หน้าหลัก arrow เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน arrow ค่ายยุวสิทธิมนุษยชน arrow โครงการค่ายสัมผัสชีวิต ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 20 - 24 เมษายน 2551
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 151 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


โครงการค่ายสัมผัสชีวิต ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 20 - 24 เมษายน 2551 พิมพ์
Monday, 28 April 2008


ชมภาพจาก

โครงการค่ายสัมผัสชีวิต ครั้งที่ 1


Image คลิกชมภาพกันเลย undefined

Image

อ่านกลอนจากใจน้องนิกส์ ที่ส่งมาให้พี่ๆ ยส. และเพื่อนๆ ร่วมค่ายกันค่ะ 

เพิ่งจะได้รับเมื่อเช้า (6 พ.ค.51) เลยเอามาลงเว็บให้พี่ๆ เพื่อนๆ และน้องๆ ได้อ่านกัน

  

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
Image


 คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.) จัดค่ายสัมผัสชีวิต ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 20 - 24 เมษายน 2551  ณ บ้านขุนแปะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ให้เยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนต่างๆ จำนวน 16 คน ได้เรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาของชนเผ่า ปกาเกอะญอ ซึ่งการจัดค่ายฯ ครั้งนี้ถือเป็นกระบวนการที่จะช่วยสร้างความเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต เป็นการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนในระดับที่ลึกซึ้งขึ้น และเพื่อให้เยาวชนได้เข้าใจปัญหาสังคมในมุมที่กว้างขึ้น

สืบเนื่องจาก ยส. ได้จัดค่ายยุวสิทธิมนุษยชนเพื่อให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนแก่เยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งนับได้ว่าประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เยาวชนมีความเข้าใจในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก และตระหนักถึงบทบาทในการทำประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวมมากขึ้น

ยส.จึงได้จัดโครงการค่ายสัมผัสชีวิต ครั้งที่ 1 ขึ้นที่หมู่บ้านขุนแปะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนปกาเกอะญอ หมู่บ้านขุนแปะตั้งอยู่บริเวณหุบเขา สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,300 เมตร มีจำนวนประชากรประมาณ 1,400 คน ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก  ชาวบ้านขุนแปะดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำกสิกรรมคือ มีการปลูกข้าวไว้สำหรับกินได้ตลอดทั้งปี และเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ หมูพันธุ์พื้นเมือง วัว ควาย ชาวบ้านขุนแปะมีรายได้หลักจากการปลูกพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ หอมแดง กะหล่ำปลี พืชผักเมืองหนาวและไม้ดอกไม้ประดับ ส่งให้แก่โครงการหลวงซึ่งตั้งอยู่บริเวณหมู่บ้านขุนแปะ และส่งไปขายยังตลาดในตัวเมือง และที่อื่นๆ  

กิจกรรมที่เยาวชนทั้ง 16 คน จะได้เรียนรู้และสัมผัสความเป็นจริงของชีวิต เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เริ่มออกเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่มุ่งสู่หมู่บ้านขุนแปะ ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง โดยเฉพาะเมื่อรถเริ่มเลี้ยวออกจากถนนสายหลักที่เป็นถนนลาดยาง ป้ายบอกเส้นทางสู่หมู่บ้านขุนแปะ ถนนที่ยังไม่ลาดยาง ขรุขระ เต็มไปด้วยฝุ่นแดง  ผ่านความสูงชันและคดเคี้ยวของขุนเขา โค้งแล้วโค้งเล่าที่รถกระบะ 2 คัน ที่บรรทุกเยาวชน 16 คน และเจ้าหน้าที่ ยส. 7 คน น่าจะเป็นสัมผัสแรกของความยากลำบากที่เยาวชนเหล่านี้ได้เริ่มเรียนรู้ชีวิตนอกห้องเรียนกันแล้ว!

ตลอดระยะเวลา 4 คืน ณ บ้านขุนแปะ  เยาวชนทั้ง 16 คน ได้พักอาศัยอยู่กับชาวบ้านเพื่อเข้าถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวปกาเกอะญอ กินอาหารแบบที่ชาวบ้านกิน ช่วยกันทำอาหารในแต่ละมื้อ ได้ไปช่วยชาวบ้านทำไร่ บางกลุ่มได้ไปช่วยขุดดินเตรียมแปลงเพื่อลงพืชผลที่จะเป็นรายได้ของชาวบ้าน บางกลุ่มเข้าสวนช่วยชาวบ้านเก็บลูกพลัมสดเพื่อส่งขาย พวกเขาได้รับรู้ปัญหาของชาวบ้านที่ต้องโดนกดราคาผลผลิตอย่างไม่ยุติธรรมจากพ่อค้าคนกลางอย่างที่พวกเขาไม่เคยได้รับรู้มาก่อนว่า บางครั้งภาพพจน์ภายนอกที่ฉาบเคลือบอย่างสวยงาม นั้น เบื้องหลังที่ลึกลงไปมีความเห็นแก่ตัวและเอาเปรียบอย่างไร!  แต่ละจอบที่เยาวชนเหล่านี้ลงแรงกายขุดดินแต่ละครั้ง ทำให้พวกเด็กๆ ได้รับรู้ความยากลำบากของการทำมาหากินของชาวบ้านว่า  กว่าที่ชาวบ้านจะได้เงินมาใช้ต้องแลกด้วยหยาดเหงื่อแรงกายเพียงใด เด็กๆ ได้ออกจากความเคยชินแบบคนในเมืองที่นอนดึกตื่นสายเพราะมีกิจกรรมมากมายให้ทำ มาเป็นนอนหัวค่ำตื่นเช้า ได้สูดอากาศที่บริสุทธิ์สดชื่นได้อย่างเต็มปอด และในขณะที่ในเมืองต้องทนกับความร้อนอบอ้าวของฤดูกาลที่แปรปรวน แต่บนดอยนี้อากาศกลับเย็นสบาย โดยเฉพาะเมื่อฝนตก อากาศที่นี่ก็กลายเป็นฤดูหนาวให้คนเมืองอย่างเราได้สัมผัสความหนาวเย็นอย่างไม่ทันได้เตรียมตัวกันมาก่อน

เยาวชนทั้ง 16 คน มีโอกาสได้ร่วมงานวัฒนธรรมของชาวปกาเกอะญอบ้านขุนแปะ นั่นคือ การรดน้ำดำหัวตามประเพณีสงกรานต์ ให้แก่ผู้เฒ่าผู้แก่ของชุมชนนี้ พิธีรดน้ำดำหัวเป็นการแสดงออกถึงความรักและสำนึกถึงบุญคุณของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เป็นการขอขมาลาโทษต่อสิ่งที่ได้ล่วงเกิน และเพื่อขอพรอันดีงามเพื่อเป็นสิริมงคลต่อชีวิตและการงาน พิธีรดน้ำดำหัวของที่นี่เริ่มต้นโดยให้ผู้เฒ่าผู้แก่นั่งเรียงกันแล้วให้ลูกหลานในชุมชนเริ่มจากผู้นำของชุมชน และชาวบ้าน ตักน้ำ ส้มป่อยไปรดที่มือของผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะให้พรแก่ลูกหลาน เยาวชนทั้ง 16 คน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของ ยส. ได้รดน้ำดำหัวให้แก่ผู้เฒ่าผู้แก่ ได้ร่วมสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามไว้ไม่ให้สูญหายไป เยาวชนเองก็ได้เห็นถึงความแตกต่างของเทศกาลสงกรานต์ในปัจจุบันของคนในเมืองซึ่งเอาแต่ความสนุกสนานมีความหยาบโลนและรุนแรงขึ้นอย่างที่แทบไม่เหลือกลิ่นอายของประเพณีสงกรานต์จริงๆ หลงเหลืออีกแล้ว

เยาวชนทั้ง 16 คน ยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาชาวบ้านร่วมกับเพื่อนเยาวชนปกาเกอะญอ จากผู้อาวุโสปกาเกอะญอ ไม่ว่าจะเป็นการจักสานตะกร้าซึ่งทำจากไม้ไผ่ ได้เรียนรู้ว่ากว่าจะมาเป็นตะกร้าใบเล็กๆ นั้นต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างไร และในขณะที่เราคนเมืองคุ้นชินกับการการใช้เงินซื้อทุกสิ่งทุกอย่างที่อยากได้เพื่อให้ตนเองสะดวกสบายนั้น แต่ชาวบ้านที่นี่กลับใช้ภูมิปัญญาและความอุตสาหะประดิษฐ์กระบุงตะกร้าไว้ใช้เองได้โดยไม่ต้องเสียเงินเพียงเดินไปตัดไม้ไผ่ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติมาทำ เสียเพียงเวลาเท่านั้น!  ยังมีภูมิปัญญาอันน่าทึ่งของชาวปกาเกอะญอ อย่างการทำที่ดักสัตว์จากไม้ไผ่ ซึ่งชาวบ้านทำไว้ดักสัตว์เล็กๆ เช่น หนู งู เพียงหากสัตว์ เหล่านี้หลงเข้ามากินอาหารที่วางล่อไว้ ก็จะติดบ่วงที่ทำไว้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ยังมีสาธิตการย้อมสี จากต้นไม้ที่ให้สีต่างๆ ตามธรรมชาติโดยไม่ต้องพึ่งสีสังเคราะห์ เช่น ไม้ฝางให้สีแดง เพกาให้สีเหลือง  มีการสาธิตการปั่นฝ้ายให้เป็นเส้นด้าย การใช้ที่หีบคัดเมล็ดฝ้ายออก และที่เยาวชนให้ความสนใจอีกอย่างก็คือ การเล่นเตหน่า ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประเภทพิณของชาวปกาเกอะญอ โดยคุณถาวร  กัมพลกูล เจ้าหน้าที่ศูนย์สังคมพัฒนาซึ่งเป็นชาวบ้านขุนแปะ ที่มีภูมิปัญญาด้านการขับร้องลำนำ หรือที่ชาวปกาเกอะญอ เรียกว่า "ธา" และเรื่องนิทานพื้นบ้านปกาเกอะญอซึ่งหาได้ยากยิ่งในปัจจุบันนี้

ยังมีวัฒนธรรมอีกอย่างที่นำมาให้เยาวชนได้ดูกัน คือ การหัดทอผ้า ผู้หญิงปกาเกอะญอทุกคนจะทอผ้าเป็นตั้งแต่เด็กๆ เมื่ออายุ 3 - 4 ขวบ แม่จะสอนลูกสาวให้หัดทอผ้า โดยให้ลองหัดจากการสานหยวกกล้วยหรือทางมะพร้าวก่อน วิธีนี้เด็กๆ จะเพลินเพลินเสมือนเป็นของเล่นอีกชิ้นหนึ่งทีเดียว เด็กหญิงวัยนี้จะเริ่มทอกระเป๋าใบเล็กๆ ได้ และเมื่ออายุประมาณ 8 ปีขึ้นไป เด็กผู้หญิงจะเริ่มทอผ้าผืนยาวเพื่อทำเป็นเชวา หรือกระโปรงของเด็กผู้หญิงเป็นของตนเองได้  นอกจากนี้เยาวชนเมืองทั้ง 16 คน ยังได้ไป เยี่ยมเยียนผู้อาวุโสของหมู่บ้านซึ่งเป็นผู้ที่มีภูมิปัญญาด้านการขับลำนำ หรือที่ปกาเกอะญอ เรียกว่า "ธา" แม้ปัจจุบันท่านจะไม่ได้ใช้ภูมิปัญญาหรือออกมามีบทบาทนำในหมู่บ้านเนื่องจากท่านแก่มากแล้ว แต่การไปเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุของเด็กๆ เยาวชน ก็นำมาซึ่งความชุ่มชื่นใจให้แก่ผู้เฒ่าเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงว่า ผู้เฒ่าผู้แก่เป็นผู้มีความสำคัญเป็นเสมือนเสาหลักหรือเสาเอกของบ้านก็ว่าได้ 

เยาวชนทั้งหมดยังได้ไปขอความรู้เรื่องของชุมชนจากพ่อหลวงไพบูลย์ อดีตผู้ใหญ่บ้านขุนแปะอีกท่านหนึ่ง พ่อหลวงไพบูลย์เป็นผู้นำชุมชนรุ่นแรกๆ ของบ้านขุนแปะที่ร่วมกันพัฒนาและแก้ไขปัญหาในหมู่บ้านจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังช่วยงานของชุมชนอย่างแข็งขันยิ่ง ปัญหาใดที่ค้างคาใจเยาวชนทั้ง 16 ตั้งแต่วันแรกที่มาพักอยู่ในหมู่บ้าน ล้วนได้รับความกระจ่างจากพ่อหลวงท่านนี้ อาทิ ปัญหาด้านสังคม ปัญหาด้านเศรษฐกิจของชาวบ้าน เยาวชนเหล่านี้ได้เรียนรู้ว่า ตนไม่ควรนำกรอบความคิดของตนมาพิพากษา ตัดสิน หรือเสนอแนะให้กับผู้คนซึ่งมีวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีที่ต่างจากตน เช่น ความคิดว่า ถนนนำมาซึ่งความเจริญและความสะดวกสบาย แต่เมื่อพ่อหลวงตอบว่า หากถนนเข้ามาถึงก็นำขโมยและโจรเข้ามา ด้วย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันนี้ทุกบ้านไม่จำเป็นต้องสร้างรั้วกันขโมย ไม่ต้องกลัวของหาย พวกเขาสามารถเดินออกจากบ้านไปทำไร่ ไปไหนต่อไหนได้โดยไม่ต้องปิดบ้าน เพราะไม่มีใครขโมยของใคร เรื่องนี้เยาวชนเองก็ได้พบเจอกับตัวพวกเขาเองเช่นกัน กระเป๋า ทรัพย์สินมีค่าของเขาซึ่งอยู่ร่วมบ้านเดียวกับชาวบ้านจะไม่ถูกรื้อค้นหรือมีสิ่งใดหายไปสักชิ้น นี่ย่อมแสดงให้เห็นแล้วว่าแตกต่างเพียงใดจากสังคมเมืองที่เราอยู่กัน 

วันรุ่งขึ้นยังมีการวิเคราะห์สถานการณ์สังคม โดย คุณลิเก  วงศ์จอมพร ชาวบ้านขุนแปะ / เจ้าหน้าที่ศูนย์สังคมพัฒนาเชียงใหม่ ซึ่งมาให้ความรู้แก่เยาวชนทั้งเยาวชนปกาเกอะญอและเยาวชนเมืองทั้ง 16 คน เด็กๆ ได้รู้ว่าโลกาภิวัตน์คือการไหลบ่าของวัฒนธรรมที่มารวมกัน ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป มีวิธีการต่างๆ อย่างเป็นระบบเพื่อครอบงำประเทศกำลังพัฒนา ดูดและแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ไว้เพื่อรองรับการบริโภคของประชากรในประเทศตนโดยไม่คำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างที่ชอบกล่าวอ้าง ผลของการพัฒนาประเทศอย่างไม่หยุดยั้งโดยไม่คำนึงถึงการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการไหลบ่าของวัฒนธรรมต่างชาติ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อมในทางเสื่อมทรุดลงในทุกทางทั้งด้านศาสนา สังคม และครอบครัว เห็นได้จากปัญหาต่างๆ ที่เริ่มเกิดขึ้นในหมู่บ้านขุนแปะ ณ วันนี้ และที่อื่นๆ อีกมากมายที่มีหนี้สินจากการผลิตเพื่อขายจากเดิมที่ทำเพื่อเลี้ยงชีพ มีเวลาให้ครอบครัวน้อยลง มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งมากขึ้น ไม่ยำเกรงต่อบาปบุญคุณโทษ เยาวชนลงไปหางานทำในเมืองแทนที่จะอยู่ช่วยพ่อแม่ทำไร่ เป็นต้น ซึ่งความรู้ในเรื่องเหล่านี้จะช่วยให้เด็กๆ ได้เข้าใจปัญหาสังคมในมุมมองที่กว้างขึ้นซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนในระดับสูงขึ้นไป

ค่ำคืนสุดท้ายมีงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ ชาวบ้านขุนแปะมีการแสดงมาให้ดูกันหลายชุด ไม่ว่าจะเป็นการขับลำนำประกอบท่าทางของเด็กเล็กๆ และแม่บ้านซึ่งเป็นไปอย่าง น่ารักน่าเอ็นดู การรำดาบของเด็กชายตัวน้อยมากฝีมือ  การร้องเพลงประกอบเครื่องดนตรีเตหน่าอันไพเราะของพ่อและลูกสาว  การขับลำนำของพ่อบ้านแม่บ้าน การเป่าเครื่องเป่าที่ทำจากไม้ไผ่ซึ่งให้เสียงกังวานอย่างที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวของพ่อบ้าน การร้องและเต้นประกอบเพลงของเยาวชนปกาเกอะญอ  ส่วนเยาวชนทั้ง 16 เองก็ได้เตรียมการแสดง 2 ชุด มาให้ชาวบ้านขุนแปะได้สนุกสนานเพลิดเพลินกันอย่างเต็มที่จริงๆ จนชาวบ้านต้องขอให้ออกมาแสดงกันอีกหลายเพลงทีเดียว สร้างความประทับใจให้ทุกๆ คนที่มาร่วมงาน 

แล้วช่วงเวลาอันแสนสั้นของค่ายสัมผัสชีวิตที่หมู่บ้านขุนแปะ ก็จบลงด้วยรอยยิ้มและน้ำตา  เยาวชนทั้ง 16 คน ต่างก็ได้ประสบการณ์ชีวิตอย่างที่พวกเขาไม่สามารถหาได้จากในห้องเรียนและโลกของคน เมืองที่เต็มไปด้วยความสะดวกสบายและสิ่งเร้ามากมายที่พวกเขาคุ้นเคยมาตลอด  แม้ค่ายสัมผัสชีวิตครั้งนี้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ของเด็กๆ เหล่านี้ที่ต้องการหากิจกรรมทำระหว่างปิดภาคเรียน แต่เราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ปิดเทอมใหญ่ครั้งนี้ หัวใจอันว้าวุ่นของเยาวชนทั้ง 16 คงได้พบกับความสงบเมื่อได้สัมผัสกับบรรยากาศที่เสมือนทำให้โลกของพวกเขาหมุนช้าลง ให้ธรรมชาติอันแสนงดงามและอากาศบริสุทธิ์ของป่าเขา โดยเฉพาะความมีน้ำใจของชาวบ้านที่นี่ได้เข้าไปจดจารอยู่ในความทรงจำ ที่สำคัญกว่านั้น พวกเขาได้เปิดดวงใจรับรู้ความยากลำบากของผู้คนในดินแดนที่ห่างไกลจากพวกเขาด้วยสายตาและมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิมด้วยความเข้าใจมากขึ้น


ธัญลักษณ์  นวลักษณกวี
ฝ่ายเผยแพร่เพื่อการมีส่วนร่วม
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.)
รายงาน


Image



ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >