หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow โครงการศึกษาความจริงและร่วมชีวิต ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยแสงธรรม
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 44 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

โครงการศึกษาความจริงและร่วมชีวิต ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยแสงธรรม พิมพ์
Wednesday, 04 November 2009
โครงการศึกษาความจริงและร่วมชีวิต (Exposure - Immersion)

Image ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยแสงธรรม
อ.สามพราน จ.นครปฐม
ระหว่างวันที่ 10-17 ตุลาคม พ.ศ.2552


เมื่อวันที่ 10-17 ตุลาคม 2552 คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.) ร่วมกับ วิทยาลัยแสงธรรม อ.สามพราน จ.นครปฐม จัดโครงการศึกษาความจริงและร่วมชีวิต (Exposure - Immersion) ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จำนวน 28 คน เป็นกิจกรรมการฝึกปฏิบัติด้านสังคม ช่วงปิดภาคเรียนเดือนตุลาคม ของทุกๆ ปี ครั้งนี้ นักศึกษาทั้ง 28 คน มีโอกาสลงพื้นที่และร่วมชีวิตกับชุมชนชายขอบสังคม ที่เป็นแรงงานต่างด้าวในกิจการก่อสร้าง และลูกเรือประมง กลุ่มชาติพันธุ์มอแกน และพี่น้องชาวมุสลิม ใน 3 จังหวัดภาคใต้ คือ จ.ระนอง จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต

สองบทความข้างล่างนี้เป็นการสะท้อนมุมมองของนักศึกษา ที่ได้มีโอกาสไปศึกษาความจริง และร่วมชีวิตกับชุมชนชาวมอแกน ที่เกาะเหลา จ.ระนอง และสัมผัสชีวิตกับแรงงานประมง จ.ภูเก็ต



Image

 

3 วันที่เกาะเหลานอก กับชาวมอแกน


Imageผมเคยได้ยินคำว่าชาวมอแกน แต่ก็ไม่ได้สนใจอะไรมากมายนักว่าเป็นใคร เขาจะใช้ชีวิตอย่างไร แต่เป็นเพราะการไปฝึกภาคปฏิบัติ 4 เรื่องสังคม กับงานอภิบาลและแพร่ธรรมที่วิทยาลัยแสงธรรมจัด แล้วผมก็ได้เลือกไปที่เกาะเหลานี่แหละที่ทำให้ทัศนคติของผมได้เปลี่ยนไป และอยากจะรู้ว่าจริงๆ แล้วชาวมอแกนเป็นใครกันแน่ และใช้ชีวิตอยู่ในแต่ละวันอย่างไร และผมก็ได้คำตอบซึ่งอาจจะไม่ลึกซึ้งมากนักจากการที่ไปอยู่กับพวกเขา ใช้ชีวิตอยู่กับพวกเขาเป็นเวลา 3 วัน แม้ว่าระยะเวลาจะไม่มาก แต่ว่าก็ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องคุณค่า และศักดิ์ศรีของชีวิตมนุษย์

ผมเดินทางไปเกาะเหลาพร้อมกับเพื่อนอีก 2 คน บราเดอร์วีรยุทธ เกียรติสกุลชัย (จากอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ) และบราเดอร์ เจษฏา แซ่ซี (จากสังมณฑลนครสวรรค์) โดยมีคุณพ่อสุวัฒน์ เหลืองสอาด พร้อมกับเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ 2 ท่าน เดินทางไปส่งพวกเราถึงเกาะเหลาเลย พร้อมกับพวกเราก็มีเจ้าหน้าที่ของศูนย์เมอร์ซี่อีก 3 ท่านที่ไปทำงานที่เกาะเหลาทุกวัน นำโดยคุณวิรัช สมภพศุภนาถ ซึ่งก็เป็นพี่เลี้ยงของพวกเราด้วยในตลอดเวลา 3 วัน

Imageชุมชนเกาะเหลา จ.ระนอง เป็นชุมชนที่เป็นที่อยู่ของพี่น้องชาวมอแกน มีการตั้งชุมชนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เป็นของนายกิม เหลียง อยู่ซ้วน ต่อมานายกิมเหลียงเสียชีวิต ลูกเขยคือ นายทวี รอดไพฑูรย์ และหลาน คือนายถนัด อยู่ซ้วน ได้เข้ามาอ้างสิทธิ์ในที่ดิน เนื่องจากที่ดินดังกล่าวมี น.ส. 3 ต่อมานายทวี ได้ชวนพี่น้องชาวมอแกนในหมู่เกาะสุรินทร์เข้ามาอาศัยอยู่ด้วยในพื้นที่บริเวณหน้าหาด ปัจจุบันมีพี่น้องชาวมอแกนอาศัยอยู่ จำนวน 50 ครอบครัว 280 คน (ตัวเลขมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเนื่องจากการอพยพย้ายที่ของชาวมอแกน)

เวลาที่นั่งเรืออยู่ก็มีจินตนาการถึงชาวมอแกนว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ มีจินตนาการมากมายที่เข้ามาในสมอง แต่เมื่อใกล้จะถึงเกาะเหลาก็เห็นชาวบ้านมายืนรอกันมากมาย ตอนแรกก็ไม่รู้ว่ามายืนรอเราทำไม หรือรอคนอื่นๆ แต่เมื่อเรือจอดก็พบคำตอบว่า พวกเขามายืนรอเรือที่เรานั่งมา เพื่อมาช่วยยกของซึ่งเป็นอาหาร และของใช้ที่เจ้าหน้าที่ของศูนย์เมอร์ซี่จะขนมาทุกวันเพื่อเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารกลางวันเลี้ยงเด็กๆ บนเกาะนี้ ซึ่งถือว่าเป็นอาหารที่พวกเด็กๆ อิ่มที่สุดก็ว่าได้ เจ้าหน้าที่ของศูนย์เมอร์ซี่จำนวน 3 คน ซึ่งมาอยู่ที่เกาะเหลา และเปิดศูนย์เด็กปฐมวัยก็เพื่อช่วยเตรียมเด็กให้ได้รับการศึกษาพื้นฐานก่อนที่จะไปเรียนที่โรงเรียน และช่วยดูแลด้านสุขอนามัยของเด็กๆ ด้วย เพราะเนื่องจากสภาพความเป็นอยู่แบบง่ายๆ และมีความยากลำบากเรื่องน้ำจืด ชาวมอแกนจึงไม่ค่อยได้อาบน้ำ และไม่มีห้องสุขาที่ถูกสุขลักษณะ เวลาจะทำธุระก็ง่ายๆ เข้าป่าไป จึงเป็นสาเหตุให้เด็กๆ ที่นี่เป็นโรคผิวหนังกันมากมาย และตั้งแต่ศูนย์เมอร์ซี่เข้ามาช่วยเหลือ เด็กๆ ก็ได้รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ มีพัฒนาการเติบโตดีขึ้นจากเมื่อก่อนที่ตัวผอม ขาดสารอาหาร และก็ได้รับโอกาสในการศึกษาด้วย เพราะฉะนั้นเด็กๆ รุ่นใหม่ๆ จะมีโอกาสเรียนหนังสือ และได้รับการอบรมด้วย คุณวิรัช บอกกับพวกเราว่า "เราคงไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยน หรือเรียกร้องอะไรจากคนที่เป็นผู้ใหญ่ได้มากมาย เพราะวิถีชีวิตของพวกเขาเป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้เขาเป็นแบบนั้น ซึ่งเราคงจะไปเปลี่ยนได้ยาก แต่การที่เราเริ่มต้นที่เด็กๆ เยาวชน เพราะว่าเขายังสามารถที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีแนวคิดใหม่ๆ ที่สามารถพัฒนาชุมชนให้เจริญขึ้นได้ และเด็กๆ เยาวชนพวกนี้แหละ คือความหวังของเรา"

Imageวันแรกที่พวกเราไป พวกเราได้มีโอกาสที่จะจัดกิจกรรมสันทนาการให้กับเด็กๆ ร่วมเล่นกับพวกเขา ทำให้พวกเราได้สัมผัสถึงความไร้เดียงสาของเด็กๆ ที่แสดงออกมาด้วยเสียงหัวเราะ ใบหน้า และรอยยิ้มที่บริสุทธิ์ แม้ว่าร่างกายจะไม่ค่อยสะอาดก็ตาม เด็กๆ สนุกสนาน และพร้อมที่จะปฏิบัติตามสิ่งที่เราบอกทุกอย่าง ซึ่งเปรียบเหมือนผ้าขาวที่ให้พวกเรา และคนอื่นๆ แต่งเติมสีสันให้ดูงดงาม จึงทำให้ผมพยายามคิดถึงหน้าที่ของเราซาเลเซียน ที่พยายามส่งเสริม และหาโอกาสให้เยาวชนสามารถที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองในทุกมิติของชีวิตมนุษย์ เด็กๆ ที่เกาะเหลานี้ไม่มีโอกาสมากมายที่จะพัฒนาตนเอง ซึ่งจากการที่ได้อยู่กับพวกเขา ได้พูดคุย เด็กๆ หลายคนมีความสามารถ และมีสติปัญญาที่ดี แต่ขาดโอกาสที่จะพัฒนาในการทำให้พระพรที่พวกเขามีได้แสดงออกมาให้ผู้อื่นได้รับทราบว่า แม้ว่าพวกเขาจะอยู่บนเกาะ แต่ก็มีศักดิ์ศรี และสิทธิเหมือนกับเด็กๆ และเยาวชนทั่วๆ ไป

Imageวันที่สอง และวันที่สามที่พวกเราอยู่ เราก็ไม่ได้จัดกิจกรรมให้เด็กๆ เพราะว่ามีกลุ่มอื่นๆ ที่มาจัดค่ายให้กับเด็กๆ จึงมีโอกาสให้เราได้สร้างอนุสรณ์ของพวกเราไว้กับเกาะเหลา ด้วยการทำป้ายชื่อเกาะเหลานอก มอแกน และป้ายอื่นๆ ด้วย นอกจากนั้นยังมีโอกาสไปคุยกับชาวบ้าน และได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขามากขึ้น โดยผมพยายามมองว่าพวกเขามีความยากลำบาก และอุปสรรคอะไรบ้างที่ต้องพบเจอ

ผมได้ทำการไตร่ตรองร่วมกับเพื่อนอีก 2 คน ถึงความยากลำบากของพวกเขา ที่เกาะเหลานอกนี้ เป็นชาวมอแกนแท้ๆ ปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญ และมีความหวังที่จะดีขึ้น คือเรื่องการที่พวกเขาไม่มีสัญชาติ พวกเขายังไม่มีสัญชาติ จึงเป็นความยากลำบากในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการพบปะกับคนอื่นๆ การเดินทาง การเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ฯลฯ เพียงเพราะแค่พวกเขาไม่ได้รับสัญชาติ จึงทำให้ดูเหมือนว่าสิทธิของความเป็นมนุษย์คนหนึ่งถูกลดทอนลงไป ทั้งๆ ที่เขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่สามารถมีสิทธิเหมือนกับคนอื่นๆ ซึ่งในเรื่องนี้ก็กำลังดำเนินการอยู่ และพวกเขาก็รอคอยด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่งพวกเขาจะลืมตาอ้าปากได้เหมือนกับคนอื่นๆ

Imageผู้หญิงส่วนมากที่เกาะเหลานี้จะไม่มีอาชีพอะไร นอกจากไปเก็บหอยตามชายหาดเพื่อมาทำเป็นอาหารเท่านั้น หรือถ้าเก็บได้มากหน่อยก็เอาไปขาย ส่วนผู้ชายก็มีอาชีพออกเรือหาปลา จะเห็นได้ว่าเยาวชนชายอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ไม่ค่อยจะมีมากมาย เพราะว่าพวกเขาจะรับจ้างไปดำปลิง หรือไประเบิดปลา ซึ่งมีนายจ้างที่เป็นทั้งคนไทย และคนพม่ามาติดต่อว่าจ้าง แต่ค่าจ้างที่พวกเขาได้นั้นก็น้อยมาก ไม่คุ้มค่ากับการเสี่ยงชีวิต สังเกตได้จากวันหนึ่งก็มีเรือของนายจ้างมารับเยาวชนพวกนี้ เวลาที่พวกเขาไปก็มีสมาชิกในครอบครัว และสมาชิกในหมู่บ้านออกมาส่งพวกเขาพร้อมกับใบหน้าแห่งความโศกเศร้า เพราะไม่รู้ว่าบุคคลที่ตนรัก ลูก สามี หรือเพื่อนของตนจะได้กลับมาหรือเปล่า หรือกลับมาครบ 32 หรือเปล่า เพราะว่าการออกไปแต่ละครั้งบางครั้งก็กลับมาไม่ครบ กลับมาเป็นซากศพแช่แข็ง หรือไม่ก็พิการ จะมีส่วนน้อยที่กลับมาครบสมบูรณ์ มิหนำซ้ำบางครั้งยังถูกโกงค่าจ้าง ประเภทที่ว่าให้ค่ามัดจำ 1,000 บาท แล้วหลังจากทำงานเสร็จจะให้อีก 2,000 บาท แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ บางครั้งก็ได้ บางครั้งถูกโกงให้ไม่ครบ บางครั้งก็ทำไปฟรีๆ ไม่ได้อะไรเลย นี่แหละคือความน่าสงสารทำงานเสี่ยงเพื่อจะได้เงินอันน้อยนิดมาจุนเจือครอบครัว แต่ก็ไม่ได้ การถูกเอารัดเอาเปรียบนี้ก็จะมีอยู่เรื่อยไป ตราบใดที่ชาวมอแกนยังไม่มีทางเลือกที่จะทำอาชีพที่ดีกว่า และการไม่ได้รับการศึกษาก็เป็นประเด็นที่สำคัญในการถูกหลอก และถูกเอารัดเอาเปรียบได้มาก

นอกจากปัญหาดังที่กล่าวมาแล้ว ในเรื่องของศีลธรรมก็ยังมีจุดที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ การที่ชาวมอแกนเปลี่ยนสามี หรือภรรยานั้น สำหรับพวกเขาดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่มันขัดกับความถูกต้องทางศีลธรรม อีกทั้งยังมีการตัดสินแบบตามอำเภอใจ เช่นเมื่อใครทำผิด ฉันจะลงโทษอย่างไรก็ได้ ไม่มีใครมาสนใจหรอก

Imageผมคิดว่าปัญหาเหล่านี้เราคงไปโทษว่าเขาผิดก็ไม่ได้ แต่มันเป็นวิถีชีวิตที่ดำเนินต่อไปอย่างเป็นพลวัต ตราบใดที่ยังไม่มีการอบรมด้านศีลธรรม การให้พวกเขาได้รับการศึกษา และมีโอกาสที่เอื้อต่อการพัฒนาชีวิต พวกเขาก็คงดำเนินชีวิตต่อไปแบบนี้

เมื่อมามองดูเด็กๆ และเยาวชนที่นี่ อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเป็นเด็กฉลาด แต่ในเรื่องของสุขอนามัยนั้นยังต้องได้รับการช่วยเหลืออยู่เรื่อยๆ เด็กที่นี่ไม่มีรองเท้าใส่ การที่เขามีเสื้อผ้าใส่ก็เพราะว่ามีคนมาบริจาคให้ แต่เมื่อมีใส่แล้วก็ต้องสอนให้พวกเขารู้จักซักให้สะอาด และรักษาของด้วย สรุปแล้วก็คือต้องช่วยสอนพวกเขาทุกอย่างทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ เพราะว่าพ่อแม่ของพวกเขาก็ไม่รู้ว่าจะต้องเลี้ยงลูกอย่างไร มีครั้งหนึ่งผมเห็นเวลาที่แม่ชาวมอแกนคนหนึ่งให้ลูกดูดนมของตน เธอก็เดินเหมือนไม่มีลูกอยู่กับเธอ ลูกอยากกินนมก็ต้องหาวิธีการที่จะอยู่บนบ่า และดูดให้ได้ กล่าวคือให้เอาตัวรอดเอง เด็กๆ ที่มาเรียนที่ศูนย์เด็กปฐมวัย ก็ได้รับประทานอาหารเที่ยงอย่างอิ่มหนำ แต่ไม่รู้ว่ามื้อเช้า กับมื้อเย็นจะเป็นอย่างไร เพราะพ่อแม่อาจจะไม่ค่อยดูแลเท่าที่ควร นี่ก็อีกแหละคงไม่ได้ผิดที่พวกเขา แต่เพราะว่าไม่มีใครที่จะไปบอกเขา ไปสอนเขาให้รู้จักรัก รู้จักทำ รู้จักเลือก รู้จักเป็น รู้จักมีในสิ่งที่ถูกต้อง และไม่ผิดศีลธรรม หลายคนจึงหวังว่าเด็กรุ่นใหม่ๆ บนเกาะเหลานี้ ที่กำลังเติบโตขึ้นไปจะสามารถเปลี่ยนโฉมหน้าของชาวมอแกนให้ดียิ่งขึ้น ให้สมกับการเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี และมีคุณค่าตามภาพลักษณ์ของพระเจ้าที่ทรงสร้างพวกเขามาด้วยเช่นกัน

Imageเมื่อผมมองดูเด็กๆ เหล่านี้ที่ไร้เดียงสา สนุกสนาน หัวเราะ ร่าเริง ผมก็คิดในใจว่า ถ้าพวกเขาเติบโตขึ้น แล้วยังสามารถที่จะร่าเริงแบบนี้ได้อยู่อีก มันคงจะเป็นภาพที่งดงามมาก เป็นการสื่อว่าพวกเขาคงได้พัฒนาศักยภาพชีวิตของตนเองให้มีชีวิตการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ภูมิใจในบ้านถิ่นกำเนิด และรากเหง้าของตน แต่ในเวลาเดียวกันก็มีความภาคภูมิใจในความเป็นมนุษย์ และความเป็นคนไทยอย่างเต็มเปี่ยมเหมือนกับคนทั่วๆ ไป

จากประสบการณ์ที่ผมได้ไปสัมผัสมา แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ยาวนาน แต่ผมก็ได้เรียนรู้อะไรมากมายเกี่ยวกับสังคม หรือชุมชนหนึ่งที่หลายคนมองข้ามไป หรือไม่อยากที่จะมอง มันทำให้ผมมีกำลังใจมากขึ้นในการที่จะเผชิญกับความยากลำบาก เพราะตราบใดที่เรารู้สึกว่าลำบาก เป็นทุกข์ ก็ยังมีคนที่เป็นทุกข์กว่าเรา การที่มีคนไปช่วยเหลือพวกเขาก็เป็นสิ่งที่ดีไม่ว่าจะเป็นอาหาร สิ่งของ ฯลฯ แต่ผมคิดว่าเราควรช่วยเหลือเขาให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืนมากกว่าสิ่งของที่มีวันหมด ช่วยเขาให้พัฒนาตัวตนของเขาให้ดีขึ้น มีความสามารถมากขึ้น เป็นคนดีมากขึ้น มีศีลธรรมมากขึ้น มีความรู้มากขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นการช่วยเหลือพวกเขาให้เป็น ไม่ใช่แค่มีอย่างเดียว

Imageผมขอบคุณพระเจ้าในช่วงเวลาที่ได้รับประสบการณ์นี้ ทำให้ผมเล็งเห็นตัวตนของผู้ที่ถูกกดขี่ข่มเหงจากสังคม ผู้ที่ได้รับแต่ความ อยุติธรรม และผู้ที่ถูกกีดกันสิทธิในฐานะประชากรคนหนึ่งที่ต้องการมีชีวิตที่ดีเหมือนคนอื่นเขาบ้าง ทำให้ผมได้เล็งเห็นอีกมุมหนึ่งของผู้ที่เดือดร้อนที่ไม่ได้อยู่ในเมือง แล้วเวลาเดือดร้อนหรือได้รับความทุกข์ก็มีโฆษณามากมายให้ไปช่วย แต่เป็นกลุ่มบุคคลที่หลายคนมองข้าม ถูกลืม มองไม่เห็น หรือไม่อยากที่จะมอง และจุดนี้เองพระศาสนจักรคาทอลิกของเราก็ได้เน้นย้ำ และพยายามที่จะช่วยเหลือกลุ่มบุคคลเหล่านี้ พระศาสนจักรเป็นของคนยากจน และอยู่เคียงข้างคนยากจนเสมอ

ขอขอบคุณอาจารย์อัจฉรา สมแสงสรวง และเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ ที่ได้ทำให้พวกเราเข้าใจบทบาทของชาวสะมาเรียผู้ใจดีซึ่งเป็นปฐมบทต่อพันธกิจด้านสังคมด้วย


(รายงานโดยบราเดอร์อนุสิทธิ์ จันทร์เพ็ญ)





Image

 


บันทึกการฝึกภาคปฏิบัติปีสี่


Imageเป็นอีกปีหนึ่งที่เหล่าบรรดานักศึกษาชั้นปีที่สี่ได้มีโอกาสไปสัมผัสชีวิตในการฝึกภาคปฏิบัติ ณ ภาคใต้ การฝึกครั้งนี้ได้เริ่มต้นด้วยการปฐมนิเทศสองครั้ง ครั้งแรกเป็นการปฐมนิเทศเพื่อนัดแนะ ทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมเบื้องต้นที่วิทยาลัยแสงธรรมก่อนที่จะออกเดินทาง และการปฐมนิเทศอีกครั้งเริ่มขึ้นเมื่อเราไปถึงศูนย์สังคมพัฒนาบ้านพรตะวัน จ.พังงา ซึ่งเป็นการเจาะลึกลงรายละเอียดในพื้นที่ที่พวกเราต้องลงไปสัมผัสโดยตรง ใช้เวลากันเกือบหนึ่งวันเพื่อทำกิจกรรมนี้ หลังจากนั้นเราจึงแยกย้ายกันออกไปตามที่ต่างๆ ทันที

มาถึงศูนย์สังคมที่ภูเก็ตเวลาประมาณสี่โมงเย็น พี่วิโรจน์ (หัวหน้าฝ่ายสังคม) ผู้ซึ่งได้ขับรถมาส่งพวกเราที่ภูเก็ต ก็ได้นำพวกเราไปพบกับบรรดาคุณแม่ลูกอ่อนประมาณ 4 คน ที่พักรวมกันอยู่ในบ้านของซิสเตอร์คณะศรีชุมพาบาล ส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า พวกเราได้รับฟังงานที่ซิสเตอร์ได้ทำและพูดคุยกับบรรดาคุณแม่ มีชื่อต่าง ๆ ดังนี้ พี่ดา พี่ม่วย พี่เอ้ และพี่เสก คุยกันรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่ก็ถือว่าการเรียนรู้ไม่มีสิ้นสุด โดยไม่อายผมก็ได้พยายามพูดทักทายเป็นภาษาพม่า คำที่ได้เคยเรียนรู้มาจากพนักงานที่แสงธรรม และก็พยายามถามล่ามหรือถามบรรดาคุณแม่ซึ่งเป็นคนพม่าImageโดยตรงเลย ก็ปรากฏว่าได้ผลดีเกินคาด เสียงหัวเราะเริ่มเกิดขึ้นจากการที่ผมพูดถูกบ้างผิดบ้าง (แต่ผิดเยอะกว่าถูก) สังเกตได้ว่าทุกคนรู้สึกชื่นชมและตั้งหน้าตั้งตาลุ้นกับเราเวลาจะพูดภาษาพม่าออกมาสักคำหนึ่ง ทำให้คิดได้ว่า การลงสู่วัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอันดับแรกๆ สำหรับการทำงานด้านสังคม เรียกได้ว่าเป็นลูกบิดประตูเปิดจิตเปิดใจของคนๆ หนึ่งสู่อีกคนหนึ่งเลยทีเดียว "พี่น้อย" เจ้าหน้าที่ศูนย์สังคม ผู้ซึ่งได้ทำหน้าที่เป็นล่ามแปลภาษาพม่าให้กับเรา ได้เป็นตัวอย่างที่ดีมากในการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องของภาษา เธอสามารถพูดภาษาไทยและภาษาพม่าได้คล่อง แต่เธอไม่ใช่คนไทยและไม่ใช่คนพม่า เธออยู่อีกเผ่าหนึ่งซึ่งยังไม่ได้รับสัญชาติไทย แต่ด้วยความที่เธอต้องการช่วยงานสังคม เธอจึงเริ่มเรียนภาษาพม่า ซึ่งเรียกได้ว่าพูดพม่าได้คล่องแคล่ว ติดต่อสื่อสารได้ดีเยี่ยม ถึงขนาดที่ว่าสามารถทำให้คนพม่าไว้ใจ และยอมให้พวกเราเข้ามาสัมผัสชีวิตกับพวกเขาได้ พี่น้อยบอกเราว่า "ยิ่งเราพูดภาษาเขาได้ เขายิ่งรู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกับเขา"

Imageพี่วิโรจน์ได้พาพวกเราไปต่อกันที่โรงเรียนแห่งหนึ่งของคณะสติ๊กมาติน เพื่อไปพบปะเยี่ยมเยียนคุณพ่อเฟร็ด คุณพ่อได้ให้แนวทางในการทำงานสังคม คือ เราต้องไม่ลืมว่า หน้าที่หลักของเราคืออะไร สิ่งนั้นคือ "งานคำสอน" ถ้าเราสามารถทำงานได้สำเร็จทุกอย่างแต่เราไม่สอนคำสอน เราก็ไม่ควรเป็นพระสงฆ์ อีกประโยคหนึ่งที่ประทับใจ คือ "เป็นพระสงฆ์ต้องลำบาก เราต้องเตรียมตัวอย่างดี ถ้าอยากสบาย ก็ไม่ต้องมาเป็นพระสงฆ์" ทั้งสองประโยคนี้เรียกได้ว่าโดนใจพวกเราจริงๆ เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากนักสังคมสงเคราะห์ทั่วๆ ไป หากเราไม่ต่างอะไรจากเขา เราก็คงไม่ต้องมาเป็นพระสงฆ์ ไปเป็นนักสังคมสงเคราะห์ สิ่งนี้เน้นย้ำพวกเราอย่างมากในโอกาสปีพระสงฆ์ และหากพระสงฆ์คนใดได้ยิน คงเป็นการกะเทาะจิตใจให้ได้กลับมาคิดมองย้อนดูตัวเองไม่มากก็น้อย

เริ่มออกเดินทางอีกครั้ง คราวนี้นั่งรถทยอยไปส่งเพื่อนๆ รอบเกาะ ตามบริเวณที่แต่ละคู่จะได้ไปสัมผัสชีวิตแรงงานพม่า บางคนต้องไปอยู่กับแรงงานพม่าในแคมป์ก่อสร้าง ส่วนตัวผมต้องออกไปสัมผัสชีวิตชาวประมง ก็กลับมาพักผ่อนเอาแรงกันก่อนที่ศูนย์ก่อนที่จะย้ายที่นอนไปอยู่บนเรือที่ล่องไปกลางทะเล

Imageเช้าวันรุ่งขึ้น เริ่มจัดแจงเก็บสัมภาระเตรียมไปลงเรือด้วยความตื่นเต้น พวกเราสี่คนพร้อมกับพี่ๆ เจ้าหน้าที่อีกสี่คน ได้ไปรอลงเรือกันตั้งแต่แปดโมงเช้า ยืนรออยู่นานแสนนานก็ยังไม่มีวี่แววว่าเรือลำไหนที่จะออก พอไปถามคนที่ร้านค้า จึงได้รู้ว่าเรือหาปลานั้นจะออกกันตอนบ่ายแล้วกลับอีกทีในตอนเช้าของอีกวันหนึ่ง ทำเอารอเก้อเลย พวกเราจึงกลับไปนอนเอาเรี่ยวเอาแรงกันอีกยก คราวนี้บ่ายสองก็มารอลงเรือใหม่อีกครั้ง ได้ลงสมใจอยากแล้ว ก้าวลงเรือไปพร้อมกับความคิดที่ถูกสื่อต่างๆ ใส่สมองมาว่า ชาวประมงนั้นน่ากลัว อาจมีการใช้กำลังเกิดขึ้นหากไม่พอใจกัน และอาจถึงขั้นฆ่าเลยก็มี ฯลฯ พอลงเรือไปเราสองคนก็เกาะติดไต้ก๋งแน่นเลย ขึ้นไปอยู่บนชั้นสามห้องบังคับการของไต้ก๋งเรือเสียนี่ สภาพเรือประมงนั้นค่อนข้างใหม่ มีสามชั้น ชั้นบนสุดจะเป็นห้องบังคับการของไต้ก๋งเรือ ผู้มีหน้าที่ดูทิศทางที่จะออกหาปลา และทำหน้าที่สั่งลงอวนจับปลาในที่ที่คิดว่าปลาชุม ชั้นที่สองรองลงมาจะเป็นห้องบังคับเรือ ผู้ที่ทำหน้าที่บังคับเรือนี้เป็นคนไทย เรียกตำแหน่งนี้ว่า "นายท้าย" ทำหน้าที่บังคับเรือตามคำสั่งของไต้ก๋ง และชั้นที่สามก็คือชั้นล่างของเรือ เอาไว้สำหรับคัดแยกปลาและกักเก็บปลาที่จับขึ้นมาได้ ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่หรือเรียกได้ว่าทั้งหมดเป็นชาวพม่า เพราะฉะนั้นเรือทั้งลำจะมีคนไทยอยู่เพียงแค่สองคนเท่านั้น คือ ไต้ก๋ง และนายท้ายเรือ ซึ่งจะถูกกำหนดให้เฉพาะคนไทยเท่านั้นที่จะปฏิบัติหน้าที่นี้

Imageช่วงเวลาที่อยู่บนเรือ ได้เรียนรู้วิถีชีวิต การทำงาน ของผู้ที่สังคมรู้จักในนามว่า "ชาวประมง" ทั้งสามกลุ่ม การพูดคุยซักถามนี้เปรียบเสมือนการ "เรียนรู้เขา" ก่อนที่เราจะเริ่มทำอะไรสักอย่าง เราควรที่จะรู้จักเขาให้ดีเสียก่อน ตัวผมได้พูดคุยกับไต้ก๋งเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะสามารถสื่อสารเป็นภาษาไทยได้และค่อนข้างเป็นคนใจดี ชีวิตของเขาเริ่มมาจากการเป็นคนงานจับปลาในเรือ ซึ่งไต้ก๋งส่วนใหญ่ก็จะไต่เต้ามาจากหน้าที่นี้ทั้งนั้น เขาบอกว่าสมัยก่อน คนงานที่จับปลาในเรือนั้นเป็นคนไทยทั้งหมด แต่ในสมัยนี้คนไทยไม่ค่อยมาทำอาชีพประมงกันแล้ว จึงเหลือแต่ชาวพม่า ประกอบกับการมีดวงที่เรียกว่าลงอวนที่ไหนปลาติดที่นั่น และการมีเพื่อนที่ดี เพราะในแต่ละสายอาชีพ เพื่อนจะเป็นคนช่วยผลักดันหรือสนับสนุนเราให้ประสบความสำเร็จ ไม่มีใครสามารถทำงานคนเดียวแล้วประสบความสำเร็จได้สูง ๆ ทุกคนต้องอาศัยเพื่อน การเป็นไต้ก๋งก็เช่นกัน หากเรามีเพื่อนที่ดี เขาก็จะช่วยบอกเราเมื่อเวลาที่บริเวณไหนมีปลา เราก็จะไปที่นั่นทันที ไม่มีการอิจฉากัน แต่เป็นการช่วยเหลือกันมากกว่า ทำให้มาคิดถึงชีวิตสงฆ์ บางทีเราชอบทำงานเป็นเหมือนวันแมนโชว์ (one man show) ซึ่งผลที่ออกมาอาจจะดีก็จริง แต่ก็คงต้องเหนื่อยมาก หรือบางครั้งอาจจะทำไม่ประสบความสำเร็จเลยก็ว่าได้ บางทีกลับเกิดการอิจฉากันอีกหากใครทำเด่นกว่าเรา ชีวิตของไต้ก๋งค่อนข้างที่จะสบายแต่ต้องอาศัยประสบการณ์สูง รายได้ดีมาก โดยจะได้รับเงินเดือนสิบเปอร์เซ็นต์ของเงินที่ได้จากการขายปลาในแต่ละเดือน

Imageชีวิตของนายท้าย หรือคนขับเรือ เป็นงานที่ไม่เหนื่อยอะไรมาก ไม่ต้องออกแรงหนักๆ เหมือนคนงานจับปลา เพียงแต่ขับเรือไปตามทิศทางที่ไต้ก๋งกำกับแค่นั้น นายท้ายจะมีผู้ช่วยขับเรืออีกหนึ่งคน เพื่อเอาไว้ผลัดเปลี่ยนเวรกัน ชีวิตของนายท้ายค่อนข้างที่จะสบาย ได้เงินเดือนดี ได้ถึงเดือนละหมื่นกว่าบาท

ส่วนชีวิตของแรงงานพม่าบนเรือประมง เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการข้อมูลมากที่สุด แต่กลับได้คุยน้อยที่สุด เป็นเพราะว่าอุปสรรคในเรื่องภาษา ชาวพม่าส่วนใหญ่ฟังภาษาไทยออก แต่ไม่สามารถพูดได้ อย่างไรก็ดี เพื่อไม่ให้เสียโอกาส ผมได้พยายามคุยกับหัวหน้าคนงานซึ่งเป็นคนพม่าคนเดียวบนเรือที่สามารถพูดภาษาไทยได้มากกว่าคนอื่นๆ ชีวิตของแรงงานพม่าไม่ได้ลำบากอย่างที่คิด เพราะเขาได้เงินเดือนประมาณเจ็ดพันถึงหนึ่งหมื่นบาท มีที่พักพร้อม (นอนบนเรือ) มีอาหารกินสามมื้อ ได้กินปลาตลอด (ก็อยู่แต่ในทะเล จับปลาทุกวัน) หากเจ็บป่วยก็ไปโรงพยาบาล แต่อาจจะเป็นเพราะเรือบริษัทที่มีโอกาสได้ไปสัมผัสนั้น เป็นบริษัทที่มีเจ้าของดี ไม่ได้เอาเปรียบหรือเบียดเบียนจนทำให้ลูกจ้างสูญเสียศักดิ์ศรีความเป็นImageมนุษย์ แต่กลับกัน ยังได้เอาใจใส่ดูแลลูกจ้างเป็นอย่างดีด้วย มีการจัดแจงทำบัตรต่างด้าวให้กับลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานพม่าด้วย โดยที่พวกเขาจะต้องจ่ายเงินเป็นจำนวน 4,500-5,500 บาท ต่อบัตรอายุสองปี ซึ่งบัตรนี้เรียกได้ว่ามีความสำคัญต่อพวกเขาเป็นอย่างมากเมื่อขึ้นจากเรือมาอยู่ในเมือง เพราะตำรวจที่ไม่ดีบางคน จะใช้สิ่งนี้เป็นจุดเอาเปรียบเรียกเก็บเงินจากชาวพม่า

ปัญหาของแรงงานพม่าที่ผมได้พบส่วนใหญ่หลังจากได้พูดคุยกับชาวพม่าเองก็ดี หรือจากการพูดคุยกับไต้ก๋งและนายท้ายที่เป็นคนไทยเอง คือ การที่ไม่รู้จักคิดเผื่ออนาคต ส่วนใหญ่ไม่มีการวางแผนชีวิต ดำเนินชีวิตเพียงแค่ทำงานหาเงินและพอขึ้นฝั่งก็ใช้เงินหมดไปวันๆ กับการพนันก็ดี กับการดื่มสุรา หรือการเที่ยวผู้หญิง แต่ก็มีแรงงานพม่าอีกส่วนหนึ่งที่มีความคิดและตั้งหน้าตั้งตาเก็บหอมรอมริบเงินที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงส่งกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง คนกลุ่มนี้ต่างมีความหวัง หวังว่าสักวันเขาจะกลับไปประเทศของตนเองหลังจากที่เก็บเงินได้มากพอ

Imageเหตุผลที่แรงงานพม่าเข้ามาทำงานในเมืองไทย ประการแรก ก็คือ รายได้ที่สูงกว่าการประกอบอาชีพในพม่า ประการที่สอง คือ การมีอิสรภาพในเรื่องทรัพย์สินของตนที่หามาได้มากกว่าที่พม่า รวมถึงอิสรภาพในทางการเมือง แต่ถึงการข้ามมาทำงานในฝั่งไทยจะดีกว่าการทำงานที่ประเทศพม่าเพียงไร พวกเขาก็ยังถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนที่คอยพยายามรีดไถจากพวกเขาอยู่ดี "การเดินทางกลับประเทศพม่า คนไทยจ่ายเพียงพันถึงสองพัน แต่ทำไมคนพม่าต้องจ่ายถึงสี่พันห้าพันบาท" เสียงจากพี่คี หัวหน้าแรงงานพม่าในเรือประมง

ประสบการณ์ทั้งหมดที่ผมได้รับจากการเดินทางลงมาสัมผัสชีวิตชาวประมง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานพม่า ในจังหวัดภูเก็ต ทำให้ผมได้เห็นถึงองค์พระเป็นเจ้าในตัวของทุกคน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนเป็นสิ่งที่เรามิสามารถละเลยหรือมองข้ามไปได้ เราจะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร หากเพื่อนพี่น้องของเรากำลังถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกกระทำอย่างไร้ความยุติธรรม ปฏิบัติอย่างไม่ใช่ "คน"

รักในพระคริสตเจ้า

ยอแซฟ ยุทธนา วิทยานุลักษณ์





ความคิดเห็น
เขียนโดย เปิด 2010-07-13 08:32:31
น่ารักม๊ากมากเลยค๊า 
แต่ภาพเห็นไม่ค่อยชัด 
เสียดายจัง.... ;) 8) อี้เอง
เขียนโดย เปิด 2009-11-07 13:05:14
บทความที่หนึ่งก็ดีนะครับ เป็นอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ลองอ่านกันดูนะครับ
^_^
เขียนโดย zeeyooh.multiply.com เปิด 2009-11-05 13:34:59
บทความที่สองสุดยอดเลยฮับบบบ

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >