หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow มายาคติชาติพันธุ์: ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ข้ามมาทำไม ?
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 93 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

มายาคติชาติพันธุ์: ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ข้ามมาทำไม ? พิมพ์
Tuesday, 08 January 2008


บทความข้างล่างนี้ ยส. ได้มาจากสมาชิกเว็บไซต์ jpthai ท่านหนึ่งได้โพสต์ไว้ในเว็บบอร์ด jpthai อ่านแล้วเห็นว่ามีประโยชน์ จึงนำลงเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่บทความดีๆ นี้ต่อไป  

Image


การย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติระดับล่างในสังคมไทย

มายาคติชาติพันธุ์: ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ข้ามมาทำไม ?

อดิศร เกิดมงคล : เขียน
Advocacy and Research Officer
International Rescue Committee-Thailand

บทความวิชาการต่อไปนี้ กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน ได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาการเมืองและสถานการณ์โลกาภิวัตน์ ที่ส่งผลให้เกิด
แรงงานย้ายถิ่นที่เข้ามาในประเทศไทย แรงงานข้ามชาติเหล่านี้นำมาซึ่งความห่วงใย
ในหลายด้าน เช่นปัญหาความมั่นคง ปัญหาสาธารณสุข ปัญหาอาชญากรรม ฯลฯ
บทความชิ้นนี้ได้พยายามที่จะให้ภาพข้อเท็จจริง และภาพมายาคติต่างๆ
ที่ถูกสร้างขึ้น โดยได้นำเสนอข้อมูลตามลำดับดังต่อไปนี้...

1. ภาพรวมของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย
2. การย้ายถิ่นของคนข้ามชาติจากประเทศพม่า
3. ตัวเลขแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า
4. สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานข้ามชาติ
5. ตัวอย่างการละเมิดสิทธิต่อแรงงานข้ามชาติ : การออกประกาศจังหวัด
6. มายาคติที่กดทับตัวตนแรงงานข้ามชาติ
7. เราจะอยู่ร่วมกับแรงงานข้ามชาติได้อย่างไร?


บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๘๓
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๙ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

การย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติระดับล่างในสังคมไทย

มายาคติชาติพันธุ์: ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ข้ามมาทำไม ?

อดิศร เกิดมงคล : เขียน
Advocacy and Research Officer
International Rescue Committee-Thailand

1. ภาพรวมของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย
"แรงงานข้ามชาติ" หรือที่เรียกตามภาษาราชการว่า "แรงงานต่างด้าว" เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศหนึ่งสู่อีกประเทศหนึ่ง โดยมีลักษณะที่มีปฏิสัมพันธ์กับอีกสังคมและ/หรืออีกวัฒนธรรมหนึ่ง ผ่านการว่าจ้างแรงงาน ซึ่งการเคลื่อนย้ายลักษณะดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในแทบทุกภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน ที่การสื่อสาร คมนาคม มิได้เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางของมนุษย์ดังเช่นอดีต ผนวกรวมกับปัจจัยทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่มีความรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่า "แรงงานข้ามชาติ" เป็นอาการอย่างหนึ่งอันเกิดจากภาวะ "ทุนนิยมโลกาภิวัตน์"

ในกรณีของประเทศไทยการย้ายถิ่นข้ามพรมแดนไปมาระหว่างประชาชน 2 ประเทศที่พรมแดนติดต่อกัน เช่น ไทย-พม่า, ไทย-ลาว, ไทย-กัมพูชา, และไทย-มาเลเซีย เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในอดีตการย้ายถิ่นเป็นไปเพื่อการกวาดต้อนประชาชนของฝ่ายที่ปราชัยจากการรบพุ่งไปเป็นประชาชนของประเทศตนเอง แต่ในปัจจุบันการย้ายถิ่นเป็นเรื่องของการเปิดเสรีทางการค้า การลงทุนของประเทศที่มีความพร้อมมากกว่า

รัฐบาลไทยได้เริ่มมีนโยบายอนุญาตให้มีการจ้างแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายโดยอาศัยอำนาจตาม พรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และ พรบ.การทำงานคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 อนุญาตให้จ้างผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายอยู่ระหว่างรอการส่งกลับ แต่อนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 โดยเริ่มให้มีการจ้างแรงงานข้ามชาติจากพม่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนไทย-พม่า 9 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ กาญจนบุรี ตาก ระนอง ประจวบคีรีขันต์ แม่ฮ่องสอน ราชบุรี (ภายหลังเพิ่มอีก 1 จังหวัด)

หลังจากนั้นก็เปิดให้มีการจ้างแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้นเป็นสามสัญชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา ในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ที่ขาดแคลนแรงงาน เช่น จังหวัดที่มีการประกอบกิจการประมงทะเล ในปี พ.ศ.2539 จำนวน 43 จังหวัด 7 กิจการ และขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในปี 2541 เป็น 54 จังหวัด 47 กิจการ โดยหลังจากปี 2541 นโยบายแรงงานข้ามชาติเป็นนโยบายปีต่อปีมาโดยตลอด

ในปี 2542-2543 ให้จ้างงานได้ 43 จังหวัด 18 กิจการ จนครบ 76 จังหวัดในปี 2544 และมีกิจการที่อนุญาตทำงานทั้งสิ้น 10 กิจการ. ปี 2545 ได้รวมกิจการที่อนุญาตให้ทำเข้าเป็น 6 กิจการ จนกระทั่ง ปี 2547 รัฐบาลไทยได้มีแนวนโยบายการจัดการแรงงานต่างด้าวทั้งระบบโดยให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยทั้งหมด ไม่ว่าจะเคยขออนุญาตทำงานหรือไม่ รวมทั้งครอบครัวผู้ติดตาม มาขึ้นทะเบียนรายงานตัวต่อกระทรวงมหาดไทย และขออนุญาตทำงานกับกระทรวงแรงงาน โดยมีจุดประสงค์ที่ต้องการทราบจำนวนแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยทั้งหมด เพื่อนำไปสู่กระบวนการทำให้ถูกกฎหมาย (Legalization) โดยการให้ประเทศต้นทางพิสูจน์สัญชาติและออกเอกสารแทนหนังสือเดินทางต่อไป

2. การย้ายถิ่นของคนข้ามชาติจากประเทศพม่า
สำหรับประเทศพม่า การย้ายถิ่นค่อนข้างมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากปัจจัยจากประเทศต้นทางที่ อันได้แก่ รัฐบาลได้นำนโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมพม่ามาใช้ทำให้ประชาชนต้องอดอยากยากแค้น เกิดภาวะเงินเฟ้อ และเกิดภาวะความยากจนอัตคัดขึ้นในทุกพื้นที่ ปัจจัยทางด้านการเมืองก็มีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับการย้ายถิ่น โดยเฉพาะในเรื่องของความไม่ปลอดภัยในการดำรงชีวิต เช่น การที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศเบ็ดเสร็จ มีการปกครองแบบรัฐบาลเผด็จการทหาร ปฏิเสธบทบาทพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ปราบปรามขบวนการนักศึกษาระหว่างมีการชุมนุมประท้วงของประชาชน ในวันที่ 8 สิงหาคม 1988, การต่อสู้ระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลทหารพม่าในช่วง 10-15 ปี ที่ผ่านมา และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ

นอกจากปัจจัยดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ปัจจัยในประเทศไทยก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดการการย้ายถิ่น คือ การที่ประเทศไทยมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก จนทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม

การอพยพย้ายถิ่นจากประเทศพม่าไม่ใช่ลักษณะของการเข้าตามตรอกออกตามประตู ไม่ใช่การเดินอย่างสง่าผ่าเผย ข้ามด่านที่เปิดอย่างเป็นทางการ แต่เป็นลักษณะของการลอดรัฐเข้ามาตามช่องทางต่างๆ กล่าวคือ ชนกลุ่มน้อยจากพม่ายังคงถูกบีบบังคับให้ลี้ภัยออกนอกประเทศอย่างไม่ขาดสาย เพราะรัฐบาลพม่ามีนโยบายในการเข้าไปจัดการและควบคุมพื้นที่ที่ชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่อย่างเข้มข้น อาทิเช่น โครงการโยกย้ายถิ่นฐานใหม่ (Resettlement Programs) ซึ่งมุ่งเน้นบังคับให้ชาวบ้านต้องโยกย้ายออกจากที่อยู่เดิม โดยที่บางครั้งก็ไม่ได้จัดหาที่อยู่ใหม่ให้ หรือจัดสรรที่อยู่ซึ่งง่ายต่อการควบคุม หรือเป็นพื้นที่ซึ่งมีสภาพแย่กว่าที่อยู่เดิม เป็นต้น. นอกจากนี้ยังมีปฏิบัติการที่เข้าไปจัดการกับชีวิตประจำวันของผู้คน เช่น การเกณฑ์แรงงานหรือไปเป็นลูกหาบให้ทหารพม่า หรือทหารพม่าเข้าไปทำร้ายร่างกายของประชาชน โดยที่กฎหมายไม่สามารถคุ้มครองใดๆ ได้. สิ่งเหล่านี้จึงก่อให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

เมื่อมีการเคลื่อนย้ายคนกลุ่มนี้เข้ามามาก นอกเหนือจากสถานภาพการเข้ามาเป็นแรงงานแล้ว นัยสำคัญของการเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายก็ติดตามมาอย่างยากจะหลุดพ้น. ผู้เขียนพบว่า รัฐราชการไทยได้เกิดการตื่นตระหนกและลุกขึ้นมาจัดการกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยการใช้มุมมองที่เริ่มต้นจากปรากฏการณ์ที่เป็นปัญหา การจัดการกับปัญหาหรือสภาวการณ์ดังกล่าวของรัฐราชการไทย ได้วางอยู่บนพื้นฐานที่สำคัญอยู่สองประการ คือ

- ความต้องการจัดการกับปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคง และ
- ความต้องการแรงงานไร้ฝีมือทดแทนแรงงานไทยที่ขาดแคลน ในภาคการผลิตบางส่วน

ซึ่งในส่วนหลังนี้เองก็มีการตั้งคำถามที่สำคัญว่าแรงงานที่นำมาทดแทนนั้น จะต้องเป็นแรงงานราคาถูกด้วยใช่หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองต่อความได้เปรียบในการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการในประเทศไทย

สิ่งที่สำคัญก็คือ ทั้งสองความต้องการนี้ก็ได้กลายเป็นแนวคิดสำคัญในการจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามภายใต้ภาวการณ์ที่สังคมไทยยังให้ความสำคัญกับวาทกรรมความมั่นคงแห่งชาติที่มุ่งเน้นการจัดระเบียบเพื่อก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยภายใน นโยบายของรัฐไทยต่อผู้ย้ายถิ่นเองก็มีความไม่ต่อเนื่อง ขลุกขลัก ลักลั่น ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน และมักจะนิยมใช้นโยบายลดจำนวนผู้ย้ายถิ่นให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือมีนโยบายผลักดันกลับไปสู่ภูมิลำเนา เมื่อโอกาสเอื้ออำนวย

แต่ขณะเดียวกัน ด้วยสถานภาพของการเป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง อคติของสังคมไทยต่อแรงงานข้ามชาติ ประกอบกับแนวคิดในการจัดการของรัฐไทยที่ผ่านมา ได้วางอยู่บนฐานแนวคิดเรื่องของความมั่นคงแห่งชาติ และเรื่องของการต้องการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานเป็นหลัก ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ด้วยเหตุนี้ จึงเท่ากับเปิดโอกาสให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสิทธิแรงงาน อันเป็นเรื่องพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตของแรงงานเหล่านี้ และเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข

3. ตัวเลขแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า
ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน ได้ให้รายละเอียดเรื่องตัวเลขของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจว่า

ในปี 2549 รัฐไทยได้ผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติที่ได้รับใบอนุญาตทำงานในปี 2548 จำนวน 705,293 คน อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและทำงานต่อไปได้อีก 1 ปี จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2550 พบว่า

(1) มีแรงงานข้ามชาติมาต่ออายุใบอนุญาตทำงานจำนวน 460,014 คน
(2) แรงงานข้ามชาติได้รับการพิสูจน์สัญชาติจำนวน 80,811 คน
(3) แรงงานข้ามชาติไม่มาเข้าสู่ระบบการจ้างงานจำนวน 166,770 คน

และการเปิดให้แรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ได้จดทะเบียน มาจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติระหว่างวันที่ 1-30 มีนาคม 2549 พบว่า

(1) มีแรงงานข้ามชาติมาจดทะเบียนกับกรมการปกครอง 256,899 คน
(2) แต่มาขอรับใบอนุญาตทำงานจำนวน 208,562 คน
(3) ไม่มาเข้าสู่ระบบการจ้างงานจำนวน 48,337 คน เนื่องจากมีสถานะเป็นผู้ติดตามแรงงาน

ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 เห็นชอบแนวทางการจัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าวปี 2550 ซึ่งเป็นการดำเนินการจัดระบบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ต่อเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2547 และ 2548 โดยผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานปี 2549 จำนวน 668,567 คน (กลุ่มแรกใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 จำนวน 208,562 คน และกลุ่มสองใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 30 มิถุนายน 2550 จำนวน 460,014 คน) สามารถทำงานต่อได้อีก 1 ปี โดยการต่ออายุครั้งใหม่นี้ใบอนุญาตกลุ่มแรกจะสิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 และกลุ่มสองจะหมดอายุวันที่ 30 มิถุนายน 2551 โดยกำหนดให้กลุ่มแรกมายื่นขอใบอนุญาตทำงานตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 และกลุ่มสองวันที่ 15 มกราคม ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2550

ทั้งนี้มติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้กระทรวงกลาโหมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำการสกัดกั้น และปราบปรามจับกุมการลักลอบเข้ามาของแรงงานต่างด้าวรายใหม่ และแรงงานต่างด้าวที่อยู่เก่าแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสังคม ทั้งทางด้านสาธารณสุข ด้านอาชญากรรม ความสงบเรียบร้อยในสังคมและความมั่นคงของประเทศ

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลจากการสัมมนาเนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากลเรื่องการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน การละถิ่นฐาน และความเสี่ยงเพื่อความมั่นคงของมนุษย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.สุภางค์ จันทวานิช ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา ได้ชี้ให้เห็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่า รัฐบาลไทยได้กำหนดให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวทุกปี โดยดำเนินการมาแล้วเป็นเวลา 14 ปี ซึ่งปีนี้ได้ผ่อนผันต่ออายุแรงงานออกไปอีก 1 ปี แต่พบว่าการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวยังมีน้อยมาก มีการโกงค่าแรง การยึดบัตร มีปัญหาการรักษาพยาบาล การคลอดบุตร เดิมแรงงานต่างด้าวได้มาจดทะเบียนไว้ประมาณ 1,200,000 คน แต่ตอนนี้มีแรงงานที่หายไปจากระบบกว่า 700,000 คน ซึ่งกำลังตรวจสอบว่า แรงงานกลัวการจับกุม หรือเป็นเพราะนายจ้างไม่พาไปจดทะเบียน

สอดคล้องกับที่นายวสันต์ สาธร ผู้อำนวยการศูนย์บริหารแรงงานต่างด้าว มองว่า "ตัวเลขข้อมูลแรงงานต่างด้าวในแต่ละปีหดหายไปถึง 30% โดยไม่สามารตรวจสอบถึงต้นตอที่มาได้ โดยเฉพาะปีที่ผ่านมา ตัวเลขข้อมูลแรงงานต่างด้าวหายไปถึง 2 แสนคน ซึ่งจากตัวเลขที่มีการสำรวจในปีก่อนหน้านี้ มีข้อมูลตัวเลขแรงงานต่างด้าวอยู่ในไทยถึง 8 แสนคน เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการขณะนี้ คือ การตรวจสอบตัวเลขข้อมูลแรงงานต่างด้าวจากหน่วยงานต่างๆ ในเขตจังหวัดชายแดนทั่วประเทศ เพื่อหาต้นตอที่ชัดเจนว่า ตัวเลขที่หายไปเป็นการกลับประเทศ หรือเป็นแรงงานแฝงที่แอบหลบหนีซุกซ่อนทำงานอยู่ในประเทศ หรือได้ข้ามไปทำงานในประเทศที่สามแล้ว"(หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 7 พฤษภาคม 2550)

4. สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานข้ามชาติ
การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติที่เกิดขึ้น ได้แก่

1. การถูกขูดรีดจากนายหน้าในระหว่างการขนย้ายแรงงานข้ามประเทศ
การเดินทางเข้ามาเป็นแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยนั้น กลุ่มนายหน้าเป็นบุคคลสำคัญที่จะนำพาพวกเขาเดินทางเข้ามาแสวงหาชีวิตใหม่ในประเทศไทยได้ นายหน้าเหล่านี้จะเป็นผู้จัดการเกี่ยวกับการเดินทางทั้งหมดของแรงงานข้ามชาติ เริ่มตั้งแต่เรื่องการเดินทาง จัดหาที่พัก และการหางานให้ทำ แรงงานที่เข้ามาหางานทำในประเทศไทย มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพึ่งพิงนายหน้าเหล่านี้ คนพม่าที่ทำหน้าที่เป็นนายหน้าส่วนใหญ่ บ้างก็เป็นคนที่แรงงานรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง เพื่อน หรือคนในหมู่บ้านเดียวกัน หรือเป็นคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน แต่ได้รับการแนะนำให้ไปติดต่อ หรือนายหน้าเองเป็นผู้ที่เข้าไปชักชวนและเสนองานให้ทำ ซึ่งมีทั้งแบบที่ไปหาถึงหมู่บ้านหรือนัดหมายให้มาเจอกันที่ชายแดน

ในขบวนการนายหน้ารวมทั้งที่เป็นคนพม่าและคนไทย นายหน้าทำงานได้ต้องมีความสัมพันธ์หรือมีความสามารถในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคน ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น การจ่ายส่วยค่าผ่านทาง จนถึงการเป็นหุ้นส่วนในการนำพาแรงงานเข้าเมือง หลายครั้งเจ้าหน้าที่รัฐเองเป็นผู้นำแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ เดินทางข้ามชายแดนเข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่ๆ การจ่ายเงินให้นายหน้าเพื่อหลบหนีเข้าเมืองมาหางานทำ มิได้เป็นหลักประกันความปลอดภัย เพราะแรงงานข้ามชาติต้องเดินทางแบบหลบซ่อนในรูปแบบต่างๆ เช่น ซ่อนตัวอยู่ในรถขนส่งสิ่งของ พืชผักต่างๆ ซึ่งค่อนข้างยากลำบากอันตรายและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิต

แรงงานหญิงหลายคนเสี่ยงต่อการถูกข่มขืน การล่วงละเมิดทางเพศจากนายหน้าหรือเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อถูกจับกุมได้ ขบวนการนายหน้าบางส่วนทำหน้าที่เป็นเสมือนพวกค้าทาสในอดีต แรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะผู้หญิง มักจะถูกนายหน้าหลอกไปขายให้แก่สถานบริการ และบังคับให้แรงงานหญิงเหล่านี้ค้าบริการทางเพศ หรือขายบริการให้แก่ชาวประมงที่ต้องออกทะเลเป็นเวลานาน

การจ่ายค่านายหน้า นายหน้าโดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีเก็บเงินโดยตรงที่นายจ้าง และนายจ้างจะหักจากค่าแรงของแรงงานอีกต่อหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นข้ออ้างของนายจ้างที่จะไม่จ่ายค่าแรงให้แก่แรงงาน ทำให้หลายกรณีที่แรงงานข้ามชาติทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างเลย

2. ต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่เลวร้าย
ลักษณะงานที่แรงงานข้ามชาติเข้ามารับจ้างทำงานส่วนใหญ่ ถูกจัดให้อยู่ในประเภท 3 ส. คือ สุดเสี่ยง, แสนลำบาก, และสกปรก. ในขณะเดียวกันต้องทำงานหนักและได้รับค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม งานบางประเภทเป็นงานที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับฤดูกาล เช่น งานในภาคเกษตร ซึ่งต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานานๆ หลายชั่วโมงและไม่มีวันหยุด บางกรณีแรงงานจะถูกใช้ให้ไปทำงานที่ผิดกฎหมาย เช่น ให้ไปตัดไม้ในเขตป่าสงวน ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกจับกุมโดยนายจ้างจะไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้นต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

ปัญหาของแรงงานข้ามชาติแตกต่างกันไปตามลักษณะของงาน จำแนกพอเป็นสังเขปได้ ดังนี้

1. งานในภาคเกษตรกรรม ได้รับค่าแรงต่ำ ไม่มีความแน่นอนในการทำงานเพราะเป็นงานตามฤดูกาล นอกจากนี้แรงงานในภาคเกษตรกรรมยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานของไทย. ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ การไม่ได้รับค่าแรงจากนายจ้าง เนื่องจากนายจ้างจะใช้วิธีการบ่ายเบี่ยงไม่ยอมจ่ายค่าแรง ด้วยการอ้างว่าหักค่าใช้จ่ายจากส่วนอื่นๆ แล้ว หรือบางครั้งใช้วิธีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาจับกุมแรงงานเหล่านี้

2. ในภาคประมงทะเล แรงงานข้ามชาติมักต้องออกทะเลเป็นเวลานาน นับตั้งแต่ 4 เดือนจนถึงนานเป็นปี โดยต้องทำงานอย่างหนัก มีเวลาพักผ่อนวันละไม่กี่ชั่วโมง สภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก รวมถึงเรื่องอาหารและยารักษาโรคที่มีเพียงเพื่อให้อยู่รอดไปวันๆ เท่านั้น นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายร่างกายและถูกฆ่าจากหัวหน้างานหรือไต้ก๋งเรือ หากทำงานไม่เป็นที่พอใจหรือเมื่อเกิดมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัน เรื่องราวการทำร้ายฆ่าฟันมักจะเงียบหายไปจนแรงงานข้ามชาติเรียกสถานการณ์แบบนี้ว่า"นักโทษทางทะเล". นอกจากนี้ ลูกเรือที่ออกเรือเข้าไปทำประมงในเขตแดนทะเลของประเทศอื่น ยังเสี่ยงต่อการถูกจับกุมของเจ้าหน้าที่ในประเทศนั้นๆ ด้วย

3. งานรับใช้ในบ้าน แรงงานต้องทำงานตั้งแต่เช้าจนค่ำมืด บางรายทำงานบ้านแล้วยังต้องทำงานในร้านขายของ หรือทำงานในบ้านญาติของนายจ้างโดยได้รับค่าแรงจากนายจ้างคนเดียว แรงงานที่ทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้านส่วนใหญ่ มักถูกห้ามมิให้ติดต่อกับคนภายนอก โดยนายจ้างจะให้เหตุผลว่ากลัวแรงงานนัดแนะให้คนข้างนอกเข้ามาขโมยของในบ้าน รวมทั้งอาจจะถูกนายจ้างดุด่าว่ากล่าวอย่างรุนแรง รวมถึงการทำร้ายร่างกายด้วย

4. แรงงานห้องแถว แรงงานข้ามชาติที่ถูกหลอกให้เข้าไปทำงานในโรงงานห้องแถวจะถูกกักให้ทำงานอยู่แต่เฉพาะในโรงงาน และต้องทำงานอย่างหนักตั้งแต่เช้าไปจนเกือบเที่ยงคืน โดยนายจ้างจะเป็นผู้จัดเตรียมอาหารให้ ซึ่งเป็นอาหารที่แย่มาก บางครั้งนำอาหารที่เกือบเสียแล้วมาให้แรงงาน บางกรณีแรงงานได้รับประทานอาหารเพียงวันละ 2 มื้อ และไม่เพียงพอ

5. แรงงานก่อสร้าง แรงงานในภาคการก่อสร้างเป็นกิจการที่พบว่า แรงงานข้ามชาติจะถูกโกงค่าแรงบ่อยที่สุด ปัญหาค่าแรงนับเป็นปัญหาหลักที่อยู่คู่กับแรงงานข้ามชาติ ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน และพบในแทบทุกกิจการ โดยที่นายจ้างมักจะผลัดผ่อนค่าแรงไปเรื่อยๆ เมื่อแรงงานเข้าไปทวงค่าแรงมักจะได้รับคำตอบว่าหักเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไปหมดแล้ว หรือหากเป็นเงินจำนวนมากๆ บางรายมักจะใช้วิธีแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปจับกุมแรงงานข้ามชาติ เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงิน


ในขณะเดียวกันแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่เมื่อยังไม่ได้รับค่าแรง มักจะดำรงชีวิตโดยการหยิบยืมเงินหรือเอาข้าวของจากร้านค้าต่างๆ ด้วยการติดหนี้สินไว้ก่อน เมื่อไม่มีเงินจ่ายหนี้ทำให้แรงงานอยู่ในภาวะยากลำบาก ในหลายกรณีแรงงานไม่ได้รับค่าแรงอย่างเต็มที่ คือ นายจ้างให้แรงงานทำงานไปก่อน 25 วันและจ่ายเพียง 15 วัน โดยค่าจ้าง 10 วันที่เหลือ นายจ้างใช้เป็นกลวิธีควบคุมแรงงานไม่ให้คิดหนีหรือไม่ทำงาน

ในแง่ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มีบทบัญญัติบังคับให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนให้แรงงานตามค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนด แต่ปรากฏว่าค่าแรงของแรงงานข้ามชาติเกือบทั้งหมด จะได้รับต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ โดยเฉลี่ยจะอยู่ในอัตราตั้งแต่ 40 - 120 บาทต่อวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแทบพื้นที่ชายแดนราย ได้ต่อวันสูงสุดไม่เกินวันละ 80 บาท และน้อยรายนักที่จะได้รับค่าแรงล่วงเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยในบางพื้นที่ต้องทำงานวันละ 12 - 14 ชั่วโมง โดยไม่ได้รับค่าล่วงเวลาเลย

3. การถูกทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศ
ปัญหาภาษาเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของแรงงานข้ามชาติ เมื่อแรงงานข้ามชาติไม่สามารถสื่อสารกับนายจ้างได้มากนัก ทำให้นายจ้างหลายรายไม่เข้าใจ และเกิดความรู้สึกไม่พอใจแรงงานข้ามชาติ แรงงานข้ามชาติจึงมักถูกนายจ้างด่าทออย่างหยาบคาย ทั้งนี้อาจเนื่องด้วยอคติทางชาติพันธุ์ประกอบ บางครั้งถึงกับลงมือทำร้ายแรงงานข้ามชาติอย่างรุนแรง บางกรณีจนถึงขั้นเสียชีวิต แรงงานข้ามชาติหนึ่งจำนวนไม่น้อย ถูกนายจ้างหรือคนในบ้านของนายจ้างข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ และ/หรือบางครั้งนายจ้างที่เป็นผู้หญิงเอง ก็เพิกเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

4. ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ
เนื่องจากแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่เป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่มีบัตรอนุญาตทำงานจึงหวาดกลัวต่อการถูกจับกุม ทำให้แรงงานส่วนใหญ่ใช้วิธีจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็น "ค่าคุ้มครอง" เพื่อไม่ให้ตนเองถูกจับกุม ประกอบกับที่ผ่านมา แม้รัฐบาลมีนโยบายให้แรงงานข้ามชาติจดทะเบียนเพื่อขออนุญาตทำงาน แต่นายจ้างมักจะยึดบัตรอนุญาตของแรงงานเอาไว้ ทำให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ไม่รอดพ้นจากการถูกจับกุมของเจ้าหน้าที่ แรงงานหลายคนจึงรู้สึกว่าการมีหรือไม่มีบัตรอนุญาตทำงานไม่มีความแตกต่างกันมากนัก เพราะยังไงต้องจ่ายเงินค่าคุ้มครองให้กับเจ้าหน้าที่อยู่ดี ทำให้แรงงานข้ามชาติหลายคนใช้วิธีการจ่ายส่วยให้แก่เจ้าหน้าที่ แทนการไปจดทะเบียน

แรงงานข้ามชาติจำนวนมากไม่มีเงินจ่ายค่าส่วยจะถูกจับกุมคุมขัง ปัญหาการจับกุมคุมขังของแรงงานข้ามชาติมีความรุนแรงอยู่มาก นอกจากเรื่องของห้องขังที่แออัดยัดเยียด ปัญหาสภาพความเป็นอยู่ อาหารประจำวันและห้องน้ำของผู้ถูกคุมขัง ยังพบว่ามีการทำร้ายร่างกายแรงงานข้ามชาติที่ถูกจับกุม โดยทั้งจากเจ้าหน้าที่และผู้ช่วยผู้คุมซึ่งเป็นนักโทษไทยที่อยู่ในที่คุมขัง มีการทุบตีทำร้ายแรงงานข้ามชาติที่ถูกจับกุม หากไม่พอใจ จนถึงขั้นบาดเจ็บอย่างรุนแรงจนถึงเสียชีวิต. มีการข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ การกระทำอนาจารต่อผู้ต้องขังที่เป็นแรงงานข้ามชาติหญิง เช่น ให้ผู้ต้องขังชายช่วยตัวเองหน้าห้องผู้ต้องขังหญิง ไปจนถึงการข่มขืนกระทำชำเราผู้ต้องขังหญิง โดยนักโทษชายที่เป็นคนไทยต่อหน้าเจ้าหน้าที่ที่ไม่ใส่ใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือบางครั้งเจ้าหน้าที่รัฐบางคนก็เป็นผู้กระทำเสียเอง

จากที่กล่าวมาทั้ง 4 ข้อใหญ่ๆ จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านั้นเป็นปัญหาเชิงความรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้อนทับกัน ตั้งแต่ความรุนแรงทางกายภาพที่ปรากฎเห็นได้ชัด ดังเช่น กรณีการทำร้ายร่างกาย การล่วงละเมิดทางเพศ และการฆ่า ไปจนถึงความรุนแรงทางโครงสร้างที่มองไม่เห็นได้ชัดเจนนัก เช่น การปกครองประเทศโดยระบอบเผด็จการทหาร การมีนโยบายรัฐที่ไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน การกดขี่แรงงาน การขูดรีดค่าแรง รวมไปถึงกระบวนการคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศต้นทางและในประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีความรุนแรงที่แฝงเร้นอีกชนิดหนึ่ง ซึ่ง"เรา"อาจลืมเลือน คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากอคติและความเคยชิน จะเห็นได้ชัดว่าหากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่มีต่อคนเหล่านี้ขึ้น หลายคนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา หลายคนมองว่าเป็นเรื่องสมควรแล้วที่คนเหล่านี้จะได้รับ หลายคนรับรู้แล้วลืมเลือนมันไป ปัญหาของความรุนแรงชนิดนี้ไม่ได้อยู่ที่การทำร้ายร่างกาย แต่เป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่ความรุนแรงที่เกิดขึ้น และดำรงอยู่โดยไม่รู้ตัว ที่สำคัญคือผู้ที่กระทำความรุนแรงประเภทนี้ ก็ไม่รู้ตัวเช่นกันว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความรุนแรง และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ แท้จริงแล้วพวกเขาเหล่านั้นก็เป็นเหยื่อของความรุนแรงด้วยเช่นกัน

5. ความรุนแรงเชิงอคติทางชาติพันธุ์
ปัญหาหนึ่งที่เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิต่อแรงงานข้ามชาติ คือ ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์ที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ มีการสร้างและผลิตซ้ำผ่านสื่อหรือกลไกต่างๆ ในสังคมเพื่อตอกย้ำให้เห็นว่า แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ต้องทำการควบคุมอย่างจริงจัง แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เข้ามาแย่งงานแรงงานไทยต้องไล่ออกไปให้หมด ทั้งที่แรงงานเหล่านี้เข้ามาทำงาน "3 ส." งานที่แรงงานไทยส่วนใหญ่ไม่ทำกันแล้ว

แนวคิดและการผลิตซ้ำ ทำให้สังคมไทยสร้างภาพความหวาดระแวงต่อแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานพม่า คิดว่าแรงงานข้ามชาติเป็นตัวอันตรายน่ากลัว แรงงานข้ามชาติเองต้องคอยหลบๆ ซ่อนๆ ด้วยเกรงว่าจะถูกจับกุมทำร้าย สภาพการณ์เหล่านี้ถูกสร้างเป็นภาพมายาที่กดทับให้สังคมไทยหวาดระแวงแรงงานข้ามชาติ เกิดเป็นคำถามสำคัญว่าในฐานะมนุษย์ที่อยู่ร่วมพรมแดนติดต่อกัน จะดำรงสถานภาพของมิตรภาพและสันติสุขต่อกันได้อย่างไร ในเมื่อต่างหวาดระแวงปราศจากความไว้วางใจต่อกันและกัน

ในช่วงที่ผ่านมาสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากเรื่องแรงงานข้ามชาติก็คือ สังคมที่ดำรงอยู่ด้วยความกลัว เราถูกทำให้กลัวซึ่งกันและกัน คนไทยกลัวแรงงานพม่า กลัวว่าพวกเขาเหล่านั้นจะมาทำร้ายตนเอง กลัวพวกเขาเหล่านั้นจะก่อเหตุร้ายกับคนรอบข้างของตนเอง ในขณะเดียวกันแรงงานข้ามชาติก็กลัวคนไทยจะมาทำร้ายพวกเขา กลัวคนไทยจะแจ้งความจับพวกเขา กลัวการถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายพวกเขา กลัวนายจ้างจะทำร้ายพวกเขา กลัวการถูกส่งกลับไปสู่ความไม่ปลอดภัยในประเทศของตนเอง

ความกลัวเหล่านี้ไม่ใช่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เป็นความกลัวที่ถูกสร้างขึ้นจากการรับรู้ผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบอกเล่า การนำเสนอข่าว การประชาสัมพันธ์โดยรัฐ จากการศึกษา และรวมถึงจากการไม่รู้ เช่น เรากลัวเพราะเราไม่สามารถสื่อสารกับพวกเขาได้ ซึ่งก่อให้เกิดฐานคติที่เป็นลบต่ออีกฝ่ายหนึ่ง และสังคมได้ผลิตซ้ำฐานคติเหล่านี้ครั้งแล้วครั้งเล่า จนกลายเป็นความปกติ ความเคยชิน และสุดท้ายกลายเป็นเรื่องธรรมชาติของใครหลายคนไป

การดำรงอยู่ของ "สังคมแห่งความกลัว" นี้เองที่ช่วยเสริมสร้างให้ความรุนแรงทางกายภาพเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้การกดขี่ขูดรีดคนข้ามชาติเหล่านี้เกิดขึ้นเหมือนเป็นเรื่องปกติ จนกระทั่งกลายเป็นแนวนโยบายแนวปฏิบัติของรัฐ และกลายเป็นความชอบธรรมให้แก่ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ไป

5. ตัวอย่างการละเมิดสิทธิต่อแรงงานข้ามชาติ : การออกประกาศจังหวัด
จากการที่มีประกาศจังหวัดเรื่องกำหนดมาตรการจัดระเบียบคนต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่จดทะเบียนขออนุญาตทำงานกับนายจ้างในกิจการต่างๆ ลงวันที่ 19 เดือนธันวาคม 2549 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ลงวันที่ 16 เดือนกุมภาพันธ์ 2550 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ลงวันที่ 27 เดือนกุมภาพันธ์ 2550 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง และลงวันที่ 9 เดือนมิถุนายน 2550 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เพื่อจัดระบบในการควบคุมแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และได้รับอนุญาตทำงานในจังหวัดดังที่มีประกาศข้างต้น และได้กำหนดมาตรการบางประเภทให้นายจ้าง แรงงานข้ามชาติ ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตาม เช่น

- หลังเวลา 20.00 น. ห้ามแรงงานข้ามชาติออกนอกสถานที่ทำงานหรือสถานที่พักอาศัย หากมีความจำเป็นต้องทำงานหลังเวลาห้าม หรือมีความจำเป็นเร่งด่วนอื่นๆ จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของนายจ้าง

- ห้ามแรงงานข้ามชาติขับขี่รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ และห้ามเจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ อนุญาตให้แรงงานขับขี่รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ของตนเอง

- หากแรงงานข้ามชาติมีความจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือ ให้นายจ้างจัดทำบัญชีรายชื่อแรงงานข้ามชาติผู้ใช้โทรศัพท์พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ และชื่อนามสกุลเจ้าของเครื่องและซิมการ์ดส่งให้จังหวัดทุกคน

- ห้ามแรงงานข้ามชาติเข้าร่วมชุมนุมนอกที่พักอาศัยตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากมีความจำเป็นต้องทำกิจกรรม นายจ้างของแรงงานข้ามชาติต้องออกหนังสือรับรอง และแจ้งบัญชีรายชื่อแรงงานข้ามชาติที่จะเข้าร่วมกิจกรรมโดยมีรายละเอียด วัน เวลา และสถานที่ชุมนุม ชื่อและหมายเลขประจำตัวแรงงานข้ามชาติให้ชัดเจน ให้จังหวัดทราบเป็นลายลักษณ์อักษร

- การอนุญาตให้ออกนอกเขตจังหวัดทำได้ 3 กรณี คือไปเป็นพยานศาลหรือถูกหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน มีเหตุเจ็บป่วยต้องรักษานอกพื้นที่โดยความเห็นของแพทย์ และได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนท้องที่ทำงานจากจัดหางานจังหวัดแล้ว

ประกาศจังหวัดดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลไทยไม่ได้ตระหนักว่า มาตรการดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติและตอกย้ำอคติที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ เป็นการนำไปสู่ความขัดแย้งและเพิ่มความเกลียดชังกลุ่มที่แตกต่างจากคนไทย อันขัดแย้งกับความต้องการและการประกาศแนวนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งให้มีความปรองดองสมานฉันท์ เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ ประกาศจังหวัดแสดงถึงรากฐานของความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติของรัฐราชการไทยที่มีต่อคนข้ามชาติ คนด้อยโอกาส หรือบุคคลที่ถูกถือว่าเป็น "คนอื่น" สำหรับสังคมไทย ได้สร้างทัศนคติในแง่ลบและสร้างความหวาดกลัวต่อแรงงานข้ามชาติมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นประกาศจังหวัดยังขัดแย้งกับหลักการสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงานและอนุสัญญาต่างๆ ที่ประเทศไทยได้ให้การรับรองและเป็นสมาชิก เป็นนโยบายเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติ หรือคนต่างชาติเพียงกลุ่มเดียว คือ พม่า ลาว และกัมพูชา

6. มายาคติที่กดทับตัวตนแรงงานข้ามชาติ
"ไม่กลัวเหรอ เขาชอบฆ่านายจ้าง ชิงทรัพย์ น่ากลัวนะ คนไทยชอบจ้างแรงงานต่างด้าว อันตราย" ลองสังเกตบ้างไหม เรามักจะได้ยินคำพูดในทำนองนี้อยู่บ่อยครั้ง คำเหล่านี้ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันพวกเรา โดยบางครั้งเราหยุดที่จะตั้งคำถามกับคำพูดที่เราสื่อออกไป เรายอมรับให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และสุดท้าย "เรา" กำลังทำร้าย "เขา" โดยไม่ได้ใส่ใจถึงกระบวนการที่รัฐหล่อหลอมให้เราเชื่อเช่นนั้น หลายเรื่องมันคือมายาคติที่ฝังแน่นในหัวใจเราจนยากจะลบออก ไม่ได้หมายความว่ามายาคตินี้ไม่เป็นจริง แต่ความจริงมีหลายชุด ผู้เขียนขยาดเกินไปที่สังคมไทยจะเหมารวมว่าพวกเขาและเธอเป็นดั่งมายาคติเหล่านั้นทุกคน

คำว่า "หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย แย่งงานคนไทย แพร่เชื้อโรคร้าย ภัยต่อความมั่นคง" ดูเหมือนว่าคำๆ นี้ได้ทำให้ผู้ที่ถูกทำให้เป็น กลายเป็นคนที่ทำผิดร้ายแรง เป็นตัวอันตราย ไม่สามารถอยู่ร่วมกับเราได้ และยิ่งกว่านั้นควรต้องกำจัดคนเหล่านี้ให้หมดสิ้นไปจากรัฐไทย แท้จริงคำเหล่านี้ถ้าพูดในภาษานักคิดหลังสมัยใหม่ อย่างเช่นมิเชล ฟูโกต์ คือ วาทกรรมทางภาษาหรือปฏิบัติการทางภาษา ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยระบบ ระเบียบ กฏเกณฑ์ ที่รองรับด้วยจารีตปฏิบัติ ความคิด ความเชื่อ คุณค่าและสถาบันต่างๆ ในสังคมไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นเหล่านี้ มาในนามของความรู้ว่าด้วยเรื่องนั้นๆ ที่ส่งผลให้ผู้ได้รับการปฏิบัติเข้าใจว่าตนเองกลายเป็นเช่นนั้นจริงๆ มีอะไรที่อยู่เบื้องหลังคอยเป็นกลไกให้ความชอบธรรมหรือค้ำจุนกับกับมายาคติเหล่านั้น ?

คำว่ามายาคติ (Myth) ในที่นี้หมายถึงการสื่อความหมายด้วยคติความเชื่อทางวัฒนธรรมซึ่งถูกกลบเกลื่อนให้เป็นที่รับรู้เสมือนว่าเป็นธรรมชาติ พูดให้ชัดเจนขึ้นก็คือกระบวนการลวงให้หลงชนิดหนึ่ง แต่มายาคติในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่าเป็นการโกหก หลอกลวง และไม่ได้ปกปิดซ่อนเร้นสิ่งใดไว้ แต่มันปรากฎอยู่เบื้องหน้า เราเองต่างหากที่คุ้นเคยกับมันจนไม่ได้สังเกตว่ามันเป็นสิ่งประกอบสร้างทางวัฒนธรรมและคิดว่ามันเป็นธรรมชาติ. เรื่องแรงงานข้ามชาติก็เช่นกัน หลายสิ่งที่เราเข้าใจและคิดว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นความจริงแท้ เอาเข้าจริงๆ แล้ว เราอาจจะคุ้นเคยกับวิธีแบบเรามากเกินไป จนมองข้ามความจริงประเภทอื่นๆ ที่ปรากฏตรงหน้าของเรา

(1) มายาคติเรื่องผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย
คำว่า "ผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย" เกี่ยวโยงกับคำว่า "พรมแดนของรัฐ" โดยตรงเนื่องจากพัฒนาการของรัฐชาติของแต่ละประเทศในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก พรมแดนถูกกำหนดอย่างแน่นอนตายตัว ทำให้คนที่เคยย้ายถิ่น เคลื่อนย้ายข้ามแดน หรือเคลื่อนย้ายอย่างอิสระดำเนินชีวิตไปด้วยความยากลำบากและต้องห้าม เพราะถือว่าเป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์และอธิปไตยของชาติ. ภาวะของผู้อพยพย้ายถิ่น โดยเฉพาะการย้ายถิ่นข้ามเขตแดนของประเทศ จึงนำไปสู่ปัญหาต่างๆ มากมายที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดอธิปไตยของรัฐและกลายเป็น "ปัญหา" ทั้งปัญหาของรัฐและปัญหาในตัวตนผู้ย้ายถิ่น เช่น ปัญหาทางการเมือง ปัญหาการกลายเป็นคนไร้สัญชาติ ปัญหาการตั้งถิ่นที่อยู่อาศัย ปัญหาการถูกกีดกันในการเข้าถึงทรัพยากรเพื่อการยังชีพ และปัญหาการยอมรับการมีตัวตน. การมาถึงของผู้อพยพย้ายถิ่นโดยที่รัฐไม่ได้อนุญาต มักจะทำให้รัฐเกิดอาการหวาดระแวง / วิตกกังวล กับการมาถึงของ"บุคคลอื่น" ผลที่ตามมา คือ ความรู้สึกรังเกียจและสงสัย และนำไปสู่การไม่ยอมรับผู้เดินทางมาใหม่เป็นสมาชิกในรัฐของตนเอง

การย้ายถิ่นของคนจากประเทศพม่า เกี่ยวโยงกับสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมของประเทศพม่าโดยตรง เพราะในประเทศพม่าประกอบไปด้วยคนที่รัฐพม่าให้การรับรองว่าเป็นพลเมืองของประเทศพม่า และคนที่รัฐพม่าไม่ให้การรับรอง โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อยต่างๆ ทำให้บุคคลกลุ่มหลังนี้เมื่อต้องเผชิญกับเหตุที่ทำให้จำต้องอพยพเคลื่อนย้ายมายังประเทศไทย ทำให้พวกเขากลายเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายรัฐไทยโดยทันที

การเดินทางออกจากประเทศพม่านั้น เป็นเรื่องยุ่งยากมาก เพราะโดยปกติแล้วประชาชนพม่าและชนกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ ไม่สามารถมีหนังสือเดินทางได้ หากพวกเขาและเธอต้องการเดินทางออกนอกประเทศ เขาต้องยืมหนังสือเดินทางจากรัฐบาล และเมื่อเดินทางกลับประเทศก็จะต้องคืนหนังสือเดินทางให้กับรัฐบาล ดังนั้น จึงเป็นการยากมากที่จะมีเอกสารการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้

นอกจากเหตุผลที่รัฐพม่าไม่ให้การรับรองกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว ที่ผ่านมารัฐบาลไทยทุกยุคสมัย ก็ไม่มีนโยบายให้สถานะผู้ลี้ภัยกับผู้พลัดถิ่นจากประเทศพม่าด้วยเช่นกัน เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ลงนามให้สัตยาบัน ตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 (พ.ศ.2494) พวกเขาจึงไม่ได้สถานภาพผู้ลี้ภัย เป็นเพียงผู้เข้ามาพักพิงอยู่ในเขตประเทศไทย ตามที่รัฐจัดพื้นที่พักพิงให้เพียงเท่านั้น ดังนั้น เมื่อผู้หนีภัยจากการสู้รบไม่มีฐานะเป็นผู้ลี้ภัย พวกเขาและเธอจึงกลายเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ภายใต้ข้อบังคับแห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองของไทย พ.ศ. 2522 ที่ถือว่า ผู้เข้าเมืองโดยไม่มีเอกสารการเดินทางที่มีการตรวจลงตราถูกต้อง เป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายทั้งสิ้น

จากการที่ไม่มีฐานะเป็นผู้ลี้ภัย พวกเขาและเธอจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะได้รับการปฏิบัติหรือมีผลผูกพันตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และตามเอกสารกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายก็อาจผลักดันกลับประเทศได้ แม้ไม่สมัครใจและไม่ต้องผ่านกระบวนการสอบสวนแยกประเภท หรือมิอาจเรียกร้องสิทธิเดินทางไปตั้งหลักแหล่งในประเทศที่สาม ฉะนั้นรัฐไทยสามารถสงวนสิทธิในการตัดสินใจได้เองว่า ผู้ใดเป็นผู้ลี้ภัยหรือไม่เป็นผู้ลี้ภัยตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองของไทย พ.ศ. 2522 หรือขึ้นอยู่กับอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพียงเท่านั้น

รัฐมีมุมมองการใช้ทัศนคติของความเป็นชาติแบบหนึ่งเดียว ที่ไม่ยอมรับลักษณะพลเมืองของรัฐที่นอกเหนือกรอบกติกาของรัฐที่กำหนดไว้ วิธีคิดแบบนี้ได้กลายเป็นโครงสร้างวัฒนธรรมความคิด ที่กำหนดระบบวัฒนธรรมหรืออำนาจในการจัดการชีวิตของคนกลุ่มต่างๆ ผ่านรูปธรรมที่ถูกต้องเหมาะสม หรือมีความจำเป็นสำหรับกลุ่มคนที่อยู่อาศัยร่วมกันเป็นชุมชน สังคมในรัฐาธิปัตย์ที่มีอธิปไตยเป็นของตนเองอย่างสมบูรณ์

(2) มายาคติเรื่องแย่งงานคนไทย
มายาคติเรื่องแย่งงานคนไทย สัมพันธ์อยู่กับตัวเลขภาวะคนตกงานของระบบเศรษฐกิจไทยอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ประเทศไทยได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมตั้งแต่ทศวรรษที่ 2500 ซึ่งเป็นช่วงแรกของการเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเกิดขึ้น นโยบายของรัฐที่ออกมาส่วนใหญ่ มีเศรษฐกิจเป็นตัวนำเร่งรัดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและวิถีชีวิต โดยในระยะเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงนั้นอารยธรรมแบบตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาดูจะเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยินดี แต่เมื่อการพัฒนาที่ผ่านพ้นมาราว 40 กว่าปี จึงทำให้มองเห็นความสูญเสียทางสังคมเกิดขึ้นอย่างชัดเจน จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1-5 นั้น เริ่มจะส่งผลให้เกิดปัญหาที่เกิดจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถโดยเฉพาะ ในการเริ่มต้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 6 ประเทศไทยจึงเริ่มมีการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาใช้ในภาคอุตสาหกรรมจนกระทั่งปัจจุบัน

จากแผนการพัฒนาประเทศเพื่อเร่งการแข่งขันระหว่างภูมิภาค คงปฏิเสธไม่ได้ว่าธรรมชาติของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนั้น ได้ขยายตัวแทรกเข้าไปอยู่ในทุกส่วนของสังคม การขยายตัวของระบบทุนนิยมเป็นการเปลี่ยนจุดเน้นจากการสะสมทุน มาสู่การกระจายทุนจากการผลิต(production) และไปสู่การบริโภค(consumption) ด้วยความพยายามที่จะถ่ายทอดความคิดบริโภคนิยมลงไปสู่คนอย่างทั่วถึง ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้ก่อให้เกิดการรับรู้และพิจารณา แรงงานเป็นสิ่งที่สามารถซื้อขายกันได้ แรงงานถูกพิจารณาเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง หรือเป็นสิ่งที่เหมือนวัตถุสินค้าอื่นๆ

สอดคล้องกับงานวิจัยที่สำนักงานสภาความมั่งคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี สนับสนุนโครงการวิจัยในหัวข้อ "การศึกษาความต้องการ จ้างแรงงานอพยพต่างชาติ ในประเทศไทย ในช่วงปี 2546-2548" โดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า เหตุที่เกิดช่องว่างให้เกิดแรงงานต่างชาติอพยพ โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากคนไทยเลือกงานและรังเกียจงานบางประเภท ซึ่งตลาดแรงงานระดับล่างซึ่งอยู่ในข่ายจ้างแรงงานต่างด้าวอยู่ในภาวะตึงตัวจนถึงขาดแคลน

นอกจากนี้ จากการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วพบว่า การจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาในสาขาที่ขาดแคลน จะเกิดผลดีมากกว่า เพราะสาขาที่ขาดแคลนคนไทยทำงานไม่มากนัก แม้ว่ามีการปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีขึ้น จะมีคนไทยกลับมาทำงาน แต่เชื่อว่าจะมีจำนวนไม่มากนัก ดังนั้นจึงควรกำหนดรูปแบบการผ่อนผันที่เหมาะสม คือ ตามลักษณะความต้องการที่แท้จริง โดยเสนอให้มีการจ้างแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ คือ ลาว กัมพูชา และพม่า ได้มีการเสนอแยกไว้ 3 รูปแบบ คือ กรณีไปเช้า-เย็นกลับ กรณีอนุญาตเป็นฤดูกาล และกรณีอนุญาตเป็นรายปี ลักษณะดังกล่าวจะไม่กระทบกับแรงงานไทยมากนัก เนื่องจากงานที่คนงานต่างด้าวทำเป็นคนละตลาดกับแรงงานไทย

(3) มายาคติเรื่องตัวแพร่เชื้อโรคร้าย
มายาคติด้านสาธารณสุขที่สำคัญ และเกี่ยวโยงกับการทำให้แรงงานข้ามชาติกลายเป็นแพะรับบาปตลอดเวลา คือ มายาคติที่สำคัญ 2 ประการ

1. แรงงานข้ามชาติเป็นภาระด้านงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข ปีละหลายล้านบาท เพราะเมื่อเจ็บป่วยเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล ก็จะไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล

2. แรงงานข้ามชาติเป็นพาะหะของโรคบางอย่าง ที่กระทรวงสาธารณสุขปราบหมดสิ้นไปจากประเทศแล้ว แต่กลับเข้ามาสู่สังคมไทยอีก เช่น มาเลเรีย เท้าช้าง วัณโรค ซึ่งโรคเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสาธารณสุข โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติผู้หญิงที่ลักลอบเข้ามาประกอบอาชีพเป็นแม่บ้านและคนรับใช้ จะนำโรคเข้ามาสู่ลูกหลานเจ้าของบ้าน ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องย้อนกลับไปควบคุมโรคติดต่อต่างๆ ซึ่งสามารถควบคุมได้มานานแล้ว และในขณะเดียวกันก็ยังต้องทุ่มเทปัจจัยต่างๆ พัฒนาสาธารณสุขเกี่ยวกับโรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ มะเร็ง อุบัติเหตุ และโรคเอดส์ เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญของการตายอันดับต้นๆ ของคนไทย ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องมีภาระมากขึ้นเพราะต้องดูแลทั้งคนไทยและคนต่างชาติ

ต่อกรณีดังกล่าวมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า มายาคติดังกล่าวเป็นเพียงปลายทางของนโยบายและกระบวนการปฏิบัติ ที่ข้ามไม่พ้นการกดทับจากมายาคติดังกล่าว ซึ่งมายาคติดัที่เกิดขึ้นนั้นไปสอดรับกับสภาพการณ์จริงในด้านการรักษาสุขอนามัย สิ่งแวดล้อม และการทำงาน ที่ขาดการดูแลด้านสุขอนามัยบริเวณที่พักคนงาน วิถีชีวิตมีการเป็นอยู่ที่แออัด ไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่มีการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการทำงาน

สภาพที่เกิดขึ้นเช่นนี้มาจากสาเหตุหลักๆ เช่น นายจ้างไม่พาแรงงานมารักษาโรคอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการระบาดของโรค, นโยบายการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติล่าช้า ทำให้การตรวจสุขภาพล่าช้า, ระบบสาธารณสุขจังหวัดมีเวลาเตรียมตัวน้อย, การนำแรงงานข้ามชาติมาตรวจสุขภาพไม่มีการประสานนัดเวลามาตรวจ ทั้งจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดและนายจ้าง ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถจัดเตรียมการได้ทันเวลา, ขาดบุคลากรปฏิบัติงานประจำที่ด่านผ่อนปรนเข้าออก, การดำเนินงานด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ยังไม่มีระบบและรูปแบบ, สถานที่ตรวจโรคมีไม่เพียงพอ และโรงพยาบาลขาดน้ำยาทดสอบโรคเท้าช้าง

โดยข้อเท็จจริงแล้วรัฐไทยได้กำหนดไว้เป็นนโยบายทุกปีว่า แรงงานข้ามชาติที่มาขึ้นทะเบียน และประสงค์จะทำงานต้องเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพทุกคน โดยเสียค่าใช้จ่ายให้รัฐไทยคนละ 1,900 บาทแบ่งเป็นค่าบริการในการตรวจ และประเมินสุขภาพ 600 บาท และค่าประกันสุขภาพ 1,300 บาท แบ่งเป็น

(1) ค่ารักษาพยาบาล 964 บาท จำแนกเป็นผู้ป่วยนอก 499 บาท , ผู้ป่วยใน 415 บาท ,ค่ารักษาพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายสูง 50 บาท
(2) ค่าบริการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค 206 บาท
(3) ค่าบริหารจัดการ 130 บาท มีระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี

โดยแรงงานข้ามชาติจะต้องร่วมจ่ายในการรับบริการครั้งละ 30 บาท ร่วมด้วยทุกครั้ง ทั้งนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อให้มีการควบคุมป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการส่งเสริมสุขภาพอย่างเป็นระบบ และเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของแรงงานข้ามชาติ รวมถึงจะเป็นการประกันค่ารักษาพยาบาลให้กับสถานพยาบาลผู้ให้การรักษาพยาบาลอีกทางหนึ่ง

ข้อมูลนี้คืออีกประเด็นหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงน้อย และให้ความสำคัญกับการจัดการน้อยมากในเชิงนโยบาย นอกจากนั้นแล้ว ความเป็นแรงงานข้ามชาติที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภาษา สถานภาพทางกฎหมาย ทำให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ไม่กล้าที่จะมาปรากฎตัวให้เราได้เห็น ได้พูดคุย ได้ไต่ถาม หรือแม้กระทั่งได้ตรวจดูแลรักษาสุขภาพ. ความหวาดกลัวที่จะถูกจับกุม การไม่สามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่หรือคนไทยให้เข้าใจสิ่งที่ตนเองต้องการสื่อสาร ความกลัวที่จะถูกมองว่าเป็นภาระ การได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้ก็กีดกันพวกเขาไปจากกระบวนการในการดูแลรักษา และป้องกันโรคติดต่อ

ดังนั้นแล้ว การจัดการและนโยบายที่มองไม่เห็นลักษณะเฉพาะของแรงงานข้ามชาติ หรือการย้ายถิ่นข้ามชาติ มุ่งเน้นไปที่การจัดการเรื่องความมั่นคงเชิงกฎหมายและการเมือง มากกว่าการมองเห็นผลกระทบทางสุขภาพ การเข้าไม่ถึงการบริการด้านสุขภาพ เพราะข้อจำกัดของภาวะความเป็นแรงงานข้ามชาติ และอคติที่ผู้ให้บริการ หรือสังคมไทยที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ เป็นความจริงอีกชุดหนึ่งที่พวกเรามองข้ามไป

(4) มายาคติเรื่องภัยต่อความมั่นคง
มีงานวิจัยจำนวนมากในประเทศไทยที่ชี้ให้เห็นว่า แรงงานข้ามชาติ คือ ภัยต่อความมั่นคงของสังคมไทย อันเนื่องมาจากประชาชนในรัฐไทย รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง เมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนกลุ่มนี้ พวกเขาและเธอเห็นว่าแรงงานข้ามชาติสามารถก่ออาชญากรรมกับตน เช่น การลักเล็กขโมยน้อย กินเหล้าเมาอาละวาด ชิงทรัพย์และปล้น หรือบางคนเกี่ยวข้องกับการลักทรัพย์ ค้ายาเสพติด ขบวนการค้ามนุษย์ อีกหลายคนมองไปไกลถึงประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาชนกลุ่มน้อย การเรียกร้องสิทธิต่างๆ การใช้ประเทศไทยเป็นเครื่องมือในการแบ่งแยกดินแดนภายในประเทศพม่า เป็นฐานในการต่อต้านรัฐบาลพม่า

ตรรกะเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นความจริง ตามข้อเท็จจริงแล้ว ความมั่นคงของมนุษย์เกี่ยวโยงกับความมั่นคงในจิตใจที่ปราศจากความกลัว เพราะเรากลัวแรงงานข้ามชาติ เราจึงรู้สึกไม่ปลอดภัย รัฐไทยไม่เคยสร้างพื้นที่หรือมีที่ทางให้เรากับเขาได้รู้จักกันและกัน บนพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย ที่วันนี้มีคนงานข้ามชาติอยู่ร่วมกับเรานับล้านคน

สิ่งสำคัญคือ วันนี้สังคมไทยมีทั้งคนดีและไม่ดี ซึ่งไม่ได้เกิดเฉพาะในกลุ่มแรงงานข้ามชาติเท่านั้น ทำอย่างไรเราจะสามารถสร้างดุลยภาพที่เหมาะสม ทั้งประโยชน์เฉพาะหน้าและประโยชน์ในอนาคต นี้คือความท้าทายในวันนี้ของสังคมไทยที่เราจะสร้างความมั่นคงของประเทศผ่านฐานของมิตรภาพ ความมั่นคงไม่ใช่เรื่องของนโยบายที่ปล่อยให้ผู้ชำนาญการความมั่นคงมากำหนด. ความมั่นคงคือเรื่องของหัวใจที่มนุษย์เกี่ยวโยงกับมนุษย์ ที่มนุษย์สัมผัสกับมนุษย์ผ่านความสัมพันธ์ ความไว้เนื้อเชื่อใจที่เราพึงมีต่อกัน ทำอย่างไรมนุษย์จะเห็นคุณค่ามนุษย์

อันที่จริงแล้ว ประเด็นเรื่องแรงงานข้ามชาติสามารถมองได้เหมือนกับเหรียญสองด้านที่เป็นปัญหา อุปสรรคหรืออาจเป็นโอกาสและความท้าทาย การทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติ เราจะพบกับปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เช่น ปัญหาที่ตัวแรงงานข้ามชาติต้องเผชิญ ปัญหาที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือมายาคติต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในสังคมที่แรงงานข้ามชาติเดินทางเข้ามาทำงาน แต่ภายใต้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เอง กลับเป็นความท้าทายของคนที่เกี่ยวข้องที่จะฝ่าฟันและเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ ให้สามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยมุมมองใหม่ๆ มิติใหม่ๆ ที่หลุดไปจากกรอบเดิมๆ ในการทำงาน ที่สามารถก้าวข้ามพ้นความเป็นพรมแดน เชื้อชาติ ชนชั้น ชาติพันธุ์ ให้ได้

7. เราจะอยู่ร่วมกับแรงงานข้ามชาติได้อย่างไร?
สิ่งสำคัญในการที่จะอยู่ร่วมกับแรงงานข้ามชาติให้ได้ เราจะต้องเดินสวนกระแสสังคมที่สังคมไทยมองว่าแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นเหมือนคนที่ไม่มีหัวนอนปลายเท้า เป็นศัตรูของชาติไทย เป็นดั่งอาชญากรที่โหดร้าย คือความเสี่ยงอันน่าสะพรึงกลัวที่ต้องเผชิญ เราต้องกล้าที่จะเปิดพื้นที่ทางสังคมท่ามกลางความเสี่ยง ผ่านการสร้างความไว้วางใจให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต บนความเสี่ยงเช่นนี้จึงเป็นความท้าทาย เป็นการทำให้สำนึกของมนุษย์เกิดการเอื้อเฟื้อต่อมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันเอง ทำให้มนุษย์มองเห็นถึงความเกี่ยวข้องของผู้คนในฐานะที่เป็นเพื่อนร่วมสังคม /ร่วมโลกใบเดียวกัน ที่มนุษย์ต้องไม่เพิกเฉยหรือต้องเอาธุระกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น มนุษย์ต้องไม่คิดว่ามนุษย์ด้วยกันเป็นคนอื่นของสังคม เป็นคนอื่นคนไกลจากเรา

สังคมไทยและแรงงานข้ามชาติ ต่างก็ต้องกล้าหาญที่จะเปิดพื้นที่ให้แก่ความไว้วางใจ และอาศัยความกล้าหาญทางจิตใจไม่น้อย หากมองมุมของแรงงาน พวกเขาต้องกล้าเสี่ยงว่าพวกเราจะไม่เหมือนคนไทยจำนวนหนึ่งที่คอยเอาเปรียบพวกเขา ไม่เหมือนกับคนไทยกลุ่มหนึ่งที่คอยไล่จับพวกเขา. ขณะเดียวกันทางด้านพวกเราเองก็ต้องยอมเสี่ยงที่จะอยู่ท่ามกลางผู้คนที่ไม่รู้จักชื่อ ที่มาที่ไป พูดคนละภาษา คนละชาติพันธุ์ จนในที่สุดเปลี่ยนความเสี่ยงให้กลายเป็นความไว้วางใจ และกลายเป็นคนในพื้นที่เดียวกันได้


+++++++++++++++++++++++++++++++++++

อ้างอิง
http://midnightuniv.org/midnight2544/0009999545.html

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >