หน้าหลัก arrow เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน arrow สิทธิมนุษยชนสนทนา arrow ทำไมจึงต้องคัดค้านพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 128 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


ทำไมจึงต้องคัดค้านพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ พิมพ์
Friday, 13 August 2010

ยุติธรรมนำสันติ
ศราวุฒิ ประทุมราช

ทำไมจึงต้องคัดค้านพระราชกำหนด

การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘


นับแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ เพื่อสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๓ และมีการประกาศเพิ่มเติมอีก ๒ ครั้ง คือ ในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓ และ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ฉบับที่ ๓ ในเขตท้องที่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดสกลนคร เป็นต้นมา ส่งผลให้เกิดการคัดค้านการประกาศดังกล่าวจากทั้งนักวิชาการนิติศาสตร์ นักรัฐศาสตร์และนักสังคมวิทยามานุษยวิทยา นักสิทธิมนุษยชน และประชาชนที่รักในระบอบเสรีประชาธิปไตยเป็นจำนวนมาก สังคมไทยได้เข้าสู่ความแตกแยกทางความคิดเห็นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของประเทศ ด้วยรัฐบาลมีความเห็นว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เป็นภัยร้ายแรงต่อความอยู่รอดของชาติและเป็นการขัดขวางการใช้ชีวิตโดยปกติ ของประชาชน ในขณะที่ฝ่ายที่คัดค้านรัฐบาลเห็นว่า สถานการณ์ของประเทศยังไม่ถึงขั้นวิกฤติเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้าย แรงแต่อย่างใด รัฐบาลสามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่จัดการกับการกระทำผิดกฎหมายหรือเป็นการชุมนุมที่ใช้เสรีภาพเกินขอบเขตของการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบได้ โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ และงบประมาณในการนำทหารและอาวุธสงครามออกมาเข่นฆ่าประชาชนบนท้องถนนกลางเมืองหลวง ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของสังคมนานาชาติที่ต่างเห็นว่ารัฐบาลควรยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวโดยเร็ว การคงอยู่ของสถานการณ์ฉุกเฉิน จะเป็นตัวเร่งเร้าให้สังคมไทยยิ่งไม่มีทางออก และนำไปสู่การเคลื่อนไหว "ใต้ดิน" ที่รัฐไม่สามารถควบคุมได้

เพื่อความกระจ่างของเรื่องนี้ เราลองมาทำความเข้าใจ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งให้อำนาจนายกรัฐมนตรีประกาศให้พื้นที่ใดหรืออาณาบริเวณใดหรือเหตุการณ์ใดเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงได

๑. ที่มาและสาระสำคัญของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ ประกาศใช้ภายหลังจากเหตุการณ์การปล้นปืนที่กองพันทหารพัฒนา อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อต้นปี ๒๕๔๗ และต่อมาเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบผู้ก่อความไม่สงบที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี ในเดือนกันยายน ปีเดียวกัน ในรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยมีเหตุผลในการประกาศใช้ ปรากฏท้ายพระราชกำหนด คือ

๑. กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติต่างๆ ไม่สามารถนำมาใช้แก้ไขสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐที่มีหลากหลายรูปแบบให้ยุติลงได้โดยเร็ว

๒. กฎหมายเดิมไม่อาจนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภัยพิบัติสาธารณะและการฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับความเสียหาย

๓. ในปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมีความร้ายแรงมากยิ่งขึ้นจนอาจกระทบต่อเอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต และก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ รวมทั้งทำให้ประชาชนได้รับอันตรายหรือเดือดร้อนจนไม่อาจใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข
จากสาเหตุดังกล่าว ทำให้ไม่อาจแก้ไขปัญหาด้วยการบริหารราชการในรูปแบบปกติได้ จึงต้องกำหนดมาตรการในการบริหารราชการสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินไว้เป็นพิเศษเพื่อให้รัฐสามารถรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัย และการรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั้งปวงให้กลับสู่สภาพปกติได้โดยเร็ว จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนด

๒. ความหมายของ "สถานการณ์ฉุกเฉิน" และ "สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง"

"สถานการณ์ฉุกเฉิน" หมายความว่า สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันหรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามกฎหมายอาญา การรบหรือการสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง (มาตรา ๔)

"สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง" ในกรณีที่มีสถานการณ์ฉุกเฉิน มีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคลและมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้น เป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง (มาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง)

สถานการณ์ความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจถือว่าเป็น "สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง" เพราะมีการก่อการร้าย มีการใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน โดยนายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ผลของการประกาศ "สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง" ทำให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนดใช้อำนาจพิเศษได้อย่างกว้างขวางมากกว่ากรณี "สถานการณ์ฉุกเฉินธรรมดา" แต่คำถามที่หลายฝ่ายมีความเห็นตรงกันคือ การชุมนุมของกล่ม นปช. จะเข้าข่าย "มีการก่อการร้าย มีการใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน" อันเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนดเพื่อใช้อำนาจพิเศษ ได้หรือไม่

เมื่อพิจารณาจากเหตุผลของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๓ ที่ว่า "โดยที่ปรากฏว่า ได้มีกลุ่มบุคคลดำเนินการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยมีการปลุกระดม เชิญชวน ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา และการสื่อสารด้วยวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่ทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในหลายพื้นที่ และเพื่อให้มีการกระทำที่ล่วงละเมิดกฎหมายของแผ่นดิน ด้วยการยุยงให้ประชาชนชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดขวางการใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชนอื่นทั่วไป ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อนเสียหายและเกรงกลัวอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน มีการใช้กำลังขัดขืนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้งมีการใช้สถานที่เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีเจตนาบิดเบือนให้เกิดความเข้าใจผิดเพื่อให้กระทำการให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ต่างๆ

นอกจากนี้ ยังมีบุคคลบางกลุ่มได้ก่อเหตุร้ายหลายครั้งโดยต่อเนื่อง เพื่อมุ่งให้เกิดความเสียหายและไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน

จากสถานการณ์ที่มีเหตุยืดเยื้อและมีการละเมิดต่อกฎหมายเพิ่มมากขึ้น จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะมีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ และเกิดความเสียหายหรือไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์

การกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยไม่สงบขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมาย กรณีเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ อันเป็นการกระทำที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย และกระทบต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ยุติโดยเร็ว"

คำถาม คือ การชุมนุมของนปช. "เป็นการชุมนุมโดยไม่สงบขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมาย" อย่างไร

"มีบุคคลบางกลุ่มได้ก่อเหตุร้ายหลายครั้งโดยต่อเนื่อง เพื่อมุ่งให้เกิดความเสียหายและไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน"

กลุ่ม ๕ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ออกแถลงการณ์โต้แย้งประเด็นดังกล่าว ดังนี้

๑. เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานในรัฐเสรีประชาธิปไตย

๒. ข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดง คือ ให้นายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎรภายใน ๑๕ วัน ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นข้อเรียกร้องทางการเมืองซึ่งเป็นเรื่องปกติในรัฐเสรีประชาธิปไตย การปิดถนนและการยึดพื้นที่สาธารณะบางส่วนเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องให้รัฐบาลเจรจาต่อรองกับผู้ชุมนุม หากการกระทำดังกล่าวมีความผิดตามกฎหมายใด รัฐบาลและเจ้าหน้าที่สามารถบังคับใช้กฎหมายนั้นเพื่อออกมาตรการที่เหมาะสมเพื่อป้องกัน ปราบปราม หรือลงโทษผู้กระทำผิดนั้นได้

๓. ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ไม่เพียงต่อผู้ชุมนุมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประชาชนทั่วไปในวงกว้างอีกด้วย การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจึงต้องคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วน เป็นสำคัญ

เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริง เราเห็นว่าการชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดงยังอยู่ในกรอบของการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ หากรัฐบาลต้องการให้ผู้ชุมนุมออกจากสถานที่สาธารณะ รัฐบาลสามารถใช้มาตรการอื่นๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ส่วนกรณีระเบิดตามสถานที่ต่างๆ ในแต่ละวันนั้น ยังไม่มีข้อเท็จจริงใดแสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของคนเสื้อแดง เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน คำสั่ง และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง จะเห็นได้ว่ามีเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพจำนวนมาก ทั้งในแง่ความเข้มข้นของมาตรการและในแง่พื้นที่ซึ่งครอบคลุมในหลายจังหวัด

เราเห็นว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงยังไม่ถือเป็น "สถานการณ์ฉุกเฉิน" ตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ อันเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ เป็นมาตรการที่เกินความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วน

องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายองค์กรก็ได้ออกมาคัดค้านการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยอธิบายว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นกฎหมายที่ขัดแย้งต่อหลักการสิทธิมนุษยชน หลายประการ กล่าวคือ

(๑.) ขัดต่อหลักนิติธรรม

กรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัยเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย (มาตรา ๑๗)

โดยหลักการแล้ว รัฐต้องไม่ออกกฎหมายในลักษณะที่เป็นการยกเว้นความรับผิดทางแพ่งหรือทางอาญาให้แก่เจ้าพนักงานของรัฐ เพราะการลงโทษถือเป็นดุลพินิจของศาล หรือ เว้นแต่โดยสภาพของผู้กระทำความผิด ไม่อยู่ในฐานะที่มีความสามารถตามกฎหมาย เช่น เป็นเด็กอายุไม่ถึง๑๐ ปี หรือ เป็นบุคคลวิกลจริตหรือมีความบกพร่องทางสมองหรือทางจิต ที่ได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์แล้ว เป็นต้น การที่พระราชกำหนดฯ บัญญัติให้เจ้าพนักงานที่ทำตามหน้าที่ โดยไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เท่ากับเป็นการละเมิดหลักนิติธรรม เพราะเป็นการยกเว้นหลักการที่บุคคลทุกคนย่อมเสมอกันต่อหน้ากฎหมาย ส่งผลให้เป็นช่องทางให้เกิดการลุแก่อำนาจของเจ้าหน้าที่ หรือผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจหน้าที่ได้ โดยไม่ต้องเกรงว่าจะมีความผิด เพราะกฎหมายได้บัญญัติยกเว้นความรับผิดและความผิดไว้แล้ว

นอกจากนี้ การที่เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่พระราชกำหนดฯ ให้อำนาจไว้แล้วไม่ต้องรับผิด จะทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหน้าที่ของเจ้าพนักงาน เกิดความรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะกฎหมายได้ยกเว้นโทษเจ้าหน้าที่ไว้

การที่รัฐบาลจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)ให้มีอำนาจในการ "สลายการชุมนุม" ด้วยการใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธสงคราม ปราบปรามเข่นฆ่าผู้ชุมนุม ทั้งที่บริเวณแยกราชประสงค์ในวันที่ ๑๘-๑๙ พฤษภาคม และบริเวณใกล้เคียงก่อนหน้านั้น ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจตามกฎหมายของผู้ใช้อาวุธได้


(๒.) ขัดต่อหลักการตรวจสอบถ่วงดุล

ทุกคนที่ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ สามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจได้ แต่ในพระราชกำหนดฯ มีบทบัญญัติ ๒ มาตรา ที่ขัดแย้งต่อหลักการนี้ คือ

ในมาตรา ๑๖ ที่บัญญัติให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ ไม่ อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งหมายความว่า หากมีการออกคำสั่งใดๆ ที่เป็นคำสั่งทางปกครอง หรือมีการปฏิบัติหน้าที่ โดยเจ้าพนักงานที่ทำหน้าที่ตามพระราชกำหนด แล้วเกิดความเสียหายต่อประชาชน ศาลปกครองไม่มีอำนาจในการพิจารณา พิพากษา

และ ในมาตรา ๑๗ พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง อาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนด หากกระทำการโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินความจำเป็นแห่งกรณี


(๓.) ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน

มาตรการห้ามต่างๆ ที่ออกตามพระราชกำหนดฯ ตามมาตรา ๙ อาจไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ดังนี้

๑. เสรีภาพในการเดินทางและเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ ไม่สอดคล้องต่อ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓๔ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทางและมีเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ ภายในราชอาณาจักร และกติกาฯ สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ ๑๒ เสรีภาพในการเดินทางและเลือกถิ่นที่อยู่ ในกรณีเหล่านี้
     ๑.๑ ห้ามการเดินทางหรือเคลื่อนย้าย
     ๑.๒ ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น
     ๑.๓ ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
     ๑.๔ ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด เช่น การต้องทำบัตรผ่านเข้าออกบริเวณที่ชุมนุมก่อนการปราบปราม เป็นต้น

๒. เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ กรณี ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เช่น ห้ามประชาชนเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบร่วมกับกลุ่ม นปช.ที่ราชประสงค์

๓. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร กรณีการปิดเว็บไซต์มากกว่าหนึ่งพันเว็บ รวมทั้งเว็บไซต์ประชาไท เฟซบุ๊คในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อการปราบปรามกลุ่มนปช. ล้วนขัดแย้งต่อหลักการนี้ทั้งสิ้น ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร

๔. สิทธิในทรัพย์สิน ได้แก่ การอายัดทรัพย์สินและการทำธุรกรรมของบุคคลต่างๆ ทั้งนักการเมืองฝ่ายค้าน พ่อค้า นักธุรกิจ นักกิจกรรมทางสังคม อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นกลุ่มทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็น "ท่อน้ำเลี้ยง" ของการชุมนุมในครั้งนี้

๕. เสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร กรณีการตัดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกระบบ เป็นเวลาชั่วคราวในบริเวณราชประสงค์ เพื่อขัดขวางการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ชุมนุมและสังคมภายนอก

๖. สิทธิในชีวิตและร่างกาย กรณี ศอฉ.ออกหมายเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือมาให้ถ้อยคำหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีทั้งนักการเมืองฝ่ายค้าน นักกิจกรรมทางสังคม นักธุรกิจ นักศึกษา ฯลฯ


(๔.) ขัดต่อหลักสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

กล่าวโดยเฉพาะสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่สอดคล้องต่อหลักสิทธิผู้ต้องหา สิทธิจำเลยในคดีอาญา ทั้งกฎหมายภายในประเทศ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยรับรอง คือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คือ อำนาจการจับกุมและการควบคุมตัวบุคคลที่ถูกสงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือที่เป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือที่ปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

มีการจับกุมตัวด้วยวิธีที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยการมัดมือไพล่หลัง มัดเท้า ทำร้ายผู้ถูกจับกุม รวมถึงมีพระภิกษุถูกจับมัดมือไพล่หลังเช่นเดียวกัน (เหตุการณ์ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม)

ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงเห็นว่าประเทศไทยไม่ควรมีกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังเช่นพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ใช้บังคับต่อไป สมควรที่จะยกเลิกกฎหมายที่มีลักษณะเผด็จการ และให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจได้อย่างกว้างขวาง ดังกล่าว

---------------------------------------

ปรับปรุงจาก บทที่ ๒ หลักการสิทธิมนุษยชนกับการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ โครงการแสวงหาข้อเท็จจริงและการบันทึกการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดภาคใต้ ส่งศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล มีนาคม ๒๕๕๑

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๔ และ มาตรา ๑๑

แถลงการณ์กลุ่ม ๕ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ เว็บไซต์ prachatai.com



ศราวุฒิ ประทุมราช นักวิชาการอิสระด้านสิทธิมนุษยชน มีผลงานเขียนบทความเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในหนังสือพิมพ์รายวัน และสื่ออีเล็คโทรนิกส์ อาทิ ประชาไท และเป็นที่ปรึกษา วารสาร "ผู้ไถ่"


ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

ถัดไป >