หน้าหลัก arrow หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 201 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

สิทธิมนุษยชนในมุมมองของพระศาสนจักร : พระสังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ พิมพ์
Wednesday, 02 February 2011

สิทธิมนุษยชนและพระศาสนจักร : ข้อพิจารณาไตร่ตรองเชิงประวัติศาสตร์และเทววิทยา

พระสังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์

1. สิทธิมนุษยชนในสภาพการณ์ปัจจุบัน

สถานการณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนในโลกปัจจุบันและในพระศาสนจักร มีทั้งด้านบวกและด้านลบ โดยมี สถานการณ์ในด้านบวก คือ

ประเด็นที่ 1 กลุ่มคนในสังคมให้ความสนใจและตื่นตัวต่อเรื่องสิทธิฯ กันมาก สืบเนื่องจากความคิดที่ก้าวหน้าและการสื่อสารที่กว้างไกล ประกอบกับเกิดเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ที่บีบคั้นหรือเหยียบย่ำศักดิ์ศรีของมนุษย์ และทำลายสิทธิต่อกันมากมายหลายครั้ง จึงทำให้สังคมเกิดสำนึกในเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง

ประเด็นที่ 2 ในปี ค.ศ.1948 องค์การสหประชาชาติได้ออกปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งทั่วโลกต่างให้การรับรองและพระศาสนจักรก็ให้การสนับสนุน และในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศต่างๆ ที่เคยเป็นเมืองขึ้นก็ได้รับอิสรภาพจากประเทศมหาอำนาจจักรวรรดินิยม จึงเกิดจิตสำนึกในเรื่องสิทธิมนุษยชนกันมาก

ประเด็นสุดท้าย ซึ่งเป็นข้อที่น่าสังเกตคือ มีองค์กรต่างๆ ทั้งในระดับชาติ และระดับภูมิภาคได้ให้ความร่วมมือและรวมตัวกันเพื่อสนับสนุน, ส่งเสริม และปกป้องสิทธิมนุษยชนกันอย่างกว้างขวาง


สถานการณ์ในด้านลบ คือ

ประเด็นที่ 1 แนวคิดแบบลัทธินิยมทางสังคม และการเมืองที่คุกคามศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชนยังมีปรากฎอยู่ ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศมาเลเซียเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลใช้กลุ่มเยาวชนทำการก่อกวน และขัดขวางการประชุมขององค์กรเอกชน (NGOs.) ระดับเอเชียที่จัดการประชุมเรื่องสิทธิมนุษยชนในติมอร์ตะวันออก

ประเด็นที่ 2 ค่ายต่างๆ ที่แบ่งแยกกันตามลัทธิสังคมและการเมือง ต่างก็แข่งขันแย่งชิงกันเป็นใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงเกียรติและศักดิ์ศรีของมนุษย์

ประเด็นที่ 3 ในปัจจุบันมีอานุภาพทางเศรษฐกิจเข้ามาแทนอานุภาพทางการเมืองและได้ครอบงำมนุษย์ บ่อนทำลายศักดิ์ศรีและสิทธิของมนุษย์ โดยถือว่ามนุษย์เป็นปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง ใช้มนุษย์เป็นเครื่องมือเพื่อผลกำไร กระแสที่ดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งพระสันตะปาปา ทรงเรียกว่าเป็น "วัฒนธรรมแห่งความตาย" นี้ปรากฏออกมาเป็นความรุนแรง ความสนุกสนานนิยม ยาเสพติด โสเภณี และการทำแท้ง เป็นการทำลายสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการดำรงไว้ซึ่งชีวิตของตน

ประเด็นที่ 4 กระแสนิยมที่เผยแพร่เรื่องสิทธิและเสรีภาพที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เสรีภาพคือการที่จะทำอะไรก็ได้ตามใจ ดังสุภาษิตไทยที่ว่า "ทำอะไรก็ได้ตามใจคือไทยแท้"


2. ปัจจุบันพระศาสนจักรได้กลับใจ โดยพิจารณาได้จากสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้
(แนวคิด การสั่งสอน และการปฏิบัติของพระศาสนจักร)

1. เหตุการณ์ทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 นี้ ทำให้พระศาสนจักรพิจารณาตนเอง และบทบาทหน้าที่ของตนในโลกอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ในเรื่องสิทธิมนุษยชน หลังจากที่ลังเลใจตลอดศตวรรษที่ผ่านมา โดยจากสมณสาสน์เรรุม โนวารุม (RERUM NOVARUM) ของพระสันตะปาปา เลโอ ที่ 13 ซึ่งพูดเกี่ยวกับเรื่อง "สิทธิของคนงาน" ในปี ค.ศ.1891 ซึ่งได้มีผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้พระศาสนจักรเริ่มเข้าใจบทบาทของตนเองและเข้าใจถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์มากขึ้น

2. พระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 11 และพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 12 ก็ได้ย้ำเรื่องสิทธิมนุษยชน (ในพระสมณสาสน์ QUADRAGESIMO ANNO) เสรีภาพทางมโนธรรมและศาสนา เพื่อต่อต้านลัทธิเผด็จการ (คอมมิวนิสต์ นาซี และฟาสซิสม์)

3. หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23 ทรงชมเชยปฏิญญาสากลและทรงออกสมณสาสน์ PACEM IN TERRIS ปี ค.ศ.1964 ซึ่งว่าด้วยเรื่องสันติภาพในโลก

4. สังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ถือได้ว่าเป็น "การกลับใจ" ของพระศาสนจักรในเรื่องสิทธิมนุษยชน ในสมณสาสน์ GAUDIUM ET SPES ได้มีการเรียกร้องให้สนับสนุนและป้องกันสิทธิมนุษยชน และถือว่าเป็นพันธกิจ (MISSION) อย่างหนึ่งของพระศาสนจักร เป็นวิธีการที่จะประกาศข่าวดีที่พระศาสนจักรจะต้องกระทำ

5. พระศาสนจักรทั่วโลกได้ทำกิจกรรมหลายอย่างที่เป็นการสนับสนุน, ส่งเสริม และปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยร่วมมือกับผู้มีน้ำใจดีทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด ศาสนาใด หรือชาติใด

6. มีเอกสารที่ออกจากวาติกันหลายฉบับที่พูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน เช่นปี ค.ศ.1965 ออกสมณสาสน์ GAUDIUM ET SPES ข้อที่ 12 เป็นต้นไปพูดถึงเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างระเบียบทางสังคม และ ออกสมณสาสน์ DIGNITATIS HUMANAE พูดถึงเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา ปี ค.ศ.1967 ออกสมณสาสน์ POPULORUM PROGRESSIO พูดถึงเรื่องการพัฒนาประชาชาติ และในปีนี้ ยังมีเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าพระศาสนจักรสนใจ สนับสนุน และต้องการป้องกันสิทธิมนุษยชน นั่นก็คือการจัดตั้งคณะกรรมการยุติธรรมและสันติแห่งวาติกัน และต่อมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการยุติธรรมและสันติในสภาพระสังฆราชของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ค.ศ.1973 คณะกรรมการยุติธรรมและสันติแห่งวาติกันได้ออกสมณสาสน์เรื่อง "พระศาสนจักรกับสิทธิมนุษยชน" เนื่องในโอกาส 25 ปีของปฏิญญาสากล (แปลโดยคุณสมพจน์ สมบูรณ์ และคุณประนอม ศรีอ่อน) ปี ค.ศ.1988 ออกสมณสาสน์เรื่อง "สิทธิมนุษยชนและพระศาสนจักร" เนื่องในโอกาส 40 ปี ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และ 25 ปีของสมณสาสน์ PACEM IN TERRIS ปี ค.ศ.1971 ออกสมณสาสน์เรื่อง "ความยุติธรรมในโลก" (JUSTICE IN THE WORLD) โดยการประชุมพระสังฆราชระดับโลก (SYNOD) ที่กรุงโรม ปี ค.ศ.1975 ออกสมณสาสน์เรื่อง "การแพร่ธรรมในโลกสมัยใหม่" (EVANGELII NUNTIANDI) ปี ค.ศ.1979 ออกสมณสาสน์เรื่อง "พระผู้ไถ่มนุษย์" (REDEMPTOR HOMINIS) เป็นสมณสาสน์ฉบับแรกของพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ทรงอธิบายว่ามนุษย์เป็นจุดศูนย์กลางแห่งการทำงานอภิบาล งานพันธกิจของพระองค์ที่มนุษย์ได้รับการไถ่กู้จากพระผู้ไถ่ ปี ค.ศ.1981 ออกสมณสาสน์เรื่อง "ว่าด้วยการทำงาน" (LABOREM EXERCENS) เนื่องในโอกาส 90 ปีของสมณสาสน์ RERUM NOVARUM ปี ค.ศ.1988 ออกสมณสาสน์เรื่อง "ความห่วงใยสังคม" (SOLLICITUDO REI SOCIALIS) เนื่องในโอกาส 20 ปีของสมณสาสน์การพัฒนาประชาชาติ (POPULORUM PROGRESSIO) และสุดท้ายในปี ค.ศ.1991 ได้ออกสมณสาสน์ CENTESIMUS ANNUS เนื่องในโอกาส 100 ปีของสมณสาสน์ RERUM NOVARUM

ข้อสังเกต เอกสารที่เกี่ยวกับสังคม หรือสิทธิมนุษยชนมักจะอ้างถึงสมณสาสน์ RERUM NOVARUM เพราะถือได้ว่าสมณสาสน์ฉบับนี้ เป็นจุดหักเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้พระศาสนจักร "กลับใจ" ในเรื่องสิทธิมนุษยชน


3. ก่อนที่พระศาสนจักรจะกลับใจ เคยมีความคิดอย่างไรกับเรื่องสิทธิมนุษยชน

สมัยแรก (สมัยปิตาจารย์) แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนของพระศาสนจักรถูกหล่อหลอมมาจากธรรมเนียมประเพณีของชาวยิว ผสมผสานกับอิทธิพลทางปรัชญาของกรีกและหลักนิติศาสตร์ของชาวโรมัน นับจากศตวรรษที่ 3 เป็นต้นมาเมื่อ กษัตริย์คอนสแตนติน กลับใจเป็นคาทอลิก พระศาสนจักรได้ผูกพันอยู่กับผู้มีอำนาจ และพระศาสนจักรก็ได้อยู่อย่างผู้มีอำนาจกับประชาชนตลอดมา ด้วยเหตุนี้ คำสอนที่พระศาสนจักรสอนจึงเน้นเรื่อง "หน้าที่" ของมนุษย์ที่มีต่อพระเจ้า ต่อผู้มีอำนาจ และต่อบทกฎหมาย และเพราะ อำนาจทุกอย่างมาจากพระเจ้า มนุษย์จึงต้องนบนอบเพียงอย่างเดียว จะอ้างสิทธิหรือโต้แย้งใดๆ ไม่ได้

สมัยกลาง (สมัยฟื้นตัวของศิลปวิทยาการ) เป็นยุคที่สังคมปฏิเสธเรื่องปรัชญา และความคิดที่เป็นนามธรรมที่เห็นไม่ได้ พิสูจน์ไม่ได้ เป็นยุคของการบูชาวิทยาศาสตร์ มีการปฏิวัติ มีการค้นคว้าเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่พระศาสนจักรก็ยังเน้นเรื่อง "หน้าที่" ที่จะต้องนบนอบต่อผู้มีอำนาจ ไม่ได้ให้การสนับสนุนเรื่องสิทธิ และไม่ได้ให้การปกป้องเท่าที่ควร

สมัยใหม่ตอนต้น (ศตวรรษที่ 17-19) เมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม มีคนถูกข่มเหง ถูกกดขี่แรงงาน ทำให้พระศาสนจักรเริ่มลังเลใจในบทบาทหน้าที่ของตนเอง และเมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1789 ประกอบกับกระแสประชาธิปไตยเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดอิทธิพลเหนือความคิดทางสังคม และการเมืองมากกว่าพระศาสนจักร ทำให้ประชาชนเริ่มแข็งข้อต่ออำนาจพระศาสนจักรและอำนาจทางการเมืองในขณะนั้น แม้จะได้รับการกระทบกระเทือนอย่างไร แต่พระศาสนจักรก็ยังคงสงวนท่าที และบางครั้งถึงกับโต้แย้ง หรือกล่าวประณามผู้เผยแพร่สนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนว่าเป็นผู้นอกคอก จนถึงปลายศตวรรษที่ 19 พระศาสนจักรเริ่มมีท่าทีที่โอนอ่อนเห็นด้วยและปรากฏชัดขึ้นว่าสนับสนุนส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเป็นต้นสิทธิของคนงาน เห็นจากสมณสาสน์ RERUM NOVARUM ในปี ค.ศ.1891

สมัยต้นศตวรรษที่ 20 พระศาสนจักรได้พิจารณาตนเองมากขึ้น และแสดงตนอย่างชัดเจนว่าเป็นผู้สอนและสนับสนุนสิทธิมนุษยชน และป้องกันสิทธิของผู้ถูกเบียดเบียน โดยตำหนิคำสั่งสอนของลัทธิอุดมการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่เคารพศักดิ์ศรีมนุษย์ แต่ก็ยังคงสงวนท่าทีอยู่ จนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อมีการสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 พระศาสนจักรจึงได้ "กลับใจ" อย่างชัดเจน

ข้อสังเกต ในประวัติศาสตร์ กระบวนการที่ก่อให้เกิดการกลับใจของพระศาสนจักร สืบเนื่องมาจากเทววิทยาที่ว่าด้วย "การอ่านเครื่องหมายแห่งกาลเวลา" (READING THE SIGNS OF THE TIME) ซึ่งพระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23 นำมาใช้อย่างเด่นชัดในสมณสาสน์ชื่อสันติภาพในโลก (PACEM IN TERRIS) เป็นการมองสถานการณ์แบบอุปนัย (INDUCTIVE) คือการมองเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาและทำการวิเคราะห์ขึ้นไปหาเหตุผล แล้วใช้หลักของศาสนามาทำความเข้าใจในเหตุผลนั้นให้เห็นเด่นชัดขึ้นในมิติศาสนา เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งแต่เดิมพระศาสนจักรใช้วิธีการมองแบบนิรนัย (DEDUCTIVE) คือมองว่าอำนาจทุกอย่างมาจากพระเจ้า หรือผู้มีอำนาจ ผู้อยู่ใต้อำนาจจึงต้องยอมตามผู้มีอำนาจเสมอ และจากแนวคิดนี้ ทำให้พระศาสนจักรหลงลืมบทบาทที่แท้จริงของตนเอง

แต่ในเรื่องสิทธิมนุษยชนนี้ พระศาสนจักรก็ยังระวังและสำนึกอยู่เสมอว่า แนวคิดของพระศาสนจักรในเรื่องสิทธิมนุษยชนยังเป็นแบบเกรโก-โรมัน (รวมหลักปรัชญากรีกกับนิติศาสตร์โรมันและพื้นฐานประเพณีวัฒนธรรมชาวยิว) อันเป็นแนวคิดและวัฒนธรรมแบบตะวันตกที่มุ่งเน้นเรื่องปัจเจกบุคคล แต่ในวัฒนธรรมอื่น เช่น วัฒนธรรมในเอเชียหรือวัฒนธรรมในค่ายสังคมนิยม เน้นความสัมพันธ์ในสังคมส่วนรวมมากกว่าความเป็นปัจเจกบุคคล


4. คำสอนปัจจุบันของพระศาสนจักร เกี่ยวกับศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

1. หลักการพื้นฐานของความคิดและคำสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่ใน "ศักดิ์ศรีของมนุษย์" ซึ่งสามารถอธิบายได้ ทั้งในทางปรัชญา ทางกฎหมายการเมือง และทางเทววิทยา ดังนี้

ด้านปรัชญา ได้อธิบายเรื่องศักดิ์ศรีของมนุษย์ไว้ว่า มนุษย์เป็นสิ่งสร้างที่สูงเด่นกว่าสิ่งสร้างทั้งปวง เพราะมนุษย์มีปัญญา สามารถเรียนรู้และมีสัจจะ (เรียนรู้หาความจริง) มนุษย์สามารถตัดสินใจได้ ที่จะเลือกเอาสัจจะ ความดีและความงาม มนุษย์มีสำนึก มีความรับผิดชอบ และเป็นตัวของตัวเองได้

ด้านกฎหมายและการเมือง อธิบายไว้ว่ารัฐมีบทบาทในการสร้างเงื่อนไข เพื่อเสรีภาพของประชาชนทุกคน รัฐมีหน้าที่สนับสนุนและปกป้องเสรีภาพ และการเมืองมีไว้เพื่อรับใช้มนุษย์ ฉะนั้นการเมืองต้องสนับสนุนเสรีภาพและต้องทำการออกกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ ไม่บังคับให้ถือตามความคิดของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ

ด้านเทววิทยา เสริมให้เห็นศักดิ์ศรีของมนุษย์เด่นชัดขึ้นในมิติศาสนา มีความหมายยิ่งขึ้นตามหลักเทววิทยาที่สอนเรื่องการสร้างมนุษย์ตามฉายาของพระเจ้า และในความหมาย "ฉายา" นอกจากจะหมายถึงสติปัญญาและน้ำใจแล้ว ยังรวมถึงความหมายของความรัก ที่แสดงให้เห็นลักษณะของพระเจ้า เช่น พ่อแม่ที่รักลูก และการอยู่ร่วมในสังคมที่มีความหลากหลายแต่มีเอกภาพอีกด้วย

เทววิทยาตามหลักคริสตวิทยา (CHRISTOLOGY) สอนเรื่องการรับเอากายเป็นมนุษย์ของพระบุตร การเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษยชาติและเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษย์แต่ละคน บันดาลให้มนุษย์เป็นลูกของพระเจ้า เมื่อมนุษย์เป็นลูกของพระเจ้ามนุษย์จึงมีเกียรติมีศักดิ์ศรีที่สูงส่ง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นคนดีหรือคนเลวเพราะพระคริสตเจ้าได้ทรงไถ่กู้มนุษย์ทุกคนให้รอดแล้ว มนุษย์จึงหลุดพ้นจากความบาป ไม่เป็นทาสถูกครอบงำโดยความชั่วอีกต่อไป ส่วนคำสอนตามหลักศาสนจักรวิทยา (ECCLESIOLOGY) เมื่อพระเจ้าได้ไถ่กู้มนุษย์ทุกคนให้พ้นจากบาปแล้ว มนุษย์ก็เป็นสมาชิกพระอาณาจักร (มิใช่พระศาสนจักร) และเป็นหน้าที่ของพระศาสนจักร ที่จะต้องช่วยกันสร้างพระอาณาจักรด้วยการประกาศข่าวดี นี่คือพันธกิจของประชากรในพระอาณาจักรของพระเจ้า

2. แนวคิดที่ถือว่ามนุษย์เป็นจุดเริ่ม เป็นศูนย์กลางและเป็นเป้าหมายสำคัญของกิจกรรมของคนเรานั้นเรียกว่าเป็น "มนุษยนิยม" (HUMANISM) เพราะเป้าหมายสำคัญของกิจกรรมสังคมคือมนุษย์ มนุษยนิยมแบบที่พระศาสนจักรสอนและสนับสนุนส่งเสริมเป็นมนุษยนิยมแบบเปิด คือเปิดตนเองออกสู่จิตสูงส่งและสู่มนุษย์ผู้อื่น ส่วนมนุษยนิยมแบบปิด หรือมนุษยนิยมแบบใหม่นั้นถือเอาตนเองเป็นใหญ่ ไม่ยอมรับผู้อื่น ไม่รับจิตสูงส่งนั้น เป็นแบบที่พระศาสนจักรไม่ยอมรับ แนวคิดของพระศาสนจักรปัจจุบันคือ มนุษยนิยมแบบเปิด

3. สิทธิมนุษยชนมีความเกี่ยวพันกันกับศักดิ์ศรีของมนุษย์และความยุติธรรม พระศาสนจักรสอนเรื่องความยุติธรรมในแบบที่ไม่ใช้ตัวบทกฎหมายเป็นหลัก แต่ถือความรักเมตตาเป็นหลัก ความยุติธรรมแบบความรักเมตตานี้ ยึดความเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษย์ทุกคน เคารพศักดิ์ศรีมนุษย์ทุกคน รักที่จะรู้จักแบ่งปัน รักดังพระบิดาเจ้าสวรรค์ (มธ 7 : 12 ลก 6 : 37) ความยุติธรรมแบบนี้ก่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวและสันติ ในสมณสาสน์ชื่อ "สันติภาพในโลก" (PACEM IN TERRIS) พระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23 ทรงเสนอว่าเพื่อให้เกิดความสงบสุขและสันติในโลกนี้

1. มนุษย์ต้องเคารพสัจจะ

2. เคารพเสรีภาพ

3. มีความยุติธรรมที่มีความรัก เพราะยุติธรรมแบบแก้แค้น (ตาต่อตา) ที่ยึดตามหลักกฎหมายเท่านั้น ย่อมแบ่งแยกมนุษย์ และก่อให้เกิดความเกลียดชัง

4. สุดท้ายเรื่องที่เกี่ยวกับความยุติธรรม สิทธิ และหน้าที่นี้ จะเห็นว่าเมื่อพูดถึงเรื่องสันติภาพ ความยุติธรรมและสิทธิแล้ว เราจะต้องแสวงหาดุลยภาพระหว่างสิทธิและหน้าที่ด้วย เพื่อก้าวไปสู่ความสมบูรณ์ ในอดีตพระศาสนจักรเคยสอนแต่เรื่องหน้าที่ ปัจจุบันมีการพูดถึงเรื่องสิทธิด้วย หากให้เน้นเรื่องสิทธิมากก็ไม่ถูกต้อง เราจะต้องหาดุลยภาพระหว่างสิทธิและหน้าที่


5. ในอนาคต พระศาสนจักรควรทำอะไร

พระศาสนจักรเพิ่ง "กลับใจ" ในเรื่องสิทธิมนุษยชน จึงควรที่เราจะต้อง

1. ศึกษาและให้การศึกษา เพื่อปลุกจิตสำนึกกลุ่มคริสตชนให้สนใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน

2. ติดตามเหตุการณ์ความเป็นไปในสังคมทุกระดับ ที่เกี่ยวกับเรื่องความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน ทั้งในระดับหมู่บ้าน ในจังหวัด ในประเทศ และระดับกว้างออกไป เพราะปัญหาเกี่ยวข้องโยงใยสัมพันธ์กันทุกระดับ (สนใจเกี่ยวกับกฎหมาย อนุสัญญาต่างๆ ฯลฯ)

3. ทำการวิจัยที่ละเอียดถี่ถ้วน เพื่อใช้ให้เป็นประโยชน์ในการศึกษา เพื่อความยุติธรรมและก่อให้เกิดกิจกรรมเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีที่ควร

4. ใช้สื่อสารมวลชนให้เป็นประโยชน์

5. ร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในการส่งเสริมและป้องกันสิทธิมนุษยชน

6. สนับสนุนการเสวนาเพื่อความเข้าใจ การเคารพศักดิ์ศรีมนุษย์

7. เน้นลักษณะที่เป็นสากลเป็นจุดร่วม เช่น เกียรติและศักดิ์ศรีมนุษย์ ความดีส่วนรวม ความสามัคคีกันฉันพี่น้อง และสันติ

8. พิจารณาตนเอง ตรวจสอบมโนธรรมของพระศาสนจักรเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อฟื้นฟูกฎ สถาบันศาสนาและความประพฤติของตนเอง พระศาสนจักรต้องเป็นกระจกเงาส่องให้เห็นความยุติธรรม มีบรรยากาศแห่งความไว้วางใจและเมตตาต่อกัน

9. ในหนทางอันยากลำบาก และเต็มไปด้วยอุปสรรคและปัญหานี้ ต้องอาศัยความเชื่อและความหวัง ซึ่งเลี้ยงด้วยการไตร่ตรองและภาวนา สมาธิ เป็นพลัง

--------------------------------

ที่มา : วารสาร "ผู้ไถ่" ฉบับที่ 42 เมษายน - มิถุนายน 2540 หน้า 55 - 63

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >