หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow ชำระใจให้หายแค้น : พระไพศาล วิสาโล
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 182 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

ชำระใจให้หายแค้น : พระไพศาล วิสาโล พิมพ์
Wednesday, 10 June 2009

ชำระใจให้หายแค้น

มติชน ฉบับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2552

Imageการแก้แค้นเป็นพฤติกรรมที่ติดมากับมนุษย์ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ก็ว่าได้ มันเป็นยิ่งกว่าปฏิกิริยา "สู้หรือหนี" อันเป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของสัตว์ทุกชนิดเมื่อเผชิญกับภัยคุกคาม คนเราไม่ได้อยากแก้แค้นเพียงเพราะโกรธที่ถูกทำร้ายเท่านั้น หากยังเพราะมีความอาฆาตพยาบาทซึ่งหล่อเลี้ยงด้วยความทรงจำ สัตว์บางชนิดอาจมีความอาฆาตพยาบาทเช่นเดียวกับมนุษย์ แต่นั่นเพราะมันหรือลูกของมันถูกทำร้าย ส่วนมนุษย์นั้นเพียงแค่เสียหน้าหรือถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรีก็เป็นเหตุผลมากพอ แล้วที่จะลงมือล้างแค้นจนถึงตาย

อย่างไรก็ตามการแก้แค้นไม่ใช่เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกล้วนๆ มนุษย์ตั้งแต่ยุคบรรพกาลมีเหตุผลที่ต้องแก้แค้น ไม่ใช่เพื่อความสะใจเท่านั้น แต่เพื่อส่งสัญญาณให้คู่กรณีรวมทั้งคนอื่นๆ ได้รู้ว่าตนจะไม่ยอมถูกกระทำฝ่ายเดียว ใครที่มาล่วงล้ำ กล้ำเกิน หรือทำร้ายตนย่อมถูกโต้ตอบกลับคืน กล่าวอีกนัยหนึ่งนี้เป็นวิธีป้องปรามหรือกลไกป้องกันตัวอีกแบบหนึ่ง ซึ่งจำเป็นในยุคที่ผู้คนอยู่กันด้วย "กฎป่า" หรือใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ การไม่แก้แค้นหมายถึงการแสดงความอ่อนแอ ซึ่งเท่ากับเชื้อเชิญให้ใครต่อใครมาเอาเปรียบเบียดเบียนไม่หยุดหย่อน

การป้องกันตนเองด้วยวิธีการดังกล่าวมิใช่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความอยู่รอดของปัจเจกบุคคลและครอบครัวเท่านั้น แต่ยังจำเป็นสำหรับกลุ่มชนหรือเผ่าพันธุ์ด้วย เผ่าจะอยู่รอดไม่ได้หากคนอื่นนิ่งดูดายปล่อยให้เพื่อนพ้องในเผ่าถูกทำร้าย การแก้แค้นให้กับเพื่อนร่วมเผ่าเป็นทั้งการป้องปรามไม่ให้ใครมาทำเช่นนั้นอีก ขณะเดียวกันก็เป็นการส่งสัญญาณแสดงถึงความสามัคคีกลมเกลียวของเผ่าตน ด้วยวิธีนี้เผ่าจึงจะมีโอกาสอยู่รอดและปลอดพ้นจากภัยคุกคามได้

คงเพราะเหตุนี้จึงมีการส่งเสริมค่านิยมการล้างแค้นในหมู่เผ่าพันธุ์และกลุ่มชนต่างๆ จนกลายเป็นวัฒนธรรมไปทั่วโลก และในบางแห่งก็ถึงกับกลายเป็นข้อบัญญัติหรือเป็นที่รับรองของศาสนาด้วยซ้ำ มองในแง่นี้ก็เหมือนกับจะยืนยันว่าการล้างแค้นเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ที่ติด มาในยีนเลยก็ว่าได้ แต่มองอีกมุมหนึ่งการที่หลายชุมชนหลายเผ่าพันธุ์พยายามตอกย้ำเหตุการณ์อันน่าขมขื่นเจ็บปวดในอดีต (ผ่านบทเพลง บันทึกประวัติศาสตร์ และเรื่องเล่าปากต่อปาก ฯลฯ)เพื่อกระตุ้นให้เกิดความอาฆาตพยาบาทและอยากแก้แค้นนั้น ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ถ้าการแก้แค้นเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์จริง ทำไมจึงต้องตอกย้ำและปลุกเร้าให้เกิดความโกรธเกลียดและอาฆาตพยาบาทไม่หยุดหย่อน ราวกับกลัวว่าผู้คนจะลืมเหตุการณ์เหล่านั้นหรือไม่อาฆาตพยาบาทมากพอ

มีผู้คนเป็นอันมากที่พยายามหล่อเลี้ยงความอาฆาตพยาบาทด้วยการเตือนตนให้ระลึกถึงความเจ็บแค้นในอดีต เช่น นึกถึงมันบ่อยๆ หรือบันทึกเอาไว้ บ้างก็ถึงกับทำรายชื่อศัตรูเหมือนกับจดรายการจ่ายตลาด ทั้งนี้ก็เพราะเขากลัวลืม แต่ยิ่งนึกย้ำซ้ำทวนก็ยิ่งถูกไฟโทสะเผาลนจิตใจ การพยายามปกป้องตนเองด้วยการแก้แค้นกลับกลายเป็นการบั่นทอนทำร้ายตนเอง ตั้งแต่เริ่มคิดแก้แค้นด้วยซ้ำ

แต่การแก้แค้นก่อผลเสียยิ่งกว่านั้น มันสามารถชักนำครอบครัวและกลุ่มชนของตนให้ตกอยู่ในวังวนแห่งความรุนแรง ติดกับดักแห่งการแก้แค้นไม่รู้จบ เพราะอีกฝ่ายย่อมไม่อยู่นิ่งเฉยหากพยายามแก้แค้นเอาคืน การแก้แค้นให้กับคนๆ หนึ่งที่ถูกฆ่าตายอาจตามมาด้วยการสังหารผู้คนอีกเกือบ ๓๐ คน (ดังที่เกิดกับ ๒ ชนเผ่าในนิวกีนีเมื่อหลายปีก่อน) หรือมีการจองล้างจองผลาญติดต่อกันนานถึง ๒๗๐ ปี (ดังกรณีที่เกิดในอัลเบเนีย) แต่นั่นก็ยังเทียบไม่ได้กับการแก้แค้นระหว่างเซิร์บกับเติร์กซึ่งยืดเยื้อมา ๖๐๐ ปี หรือระหว่างยิวกับอาหรับซึ่งสาวไปได้ถึงพันปีที่แล้ว

ทุกวัฒนธรรมที่ส่งเสริมการแก้แค้นย่อมรู้ดีว่าการแก้แค้นที่ปล่อยให้เกิด ขึ้นตามอำเภอใจย่อมนำมาซึ่งความโกลาหลวุ่นวาย ทำลายความสามัคคีและบั่นทอนเสถียรภาพของสังคม จึงพยายามสร้างกติกาหรือข้อกำหนดขึ้นมาเพื่อให้การแก้แค้นอยู่ในขอบเขต (เช่น อนุญาตให้แก้แค้นได้ภายใน ๒๔ ชั่วโมง หรือกันเด็ก ผู้หญิง ชายชราจากหน้าที่แก้แค้น หรืออนุญาตให้ดวลปืนยิงกันด้วยกระสุนนัดเดียว) แต่นั่นก็ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด หลายชุมชนจึงหันมาส่งเสริมการปรับหรือเรียกค่าสินไหมแทนการแก้แค้น หรือไม่ก็มอบหมายให้รัฐหรือผู้ปกครองทำการแก้แค้นแทน โดยมีมาตรการต่างๆ ตั้งแต่ปรับ จำคุก ไปจนถึงประหารชีวิต (ในอดีตอนุญาตให้รัฐใช้วิธีทรมานได้ด้วย)

แต่ความรุนแรงควรยุติด้วยการแก้แค้นเท่านั้นหรือ? หากเราไม่ลงมือแก้แค้นเอง เราควรพอใจที่รัฐแก้แค้นแทนเราเท่านั้นหรือ? มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่ที่เราสามารถทำได้? คำตอบคือมี ได้แก่ "การล้างแค้นอย่างสร้างสรรค์" คือ การล้างแค้นด้วยการยกระดับตัวเองแทนที่จะไปเหยียบย่ำคนอื่นให้ตกต่ำลง เมื่อเราโกรธหรือเกลียดใครสักคน เราอยากทำกับเขาเหมือนกับที่เขาทำกับเรา หากเขาด่าว่าเรา เราก็ต้องด่าเขากลับคืน หากเขาทำร้ายเรา เราก็ต้องเล่นงานเขาให้สาสม วิธีนี้ก็คือการทำตัวเองให้ต่ำลงเหมือนเขา แต่ผู้ที่มีปัญญาย่อมรู้ดีว่าการทำให้เขาเจ็บปวดที่ดีกว่านั้นก็คือการทำตน ให้ดีกว่าเขา เก่งกว่าเขา ประสบความสำเร็จมากกว่าเขา หรือเป็นสุขเบิกบานใจยิ่งกว่าเขา

อย่างไรก็ตามการล้างแค้นแบบสร้างสรรค์สามารถนำความทุกข์มาให้แก่เราได้ ตราบเท่าที่เรายังไม่เก่งกว่าเขาหรือประสบความสำเร็จมากกว่าเขา เบื้องหลังการล้างแค้นดังกล่าวคือความโกรธเกลียดซึ่งสามารถเผาลนจิตใจเราได้ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้จึงมีวิธีที่ดีกว่านั้นอีก นั่นคือ การให้อภัย การให้อภัยมิได้หมายถึงยอมรับการกระทำไม่ดีของเขา แต่หมายถึงการปลดเปลื้องความโกรธเกลียดและอาฆาตพยาบาทออกไปจากจิตใจของเรา แม้เราจะยอมรับการกระทำของเขาไม่ได้ แต่เราสามารถยอมรับเขาในฐานะมนุษย์ได้ การฆ่า การหลอกลวง หรือการดูหมิ่นเหยียดยาม เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องวันยังค่ำ แต่คนเราอาจทำสิ่งนั้นเพราะความพลั้งเผลอ เพราะความไม่รู้ เพราะความเข้าใจผิด หรือเพราะอารมณ์ชั่ววูบ เขาอาจทำเพราะแรงบีบคั้นจากความเจ็บปวดในอดีต หรือเพราะเคยถูกกระทำย่ำยีมาก่อนก็ได้ ในฐานะที่เป็นเพื่อนทุกข์ เขาควรได้รับการให้อภัยจากเรา ในฐานะที่เรามีหน้าที่ทำตนให้เป็นสุข เราควรปลดเปลื้องความอาฆาตพยาบาทไปจากจิตใจ

มิใช่แต่การล้างแค้นเท่านั้นที่อยู่คู่กับมนุษย์ การให้อภัยและการสมานไมตรีก็เป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติมาช้านาน อย่าว่าแต่คนเลย แม้แต่สัตว์ก็รู้จักคืนดี นักสัตววิทยาที่สังเกตพฤติกรรมของลิงในสวนสัตว์และป่าธรรมชาติพบว่า เมื่อลิงทะเลาะเบาะแว้งกัน จะมีความพยายามคืนดีกันเสมอ หากไม่ "วาน" ตัวกลางให้ช่วยไกล่เกลี่ย คู่กรณีตัวใดตัวหนึ่งก็จะเป็นฝ่ายริเริ่มเข้าหา งอนง้อ หรือทำดีด้วย ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเคยกราดเกรี้ยวคู่กรณีเพียงใด แต่ในที่สุดก็จะคืนดีด้วยการเกาหลังให้กันและกัน

มนุษย์ไม่ได้มีแต่ความโกรธเกลียดเท่านั้น เรายังมีเมตตา กรุณา และความเข้าใจด้วย ความสามารถในการให้อภัยจึงอยู่ในใจของเราทุกคน จะว่าไปการให้อภัยเป็นกลไกอย่างหนึ่งในการปกป้องตนเอง มิใช่ปกป้องจากศัตรูภายนอก แต่ปกป้องจากศัตรูภายใน ได้แก่ความโกรธเกลียดและอาฆาตพยาบาทนั่นเอง หากความโกรธเกลียดและอาฆาตพยาบาทคือมีดกรีดใจ การให้อภัยก็คือยาสมานใจนั่นเอง ใจที่ไร้ยาสมานย่อมมีแผลเรื้อรัง ชีวิตที่ให้อภัยไม่เป็นย่อมหาความสุขได้ยาก

เราจะสุขหรือทุกข์มิใช่เพราะมีใครมาทำให้ หากอยู่ที่ใจของเราเอง ไม่มีใครทำลายศักดิ์ศรีของเราได้นอกจากตัวเราเอง ถึงที่สุดแล้วเราต้องเลือกว่าเราจะมีชีวิตอยู่อย่างไร ระหว่างการหล่อเลี้ยงความโกรธเกลียดเอาไว้ หรือการบ่มเพาะเมตตาและกรุณา ผู้คนเป็นอันมากเลือกอย่างแรกจึงจมปลักอยู่ในความทุกข์ ส่วนผู้มีปัญญาเลือกอย่างหลังจึงเป็นสุขอยู่เสมอ

ความอาฆาตพยาบาทนั้นมีความทรงจำเป็นตัวหล่อเลี้ยง แต่ก็มิได้หมายความว่าเราต้องลืมก่อนถึงจะให้อภัยได้ การให้อภัยมิได้เกิดจากการหลงลืมแต่เกิดจากความตระหนักรู้ถึงโทษของความโกรธ ที่สำคัญก็คือเกิดจากความเข้าใจในคู่กรณี โดยเฉพาะเมื่อเห็นถึงความเป็นมนุษย์ของเขาซึ่งไม่ต่างจากเรา อีกทั้งเห็นถึงความทุกข์ของเขาด้วย เราสามารถจะให้อภัยโดยไม่ลืมได้

คิม ฟุค ถูกไฟจากระเบิดนาปาล์มของอเมริกาเผาลวกทั้งตัวจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด อีกทั้งยังสูญเสียลูกพี่ลูกน้อง ๒ คนจากเหตูการณ์ แม้แผลจะหายหลังจากผ่าตัดถึง ๑๗ ครั้ง แต่ความแค้นฝังใจเธอร่วม ๒๐ ปี แต่ในที่สุดเธอก็ให้อภัยทหารอเมริกันเมื่อเธอประจักษ์แก่ใจว่า "การบ่มเพาะความเกลียดเอาไว้สามารถฆ่าฉันได้" เธอพบว่าสิ่งที่ทำร้ายเธอจริง ๆ มิใช่ใครที่ไหน หากได้แก่ความเกลียดที่ฝังแน่นในใจเธอนั่นเอง

อาซิม กามิซา สูญเสียทาริก ลูกชายคนเดียววัย ๑๔ ปี เพราะความคิดชั่วแล่นของวัยรุ่นอีกคนหนึ่งที่ต้องการอวดความเก่งกล้าสามารถของตนให้เพื่อนร่วมแก๊งได้เห็น แม้จะเจ็บปวดแต่เขาก็ให้อภัยวัยรุ่นคนนั้น เพราะเห็นว่า "การแก้แค้นไม่อาจช่วยอะไรได้ เอาชีวิตทาริคกลับมาได้ไหม การแก้แค้นมีแต่จะทำให้ความรุนแรงที่คร่าชีวิตทาริคยืดยาวต่อไป" เขาพบว่าตัวการที่ฆ่าลูกเขาไม่ใช่ใครอื่น หากคือวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงในหมู่วัยรุ่นต่างหาก เขาจึงต้องต่อสู้กับความรุนแรงนี้ด้วยการตั้งมูลนิธิในนามลูกของตนเพื่อส่ง เสริมให้คนหนุ่มสาวเห็นโทษของความรุนแรงในการแก้ปัญหา

ในทำนองเดียวกันเมื่อแม่ของสิบเอกสามารถ กาบกลางดอน ต้องสูญเสียลูกชายในเหตุการณ์นองเลือดที่ปัตตานี (ซึ่งโยงกับกรณีกรือเซะ) เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๗ แทนที่จะเรียกร้องการล้างแค้น เธอกลับให้อภัยฝ่ายตรงข้าม เพราะไม่ต้องการให้คนอื่นต้องเจ็บปวดเช่นเดียวกับเธอ "ฉันไม่อยากเห็นสิ่งอย่างนี้เกิดขึ้นอีกต่อไป ไม่ว่ากับใครอีก เราควรจะหยุดฆ่ากันได้แล้ว นี่เป็นความสูญเสียของทุกฝ่าย ฉันก็เสียลูกชายเหมือนแม่คนอื่นๆ อีกหลายคน"

"เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ระงับด้วยการไม่จองเวร" นี้มิใช่เป็นแค่คำสอนทางพุทธศาสนา หากเป็นความจริงที่อยู่เหนือกาลเวลาและเป็นสากล การแก้แค้นไม่เคยชำระปัญหาให้จบสิ้น อีกทั้งไม่สามารถนำความสุขมาสู่ชีวิต การให้อภัยต่างหากที่ทำให้ปัญหายุติได้ ต่อเมื่อชำระใจให้ปลอดจากความแค้น เมื่อนั้นชีวิตจึงจะพบความสงบเย็นอย่างแท้จริง

โดย... พระไพศาล วิสาโล

ที่มา http://www.budnet.org/

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >