หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow Make Peace Not War : A Day Bulletin
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 75 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

Make Peace Not War : A Day Bulletin พิมพ์
Thursday, 06 May 2010

 a day BULLETIN - issue 91
April 16th, 2010






Make Peace Not War
(ปรับปรุงจากคำสัมภาษณ์แก่นิตยสาร A Day Bulletin เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2553)

สัมภาษณ์:วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม
ภาพ:กฤตธกร สุทธิกิตติบุตร


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ต่อให้ติดตามข่าวการเมืองบ้างไม่ติดตามบ้าง ตามแต่โอกาสหรือสภาพสังขารแต่ละคนจะอำนวย เราก็ค่อนข้างแน่ใจว่า ช่วงนี้คุณต้องได้ยินคำว่า สันติวิธี กันแทบจะวันละ 3 เวลาหลังอาหาร

ว่าแต่สันติวิธีคืออะไร ทำไมทุกคนอ้างอิงถึงแต่คำนี้ ทั้งที่น่าจะเป็นคำพูดที่พูดง่ายแต่ทำยากและดูสลับซับซ้อนมากอีกคำหนึ่งในการนำมาใช้หลายๆ บริบท

เรื่องที่ซับซ้อนและเข้าใจยาก ย่อมต้องการผู้ที่มาอธิบายและคลี่คลายปมอันยุ่งเหยิงให้เป็นเส้นด้ายเรียบตรงที่นำมาร้อยผ่านเข็มและช่วยเย็บปะติดปะต่อให้ผืนผ้าแห่งความคิดที่หลากหลายให้กลายเป็นผ้าผืนเดียวกัน

พระไพศาล วิสาโล คือบุคคลที่เรานึกถึงเป็นอันดับแรกๆ เมื่อคำว่าสันติวิธีลอยกระทบเข้าหู โดยประวัติอย่างย่อ พระไพศาล ได้ชื่อว่าเป็นพระนักกิจกรรมที่มีแนวคิดสร้างสันติภาพท่ามกลางความขัดแย้งมาโดยตลอด ไม่ว่าสันติภาพนั้นจะเป็นในระดับบุคคลหรือสังคม ถ้าประเทศนี้จะมีใครยึดแนวทางแบบอหิงสาอย่างเหนียวแน่นไม่แคลนคลอนได้จริง ชื่อของพระไพศาลก็น่าจะเป็นชื่อที่ทำให้เราเชื่อได้อย่างสนิทใจมาตลอดหลายปีที่ประเทศไทย เผชิญหน้ากับปัญหาความขัดแย้งและความไม่สงบครั้งแล้วครั้งเล่า

สมัยเป็นฆราวาส พระไพศาล เป็นอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีส่วนร่วมเรียกร้องและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยสมัย 6 ตุลา 2519 ซึ่งนั่นคือบทเรียนอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้คนๆ หนึ่งเรียนรู้ได้อย่างครบถ้วนทั้งเรื่องของความขัดแย้งทางความคิดที่นำไปสู่ความรุนแรง และทางออกที่นำไปสู่สันติ

ก่อนที่อดีตนักศึกษาหนุ่มคนนั้นจะหันหลังให้วิถี ทางโลกแบบเดิม และหันหน้าเข้าสู่เส้นทางแห่งธรรมะ และเดินบนเส้นทางนั้นอย่างเด็ดเดี่ยวมาเกือบ 30 พรรษาแล้ว แต่ตลอดเส้นทางนั้น ท่านหันหน้ามาคุยกับสังคมไทยเสมอๆ ด้วยความเป็นห่วงและปรารถนาดี ทั้งผ่านการบรรยาย เขียนหนังสือ และให้สัมภาษณ์โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของการเมืองและการต่อสู้ในวิถีทางที่ถูกที่ควรในระบอบประชาธิปไตย ที่ไม่น่าจะมีพระภิกษุมากรูปนักที่จะพูดได้อย่างกระจ่างและสร้างผลกระทบในทางที่สร้างสรรค์ให้กับสังคมได้มากขนาดนี้ และนี่เองจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ท่านได้รับรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2553 ที่เป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่กองทุนศรีบูรพา จะมอบให้กับนักเขียนที่ทุ่มเทสร้างสรรค์ผลงานเพื่อจรรโลงสังคมมาตลอดชีวิต

ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในสิ่งที่สังคมได้รับจากท่านก็คือ แนวคิด สันติวิธีที่เป็นแนวคิดที่ท่านพยายามอธิบายและสร้างความเข้าใจในสังคมมาเนิ่นนาน และปัจจุบันท่านก็เป็นกำลังหลักของเครือข่ายสันติวิธี ที่ล่าสุดได้ออกมาประกาศเจตนารมณ์ให้สังคมหันมาเลือกใช้แนวทางการต่อสู้แบบสันติวิธีในสถานการณ์การเมืองวันนี้

‘ทุกวันนี้ยังมีความเข้าใจอยู่ว่าสันติวิธีหมายถึงการยอมจำนน จนบางท่านเรียกว่า สันติวิธียอมจำนน ความจริงแล้วสันติวิธีนั้นอยู่ตรงข้ามกับการยอมจำนน แม้ทั้งสองวิธีจะลงเอยด้วยการไม่ทำร้ายใคร แต่นั่นก็เป็นเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่เหมือนกัน สันติวิธีต้องการทั้งความกล้าและความมุ่งมั่นที่จะเผชิญกับปัญหาโดยไม่หลีกหนี ขณะเดียวกันก็ตระหนักว่าการใช้กำลังนั้นให้ผลแค่ระยะสั้น แต่สร้างปัญหาระยะยาว' ข้อความตอนหนึ่งที่เราคัดลอกมานี้ มาจากหนังสือ ‘สันติวิธี วิถีแห่งอารยะ' ที่ท่านเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2549 สมัยเพิ่งจะเกิดปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในเวลานั้น หาหนังสือที่จะกล่าวเรื่องสันติวิธีได้น้อยมาก

ผ่านมาเกือบ 4 ปี เรายังเห็นหนังสือเล่มนี้วางอยู่บนแผง ทั้งที่มีจำนวนพิมพ์น้อยมากเพียง 2000 เล่ม ถ้าวัดจากตัวเลขนี้...ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า ตกลง สังคมไทยศึกษาและเข้าใจเรื่องสันติวิธีมากแค่ไหน? และถ้าไม่นับการอ่านหนังสือ แนวคิดสันติวิธีนี้แพร่หลายไปแค่ไหนแล้วในสังคมไทย...วันนี้เราควรมาหาคำตอบ ร่วมกันจะดีกว่าไหม


a day BULLETIN เท่าที่ติดตาม และสังเกตจากสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ มีอะไรที่ท่านอยากจะพูดบ้าง ทั้งในเรื่องของการชุมนุม และการตอบโต้ของรัฐบาล

ที่เห็นชัดก็คือ ทัศนคติของผู้คนโดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่าอคติมันมีสูงมาก ซึ่งมีผลทำให้การมองความจริงไม่ว่าคู่กรณีหรือพวกของตัวคลาดเคลื่อน ทำให้เกิดการแตกเป็นขั้วอย่างรุนแรง อย่างเช่น แต่ละฝ่ายจะมองเห็นแต่แง่ลบของกันและกัน เห็นแต่แง่ที่แตกต่างจากตัว แต่สิ่งที่เป็นบวกหรือเหมือนกับตัวจะไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่ อาตมาทำเครือข่ายสันติวิธี ในเครือข่ายก็มีคนหลายแนวมาทำงานกัน เสื้อเหลืองหลายคนจะมองเครือข่ายสันติวิธีว่าเป็นเสื้อแดง ส่วนเสื้อแดงหลายคนจะมองเราว่าเป็นเหลือง แล้วเดี๋ยวนี้ไม่ได้มีแค่เหลือง กับ แดงนะ แต่จะมีการใช้คำว่า ‘ขาวเนียน' ‘แดงแอ๊บ' ‘เหลืองจำแลง' คำกล่าวหาเหล่านี้เครือข่ายสันติวิธีโดนหมด สื่อก็ไม่ได้เอาไปเป็นข่าว แต่จริงๆ แล้ว เราเป็นสีรุ้ง เพราะเรามีหลายฝ่ายหลายสี เรามีคนหลายประเภททำงานร่วมกันที่เชื่อเรื่องสันติวิธี แล้วตลอดเวลาการทำงานก็ไม่มีการเอนเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจจะมีคนที่เป็นเหลืองมาก่อน อาจจะมีคนที่ชอบแดง แต่พอมาทำงานกับเครือข่ายสันติวิธีก็จะต้องมีจุดยืนและการแสดงออกที่ชัดเจน เลยกลายเป็นว่าคนที่เหลืองก็จะไม่เห็นความเหลืองของเรา จะเห็นแต่สีแดง ส่วนคนที่แดงก็จะไม่เห็นความแดงของเราแต่เห็นสีเหลือง

มันเหมือนกับที่เพื่อนอาตมาที่เป็นอเมริกันแต่งงานกับญี่ปุ่น มีลูกสาวก็เป็นลูกครึ่ง แล้วลูกครึ่งคนนี้มีปัญหามากเลย คือ เขาอยู่ญี่ปุ่น เวลาเขาไปโรงเรียนคนญี่ปุ่นก็จะหาว่าเด็กคนนี้เป็นอเมริกัน พอเขากลับไปอเมริกา ญาติฝ่ายพ่อเขาก็จะบอกว่าเด็กคนนี้เป็นญี่ปุ่น คนอเมริกันจะเห็นแต่ความเป็นญี่ปุ่นของเด็กคนนี้ ส่วนคนญี่ปุ่นก็จะเห็นแต่ความเป็นอเมริกัน ทั้งที่มันอยู่ในคนๆ เดียวกัน มุมมองแบบนั้นเห็นได้ชัดมากในเมืองไทยตอนนี้ คนจะไม่เห็นความเหมือนของอีกฝ่าย จะจดจ้องจดจ่ออยู่กับความต่าง มันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเวทีการต่อสู้ที่กว้างอย่างเดียว มันเกิดขึ้นแม้กระทั่งในบ้านที่สามี ภรรยาทะเลาะกัน เพราะสามีเห็นแต่ความเป็นเหลืองของภรรยา และภรรยาก็เห็นแต่ความเป็นแดงของสามี ทั้งๆ ที่หลายเรื่องก็เหมือนกัน มีรสนิยมเหมือนกัน มีมุมมอง มีการดำเนินชีวิตที่เหมือนๆ กัน

ตอนนี้มันเป็นอย่างนี้ชัดมาก สิ่งใดที่คนเสื้อเหลืองมองว่าไม่เข้าท่า คนเสื้อแดงก็บอกว่าดี สิ่งใดที่เสื้อแดงบอกไม่เข้าท่า เสื้อเหลืองก็บอกว่าดี มุมมองต่างกันคนละทิศคนละทาง ทำให้คุยกันไม่รู้เรื่อง ยิ่งแต่ละฝ่ายต่างอยู่แต่ในพวกของตัว อ่านหนังสือพิมพ์ของตัวเอง ดูโทรทัศน์ เว็บไซต์ วิทยุ ของตัวเอง มันก็ยิ่งเสริมความสุดโต่งและอคติของตัวเองมากขึ้น และไม่ตระหนักเลยว่าทัศนคติของตัวเองนั้นสุดโต่งแค่ไหนแล้ว เพราะว่าอยู่แต่กับพวกตัวเอง ถ้าคนทั่วไปไปสัมผัสคนแบบนี้แล้วจะรู้ว่าเขาสุดโต่งมากเลย แต่ตัวเขาเองจะไม่รู้ตัว เพราะพออยู่ในพวกเดียวกัน แต่ละคนต่างเออออห่อหมกไปด้วยกัน คิดว่าสิ่งที่ตัวเองคิดนั้นถูกต้อง โดยไม่ตระหนักเลยว่าสิ่งที่เขาคิดมันสุดโต่งมาก แล้วพอเขาออกมาข้างนอกก็จะทะเลาะกับผู้อื่น แล้วก็จะทำใจไม่ได้ถ้าถูกคนแย้งคนโต้ จนในที่สุดก็ต้องถอยกลับมา เพื่อกลับมาอยู่กับพวกเดียวกัน เพราะจะรู้สึกอบอุ่น เพราะว่าออกไปข้างนอกความสุดโต่งของตัวมันทำให้เข้ากับคนอื่นไม่ได้ ต้องโดดเดี่ยว ซึ่งกรณีแบบนี้เป็นทั้งแดงและเหลือง ทำให้อคติรุนแรงมากขึ้น ทำให้การคุยให้รู้เรื่องและการเจรจาเป็นไปได้ยาก

a day BULLETIN ถ้าพูดถึงคำว่าสันติวิธีที่ทั้ง 2 ฝ่ายใช้ละคะ ตอนนี้รัฐบาลก็อ้างว่าตัวเองกำลังตอบโต้แบบสันติวิธี ฝ่ายผู้ชุมนุมก็บอกว่าตัวเองกำลังสู้แบบสันติวิธี ทีนี้สันติวิธีในแบบที่ท่านหมายถึงคืออะไร มันใช่อะไรและมันไม่ใช่อะไรบ้าง

สันติวิธีมีหลายระดับ ระดับพื้นฐานก็คือไม่ทำลายชีวิต ไม่ทำร้ายร่างกาย สูงขึ้นมาหน่อยก็ไม่ทำลายทรัพย์สิน สูงขึ้นมาอีกก็คือการใช้คำพูด ที่ไม่ข่มขู่ ยั่วยุ คุกคาม ไม่ใส่ร้ายป้ายสี ไม่ใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย แต่สิ่งที่เราเห็นจากทั้งสองฝ่ายคือสันติวิธีในระดับพื้นฐานที่สุดคือไม่มีการทำร้ายร่างกาย อาจจะมีบ้างนิดหน่อยแต่ก็ไม่ถึงกับเลือดตกยางออกมาก ทีนี้อาตมาคิดว่ามันเป็นสันติวิธีในระดับพื้นฐานต่ำสุด ซึ่งก็ยังดีในแง่ที่ว่าประท้วงกันมาเกือบ 20 วันแล้ว มันก็ยังไม่มีอะไรเกินเลยไปจากนี้ เพราะคนก็กลัวตั้งแต่ 2-3 อาทิตย์ที่แล้วว่าอาจจะเกิดเหตุรุนแรง แต่อนาคตเราก็ไม่รู้

ตรงนี้อาตมาเชื่อว่าเป็นสันติวิธีของทั้งสองฝ่าย แต่ถามว่าพอเลยจากจุดนั้นไปมันเป็นสันติวิธีหรือเปล่า? สมมติว่าไม่มีการทำลายทรัพย์สินแต่ว่าถ้ามันเริ่มจะมีการใช้คำพูดรุนแรง มีการด่าทอกันมากๆ ตรงนี้อาตมาคิดว่ามันจะสุ่มเสี่ยงต่อการไม่สันติ เพราะว่าการใส่ร้าย การโจมตี การใช้ถ้อยคำยั่วยุ ล้วนแต่เป็นการกระตุ้นที่จะนำไปสู่ความรุนแรงทางกายภาพ

ถ้าถามเรื่องสันติวิธี อาตมาคิดว่า สันติวิธีจริงๆ มันต้องไม่มีการทำร้ายร่างกาย ไม่มีการทำลายทรัพย์สินเพื่อก่อความเสียหายแก่ผู้คน อาจจะทำลายในเชิงสัญลักษณ์ได้ เช่น การฉีกบัตรเลือกตั้ง หรืออาจจะเผาหุ่น เผาปืนของเล่น แต่เรื่องการใช้ถ้อยคำรุนแรง หยาบคายเป็นสิ่งที่นักสันติวิธีไม่ทำ คนที่ทำงานสันติวิธีจริงๆ จะรู้ว่าการไม่ระมัดระวังคำพูดจะนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย การพูดจาใส่ร้าย ยั่วยุ เขาจะไม่ทำกัน

แต่ว่าสันติวิธี อาจจะมีการกดดันได้ สันติวิธีไม่ใช่การเจรจาอย่างเดียว บางครั้งอาจจะมีการทำสิ่งที่เรียกว่าดื้อแพ่ง ขัดขืน คว่ำบาตร ซึ่งทำได้ แต่ก็ต้องยอมรับผลกระทบว่า มันอาจจะผิดกฎหมาย เช่น ถ้าไปขวางถนนก็ต้องพร้อมจะถูกจับ แต่ต้องเข้าใจว่าสมรภูมิการต่อสู้แบบสันติวิธีไม่ได้อยู่แต่บนท้องถนน ไม่ได้อยู่บนโต๊ะเจรจาอย่างเดียว แต่มันอยู่ในคุกด้วย มันอยู่ในศาลด้วย ดูตัวอย่างที่ มหาตมะ คานธีทำ หรือพวกนักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เขาก็ไปขวางกั้น ยึดครองพื้นที่ที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้วก็ยอมให้ตำรวจจับ ติดคุก แล้วก็สู้กันในศาล ต้องยอมรับด้วยว่าคานธีเป็นคนที่เก่งมากในการใช้คุกและศาลเป็นเวทีต่อสู้แบบสันติวิธี ทั้งเปิดโปงความอยุติธรรมของระบบอาณานิคมอังกฤษ ทั้งชนะใจคู่กรณี ซึ่งสุดท้ายศาลก็บอกว่า argument ของคานธีกนั้นถูก แต่กฎหมายมันเป็นแบบนี้ก็ต้องทำตามกฏหมาย คือจับคานธีเข้าคุก แต่ก็ทำให้ท่านชนะใจคนอังกฤษ ชนะใจคนอินเดีย และชนะใจคนทั่วโลก นี่คือสิ่งที่สันติวิธีต้องมี คือ คุณกดดันได้ คุณฝ่าฝืนกฎหมายได้ เพราะกฎหมายบางอย่างก็ไม่เป็นธรรม แต่คุณพร้อมจะรับผิดชอบ หรือรับผลกระทบจากการกระทำนั้นๆ ไหม นี่คือคำถาม?

ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนผิวสีในอเมริกานั้น มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ไปประท้วงร้านอาหาร หรือภัตตาคาร ที่ห้ามคนดำเข้า คนดำก็ไปเข้า พวกคนขาวทำยังไง? คนขาวเอาน้ำ เอาเหล้าเทราดหัว คนดำนั่งเฉย จะทำก็ทำไป เมื่อถึงเวลาจะเอาตำรวจมาลาก ก็ยอมให้ลาก ไม่ต่อสู้ ไม่ขัดขืน เพราะว่าสิ่งที่เขาทำอยู่โดยเนื้อหามันแรงพออยู่แล้ว มันสั่นคลอนกฎหมายที่อยุติธรรม สั่นคลอนกฎหมายที่แบ่งแยกสีผิว เพราะรัฐทางใต้มีกฎหมายคนดำห้ามกินอาหารร่วมกับคนขาว ห้ามใช้ห้องน้ำเดียวกัน เวลาขึ้นรถเมล์ ก็ต้องนั่งข้างหลัง หรือไม่ก็ ต้องยกที่นั่งให้คนขาว เพียงแค่คนดำฝืนไม่ทำตามกฎหมายเหล่านี้มันก็สั่นสะเทือนระบบแบ่งแยกสีผิว และเป็นข่าวไปทั่วโลก

ถ้าคุณจะฝ่าฝืนกฎหมายที่เขียนไว้ คุณก็ต้องยอมรับผลกระทบ ไม่ใช่ตำรวจมาจับแล้วก็ไม่ยอม อ้างว่าไม่ผิด คานธี มาร์ติน ลูเธอร์ คิง อองซาน ซูจี และนักต่อสู้เพื่อสันติวิธีทั้งหลายจะไม่ปฎิเสธว่าสิ่งที่ตัวเองทำไม่ผิดกฎหมาย ก็ในเมื่อกฎหมายมันไม่ยุติธรรมนี่ เขาก็เลยต้องฝ่าฝืน แต่จะไม่มีการปฎิเสธแบบหน้าตาเฉยว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่จะบอกว่าการกระทำของเขามันถูกต้องเป็นธรรมและเป็นความตั้งใจของเขาที่จะท้าทายกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม สันติวิธีต้องเป็นแบบนี้

a day BULLETIN ท่านคิดว่าในแง่ของรัฐบาล การตั้งรับแบบสันติวิธีควรจะเป็นอย่างไร

รัฐมีสิทธิ์ที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย จะว่าไปรัฐเป็นตัวผูกขาดการใช้ความรุนแรงในสังคมทุกประเทศอยู่แล้ว อาจยกเว้นอย่างบางประเทศเช่นอเมริกาที่ยอมรับว่าสิทธิในการพกอาวุธเป็นของประชาชนทั่วไป แต่ในหลายประเทศสิทธิในการพกอาวุธจะจำกัดมาก มีแต่เจ้าหน้าที่รัฐที่จะพกอาวุธได้ แต่การที่รัฐใช้ความรุนแรงน้อยที่สุดมันก็จำเป็นสำหรับตัวรัฐเอง เพราะถ้ารัฐใช้ความรุนแรงเกินความจำเป็น ประชาชนก็จะไม่สนับสนุน รัฐก็จะถูกโจมตี มีรัฐบาลจำนวนมากที่ล้มไปเพราะใช้ความรุนแรงเกินขอบเขตกับประชาชนที่ชุมนุมโดยสงบ

สันติวิธีของรัฐคือ พยายามที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยโดยไม่ใช้ความรุนแรง แม้ว่าจะผิดกฎหมายแต่ก็อลุ่มอล่วยให้ หรือไม่ก็ใช้วิธีการที่เบาที่สุด บางครั้งต้องหลีกเลี่ยง บ่ายเบี่ยงไม่ให้คนใช้ความรุนแรง เช่น ไม่ให้มีการเผชิญหน้า จัดหาเวทีให้คนได้ระบายอารมณ์โดยไม่ปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ถึงที่สุดแล้ว รัฐบาลควรจะจัดการที่สาเหตุ สาเหตุที่แท้จริงคือความไม่เป็นธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตยใช่ไหม? เหมือนสาเหตุของการเกิดการชุมนุมครั้งล่าสุดทั้งที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์ในเวลานี้ ถ้าเราไม่พูดถึงคุณทักษิณนะ เรื่องคุณทักษิณก็เรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของตัวบุคคล แต่เรื่องมันไม่ใช่แค่นั้น เพราะสาเหตุที่ทำให้เกิดขบวนการเสื้อแดง หลักๆ เลยมันมาจากความไม่เป็นธรรม หรือสองมาตรฐาน ซึ่งความเป็นสองมาตรฐานนี่มันแสดงชัดเลย เช่นคำว่าอมาตยาธิปไตยก็เป็นเรื่องสองมาตรฐาน คือการเปิดโอกาสให้ข้าราชการเข้ามามีอำนาจในการเมืองมากทั้งโดยตรงและโดยอ้อมขณะที่ประชาชนไม่มีอำนาจขนาดนั้น หรือกรณีกกต.ที่ที่กลุ่มผู้ชุมนุมอ้างว่าทำไมจึงใช้เวลาตัดสินเร็วมากในการ ยุบพรรคพลังประชาชน หรือพรรคไทยรักไทยก่อนหน้านี้ แต่กลับใช้เวลานานในการตัดสินกรณีพรรคประชาธิปัตย์ นี่ก็เป็นตัวอย่างที่พูดกันมากว่าเป็นเรื่องสองมาตรฐาน

จริงๆ แล้วเราก็ต้องยอมรับว่ามันมีมากกว่านี้ เช่น ความเหลื่อมล้ำ ต่ำสูง ระหว่างเมืองกับชนบท ระหว่างคนรวยกับคนจนซึ่งเพิ่มขึ้นมาก อันนี้อาตมาก็ไม่รู้ว่าทางกลุ่มคนเสื้อแดงเขาพูดมากแค่ไหน แต่สังเกตว่าเวลาเขาพูดเรื่องสองมาตรฐาน เขาจะพูดแต่ในแง่กฎหมายหรือการเมือง แต่ว่าความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมเป็นรากเหง้าของสองมาตรฐาน และวิธีแก้มันต้องใช้สันติวิธีอย่างเดียว คุณจะใช้ความรุนแรงแค่ไหนมันก็ไม่สามารถลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนได้ คุณใช้ความรุนแรงแค่ไหนก็ไม่ช่วยลดภาวะสองมาตรฐานได้ แต่คุณต้องปฏิรูประบบ ปฏิรูปเศรษฐกิจ การเมือง สังคม อันนี้เป็นสันติวิธีเลย คือต้องใช้สติปัญญา แต่เรื่องนี้มันเป็นเรื่องระยะยาว

สำหรับระยะสั้นนี้ สิ่งที่อาตมาคิดว่ารัฐบาลทำถูกคือหลีกเลี่ยงการปะทะ โดยไม่พยายามบังคับใช้กฏหมายอย่างเด็ดขาด เพราะว่าถ้าบังคับใช้กฏหมายอย่างเด็ดขาดตายตัว ก็จะนำไปสู่การสลายฝูงชน นำไปสู่ความรุนแรง รัฐบาลจึงยังไม่ทำ ซึ่งนี่ก็คือสันติวิธีนั่นเอง แต่ว่ามันต้องมีมากกว่านั้น เช่น การดูแลสื่อของรัฐให้ดี เพราะว่าตราบใดที่สื่อของรัฐยังไม่เป็นกลาง ยังโอนเอียง ยังมีการปลุกระดม มันก็จะไม่นำไปสู่สันติเพราะว่าผู้ชุมนุมก็จะโกรธแค้น วันดีคืนดี ก็จะไปยึดสถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นการพยายามทำให้สื่อของรัฐมีความเป็นกลาง หลีกเลี่ยงการยั่วยุ ก็ถือว่าเป็นเรื่องสันติวิธีด้วยซึ่งรัฐต้องยึดมั่นให้ได้

a day BULLETIN แล้วสันติวิธีของผู้ที่ไม่ชุมนุมล่ะคะ ควรจะเป็นแบบไหน

เรื่องนี้สำคัญมากเพราะว่าถ้าประชาชนทั่วไปไม่มีความอดทนอดกลั้น ขาดสติ ลุแก่โทสะ ก็จะไปปะทะกับผู้ชุมนุม ประชาชนทั่วไปจะต้องมีความอดทน ที่จะไม่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ไม่อย่างนั้นมันจะเกิดภาวะม็อบชนม็อบ ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่รัฐบาลที่ต้องควบคุมทั้ง 2 ฝ่าย ในขณะเดียวกันตอนนี้ก็มีประชาชนทั่วไป ที่พยายามกดดันรัฐบาลให้ใช้มาตรการเด็ดขาดกับผู้ชุมนุม อย่างเช่นตอนนี้ก็มีเสียงเรียกร้องจำนวนมากว่า ทำไมรัฐบาลไม่ใช้มาตรการเด็ดขาด ตรงนี้ประชาชนก็ต้องเข้าใจว่า ถ้ากดดันรัฐบาลอย่างนั้น ก็เท่ากับไปส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง เราต้องการความสงบ แต่สิ่งที่เราอาจจะได้ก็คือความไม่สงบยิ่งกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเอาน้ำไปฉีดผู้ชุมนุมในแยกราชประสงค์ คิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น? ผู้ชุมนุมก็อาจจะลุกฮือ ทุบกระจกร้านค้าและ ศูนย์การค้าจนแหลกละเอียดใช่ไหม? และนี่คือสิ่งที่ประชาชนต้องการหรือเปล่า?

ประชาชนต้องการให้เกิดความสงบ คิดว่าความสงบจะเกิดขึ้นได้จากการที่รัฐใช้มาตรการที่เด็ดขาด แต่ตรงกันข้าม สิ่งที่ได้จากการทำเช่นนั้นก็คือความไม่สงบยิ่งกว่าเดิม และจะคุมได้ยากขึ้น เพราะฉะนั้นประชาชนต้องอดทนและเข้าใจว่านี่เป็นเกมของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ที่ต้องการให้รัฐบาลใช้ความรุนแรง เพราะว่าถ้ารัฐบาลใช้ความรุนแรงเมื่อไหร่ รัฐบาลก็จะเป็นฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำ เพราะว่าหนึ่ง ถ้าสลายการชุมนุมแล้วมีคนตายขึ้นมารัฐบาลก็เดือดร้อน สอง การจลาจลที่เกิดขึ้นก็จะสร้างปัญหาให้รัฐบาล เพราะถ้าควบคุมสถานการณ์ไม่อยู่ ลุกลามบานปลายมากขึ้น ก็เดือนร้อนทั้งรัฐบาล ประเทศชาติก็เดือดร้อนด้วย

แต่ว่ามันมีคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการแบบนั้น ต้องการให้เกิดความรุนแรง รุนแรงแล้วเกิดการจลาจล หรือรุนแรงแล้วเกิดรัฐประหาร ก็มันต้องมีคนที่ได้ประโยชน์จากสองสถานการณ์นี้ ถ้ามีรัฐประหารก็อาจจะทำให้มีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจกันอีก หรือทำให้มีการปราบปรามรุนแรงขึ้นหลังจากรัฐประหาร

a day BULLETIN ที่ท่านพูดว่า ‘ประชาชนคนทั่วไปที่ไม่ได้ร่วมชุมนุมต้องอดทนอดกลั้น' มีวิธีคิดแบบไหนที่ทำให้เขาไปสู่ความอดทนอดกลั้นได้นานพอ

ต้องคิดว่าไม่มีทางลัดสู่ความสงบ เหมือนกับที่เราไม่มีทางลัดไปสู่ประชาธิปไตย เราพลาดนะ ที่คิดว่า ถ้ามีการชุมนุมมากๆ จะวุ่นวาย และทางลัดที่จะนำไปสู่ความสงบนั่นก็คือปราบการผู้ชุมนุม หรือออกกฎหมายไม่ให้มีการชุมนุม นั่นคือวิธีคิดแบบคนไทยที่ต้องการทางลัด จบเร็ว หลายคนเรียกร้องเมื่อไหร่จะปฏิวัติจะได้จบๆ เสียที แล้วเกิดอะไรขึ้น? ปฏิวัติ 19 กันยายน แล้วมันจบไหม? ก่อนหน้านั้นเราก็คิดว่ามันจะจบใช่ไหม ก่อนหน้า 19 กันยายน พันธมิตร ฯก็ต่อต้านคุณทักษิณใช่ไหม มีการชุมนุมและประท้วงลากยาวกันเป็นปี พอเกิดปฏิวัติทุกคนบอกว่ามันสงบ ไม่มีการประท้วงแล้ว มันจริงไหม? หลังจากนั้นมีการประท้วงที่หนักกว่าเดิม การยึดสนามบินสุวรรณภูมิก็สืบเนื่องจากปฏิวัติ 19 กันยายน จนถึงปัจจุบันก็ยึดราชประสงค์

มันไม่มีทางลัดสู่ความสงบ เช่นเดียวกับไม่มีทางลัดสู่ประชาธิปไตย เราจึงจำเป็นต้องอดทน มันไม่มีทางลัด บางทีเราก็ต้องอ้อมบ้าง ต้องยอมเสียเวลาบ้าง อาตมาคิดว่าเราต้องยอมเสียเวลาจะได้ไม่เสียเลือดเนื้อ นั่นคือสิ่งเครือข่ายสันติวิธีกำลังรณรงค์อยู่ เพราะฉะนั้น เขาจะประท้วงยังไงก็ปล่อยไป จะยึดราชประสงค์ก็ยึดไป แต่อย่ากดดันรัฐบาลให้ใช้ความรุนแรง ที่จริงการที่ต่างฝ่ายต่างอดทนมันเป็นเรื่องจำเป็น จะชนะหรือแพ้ก็อยู่ที่มีความอดทนแค่ไหน สมัยก่อน กรุงศรีอยุธยามักจะถูกล้อมโดยพม่าอยู่เป็นประจำ วิธีการที่พม่านิยมใช้คือการยกทัพมาในช่วงหน้าแล้ง แล้วล้อมกรุงศรีอยุธยา สิ่งที่กรุงศรีอยุธยาทำคือรอ พม่าจะล้อมก็ล้อมไปแต่รอจนถึงหน้าฝน พอน้ำหลากพม่าก็ต้องถอนทัพกลับไป นี่คือวิถีที่กรุงศรีอยุธยาใช้ คือรอจนน้ำหลาก ฝ่ายพม่าก็รู้ว่าถ้ารอจนถึงฤดูน้ำหลากตัวเองก็ต้องแพ้ พม่าก็ต้องหาทางยั่วยุให้กรุงศรีอยุธยาส่งทหารออกมาสู้รบกัน ถ้าออกมาก็เสร็จสิ ออกมาก็มีสิทธิแพ้ แต่พม่าก็ไม่กล้าจะบุกเข้าไป ไม่กล้าตีกำแพงเมือง เพราะอยุธยาอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะกว่า นี่คือวิธีการที่เราใช้แต่ก่อน คือรอ

นี่คือวิธีการที่ใช้กันมานานแล้ว สมัยสามก๊กก็ใช้วิธีนี้ บางครั้งคุณต้องรอแล้วชัยชนะจะตามมาโดยไม่สูญเสียเลือดเนื้อ อย่าใจร้อน ต้องเข้าใจว่านี่คือสิ่งที่เราทำกันมาในประวัติศาสตร์ และทุกวันนี้แม้จะอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์แล้วมันก็ยังได้ผล เราต้องรู้จักรอ

a day BULLETIN แล้ววิธีรอให้เป็นคืออะไร

ต้องมีการปรับตัว เช่น ราชประสงค์ถูกยึดก็อ้อมบ้าง สะพานผ่านฟ้าถูกยึดก็อ้อมไปทางพระราม 8 นี่คือการปรับตัวในระยะสั้นนะ แต่ระยะยาวต้องไปแก้ที่สาเหตุ ที่รากเหง้า เรื่องกฎหมายไม่เป็นธรรม เรื่องไม่เป็นประชาธิปไตยก็ว่ากันไป แต่ประการแรกคือ คนไทยต้องอดทน อย่าใจร้อน อย่าไปคิดว่ามันมีทางลัดสู่ความสงบ มันไม่มีทางลัดสู่ประชาธิปไตย นปช.ก็ต้องคิดตรงนี้ด้วยว่าต้องอดทน ไม่มีทางลัดสู่ความเป็นธรรมอย่างรวดเร็วเหมือนอย่างที่บางคนต้องการ มันไม่มีทางลัดแบบนั้น อย่าไปคิดว่าแค่ยุบสภาหรือเปลี่ยนรัฐบาลแล้วจะแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมหรือสองมาตรฐานได้

ประการที่สอง ทุกฝ่ายต้องเข้าใจว่าสาเหตุของความขัดแย้งคืออะไร มันไม่ใช่แค่เรื่องบุคคล มันไม่ใช่แค่เรื่องความขัดแย้งระหว่างทักษิณกับพลเอก เปรม เสื้อเหลืองอาจจะบอกว่าเสื้อแดงมีทักษิณอยู่เบื้องหลัง เสื้อแดงก็บอกว่าพลเอก เปรม บงการอยู่เบื้องหลังประชาธิปัตย์และเสื้อเหลือง แต่ความจริงมันไม่ง่ายอย่างนั้น มันมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะ เราต้องเข้าใจปัญหาที่ซับซ้อนอย่างนี้ด้วย

ประการที่สามคือ เราต้องพยายามมองคนให้เป็นมนุษย์มากขึ้น เพราะตอนนี้เรามองฝ่ายตรงข้ามกับเราเป็นศัตรู เราทำลายความเป็นมนุษย์ของเขาด้วยการใส่ยี่ห้อแก่เขาว่าเป็นพวกเลว ต้องมองว่ามนุษย์ไม่ใช่ศัตรู สิ่งที่เป็นศัตรูคือความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความโลภ ความหลง ในตัวเราเองและในตัวเขาด้วย

กลัว-เกลียด-โกรธ คือปัญหาของคนไทยในเวลานี้ ฝ่ายเสื้อเหลืองอาจจะกลัวว่าสถาบันที่รักของตัวเองอาจมีอันเป็นไป จริง-ไม่จริง ไม่รู้ ฝ่ายเสื้อแดงก็กลัวว่าอำมาตย์จะทำให้บ้านเมืองถอยหลังห่างไกลจากประชาธิปไตยมากขึ้น ประชาธิปไตยจะถูกทำลายด้วยระบอบอำมาตย์ ความกลัวเช่นนี้ทำให้เกิดความเกลียดต่ออีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อเกลียดแล้วก็อดไม่ได้ที่จะต้องด่ากัน ปะทะกัน แล้วก็โกรธ โกรธแล้วก็มีอคติทำให้มองเห็นซึ่งกันและกันเลวร้ายมากขึ้น ถ้าไปดูในเว็บไซต์ ในบล็อก ในเฟซบุ๊คจะเห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างพูดต่อกันและกันในแง่เลวร้ายมาก มีการด่าด้วยถ้อยคำที่รุนแรง มันทำให้ต่างฝ่ายต่างเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกันน้อยลงไปเรื่อยๆ และยิ่งเราเห็นใครเลวเท่าไหร่ เราก็ยิ่งรู้สึกมีความชอบธรรมที่จะทำอะไรกับเขาก็ได้ เช่น ด่าเขา ใส่ร้ายเขา หรือทำร้ายเขา กลายเป็นว่าใครมีกำลังมากกว่า หรือมีพวกมากกว่าก็พร้อมจะไปทำร้ายคนอื่น

เสื้อแดงเห็นเสื้อสีชมพูจะชุมนุม แกนนำเลยบอกว่าจะยกขบวนไปที่จุฬาฯ จุฬาฯ เลยปิด เสื้อชมพูก็เลยชุมนุมที่สวนลุมฯ มี พอมีเสื้อแดงผ่านมา 2 คน เสื้อชมพูก็ไปเล่นงานเขา ตอนนี้กลายเป็นว่าใครที่มีคนเยอะกว่าก็จะไปเล่นงานกลุ่มที่มีคนน้อยกว่า มันเป็นอย่างนี้เพราะเราเห็นว่าอีกฝ่ายไม่ใช่มนุษย์จึงเห็นว่าจะทำยังไงกับเขาก็ได้ กลายเป็นว่าพอมองเห็นเขาเลว เราก็เลยลดตัวให้เลวเท่ากับเขา ด้วยการด่าทอเขาด้วยถ้อยคำที่รุนแรง ตอบโต้เขาด้วยความรุนแรงระดับเดียวกัน ซึ่งนั่นเป็นการลดตัวเราเอง ใครด่ามาก็ด่าไป แรงมาก็แรงไป เลวมาก็เลวไป การทำอย่างนี้เป็นการทำตัวให้ต่ำเท่าเขา หรือต่ำกว่าเขา เพราะความโกรธ ความเกลียด เพราะอคติที่เราเห็นเขาเป็นคนเลวคนชั่ว เราเลยคิดว่าเรามีความชอบธรรมที่จะทำเลวกับเขาก็ได้ โดยหารู้ไม่ว่าการทำเช่นนั้นมันเป็นการลดตัวให้ต่ำเท่าเขา หรือเป็นการลดตัวให้ต่ำกว่าเขา

ขณะเดียวกันการด่าเขาอย่างเสียๆ หายๆ ก็กลายเป็นการประจานตัวเอง อาตมาคิดว่าต้องระวัง อย่าให้ความโกรธ ความเกลียด เข้ามาครอบงำจิตใจของเรา เพราะไม่อย่างนั้นจะเป็นการทำร้ายตัวเอง เราจะประจานตัวเอง ทำให้ตัวเองมีความทุกข์

a day BULLETIN มีคำพูดหรือคำสอนมากมายในเรื่องให้เรารักศัตรูของเรา คืออุดมคติมันเป็นอย่างนั้น แต่สำหรับปุถุชน คนทั่วไปแล้วสามารถทำได้หรือคะ

จริงๆ แล้วปุถุชนทำได้ แต่การรักศัตรูนั้น อาตมาว่ามันเป็นการเรียกร้องที่มากไปสำหรับปุถุชน จริงๆ เราเกลียดศัตรูได้ แต่ต้องรู้เท่าทันความเกลียดในใจเราด้วย ถ้าเราไม่รู้เท่าทันความเกลียดในใจเรา ปล่อยให้มันครอบงำจิตใจ เราก็อาจจะกลายเป็นศัตรูกับตัวเอง เราเห็นคนอื่นเป็นศัตรูแต่เราลืมไปว่าทันทีที่เราโกรธ เราเกลียด เรากลายเป็นศัตรูของตัวเอง เรากินไม่ได้นอนไม่หลับ เราเครียด และถ้าเรากระทำการรุนแรงกับเขาโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ใครเสีย? เราเองก็เสีย อาตมาคิดว่าเราโกรธ เกลียดได้ แต่ให้รู้ทันความโกรธ เกลียดในใจ อย่าปล่อยใจทำตามความโกรธ เกลียด

อย่าให้ความโกรธ เกลียดมาเป็นนายเรา นั่นคือประการแรก ประการที่สองคือ ให้เรามองเขารอบด้าน เหมือนที่บอกไว้ตอนแรกว่า เวลานี้เรามองเห็นแต่ด้านไม่ดีของเขา เรามองเห็นแต่ด้านที่ต่างกัน ยิ่งมองเท่าไหร่ก็ยิ่งเห็นเขาเป็นตัวเลวร้ายมากขึ้น แต่ถ้าเรามองเขาให้รอบด้านมากขึ้น เราก็จะเห็นว่าจริงๆ แล้ว เขาเองก็มีหลายอย่างที่ดี เขามีหลายอย่างที่เหมือนกับเรา ซึ่งจะช่วยให้เราอยากทำดีต่อเขามากขึ้น

ประการที่สาม อาตมาคิดว่า เราต้องเรียนรู้วิธีที่จะชนะใจศัตรูด้วยความดี อับราฮัม ลินคอล์น บอกว่า วิธีการที่ดีที่สุดในการกำจัดศัตรูก็คือทำให้เขาเป็นมิตร เมื่อคุณทำให้เขาเป็นมิตร ศัตรูก็หายไปหนึ่งคนแล้ว แล้วลินคอล์นทำยังไง ลินคอล์นก็เอาคนที่ชอบโจมตีเขามาเป็นรัฐมนตรี ในคณะรัฐบาลเดียวกับเขา เนลสัน แมนเดลา ก็ทำอย่างนี้ แมนเดลาจะเอาฝ่ายค้าน หรือคนที่ไม่เห็นด้วยกับเขามาทำงานร่วมกับเขา ทำให้เขาชนะใจอีกฝ่ายหนึ่ง หรือถึงแม้จะไม่ชนะใจก็ทำให้อีกฝ่ายอยู่ในสายตาของเขา ถึงแม้เขาไม่เป็นมิตรแต่ว่าอย่างน้อยเขาก็อยู่ใกล้เรา ก็ทำให้เรารู้ได้ว่าเขาทำอะไร นี่คือวิธีการของ แมนเดลา คือเอาคนขาวมาอยู่ในรัฐบาล เขาเอาคนขาวมาเป็นรองประธานาธิบดี ทั้งๆที่คนเหล่านี้เคยฆ่าเพื่อนเขา ฆ่าคนของเขา แต่ว่าเมื่อเป็นประธานาธิบดีแล้วก็จำต้องสร้างชาติ ต้องสร้างสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น ก็ต้องพยายามทำอย่างนี้ นี่คือวิธีการเอาชนะใจ การชนะศัตรูทีดีที่สุดคือการเอาชนะใจเขา แล้วคุณจะชนะใจเขาได้ คุณต้องใช้ความดี ใช้ความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อ นี่แหละคือสันติวิธีอย่างหนึ่ง

a day BULLETIN ตอนนี้ทุกคนเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอนทนอดกลั้นกันหมดเลย จริงๆ แล้ว ดอกผลของความอดทนอดกลั้นมันคืออะไร

อย่างน้อย ความอดทนอดกลั้นมันทำให้ความโกรธหรือโทสะ ไม่พลุ่งพล่าน จนกระทั่งทำอะไรรุนแรง นำไปสู่การปะทะกัน เมื่อเราโกรธ ไม่ว่าแววตาของเรา คำพูดของเรา มันก็จะไปกระตุ้นความโกรธของเขาขึ้นมา และถ้าความโกรธของ 2 คนมาเจอกันจะเป็นไง มันก็ปะทะกัน ปฏิสัมพันธ์ของคนเราต่างเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน ถ้าเราโกรธ คนที่อยู่ใกล้เราหรือคู่กรณีก็จะรู้สึกโกรธตามไปด้วย แต่ถ้าเราใจเย็น มีน้ำใจมีความเอื้อเฟื้อมันก็จะช่วยให้เขาใจเย็นหรือมีความเอื้อเฟื้อด้วย

อาตมายกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง มีคนหนึ่งขับรถอยู่เลนขวาโดยไม่สนใจรถคันหลัง สักพักก็มีรถแซงแซงซ้ายแล้ว กดแตรตะโกนด่า คนที่ถูกด่าก็โกรธก็เลยขับตามเพื่อที่จะไปด่าคืน ระหว่างรถแล่นเทียบกัน คนที่ถูกด่าตอนแรกก็เริ่มลดกระจกแล้วก็เตรียมที่จะด่า ส่วนคนในรถอีกคันหนึ่งก็เตรียมจะตอบโต้ ปรากฏว่าคนที่เตรียมจะด่าพอเห็นหน้าหมอนั่นก็เปลี่ยนใจ แล้วตะโกนว่าผมขอโทษ รถอีกคันก็อึ้งแล้วก็ตะโกนมาว่าผมขอโทษด้วย ทั้งที่เตรียมจะด่าแล้วนะ ทีนี้กลายเป็นว่าทั้งสองฝ่ายต่างบอกให้ อีกฝ่ายแซงไปก่อน การเอื้อเฟื้อเกิดขึ้นทันทีเลย ทั้ง ๆ ที่ที่แรกเตรียมจะด่ากัน เวลามีใครด่าเรา เราก็มักด่ากลับทันที แต่ถ้าอีกคนแทนที่จะด่ากลับขอโทษ มันก็ไปเปลี่ยนใจของอีกฝ่ายซึ่งเตรียมจะด่าอยู่แล้ว ให้ขอโทษเช่นกัน นี่คือตัวอย่างที่ว่าถ้าเราดีกับเขามันก็จะไปปลุกความดีในใจเขาขึ้นมา

a day BULLETIN แล้วเราจะทำอย่างไรกันดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ระหว่างนปช.กับรัฐบาล จะมีวิธีที่ปลุกความดีที่ว่านี่อย่างไร

ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งควรเริ่มต้นด้วยการแสดงน้ำใจหรือ good will ให้แก่อีกฝ่าย หรืออย่างน้อยแสดงความใส่ใจที่จะฟัง ความเดือดร้อน ความทุกข์ยากของอีกฝ่ายอย่างแท้จริง อย่างการเจรจาที่ผ่านมาระหว่างรัฐกับนปช.มันก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี โดยเฉพาะวันแรก เพราะไม่มีใครคิดว่าจะมีการคุยกัน แต่พอวันที่สอง เมื่อความคาดหวังมากขึ้นคนก็รู้สึกว่าไม่ค่อยสมหวังเท่าไหร่

อาตมาคิดว่าเรื่องนี้มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือมันได้เห็นความเป็นกันเอง เห็นความเป็นมิตรของกันและกันมากขึ้น แต่สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ พอออกโทรทัศน์ถ่ายทอดสด แต่ละฝ่ายพูดถึงความในใจยาก แต่ละฝ่ายก็ต้องพยายามพูดหาเสียง พูดแก้ตัว แกนนำเสื้อแดงก็หาเสียงกับผู้ชุมนุมอย่างน้อยก็ทำเพื่อไม่ให้เห็นว่าตัวเองอ่อนข้อให้แก่รัฐบาล เพราะว่าผู้ชุมนุมหลายคนเสียความรู้สึกที่แกนนำไปเจรจากับรัฐบาล ฟังว่าหลายคนพอรู้ว่ามีการเจรจาก็กลับบ้านเลย ดังนั้นวันต่อมา สิ่งที่ผู้นำนปช. ทำก็คือแสดงให้เห็นว่าตัวเองไม่อ่อนข้อให้รัฐบาล ต้องโจมตีหรือเล่นงานรัฐบาลบ้าง เพราะจะทำให้ผู้ชุมนุมรู้สึกพอใจ เมื่อพูดผ่านสื่อคนเราก็มักจะพูดแรงๆ หรือโจมตีอีกฝ่ายเพื่อรักษาฐานเสียงของตนเอาไว้

เพราะฉะนั้นการเจรจาวันที่ 1 ที่ 2 จึงไม่เหมือนกัน วันที่ ๒ จะเห็นได้ว่าแกนนำนปช. พูดเล่นงานคุณอภิสิทธิ์มาก ส่วนคุณอภิสิทธิ์ก็ต้องแก้ตัวหรือปกป้องตัวเอง เพราะถ้าปล่อยให้ผ่านเลยไปก็จะเป็นเหมือนการยอมรับ แทนที่จะคุยกันว่าจะยุบสภาเมื่อไหร่ ก็กลับมาเถียงกันเรื่องสงกรานต์เลือดปีที่แล้วบ้าง เรื่องอาฟต้าบ้าง เถียงกันเรื่องคดีพรรคประชาธิปัตย์ล่าช้าบ้าง เรื่องแบบนี้ความจริงอภิปรายกันในสภาได้ แต่เอามาพูดในระหว่างการเจรจา ทั้งหมดนี่คือพูดเพื่อหาเสียง หรือรักษาฐานเสียงเอาไว้ มันก็เลยไม่ได้พูดความในใจ การฟังกันจริงๆ จึงไม่มี เพราะต่างฝ่ายต่างจ้องโจมตีอยู่ตลอด

a day BULLETIN แล้วจริงๆ แล้วการเจรจาที่ดีมันคืออะไร หรือควรจะเป็นอย่างไร

การเจรจาที่ดีมันต้องมีการฟังกัน ต้องเกิดการไว้วางใจกัน หรือเกิด good will การที่จะเกิด good will ได้ คุณต้องวางหัวโขน คุณต้องไม่หาเสียงมาก ถ้าคุณสวมหัวโขนก็คุยกันยาก ถ้าคุณถอดหัวโขนออก คุณมีความเป็นมนุษย์ ก็จะเจรจากันได้ดีขึ้น นั่นคือวิธีที่ผู้ไกล่เกลี่ยพยายามทำให้เกิดขึ้น คือชวนคู่กรณีมาพูดคุยในบรรยากาศแบบเป็นกันเอง เช่น มานั่งเล่นในบ้านสบายๆ มาจิบน้ำชา มาพูดคุยกัน นี่คือวิธีการที่ใช้ทั่วไป ไม่ใช่คุยอย่างเป็นทางการอย่างเดียว การคุยในบรรยากาศสบายๆ ทำให้รู้สึกถึงความเป็นมิตรของกันและกัน ความไว้วางใจก็จะเกิดขึ้น แต่ความเชื่อใจจะมีน้อยลงทันที ถ้าคุณไม่ถอดหัวโขน เพราะตอนนั้นคุณจะไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่คุณเป็นผู้นำของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

เราต้องยอมรับว่าคนเรามีหลายหมวก แต่ถ้าเราลองวางหมวกสักใบเสีย มันก็จะมีความเป็น personal มากขึ้น อย่างในอดีตเคยมีการนำเอาผู้นำคนดำในแอฟริกาใต้ กับผู้นำคนขาวที่เป็นเยาวชนรุ่นคนหนุ่มสาวมาคุยกัน แรกๆ ก็ระแวงกัน แต่ก็คราวหนึ่งต่างฝ่าย ต่างเอาครอบครัวมาด้วย แล้วออกไปตกปลาด้วยกัน แล้วเบ็ดก็ไปเกี่ยวมือของคนดำ คนผิวขาวก็ไปช่วยแกะเบ็ดออก ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นมิตรมากขึ้น ทำให้เกิดความรู้สึกว่าที่อีกฝ่ายไม่ได้เป็นคนเลวร้าย ตามปกติเวลาคู่กรณีมาเจอกัน ต่างจะมองอีกฝ่ายในทางเลวร้ายมาก เช่น เป็นคนตระบัดสัตย์ไว้ใจไม่ได้ แต่พอมาเจอกันแบบส่วนตัว เราจะมองเห็นอีกด้านหนึ่งซึ่งมันจะช่วยในการเจรจาได้ แต่สุดท้ายมันก็ต้องมีความจริงใจ ซึ่งความจริงใจต้องสร้างขึ้นมา มันไม่ได้เกิดขึ้นเอง

ความจริงใจจะเกิดขึ้นได้เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างฟังและใส่ใจสิ่งที่ อีกฝ่ายพูด ถ้าคุณพยายามที่จะฟังคนอื่นก็จะเกิดความไว้ใจกันมากขึ้น การฟังที่ดีหรือฟังแบบคุณภาพ คือการฟังโดยที่ไม่คิดโต้แย้งตลอดเวลา ส่วนใหญ่เวลาเราฟังความคิดความเห็นที่ไม่ตรงกับเรา หรือยิ่งมาโจมตีเราก็จะคิดแย้งคิดโต้ทันที แล้วเราก็จะไม่รู้ว่าเขาพูดอะไร คือตามปกติเวลามีใครพูดกับเรา หากเราคิดโต้แย้งเขาตลอดเวลาเราจะไม่ได้ยินว่าเขาพูดอะไร คืออย่าว่าแต่คนที่เราไม่ชอบเลย แม้กระทั่งธรรมชาติรอบๆ ตัวเราก็จะไม่ได้ยิน

อาตมาเคยพาคนเดินจงกรมตอนเช้าอากาศดี สองข้างทางมีต้นไม้เยอะ มีเสียงนกร้อง จิ้งหรีดร้อง ตลอดทาง รวมเวลาเดินทางไปกลับเกือบชั่วโมง พอกลับมาก็ถามว่ามีใครได้ยินเสียงจิ้งหรีดร้องบ้าง คนจำนวนกว่าครึ่งตอบว่าไม่ได้ยิน เพราะมัวแต่คิดเรื่องงานเรื่องการ คิดถึงคนที่บ้าน ถ้าใจคุณไม่ว่าง แม้แต่เสียงที่มันดังต่อหน้าคุณก็ไม่ได้ยิน และยิ่งได้ฟังเสียงที่คุณไม่ชอบ หรือเสียงของคนที่เป็นคู่กรณี ก็ยิ่งฟังไม่รู้เรื่อง เพราะในใจคุณคิดจะแย้งจะโต้อย่างเดียว

a day BULLETIN ไม่มีใครรู้หรอกว่าสถานการณ์วันนี้จะจบอย่างไร แต่ในอนาคตเชื่อว่าก็คงจะต้องมีการชุมนุมเกิดขึ้นในสังคมเราอีก ทีนี้เราจะอยู่กันแบบสงบ อยู่กันให้รอด และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกันได้อย่างไร

เรื่องประท้วงมันเป็นปัญหาของสังคมไทยมาเกือบ 20 ปีแล้วนะ มันมีการประท้วงเกิดขึ้นตลอด แต่สมัยก่อนมันเป็นการประท้วงของกลุ่มเล็กๆ ของชาวบ้าน ของชาวนา ชาวไร่ เช่นประท้วงราคามันสำปะหลัง ประท้วงการสร้างเขื่อน สมัชชาคนจนก็ประท้วง ซึ่งสะท้อนว่า กลไกของรัฐไม่ทำงาน ข้าราชการต่างๆ ไม่มีอำนาจตัดสินใจก็ต้องให้ครม. หรือนายกรัฐมนตรีตัดสินใจ เพราะเมืองไทยเรารวมศูนย์อำนาจ ทุกอย่างต้องมาแก้ปัญหาที่กรุงเทพฯ ก็เลยมีการประท้วงกันที่หน้าทำเนียบเป็นประจำ แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่แค่ชาวบ้านที่ประท้วง คนมีเงินก็ประท้วงกัน

เมื่อก่อนคนมีเงินเขาไม่ประท้วงเพราะเขามีวิธีการคุยกับผู้ใหญ่ คุยกับรัฐมนตรี คือวิธีการใช้เส้นนั่นเอง แต่ชาวบ้านไม่มีเส้นชาวบ้านก็เลยต้องใช้เท้าเดินไปประท้วง แต่ตอนนี้ปัญหามันมากกว่านั้น เพราะว่าความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์ของคนในเมืองมันก็มาก โลกาภิวัตน์มันทำให้เกิดการแตกตัวของสังคมออกไปหลายฝ่าย แต่ก่อนมันมีความขัดแย้งระหว่างคนจนกับคนรวย คนรวยอยู่ข้างบน คนจนอยู่ข้างล่าง มีช่องว่างแนวดิ่งระหว่างคนรวยกับคนจน ตอนนี้มันมีช่องว่างแนวนอน คือคนชั้นกลางด้วยกันเองก็มีความแตกแยกทางความคิด หรือความแตกต่างทางความคิด รวมถึงวิถีชีวิตที่แตกต่างกันมากมาย ชนชั้นกลาง มีทั้งเศรษฐีเสื้อเหลือง เศรษฐีเสื้อแดง นี่เป็นธรรมชาติของโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้สังคมแตกตัวออกมาเป็นหลายกลุ่ม แม้แต่คนที่มีรายได้เท่ากัน มีการศึกษาเท่ากัน และมีภูมิหลังแบบเดียวกัน ก็ยังมีทัศนคติ ความคิดหลากหลายกันไป เพราะดูสื่อคนละช่อง

นี่คือสภาพสังคมที่มีการแตกตัวอย่างกว้างขวาง แม้แต่ในซอยเดียวกัน ขนาดบ้านอยู่ติดกัน แต่ทัศนคติกลับแตกต่างกันไปคนละเรื่องเลย การแก้ปัญหาเรื่องนี้ จะต้องมีพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงเพื่อต่อรองผลประโยชน์ของตัวเองได้อย่างเท่าเทียมกัน พื้นที่ในที่นี้หมายความรวมถึงสื่อและสภาด้วย จริงๆ แล้วรัฐสภาควรจะทำหน้าที่นี้ด้วย คือเป็นตัวแทนของคนที่หลากหลายทางด้านผลประโยชน์และแนวคิด แต่รัฐสภาก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น อาตมาคิดว่าเราจะต้องสร้างกลไกเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนและต่อรองทางด้านผลประโยชน์ เป็นพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน ถ้าทำอย่างนี้ได้ความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาประท้วงบนท้องถนนน้อยลง แน่นอนว่ามันไม่หมดหรอก แต่มันก็จะน้อยลง เพราะเขาได้ระบาย ได้ต่อรอง เขารู้สึกว่าเขาได้รับความเป็นธรรมในการที่จะต่อรองผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกับคนอื่น

a day BULLETIN ถ้าพูดเรื่องสื่อ ตอนนี้ไม่ว่าจะเสื้อแดงดูสื่อของตัวเอง หรือเสื้อเหลืองดูสื่อของตัวเอง ก็กลายเป็นต่อว่ากันไปมาใช้ภาษาที่รุนแรง คนทั่วไปที่ฟัง หรือแม้กระทั่งกลุ่มเดียวกันเองที่ฟัง จะมีวิธีกรองหรือฟังอย่างไรให้ไม่ร้อนตามได้ไหม เพราะว่าภาษามันมีผลในการปลุกเร้าเหมือนกัน

ที่เราเร่าร้อนตามก็เพราะว่าเรามีความคาดหวังบางอย่าง แล้วมันไม่เป็นไปตามคาดหวังของเรา ถ้าเราไม่ไปคาดหวังจากคนให้สัมภาษณ์เราก็จะไม่ทุกข์หรอก อีกอย่างเป็นเพราะเราไปยึดติดกับอะไรบางอย่าง เช่นเรายึดติดกับรัฐบาลของเรา พอนักการเมืองฝ่ายค้านพูดกระทบรัฐบาลของเรา เราก็ไม่พอใจ ถ้าเรายึดติดกับแกนนำนปช. พอรัฐบาลตำหนิแกนนำนปช. เราก็โกรธ ความยึดติด ถือมั่น เป็นเรื่องสำคัญมากที่เราจะต้องเท่าทัน คือปุถุชนคงจะละวางความยึดมั่นไม่ได้ง่ายๆ แต่ว่าให้รู้ทัน รวมทั้งมองเห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง เราจะหวังอะไร เขาเป็นฝ่ายค้านเขาก็ต้องวิจารณ์รัฐบาลที่เราเชียร์อยู่แล้ว เขาเป็นรัฐบาลเขาก็ต้องวิจารณ์แกนนำนปช.อยู่แล้ว มันเป็นเช่นนั้นเอง เป็นเรื่องธรรมดา เราจะทุกข์ไปทำไม เพราะเราก็รู้อยู่แล้วว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้น

อย่าลืมว่ามันเป็นบทบาทที่เขาต้องเล่น เราก็ต้องรู้นะว่านี่คือบทบาทที่เขาเล่น อย่างฮุนเซ็นมาประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงเจอกับคุณอภิสิทธิ์ เขาก็ยิ้มให้ เขย่ามือกับคุณอภิสิทธิ์ อวยพรวันเกิด แต่พอเขาไปถึงเขมรเขาก็ต้องพูดถึงคุณอภิสิทธิ์อีกแบบ เพื่อหาเสียงกับประชาชนของเขา เพียงแต่เขามาเมืองไทยเขาก็ต้องเล่นอีกบทหนึ่ง เพื่อจะได้เจรจาต่อรองเรื่องลุ่มแม่น้ำโขงได้ เราก็ต้องตระหนักว่านี่ก็คือละคร เขาสวมบทแกนนำนปช.เขาก็ต้องพูดอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นเขาก็อยู่ไม่รอด ถ้าคุณเป็นแกนนำนปช.แล้วคุณพูดอ่อนๆ อีกสองสามวันคุณก็อาจจะไม่ได้เป็นแกนนำ (หัวเราะ) ถ้าคุณเป็นรัฐบาลแล้วคุณพูดอ่อนไปประชาชนก็ว่าคุณ แต่เบื้องหลังถ้าเจอกันเขาก็อาจจะตบหลังตบไหล่กันก็ได้ เราไม่รู้

a day BULLETIN ถ้ามองให้ทะลุถึงความเป็นเช่นนั้นเองแล้วจะเป็นอย่างไรต่อ รู้แล้วพอเหรอคะ อาจจะไม่พอสำหรับคนรับสื่อหรือเปล่า

คนที่จะมองว่าเป็นเช่นนั้นเองมีน้อย เพราะฉะนั้นต้องรู้จักปล่อยวาง คือคุณดูข่าวแล้วเครียดก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่พอดูเสร็จแล้วกลับไปกินข้าว หรือไปทำงาน ถ้ายังแบกมันเอาไว้ แล้วยิ่งแบกยิ่งทุกข์ แล้วเราสังเกตไหมว่า ยิ่งเราเกลียดอะไร เรายิ่งยึดติดสิ่งนั้น เราเกลียดใครก็ตาม เราก็คิดถึงคนนั้นบ่อย อย่างที่บ้านญาติอาตมา พี่สาว กับน้องสาว เชียร์คนละสี พี่สาวเชียร์เสื้อเหลือง น้องสาวเชียร์เสื้อแดง ช่วงก่อนเกิดสงกรานต์เลือดเสื้อแดงล้อมทำเนียบ พี่สาวเห็นน้องสาวดูโทรทัศน์การชุมนุมของเสื้อแดง พี่สาวก็ไม่พอใจ บอกว่าดูมันทำไมไอ้พวกนี้ แล้วก็ด่า น้องสาวซึ่งชอบเสื้อแดงรู้สึกรำคาญ ไม่อยากต่อล้อต่อเถียงด้วยก็เลยเดินออกไป หายไปสักชั่วโมงหนึ่ง กลับมาที่โทรทัศน์ ปรากฏว่าพี่สาวดูแทน ดูช่องเดียวกัน แล้วพี่สาวดูไปก็ด่าไป แปลกไหม คุณไม่อยากให้น้องสาวดู แล้วคุณดูทำไม คุณไม่ชอบเสื้อแดงแล้วคุณดูทำไม ดูอย่างเดียวไม่พอ ดูไปด่าไป ในเมื่อดูแล้วมีความทุกข์แล้ว ทำไมถึงดูไม่เลิก คือยิ่งเกลียดเราก็ยิ่งยึด ยิ่งใครด่าเราเราก็ยิ่งอยากจะฟังว่าเขาด่าว่าอะไร (หัวเราะ) พอเรารู้ว่ามีใครนินทาเรา เราก็อยากจะรู้ให้ได้ว่าเขานินทาเราว่าอะไร พอรู้แล้วเป็นยังไง ทุกข์ไหม ทุกข์

ล่าสุดมีเพื่อนเขาเล่าให้ฟังว่าเขาไปศรีลังกากับคณะทัวร์ไทย ระหว่างที่นั่งรถเป็นชั่วโมงๆ ก็มีการแนะนำตัว ก็มีผู้ชายคนหนึ่งแกทำรีสอร์ทอยู่ภาคใต้ ถึงเวลาแนะนำตัวแกก็บอกว่า ผมชอบคณะทัวร์ชุดนี้มากเลย เพราะไม่พูดเรื่องการเมืองเลย ผมอยู่ที่เมืองไทยผมเบื่อมาก คนคุยกันแต่เรื่องการเมือง ว่าแล้วแกก็บ่นเรื่องการเมืองยาวครึ่งชั่วโมง (หัวเราะ) แกเบื่อเรื่องการเมืองแต่ว่าแกกลับเอาเรื่องการเมืองมาพูดบนรถทัวร์เป็นครึ่งชั่วโมง คุณเบื่อแล้วคุณเอามาพูดทำไม ยิ่งเบื่อเรื่องอะไรก็ยิ่งพูดเรื่องนั้น คนเราชอบยึดติดในสิ่งที่เราเกลียดโดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นต้องรู้เท่าทัน มีสติ แล้วก็วางซะ

a day BULLETIN วางแล้วมันจะมีการเปลี่ยนแปลงสังคมเหรอคะ

ยังไม่เปลี่ยนหรอก แต่อย่างน้อยเราไม่ทุกข์ไง เพราะตอนนี้คนเราชอบหาเรื่องทุกข์ใส่ตัวโดยใช่เหตุ ทั้งๆ ที่บางทีเราก็ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการชุมนุม หรือเหตุการณ์บ้านเมือง

a day BULLETIN แต่หลายคนก็บอกว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน แล้วพอเราฟัง เราโกรธ เราเกลียดก็จริง แต่ถ้าไม่ฟังเสียเลยมันก็ไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองน่ะค่ะ

อาตมาไม่ได้ไปส่งเสริมให้ไม่ฟัง แต่ว่าฟังแล้วต้องรู้จักปล่อย รู้จักวางบ้าง ไม่อย่างนั้นเราจะทุกข์ อัดแน่นไปด้วยอารมณ์ แล้วเราจะโกรธ เกลียดรุนแรงมากขึ้น แล้วแทนที่เราจะช่วยแก้ปัญหา เรากลับกลายเป็นตัวสร้างปัญหา เราสร้างปัญหาให้กับครอบครัวของเราเพราะเราระบายเรื่องเสื้อเหลืองเสื้อแดงให้กับลูกเมียฟัง ทั้งๆ ที่ลูกเมียก็ไม่ได้สนใจหรอก แต่เราเครียด แล้วเราก็ระบายความเครียดใส่ลูกหลาน เรากลายเป็นคนสร้างปัญหาให้กับครอบครัว ทั้งๆ ที่มันไม่ควร คือคุณอยู่กับลูกหลานคุณก็ควรจะให้เวลากับลูกหลาน ไม่ใช่เอาแต่ระบาย จนกระทั่งลูกหลานเบื่อ รำคาญคุณ คุณกลายเป็นคนที่ไม่มีใครอยากจะคบหาเพราะเอาแต่บ่นเรื่องการเมือง

อาตมากำลังจะบอกว่ามันทำให้ชีวิตคุณแย่ลงถ้าไม่รู้จักปล่อยวางบ้าง แล้วคุณไปสร้างปัญหาให้กับคนอื่นด้วยแต่ในฐานะที่เป็นพลเมืองเราก็ต้องสนใจการบ้านการเมือง แต่เมื่อสนใจการเมืองแล้วจะต้องแก้ปัญหาด้วยสติและปัญญา อาตมาพูดบ่อยว่า ต้องใช้สติแก้ปัญหา ใช้เมตตาระงับความรุนแรง ถ้าคนไทยไม่ใช้สองตัวนี้นะ ปัญหาจะรุนแรงมากขึ้น 6 ตุลาฯ ก็เป็นบทเรียนที่เจ็บปวดมาก พวกประชาชน ลูกเสือชาวบ้านร่วมกันทำร้ายนักศึกษา ประชาชนตาย เป็นบาดแผล บ้านเมืองก็ยับเยิน แล้วคนก็หนีเข้าป่าจับอาวุธสู้กับรัฐบาล จนเกือบเกิดสงครามกลางเมือง นี่เป็นเพราะเราไม่ใช้สติ ไม่ใช้เมตตา แต่จะมีสติและเมตตาก็ต้องเริ่มต้นจากการฟังข่าวสารอย่างมีสติ รู้จักปล่อยวาง

a day BULLETIN ถ้าธรรมมะ เป็นยารักษาโรคจริง ท่านจะจ่ายยาอะไรเพื่อรักษาโรคให้ถูกจุดกับผู้คนในขณะนี้

มันต้องใช้ยารักษาสองระดับนะ ระดับแรกคือ ระดับส่วนตัว คือหนึ่ง มองไกล ให้ตระหนักว่า คนที่ขัดแย้งกันอยู่เวลานี้ หรือคนที่เราไม่ชอบหน้าเวลานี้ เราต้องอยู่กับเขาไปอีกนาน วันนี้เราไม่เห็นด้วยกับเขาในเรื่องนี้ แต่ในวันหน้าเราอาจจะเห็นเหมือนเขาอีกหลายเรื่อง วันนี้เรามองหน้ากันไม่ติด แต่เราจะต้องเห็นหน้ากันอีกนาน แล้วจะโกรธเกลียดกันทำไม ถึงจะโกรธกัน ก็อย่าถึงกับทำร้ายกัน อเมริกาและเวียดนามทำสงครามกันมา 30 ปี คนตายไปเป็นล้านนะ แต่ทุกวันนี้กลับเป็นมิตรกัน

ถ้าเรามองไกลแล้วจะรู้ว่า มันไม่มีใครที่เป็นศัตรูถาวรหรอก สองคือใจกว้าง มองให้เห็นรอบด้านว่าคนที่เขาเห็นต่างจากเรา ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่เขาเห็นเหมือนกับเรา เราอาจเห็นเหมือนกันถึง 95 เรื่อง แต่เห็นต่างกันแค่ 5 เรื่อง เราจะทะเลาะกันไปทำไม ถ้าเราเห็นอย่างนี้เราจะใจกว้าง และรับมือกับความแตกต่างได้ง่ายขึ้น สามต้องวางได้ ต้องรู้จักวางบ้าง เวลากินเวลานอนก็อย่าเอาเรื่องการเมืองมาเก็บให้รกสมอง นี่เป็นยาช่วยลดความเครียดในใจเรา

ส่วนยาที่จะช่วยแก้ปัญหาให้สังคมนั้น อาตมาก็ยังเชื่อว่าการแก้ปัญหาด้วยสติปัญญา และเมตตาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าถ้าเราใช้อารมณ์ในการแก้ปัญหา มันจะไม่มีทางแก้ปัญหาได้เลย มีแต่จะทำให้ปัญหามากขึ้น อาตมาเชื่อด้วยว่าจะต้องใช้สันติวิธี ไม่ทำร้ายกันทั้งด้วยการกระทำและด้วยวาจา เรื่องที่สองจะต้องพยายามใช้ความดีเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้ เพราะว่าศัตรูของเราไม่ใช่คน ศัตรูของเราก็คือ ความโกรธ ความเกลียด และความเห็นแก่ตัว

พระพุทธเจ้าตรัสว่า เอาชนะความชั่วด้วยความดี เอาชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ เอาชนะคำเท็จด้วยความจริง เราต้องใช้ธรรมเหล่านี้เพื่อเอาชนะศัตรูที่อยู่ในใจเขา ตรงนี้เริ่มต้นด้วยการฟังซึ่งกันและกัน และร่วมมือกันทีละนิดทีละหน่อย ตอนแรกอาจจะยังไม่สามารถร่วมมือกันได้ในเรื่องใหญ่ๆ ก็ต้องพิสูจน์ซึ่งกันและกันด้วยการทำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และดูว่าอีกฝ่ายเขาจริงใจไหม พอเราเห็นความจริงใจของอีกฝ่ายมากขึ้น เราก็สะสมความรู้สึกดีๆ มีความไว้ใจกันมากขึ้น สักวันหนึ่งเราก็จะร่วมมือกันทำเรื่องใหญ่ๆ ได้

a day BULLETIN ถ้ามองกันที่หน้าที่ของสื่อในสังคมตอนนี้ วิธีที่ดีที่สุดในการนำเสนอข่าวสารในความคิดของท่านคืออะไร

ตอนนี้สื่ออยู่ในฐานะที่วางตัวลำบากมากนะ เพราะว่าคนแยกเป็นสองฝ่าย สื่อก็แยกด้วย เพราะการแยกมันอาจจะเซฟกว่า เอียงแล้วมันสบายกว่า แต่ถ้าคุณเป็นกลางคุณจะลำบาก เพราะจะถูกด่าทั้งสองฝ่าย ยกตัวอย่างสื่อโทรทัศน์บางช่อง ที่เอาเสื้อแดงมาออกรายการสนทนา ก็จะโดนสีเหลืองด่า พอคุณเอาสีเหลืองออกรายการ คุณก็โดนเสื้อแดงด่า มีบางรายการที่อาตมาคิดว่าก็ใช้ได้ มีการเชิญคนสีนั้นสีนี้มาออกรายการ แต่กลายเป็นว่าโปรดิวเซอร์ถูกด่าว่าทำไมเชิญคนนั้นคนนี้มาพูด โปรดิวเซอร์ทนไม่ได้กับการถูกด่า ก็ออกมาโต้ ก็เลยวุ่นวายกันใหญ่

อาตมาคิดว่า ตอนนี้สื่อวางตัวลำบาก ในการที่จะพยายามรักษาจรรยาบรรณ รักษาความเป็นกลาง หรือมีความเที่ยงตรงในแง่ของข้อมูล แต่ไม่ว่าจะลำบากอย่างไรก็ต้องทำ เหมือนกับเครือข่ายสันติวิธีที่อาตมากับเพื่อนๆ ทำอยู่ก็วางตัวลำบาก อาตมาแนะเพื่อนๆ ว่า ควรทำสองอย่าง หนึ่ง ทนคำด่าว่า สองอย่ากลัวเปลืองตัว ใครเขาจะว่าเราเป็นขาวเนียน แดงแอ๊บ เหลืองจำแลง ก็ว่าไป เราควรทนให้ได้ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับผลที่จะเกิดขึ้นกับส่วนร่วม เรายอมทนให้เขาด่าแต่ว่าเราช่วยทำให้บ้านเมืองสงบมากขึ้น มีความร้อนแรงน้อยลง อาตมาคิดว่าคุ้ม

a day BULLETIN แต่สื่อเขาก็มีวิธีคิดแบบหนึ่งที่บอกว่าไม่มีหรอกสื่อที่เป็นกลางมันต้องเลือกข้างไปเลย เลือกความถูกต้อง

ถ้านักเลงดินแดง กับนักเลงประตูน้ำตีกัน คุณจะเลือกใคร คุณต้องเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไหม ในกรณีนี้ การเชียร์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมันไม่ถูกใช่ไหม ในกรณีนี้เราเป็นกลางได้ไหม ทำไมเราจะต้องไปเชียร์นักเลงประตูน้ำ ทำไมเราจะต้องไปเชียร์นักเลงดินแดง ประเด็นก็คือความเป็นกลาง ไม่เป็นฝักฝ่ายใด สามารถเกิดขึ้นได้ในบางสถานการณ์ ถ้าโจรกับโจรมันตีกันคุณจะเลือกข้างทำไม

อาตมาไม่ได้หมายความว่าตอนนี้รัฐบาลกับนปช.เป็นโจรนะ ไม่ได้พูดอย่างนั้น แต่หมายความว่าในหลายสถานการณ์ ในหลายกรณีเราก็เป็นกลางได้ อาตมาคิดว่าความเป็นกลางอีกอย่างคือเป็นกลางแบบผู้พิพากษา เป็นกลางแบบกรรมการฟุตบอล คือไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่พร้อมจะให้ลงโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถ้าทำผิด ความเป็นกลางไม่ได้หมายความว่าคุณลอยตัวเหนือความขัดแย้ง แต่ความเป็นกลางหมายความว่าคุณไม่จำเป็นต้องฝักใฝ่ฝ่ายใดก็ได้ แต่คุณสามารถจะตัดสินว่าใครผิดได้โดยอาศัยกติกา หรือกฎหมาย และความเที่ยงธรรม

อาตมาคิดว่าถ้าเป็นกลางแบบลอยตัว ก็ไม่ถูกต้อง คือฉันไม่ยุ่งอะไรเลย ฉันไม่ให้ความเห็น แต่ถ้าไม่เลือกข้าง แล้วให้ความเห็น หรือชี้ผิดชี้ถูก อย่างนี้ทำได้ เหมือนผู้พิพากษาก็ไม่เลือกข้าง แต่ผู้พิพากษาสามารถตัดสินว่าใครผิด ผิดเพราะอะไร อย่างนี้อาตมาคิดว่านี่คือความเป็นกลางที่ควรจะเป็น ในการแข่งระหว่างแมนยูฯ กับลิเวอร์พูล กรรมการอาจจะเชียร์ทีมใดทีมหนึ่งอยู่ลึกๆ ในใจก็ได้ แต่ว่าเมื่อเวลาตัดสินคุณต้องตัดสินด้วยความเที่ยงธรรม คุณพร้อมจะให้ใบแดงทีมแมนยูฯ หรือทีมลิเวอร์พูลก็ได้ แม้คุณจะรักทีมแมนยูฯ คุณก็ต้องพร้อมจะให้ใบแดงถ้าเขาทำผิด แต่ตอนนี้มันกลายเป็นว่าถ้าฉันเลือกข้างใดแล้ว หากฝ่ายนั้นทำผิด ฉันก็ไม่วิจารณ์ ส่วนฝ่ายตรงข้ามถึงแม้จะทำถูก ฉันก็ไม่ชม จะต้องจับผิดอย่างเดียว

ตอนนี้มันเป็นอย่างนี้ แต่ถึงจะเป็นกรรมการที่ตั้งใจเป็นกลาง แต่ด้วยความเป็นปุถุชน กรรมการก็อาจจะตัดสินผิดได้ แต่อย่างน้อยต้องพยายามทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ด้วยการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และพร้อมจะให้ใบแดงกับทุกฝ่าย ถ้าทำผิด เราต้องมั่นคงอยู่ในกติกา เป็นผู้รักษากติกาไว้ นั่นคือหน้าที่ที่ควรจะเป็น


------------------------------

จาก เว็บ

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >