับสังฆมณฑล หรือหน่วยงานของเรา

ต่อมาพระศาสนจักรได้ออกเอกสารอีกฉบับชื่อ ความห่วงใยเรื่องสังคม (SOLLICITUDO REI SOCIALIS) เพื่อแสดงจุดยืนว่าพระศาสนจักรห่วงใยเรื่องสังคมอย่างไร

ในหมายเลขที่ 16 ของเอกสาร ความห่วงใยเรื่องสังคม มีกล่าวถึงว่า 20 ปี หลังจากการออกพระสมณสาสน์การพัฒนาประชาชาติไปแล้ว ก็มีกล่าวถึงว่า หลังจากที่โลกของเรามีความพยายามที่จะพัฒนา มีความพยายามที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้ความเป็นไป ความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น ก็เกิดมีกลไกแห่งบาป กลไกนี้มันดำเนินการไปอย่างไร ก็น่าสนใจ ควรที่ศาสนิกจะต้องมาศึกษาดู

ต่อมาในปี 1991 พระศาสนจักรก็ออกเอกสารสำคัญอีกฉบับหนึ่ง ชื่อเรียกว่า CENTISIMUS ANNUS แปลว่า การเฉลิมฉลองปีที่หนึ่งร้อย เป็นการฉลองเอกสารที่เป็นคำสอนด้านสังคมที่สำคัญเล่มแรกของพระศาสนจักร ที่ออกเมื่อปี 1891 คือ RERUM NOVARUM

สาระสำคัญของพระสมณสาสน์ การเฉลิมฉลองปีที่หนึ่งร้อย (ข้อ 42) ได้เตือนลัทธิเสรีนิยมแบบใหม่ แต่ว่าพวกเราอย่างน้อยผู้นำ บรรดาสังฆราช และบรรดาพระสงฆ์ บ่หัวซา แปลว่า ไม่สน ไม่รู้เรื่องว่ามีเอกสารที่เกี่ยวกับเรื่องการบ้านการเมืองการเศรษฐกิจสังคมที่ดีๆ แบบนี้

สรุปว่า เหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นในยุคเศรษฐกิจมันเป็นวิกฤตทางสังคมด้วย ได้มีการกล่าวเตือนไว้แล้วในเอกสารที่สำคัญๆ ของศาสนจักรของเราเมื่อหลายสิบปีก่อน เริ่มตั้งแต่ปี 1967 มาจนถึงสุดท้ายนี้ ปี 1991

เอกสารล่าสุดคือ เอกสารที่ประกาศการเตรียมสู่ปี 2000 เรียกว่า การก้าวเข้าสู่สหัสวรรษที่ 3 พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ได้ออกเอกสารฉบับนี้มาเพื่อโน้มน้าวใจคริสตศาสนิกชนทั่วโลก ให้เตรียมตัวรับปีปีติมหาการุญ พระองค์ให้ความหมายของปีปีติมหาการุญในด้านสังคม ซึ่งต้องมีรากฐานอยู่ที่ความเชื่อด้านศาสนา ในคัมภีร์ไบเบิล บอกว่าเป็นปีที่จะต้องมีการเข้าคืนดีกัน ในสังคมมีพิธีต่างๆ มีกฎระเบียบและจารีตอยู่แล้ว แต่ว่าต้องมีกิจกรรมที่ปรากฏออกมาทางด้านการเข้าคืนดีกันทางด้านสังคม เราเข้าคืนดีกันระหว่างพระกับมนุษย์ได้ จากการสวดภาวนาว่า ข้าพเจ้าเสียใจไป ข้าพเจ้าได้ทำบาปมากมายจึงคิดเสียใจ แต่ว่าเมื่อคิดเสียใจแล้ว ต้องมีกิจกรรมที่แสดงว่ากลับใจแล้วนั่นคือ หันเข้าคืนดีกับเพื่อนมนุษย์ เพราะฉะนั้นใครที่ไปขี้โกง ไปลักขโมยขูดรีดเขามา ต้องไปคืนดีกัน

พระสันตะปาปาองค์นี้ถือโอกาสปี 2000 เตือนคริสต์ศาสนิกชนทั่วโลก ต้องทำความดีต่อสังคม และพระองค์ได้บอกว่าสังคมในปัจจุบันมีโรคอะไรบ้าง ไม่ใช่ในสังคมโลกเท่านั้น แม้แต่ในสังคมศาสนา ศาสนาคริสต์เองก็แตกแยกเป็นลัทธิ เป็นฝ่ายเยอะแยะไปหมด พระสันตะปาปาบอกว่าโอกาสนี้เราจะต้องคืนดี แล้วก็กิจกรรมอย่างหนึ่งที่พระองค์สนับสนุนนั่นคือ เราจะต้องพยายามรณรงค์ให้มีการยกหนี้ยกสินระดับสากล ซึ่งพระองค์ทราบดีว่า หนี้สินนี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ไม่ใช่เพราะคนขี้เกียจ ส่วนหนึ่งก็มีบ้าง แต่ว่าส่วนใหญ่มันเกิดขึ้นจากกลไกของระบบการเงิน ที่เป็นไปตามโลกาภิวัตน์ ซึ่งฝังตัวอยู่ ดังนั้น ศาสนจักรจะต้องช่วยรณรงค์ให้มีการยกล้าง ล้มเลิกหนี้สินระดับสากล

พระองค์ยังบอกว่า หน้าที่ของศาสนาส่วนร่วมไม่ใช่มีหน้าที่ที่จะเสนอทางใหม่ แต่เป็นหน้าที่ของเราเอง และแน่นอนก็ต้องอาศัยสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรือวิชาการแขนงอื่นๆ เข้ามาช่วยวิเคราะห์ด้วย

พวกเราคงอยากจะทราบว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ พระศาสนจักรในที่อื่นเขามีปฏิกิริยาอย่างไรต่อกระแสโลกาภิวัตน์ ก็ขอเสนอตัวอย่างบางประเทศ

สภาพระสังฆราชของแคนาดา เมื่อ 4-5 ปีมาแล้ว เขาทำตามคำแนะนำคำสอนของพระสันตะปาปา โดยออกเอกสารแสดงความห่วงใยของปรากฏการณ์ที่กำลังแผ่ขยายในประเทศแคนาดา นั่นก็คือ การว่างงาน ซึ่งกำลังทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อมีการว่างงานก็มีความยากจน มีคนหิว และเด็กๆ ออกมาอาศัยอยู่ข้างถนนมาก

ในประเทศฝรั่งเศส สภาพระสังฆราชประเทศฝรั่งเศสก็เช่นเดียวกัน เป็นห่วงต่อภาวะคนว่างงาน และในฐานะเป็นประเทศคริสต์ สภาพระสังฆราชฯ ได้อ้อนวอนและแนะนำผู้นำทางการเมือง ให้ระวังเรื่องการยกเลิกกฎ ระเบียบ ที่จำกัดการเคลื่อนไหวของเงิน การลงทุน อะไรต่างๆ ซึ่งพวกเราก็ทราบแล้ว หมายความว่า ต้องเลิกบางอย่าง เลิกกฎบางอย่างเพื่อให้การเงินมันคล่องยิ่งขึ้น เพื่อให้เปิดตลาดฟรียิ่งขึ้น

ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศคริสต์ เมื่อปีที่แล้ว (2541) สภาพระสังฆราชก็ออกสารมา เมื่อเขาประสบวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนกัน สารนี้ได้แนะนำและเตือนรัฐบาลของเขา แนะนำเกี่ยวกับเรื่องการที่จะออกกฎหมายห้ามนำเงินออกนอกประเทศ สภาพระสังฆราชเขาเตือนรัฐบาลให้ระวัง แต่ว่ารัฐบาลไม่ยอมฟัง ซึ่งนโยบายของเขา เขาถูกบังคับมาจากไอเอ็มเอฟอีกที นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าพระศาสนจักรในระดับบนของหลายประเทศก็ได้ดำเนินการต่อเรื่องนี้อยู่

โชคดี ในประเทศไทยของเรา ก็มีแผนพัฒน์ฯ ฉบับที่ 8 พร้อมทั้งได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย เพราะฉะนั้นเพื่อกันลืม ก็ขอทบทวนเรื่องการพัฒนาคนของเราหน่อย โดยขอเสนอแนวย่อๆ ของการพัฒนาคน

เราพัฒนาคนแบบทั้งครบ หรือที่แบบใหม่เขาเรียกว่า แบบองค์รวม ก็คือ การพัฒนาคนโดยยึดแนวศาสนาและวัฒนธรรม ฉะนั้นการพัฒนาคนของเราตามแนวศาสนาและวัฒนธรรมก็ต้องเอาหลักความรู้มาจากพระคัมภีร์ คนเป็นอะไร มีชีวิตมาอย่างไร คงต้องกลับไปถึงพระธรรมเดิม จากปฐมกาลบทที่ 1 ที่พระเจ้าได้สร้างสรรพสิ่งมาและในวาระสุดท้ายได้สร้างคนให้เป็นชายและหญิง และในการสร้างมนุษย์นี้ ในคัมภีร์ไบเบิลได้บอกว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้าง แต่ว่ามนุษย์เอาชีวิตมาจากพระเจ้าผู้สร้างแบบพิเศษหน่อย นั่นก็คือ มนุษย์มีชีวิตแบบพระเจ้าผู้สร้าง หมายความว่า มีเกียรติมีศักดิ์ศรี ซึ่งในภายหลังจากพระธรรมใหม่หรือในพระวรสาร เรามนุษย์ถูกสร้างมาแบบพระเจ้าผู้สร้างนี้ ก็เพราะเราเป็นลูกของพระเจ้าผู้สร้าง และพระเยซูได้บอกให้เราเรียกว่าพระเจ้าผู้สร้าง พระยาเวห์ เรียกว่าพ่อ

ฉะนั้น มนุษย์มีเกียรติและศักดิ์ศรี เพราะว่ามนุษย์เป็นลูกของพระเจ้า ต่อมามนุษย์ยังได้รับภาระให้จัดการดูแลให้พัฒนาสิ่งสร้าง ซึ่งพอดีในคัมภีร์นี้ไปแปลมาจากภาษาเดิม แปลพลาดหน่อยเดียว ทำให้เราเข้าใจผิดมาตลอด ภาษาฮินดูเดิม พระเจ้าไม่ยอมให้เราเป็นเจ้าเป็นนายแต่ให้เราเป็นสจ๊วต สจ๊วตในเครื่องบินเขาคอยดูแลผู้โดยสารให้อยู่ดี อย่าให้ใครคอยลุกขึ้นลุกลงไปโน่นมานี่เกะกะ ให้มนุษย์คอยดูแลสิ่งสร้างต่างๆ ไม่ใช่ให้มนุษย์มันถลุงซะหมด ฉะนั้นเราจะเห็นว่ามนุษย์นี้มีความสำคัญกับพระเจ้า มีความสำคัญกับโครงสร้างทั้งหลาย

ในหนังสือปฐมกาลบทที่ 2 ย้ำความคิดเดิม คือ พระเป็นเจ้าได้ตั้งมนุษย์ให้ไปอยู่ในสวนเอเดน และก็มีการห้ามไม่ให้กินผลไม้นั้น มันเป็นวิธีสอนที่คนในสมัยโบราณว่า มนุษย์นี้ต้องมีความสัมพันธ์อันดีกับพระเจ้าผู้สร้าง เมื่อพระองค์สั่งอย่างไร ต้องเกรงกลัวและต้องทำตาม อย่าไปละเมิดคำสั่ง เมื่อละเมิดแล้วก็เกิดเรื่อง เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าไม่ดีแล้ว ก็เกิดเป็นบาปขึ้น มีอยู่อีกตอนหนึ่งในบทที่ 2 มีบอกว่า พระเจ้าเห็นว่ามนุษย์คือ อาดัมอยู่ผู้เดียวว้าเหว่ จะต้องหาคู่ชีวิต เพื่อนชีวิตที่เหมาะสมที่คู่ควรกับเขา ในพระคัมภีร์บรรยายว่า ให้อาดัมนอนหลับไป แล้วพระเจ้าก็เอาซี่โครงนี้ออกมา การที่บรรยายเช่นนี้มันเป็นเสมือนถ่ายหนัง แต่ว่าจะสอนความจริงว่ามนุษย์ชายหญิงมีเกียรติเท่ากัน เกียรติและศักดิ์ศรีเท่ากัน แล้วก็เมื่อมนุษย์ชายหญิงเป็นเพื่อนชีวิตอันคู่ควรกันแล้ว จะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ฉะนั้นความสัมพันธ์ในสังคมแรกของมนุษยชาตินั่นคือ ความสัมพันธ์ในครอบครัว จะต้องเป็นความสัมพันธ์ที่อยู่บนพื้นฐานของความเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีที่เท่ากันระหว่างชายและหญิง และช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

ในคัมภีร์ไบเบิลยังบอกว่า มนุษย์เอาชีวิตมาจากไหน ฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างเขากับต้นแหล่งชีวิตต้องเป็นอย่างไร ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับสิ่งแวดล้อมทั้งมวลต้องเป็นอย่างไร ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเพื่อนพี่น้องต้องเป็นอย่างไร และต่อมาเมื่อมนุษย์อยู่รวมกันเป็นสังคมใหญ่ ต้องมีความสัมพันธ์อย่างไร จึงมีบทบัญญัติ 10 ประการขึ้นมา นี่เป็นหลักของการพัฒนาคน ซึ่งเราต้องเข้าใจว่าคนเป็นอะไร เป็นใครมาจากไหน และคนที่สมบูรณ์ต้องเป็นอย่างไร คนที่สมบูรณ์ก็คือ ผู้ที่มีสัมพันธภาพอันดีในทุกมิติ ในมิติเบื้องบนกับพระเจ้า ในมิติเบื้องล่างกับสิ่งสร้างด้านเศรษฐกิจ ในมิติด้านข้าง คือ ในชุมชน ในครอบครัว และในชุมชนอันกว้างใหญ่ต่อไป ต้องมีความสัมพันธ์กันอย่างไร นั่นเป็นบทเรียนที่เราได้เห็นจากพระคัมภีร์ในเรื่องการสร้าง

ต่อมาใน พระธรรมใหม่ ก็มีบทสอนเกี่ยวกับการไถ่กู้ นั่นก็คือ พระเป็นเจ้าได้ทรงส่งพระผู้ไถ่มาไถ่กู้ และพระผู้ไถ่นี้ก็ไม่ใช่เทวดาที่ลงมาเกิด เป็นพระบุตรของพระองค์ที่มาเกิดเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เกิดแบบยากจนที่สุด เป็นมนุษย์ธรรมดา แต่ว่าเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ นี้ ไม่ใช่ธรรมดา เพราะว่าเป็นพระผู้ไถ่ ที่มาสอนและให้แนวทางและทำเป็นตัวอย่างแนวทางแห่งการไถ่กู้มนุษย์ ให้หลุดพ้นจากบ่วงบาป และความไม่ดีต่างๆ ฉะนั้น เมื่อพระผู้ไถ่เกิดมาเป็นมนุษย์ ก็ทำให้มนุษยชาติมีศักดิ์ศรีสูงส่งขึ้น และเมื่อเป็นบุตรของพระเป็นเจ้าแล้ว พระผู้ไถ่ พระเยซู พระบุตรของพระเป็นเจ้านี้ ได้บอก ได้สอน ได้ทำเป็นตัวอย่าง ให้เราประพฤติตนเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้า

นอกจากนั้น ในพระวรสาร พระผู้ไถ่กู้ คือพระเยซูองค์นี้ ไม่ใช่ไถ่กู้โดยพระองค์ผู้เดียว แต่เป็นทีม มีกลุ่มสาวกของพระองค์ และพระองค์ก็ได้มอบพันธกิจอันนี้แก่สาวกและพวกเรา พันธกิจแห่งการไถ่กู้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ยาก จากบาป จากบ่วงบาปของบาป และพวกเราก็เห็นว่าเรากำลังทำพันธกิจอันนี้ที่เราได้รับมอบหมายต่อไปในการพัฒนามนุษย์

ประเด็นที่อยู่ในกระแสร่วมสมัยของโลกาภิวัตน์คือ เงินตรานิยม เจาะลึกๆ ลงไปอะไรเป็นวัตถุประสงค์เอกของเงินตรา ซึ่งก็คือว่า ต้องมีกำไรมากๆ พูดถึงเงินตรา ก็ทำให้เรานึกถึงพระวรสารที่พระผู้เป็นเจ้าได้ประดิษฐ์นิทานเรื่องหนึ่ง ซึ่งเขาให้ชื่อว่า ผู้จัดการไม่ซื่อ คือ มีเจ้านายคนหนึ่งคอยจัดการทรัพย์สินของเขา ตัวทรัพย์สินมันออกมาเป็นตัวเงินตรา จัดการทรัพย์สินแล้วก็เรียกลูกหนี้มาแต่ละคนๆ มาดูว่ามีหนี้มากน้อยเท่าไร และก็ลบให้ พระเป็นเจ้ากลับชมผู้จัดการไม่ซื่อคนนี้ และในคำชมนี้มีบทสอนอยู่ ฉันจะบอกให้พวกท่านทราบว่า จงใช้ทรัพย์สมบัติในโลกนี้ ซึ่งปัจจุบันก็คือเงินตรา ผูกมิตรกันไว้ เพื่อว่า เมื่อหมดทรัพย์ไปแล้ว ท่านจะได้รับการตอบรับ ในที่อยู่ที่อาศัยอันถาวร ฉะนั้นทรัพย์สมบัติเงินตราตามความหมายของพระเยซูเจ้ามีไว้เพื่ออะไร เพื่อผูกมิตร ไม่ใช่มีไว้สำหรับสร้างศัตรู หลังจากชมแล้วก็ให้บทสอนแล้ว

พระเป็นเจ้าทรงเตือนพวกเราว่า ไม่มีบ่าวคนไหนจะรับใช้นายสองคนได้ เขาจะทำลายนายคนหนึ่ง และรักนายอีกคนหนึ่ง เขาจะจงรักภักดีต่อนายคนนี้ และดูหมิ่นนายคนนั้น พวกเธอจะให้ทั้งพระเจ้าและทรัพย์สมบัติเป็นนายของท่านไม่ได้หรอก พูดง่ายๆ ว่าเธอจะรับใช้ทั้งพระเจ้าและเงินตราไม่ได้หรอก และสมัยนี้ปรากฏว่ายังไง เงินตราคือพระเจ้า เพราะฉะนั้น ใครที่นับถือเงินตราเป็นพระเจ้า ก็จะนับถือพระเจ้าไม่ได้หรอก ใครที่นับถือเงินตราเป็นพระเจ้า จะรักพระเจ้าและรักมนุษย์ไม่ได้หรอก ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เราก็ได้บทเรียนของการเชิดชูเงินตราเป็นพระเจ้า แล้วเป็นยังไง มนุษย์ซึ่งเป็นลูกของพระเจ้าเป็นยังไง ถูกเบียดตกออกนอกสังคมไปเป็นแถวๆ

เรามาพิจารณาตัวเอง พวกเราพัฒนาคนตามแนวทางของเรา คือ การรวมคนเข้าด้วยกันเพื่อจะได้มาช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพื่อจะได้มีความรักสมัครสมานกัน แล้วในหลวงของเราท่านตรัสไว้ว่า รู้รัก นี่แหละที่เราต้องรวมกลุ่มกันให้รู้จักสามัคคี ต้องรักกันจริง สมัครสมานสามัคคี ร่วมกันรับผิดชอบ จะได้ช่วยกัน แก้ปัญหากัน แม้ว่าการรวมกลุ่มเป็นงานยากมาก มันมีกระบวนการของมัน การรวมกลุ่มต้องรวมแบบมนุษย์ ไม่ใช่รวมแบบประเภทฝูง ฝูงวัวอะไรแบบนั้น การรวมกลุ่มแบบมนุษย์ต้องมีการสอน การอบรม การวิพากษ์วิจารณ์สังคม ต้องรู้ว่าปัญหาเศรษฐกิจนั้นเป็นมาอย่างไร และก่อนที่เราจะบอกให้เขารู้ เราต้องรู้ ต้องมานั่งเรียนให้มันปวดหัวกันอยู่ ต้องมีการอบรม แล้วใครที่ทำเครดิตยูเนี่ยน การรวมกลุ่มที่เราทำอยู่มันยุ่งยาก การรวมกลุ่มของเราต้องเป็นการรวมกลุ่มแบบมนุษย์ เพื่อช่วยเหลือกัน ให้เป็นเครดิตยูเนี่ยน เราใช้คำเครดิตยูเนี่ยนคือว่า เรามียูเนี่ยนอันเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยอาศัยเครดิต กว่าจะเข้าใจความหมายของคำว่าเครดิตได้นี่ เครดิตมันมีความหมายว่าเกียรติและศักดิ์ศรี ความเชื่อถือ ไม่ใช่เครดิตที่เขาให้ในธนาคาร ได้เครดิตที่เขาให้ในธนาคารนั่น เป็นเครดิตปลอมๆ ไปเอาเงินมาจากไหนก็ไม่รู้ว่ามาใช้หนี้คืนแล้ว เช้าเอามาใช้หนี้ บ่ายเอาคืนกลับไปแล้ว เอาคืนเพื่อจะได้สร้างเครดิตต่อหน้าธนาคาร แต่ที่จริงไม่มีเครดิต เพราะฉะนั้นเราต้องรวมพลแบบมนุษย์ นั่นก็คือ ให้มนุษย์ได้มาพบเห็นกัน ให้สมาชิกในกลุ่มได้รู้จักกัน ได้พบเห็นกัน เมื่อพบเห็นกันแล้วเขาจะได้มีโอกาสมาคิดเห็นร่วมกัน เข้าใจว่าความทุกข์ความรู้ของเขานี่มันเป็นมาอย่างไร แล้วเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร คิดเห็นร่วมกันแล้ว จะได้เกิดความรู้เห็นร่วมกัน เมื่อรู้เห็นแล้ว ต้องเป็นใจด้วยกัน มีความพร้อมเพรียงร่วมกันในการทำงาน

เงินตรามันเป็นสิ่งที่มนุษย์เราสร้างขึ้นเพื่อแทนทรัพย์สินสมบัติ ระบบเศรษฐกิจเป็นยังไงพวกเราก็ทราบกันแล้ว ปัจจุบันนี้สิ่งที่เราสร้างขึ้นมา มันกลายเป็นเงาไปเหนือเรา มากดขี่เราอยู่ เราต้องไถ่ถอนตัวเองให้หลุดพ้นจากอำนาจอิทธิพลที่เราทำมันขึ้นมา ปัจจุบันนี้สมัยโลกาภิวัตน์ เราเป็นทาสของสิ่งที่เราสร้างมันขึ้นมาได้ เช่น คอมพิวเตอร์ก็ดี แต่ว่าถ้าคอมพิวเตอร์มันเสีย เราก็แย่เหมือนกัน อย่างเช่น ลิฟท์ ที่เราใช้ขึ้นลง ถ้ามันดีก็ดี เราใช้มันสะดวกสบาย แต่ถ้ามันเฮี้ยวขึ้นมา เราจะทำอย่างไร เหมือนอย่างที่โรงพยาบาลอุบลฯ ไม่กี่อาทิตย์นี่ลิฟท์มันเสีย หลายคนที่อยู่ในลิฟท์นั้นแย่เลย เป็นทาสมัน นี่เราจะให้เงินตราเป็นทาสของเรา เราจะต้องจัดการให้ได้ ก็ต้องอาศัยเทคนิคต่างๆ ในการอธิบายถึงความหมายของเงินตรา

1. เงินตรามันเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่มนุษย์เราคิดขึ้น สมมุติขึ้น

2. เมื่อเราคิดขึ้น เราก็ต้องใช้มัน

3. ต้องใช้มันให้เป็น

4. ให้เป็นประโยชน์แก่เรา

เราจะใช้เงินตราให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาคนอย่างไร แล้วแต่เทคนิคพิเศษของแต่ละคน ที่จะไปหาความหมายของเงินตรา บางคนสอนว่า เงินตราเป็นเครื่องหมายถึงน้ำใจดี กว่าจะได้เงินมาต้องเสียหยาดเหงื่อต้องเสียแรงไปเท่าไรกว่าที่เราจะได้มา เราจะไม่ใช้ผลของหยาดเหงื่อนี้ทั้งหมดสำหรับบำรุงบำเรอตัวเอง เราจะใช้ส่วนหนึ่งเพื่อจะได้ไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่เขาต้องการ เขาตกทุกข์ได้ยาก เขาต้องการเงินตรา จะทำอย่างไร ฉันคนเดียวช่วยเขาไม่ไหวหรอก ก็มารวมกัน รวมกันประหยัด ประหยัดนี่แหละ มันสอนเราให้รู้จักทำงบประมาณของครอบครัว รายได้เท่าไร รายจ่ายควรจะเป็นเท่าไร แล้วเงินประหยัดนี้มันก็มาจากน้ำใจของเราที่ยังคิดถึงเพื่อน เห็นไหมเงิน นอกจากจะเป็นผลจากน้ำหนัก เป็นผลจากน้ำใจที่ฉันอุตส่าห์หักเอาไว้ อดเอาไว้ ออมเอาไว้แล้วก็นำมาสะสมในเครดิตยูเนี่ยน แล้วเงินที่ฉันไปฝากในเครดิตยูเนี่ยน อาทิตย์นี้อาจจะเป็น 5 บาท หรือแม้แต่ 1 บาท มันมาจากน้ำมือเรา น้ำใจ และใจที่รักห่วงใยซึ่งกันและกัน และเวลาที่เราต้องการก็มากู้กัน กู้โดยไม่ต้องอาย บอกความจริงแก่เพื่อนของเรา ซึ่งเพื่อนของเราเขาเป็นเจ้าของกองทุนกองใหญ่นี้ ที่ต่างคนต่างก็มาสะสม เพื่อช่วยเพื่อน บอกเพื่อน บอกว่าผมต้องการอย่างนี้ เขาก็จะช่วยให้ความคิดเรา ต้องการเท่านี้จะพอหรือ หรือว่าต้องการเท่านี้จะมากไป อะไรต่างๆ เหล่านี้ เพื่อนเขาจะช่วยเราคิดเมื่อคิดแล้วเขาก็จะแบ่งให้เรากู้มา จากกองทุนกองรวมนั้น แบ่งให้เรากู้มา เราก็จะต้องรับเงินกู้ด้วยความขอบคุณ เอาเงินกู้นั้นไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริง เพราะว่ามันเป็นผลจากน้ำแรง น้ำเหงื่อ น้ำใจของเพื่อน จะเอาน้ำใจของเพื่อนไปปู้ยี่ปู้ยำไม่ได้ แล้วเมื่อถึงเวลาที่เราจะต้องมาส่งคืน เราก็มาส่งคืน เราไม่ขโมย ส่งคืนพร้อมดอกเบี้ย ดอกเบี้ยนี้ก็เหมือนการตอบขอบใจเพื่อนสมาชิกของเรา ที่เขาอุตส่าห์ประหยัด สะสมมาด้วยน้ำแรง น้ำเหงื่อ น้ำใจ มาให้เรา เขาเรียกว่าสัญลักษณ์แห่งการขอบคุณ นั่นคือดอกเบี้ย ปกติแต่เดิมดอกเบี้ยของเครดิตยูเนี่ยนไม่มากเท่าไร แต่เดี๋ยวนี้ปรากฏว่าดอกเบี้ยมันสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ที่ธนาคาร เราก็พยายามที่จะลดดอกเบี้ย เอาละนี่ก็เป็นวิธีที่ได้จากประสบการณ์ ในการอบรมสมาชิก เพื่อจะได้ก่อตั้งเครดิตยูเนี่ยนขึ้นมา นี่เขาเรียกว่าเป็นการใช้เงินตรา เพื่อจะได้พัฒนาคน ไม่ใช่พัฒนาเงินตรา เพื่อให้มันข่มขี่คนอย่างที่เป็นอยู่ในสมัยปัจจุบัน ซึ่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมา


**********************************************

ที่มา : บทบรรยายจากการสัมมนาปฏิบัติการ "เชื่อมโยงจุลภาค-มหภาคในวิกฤตเศรษฐกิจ"
เมื่อวันที่ 8-10 มิถุนายน 2542 จัดโดยสภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >