หน้าหลัก arrow กิจกรรม ยส. arrow กิจกรรมย้อนหลัง arrow กิจกรรมของ ยส 2/2005 (ก.ค. - ธ.ค.)
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 101 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

กิจกรรมของ ยส 2/2005 (ก.ค. - ธ.ค.) พิมพ์
Tuesday, 23 May 2006

กิจกรรมของ ยส 2 / 2005
(กรกฎาคม ถึง ธันวาคม 2548)


CCJP On the Move


"โครงการศึกษาความจริงและร่วมชีวิต" ของสหพันธ์นักศึกษาคาทอลิกฮ่องกง (Organize an Exposure / Immersion program for Hong Kong Federation Catholic Students)
ระหว่างวันที่ 4 - 10 กรกฎาคม 2548 คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.) ร่วมกับ Hotline Asia Hongkong ได้จัดโครงการ "ศึกษาความจริงและร่วมชีวิต" ให้แก่สหพันธ์นักศึกษาคาทอลิกฮ่องกง ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาจากหลายสถาบัน สำหรับในครั้งนี้ มีนักศึกษา จำนวน 6 คน เข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งพวกเขาจะได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงความเป็นจริงของผู้คนในสังคมที่แตกต่างจากตน โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจน เพื่อได้เข้าใจถึงแก่นแท้ของปัญหาและร่วมหาหนทางแก้ไขปัญหาสังคมที่มีอยู่มากมายในโลกนี้ 


สำหรับพื้นที่ที่พวกเขาไปใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้านนั้นก็คือ หมู่บ้านเซโดซา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวปกาเกอะญอ - ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ที่ยังมีวิถีชีวิตเรียบง่าย ประกอบอาชีพทำไร่ ปลูกกะหล่ำปลี หอมแดง ปลูกข้าวไร่ และเลี้ยงสัตว์ ชาวปกาเกอะญอยังมีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นของตนเองอย่างเหนียวแน่น วิถีชนเผ่าปกาเกอะญอเน้นการพึ่งพิงธรรมชาติ มองธรรมชาติอย่างเคารพและถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มีวิถีชีวิตเรียบง่าย ไม่ตกเป็นทาสของเงินตรา ให้คุณค่ากับระบบเครือญาติ มีความเป็นพี่เป็นน้องสูง 

ซึ่งการได้ไปใช้ชีวิตร่วมกับชาวปกาเกอะญอที่หมู่บ้านเซโดซา แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 4 คืน แต่ได้เปลี่ยนโลกทัศน์และแง่มุมความคิดของเยาวชนกลุ่มนี้ให้เข้าใจได้ว่า ความขาดแคลนวัตถุสิ่งของ เงินทอง เครื่องอำนวยความสะดวกทั้งหลาย ไม่ได้มีผลต่อวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอแต่อย่างใด เพราะพวกเขามีความเป็นอยู่อย่างพอเพียงและมีความสุขอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งต่างจากนักศึกษาฮ่องกงที่แม้จะมีชีวิตและความเป็นอยู่ดีกว่า แต่กลับรู้สึกว่าพวกเขามีความสุขน้อยกว่าชาวปกาเกอะญอเสียด้วยซ้ำ 




ร่วมพิธีกรรม 3 ศาสนา เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี วันสันติภาพไทย

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2548 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงานฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี วันสันติภาพไทย ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีของเสรีไทยและผู้เสียสละชีวิตเพื่อรักษาสันติภาพในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง และเพื่อเป็นการเผยแพร่แนวทางแห่งสันติภาพและความรักใคร่ปรองดองในหมู่มวลมนุษย์โดยไม่จำแนกเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ และวัฒนธรรม ให้ธำรงไว้ซึ่งการยึดมั่นในแนวทางแห่งสันติ

บาทหลวงเฉลิม กิจมงคล รองเลขาธิการสภาพระสังฆราชคาทอลิก พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ ยส. ในฐานะตัวแทนคาทอลิก ได้ร่วมพิธีกรรมทางศาสนา 3 ศาสนา พุทธ คริสต์ และอิสลาม เพื่อระลึกถึงเสรีไทยผู้ต่อสู้เพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไทย เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากนั้นจึงเป็นการบรรยายพิเศษเรื่อง "การสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และการเสริมสร้างสันติภาพในประเทศไทย" โดย Prof.Eiji Murashima ศาสตราจารย์ผู้รณรงค์และส่งเสริมเรื่องสันติภาพแห่งมหาวิทยาลัย Waseda แห่งญี่ปุ่น การแสดงดนตรี "ดุริยนิพนธ์สันติธรรม" ปาฐกถาเรื่อง "60 ปี แห่งการเสริมสร้างสันติภาพไทย" โดย นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิชาการอาวุโสและปัญญาชนสยาม การขับร้องเพลงประสานเสียงเพื่อสันติภาพ โดย T. U. Chorus และปาฐกถาพิเศษเรื่อง "สันติภาพและความปรองดองในสังคมไทย" โดย นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี 




อบรมสิทธิมนุษยชนศึกษา

จัดอบรมสิทธิมนุษยชนศึกษาให้ครูโรงเรียนเซนต์เทเรซา หนองจอก รุ่นที่ 2 ในวันที่ 3 - 4 กันยายน 2548 และรุ่นที่ 3 ในวันที่ 10 - 11 กันยายน 2548 มีครูเข้าร่วมจากระดับชั้นอนุบาล ประถม มัธยมและครูพี่เลี้ยง จำนวนรวมทั้งสองรุ่นประมาณ 90 คน เนื้อหาในการอบรม ได้แก่ หลักการสิทธิมนุษยชน โดยคุณไพโรจน์ พลเพชร (เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน), สิทธิเด็ก โดยคุณณัฐวุฒิ บัวประทุม (นักกฎหมายมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก) สิทธิมนุษยชนในสถาบันการศึกษา และหลักการนำสิทธิมนุษยชนบูรณาการเข้าสู่แผนการเรียนรู้ โดย รศ.ดร.วไล ณ ป้อมเพชร (ประธานโครงการสิทธิมนุษยชนศึกษา)

จัดอบรมสิทธิมนุษยชนศึกษาให้ครูโรงเรียนปรีชานุศาสน์ จ.ชลบุรี จำนวน 165 คน ซึ่งแบ่งจัดเป็น 2 ครั้ง ได้แก่ วันที่ 9 - 11 ตุลาคม 2548 และวันที่ 13-15 ตุลาคม 2548 เนื้อหาในการอบรม คือ 1) สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในชีวิตของเรา โดย คุณอัจฉรา สมแสงสรวง 2) หลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชน โดย คุณไพโรจน์ พลเพชร 3) สิทธิสตรี โดย คุณชื่นสุข อาศัยธรรมกุล ผู้ประสานงานแนวร่วมความก้าวหน้าของผู้หญิง 4) สิทธิเด็ก โดย คุณวาสนา เก้านพรัตน์ จากมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 5) คุณธรรมสิทธิมนุษยชนในสถาบันการศึกษา โดย บาทหลวงวัชรินทร์ สมานจิต 6) หลักการบูรณาการสิทธิมนุษยชนเข้าสู่หลักสูตรการเรียนรู้ โดย รศ.ดร.วไล ณ ป้อมเพชร และในช่วงสุดท้ายครูได้ทดลองทำแผนการเรียนรู้ พร้อมทั้งนำเสนอ โดย อาจารย์วไล เป็นผู้พิจารณา - ให้ข้อเสนอแนะ และให้คุณครูนำไปปรับปรุง แก้ไข และนำไปทดลองใช้ในโรงเรียน

 



จัดเสวนาในประเด็น เรียนรู้ เข้าใจ และสมานฉันท์ ต่อสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปสู่การจุดประเด็น ท้าทายต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และจุดยืนของพระ ศาสนจักรในการทำงานกับพี่น้องต่างศาสนา

โดยประสานไปยังพระสังฆราช ประธาน ศรีดารุณศีล พระสังฆราชประจำสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี เพื่อให้การเสวนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในงานสัมมนาพระสงฆ์ นักบวช และฆราวาส ประจำปี 2005 ของสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2548 ณ บ้านชุมพาบาล อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี 

การเสวนาครั้งนี้ ประกอบด้วยวิทยากร 2 ท่านใน 2 หัวข้อ ได้แก่ "ความเชื่อและวิถีชีวิตของพี่น้องมุสลิมวิถีชีวิต ความเชื่อ และความจริงจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น" โดย อ.สุกรี หลังปูเต๊ะ คณบดี คณะศิลปศาสตร์ วิทยาลัยอิสลามยะลา และคุณพ่ออิกญาซิอุส อิสมาร์โตโน เอส เจ. ในเรื่องแนวคิดสมานฉันท์ การทำงานในพื้นที่ต่างศาสนา จากประสบการณ์การทำงานศาสนสัมพันธ์ในประเทศอินโดนีเซีย 

ซึ่งในการเสวนาครั้งนี้มีผู้เข้าฟังประกอบด้วย บาทหลวง ซิสเตอร์ และฆราวาสคาทอลิกในเขตภาคใต้ ได้แก่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา นครศรีธรรมราช ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมประมาณ 160 คน ซึ่งได้รับความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวมุสลิมและมีความเข้าใจในศาสนาอิสลามมากขึ้น และที่สำคัญคือได้ทำความเข้าใจและเกิดการยอมรับในเรื่องความแตกต่าง ความหลากหลาย ของผู้คนต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา แต่สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้ หากยอมรับในความต่างและความเหมือนที่เรามี

 



จัดเสวนาเนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนของพระศาสนจักรคาทอลิกแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ "60 ปี สันติภาพไทย ภารกิจศาสนิกกับการปกป้องสิทธิมนุษยชน" เมื่อวันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2548 ณ ห้อง Centenary Hall อาคารมูลนิธิเซนต์คาเบรียล ซ.ทองหล่อ 25 กรุงเทพฯ 

เนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนฯ ประจำปี 2548 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 2548 คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.) ร่วมกับชมรมนักบวชหญิง ฝ่ายยุติธรรมและสันติของคณะอุร์สุลิน และฝ่ายยุติธรรมและสันติของคณะเซนต์คาเบรียล จึงจัดเสวนาเรื่อง "60 ปี สันติภาพไทย ภารกิจศาสนิกกับการปกป้องสิทธิมนุษยชน" ขึ้น เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนของพระศาสนจักรคาทอลิกแห่งประเทศไทยต่อการทำงานเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ ตลอดจนร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพี่น้องที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อให้เกิดการตระหนักและมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสันติภาพให้เกิดขึ้น โดยการเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ตลอดจนให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่เผชิญกับความรุนแรงและการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

ก่อนเริ่มการเสวนา ได้มีวจนพิธีกรรมเปิด โดย คุณพ่อวัชรินทร์ สมานจิต ต่อด้วยปาฐกถา "ภารกิจศาสนิกกับการปกป้องสิทธิมนุษยชน" โดย ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จากนั้นจึงเป็นการเสวนา "สิทธิมนุษยชนและสันติภาพ จากสถานการณ์พื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้" โดย รศ.เสาวนีย์ จิตต์หมวด คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) และคุณหมอบัญชา พงษ์พานิช กลุ่มศึกษาที่สวนโมกข์และคณะกรรมการ กอส. ดำเนินรายการโดย คุณชื่นสุข อาศัยธรรมกุล ผู้ประสานงานแนวร่วมความก้าวหน้าของผู้หญิง หลังจากนั้นจึงเป็นการบรรยายเรื่อง สิทธิมนุษยชนในมุมมองคริสตชน โดย Fr.Ignatius Ismartono.SJ. Catholic Commission for Inter-religious Dialogue, Indonesia โดยมีคุณกัทลี สิขรางกูร กรรมการ ยส. ช่วยแปลเป็นไทย ปิดท้ายด้วยการจุดเทียนชัยแห่งสันติภาพร่วมกัน

 



ยส. เป็นองค์กรร่วมจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "สิทธิมนุษยชนศึกษา เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย" เนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากล ระหว่างวันที่ 7-8 ธันวาคม 2548 ณ โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ 

โดยร่วมกับคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนศึกษา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานครเขต 1 โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี และโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ซึ่งภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งจัดแสดงโดยนักเรียนในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้ มีการนำเสนอวีดีทัศน์สิทธิมนุษยชนศึกษา การบรรยายเรื่อง "สิทธิมนุษยชนศึกษาในสังคมไทยและสังคมโลก" โดย รศ.ดร.วไล ณ ป้อมเพชร อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนศึกษา การบรรยายเรื่อง "สิทธิมนุษยชนศึกษา : การสร้างกระบวนการเรียนรู้สู่วัฒนธรรมและวิถีชีวิตสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย" โดย ผศ.ดร.สุทิน นพเกตุ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การอภิปรายเรื่อง "สิทธิมนุษยชนกับความสุขของครอบครัว" โดย ศาสตราจารย์ (เกียรติคุณ) พญ.ชนิกา ตู้จินดา ประธานศูนย์กุมารเวชโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันทดสอบความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหาแนวทางร่วมมือพัฒนาสิทธิมนุษยชนศึกษาในสถาบันการศึกษา และการจัดทำแผนการเรียนรู้เพื่อบูรณาการสาระสำคัญด้านสิทธิฯ ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สำหรับในช่วงบ่ายทาง ยส.ได้จัดฉายภาพยนตร์เรื่อง Whale Rider โดยมีนักเรียนระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี เข้าชมประมาณ 400 คน หลังจากภาพยนตร์จบ คุณอัจฉรา สมแสงสรวง เลขาธิการ ยส. ได้ตั้งประเด็นพูดคุยเกี่ยวกับความประทับใจต่อเนื้อหาสาระในภาพยนตร์ และเกี่ยวข้องกับสิทธิของใคร นั่นก็คือ สิทธิในความเสมอภาคทางเพศ สิทธิในการอนุรักษ์ฟื้นฟูจารีตประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชนเผ่าเมารี ในประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งได้รับความสนใจและตอบรับเป็นอย่างดีจากนักเรียนซึ่งได้รับความรู้ด้านสิทธิซึ่งสอดแทรกอยู่ในความบันเทิงนั้นด้วย

 



โครงการมหกรรมภาพยนตร์สิทธิมนุษยชน สันติภาพ และประชาธิปไตย ระหว่างวันที่ 9 -16 ธันวาคม 2548 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ 

สืบเนื่องจากคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์สิทธิมนุษยชน ภาคประชาชน ได้จัดงานสัปดาห์สิทธิมนุษยชน 2548 "สิทธิมนุษยชน คือจุดเริ่มต้นของสันติภาพ" ระหว่างวันที่ 9 -16 ธันวาคม 2548 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.) ร่วมกับสถาบันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นองค์กรร่วม จึงจัดมหกรรมภาพยนตร์สิทธิมนุษยชน สันติภาพ และประชาธิปไตย โดยเลือกหนังที่มีประเด็นเรื่องสิทธิ เช่น การละเมิดสิทธิ การยกย่อง และการเคารพสิทธิ ได้แก่ Hotel Rawanda, The Shawshank Redemption, I am sam, Grave of Fireflies, Erin Brokovick, Whale Rider, Gandhi และ Men of Honor ฉายให้แก่ประชาชนทั่วไปเข้าชม เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่สอดแทรกอยู่ในภาพยนตร์ เป็นการให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนอีกแนวทางหนึ่ง



FEATURE


10 สถานการณ์เด่น และ 10 สถานการณ์ด้อย ด้านสิทธิมนุษยชน

ในรัฐบาลทักษิณ ประจำปี 2548

จัดทำโดยสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) UNION FOR CIVIL LIBERTY (UCL) และคณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Coalition for the Protection of Human Rights Defenders)

10 สถานการณ์ด้อยด้านสิทธิมนุษยชน ในรัฐบาลทักษิณ ได้แก่

1. การออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 

รัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ได้อ้างสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อออกพระราชกำหนดประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2548 ซึ่งการออกพระราชกำหนดนี้ ได้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ที่ประกาศใช้พระราชกำหนดโดยไม่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจโดยปราศจากการควบคุม ซึ่งเหมือนกับเป็นการออกใบอนุญาตให้ฆ่า ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายประชาชนอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น

2.คนไทยอพยพลี้ภัยในประเทศมาเลเซีย

เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2548 คนไทยจำนวน 131 คน จาก จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส ได้อพยพขอลี้ภัยในประเทศมาเลเซีย เนื่องจากรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งจากกลุ่มผู้ก่อการและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยพวกเขาให้เหตุผลว่า เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีหน้าที่ในการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตหรือปกป้องสิทธิในชีวิตโดยตรงไม่อาจให้ความคุ้มครองได้จึงขอลี้ภัยไปประเทศเพื่อนบ้าน

3. สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน

การละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนเป็นไปอย่างกว้างขวางหลากหลายรูปแบบซึ่งส่งผลกระทบต่อเสรีภาพของสื่อมวลชนและสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ดังเห็นได้จาก กรณีดังต่อไปนี้
1).การยกเลิกรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ของเครือผู้จัดการ การข่มขู่คุกคามผู้ดำเนินรายการฯ ในรูปแบบต่างๆ เช่น การขว้างระเบิดสำนักงาน น.ส.พ.ผู้จัดการ
2).การใช้อำนาจตรวจสอบวิทยุชุมชนที่เสนอความเห็นที่แตกต่างจากรัฐ เช่น วิทยุชุมชนเอฟเอ็ม 92.25
3).การใช้สื่อของรัฐเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชน โดยกล่าวโทษการทำงานของสื่อมวลชนในทางที่เป็นการชี้นำให้สาธารณชนเข้าใจผิด เช่น ติเตียนว่าสื่อมวลชนไม่รักชาติ สื่อมวลชนไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

4.ความไม่คืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนคดีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)

จากกรณีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยซึ่งถูกคุกคามให้สูญหายและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากในยุครัฐบาลนี้ โดยเฉพาะกรณีนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความนักสิทธิมนุษยชน ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 การลอบสังหารนายเจริญ วัดอักษร แกนนำกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก จ.ประจวบ คีรีขันธ์ ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2547 และกรณีการลอบสังหารพระสุพจน์ สุวโจ เจ้าอาวาสสถานปฏิบัติธรรม วัดสวนเมตตาธรรม อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ที่ดินป่าต้นน้ำ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2548 ซึ่งทั้ง 3 คดีนี้ อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) จึงเป็นที่คาดหวังของสังคมว่าจะสามารถคลี่คลายความเป็นจริงและให้ความยุติธรรมแก่ครอบครัวผู้ถูกกระทำได้ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษในการสืบสวนสอบสวนขยายผลในคดีดังกล่าวแต่อย่างใด

5. การพยายามออกกฎหมายป่าชุมชนที่ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ซึ่งเกิดจากการที่ประชาชนจำนวน 52,968 คน ได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนต่อรัฐสภาเพื่อให้รับรองสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนตามมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญ แต่วุฒิสภากลับไปแก้ไขหลักการสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ไม่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ เป็นการกีดกันไม่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการป่าชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นการไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายป่าชุมชนที่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร และมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเป็นการรอนสิทธิของชุมชนที่มีการจัดการป่าชุมชนในพื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้ว

6.สิทธินักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

ในรอบปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์สำคัญซึ่งเป็นการละเมิดสิทธินักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน 2 กรณีคือ การลอบสังหารพระนักอนุรักษ์ พระสุพจน์ สุวโจ เจ้าอาวาสวัดสวนเมตตาธรรม อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งลุกขึ้นมาปกป้องที่ดินป่าลุ่มน้ำ และภายหลังจากถูกฆาตกรรมแล้ว ยังมีการลอบวางเพลิงบ้านพักของพยานผู้พบศพคนแรก นอกจากนี้ พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ ประธานกลุ่มเสขิยธรรม ซึ่งออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องในคดีของพระสุพจน์ ก็ถูกข่มขู่คุกคาม อย่างต่อเนื่อง และการข่มขู่คุกคามนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ ก็ยังคงตกอยู่ในอันตรายและเผชิญกับการคุกคามจากผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ซึ่งมีผลต่อขวัญและกำลังใจของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างยิ่ง

7. การจ้างเหมาแรงงานที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิแรงงานอย่างรุนแรง

ในรอบปีทีผ่านมา ผู้ประกอบการหรือนายจ้างทุกสาขาการผลิตและบริการ ได้ใช้วิธีการจ้างงานโดยการเหมาค่าแรงให้บุคคลหรือนิติบุคคล จัดส่งลูกจ้างของตนไปทำงานในกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการ หรือส่งงานไปทำที่บ้านโดยการเหมาค่าแรง ซึ่งการจ้างงานวิธีการนี้ได้ส่งผลกระทบต่อสิทธิแรงงานในหลายๆ ด้าน เป็นช่องทางให้ผู้รับเหมาค่าแรงเอาเปรียบลูกจ้าง และละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายแรงงาน อาทิ ค่าจ้างที่ได้เป็นเพียงค่าจ้างขั้นต่ำหรือสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเพียงเล็กน้อย ไม่ได้รับสวัสดิการ ลาป่วยไม่ได้ค่าจ้าง นายจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาได้หากไม่พอใจ นอกจากนี้ไม่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อเจรจาต่อรองกับนายจ้างตามกฎหมายได้ ลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรงจึงตกอยู่ภายใต้สัญญาที่ไม่เป็นธรรม และเปรียบเสมือนวัตถุดิบหรือชิ้นงานที่พร้อมจะถูกส่งไปทุกหนแห่ง กระทบต่อความมั่นคงในการทำงานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

8. สิทธิในที่ดินของชุมชนที่ประสบภัยสึนามิ

ชุมชนที่ประสบภัยสึนามิ ได้แก่ ชุมชนทับตะวัน ชุมชนแหลมป้อม ชุมชนบ้านในไร่ จังหวัดพังงา ประสบกับปัญหาที่อยู่อาศัยและพื้นที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ ภายหลังภัยสึนามิ นายทุนพยายามอ้างความเป็นเจ้าของที่ดินในพื้นที่ตั้งของ 3 ชุมชนดังกล่าว โดยใช้มาตรการทางกฎหมาย การคุกคามชาวชุมชนในรูปแบบต่างๆ เพื่อกดดันให้ชาวชุมชนออกจากพื้นที่ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ปัญหาก็ยังไม่คลี่คลาย ชาวชุมชนนอกจากจะต้องประสบกับการสูญเสียชีวิตครอบครัวและทรัพย์สินแล้ว จึงยังต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงในเรื่องที่อยู่อาศัยอีก ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงต่อการมีชีวิตรอดของชาวชุมชนเป็นอย่างยิ่ง

9. สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงมีการซ้อมผู้ต้องหาเพื่อให้รับสารภาพ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของผู้ต้องหา ซึ่งการจับกุมคุมขังจะกระทำด้วยการทรมานทารุณกรรมและบังคับขู่เข็ญเพื่อให้รับสารภาพ

10. สิทธิในการได้รับความปลอดภัยในชีวิต

การเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในลักษณะ "การฆ่ารายวัน" ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง อาทิ การสังหารโหดนาวิกโยธิน 2 นาย หรือกรณีอื่นๆ โดยยังไม่สามารถให้ความปลอดภัยต่อชีวิตอย่างเพียงพอ


10 สถานการณ์เด่นด้านสิทธิมนุษยชน ในรัฐบาลทักษิณ มีดังนี้

1. สิทธิชนเผ่าแม่อาย

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2548 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาตัดสินให้ชาวบ้านแม่อายชนะคดีฟ้องร้องกรมการปกครอง จังหวัดเชียงใหม่ และนายอำเภอแม่อาย ฐานไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มีผลให้ยกเลิกประกาศอำเภอแม่อาย และอำเภอแม่อายต้องเพิ่มรายชื่อชาวแม่อายทั้ง 1,243 คนกลับเข้าสู่ทะเบียนบ้าน ตามเดิม

ทั้งนี้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.แม่อาย พ.ศ.2499 เริ่มมีการสำรวจสำมะโนครัวจัดทำทะเบียนบ้านแต่ไม่ทั่วถึง ต่อมาที่ทำการกิ่ง อ.แม่อายถูกไฟไหม้ ทำให้เอกสารทะเบียนราษฎรถูกทำลาย ประกอบกับช่วงปี2517-2518 มีการสู้รบแนวชายแดนทำให้มีราษฎรตามแนวชายแดนอพยพมาอยู่รวมกันในเขต อ.แม่อายรวมถึงผู้ลี้ภัยสงคราม รัฐบาลในขณะนั้นจัดให้มีการลงทะเบียนและทำบัตรผู้ผลัดถิ่นสัญชาติพม่า และมีนโยบายผลักดันผู้ที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราชการออกนอกราชอาณาจักร ประกอบกับเจ้าหน้าที่ผลักภาระการพิสูจน์สัญชาติไทย ส่งผลให้ชาวบ้านบางส่วนหลงไปลงทะเบียนผู้ผลัดถิ่นสัญชาติพม่า ในปี 2537 ราษฎรอำเภอแม่อายถวายฎีกาต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อขอความเป็นธรรม กรมการปกครอง และอำเภอแม่อาย จึงดำเนินการตรวจสอบพยานหลักฐานและเห็นว่าเป็นคนไทยตกหล่นจริงจึงเพิ่มชื่อกลับเข้าทะเบียนบ้าน และเป็นแนวปฏิบัติต่อราษฎรรายอื่นที่มายื่นคำร้องต่ออำเภอในเวลาต่อมา

2. สิทธิคนไทยพลัดถิ่นที่จังหวัดระนอง

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2546 นายประเสริฐ อินทรจักร คนไทยพลัดถิ่นได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จับกุม และตั้งข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และต่อมาวันที่ 10 สิงหาคม 2548 ศาลจังหวัดระนอง ได้มีคำพิพากษาว่าคนไทยพลัดถิ่นถือเป็นคนเชื้อชาติไทยแต่ไม่มีสัญชาติไทย สามารถได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยได้ ซึ่งศาลมองว่าคนเชื้อชาติไทยย่อมมีสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทย แม้ในช่วงที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย

3.สิทธิในการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์

จากการต่อสู้ของเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี / เอดส์ประเทศไทย และเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายยาต้านไวรัสเอดส์ให้กับผู้ติดเชื้อ / ผู้ป่วยเอดส์ในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เมื่อปี 2544 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2548 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ประกาศให้ยาต้านไวรัสเอดส์เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยรัฐบาลได้อนุมัติเงินงบประมาณ 2,700 ล้านบาทในการดำเนินการ และจะเตรียมความพร้อมของระบบที่ให้บริการยาต้านไวรัสเอดส์ได้ภายในเวลา 3 เดือน (ตุลาคม - ธันวาคม 2548)

4. สิทธิผู้ต้องหา / ผู้เสียหาย

จากการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกคำสั่งเรื่องการปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ต่อสื่อมวลชน และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ลง ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2548 เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการห้ามนำหรือจัดให้ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือพยาน มาให้ข่าว แถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน รวมทั้งการห้ามนำสื่อมวลชนทำข่าวหรือถ่ายภาพในขณะเข้าปฏิบัติการตรวจค้น จับกุม รวมทั้งหลักเกณฑ์ในการนำผู้ต้องหาชี้สถานที่เกิดเหตุ และการนำตัวผู้ต้องหาชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ ถือเป็นความก้าวหน้าของตำรวจไทยในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหา เพราะผู้ต้องหาควรได้รับการปฏิบัติว่าเป็นคนบริสุทธิ์จนกว่าจะมีการพิสูจน์ในศาลแทนการตราหน้าตามสื่อมวลชน และเป็นการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลที่จะไม่ถูกเผยแพร่ภาพและข่าวสารไปยังสาธารณชน

5. สิทธิผู้ป่วย

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2548 ศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำพิพากษาสั่งให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชดใช้เงินค่าเสียหายจำนวน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2542 เป็นต้นไป ให้แก่นางดอกรัก เพ็ชรประเสริฐ ซึ่งฟ้องร้องกระทรวงสาธารณสุข ฐานปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ โดยแพทย์วินิจฉัยโรคผิดพลาด ฉีดยาผิดจนเกิดอาการแพ้ยาจนตาบอดทั้งสองข้างทำให้ต้องทนทุกข์ทรมานเป็นเวลาถึง 6 ปี

6. การแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)

โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการซึ่งประกอบด้วยบุคคลจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคมเพื่อหาทางยุติปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่สำคัญในการเสนอแนะนโยบาย มาตรการ กลไก และวิธีการสร้างความสมานฉันท์และสันติสุขในสังคมไทย โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และมีส่วนช่วยสร้างความยุติธรรม ลดความไม่เข้าใจระหว่างกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ขจัดเงื่อนไขและป้องกันปัญหาความรุนแรง และสร้างสามัคคีธรรมให้เกิดขึ้นในชาติ อันถือเป็นแนวทางสันติวิธีในการแก้ไขการละเมิดสิทธิที่รุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

7. ศาลปกครองสูงสุดสั่งห้ามขายหุ้น กฟผ.ชั่วคราว

เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและองค์กรภาคประชาชน ร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ให้ชะลอการนำ กฟผ.เข้าตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 16 - 17 พฤศจิกายน 2548 ไว้ก่อน เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของรัฐโดยการออกพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับซึ่งประกอบด้วย พระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจสิทธิและประโยชน์ของ กฟผ. และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะสร้างความเสียหายต่อประชาชนทั่วไป และในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2548 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ระงับการดำเนินการเพื่อการเสนอขายหรือการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวกับการขายหุ้นไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

8. สิทธิสตรีและเด็ก

คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและแก้ไขการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เพื่อจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไปก่อนมีการบังคับใช้เป็นกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรีในครอบครัวที่ประสบปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัว

9. แผนแม่บทสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

รัฐบาลได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อเรื่อง สิทธิมนุษยชน สังคมไทย มาตรการสู่การปฏิบัติ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2548 ณ โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัลพลาซ่า โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนในส่วนต่างๆ และนายกฯ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทด้านสิทธิมนุษยชน จึงนับเป็นอีกก้าวหนึ่งของสังคมไทยที่ทุกภาคส่วนจะได้มีส่วนร่วมในการทบทวนและจัดทำแผนด้านสิทธิมนุษยชนและนำไปสู่การปฏิบัติอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่รัฐบาลมีการละเลยเพิกเฉยมาเป็นเวลานาน

10. ประกันสังคมโดยขยายการคุ้มครองสิทธิแรงงาน

โดยกรณีการคลอดบุตร ซึ่งเดิมมีการกำหนดให้ไม่เกินรายละ 6,000 บาท ได้ขยายให้เป็นไม่จำกัดวงเงิน และการสงเคราะห์บุตร จากเดิมคนละ 200 บาท เป็น 350 บาท ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี ซึ่งถือเป็นการคุ้มครองสิทธิของแรงงานผู้ประกันตน




สารวันสิทธิมนุษยชนของพระศาสนจักรคาทอลิกแห่งประเทศไทย
วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 2548
"การให้อภัยและการคืนดี หนทางสู่สันติภาพที่แท้จริง"

พี่น้องคริสตชนผู้มีน้ำใจดีทั้งหลาย

เนื่องด้วยวันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 2548 เป็นวันสิทธิมนุษยชนของพระศาสนจักรคาทอลิกแห่งประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรณรงค์ให้คริสตชนตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ที่เท่าเทียมกันตามจิตตารมณ์พระวรสาร และมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสันติภาพให้เกิดขึ้นในสังคม

ในปี 2548 นี้ ประเทศไทยได้จัดงานฉลองในโอกาสครบรอบ 60 ปี สันติภาพไทยและสันติภาพสากล (การก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ เมื่อ 26 มิถุนายน 2488) เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีของเสรีไทยและผู้เสียสละชีวิตเพื่อรักษาสันติภาพในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง และเพื่อเป็นการเผยแพร่แนวทางแห่งสันติภาพและการรักใคร่ปรองดองในหมู่มวลมนุษย์ โดยไม่จำแนกเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อและวัฒนธรรม ให้ธำรงไว้ซึ่งการยึดมั่นในแนวทางแห่งสันติ

แต่ในความเป็นจริง สถานการณ์ปัจจุบันทั้งในสังคมโลกและสังคมไทยยังปราศจากสันติภาพอย่างแท้จริง ซึ่งเกิดจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มากขึ้น โดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่พระเจ้ามอบให้อย่างเท่าเทียมกัน มนุษย์ตระหนักในคุณค่าของมนุษย์ด้วยกันเองน้อยลง ศาสนาถูกลดคุณค่าและความสำคัญลง ขณะเดียวกันสังคมกลับให้ความสำคัญกับทุนนิยมและบริโภคนิยมมากยิ่งขึ้น เกิดการแข่งขัน แก่งแย่ง เกิดความขัดแย้ง มนุษย์ยินยอมให้ความละโมบและอคติ ความเย็นชาต่อผู้ที่เดือดร้อนครอบงำจิตใจและมโนธรรมแห่งสันติ จนนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งทุกคนต่างมีส่วนได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังเช่นสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันในหลายๆ พื้นที่ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรา ที่ส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก นำมาซึ่งความไม่ไว้วางใจต่อกัน ทำให้ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในอดีตกลายเป็นความระแวงสงสัย และนำเอาเรื่องความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และสถานะทางสังคม ฯลฯ มาเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่ความเกลียดชัง การเลือกปฏิบัติ และการแบ่งแยกฝ่าย จนในที่สุดกลายเป็นความไม่สงบที่เกิดขึ้นในสังคม

จำเป็นอย่างยิ่งที่พระศาสนจักรคาทอลิกแห่งประเทศไทย ต้องหันมาพิจารณาอย่างถ่องแท้ และให้ความสำคัญต่อกรณีดังกล่าว ทั้งนี้เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นเป็นเรื่องที่สวนทางกับแนวคิดและวิถีปฏิบัติของคริสตชน ที่องค์พระผู้เป็นเจ้า ‘องค์แห่งสันติ' ทรงเป็นผู้ริเริ่มและวางรากฐานแห่งสันติภาพโลก พระคริสตเจ้าเป็นผู้ทำลายพรมแดนแห่งอุปสรรคความแตกต่างนี้ บุคคลผู้ใดสร้างสันติ ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าจะทรงเรียกเขาว่าเป็นบุตร (มธ. 5:9)

ดังคำสอนในพระคัมภีร์ที่ว่า แม้ร่างกายเป็นร่างกายเดียว แต่ก็มีอวัยวะหลายส่วน อวัยวะต่างๆ เหล่านี้ แม้จะมีหลายส่วนก็ร่วมเป็นร่างกายเดียวกันฉันใด พระคริสตเจ้าก็ฉันนั้น เดชะพระจิตเจ้าพระองค์เดียว เราทุกคนจึงได้รับการล้างมารวมเข้าเป็นร่างกายเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นชาวยิวหรือชาวกรีก ไม่ว่าจะเป็นทาสหรือเป็นไทก็ตาม เราทุกคนต่างได้รับพระจิตเจ้าพระองค์เดียวกัน (1 คร. 12:12-13)

เราต้องไม่มองเพื่อนพี่น้องด้วยสายตาที่เห็นเขาเป็นศัตรู คนแปลกหน้า หรือเป็นคนอื่น หากเรามีความเชื่อในพระเจ้า ผู้เป็นองค์แห่งการคืนดี พระองค์ทรงมอบหมายหน้าที่ฑูตแห่งการสร้างการคืนดี (2 คร.5:19-20) ให้แก่เรา พระองค์ประกาศให้เราเอาใจใส่ต่อเพื่อนพี่น้องทุกคน ทั้งนี้การรู้จักพระเจ้าอย่างแท้จริง ก็มาจากการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพี่น้องผู้อื่นที่กำลังทุกข์ยาก (2 คร.5 :14-16)

นอกจากนี้ พระศาสนจักรคาทอลิกแห่งประเทศไทยยังตระหนักดีว่าในการฟื้นฟูสันติภาพ มีองค์ประกอบที่สำคัญ คือการเคารพศักดิ์ศรีและสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ และการปฏิบัติความรักและความยุติธรรม แต่กระบวนการสร้างสันติภาพในสังคมจะเป็นจริงไม่ได้ หากขาดทัศนคติแห่งการคืนดีและการให้อภัยที่ต้องหยั่งรากอยู่ในจิตใจมนุษย์ทุกคน1  วิถีทางแห่งสันติภาพก็ยากที่จะบรรลุได้

ในวาระนี้ ขอเชิญชวนพี่น้องคริสตชนร่วมใจกันภาวนาสร้างวิถีแห่งสันติภาพ ด้วยการร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพี่น้องที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม โดยการพยายามเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยสายตาแห่งความรัก เมตตา และขันติธรรม เปิดใจกว้าง ลดอคติ รวมทั้งยอมรับในความแตกต่างทางความคิด เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และสถานะภาพทางสังคมที่แตกต่างกันพร้อมกันนี้ ช่วยกันแสวงหาแนวทางและลงมือปฏิบัติเพื่อช่วยให้สันติสุขกลับคืนมาโดยเร็ว และขอให้หัวใจของทุกคนเต็มไปด้วยการให้อภัยและการคืนดี เพื่อสันติภาพที่แท้จริงจะได้เกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างถาวร

ขอพระคริสตเจ้าทรงอวยพรแก่พี่น้องผู้มีน้ำใจดีทั้งหลาย


(มีคาแอล บุญเลื่อน หมั้นทรัพย์)
พระสังฆราชสังฆมณฑลอุบลราชธานี
มุขนายกคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

----------------------------------------------------------

1 ที่สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น พอล ที่ 2 ได้กล่าวไว้ในสารวันสันติภาพสากล ปี 1997 ที่ว่า จงให้อภัยและน้อมรับสันติ (Offer forgiveness and Receive peace)


 

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >