หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow เสวนา ศึกษาสาสน์วันสันติภาพสากล ประจำปี 2552
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 102 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

เสวนา ศึกษาสาสน์วันสันติภาพสากล ประจำปี 2552 พิมพ์
Friday, 03 July 2009

 

ศึกษาสาสน์วันสันติภาพสากล "ขจัดความยากจน เพื่อสร้างสันติภาพ"

เสวนา "ถอดรหัสความยากจน : จนเองหรือถูกทำให้จน ?

คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.) จัด ศึกษาสาสน์วันสันติภาพสากล ของ สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ประจำปี 2552 ในหัวข้อ "ขจัดความยากจน เพื่อสร้างสันติภาพ" และเสวนา "ถอดรหัสความยากจน : จนเองหรือถูกทำให้จน?" เมื่อวันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมชั้น 3 ศูนย์พัฒนาบุคลากรอัสสัมชัญ ถ.สุขุมวิท 55 ซอยทองหล่อ 25 กรุงเทพฯ

Imageคุณพ่อวินัย บุญลือ, เอส.เจ. นำศึกษาสาสน์วันสันติภาพสากล โดยกล่าวว่า เนื้อหาในสาสน์มีประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะเอาชนะความยากจนได้อย่างไร เป็นการมองในเชิงมนุษยนิยม เชิงเทววิทยาที่เน้นคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สาสน์นี้ยังพูดถึงเรื่อง เมื่อเกิดความยากจนผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเด็กๆ ,ความสัมพันธ์ระหว่างการลดอาวุธและการพัฒนา,วิกฤติด้านอาหารในปัจจุบันไม่ใช่เป็นเพราะทรัพยากรไม่เพียงพอ แต่เป็นเรื่องของอำนาจในการกักตุน เก็งกำไร กลไกการตลาด ทางออกหนึ่งที่พระสันตะปาปาเสนอคือ การช่วยเหลือกันในระดับโลก ให้ทุกคนมาช่วยกัน มีส่วนร่วมลดความยากจน

โลกาภิวัตน์ทำให้ทุกคนเห็นอกเห็นใจกัน รู้จักกันมากขึ้น แต่ก็มีผลด้านลบทำให้คนเอารัดเอาเปรียบกันด้วย มีลักษณะของการเบียดขับทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ เรื่องของ "marginalization" ที่คนยากจนยิ่งจนไปเรื่อยๆ พระสันตะปาปาชี้ให้เห็นว่าเป็นเรื่องวิกฤติมโนธรรมของมนุษย์ที่เรามองปัญหาต่างๆ โดยไม่มองถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่เข้าใจความเป็นมนุษย์หรือธรรมชาติ พระองค์เรียกร้องให้มองมนุษย์ใหม่ แนวคิดของคริสต์ศาสนาบอกว่ามนุษย์เป็นใหญ่เหนือธรรมชาติ แต่เราอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิดบางอย่าง เช่นต้นไม้ต้นหนึ่งสามารถงอกงามและเติบโตเองได้โดยไม่ต้องอาศัยมนุษย์ แต่สำหรับมนุษย์ ถ้าไม่มีต้นไม้ มนุษย์จะอยู่ไม่ได้

ความยากจนอีกชุดหนึ่งที่อยู่ในวัฒนธรรมไทย คือความยากจนในเรื่องของมุมมองต่อสังคมไทยที่เพิ่มมากขึ้น มุมมองที่ยากจนทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ เกิดความรุนแรงมากขึ้น พวกเราแต่ละคนล้วนแต่ต่างเผ่าต่างพันธุ์ มาอยู่ในเมืองไทยด้วยกัน แต่เกิดวิกฤติในเรื่องมุมมองต่อคนไทยด้วยกัน ทำให้บางคนกลายเป็นคนอื่น เป็นชาวเขา เป็นชาวเรา เกิดความไม่เสมอภาคหรือความรุนแรงทางวัฒนธรรม ดังนั้น ควรหันมามองในมุมมองใหม่ว่า สังคมไทยมีคนอยู่หลายเผ่าพันธุ์ มีเลือดเนื้อเชื้อไขที่ต่างกันไป อยู่ในผืนแผ่นดินเดียวกัน

มุมมองที่อันตรายที่สุดคือชาวปกาเกอะญอหรือชาวเขาบางคน ถูกสร้างให้กลายเป็น "ไทย" จนไม่รักพี่น้องของตน คุณพ่อเล่าว่า "ผมมีญาติเป็นไทยใหญ่ข้ามฝั่งจากพม่ามาเยี่ยมแม่ผม มีคนปกาเกอะญอในหมู่บ้านไปถามเขาว่ามีบัตรประชาชนไหม เป็นคนต่างด้าวหรือเปล่า...." เป็นผลจากความกลัวว่าเรามีทรัพยากรไม่เพียงพอหรือไม่ หรือจากทัศนคติคับแคบที่มองคุณค่าชีวิตอยู่แค่ว่าคนนั้นมีบัตรประชาชน ความเป็นคนหรือ "อัตลักษณ์" ของเขาอยู่ที่บัตรใบเดียวหรือ? ทั้งที่ชายแดนไทย - พม่า มีพี่น้องที่ข้ามไปๆมาๆ ชายแดนเพิ่งเกิดขึ้นมาไม่กี่ปีนี้เอง ในสมัยที่อังกฤษมาปกครองพม่า สร้าง "รัฐชาติ" ขึ้นมา เมื่อเกิดเป็นรัฐชาติทำให้คนในพื้นที่แบ่งแยกกัน


ต่อจากนั้นเป็นการเสวนาในหัวข้อ "ถอดรหัสความยากจน : จนเองหรือถูกทำให้จน?"
โดย คุณจักรชัย โฉมทองดี นักวิจัยโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส) สถาบันวิจัย จุฬาฯ และสมาชิกกลุ่ม FTA WATCH และคุณไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ดำเนินการเสวนาโดย คุณอัจฉรา สมแสงสรวง เลขาธิการยส.

คุณจักรชัย
Imageความยากจนถ้ามองในเชิงรายได้วัดง่าย ดูจาก Poverty Line (เส้นความยากจน) ใครอยู่ใต้เส้นแสดงว่าจน ใครอยู่เหนือเส้นไม่จน ตัวเลขล่าสุดของเส้นนี้รายได้ต่อหัวประชากรอยู่ที่ 1,443 บาท / เดือน คิดเป็นวัน 46 บาท 50 สตางค์ ถ้ามีรายได้ต่ำกว่านี้แสดงว่าจน การพัฒนาที่เราใช้มายาวนานตั้งแต่แผนฯ1 ตัวเลขความยากจนลดลงเรื่อยๆ คนที่อยู่ใต้เส้นนี้น้อยลง ปี 2543 มีประชาชน 20.98 % หรือ 1 ใน 5 ที่อยู่ใต้เส้นนี้ ปี 2550 จาก 20 % เหลือ 8.48 % เท่ากับประชากร 5.4 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 60 กว่าล้านคน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การถีบห่างระหว่างคนจนกับคนรวยมากขึ้น ถ้ามองสังคมไทยเป็นก้อนกลมๆ ก้อนนี้ลอยขึ้นเหนือระดับน้ำมากขึ้น แต่จากที่เคยเป็นก้อนกลมๆ กลายเป็นกรวยยาวมากขึ้น คือคนรวยเพิ่มมากขึ้น ส่วนคนที่อยู่ใต้น้ำจำนวนอาจน้อยลง แต่มีความห่างกันมากขึ้น ความยากจนถ้าวัดในเชิงสัมพัทธ์แล้ว ไม่ได้มีสถานการณ์ที่ดีขึ้นแต่กลับเลวร้ายลง หลายครั้งความยากจนเป็นเรื่องของความรู้สึก เมื่อเพื่อนบ้านมีแล้วเราไม่มีก็ต้องขวนขวายที่จะมี เมื่อมีการเปรียบเทียบทำให้เกิดการใช้จ่าย

ความยากจนที่ก้าวเหนือไปกว่าเม็ดเงินมีอยู่หลายอย่าง รวมไปถึงความยากจนทางความคิด ทางความเข้าใจ ไม่สามารถเข้าถึงการบริการพื้นฐานของรัฐ ไม่สามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม แม้คนจนจะน้อยลง แต่ผู้ที่มีเครื่องมือ มีทุนที่จะดำเนินกิจการทางเศรษฐกิจ หากินบนลำแข้งลำขาของตัวเองจริงๆ กลับน้อยลง คนมีที่ดินที่สามารถปลูกผัก ปลูกข้าวได้น้อยลง 3 ใน 4 ของคนที่ถือว่าจน ไม่มีทรัพย์สินใดๆ มีแต่ตัว มองในเชิงเศรษฐกิจคือทุนที่มีอย่างเดียวคือแรงงาน คนต้องพึ่งพาระบบศูนย์กลางมากขึ้น เมื่อระบบมีปัญหาทำให้การบีบตัวของแรงกระแทกมีมากขึ้น เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 คนออกจากโรงงานกลับสู่ชนบท ยังมีการรองรับอย่างน้อยชั่วคราว เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวก็กลับไปทำงานใหม่ สิบปีผ่านไป สภาพสังคมเปลี่ยนไปมาก คนถูกเลิกจ้างจากในเมือง จะกลับไปอิงระบบเกษตรแบบเดิมลดน้อยลง จะกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น

บางคนถูกทำให้จนด้วยนโยบายของรัฐ มีที่ทำกินอยู่ดีๆ เช่น ยายไฮ ขันจันฑา (ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนห้วยละห้า จ.อุบลราชธานี) รัฐต้องการสร้างเขื่อนบริเวณนั้น ชาวบ้านต้องย้ายไปอยู่ในที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ จากที่เคยมีวิถีชีวิตยั่งยืนก็สูญหายไป เพราะผลกระทบจากนโยบายของรัฐที่กระแทกเข้ามาโดยตรง หรือเรื่องการค้าเสรี เช่นปลูกหอม ปลูกกระเทียมเคยขายได้ แต่เมื่อทำการค้าเสรีปล่อยให้หอม กระเทียมไหลเข้ามาได้จากเมืองจีน ราคาไม่ถึงครึ่งของเมืองไทย ชาวบ้านที่เคยปลูกอยู่ดีๆ ทุกวันนี้แค่ขุดมาขายก็ไม่คุ้มแล้ว ชาวบ้านไม่สามารถดำรงชีวิตอย่างที่ตัวเองเคยดำรง

ด้านวิกฤติในระดับสากล เรากำลังเผชิญกับ Triple Crisis หรือ "วิกฤติไตรภาค" วิกฤติใหญ่ของโลกที่เกิดขึ้นมาพร้อมกันสามวิกฤติ

วิกฤติแรกคือ เรื่องของอาหาร ปลายปี 2007 อาหารธัญพืชหลัก ราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างมหาศาล ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นเกือบ 200 % ในประเทศไทยราคาข้าวขึ้นไปหนึ่งเท่าตัว จากตัวเลขผู้มีรายได้น้อยได้เงินวันละ 46 บาท สัดส่วนค่าใช้จ่ายของเขาไปเป็นค่าอาหารถึง 60 % คือเกือบ 30 บาท วิกฤตินี้ยังดำรงอยู่ แม้ราคาอาหารลดลงแล้ว แต่ไม่ได้ลดลงมาในระดับที่เป็นอยู่เดิม และเกิดการผันผวนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

วิกฤติที่สอง วิกฤติการเงินโลก เรียกว่า Hamburger Crisis หรือ Subprime Crisis กลางเดือนกันยายนปี 2008 เป็นปัญหาที่บ่มมายาวนาน ภาคการเงินของเราไปลงทุนใน subprime น้อยมาก แต่สุดท้ายเกิดผลกระทบผ่านกลไกตลาดโลกาภิวัตน์เข้าสู่ภาคเศรษฐกิจ เนื่องจากประเทศเราสินค้าส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจ 70 % ของกิจกรรมเศรษฐกิจที่ดำเนินอยู่ทั้งปีมาจากปัจจัยภายนอก แรงงานจำนวนมากอยู่ในภาคเศรษฐกิจเพื่อส่งออก แม้คนไทยบริโภคเท่าเดิม แต่คนต่างประเทศบริโภคน้อยลง แรงงานไทยมีปัญหา จากเดิมที่เขา(ต่างประเทศ) ซื้อคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ทุกปี แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เขาคิดว่าเครื่องเก่ายังใช้ได้ ไม่ต้องซื้อใหม่ คิดแค่นี้พร้อมๆ กันในสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้คนงานไทยหลายแสนคนต้องตกงาน

Imageรัฐบาลคำนวณเรื่องผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP (Gross Domestic Product) จากโครงสร้างเศรษฐกิจแบบนี้ ซึ่งมีสูตรว่า ถ้าการส่งออกของเราลดลง 5 % GDP จะลดลง 1% โดยประมาณ ในปี 2552 นี้ จากไตรมาสแรก การส่งออกลดลง 25 % เพราะฉะนั้น GDP ลดลง 5 % ถ้า GDP ลดลง1 % งานในประเทศหายไป 200,000 ตำแหน่ง คาดว่าปีนี้ GDP จะลดลง 5 % จะมีคนถูกให้ออกจากงานหนึ่งล้านตำแหน่ง คนหนึ่งล้านคนในขณะที่มีงานทำ เขาไปโรงงาน ซื้อก๋วยเตี๋ยว เข้าเซเว่นฯ พอทำงานได้ 2-3 เดือนเริ่มผ่อนมอเตอร์ไซค์ เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เมื่อไม่มีงานก็ไม่เข้าเซเว่นฯ ภาพรวมการใช้จ่ายน้อยลง แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยว ขายลูกชิ้นหน้าโรงงานน้อยไปด้วย การบริโภคภายในหด สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำคือจ่ายเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท เพื่อช่วยคนป่วยไม่ให้ช็อค ให้อยู่ได้ไปก่อน และหวังว่าต่างประเทศจะฟื้น คนจะได้ถูกจ้างงานมาใหม่ แต่ยังไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ

วิกฤติที่สาม วิกฤติโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Crisis) เราเพิ่งตะหนักเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา วิกฤตินี้เกิดจากกิจกรรมที่มนุษย์ทำส่งผลให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีก๊าซสามตัวใหญ่ๆ คือ คาร์บอนไดออกไซด์ สอง มีเธน สาม ไนตรัสออกไซด์ สองตัวหลังเกิดจากกิจกรรมทางการเกษตร ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ควบคู่กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มนุษย์เราสร้างอารยธรรมจากการเผาพลังงานฟอสซิล ส่งผลออกมาเป็นก๊าซคาร์บอนฯ เช่นเผาถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ จนคาร์บอนฯ สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ มีหน่วยวัดว่าในหนึ่งล้านส่วนมีก๊าซคาร์บอนฯ กี่ส่วน (ppm. = parts per million) เดิมระบุว่าไม่ควรเกิน 350 ppm. ปัจจุบันกำหนดไม่ให้เกิน 450 ppm. ถ้าเกินกว่านี้จะทำให้อุณหภูมิของโลกเกินจุดค่าเฉลี่ย ถ้าเกินไปสององศาเซลเซียส เหมือนเราเข็นก้อนหินขึ้นเขาแล้วหินกลิ้งลงมา ส่งผลต่อเนื่องจนหยุดไม่ได้

ทั้งสามวิกฤติประสานและเชื่อมโยงกัน วิกฤติเรื่องโลกร้อนไม่ได้เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจด้วย เมื่อเกิดความผันผวน ค่าขนส่งก็แพงขึ้น วิกฤติอาหารก็มีผลต่อผลผลิตทางเกษตร สามวิกฤตินี้เชื่อมโยงกัน แยกจากกันไม่ได้

คนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนเจอกับวิกฤติเหล่านี้ทุกวัน ไม่มีงานทำ ไม่มีเงินซื้ออาหาร ไม่มีโอกาส ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา เขาเป็นผู้ที่ต้องแบกรับภาระมากกว่าคนอื่น แต่มีความไม่เป็นธรรมที่ซ่อนอยู่ในวิกฤติใหญ่ และหลายครั้งเราละเลย เช่นเรื่องโลกร้อน มีการศึกษาออกมาว่า คนจนได้รับผลกระทบมากกว่าคนที่มีสถานภาพสูงกว่า เช่นถ้าน้ำท่วมเขตชายฝั่ง คนมีเงินก็ไปซื้อบ้านที่อื่นอยู่ แต่คนจนยังต้องอยู่ที่เดิม หลายอย่างกลไกของปัญหากลับไปซ้ำเติมคนจน เช่นมองว่าป่าช่วยลดโลกร้อน เพราะต้นไม้ดูดก๊าซคาร์บอนฯ ต้องรักษาป่า วิธีการภายใต้กรอบคิดทุนนิยมคือเอาป่ามาขาย เช่นมีโครงการล้อมรั้วป่าแล้วนับจำนวนต้นไม้ ประเทศหรือบริษัทที่รวยๆ เช่น ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ถ้ามีข้อกำหนดว่าต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เท่าไร กลไกทุนนิยมบอกว่าห้างฯ ไม่ต้องเปลี่ยนอะไร เปิดแอร์ ชอปปิ้งเหมือนเดิม แต่ห้างฯ ต้องคำนวณว่าตัวเองปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ กี่ตัน แล้วต้องใช้ต้นไม้กี่ต้นเพื่อจะดูดก๊าซที่ตัวเองปล่อย ก็ไปซื้อป่าในพื้นที่ต่างๆ มาชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
รัฐบาลทักษิณนำคนจนเข้ามาอยู่ในกลไก หรืออย่างน้อยทำให้คนจนรู้สึกว่าเข้ามาอยู่ในกลไกแก้ปัญหามากขึ้น แต่ตัวเลขน่าสนใจ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา คนจนที่อยู่ใต้เส้นความยากจน มีเพียง 2.22 % ที่เข้าถึงทุนที่รัฐมีให้, หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีคนจนถึง 33 % ไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันนี้, เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 61.86 % ไม่สามารถเข้าถึง, กองทุนเงินล้านมีคนจนที่เข้าไปมีส่วนแบ่งหรือใช้ประโยชน์ 9.97 %, ธนาคารประชาชนมีเพียงคนจน 0.05 % ที่เข้าถึงได้

เรื่องการเข้าถึงบริการพื้นฐานที่จำเป็น การศึกษา การบริการสาธารณสุข เมื่อประเทศไทยเข้าไปผนวกในโลกโลกาภิวัตน์ โอกาสที่คนจนจะเข้าถึงบริการต่างๆ เหล่านี้จะมีปัญหามากขึ้น เวลาเราไปเจรจาเรื่องการเปิดการค้าเสรี คู่เจรจาของเราก็ต้องการเข้ามาดำเนินกิจการในธุรกิจบริการ เช่นเข้ามาเปิดมหาวิทยาลัยของเขา เราก็มีมหาวิทยาลัยของเรา ประเด็นคือเมื่อเปิดเสรีแล้ว การแข่งขันต้องเท่าเทียมกัน เราก็ต้องให้การอุดหนุนมหาวิทยาลัยไทยน้อยลงไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ถ้าลงไปสู่ระดับที่ต่ำกว่าระดับอุดมศึกษา จะส่งผลต่อประชาชนวงกว้างมากขึ้น การรักษาพยาบาลเช่นเดียวกัน ณ วันนี้ยังไม่มาในรูปแบบของโรงพยาบาล แต่ในรูปแบบของการผูกขาดค่ายา รัฐบาลใช้เงื่อนไข การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (CL - Compulsory License) เพื่อคนจนจะได้เข้าถึงยา ถ้าเราไปเซ็นต์การค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกา มาตรการนี้จะใช้ไม่ได้

มองภาพรวมระดับประเทศ รัฐบาลที่ผ่านมาใช้นโยบายประชานิยม ทำให้รัฐบาลต่อมาต้องดำเนินตาม นโยบายประชานิยมจะเป็นพื้นฐานเพราะประชาชนจำนวนมากไม่สามารถดำรงอยู่ด้วยตัวเอง โอกาสในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของตัวเอง การเข้าถึงบริการพื้นฐานจะน้อยลงไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันรัฐยังเชื่อในระบบเศรษฐกิจเสรี พึ่งการลงทุนจากต่างประเทศ ยิ่งทำให้โอกาสของคนลดน้อยลงไป เป็นวัฏจักรที่ดิ่งต่ำลงเรื่อยๆ คนต้องพึ่งพารัฐมากขึ้น และรัฐไปดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้คนไม่สามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองได้ เป็นเช่นนี้ทั้งระดับปัจเจก ชุมชน และระดับประเทศ ถ้าจะไปปรับเข็มใหม่ ดังที่หลายประเทศทำคือ แทนที่จะผลิตเพื่อส่งออก ก็ผลิตเพื่อให้บริโภคภายในประเทศ ในปัจจุบัน คนรวยบริโภคสินค้านำเข้า คนจนผลิตสินค้าส่งออกนำเงินเข้าประเทศ ถ้าเราหันมาผลิตสินค้าเพื่อบริโภคภายใน จะทำให้น้ำไหลเวียนอยู่ภายในบ่อเดียวกันได้มากขึ้น ไม่ได้หมายถึงปิดประเทศ เป็นเรื่องที่ต้องทบทวน วิกฤติที่เกิดขึ้นมา ในสมณสาสน์บอกอยู่แล้วว่า วิกฤติอาหารเป็นเรื่องของการเก็งกำไรมากเสียกว่าเป็นเรื่องของการขาดแคลนที่แท้จริง วิกฤติการเงินก็เป็นเรื่องของการฉวยโอกาสของบางกลุ่ม


คุณไพโรจน์
Imageคำอธิบายหนึ่งของคนยากจน คือ มีรายได้น้อยกว่าสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เรียนน้อย หางานทำได้ยาก มีทักษะข้อมูลน้อย ไม่มีที่ดิน ไม่มีปัจจัยการผลิต แนวคิดนี้มุ่งแก้ที่ตัวคน การที่ไม่ได้เรียนหนังสือเป็นความผิดของคนจนไหม รัฐมีหน้าที่ให้พลเมืองได้เรียนหนังสือทุกคน เป็นเรื่องของนโยบาย การจัดการ คนเราไม่ได้จนโดยตัวเอง แต่เป็นเพราะไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา หรือสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

ความยากจนยังถูกอธิบายเชื่อมโยงกับเรื่องของสิทธิมนุษยชน 2 เรื่องที่สำคัญ เรื่องแรกคือ เสรีภาพที่ปลอดจากความกลัว อีกข้อคือปลอดจากความหิวโหย หลักสิทธิฯ บอกว่ามนุษย์ทุกคนอย่างน้อยต้องมีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ซึ่งรัฐต้องจัดการให้คือ 1. อาหาร 2. การดูแลสุขภาพ 3.ที่อยู่อาศัย 4. การศึกษา เรื่องที่สอง ต้องให้เขาได้รับความยุติธรรม เกี่ยวข้องกับกฎหมายของบ้านเมือง ได้รับการดูแลเวลาถูกคุกคาม จึงมาสู่นิยามความยากจน คือ หนึ่ง จนในโอกาส ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสบางอย่าง สอง จนเรื่องสิทธิ ไม่สามารถได้รับสิทธิ สาม จนอำนาจ คือเข้าไม่ถึงการมีส่วนร่วมในการจัดการทางการเมือง เป็นความยากจนที่ไปเชื่อมโยงกับเรื่องสิทธิ เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน การพัฒนา และความมั่นคงของมนุษย์ การแก้ไขของรัฐบาลยังไปไม่ถึง โดยเฉพาะเรื่องจนในสิทธิ ที่ยังมีอยู่มากในทุกกลุ่ม

กลุ่มคนยากจนในเรื่องที่สองคือ เรื่องที่ดิน กรุงเทพฯ มีที่ดินกว่า 800,000 ไร่ แต่มีคน 50 กว่าราย ถือครองประมาณ 80,000 ไร่หรือ 10 % คนมีน้อยที่สุดมีแค่ 2-3 ตารางวา ถ้าโครงสร้างทางทรัพยากรเรื่องที่ดินเป็นแบบนี้ การเข้าถึงทรัพยากรที่ดินก็เป็นไปไม่ได้ ยังไม่ต้องพูดถึงคน 600,000 ครอบครัวที่อยู่ในเขตป่า เขตอุทยานแห่งชาติ เราพยายามมีกฎหมายจำกัดการที่ครองที่ดิน แต่ยกเลิกไปสมัย จอมพลสฤษฎ์ ธนะรัชต์ เพราะเป็นข้อจำกัดในการมาลงทุนของเอกชน จึงเปิดให้เสรีในการถือครองที่ดิน สิ่งที่คุกคามคือต่างชาติเข้ามาถือครองที่ดินมากขึ้น มีงานศึกษาพบว่า คนที่ถือครองที่ดินมากที่สุด 100 ราย ถือครองที่ดินคนละประมาณ 100 ไร่ คน 90 % ถือครองประมาณหนึ่งไร่เศษ มีการกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน ทำให้คนส่วนหนึ่งหลุดจากการถือครองที่ดินและต้องอยู่ในฐานะที่ยากไร้ รัฐบาลยังไม่กล้าหาญในการปฏิรูปที่ดิน เริ่มจากแค่เก็บภาษีผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ 50 รายในกรุงเทพฯ เพิ่มภาษีเพียง 0.1 % จะมีรายได้เข้ารัฐถึงสี่พันล้านบาท

ความยากจนในเชิงโครงสร้าง เป็นความยากจนไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นการทำให้จนจากนโยบายรัฐ หรือจากการพัฒนาประเทศ ที่มักพูดว่าจะทำให้คนมีรายได้สูงขึ้น มีการจ้างงานมากขึ้น ตัวอย่างการสร้างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เมื่อปี 2528 มีการลงทุนเป็นแสนล้านบาท รายได้เข้ามาเยอะแยะ แต่การจ้างงานจริงๆ ไม่ถึงแสนคน และไม่ใช่คนในพื้นที่ ประเด็นที่สอง เราไม่คิดเรื่องต้นทุนทรัพยากรที่สูญเสียไป ทะเลที่เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ ไม่มีความปลอดภัยเพราะมีสารพิษตกค้าง เสียสมดุลทางธรรมชาติ ในด้านอากาศ กรมควบคุมมลพิษยืนยันว่าที่มาบตาพุดไม่สามารถเอาโครงการอะไรไปลงได้อีก สภาพอากาศไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว และชีวิตผู้คนต้องเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งสูงมาก ถ้าการพัฒนาของเรายังไม่คิดถึงต้นทุนของชีวิตผู้คน และทรัพยากร คิดถึงแต่ความมั่งคั่งที่เป็นตัวเลข เราต้องเผชิญปัญหาอีกมาก

สิ่งที่ต้องทำคือ ถ้าความยากจนเกิดจากการขาดโอกาส ขาดสิทธิ เราต้องสร้างให้เกิดโอกาส ให้เกิดสิทธิ เกิดอำนาจการต่อรอง เช่น ในเรื่องการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า รัฐธรรมนูญปี 2540 วางทิศทางไว้ว่า การจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมไม่ควรให้หน่วยงานของรัฐเป็นคนจัดการ เพราะทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมในการเข้าถึงทรัพยากร ต้องเปิดโอกาสให้ฝ่ายอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ เมื่อประชาชนจนอำนาจ ต้องสร้างโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงอำนาจในการตัดสินนโยบายของรัฐ จึงจะแก้เรื่องการจนอำนาจ

สมณสาสน์ฯ ฉบับนี้บอกเราว่าให้ "เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต รูปแบบการผลิตและการบริโภค และโครงสร้างอำนาจที่จัดสร้างขึ้นซึ่งกำกับสังคมในปัจจุบัน" ทุกวันนี้เราสมาทานวิถีชีวิตแบบทุนนิยมที่เน้นการบริโภคจนเกินเลย วิกฤติอาหารคือผลิตอาหารล้นเกิน ขายไม่ได้ แต่มีคนที่ไม่มีอาหารกินหลายร้อยล้านคนทั่วโลก มีอาการสองแบบซ้อนอยู่ คนไทย 11 ล้านคนได้รับอาหารที่ไม่มีคุณภาพเพียงพอ เราต้องเปลี่ยนแปลงวิถีบริโภค กลับมาทบทวนตัวเอง ประเด็นถัดมาคือเรื่องการผลิต เรามีการผลิตล้นเกิน ใช้สารเคมีจำนวนมาก แต่เกษตรกรขายอย่างไรก็ไม่รวย ไม่ว่าจะเป็นแบบแผนการผลิต การบริโภค วิถีชีวิต อยู่ที่โครงสร้างอำนาจที่จัดสร้างขึ้น กำกับสังคมปัจจุบัน ทำอย่างไรที่จะแก้โครงสร้างอำนาจ ทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรม ให้ทุกคนได้ร่วมคิดร่วมจัดการ จึงแก้โครงสร้างความยากจนได้

เราต้องเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ ตั้งแต่ต้นให้ได้ก่อน เปลี่ยนวิธีคิด วิธีมอง เสียก่อน ต้องช่วยกันผลักดันการแก้ไขที่โครงสร้าง ส่วนตัวเรานอกจากต้องทบทวนแนวคิดแล้ว น่าจะหาความหมายชีวิตใหม่ อย่าให้คนอื่นหาความหมายให้ชีวิตเรา เราจะมีคุณค่าต่อเมื่อเรามีคุณค่าต่อคนอื่น ทำให้ชีวิตเรามีคุณค่าต่อคนอื่น เพราะทุกวันนี้เราถูกทำให้ไม่เห็นคุณค่าคนอื่น เห็นแต่คุณค่าตัวเอง ตัวเองเป็นใหญ่ เมื่อเราเห็นคุณค่าคนอื่น ชีวิตเราก็มีคุณค่าด้วย เป็นศาสนธรรมของทุกศาสนา


Imageคุณอัจฉรา วิทยากรทั้งสองท่านเน้นย้ำเรื่องวิกฤติของความยากจน วิกฤติอาหาร วิกฤติการเงิน วิกฤติสิ่งแวดล้อม และภาพของสังคมไทย ความยากจนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐกีดกันคนในการเข้าถึงโอกาส ไปละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทั่วไปที่ควรจะได้รับสิทธินั้น รัฐกีดกันคนไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในนโยบายหรือโครงการต่างๆ โครงสร้างเช่นนี้ทำให้เกิดสภาวะความยากจน

วิกฤติเรื่องศีลธรรมจากโลกาภิวัตน์ทำให้เราหลงติดเปลี่ยนวิธีคิด อัตลักษณ์ของเรา เราเสพสิ่งที่โลกาภิวัตน์กำหนดไว้ให้ และสอดคล้องกับที่คุณพ่อวินัยและจักรชัยได้พูดไว้ในช่วงแรกว่า ถ้าเรามองความยากจนในแง่ปัจเจก เราก็ใช้วิธีการแก้ไขปัญหาแบบที่พระศาสนจักรทำในแง่ของการสงเคราะห์ช่วยเหลืออย่างเดียว แต่ถ้าเราจะคลี่โจทย์ว่าความยากจนเป็นปัญหาระดับโครงสร้าง เราต้องช่วยกันให้ความยากจนเข้าไปสู่การแก้ไขปัญหาในเรื่อง ความยุติธรรมเชิงสังคม (Social Justice) เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนกรอบการมอง และต้องเปลี่ยนพฤติกรรม การกระทำ ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความยากจน ทิ้งท้ายด้วยคำสอนด้านสังคมที่บอกว่า ทรัพยากรในโลกเป็นของทุกคน ทุกคนควรจะได้เข้าถึง และจากพระวรสารที่บอกว่า คนยากจนมีอยู่ในโลกนี้ซึ่งพวกท่านต้องช่วยกันดูแล และในพระสมณสาสน์การพัฒนาประชาชาติ ระบุว่า เป็นหน้าที่ของผู้ที่มีกำลังมากกว่า ต้องยื่นมือไปช่วยเหลือผู้ที่ยากจน เพื่อให้เขาเข้าถึงทรัพยากรที่มีไว้สำหรับทุกคน พูดในแง่สิทธิคือเราต้องคืนสิทธินี้ให้แก่เขาด้วย


ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >