
เราพระสงฆ์จะทำอย่างไร ในการพัฒนาชุมชน : พระสังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ |
![]() |
Friday, 17 December 2010 | ||||
เราพระสงฆ์จะทำอย่างไร ในการพัฒนาชุมชน เป็นการเสนอความคิดเห็น แก่เพื่อนพระสงฆ์สังฆมณฑลราชบุรี เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 1971 ไม่เป็นบทบรรยายตามหลักวิชาการ แต่เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดกันแบบเบาสมอง
1. วิธีที่เราเคยปฏิบัติ ผลที่ตามมาคือ ทำให้พระสงฆ์เป็น "พ่อ" ที่ต้องคอยเลี้ยงดูลูกเสมอไป, ทำให้สัตบุรุษเป็น "ลูก" เป็นเด็กทารกเสมอไป พระสงฆ์ที่เป็น "พ่อ" ก็กลายเป็นราชา มีอำนาจและชอบใช้อำนาจ ชอบบังคับ ไม่อยากฟังเหตุผลของ "ลูก" ผู้เป็นผู้น้อย เมื่อ "พ่อ" ทำอะไร ก็รู้สึกว่างานนั้นเป็น "ของตน" จึงหวงแหน เวลา "พ่อ" จะต้องย้าย หรือเปลี่ยนไปก็มีปัญหาไม่อยากจะจากไป เพราะกลัวงาน "ของตน" จะไปไม่รอด ไม่อยากจะจากไปเพราะเสียดาย "งานของตน" เมื่อเกิด "หวงแหน" ก็ทำให้หวงแหน "ลูก" ของตนด้วย อยากให้อยู่ในวงของตน ไม่ยอมให้ลูกติดต่อกับคนอื่น หรือสังคมอื่น กลัวเป็นอันตราย หรือตกไปเป็นของคนอื่น
จึงทำให้ "ลูก" ของตนเป็น "โรคเด็ก"
สัตบุรุษคริสตัง จึงเป็น "เด็ก" ที่ "พ่อ" ต้องคอยเลี้ยงดูอยู่เสมอไป
ทำให้สัตบุรุษมีทัศนคติว่า พระศาสนจักรต้องคอยเลี้ยง ดูแลสัตบุรุษในเรื่องการกินการอยู่เสมอ มิใช่ว่าสัตบุรุษต้องคอยเลี้ยง ดูแลวัดและพระสงฆ์ของเขาเอง
ทำให้สัตบุรุษเข้าใจผิดว่า วัด มิใช่เป็นของพวกเขาเอง แต่เป็นของพระสงฆ์
ท่านคิดว่า ในหมู่วัดของท่านควรต้องมีถนน ฉะนั้นท่านก็รีบจัดแจงสร้างถนนให้ ท่านเห็นว่าควรขุดบ่อน้ำ เพื่อสาธารณประโยชน์ในหมู่บ้านท่านก็จัดแจงขุดให้ ผลก็คือ เมื่อถนนชำรุดและบ่อน้ำเสีย หรือเมื่อคุณพ่อท่านย้ายไปที่อื่น ไม่มีใครดูแล เอาใจใส่ ก็ปล่อยทิ้งกันไป วิธีการแบบนี้ ก็หนีไม่พ้นแบบเก่านั่นเอง เพราะยังเป็นวิธีทำให้ คิดให้ โดยที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่อง ไม่มีส่วนร่วมมือทำด้วยเลย ยังมิใช่การพัฒนาที่แท้
พระสงฆ์หลายองค์ที่มีความคิดริเริ่มและปรารถนาจะช่วยพัฒนาชุมชนของท่านด้วยใจจริง พยายามหาวิธีการต่อไปอีก พร้อมกับหาเครื่องมือสมัยใหม่ และทุนต่างประเทศเข้ามาช่วย ท่านเห็นว่าการเลี้ยงไก่คงทำรายได้ดีให้ชาวบ้าน จึงใคร่ทำเล้าตัวอย่าง เพื่อสอนให้ชาวบ้านเลี้ยงไก่ให้ถูกหลักวิชา จึงขอทุนจากต่างประเทศ มาทำเล้าไก่พร้อมกับเครื่องมือทันสมัย อีกแห่งหนึ่ง พระสงฆ์เจ้าวัดเห็นว่า ถ้ามีแทรกเตอร์สักคันจะช่วยให้ชาวบ้านทำไร่ได้ผลมากขึ้น จึงขอทุนจากต่างประเทศเพื่อซื้อรถ ผลก็คือ เมื่อคุณพ่อย้าย เล้าไก่ก็ต้องเลิกราไป รถแทรกเตอร์ก็ต้องขึ้นสนิม ชาวบ้านก็ไม่ได้เลี้ยงไก่ รถไถก็หยุด ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม หากไม่เลวลงไปกว่าเดิมอีก ทั้งนี้ก็เพราะคุณพ่อยังทำให้เขา และเขาคือประชาชนยังไม่มีความสามารถจะรับเอาวิธีการต่างๆ ที่คุณพ่อมีน้ำใจดีอยากจะสอนให้ทำ ยังขาดความร่วมมือและรับผิดชอบ วิธีการอย่างนี้ยังมิใช่เป็น "การพัฒนาที่แท้จริง" ทั้งๆ ที่เกิดผลทันตาเห็นเป็นที่น่าพอใจแก่ผู้ทำ แต่มิได้ยกฐานะสังคม และคนให้ดีขึ้น
การพัฒนาที่แท้ คือ การทำให้คนรู้จักใช้ความสามารถทุกอย่างที่ตนมีปรับปรุงตนให้ดีขึ้น สุภาษิตจีนว่า "สอนคนให้รู้จักจับปลากิน ดีกว่าให้ปลาเขากิน" และยังต้องให้คนร่วมมือกับเพื่อนในชุมชนของตนเพื่อทำให้ชุมชนของตนดีขึ้น มนุษย์จะครบครันได้ก็ในสังคม
ในการนี้ต้องทำแบบมนุษย์ โดยรักษาเกียรติมนุษย์ คือทำโดยรู้เรื่อง อาศัยการอบรม ศึกษา และโดยอิสระเต็มใจ ไม่ใช่บังคับลงมาจากเบื้องบน ฉะนั้น เมื่อมนุษย์รู้จักคิดและรู้จักทำ ทั้งรู้จักร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ก็เป็นอันว่า มนุษย์นั้น สังคมนั้น กำลังพัฒนาไปบนรากฐาน และตามแนวการพัฒนาอันถูกต้องแท้จริงแล้ว การพัฒนาแบบนี้ยาก และกินเวลานาน ไม่มีผลรวดเร็วทันตาเห็น แต่เป็นการพัฒนาที่ถูกต้องแน่นอนและเล็งผลไกล ทำ "คน" ให้เป็นคนสมเกียรติ เป็นนายของสิ่งสร้างทั้งหลาย และมีชีวิตสมเป็นบุตรพระเจ้า
2. ทำอย่างไรจึงจะให้การคิดและทำร่วมกันนี้เกิดผล ข้อควรระวัง ในการรวมกลุ่มและทำงานเป็นกลุ่มนี้ พระสงฆ์ซึ่งตามปกติถือว่าเป็นผู้นำ ต้องระวังอย่าทำตัวเป็น "พ่อ" อยู่เหนือข้อบังคับ หรือ ทำเองเสียทุกอย่าง แต่ให้ทำตนเป็น "สมาชิก" ที่ดีของกลุ่ม ไม่ควรเป็นประธาน หรือ กรรมการใดๆ คงเป็นแต่เพียง "ผู้ดึงดูด" และ "ผู้ดลใจ" ของกลุ่ม โดยให้เหตุจูงใจที่ถูกต้อง
ก. สอน "คน" ให้รู้จักร่วมกันคิด ร่วมกันทำ รวมทั้ง "พ่อ" และ "ลูกๆ" คือ สัตบุรุษก่อให้เกิดความรัก ความสมัครสมานสามัคคี ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ
หลักการสหกรณ์ หลักการใหญ่ๆ ของสหกรณ์ เท่าที่ยอมรับกันทั่วๆ ไป มีอยู่ 7 ข้อด้วยกัน ดังนี้
ที่มา : จากหนังสือ ศาสนาพลังพัฒนามนุษย์ ปี 2529
Powered by AkoComment 2.0! |
< ก่อนหน้า | ถัดไป > |
---|