หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow สาระสำคัญของสาสน์สันติภาพสากล
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 61 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

สาระสำคัญของสาสน์สันติภาพสากล พิมพ์
Monday, 31 March 2008


Imageเมื่อวันที่ ๖ มีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความุยติธรรมและสันติ (ยส.) ร่วมกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อครอบครัว จัดศึกษาสาสน์สันติภาพสากล และจัดเสวนาเรื่อง "ครอบครัวมนุษย์ คือ ชุมชนแห่งสันติภาพ" ณ ห้องประชุม ชั้น ๑๐  อาคารสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย เพื่อให้ศาสนิกชนได้ศึกษา และทำความเข้าใจในสาระสำคัญของสาสน์สันติภาพสากล และรับรู้ข้อมูลที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องครอบครัว และเยาวชน ปลุกจิตสำนึกให้ยึดหลักศีลธรรม จริยธรรม ในการดำเนินชีวิต ยุติการใช้ความรุนแรง ร่วมสร้างครอบครัวที่เข้มแข็งและมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการสร้างชุมชนแห่งสันติภาพให้เกิดขึ้น ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งบาทหลวง ซิสเตอร์ จากคณะนักบวชต่างๆ คณะครู และเจ้าหน้าที่ จากโรงเรียน และหน่วยงานองค์กรต่างๆ จำนวนทั้งสิ้น 30 คน โดยสรุปสาระสำคัญของการเสวนา ได้ดังนี้


สาระสำคัญของสาสน์สันติภาพสากล

โดย คุณอัจฉรา  สมแสงสรวง
เลขาธิการ ยส.

ในปี  ๒๐๐๘  มี ๓ เหตุการณ์สำคัญ คือ

  • Imageครบรอบ ๖๐ ปี ในการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ (๑๙๔๘-๒๐๐๘) หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้มีการตั้งหน่วยงานองค์การสหประชาชาติขึ้น และได้ออกเอกสารปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
  • ครบรอบ ๒๕ ปี กฎบัตรว่าด้วยสิทธิครอบครัวของสันตะสำนัก (๑๙๘๓-๒๐๐๘) ปี ๑๙๘๓ สำนักวาติกัน เล็งเห็นความสำคัญของครอบครัว จึงได้ออกกฎบัตรว่าด้วยสิทธิของครอบครัว
  • ครบรอบ ๔๐ ปี สาสน์วันสันติภาพสากล (๑๙๖๘-๒๐๐๘) พระสันตะปาปา ปอล ที่ ๖ ได้มีดำริที่จะให้ทั่วโลก โดยเฉพาะพระศาสนจักรระดับท้องถิ่น ให้ความสนใจต่อปัญหาที่เกี่ยวกับความอยุติธรรม และมีการก่อตั้งหน่วยงานยุติธรรมและสันติขึ้นมา ซึ่งงานของ ยส. ในประเทศไทย ก็ตั้งขึ้นโดยเจตนาเดียวกัน ในปี 1967 ได้ประกาศให้มีคณะกรรมการยุติธรรมและสันติของสันตะสำนัก ปี 1968 พระสันตะปาปา ได้ออกสาสน์วันสันติภาพสากล ฉบับแรกขึ้นมา

จะเห็นว่าพระศาสนจักรได้ทำหน้าที่เป็นประจักษ์พยานเรื่องสันติภาพและความยุติธรรม มาตั้งแต่อดีต  แต่มีการเคลื่อนไหวมากขึ้นหลังจากสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 2


สาสน์วันสันติภาพสากล ปี  ๒๐๐๘  "ครอบครัวมนุษย์ คือ ชุมชนแห่งสันติภาพ"


ครอบครัว : รากฐานแรกของสันติภาพ

  • ความสนิทสัมพันธ์อันพิเศษสุดของบุคคล ซึ่งชายและหญิงร่วมกันสร้างขึ้นในสายใยสัมพันธ์แห่งความรัก ที่ผูกพันพวกเขาเข้าไว้จนกระทั่งพวกเขากลายเป็น "กายเดียวกัน" (ปฐก,๒ : ๒๔)
  • สถานที่แห่งแรกที่มนุษย์ปฏิบัติความรักเพื่อคนที่ตนเองรัก และเพื่อผู้อื่น (Agape) "อู่แห่งชีวิตและความรัก"
  • สถานที่ปฐมภูมิของการอบรมบ่มเพาะความเป็นมนุษย์สำหรับบุคคลและสังคม


ครอบครัว : ครูคนแรกแห่งการสร้างคุณค่าสันติภาพ

  • ความรัก และความยุติธรรมระหว่างพี่น้อง หญิงชาย
  • บทบาทการปกครองดูแลของพ่อแม่
  • ความเอื้ออาทร ห่วงใย ต่อผู้ที่อ่อนแอกว่า
  • การช่วยเหลือกันในเรื่องที่จำเป็น
  • ความพร้อมในการยอมรับและให้อภัย
  • ภาษาของครอบครัว คือ ภาษาแห่งสันติภาพ เป็นภาษาที่เด็กเรียนรู้จากกิริยาท่าทาง และการปฏิบัติจากพ่อแม่ ก่อนการเรียนรู้จากคำพูด


ครอบครัวและสังคม

  • ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน "ครอบครัว คือ หน่วยธรรมชาติและพื้นฐานของสังคม มีสิทธิได้รับการคุ้มครองจากสังคมและรัฐ"
  • กฎบัตรว่าด้วยสิทธิครอบครัว (สันตะสำนัก) "สิทธิส่วนบุคคล  แม้ว่าจะแสดงออกในลักษณะสิทธิของปัจเจกบุคคล ก็ยังมีมิติทางสังคมเป็นพื้นฐาน ที่พบว่ามีมา แต่กำเนิด และปรากฏให้เห็นชัดเจนในครอบครัว" 
    - ถ้าสถาบันครอบครัว (หน่วยปฐมภูมิของสันติภาพ) ถูกรบกวน ถูกกร่อนเซาะ สันติภาพในชุมชน ก็  ถูกทำลายไปด้วย


สถานการณ์ครอบครัวปัจจุบัน

  • ปัจเจกนิยม วัตถุนิยม เปลี่ยนแปลงผู้คนให้นิ่งดูดาย คิดถึงแต่ตนเอง
  • กระแสการสมรสของเพศเดียวกัน
  • กฎหมาย จารีตประเพณี
  • นโยบายมีลูกคนเดียว ส่งผลต่อการคุมกำเนิด การทำแท้งจากการเลือกเพศ ในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่าน มีการทำแท้งถึง ๑ พันล้าน
  • ปัญหาการหย่าร้าง  และครอบครัวที่แม่เป็นผู้ปกครองคนเดียว
  • คู่สมรสในบางประเทศ เสียภาษีให้รัฐสูงกว่าคนโสด
  • แม่ที่ต้องไปทำงาน ไม่สามารถหาสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับลูกในวัยเริ่มต้นทางสังคม
  • ค่าเล่าเรียนที่สูง หรืออยู่ในอัตราธุรกิจ เป็นอุปสรรคต่อการสนับสนุนการศึกษาต่อเด็กๆ
  • ครอบครัวเร่ร่อน ครอบครัวข้างถนน
    - ผู้คนไม่มีประสบการณ์สันติภาพที่บ้าน สังคมใหญ่ก็มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น


โลก : บ้านของครอบครัวมนุษยชาติ

  • ชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น ช่วยให้มนุษย์สามารถใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมอย่างเห็นความสำคัญและเคารพ
  • พระเจ้าสร้างโลก = บ้าน ให้มนุษย์อยู่อาศัยอย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบ
  • มนุษย์อยู่รอดด้วยความร่วมมือในการพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม (ธรรมชาติ สัตว์ และมนุษย์)
  • การเคารพสิ่งแวดล้อม คือ ถือว่าธรรมชาติมีไว้เพื่อทุกคน ชนรุ่นหลังก็มีสิทธิเก็บเกี่ยวประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับเรา
  • ปัญหาสิ่งแวดล้อม
  • ประเทศที่พัฒนาแล้ว 
    - ใช้พลังงานธรรมชาติอย่างไม่รับผิดชอบ
    - ใช้อำนาจบังคับซื้อพลังงานในราคาถูก จากประเทศที่กำลังพัฒนา ที่มีแหล่งสำรองพลังงาน แต่ขาดศักยภาพในการผลิต
    - ราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ถูกกำหนดด้วยราคาพลังงาน จนกลายเป็นความขัดแย้ง เช่น ในประเทศพม่า
    - การประชุม World Economic Forum ๒๐๐๘ ตั้งใจพูดเรื่องโลกร้อน แต่ผู้เข้าร่วมประชุม ประมาณ ๒,๐๐๐ คน ใช้เครื่องบินส่วนตัวเดินทางไปยังที่ประชุม เมือง Davos


คุณธรรมครอบครัว : เศรษฐกิจที่ยุติธรรม

  • โลกาภิวัตน์สร้างครอบครัวชุมชนเศรษฐกิจแบบใหม่
  • เศรษฐกิจต้องดำเนินไปด้วยกฎแห่งมนุษยธรรม มิใช่กฎแห่งกำไร
  • จำเป็นต้องอาศัยคุณธรรมรากฐานที่เกิดขึ้นจากครอบครัว เป็นหลักต่อการปฏิบัติต่อกัน เพื่อความเป็นธรรมและเสมอภาค


สงคราม : อุปสรรคสันติภาพในครอบครัว

  • ครอบครัวโลก เผชิญเงามืดแห่งความเกลียดชัง การแบ่งแยกเป็นพวก และเป็นศัตรู
  • สงครามกลางเมืองทวีปแอฟริกา เช่น ซูดาน คองโก เคนยา ฯลฯ
  •  สงครามในภูมิภาคตะวันออกกลาง
    - ต่างฝ่ายต่างเร่งสะสมอาวุธ ทั้งอาวุธนิวเคลียร์และยุทโธปกรณ์
    - ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตอาวุธเจริญเติบโต โดยเฉพาะที่สหรัฐฯ
    - ปี ๒๐๐๖ ค่าใช้จ่ายด้านการค้าอาวุธ มีมูลค่าถึง ๑,๒๐๔ พันล้านดอลล่าร์  เพิ่มขึ้น ๓๗ % ในช่วงปี ๑๙๙๗-๒๐๐๖
    - สงครามถูกอ้างเพื่อผดุงสันติภาพ แท้จริงคือตัวการทำลายความสัมพันธ์ ความรัก ความอบอุ่นแห่งครอบครัว ซึ่งเป็นเสาหลักของสันติภาพ


ครอบครัว : หลักศีลธรรม และกฎหมาย

  • บรรทัดฐานทางกฎหมาย ซึ่งเป็นหลักสำหรับผู้คนในสังคมพึงปฏิบัติต่อกัน ต้องมีรากมาจากหลักศีลธรรม อันเป็นเรื่องของการบ่มเพาะด้านมโนธรรม และจิตใจของมนุษย์  ซึ่งต้องเกิดขึ้นภายในครอบครัว สถานที่นี้แห่งเดียวเท่านั้น
  • สันติภาพ เริ่มต้นขึ้นในครอบครัว และสิ้นสุดลงที่ครอบครัว
  • หากคุณธรรมสันติภาพ มิได้รับการปลูกฝังในสถานที่แห่งแรกของสังคม  เราจะมีสถานที่ไหนที่เรียกได้ว่าเป็นครอบครัว เพื่อการส่งมอบมรดกแห่งอารยธรรมมนุษย์อีกต่อไป


เสวนา ครอบครัวมนุษย์ คือ ชุมชนแห่งสันติภาพ

โดย คุณรัชนี  ธงไชย (แม่แอ๊ว)
ครูใหญ่  โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก

Imageจากประสบการณ์ของตัวเอง ซึ่งเกิดที่เขตธนบุรี ประทับใจในสิ่งแวดล้อม แม่น้ำเจ้าพระยาที่ใสสะอาด จับกุ้ง งมปลา  ทำให้มีสุขภาพจิตที่ดี และยิ่งได้รับความรักจากครอบครัว การอบรบสั่งสอนจากคุณครู  ทำให้เป็นเช่นทุกวันนี้  แต่ปัจจุบันเมื่อได้รับฟังเรื่องราวของสังคมโลก หรือสังคมไทย ที่มีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ยิ่งทำให้เกิดความเครียด และเราต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรีบเร่ง

เมื่อได้มาทำงานที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ทำให้เห็นว่าครอบครัวเป็นสังคมที่สำคัญต่อมนุษย์มากทีเดียว เพราะมีเด็กหลายคนที่มาจากครอบครัวที่สร้างความทุกข์ให้กับเขา ซึ่งในตอนแรกที่ตั้งโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก (ในโครงการของมูลนิธิเด็ก) มีเป้าหมาย คือ ต้องการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส เด็กยากจน สมัยก่อนเด็กที่ถูกทำร้ายจากครอบครัวมีน้อยมาก ในเด็ก ๑๐๐ คน มีเพียง ๒-๓ คนเท่านั้น ที่มีพฤติกรรมสร้างปัญหาในห้องเรียน ทำให้เพื่อนเรียนไม่ได้  แต่เมื่อไปศึกษาถึงครอบครัว ทำให้รู้ว่าเขามีปัญหาในครอบครัว ที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก จะพบว่าเด็กยากจนไม่ใช่มีทุกข์แค่ขาดปัจจัย ๔ แต่ยังมีทุกข์ต่างๆ มากมาย ถูกละเมิดสิทธิจากคนใกล้ชิด การทำร้ายจิตใจ ทำให้เด็กเจ็บปวด ขาดความไว้วางใจต่อคนทั่วไป จนออกมาเป็นพฤติกรรมที่เบี่ยงเบน ก้าวร้าวทางวาจาและการกระทำ รวมถึงการมีพฤติกรรมหยิบฉวยของผู้อื่น  ซึ่งเราพบว่าการหยิบของๆ ผู้อื่นนั้น เหตุสำคัญมาจากการขาดความรัก ซึ่งที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ถ้าเด็กขโมยของ ก็มาจากเด็กต้องการ "ขโมยความรัก" เมื่อใครโดนขโมยของต้องรู้ว่าคุณลืมให้ความรักกับเด็ก แต่ทุกครั้งที่เราทดแทนในสิ่งที่เขาขาดไปแล้ว เช่น เมื่อมีของที่ได้รับบริจาคเหลือ จะนำเรื่องเข้าในที่ประชุมสภาเด็ก คำตอบที่ได้ก็คือ ขอแบ่งไปให้แม่ หรือน้องหนูได้มั้ย? ทั้งๆ ที่แม่ที่เขาขอของไปให้นั้น ได้เคยทำร้ายเขา  ซึ่งตอนแรกที่เด็กมานั้น ได้รับความเจ็บปวดจากการกระทำของแม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขากลับคิดถึงแม่ คิดถึงครอบครัว หรือเมื่อเรามีของใช้ที่ได้รับบริจาค ก็จะแจกให้เด็กแต่ละคน แต่จะมีเด็กบางคนที่เมื่อเพื่อนหรือผู้ใหญ่เผลอ เขาจะหยิบเอาของไปซ่อน ซึ่งเมื่อโดนจับได้ ก็จะบอกว่าที่บ้านไม่มีใช้ และจะยอมรับผิด ยอมถูกลงโทษจากสภาเด็ก เห็นได้ชัดว่าแม้ครอบครัวจะรุนแรงกับเขาแค่ไหน หรือไม่ว่าครอบครัวจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ใจของเด็กยังผูกพันกับครอบครัว ผูกพันกับพ่อแม่

ในขณะที่บางครอบครัวที่มีฐานะดีมักจะลืมลูก ทำงานจนไม่มีเวลาให้ลูก ปล่อยให้โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนลูก พ่อแม่ทำหน้าที่เป็นเพียงตู้เอทีเอ็มให้กับลูก ให้เงินลูกแทนความรักที่ลูกต้องการจากพ่อแม่ สุดท้ายลูกก็ติดโทรทัศน์ ติดเกม เพื่อประชดพ่อแม่ บางทีเราเห็นเด็กที่หยิบฉวย ก้าวร้าว เราจึงประทับตราว่าเป็นเด็กไม่ดี ต้องจัดการให้เป็นเด็กดี  ซึ่งการจัดการให้เป็นเด็กดี ตามวัฒนธรรมอำนาจนิยม นั่นคือการลงโทษ ตามคำพังเพยที่ว่า "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" เพราะรักลูก เมื่อลูกทำผิดจึงต้องตี แต่ตอนนี้ได้มีการตีความหมายใหม่ว่า "รักวัวให้ผูก" วัว เป็นการแทนคำว่าไม่ฉลาด หรือ อวิชา เมื่อต้องการความฉลาด ก็ต้องผูกเอาไว้ เพราะถ้าไม่ผูก ความฉลาดก็ไม่เกิด "รักลูกให้ตี" ไม่ใช่การตีลูก แต่ตีพ่อแม่ ในเมื่อเรายังไม่ฉลาด ไม่สามารถตีรหัสความต้องการของลูกได้ ลูกกำลังบอกถึงความต้องการให้พ่อแม่เข้าใจในสิ่งที่เขาคิด เพราะฉะนั้นในการทำงานพัฒนาเด็ก จึงต้องถอดรหัสของเด็กแต่ละคนให้ออก

เมื่อมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ ๑ (ยังไม่มีคำว่าสังคม) หวังจะเปลี่ยนสังคมของประเทศไทยจากประเทศเกษตรกรรม เป็นประเทศอุตสาหกรรม และพัฒนาให้เหมือนประเทศแถบยุโรป และอเมริกา ครอบครัวเชิงขยายโดยระบบ เลยกลายเป็นครอบครัวเชิงเดี่ยว เพราะระบบอุตสาหกรรม เป็นการเดินทางไปสู่จุดต่างๆ ที่มีงานรองรับ สมัยก่อนมักจะได้ยินคำว่า "งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข" เมื่อไรมีงาน ก็จะมีความสุข เพราะเงินจะซื้อทุกอย่างได้ ทำให้เราทำงานอย่างเต็มที่ เมื่อต้องการทำงานอย่างเต็มที่ ตามลักษณะระบบอุตสาหกรรม จึงมีลูกแค่สองคน ที่สามารถเคลื่อนย้ายไปที่ใดก็ได้ ในขณะที่ครอบครัวขยายที่ทำเกษตรกรรมจะมีลูกนับสิบคน เพื่อเป็นแรงงานในการช่วยกันทำงาน การเป็นครอบครัวเชิงเดี่ยวมักจะมีผลเสียมากกว่าครอบครัวเชิงขยาย แต่เมื่อเราไม่สามารถย้อนกลับไปเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้วได้ เราจึงต้องคิดว่าจะทำอย่างไร กับการอยู่ในครอบครัวเชิงเดี่ยวให้ได้อย่างมีความสุข

ต่อมาได้มีโอกาสไปตามหมู่บ้านต่างๆ ทางภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน มีสิ่งที่ได้ค้นพบในชุมชนต่างๆ คือ การมีวัฒนธรรมประเพณี ที่ตั้งอยู่บนฐานศาสนธรรม เด็กจะเป็นสมบัติของชุมชน เช่น เมื่อตอนวัยรุ่น มีหนุ่มมาจีบ คนในหมู่บ้านจะคอยท้วงติง ทำให้เราจะทำผิดไม่ได้ เพราะอยู่ในสายตาของคนในชุมชน เมื่อก่อนจะรู้สึกอึดอัด แต่เมื่อย้อนคิดไปว่า เด็ก คือสมบัติของชุมชน ที่ต้องช่วยกันดูแล ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง และเมื่อได้เป็นครู ทำให้รู้ว่าระบบการศึกษา ทำให้เราออกห่างจากวิถีชีวิตชุมชน เราเรียนรู้หลายเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับชุมชน มีงานวิจัยออกมาว่า หลักสูตรของกระทรวงศึกษาฯ  มีความรู้ที่เกี่ยวกับชุมชนเพียง ๓% เท่านั้น ส่วนอีก ๙๗% เป็นหลักสูตรวิชาที่สอนแยกส่วนกัน เมื่อได้ทำงานกับกระทรวงศึกษาฯ  จึงคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะให้เยาวชนเรียนรู้เรื่องวิถีชีวิต เพราะถ้าเข้าใจชีวิต เขาก็จะจัดการเรื่องชีวิตได้ ในขณะเดียวกันก็จะรู้ว่าชีวิตสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม มนุษย์ และความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งต่างๆ เหล่านั้น ถ้าถูกทำลายแล้ว เราจะอยู่ไม่ได้ การศึกษาต้องมุ่งไปที่ว่าชีวิตของเราเป็นอย่างไร สัมพันธ์กับอะไร และจะเข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้องได้อย่างไร จึงต้องการให้ครอบครัวเข้ามามีบทบาทกับการจัดการศึกษา

การศึกษา คือ กระบวนการเรียนรู้ที่เกี่ยวพันกับชีวิต มนุษย์มีความแตกต่างหลากหลายจากการเลี้ยงดู เพราะฉะนั้น การศึกษาจึงต้องมีความแตกต่างหลากหลายด้วย ชีวิตภายนอกและชีวิตภายใน มีสิ่งที่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนกัน  จึงควรจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับชีวิต โดยต้องเชื่อมโยงกับคนรุ่นต่างๆ และต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้เรื่องครอบครัว ชุมชน หรือที่เรียกว่ารากเหง้า ถ้าตราบใดที่เรียนรู้เรื่องรากเหง้าได้ดี ก็จะเรียนรู้เรื่องต่างๆ ได้ดี เพราะจะรู้จักตัวเองได้ดีขึ้น  เพราะฉะนั้นการศึกษาจึงต้องหันมาที่ตัวเราและชุมชนของเรา ทำให้เกิดการศึกษาทางเลือก ที่มีทั้งครอบครัวจัดการศึกษาเอง และชุมชนจัดการศึกษาให้ เช่น ที่ชุมชนวัดหนองหล่ม จ.ลำพูน มีพระ พ่อแม่ และคุณครู ร่วมกันฟื้นฟูป่าชุมชนที่เสื่อมโทรม ให้ฟื้นกลับคืนมา ทำให้ป่ากลายเป็นแหล่งอาหารของคนในชุมชน มีการจัดห้องเรียน โดยให้พ่อแม่มีส่วนร่วมในการสอน สอนเรื่องการดำเนินวิถีชีวิต เรื่องของชุมชน  พระสอนเรื่องศาสนธรรม ทำให้เด็กมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม และที่บ้านท่าสะท้อน  จ.นครศรีธรรมราช  มีการจัดหลักสูตรการศึกษา โดยยึดเอาป่าพรุเป็นแหล่งการเรียนรู้ ทำให้รู้ว่าป่าพรุให้อาหาร ยา และอากาศที่ดีแก่คนในชุมชน ซึ่งถ้าทุกก้าวย่างของชีวิตเป็นการศึกษา การศึกษาก็ต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เราได้สัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ  ถ้าตราบใดที่เด็กอยู่กับชุมชน และสามารถที่จะเข้าใจชีวิต เด็กก็จะได้เรียนรู้ปัญหาของสังคม ตอนนี้สังคมมีปัญหาด้านสื่อที่ทำให้เด็กหลงผิด และกระแสโลกาภิวัตน์ ที่เน้นการบริโภคและวัตถุนิยม เป็นกระแสที่กระตุ้นตัณหา การศึกษาไม่สามารถทำให้คนมีคุณภาพคุมตัณหาได้ เกิดตัณหา เกิดความโลภ ถ้าไม่ได้อย่างที่อยากได้ ก็ไม่พอใจ เกิดความโกรธ กลายเป็นความเคียดแค้น เพราะหลงผิด ความรุนแรงภายในใจก็จะเกิดขึ้น ถ้าตราบใดที่ให้กระแสโลกาภิวัตน์เข้ามากำหนดวิถีชีวิตของเรา  เด็กจะห่างไกลวัด เกิดศาสนาศูนย์การค้า เมื่อก่อนวันหยุดเราจะพากันไปวัด แต่ปัจจุบันเราจะพาไปศูนย์การค้า ซึ่งตอนนี้กฎหมายของกระทรวงศึกษา ได้ให้สถาบันศาสนาจัดระบบการศึกษาได้  โดยเอาศาสนธรรมมาเป็นเนื้อหา และสามารถให้วุฒิการศึกษากับเด็กได้  โดยไม่ต้องใช้หลักสูตรของกระทรวง

หน้าที่ของเรา คือ ต้องช่วยกันสร้างระบบการศึกษา ให้การศึกษากำหนดวิธีคิด และวิธีคิดเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิต เราจะปล่อยให้สื่อมาเป็นผู้สอนลูกเราไม่ได้ เราต้องรู้สึกว่าเด็กทุกคน คือลูกของเรา ครอบครัวคือสมาชิกของชุมชนโลก เราคือพี่น้องกัน ต้องช่วยกันดูแลครอบครัวของเรา สมาชิกของสังคมโลก โลกทั้งผอง พี่น้องกัน ต้องเริ่มสร้างจากเครือข่ายเล็ก แล้วค่อยขยายไปสู่เครือข่ายอื่นๆ เพื่อเราจะได้เห็นเด็กของเรา เป็นเด็ก "ใจใหม่ วัยใส"


คุณวัลลภ  ตังคณานุรักษ์  (ครูหยุย)
เลขาธิการ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

Imageเราทุกคนมีความเชื่อที่ว่า ครอบครัว เป็นชุมชนมนุษย์เดียวกัน แต่ในมุมมองกลับกัน ถ้าครอบครัวไม่พร้อม ก็จะมีส่วนสร้างอาชญากรรมของสังคม ถ้าเราไปค้นประวัติอาชญากรของโลก ส่วนใหญ่ก็มาจากครอบครัวที่ไม่พร้อม เคยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ได้มีชาวต่างชาติสนใจศึกษาโครงสร้างครอบครัวของคนเอเชีย คือ ไทย จีน อินเดีย ลาว พม่า จากการศึกษาครอบครัวแบบเอเชีย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันคือ เป็นโครงสร้างครอบครัวขยาย เป็นชุมชนของคนหลายวัย ซึ่งมีประโยชน์ดังนี้ คือ

๑) เป็นกลไกที่สอนให้คนรุ่นต่อไป ได้เรียนรู้เรื่องการเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่ยังเล็ก เราจะเรียนรู้วิธีการเลี้ยงดูเด็กจากคนในครอบครัว พี่ต้องดูแลน้อง เป็นการเตรียมคนรุ่นใหม่ เพื่อการเป็นพ่อแม่คน คนสมัยก่อนจะแต่งงานเมื่ออายุยังน้อย แต่จะมีกลไกในการสอนความพร้อมในการมีครอบครัว ในขณะเดียวกัน เมื่อแต่งงานแล้ว ก็อยู่ในบริเวณครอบครัวเดียวกัน

๒) มีขบวนการยับยั้งจากผู้ใหญ่ เมื่อมีการทะเลาะกันระหว่างสามีภรรยา ก็จะมีการห้ามปรามจากพ่อแม่ ซึ่งจะมีเฉพาะกับครอบครัวขยาย แต่ปัจจุบันอยู่กันตามลำพังสามีภรรยา เมื่อมีการทะเลาะกันจึงไม่มีผู้ใดห้ามปราม

๓) มีกลไกการบำบัดทางจิต เมื่อพ่อแม่จะตีลูก เด็กก็จะวิ่งไปหาผู้ใหญ่ในบ้าน ซึ่งจะมีการห้ามปราม เด็กก็จะได้รับการปลอบโยน ซึ่งกลไกการปลอบ จะทำให้เด็กได้รู้ว่ายังมีคนเข้าใจเขา กลไกการบำบัดทางจิตจึงเกิดขึ้น และไม่สะสมความรุนแรง เด็กมีโอกาสที่จะทำผิดได้และถูกลงโทษ แต่เมื่อถูกทำโทษ เด็กจะรับรู้ว่ามีคนอยู่ข้างเขาเสมอ 

การมีกลไกการช่วยเหลือต่างๆ  จะช่วยบำบัดจิตใจได้ ซึ่งกลไกแบบนี้จะมีเฉพาะในครอบครัวขยายเท่านั้น


ความโชคร้ายของสังคมเรา มาจากการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก ซึ่งเหมือนกับขบวนรถด่วน คือ

ขบวนที่ ๑  มีอาหารแปลกๆ เกิดขึ้น หรือที่เรียกว่า "แดกด่วน" จะนำลูกของเราให้ออกไปใช้ชีวิตด้วยการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์อย่างไม่บันยะบันยัง เด็กไทยกลายเป็นโรคอ้วนจำนวนมากขึ้น พ่อแม่กลายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยเงิน

ขบวนที่ ๒ กระแสแฟชั่น ที่มีทั้งกระโปรงสั้น สายเดี่ยว เกาะอก ลูกจะแต่งตัวตามเพื่อน ตามแฟชั่น เพราะกลัวไม่ทันสมัย ในขณะที่พ่อแม่ก็ปรับตัวไม่ทัน หรือรับไม่ได้กับกระแสที่เกิดขึ้น จึงเกิดความขัดแย้งกับลูก

ขบวนสุดท้าย ผับ เธค ร้านเกมส์  ร้านอินเตอร์เน็ท สิ่งเหล่านี้น่ากลัวที่สุด เพราะจะดึงลูกเราให้ออกจากบ้านตอนกลางคืน ไปในที่ลับ  พ่อแม่ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ และมักจะสอนลูกเหมือนเขายังเป็นเด็กเล็กเสมอ เมื่อพ่อแม่ต้าน ก็จะมีแรงต้านกลับมากขึ้น ความรุนแรงภายในครอบครัวก็จะมีมากขึ้น นี่เป็นความโชคร้ายของสังคมโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว


โครงสร้างครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงเกิดครอบครัวแปลกๆ ขึ้น คือ

๑) ครอบครัวลูกระเบิด เด็กที่ถูกทำร้ายจากพ่อแม่ที่ไม่มีความพร้อม ไม่มีความรับผิดชอบ เที่ยว ดื่ม กิน
๒) ครอบครัวดาวกระจาย พ่อ แม่ ลูก อาศัยอยู่หรือทำมาหากินคนละที่คนละทาง 
๓) ครอบครัวยิปซี ครอบครัวที่ย้ายถิ่นฐาน เพื่อหาแหล่งทำมาหากินใหม่ๆ เคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆ  
๔) ครอบครัวเปิดปุ๊บติดปั๊บ (มีมากขึ้น) มีลูกเมื่อยังไม่พร้อม คลอดลูกแล้วนำไปทิ้ง หรือส่งไปให้ตายายเลี้ยง (เลี้ยงลูกทางไปรษณีย์)  

ทั้ง ๔ ครอบครัว เป็นครอบครัวที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เด็กได้รับผลกระทบ เด็กมีความทุกข์ จากการที่พ่อแม่ทะเลาะกัน พ่อแม่ไม่รัก ไม่มีบ้านอยู่อาศัย เมื่อมีความทุกข์มาก ความเหงาก็เกิดขึ้น เมื่อเหงา คับข้องใจ ถึงที่สุด จึงเปลี่ยนเป็นความคับแค้นใจกับตัวเองและกับผู้อื่น กับตัวเองคือ การทำร้ายร่างกาย ซึ่งเด็กไทย เมื่อไม่พอใจก็จะลงไปนอนดิ้นร้องไห้ ที่รุนแรงมาก คือการฆ่าตัวตาย ส่วนการทำร้ายคนอื่น คนที่มองไปไม่เห็นใคร จะทำอะไรก็ได้ อันนี้น่ากลัว บ้านเราอาจจะไม่มีถึงขั้นมีวัยรุ่นกราดยิง แต่จะมีกรณีการรวมตัวกันรุมทำร้ายคน การรุมโทรม การเป็นกลุ่มแก๊งค์ เป็นปรากฏการณ์ความรุนแรงที่มีมากขึ้น ซึ่งมาจากครอบครัวที่แตกสลาย ทำให้แนวโน้มที่จะมีระเบิดเวลามากขึ้น ครอบครัวที่ไม่พร้อมก็เหมือนกับมีระเบิดเวลา และจะระเบิดแรงมาก


เราต้องร่วมสร้างครอบครัวที่มีความสุข จะมีครอบครัวที่พร้อมได้อย่างไร และจะเป็นเรื่องยากขึ้นทุกวัน ในการสร้างครอบครัว หรือชุมชนให้สามารถอยู่ได้อย่างปกติสุข  ถ้าชุมชนปลอดอบายมุข แนวโน้มครอบครัวก็จะมีความสุข  แนวทางที่มีคนคิดว่าจะทำให้ครอบครัวผาสุก ขึ้นอยู่กับพื้นฐานความเชื่อ ๔แนวทาง คือ

๑) เชื่อเรื่องการเตรียมครอบครัวคนรุ่นใหม่  คือ เชื่อว่าหนุ่มสาวเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ผลิดอกออกผลได้ จึงต้องเตรียมคนรุ่นใหม่ ให้พร้อมจะเป็นพ่อแม่ กลไกการเตรียมคนรุ่นใหม่ จึงมีการเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษา จากเพศศึกษา เป็นครอบครัวศึกษา เพราะว่าเป็นการเตรียมตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้รู้ว่าชายหญิงเป็นเพื่อนกัน ไม่ควรรังแกหรือละเมิดกัน เป็นเพื่อนกันตั้งแต่เด็ก จนมาเป็นมิตรที่เกื้อกูลกัน การเตรียมความพร้อม จะมีความเชื่อว่า ถ้าไม่พร้อมอย่าเพิ่งแต่งงาน เพราะถ้าแต่งเมื่อไม่พร้อม ก็จะมีการหย่าเกิดขึ้น ถ้าต้องแต่งโดยไม่พร้อม อย่าเพิ่งมีลูก และรัฐต้องมีหน้าที่เตรียมหน่วยงานที่คอยให้คำปรึกษากับครอบครัวคนรุ่นใหม่ที่มีปัญหา

๒) ศาสนธรรม เชื่อว่าถ้ามนุษย์ไม่ฝึกอบรมทางจิตใจจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ เพราะจิตจะอาละวาด ใช้อารมณ์รุนแรง ถ้าเราไม่รู้จักออกจากความขัดแย้ง หรือระงับความขัดแย้งไม่เป็น เราจะทำร้ายกัน เพราะมนุษย์มีพื้นฐานของความเป็นสัตว์กับความเป็นมนุษย์ ทางศาสนาสอนให้ทุกคนมีพลังจิตที่ดี  มีความเมตตาต่อกัน

๓) ชุมชน เชื่อว่าชุมชนเป็นองค์ประกอบที่ครอบครัวอยู่ร่วมกัน ถ้ามิติของชุมชนเข้มแข็ง จะเป็นพลังทำให้ครอบครัวเข้มแข็ง  ชุมชนยั่งยืน ถ้าชุมชนสามารถดูแลกันเองได้ เป็นชุมชนที่มีความเมตตา กรุณาต่อกัน ไม่มีอบายมุขในชุมชน มีบางชุมชนที่มีความเชื่อเช่นนี้ เช่น ชุมชนสันติอโศก ธรรมกาย เชื่อว่าถ้าสามารถทำให้ชุมชนไปตามแนวทางที่ดี ก็จะเป็นชุมชนที่ดีได้

๔) อำนาจรัฐ เชื่อว่ารัฐมีหน้าที่ในการดูแลประชาชน เปรียบนักการเมืองเป็นพ่อ ข้าราชการเป็นแม่ ประชาชนเป็นลูก หน้าที่ของพ่อแม่คือปกป้องคุ้มครองลูก หน้าที่รัฐจะต้องออกกฎหมายและจัดระเบียบสังคม ให้เป็นไปตามแนวทางที่ดี

ซึ่งทุกแนวทางเป็นทางในการสร้างครอบครัวที่เข้มแข็ง


แบ่งปันความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมเสวนา

Imageผู้ร่วมเสวนา : แฟชั่นกับเยาวชน ต้องก้าวไปด้วยกัน ทันสมัยแต่ไม่โป๊ สื่อต้องรณรงค์ให้มีการแต่งกายที่เหมาะสม ทันสมัยได้ แต่ต้องได้รับการยอมรับจากพ่อแม่

ผู้ร่วมเสวนา : ผับ เธค กับการรักษาเวลา ถ้าเยาวชนมีระเบียบในการรักษาเวลา ไปยังสถานที่ที่มีความปลอดภัย ซึ่งควรเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างพ่อแม่ ผู้ปกครอง เด็กวัยรุ่นถ้ามีการสั่งห้าม จะเกิดการต่อต้านที่ว่าในเมื่อเพื่อนๆ ไปได้ ทำไมเราถึงไปไม่ได้ แต่ถ้าพ่อแม่ให้เหตุผลว่าลูกไปได้ แต่ต้องกลับตรงเวลา หรือพ่อแม่จะไปรับเวลาใด  เด็กจะต้องเรียนรู้เหตุผลของผู้ใหญ่ ครอบครัวจะต้องสื่อสารให้เด็กเข้าใจ เด็กก็จะเรียนรู้มากกว่าการห้ามโดยไม่มีเหตุผล

คุณวัลลภ เสริมว่า : การเลี้ยงดูลูก ถ้าตอนยังเล็ก เราใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ เมื่อเป็นวัยรุ่นจะพูดคุยกันง่าย เพราะพูดด้วยเหตุผล แต่ถ้าตอนเด็กใช้อารมณ์กับเขามาตลอด ตอนโตจะใช้เหตุผลไม่ค่อยได้ การเลี้ยงลูกตอนเล็กๆ ต้องปากเปียกปากแฉะ ต้องพยายามอธิบาย เมื่อเป็นวัยรุ่น ต้องคอยกางหู ฟังให้มาก เด็กจะเล่าให้ฟังเอง ปัญหาคือเราจะปรับตัวไม่ได้ จะมีสักกี่คนที่เข้าใจลูกได้อย่างนี้ ครอบครัวไทยมี ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มที่แย่ กลุ่มที่กลาง กลุ่มที่ดี แต่กลุ่มกลางๆ จะมีแรงเหวี่ยงเร็วมาก แนวโน้มที่จะเกิดปัญหามีมาก ปัจจุบันมีเด็กเกิดปีละ ๘ แสนคน ตาย ๑ แสนคน เหลือ ๗ แสนคนที่เติบโตขึ้นมา ลูกเราจะต้องเติบโตพร้อมกับเด็กอีก ๗ แสนคน ซึ่งมีเด็กเพียง ๑ แสนคนที่ถูกเลี้ยงดูอย่างดี แต่มีอีก ๖ แสนคนที่ได้รับการเลี้ยงดูไม่ดี แต่ต้องเติบโตพร้อมกัน เดินทาง นั่งรถเมล์ เรียนหนังสือด้วยกัน แต่เราไม่รู้ว่าอาจจะมีสักวันหนึ่งที่เด็ก ๖ แสนคน จะมาทำร้ายเด็ก ๑ แสนคน ถ้าเราดูแลเด็กคนอื่นได้มากเท่าไร ลูกเราก็ปลอดภัยเท่านั้น สอนเด็กให้เป็นคนดีเท่าไร ลูกหลานเราก็ปลอดภัยมากขึ้น

คุณรัชนี เสริมว่า : การเลี้ยงดูลูก เมื่อเราสัมผัสลูก เลี้ยงลูกด้วยความรัก เด็กก็จะสัมผัสถึงความรักที่เรามีให้ เมื่อลูกเป็นวัยรุ่น ต้องเปลี่ยนบทบาทจากพ่อแม่มาเป็นเพื่อนลูก เพราะลูกจะเชื่อฟังเพื่อนมากกว่า พ่อแม่ต้องเป็นเพื่อนที่มากกว่าเพื่อน มีเวลาคุยกัน ใช้ภาษาเดียวกัน เมื่อเราใช้ภาษาของผู้ใหญ่เด็กจะไม่กล้าคุย ให้สมองกับหัวใจไปด้วยกัน รักและห่วงใยเขา เมื่อเขาทุกข์เราสามารถช่วยเหลือเขาได้ ต้องดูแลเขาตลอด พ่อแม่ที่รักลูกเป็น ต้องเรียนรู้ข้อมูลใหม่ๆ ไปด้วยกันกับลูก

คุณวัลลภ เสริมว่า : การดูแลพ่อแม่ จะทำให้ลูกได้ซึมซับ ถ้าเราไม่ดูแลพ่อแม่ อนาคตลูกก็จะไม่ดูแลเรา เรามีรากเหง้า ความกตัญญูที่คนโบราณทำมา หรือคำพังเพยโบราณ "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" ที่ผูกเพราะว่าถ้าไม่ผูกมันจะเตลิด ต้องผูกบนดอน มีหญ้ากิน น้ำท่วมไม่ถึง รักลูกให้ตี คือ การตีอารมณ์ของเราเอง นับ ๑- ๑๐ ก่อนจะตีลูก แต่ยังมีอีกหนึ่งคำโบราณ คือ จูบจอมถนอมเกล้า (ดึงเขามาจูบที่หน้าผาก ยินดีกับความสำเร็จ เป็นการให้รางวัล) กอดประทับรับขวัญ (ต้องการปลอบโยน เมื่อเขาผิดหวัง) คนโบราณไม่บอกกล่าว แต่จะทำให้เห็นมากกว่า

ผู้ร่วมเสวนา : ความเป็นพ่อแม่สมัยก่อนที่มีเวลา กับพ่อแม่สมัยใหม่ที่ไม่มีเวลาให้ลูก วิธีการศึกษาของเด็กสมัยนี้จึงต้องไปเรียนรู้เอง ไม่มีคนคอยแนะนำ พ่อแม่ไม่มีเวลาอบรมลูก ห่วงแต่เรื่องทำมาหากิน ให้แต่เงิน เลี้ยงลูกด้วยเงิน นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่มีเหตุผล คนโบราณแม้ไม่ได้พูด ไม่ได้บอกถึงเหตุผล แต่ทำต่อๆ กันมา เป็นการปลูกฝังการเลี้ยงดู ทำให้เราเรียนรู้จากพ่อแม่เรียนรู้จากในครอบครัวเรา ปัญหาใหญ่ๆ จึงเกิดจากการพ่อแม่ไม่ได้สอนลูก เพราะสภาพแวดล้อมที่น่ากลัวมากขึ้น เด็กอยากลอง อยากเห็น แต่กลับไม่มีคนแนะนำ

ผู้ร่วมเสวนา : รากเหง้าหรือพื้นฐานของครอบครัวแถบเอเชีย เป็นวัฒนธรรมแห่งชีวิต ที่มีคุณค่ามากมาย และในความเป็นวัฒนธรรมไทย ที่มีเอกลักษณ์หลายอย่างที่จะนำไปสู่ครอบครัวแห่งสันติภาพได้ แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก กระแสโลกาภิวัตน์ที่มาเร็วมาก ปัญหาครอบครัวไม่ได้ลดลง แต่กลับเพิ่มมากขึ้น  เพราะเราไม่เห็นว่าครอบครัวหรือชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ มีระบบโครงสร้างของหน่วยงาน องค์กร ที่ควรจะเข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหา ในหน่วยงานองค์กรต่างๆ มีเด็กกำพร้า เด็กพิการมากมาย ก็ไม่เพียงพอ ถ้าเราไม่แก้ไขที่รากเหง้า ทัศนคติ ความคิดของคน ต้องหันมาใส่ใจบทบาทหน้าที่ของคนที่จะเป็นพ่อแม่ ทำอย่างไรเราจึงจะช่วยกันให้แนวคิดนี้ได้แพร่กระจายออกไป ให้คนเห็นความสำคัญ แนวคิดทางคาทอลิก เรื่องของชีวิตจะดูแลตั้งแต่เกิดจนตายอย่างละเมียดละไม มีการล้างบาป อบรมตามแนวทางศาสนา มีการเตรียมพร้อมก่อนแต่งงาน ถ้าใส่ใจจริงๆ ก็จะช่วยกันได้ แต่ยังไม่มีการใส่ใจกันมากนัก ปัญหาจึงเกิดขึ้น อยากให้หันมาช่วยเหลือกัน จะให้ใครคนใดคนหนึ่งทำไม่ได้  เป็นเรื่องที่หนักหนาเหมือนกันสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นกับครอบครัว

คุณวัลลภ เสริมว่า : ครอบครัวต้องมีเกราะป้องกัน เทคโนโลยีก็ช่วยเราได้ แต่เราให้ความสำคัญต่อกันหรือเปล่า หลายเรื่องที่คนโบราณสอน บางอย่างต้องนำมาประยุกต์ใช้ ต้องมีเกราะป้องกันให้กับครอบครัวได้ตั้งรับกับสถานการณ์สังคม ได้มีเวลาตั้งหลัก โลกปัจจุบันที่ไม่เอื้ออาทรต่อกัน แต่ละครอบครัวจึงต้องแก้ไขปัญหากันเอง แต่ขณะนี้ได้มีการสร้างเครือข่ายครอบครัว ที่หลายโรงเรียนได้เริ่มขึ้นแล้ว เริ่มจากกลุ่มแม่บ้าน เกิดสมาคมผู้ปกครองครูประจำชั้น ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น เราจะทำอย่างไรให้เครือข่ายครอบครัวมีความพร้อม ทำให้เข้มแข็ง การแลกเปลี่ยนข้อมูลของพ่อแม่ให้มีมากขึ้น ช่วยปกป้องลูกร่วมกัน จะกลายเป็นภูมิต้านทานที่ดีได้ 

คุณรัชนี เสริมว่า : นักจิตวิทยาท่านหนึ่งกล่าวว่า มนุษย์ เกิดมาพร้อมกับความไม่มั่นคง คือ เลือกเกิดไม่ได้ พอไม่มั่นคง จึงเกิดความกลัว จึงต้องหาสิ่งชดเชย เช่น การทำงานหาเงินของพ่อแม่ ทำให้ไม่มีเวลาให้กับลูก ความกลัว ความไม่มั่นคง ถ้าเราหันกลับมา และเริ่มฝึกฝนพัฒนาตนเอง และรู้จักคำว่าเพียงพอ จะพบกับความมั่นคง คำว่าไม่มีเวลา จะไม่เกิดกับครอบครัว ทำให้มีสติและรู้เท่าทันว่าที่จริงแล้วชีวิตต้องการอะไร และควรเลือกอะไร ขณะที่คนส่วนใหญ่ขาดที่พึ่ง ต้องไปหาเจ้าเข้าทรง เพราะสถาบันต่างๆ ไม่ได้เป็นที่พึ่งให้กับคนในยุคนี้ เป็นไปได้หรือไม่ ที่ต้องสร้างเครือข่ายพ่อแม่ ให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งถ้าพ่อแม่มีความมั่นคงแล้ว ก็จะเผื่อแผ่ให้กับลูกได้ สังคมต้องสร้างความรู้คู่กับความรักมาเป็นรั้วป้องกันตัวเอง และจะป้องกันลูกเราได้


ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >