หน้าหลัก arrow กิจกรรม ยส. arrow กิจกรรมย้อนหลัง arrow กิจกรรมของ ยส. 1/2005 (ม.ค. - มิ.ย.)
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 103 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

กิจกรรมของ ยส. 1/2005 (ม.ค. - มิ.ย.) พิมพ์
Monday, 22 May 2006


จดหมายข่าว ยส. 1/2005 (ม.ค. – มิ.ย.)

กิจกรรมของ ยส.  

Of Thousands of words, Images and Impressions

JP Newsletter ฉบับนี้เริ่มต้นด้วยการแจ้งให้ทราบว่า คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ มีเลขาธิการคนใหม่คือ คุณอัจฉรา สมแสงสรวง ซึ่งเข้ารับตำแหน่งแทน รศ.ดร.วไล ณ ป้อมเพชร เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คุณอัจฉราเคยร่วมงานในองค์กร ยส. ระหว่างปี 1985 - 1997 ( 8 ปี ในฝ่ายงานการศึกษา และ 5 ปีในตำแหน่งผู้ประสานงาน) เธอไปศึกษาต่อปริญญาโท สาขาสังคมวิทยา ที่ Asian Docial Institute ฟิลิปปินส์ ปี 1997 - 2000 หลังจากนั้นเข้าไปรับผิดชอบงานการศึกาของคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนา ปี 2000 - 2002 และร่วมทำงานกับคณะเยสุอิตประเทศไทย เป็นเวลา 3 ปี (2002 - 2005) ในโครงการศูนย์การศึกษาต่อเนื่องด้านสังคม เพื่อส่งเสริมฆราวาสให้มีบทบาทต่อพระศาสนจักรและสังคม

การกลับมาในคำรบที่สองนี้ เป็นช่วงเวลาที่องค์กร ยส.เองก็เติบโต หรือกล่าวได้ว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว ความทุกข์ยากจากการทำงานในอดีต ได้กลายเป็นผลสำเร็จในภาวะปัจจุบัน ซึ่งมาจากปัจจัยภายในคือ ความพยายามที่ไม่สิ้นสุดในการดำเนินตามเป้าหมาย ด้วยการมีหัวใจเดียวกันของฆราวาสผู้ปฏิบัติงาน และความร่วมมือจากกลุ่มเป้าหมายผู้ซึ่งในเวลานี้ได้ตระหนักและยอมรับในพันธ กิจส่งเสริมความยุติธรรม ว่าเป็นเครื่องมือและเป้าหมายที่จะทำให้แผนการของพระเจ้าบรรลุอย่างจริงจัง ได้ ด้วยเหตุนี้ดุลยภาพที่เกิดขึ้นจากภายในองค์กรเอง และจากผู้มีน้ำใจดีภายนอก ถือว่าเป็นแรงผลักที่องค์กร ยส.ต้องเดินรุดหน้าต่อไป ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติความรักและ ยุติธรรม อันเป็นสัจธรรมเดียวที่มนุษย์ไม่เคยสิ้นสุดต่อการแสวงหา...

 



CCJP On The Move

 

จัดมิสซาเฉลิมฉลองวันสันติภาพสากล ร่วมกับ เจ้าอาวาสอาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก

เนื่องในโอกาสวันสันติภาพสากลประจำปี 2548 คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ ได้จัดมิสซาเฉลิมฉลองวันสันติภาพสากล ร่วมกับเจ้าอาวาสอาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม 2548 โดยได้รับเกียรติจากคุณพ่อเกรียงศักดิ์ โกวิทวณิช เป็นประธานในพิธีมิสซา ซึ่งได้นำเนื้อหาจากสารวันสันติภาพของสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น พอล ที่ 2 ในหัวข้อ "จงอย่าให้ความชั่วชนะ แต่จงชนะความชั่วด้วยความดี" มาเป็นแนวเทศน์เพื่อให้ สัตบุรุษได้เห็นความสำคัญของวันสันติภาพสากลและตระหนักในการมีส่วนร่วมสร้างสันติภาพร่วมกัน ซึ่งการจัดมิสซาในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก 




เยี่ยมคำนับท่านคาร์ดินัล เรนาโต ราฟาเอล มาร์ติโน (Cardinal Renato Raffaele Martino)

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2548 คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคำนับท่านคาร์ดินัล เรนาโต ราฟาเอล มาร์ติโน ประธานสมณกระทรวงว่าด้วยความยุติธรรมและสันติ เนื่องในโอกาสที่ท่านมาเยือนประเทศไทย ซึ่งการเข้าเยี่ยมคำนับในครั้งนี้ ท่านมาร์ติโน ได้ให้เวลากับคณะของ ยส. ซึ่งประกอบด้วย รศ.ดร.วไล ณ ป้อมเพชร เลขาธิการ (ชั่วคราว) ยส. คุณศราวุฒิ ประทุมราช กรรมการ ยส. คุณกัทลี สิขรางกูร กรรมการ ยส. คุณอัจฉรา สมแสงสรวง เลขาธิการ ยส. (ปัจจุบัน) และเจ้าหน้าที่ ยส. ในการแลกเปลี่ยนทรรศนะและรับทราบถึงงานด้านความยุติธรรม สันติภาพ และสิทธิมนุษยชน ซึ่ง ยส.ทำอยู่ ทั้งยังให้เกียรติคณะของ ยส. เยี่ยมชมภายในโบสถ์ ซึ่งท่านเป็นผู้ออกแบบเอง นำความประทับใจให้กับคณะของ ยส.เป็นอย่างยิ่ง




จัดสัมมนาร่วมกับเครือข่ายศาสนิก ในหัวข้อ "นโยบายศาสนา กับ อนาคตสังคมไทย (หลังการเลือกตั้ง???) 

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2548 คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ ร่วมกับเครือข่ายศาสนิก ประกอบด้วยกลุ่มเสขิยธรรม, สภาองค์การมุสลิมแห่งประเทศไทย, เครือข่ายพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคมนานาชาติ, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ได้จัดสัมมนาหัวข้อ "นโยบายศาสนา กับ อนาคตสังคมไทย (หลังการเลือกตั้ง???) ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีผู้เข้าร่วมฟัง ได้แก่ พระสงฆ์ นักบวชคาทอลิก ผู้นำมุสลิม นักเคลื่อนไหวทางสังคม นักศึกษา และประชาชนทั่วไป รวมประมาณ 150 คน 

การสัมมนาในครั้งนี้จัดขึ้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสำคัญๆ ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ได้แสดงวิสัยทัศน์ด้านศาสนา และแนวคิดด้านคุณธรรม-จริยธรรมในสังคม ส่วนประชาชนก็ได้ทราบข้อมูลประกอบการพิจารณาเลือกผู้แทนจากพรรคใดได้ชัดเจนขึ้น สำหรับพรรคไทยรักไทยปฏิเสธที่จะมาเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ ซึ่งจากการแถลงนโยบายและวิสัยทัศน์ของแต่ละพรรคการเมืองต่างก็บอกว่าพรรคตนตระหนักถึงความสำคัญของศาสนา คุณธรรมและจริยธรรม จึงไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลที่ดำเนินการในเรื่องของหวยบนดิน บ่อนเสรี และพนันบอล เนื่องจากทำลายค่านิยมที่ถูกต้องดีงามของสังคมไทย และพร้อมจะร่วมมือกับทุกเครือข่ายในสังคมไทย 

จากนั้นตัวแทนศาสนิก 3 ศาสนา ได้ร่วมแลกเปลี่ยนทรรศนะและฝากนโยบายด้านศาสนาไปยังตัวแทนพรรคการเมืองที่มาร่วมงาน เรียกร้องให้นักการเมืองนำธรรมะเป็นตัวนำในการดำเนินกิจกรรมการเมืองต่างๆ รวมทั้งให้เห็นความสำคัญของนโยบายในการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพของคนโดยเฉพาะครูที่ทำหน้าที่สั่งสอนนักเรียนให้มีศีลธรรมจริยธรรม

 



ต้อนรับการมาเยี่ยมเยียนของเจ้าหน้าที่จาก Justice and Peace Office - Auckland Catholic Diocese ประเทศนิวซีแลนด์ 

Mr.David Tutty เจ้าหน้าที่จาก Justice and peace Office - Auckland Catholic Diocese, Newzealand ซึ่งจะไปเข้าร่วมประชุม Justice and Peace Workers Networking meeting ครั้งที่ 6 ที่ประเทศปากีสถาน ในการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางจะต้องผ่านกรุงเทพฯ ก่อน Mr.David จึงถือโอกาสนี้เยี่ยมเยียนพบปะกับผู้คนที่ทำงานด้านต่างๆ ได้แก่ คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อสตรี ทีมงานของศูนย์ช่วยเหลือแรงงานไทยในต่างประเทศ และดูการปฏิบัติงานในบริเวณสลัมคลองเตย ของซิสเตอร์คณะแม่พระถวายตัว เพื่อทำความรู้จักและเข้าใจชีวิตผู้คนที่นี่เพื่อปูทางไปสู่การติดต่อประสานงานในโอกาสต่อไป 

ในการมาเยือนเมืองไทยครั้งนี้ของ Mr.David มี คุณกัทลี สิขรางกูร กรรมการอำนวยการของ ยส. และในนามขององค์กร ACPP ซึ่งทำงานร่วมกับยส.ในเอเชีย เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดตารางการเยี่ยมเยียนองค์กรต่างๆ ให้ โดยในช่วงบ่ายของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ได้มาเยี่ยมสำนักงานของ ยส. ได้พบปะพูดคุยรับทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับงานของ ยส. จากเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ของยส. และเป็นโอกาสที่เจ้าหน้าที่ของ ยส. ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของชาวนิวซีแลนด์ตลอดจนการทักทายของชนเผ่าพื้นเมืองชาวเมารี 




ร่วมกับศูนย์การศึกษาต่อเนื่องด้านสังคม จัดเสวนา "Tsunami : บทเรียนเรื่องสัญญาณแห่งกาลเวลา"

คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ ร่วมกับศูนย์การศึกษาต่อเนื่องด้านสังคม จัดเสวนา "Tsunami : บทเรียนเรื่องสัญญาณแห่งกาลเวลา" เพื่อนำเสนอผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้คนและชุมชนภายหลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ และไตร่ตรองเชิงลึกถึงปรากฏการณ์สึนามิ สิ่งบอกเหตุต่อสังคมในยุคเสรีนิยม รวมทั้งส่งเสริมการปฏิบัติเพื่อช่วยกันฟื้นฟูมิติความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติตามแนวคิดศาสนา งานจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2548 ณ ศูนย์พัฒนาบุคลากรอัสสัมชัญ ซ.ทองหล่อ 25 มีผู้เข้าร่วมประมาณ 70 คน จากคณะนักบวชและองค์กรต่างๆ
การเสวนาครั้งนี้มีผู้ดำเนินการอภิปรายประกอบด้วย พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ คุณศิริวรรณ สันติสกุลธรรม ประธานองค์กร SIGNIS เอเชีย และคุณพ่อสมเกียรติ ตรีนิกร ผู้ช่วยพระสังฆราชฝ่ายบุคลาภิบาล อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ 

คุณศิริวรรณ สันติสกุลธรรม ซึ่งลงไปยังพื้นที่หลังเกิดเหตุภัยพิบัติสึนามิและรายงานข่าวกลับมายังส่วนกลาง ได้นำเสนอมุมมองผ่านภาพการช่วยเหลือของหน่วยงานคาทอลิก โดยกล่าวถึงประสบการณ์ในครั้งนี้ว่า หลังจากเธอพบเห็นภาพความสูญเสีย ความเจ็บปวด และความเศร้าโศก ของผู้ประสบภัย ทำให้เธอรู้สึกเศร้าสลดใจกับภาพที่พบเห็น เด็กและคนชราได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิ แม้กระทั่งทุกวันนี้ ผู้คนที่พักอยู่ในบ้านชั่วคราวยังคงมีบาดแผลทางใจอยู่อีกมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องใช้ความรัก ความเข้าใจ และการอยู่เคียงข้างเท่านั้นจึงจะทำให้พวกเขาดีขึ้นได้

"บทบาทของพระศาสนาจักรคาทอลิกในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เน้นที่การช่วยเหลือทางจิตวิญญาณมากกว่าการช่วยเหลือทางวัตถุ เพราะการบาดเจ็บทางจิตใจนั้นมีมากเกินกว่าการที่จะเอาเงินหรือวัตถุใดๆ มาเยียวยาได้ เหตุการณ์สึนามิสะท้อนในแง่หนึ่งว่า มนุษย์เอาแนวความคิดที่เป็นวัตถุหรือเงินตราเป็นตัวนำในชีวิต สิ่งเหล่านี้นำมนุษย์ไปสู่หายนะอย่างมากมาย เพราะฉะนั้นคำถามก็คือเราน่าจะพยายามสอนคนรุ่นหลังซึ่งเป็นลูกหลานของเราให้เข้าใจจริงๆ ว่าความสุขของชีวิตและคุณค่าชีวิตนั้นอยู่ที่ไหน" คุณศิริวรรณกล่าว

ด้านพระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ซึ่งลงไปให้กำลังใจและให้ศาสนธรรมแก่อาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ได้กล่าวว่า ปรากฏการณ์สึนามิไม่ได้เป็นการตอบโต้หรือการแก้แค้นของธรรมชาติ หรือการลงโทษมนุษย์ เพราะสึนามิคือปรากฏการณ์ที่ธรรมชาติเพียงแค่จามหรือขยับตัวตามธรรมชาติมาหลายศตวรรษ แต่เป็นเพราะมนุษย์ได้เข้ามาอยู่อย่างผิดที่ผิดทาง ซึ่งเป็นผลพวงจากการพัฒนาที่เน้นในเรื่องเงินตราและทุนนิยมเป็นตัวตั้ง ทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้นเพราะไม่มีการเตรียมตัว ป้องกันภัย และไม่มีสำนึกในด้านความปลอดภัย ทั้งยังเสนอแนะอีกว่า "ในขณะที่ตอนนี้เราเป็นห่วงเยาวชนว่าเป็นพวกช็อปไว ใช้แหลก แดกด่วน ที่จริงเยาวชนไทยมีความดีอยู่เยอะ มีน้ำใจมาก เราต้องใช้โอกาสนี้ดึงเยาวชนมาทำงานอาสาสมัครอย่างต่อเนื่อง กว้างขวาง และเป็นระบบ ซึ่งอาจทำให้สังคมไทยเคลื่อนไปสู่ยุคใหม่ เช่นเดียวกับที่เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ได้เปลี่ยนสังคมไทยและเปลี่ยนจิตสำนึกคนไทย หากเราใช้สึนามิเป็นจุดขับเคลื่อน ให้เป็นจุดคานดีดคานงัดให้เกิดการเปลี่ยนจิตสำนึก คนรุ่นใหม่อาจเปลี่ยนแปลงเพราะเหตุการณ์สึนามิก็เป็นได้" 

ส่วนคุณพ่อสมเกียรติ ตรีนิกร ผู้ช่วยพระสังฆราชฝ่ายบุคลาภิบาล อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ กล่าวว่า "ปรากฏการณ์สึนามิทำให้ไตร่ตรองและคิดได้ว่า รอยร้าวบนผิวโลกอาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้และเตือนภัยได้ แต่มีรอยร้าวอีกหลายชนิดที่คร่าชีวิตคนและซัดโถมยิ่งกว่าสึนามิ นั่นคือความแตกแยก สงครามเศรษฐกิจที่เอารัดเอาเปรียบ ระบบเสรีนิยม ทุนนิยม ที่อาจจะมีรอยร้าวเข้าใส่กันและกัน และโถมซัดเข้าใส่ชีวิตมนุษย์ทุกวัน ที่สำคัญคือรอยร้าวประเภทหลังนี้เป็นเหตุการณ์ที่ควบคุมได้ รู้ก่อนได้ เจรจากันได้ รอยร้าวของสงคราม ความเกลียดชัง สามารถแก้ไขได้ แต่ทำไมมนุษย์เราไม่คิดจะแก้ไข เหตุการณ์สึนามิเป็นสัญญาณแห่งกาลเวลา ที่บอกกับมนุษย์ว่าถึงเวลาแล้วที่มนุษยชาติจะต้องอ่านเครื่องหมาย อ่านชีวิตปัจจุบัน อ่านสภาพทางเศรษฐกิจ อ่านรอยแตกร้าวที่เกิดจากสงคราม รอยร้าวที่เกิดขึ้นในหมู่คณะ หรือในหน่วยย่อยอย่างสถาบันครอบครัว เราน่าจะตื่นตัวที่จะปกป้องชีวิตจากรอยร้าวที่เกิดขึ้นในอณูที่เล็กที่สุดของสังคม เพื่อความยุติธรรม เพื่อสันติสุข เพื่อไม่เกิดรอยร้าวและความแตกแยก ทำให้มีการสูญเสียมากกว่าภัยธรรมชาติ"




ร่วมกับศูนย์การศึกษาต่อเนื่องด้านสังคม และ Cardijn Lay Community จัดบรรยายเรื่อง "40 ปี สมณสาสน์พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ และบทบาทของฆราวาสต่อสังคมโลกในยุคสมัยปัจจุบัน จากสมัชชาสังคมโลก" โดย Mr.Francisco Whitaker Ferreira เลขาธิการคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ สภาพระสังฆราชคาทอลิกบราซิล 

คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ ร่วมกับศูนย์การศึกษาต่อเนื่องด้านสังคม และ Cardijn Lay Community จัดบรรยายเรื่อง "40 ปี สมณสาสน์พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ และบทบาทของฆราวาสต่อสังคมโลกในยุคสมัยปัจจุบัน จากสมัชชาสังคมโลก" (From Gaudium et Spes to World Social Forum : the church and the world) โดย Mr.Francisco (Chico) Whitaker Ferreira เลขาธิการคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ สภาพระสังฆราชคาทอลิกบราซิล โดยมีคุณรุ่งโรจน์ ตั้งสุรกิจ กรรมการและเหรัญญิกคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ เป็นผู้ดำเนินรายการและผู้แปลภาษา การบรรยายจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2548 ณ ศูนย์พัฒนาบุคลากรอัสสัมชัญ ซอยทองหล่อ ผู้เข้าร่วมจำนวน 20 คน ประกอบด้วย นักบวชชาย-หญิง, นักธุรกิจคาทอลิก, ผู้บริหารโรงเรียนและครู, เจ้าหน้าที่องค์กรภายใต้สภาพระสังฆราชคาทอลิกฯ และสื่อมวลชน

Chico เป็นนักคิดนักเคลื่อนไหวด้านสังคมชาวบราซิล ซึ่งขณะยังเป็นนักศึกษาได้เข้าร่วมใน Young Catholic University Students Movement ในบราซิล และเป็นกรรมการของ Worker Party ช่วงปลายสังคายนาวาติกันที่ 2 ทำงานร่วมกับพระสังฆราชดอม เฮลเดอร์ คามารา ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขาธิการสภาพระสังฆราชแห่ง บราซิล และเปาโล แฟรร์ นักคิดนักการศึกษา Chico มีส่วนร่วมเสนอความคิดในการร่าง Gaudium et Spes ช่วงปลายทศวรรษ 1960 เขาถูกรัฐบาลเผด็จการบราซิลเนรเทศออกนอกประเทศ จึงไปใช้ชีวิตอยู่ในยุโรปโดยทำงานเป็นผู้อำนวยการโครงการเพื่อการพัฒนาของ Catholic Committee against Famine and development ในปี 2000 เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมัชชาสังคมโลก (World Social forum) ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนระดับสากลเพื่อคัดค้านเศรษฐกิจเสรีนิยมแนวใหม่ ขณะนี้เขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติในสภาพระสังฆราชคาทอลิกบราซิล 

Chico ได้เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การทำงานด้านสังคมของเขา ซึ่งเริ่มขึ้นสมัยที่ยังเป็นนักศึกษา เขาได้รับแรงบันดาลใจจากพระสงฆ์โดมินิกันชาวฝรั่งเศสชื่อ คุณพ่อหลุยส์ โจเซฟ เลอแบร์ (Louis Joseph Lebert) ซึ่งมาทำงานที่บราซิลและได้เขียนหนังสือชื่อ An Examination of Conscience for Modern Catholics เกี่ยวกับการไตร่ตรองมโนธรรมของคาทอลิกในโลกปัจจุบัน คุณพ่อพบช่องว่างระหว่างคนจน-คนรวย ในบราซิล มีคนจนมากถึง 30 ล้านคน ในเมืองมีสลัมมากมาย คุณพ่อได้พูดถึงศีลอภัยบาปว่า "ไม่ใช่เราทำผิดแล้วไปสารภาพบาปเท่านั้น ถ้าเราเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องในสังคม แต่ไม่ทำอะไรปล่อยไว้เฉยๆ ก็เป็นบาปเช่นกัน" จึงทำให้เขาสนใจปัญหาสังคม ผู้มีอิทธิพลต่อการทำงานด้านสังคมของ Chico ยังมี พระสังฆราชดอม คามารา ซึ่งทำงานด้านสังคม และเปาโล แฟรร์ ที่สนใจเรื่องการศึกษาของคนที่ถูกกดขี่และคนยากคนจน มีแนวความคิดเรื่องความเท่าเทียมกันและการเรียนรู้ซึ่งกันและกันของครูและศิษย์

Chico เล่าว่า ในบราซิลช่วงปี 1960 การเมืองมีปัญหามากเนื่องจากรัฐบาลเผด็จการ พระศาสนจักรและประชาชนออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ให้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม ปฏิรูปที่ดิน และช่วงเดียวกันนั้น สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ริเริ่มให้มีสังคายนาวาติกันที่ 2 สานต่อแนวคิดจากสังคายนาฯ ครั้งที่ 1 ที่พูดถึงพระศาสนจักรกับโลก ในช่วงนี้เองฆราวาสเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมากในการร่าง Gaudim et Spes หลังจากนั้น ปี 1964 บราซิลเกิดรัฐประหาร Chico ถูกเนรเทศออกนอกประเทศไปอยู่ฝรั่งเศสและชิลี ต่อมาปี 1982 เขาจึงได้กลับบราซิล

"มีอยู่ช่วงหนึ่งที่พระสังฆราชคามาราเรียกไปช่วยงาน ขณะนั้นสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ผลักดันให้พระศาสนจักรที่ต่างๆ มีแผนงาน มองไปสู่อนาคตว่าจะให้พระศาสนจักรเป็นเช่นไร และดูว่าพระวรสารบอกอะไรกับเรา สภาพระสังฆราชบราซิลพยายามวางแผนงานของพระศานจักรในประเทศให้สอดคล้องกับคำสอนของสังคายนาวาติกันที่ 2 ให้มีความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับพระศาสนจักร เป็นแผนงานที่ไม่ได้วางจากเบื้องบนอย่างเดียวแล้วให้พระศาสนจักรท้องถิ่นหรือส่วนต่างๆ ปฏิบัติตาม แต่ให้เป็นพระศาสนจักรที่เกิดมาจากบริบทของแต่ละแห่งที่ไม่เหมือนกัน มีการประชุมเกิดขึ้นมากมายเพื่อทำความเข้าใจว่าพระศาสนจักรคืออไร บทบาทของพระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวช ฆราวาสควรเป็นอย่างไร เป็นการประชุมที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ซึ่งพระศาสนจักรหลังสังคายนาวาติกันที่ 2 พยายามนำคำสอนมาทำความเข้าใจ ใช้ปฏิบัติ แต่ไม่ใช่ทุกส่วนที่ประสบความสำเร็จ การวางแผนงานของพระศาสนจักรต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ และหาวิธีการที่จะทำให้แผนตรงนั้นประสบความสำเร็จขึ้นมา"

Chico ได้กล่าวถึงพระศาสนจักรคาทอลิกว่า มีองค์ประกอบ 6 มิติด้วยกันคือ 1.เป็นชุมชนแห่งความเชื่อ มีความสัมพันธ์เป็นพี่เป็นน้อง เป็นเพื่อนกัน 2. ประกาศพระวรสารแก่ผู้อื่น 3.เรียนรู้ศึกษา เข้าใจพระคัมภีร์ให้ลึกซึ้ง 4.ด้านพิธีกรรม มีมิสซาบูชาขอบพระคุณ เฉลิมฉลองชีวิต 5.ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา เชื่อมโยงกับศาสนจักรอื่นที่แยกตัวออกไปและศาสนาอื่น แม้กระทั่งผู้ไม่ได้นับถือศาสนาแต่มีน้ำใจดีที่จะช่วยกันสร้างสรรค์สังคม 6.เป็นประกาศก ชี้ให้เห็นความไม่ถูกต้องในสังคมและมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไม่ดี เขาบอกว่า ทั้ง 6 มิติต้องควบคู่กันไป ไม่ควรขาดข้อหนึ่งข้อใดไป แต่พระศาสนจักรปัจจุบันเน้นด้านจิตวิญญาณ แต่ยังขาดมิติส่วนอื่น พระศาสนจักรในบราซิลเองเน้นใน 6 มิติดังกล่าว มีส่วนร่วมกับประชาชนต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ พระศาสนจักรหลายแห่งเปลี่ยนตัวเองแล้วหันมาทำงานอยู่เคียงข้างคนยากคนจน 




โครงการสิทธิมนุษยชนศึกษาจัดอบรมเรื่องสิทธิให้กับคณะครูโรงเรียนคาทอลิก

โครงการสิทธิมนุษยชนศึกษา คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้คณะครูโรงเรียนในเครืออัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 3-5 กุมภาพันธ์ ณ บ้านผู้หว่าน สามพราน จ.นครปฐม โดยมีครูจากกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ภาษาไทย ดนตรี วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เข้าร่วมทั้งหมด 17 คน ซึ่งการอบรมครั้งนี้ ครูที่เข้าอบรมได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ อย่างดี อีกทั้งยังสนใจที่จะให้มีการอบรมเชิงเทคนิคแบบเจาะลึกในเรื่อง "สิทธิเด็ก" ต่อไป 

และระหว่างวันที่ 4 - 5 มิถุนายน ได้จัดอบรมสิทธิมนุษยชนศึกษาให้ครูโรงเรียนเซนต์เทเรซา หนองจอก จำนวน 45 คน จากระดับชั้นอนุบาล ประถม และมัธยม โดยมีวิทยากร ได้แก่ รศ.ดร.วไล ณ ป้อมเพชร และคุณณัฐวุฒิ บัวประทุม นักกฎหมายจากมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 

การจัดอบรมครั้งนี้ได้ผลดี ครูที่เข้าอบรมได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก และการเขียนแผนการเรียนรู้แบบบูรณาการ แต่เนื่องจากมีเวลาจำกัดจึงทำให้รูปแบบการอบรมหนักไปทางการบรรยายและอภิปราย 

สำหรับการอบรมสิทธิมนุษยชนให้แก่ครูโรงเรียนเซนต์เทเรซา หนองจอก มีการจัดอบรมโดยแบ่งเป็น 3 ครั้ง ครูที่เข้าอบรมทั้งหมดจำนวน 112 คน จะจัดอีก 2 ครั้ง ระหว่างวันที่ 3-4 กันยายน และ 10-11 กันยายน 2548




จัดเสวนาร่วมกับกลุ่มเสขิยธรรม และสภาองค์การมุสลิมแห่งประเทศไทยหัวข้อ "จากทนายสมชาย นีละไพจิตร, เจริญ วัดอักษร ถึงพระสุพจน์ สุวโจ...ใครจะเป็นรายต่อไป" 

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2548 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิชาการอาวุโส คุณนิติ ฮาซัน ประธานสภาองค์กรมุสลิมแห่งประเทศไทย บาทหลวงวิชัย โภคทวี ตัวแทน คริสตศาสนิกชน โดยมี คุณสันติสุข โสภณสิริ เป็นผู้ดำเนินรายการ ในการเสวนาได้ร่วมกันไตร่ตรองถึงความเชื่อของ 3 ศาสนา และศีลธรรม ต่อกรณีความรุนแรง และเรียกร้องให้องค์กรศาสนาแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อความไม่ถูกต้องและการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นให้ผู้ที่รับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์และยุติธรรม 

ในการเสวนา ผู้ร่วมเสวนาแต่ละท่านต่างก็ได้แสดงทรรศนะต่อกระบวนการยุติธรรมของภาครัฐในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดที่ดูเหมือนว่ารัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรียังไม่จริงใจและจริงจังในการแก้ไขปัญหา และความเห็นต่อแนวทางการต่อสู้ของภาคประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติยังคงต้องใช้ความกล้า เชื่อมั่นในเรื่องของธรรมะและความถูกต้องในสิ่งที่ทำ และเห็นว่าเครือข่ายศาสนิกต้องเข้มแข็งมากขึ้น 

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากกรณีพระสุพจน์ สุวโจ เจ้าอาวาสสำนักสงฆ์สวนเมตตาธรรม พระนักอนุรักษ์และนักกิจกรรมกลุ่มเสขิยธรรม ถูกสังหารในพื้นที่ปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรม บ้านห้วยงูใน ต.สันทราย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2548 ที่ผ่านมา สันนิษฐานว่ามาจากปัญหานายทุนผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นต้องการขยายพื้นที่สวนส้มรุกล้ำป่าอนุรักษ์ที่อยู่ในบริเวณสถานปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นเขตต้นน้ำและป่าสมบูรณ์จำนวนกว่า 1,500 ไร่

 


 

FEATURE

 

สถานการณ์ไฟใต้... หนทางสันติภาพยังเลือนลาง?
โดย ธัญลักษณ์ นวลักษณกวี

เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้วที่ปัญหาสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ยังร้อนระอุ และยิ่งจะคุกรุ่นหนักขึ้น เนื่องจากรัฐบาลยังคงเดินนโยบายแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลัง ใช้ความรุนแรงเข้าตอบโต้ หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เทคะแนนให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ถึง 73 เปอร์เซ็นต์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนในพื้นที่แห่งความรุนแรงไม่เห็นด้วยกับนโยบายแก้ไขปัญหาสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐพยายามบอกว่าพวกเขาต้องการแบ่งแยกดินแดน เพราะพวกเขายังรักบ้านเกิดเมืองนอนที่อยู่มาชั่วลูกชั่วหลาน และพวกเขายังให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อผลคะแนนออกมาเช่นนั้น นายกฯ ทักษิณ กลับรู้สึกเสียหน้าและมองเจตนารมณ์ของพวกเขาไปในด้านลบยิ่งขึ้น จึงมีแนวคิดจะออกมาตรการโซนสีแบ่งระดับพื้นที่ที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลโดยเพิ่มงบประมาณลงไปให้ ส่วนพื้นที่ที่ไม่ร่วมมือจะตัดงบประมาณ แต่โชคดีที่เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนไม่เห็นด้วยประกอบกับนักวิชาการชั้นแนวหน้าของไทยล้วนแต่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกันอย่างอึงอล เพราะกลัวจะยิ่งเป็นการสุมไฟให้ลุกโชนและสร้างความแตกแยกของคนในชาติมากยิ่งขึ้น นายกฯ ทักษิณจึงต้องแก้เกมด้วยการยินยอมให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2548 เพื่อแก้ปัญหาชายแดนใต้ตามที่นักวิชาการกลุ่มหนึ่งเรียกร้อง โดยได้ทาบทามให้ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
สำหรับคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ นี้ จะมีหน้าที่เสนอแนะนโยบาย กลไก วิธีการสร้างสมานฉันท์ในสังคมไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยสร้างความยุติธรรม ลดความไม่เข้าใจระหว่างกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ขจัดเงื่อนไขและป้องกันความรุนแรง และสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชาติ รวมทั้งศึกษา วิจัยตรวจสอบสาเหตุและขอบเขตของความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแนวทางของคณะกรรมการสมานฉันท์นี้ได้สร้างความหวังให้กับประชาชนที่ต้องการให้สันติภาพเกิดขึ้นอย่างแท้จริง แต่หลังจากคณะกรรมการสมานฉันท์เริ่มงานด้านสันติวิธีไปได้ไม่ทันไร ก็ถูกท้าทายจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบด้วยการใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน เช่น การฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ วางระเบิดท่าอากาศยานที่หาดใหญ่ จ.สงขลา และล่าสุดเมื่อคนร้ายก่อเหตุป่วนเมืองยะลาด้วยการวางระเบิดในหลายจุดภายในคืนเดียว เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 ทำให้นายกฯ ทักษิณหมดความอดทนถึงกับออกพระราชกำหนดบริหารราชการฉุกเฉินเพื่อประกาศใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ แทนการใช้กฎอัยการศึก ซึ่งพระราชกำหนดฉบับนี้ให้อำนาจนายกฯ ในการจัดการปัญหาไฟใต้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งแน่นอนว่าการออกกฎหมายที่มีลักษณะของความเป็นเผด็จการเช่นนี้ย่อมถูกทัดทานจากผู้ที่ปรารถนาแนวทางสันติวิธี ทั้งนักวิชาการอาวุโสหลายท่านซึ่งเป็นที่เคารพนับถือในสังคมไทย เอ็นจีโอหลายองค์กร และสื่อมวลชน ที่ออกมาท้วงติงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับพระราชกำหนดฉบับนี้

ทั้งนี้ข้อกังวลและห่วงใยต่อพระราชกำหนดฉบับนี้ ที่ฝ่ายสันติวิธีมองว่าจะยิ่งทำให้สถานการณ์ไฟใต้รุนแรงหนักขึ้นไปอีกเพราะเท่ากับเป็นการประกาศสงครามในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ส่งทหารลงไปพร้อมอาวุธเต็มอัตรา และนายกฯ มีอำนาจสั่งการโดยตรง โดยเฉพาะในรายละเอียดบางมาตรา (มาตรา 11) ที่ให้อำนาจกับทหารและตำรวจในการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการฯ ได้ ซึ่งจากปัญหาไฟใต้ส่วนหนึ่งที่ทวีความรุนแรงก็มาจากการที่ตำรวจนำตัวชาวบ้านที่ต้องสงสัย (ในมุมมองของตำรวจ) ไปซ้อม ทรมาน และเสียชีวิต หลายกรณีของการอุ้มฆ่า รวมทั้งกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งยังไม่พบตัวและไม่สามารถดำเนินการกับตำรวจผู้กระทำผิดได้ สิ่งนี้สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับครอบครัวของผู้ถูกอุ้มฆ่า และเท่ากับเป็นการผลักให้พวกเขาไปอยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐ ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ดังนั้นกฎหมายมาตรานี้จะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์จับผิดตัวยิ่งขึ้น รวมไปถึงอำนาจที่จะลดทอนและจำกัดเสรีภาพของสื่อในการนำเสนอข่าว ตลอดจนมาตราที่ 17 ซึ่งระบุว่าพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทุกกรณี (แพ่ง อาญา และวินัย) นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ถึงกับเรียกว่าเป็น "ใบอนุญาตให้ฆ่าได้" ไม่เพียงเท่านั้น พระราชกำหนดฉบับนี้ไม่เพียงมีไว้เพื่อจัดการกับปัญหาสถานการณ์ชายแดนใต้เท่านั้น มันยังครอบคลุมไปถึงการจัดการเมื่อมีการชุมนุม ประท้วงใดๆ ก็ตามของประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่อาจมีขึ้นในที่ใดก็ตาม

การออกพระราชกำหนดดังกล่าวของนายกฯ ทักษิณ เท่ากับปฏิเสธแนวทางสมานฉันท์และวิถีทางของสันติวิธีอย่างสิ้นเชิง ไม่เห็นความสำคัญของระบอบประชาธิปไตยเพราะไปกดพื้นที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนลงไปอีก ทำลายการเมืองภาคประชาชนที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและแก้ปัญหา ทั้งยังละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะแม้กระทั่งสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนซึ่งก็คือ สิทธิในชีวิต เสรีภาพและความมั่นคงในชีวิต รัฐก็ไม่สามารถให้กับประชาชนได้เลย ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นปัญหาที่มีรากเหง้ามีประวัติศาสตร์อันยาวนานเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจและยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนาของประชาชนที่อาศัยดินแดนนี้สืบทอดกันมาชั่วลูกชั่วหลาน เมื่อปัญหาเกิดขึ้นผ่านระยะเวลาอันยาวนานการแก้ไขปัญหาย่อมไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะใช้เวลา 3 เดือน หรือเท่านั้นเท่านี้ตามที่นายกฯ ต้องการได้ การทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ซึ่งมุ่งเยียวยาบาดแผลของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากสิ่งที่รัฐก่อไว้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีอุ้มฆ่า กรณีที่มัสยิดกรือเซะ กรณีที่ตากใบ ครอบครัวของผู้สูญเสียจากเหตุการณ์เหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการเยียวยา สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เวลาสมานรอยแผลที่เรื้อรังโดยให้ความใส่ใจดูแลอย่างต่อเนื่อง แม้จะใช้เวลาเป็นเดือนเป็นปีก็ตาม สิ่งที่สำคัญก็คือ ขอเพียงมีความเข้าใจผู้ที่ต่างไปจากเรา เคารพในความแตกต่างทางจารีตวัฒนธรรมประเพณีของพื้นที่นั้น ไม่ใช้ความรุนแรงเข้าตอบโต้ และรัฐต้องเสริมสร้างการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี และอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม โดยกระทำอย่างจริงใจและจริงจังอย่างแท้จริง สันติภาพย่อมเกิดขึ้นได้!



ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >