หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow มโนธรรม : บาทหลวงชัยยะ กิจสวัสดิ์
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 46 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

มโนธรรม : บาทหลวงชัยยะ กิจสวัสดิ์ พิมพ์
Friday, 16 February 2007


มโนธรรม
(Conscience)
 

โดย บาทหลวงชัยยะ กิจสวัสดิ์

Imageเอกสารนี้เขียนขึ้นเพื่อประกอบการบรรยายเรื่อง “เมื่อต้องสอนอบรมมโนธรรมให้กับเด็กๆ” โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของ “การอบรม” หรือ “การหล่อหลอม” (Formation) มโนธรรมมากกว่าความรู้เรื่อง “มโนธรรม” เอง

สำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับมโนธรรม ขอแนะนำให้ชม VCD เรื่อง “บาป-ไม่บาป: วิเคราะห์มโนธรรมคาทอลิก” บรรยายโดยคุณพ่อ ไพบูลย์ อุดมเดช

1. ความหมาย

Conscience มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก suneidēsis (ซูเนิยเดซิส) ซึ่งหมายถึง “ความรู้” โดยเฉพาะ “ความรู้ที่ได้มาจากการไตร่ตรองสิ่งที่กระทำไปแล้วในอดีต”

“มโนธรรม” จึงหมายถึง “ความรู้ที่ช่วยตัดสินว่ากิจการใดกิจการหนึ่งที่ได้กระทำไปแล้วหรือวางแผนจะทำ สอดคล้องกับมาตรฐานทางด้านศีลธรรมของแต่ละคนหรือไม่” 

หรือ “ความสามารถของจิตใจที่จะตัดสินพฤติกรรมทางด้านศีลธรรมของมนุษย์”

หรือง่ายที่สุดคือ “ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด”

2. ต้นกำเนิด        

สำหรับผู้ที่ไม่เชื่อว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์  พวกเขา “คาดว่า” มโนธรรมมีวิวัฒนาการมาพร้อมกับมนุษยชาติ เริ่มจากสัตว์ชั้นต่ำอย่างเช่นอะมีบา เมื่อตอบสนองแรงกระตุ้นและปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแล้วจะแพร่ขยายจำนวนโดยการแบ่งตัว สัตว์ชั้นสูงขึ้นก็มีการตอบสนองแรงกระตุ้นที่ซับซ้อนมากขึ้นตามสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไปจนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “สัญชาติญาณ” ซึ่งสำคัญกว่าความพึงพอใจ เช่น สัตว์จำต้องแย่งอาหารกันเพื่อความอยู่รอดของลูกน้อยและพงศ์พันธุ์ทั้งๆ ที่คงไม่มีตัวใดพึงพอใจการต่อสู้

นักบุญโธมัส อะไควนัส จึงให้หลักการไว้ว่า “เป็นกฎธรรมชาติที่ธรรมชาติได้สอนสัตว์ทุกชนิด”

ในกรณีของมนุษย์ เหตุผลแบบเริ่มตั้งไข่ค่อยๆ พัฒนาเป็น “มโนธรรม” ซึ่งต้องอาศัยหลายขั้นตอนด้วยกัน เริ่มด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในขั้นต้นจะมีลักษณะเป็นของเหลว ไม่มีรูปแบบแน่นอน มักผสมปนเปกันเหมือนความเพ้อฝันหรือจินตนาการของเด็ก ต่อเมื่อมนุษย์เริ่มอยู่รวมกันเป็นสังคมจึงเกิดแรงกระตุ้นให้กิจกรรมต่างๆ มีมาตรฐานทางศีลธรรมดีขึ้น มีรูปแบบชัดเจนขึ้น และพัฒนาจนกลายเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีในที่สุด

ชาวกรีกเรียกรูปแบบพฤติกรรมที่ชัดเจนของมนุษย์นี้ว่า “ความรู้จักตัวเอง” ซึ่งจะกลายเป็นบรรทัดฐานทางด้านศีลธรรมสำหรับมนุษยชาติสืบต่อไป

แต่เมื่อนำทฤษฎีวิวัฒนาการมาประยุกต์ใช้กับมนุษย์แต่ละคน  เราจะพบว่าหลักปฏิบัติทางด้านศีลธรรมของแต่ละคน ทั้งๆ ที่ได้มาจากการรับรู้หลักการและอุดมการณ์ที่แตกต่างกันไปตามท้องถิ่นและสภาพแวดล้อม  แต่ทำไมเรายังมีเป้าหมายทางด้านศีลธรรมเหมือนกัน ?

หรืออีกนัยหนึ่งคือ จากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ทำไมมนุษย์เรายังพูดเรื่องเดียวกันได้ โดยเฉพาะเรื่อง “ความดี – ความชั่ว” ?

เพื่อแสวงหาคำตอบ ขอให้เราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของผู้ที่มีความเชื่อต่างจากเรา

ชาวเปอร์เซียรู้จักแยกแยะลักษณะของเทพเจ้า เช่นเทพเจ้า Ahura Mazda มีคุณธรรม ส่วน Ahriman เป็นเทพเจ้าชั่ว พวกเขาเชื่อว่าพระเจ้าคือผู้ประทานรางวัลและลงโทษ นอกจากนี้ เมื่อถูกถามว่า “สิ่งสร้างทั้งหมดที่เรามองเห็นนี้ อะไรมีคุณค่าที่สุด?” Zend-Avesta ตอบว่า “มนุษย์ที่รอดพ้นจากการคิดชั่ว การพูดชั่ว และการทำชั่ว มีคุณค่ามากที่สุด” ซึ่งใกล้เคียงกันมากกับคำสอนของพระเยซูเจ้าที่ว่า “มนุษย์จะได้ประโยชน์ใดในการที่ได้โลกทั้งโลกเป็นกำไร แต่ต้องเสียชีวิต” (มธ 16:26) 

ชาวอียิปต์พูดถึงการตรวจสอบมโนธรรมโดยผู้พิพากษาสูงสุดหลังความตาย (พระเจ้าคือผู้พิพากษาสูงสุด ?)

กฎหมายของฮัมมูราบี (บาบิโลน) มีเนื้อหาคล้ายบัญญัติสิบประการ เพียงแต่นำบัญญัติ 3 ข้อแรกไปไว้ในคำนำซึ่งยอมรับความสูงสุดของพระเจ้า

ขงจื๊อ (500 B.C.) และเม่งจื๊อ (300 B.C.) สอนว่าความซื่อตรงและความเมตตากรุณาเป็นเรื่องของ “สวรรค์ลิขิต”

จากที่กล่าวมาทั้งหมด เราอาจสรุปได้ว่า

1. ไม่เป็นการเพียงพอที่จะอธิบายต้นกำเนิดของมโนธรรมด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการเพียงอย่างเดียว  อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้ช่วยย้ำให้เราเห็นความจำเป็นในการอบรมและพัฒนามโนธรรมตั้งแต่วัยเด็ก หรือจะพูดให้ถูกต้องกว่าคือ ตั้งแต่เด็กลืมตาดูโลก

 2. แม้ผู้ที่ไม่ใช่คริสตชนก็ยอมรับว่าเรื่องของมโนธรรมและศีลธรรม มีพระเจ้าหรือสวรรค์เบื้องบนเข้ามาเกี่ยวข้อง

นักบุญเปาโลจึงฟันธงตรงๆ ว่า เป็นพระเจ้าเองที่ทรงจารึกธรรมบัญญัติและมโนธรรมไว้ในจิตใจมนุษย์ (รม 2:15)                   

พร้อมกันนี้ท่านได้เตือนคนต่างศาสนาว่า “ทั้งๆ ที่พระเจ้าทรงทำให้สิ่งที่รู้ได้เกี่ยวกับพระองค์ปรากฏชัดอยู่แล้วกล่าวคือ ตั้งแต่เมื่อทรงสร้างโลก คุณลักษณะที่ไม่อาจแลเห็นได้ของพระเจ้าคือพระอานุภาพนิรันดรและเทวภาพของพระองค์ปรากฏอย่างชัดเจนแก่ปัญญามนุษย์ในสิ่งที่ทรงสร้าง ดังนั้น คนเหล่านี้จึงไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ” (รม 1:19-20) 

3. ความสำคัญ         

3.1  ทำให้มนุษย์มีความสุขและมีศักดิ์ศรี พวก Stoics สอนว่า ความสุขและศักดิ์ศรีของมนุษย์เกิดจากคุณธรรม รวมถึงการดำเนินชีวิตตามหลักเหตุผลและมโนธรรม   

3.2  เป็นหลักนำชีวิต  ทุกคนต้องทำหน้าที่ตามที่มโนธรรมของตนเรียกร้องหรือบังคับ ดังที่นักบุญเปาโลยืนยันต่อหน้าสภาซันเฮดรินว่า “พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าประพฤติตนเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าด้วยมโนธรรมที่บริสุทธิ์มาจนถึงวันนี้” (กจ 23:1) และ “ข้าพเจ้าพยายามอยู่เสมอที่จะรักษามโนธรรมของข้าพเจ้าให้บริสุทธิ์ไม่มีที่ติเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าและต่อหน้ามนุษย์” (กจ 24:16)

3.3  เป็นพื้นฐานของความเชื่อ Immanuel Kant นักปรัชญาในศตวรรษที่ 18 ยืนยันว่า ความเชื่อในพระเจ้า เสรีภาพ และความเป็นอมตะ ล้วนมีพื้นฐานอยู่บนมโนธรรม

3.4  เป็นพื้นฐานของความรัก นักบุญเปาโลสอนว่า มโนธรรมที่ถูกต้องและความเชื่อแท้จริงรวมกับใจบริสุทธิ์สามารถนำไปสู่ “ความรัก” ซึ่งเป็นธรรมชาติของพระเจ้าได้ หลังจากขอร้องทิโมธีให้อยู่ที่เมืองเอเฟซัสต่อไปเพื่อกำชับบางคนมิให้สอนผิด ท่านนักบุญเสริมว่า “จุดประสงค์ที่ข้าพเจ้าแนะนำดังนี้ก็คือความรักที่มาจากใจบริสุทธิ์ มาจากมโนธรรมที่ถูกต้องและมาจากความเชื่อแท้จริง” (1ทธ 1:5)

4. การอบรม - การหล่อหลอม

มโนธรรมพัฒนาควบคู่กับการเจริญวัยของเด็ก  ในครอบครัวและห้องเรียนที่มีศีลธรรมอันดี เด็กจะค่อยๆ เรียนรู้พฤติกรรมที่ถูกต้องโดยอาศัยการเลียนแบบ การสั่งสอน รวมถึงการให้รางวัลและการลงโทษ

สิ่งที่พึงระวังคือ หากเน้นการ “ลงโทษ” มากเกินไปจะนำไปสู่การมองบทบาทของมโนธรรมเชิงลบ (ตำหนิความผิด) เพียงด้านเดียว ดังที่ Dr. Mackenzie กล่าวไว้ว่า “ผมอยากจะบอกว่ามโนธรรมคือความรู้สึกเจ็บปวดที่เกิดและอยู่ควบคู่กับการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับหลักการ” หรือเหมือน Carlyle ที่กล่าวว่า “เราไม่อาจรู้ว่ามีมโนธรรมหากเราไม่เคยทำผิด”

สิ่งที่สำคัญในการอบรมและหล่อหลอมมโนธรรมคือ เราต้องทำพร้อมกันทั้งสองด้านคือให้เด็กเกิดความพึงพอใจเมื่อทำสิ่งที่ถูก และเกิดความเสียใจเมื่อทำสิ่งที่ผิด ดังที่อริสโตเติ้ลได้กล่าวไว้ว่า “จงสอนผู้ที่สอนได้ให้แสวงหาความพึงพอใจจากสิ่งที่น่าพอใจ และให้ไม่พอใจในสิ่งที่ไม่น่าพอใจ”         

สุดยอดของการอบรมมโนธรรมด้านบวกอยู่ที่ การส่งเสริม สนับสนุน และบันดาลใจให้แต่ละคนใช้มโนธรรมของตนเพื่อความก้าวหน้าในหนทางที่ถูกต้อง

การให้รางวัลและลงโทษ “ภายนอก” เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่ยังไม่บรรลุวุฒิภาวะเพื่อพวกเขาจะมีสำนึก “ภายใน” ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดหยาบคาย สิ่งใดพ่อแม่หรือครูบาอาจารย์ ชอบหรือไม่ชอบ อนุญาตหรือไม่อนุญาต ฯลฯ

ส่วนการสำนึก “ภายใน” ถึง “บาป” จริงๆ นั้น พระศาสนจักรถือว่าต้องพัฒนาจนถึงอายุ 7 ขวบบริบูรณ์ หลังจากนี้เด็กจะต้องรับผิดชอบดำเนินชีวิตตามมโนธรรมของตนเอง แม้ผู้ที่ไม่ได้รับศีลล้างบาปก็ต้องเริ่มแยกแยะได้แล้วว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธพระเจ้า และต้องรับผิดชอบต่อการเลือกนั้น (นักบุญโธมัส อะไควนัส)

หลักการ 

1. มโนธรรมไม่ใช่ความสามารถหรือหน้าที่ใหม่ที่เราผลิตและนำมาใส่ลงไปในตัวเด็ก แต่เป็นส่วนหนึ่งของสติปัญญาที่ทำหน้าที่พิจารณาว่าความประพฤติใดถูกหรือผิด ทั้งนี้โดยอาศัยความช่วยเหลือของน้ำใจ  อารมณ์ความรู้สึก  ประสบการณ์ชีวิต  และความช่วยเหลือภายนอกอื่นๆ

2. มโนธรรมของคริสตชนไม่ได้มาจากความรู้เพียงอย่างเดียว แต่มาจากความสว่างและแรงบันดาลใจที่ได้รับจากการไขแสดงและพระหรรษทานเหนือธรรมชาติ

3. เพื่อจะมีความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าและหน้าที่ด้านศีลธรรม มนุษย์จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้า จึงจะมีความรู้ครอบคลุม ชัดเจน แน่นอน เกิดผล และพอเพียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่นิยมวัตถุดังเช่นปัจจุบันนี้

4. ในทางปฏิบัติ ความถูกต้องของมโนธรรมขึ้นกับการใช้อย่างดี  การปลูกฝังอย่างเอาใจใส่  การเชื่อฟังมโนธรรม  และการกำจัดสิ่งที่มีผลลบต่อมโนธรรม

5. แม้จะระมัดระวังการใช้มโนธรรมอย่างดีแล้ว ความผิดพลาดก็ยังอาจเกิดขึ้นได้  แต่ความผิดพลาดเช่นนี้ถือว่าไม่น่าตำหนิ (inculpable) และไม่เป็นบาป

แนวปฏิบัติ (ขยายความข้อ 4)

1. ตรวจสอบอำเภอใจของแต่ละคนกับคำสอนหรือการดำเนินชีวิตของผู้ที่มีชื่อเสียงดีทั้งในอดีตและปัจจุบัน      

2. ต้องกระตือรือร้นแสวงหาข้อผิดพลาดในมโนธรรม เพื่อป้องกันการประพฤติผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

3. นำความผิดพลาดในอดีตมาเป็นบทเรียน

4. ขยันหมั่นเพียรในการตรวจสอบแก้ไขมโนธรรมของตนให้มีความประณีตและสามารถตอบสนองต่อหน้าที่หรือคุณธรรมในขั้นที่สูงขึ้นเรื่อยๆ (ดู “การพิจารณามโนธรรมเพื่อเพิ่มพูนความศรัทธา” ในหัวข้อถัดไป) หากละเลยหรือดันทุรังอยู่ในความผิดหลง อาจทำให้มโนธรรมตายด้านได้          

5. ให้ถือเป็นกฎว่า “เมื่อจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งต้องแน่ใจจริงๆ ว่าได้รับอนุญาตจากมโนธรรมแล้ว แม้ว่าหนทางอื่นจะน่ายกย่องมากกว่าก็ตาม” เช่นการเลือกระหว่าง “บวช – ดูแลพ่อแม่”, “ถอดเครื่องช่วยหายใจ – ยื้อชีวิต” ฯลฯ 

5. การพิจารณามโนธรรม

คือการตรวจสอบความคิด วาจา และกิจการในอดีตว่าสอดคล้องกับหลักศีลธรรมหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อมุ่งหน้าสู่ความครบครันและความศักดิ์สิทธิ์

ในพระธรรมเก่า พระเจ้าตรัสสั่งอับราฮัมว่า “จงดำเนินอยู่ต่อหน้าเราและเป็นคนดีพร้อม” (ปฐก 17:1) และประกาศกเยเรมีย์ย้ำว่า “ให้พวกเราทดสอบและพิจารณาวิถีของพวกเรา และกลับมาหาพระเจ้าเถิด” (พคค 3:40)

ในพระธรรมใหม่ พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต ไม่มีใครไปเฝ้าพระบิดาได้นอกจากผ่านทางเรา” (ยน 14:6)

ทั้งการอยู่ต่อหน้าพระเจ้า การกลับมาหาพระเจ้า และการไปเฝ้าพระบิดา ล้วนแสดงว่าหนทางสู่พระเจ้าเปิดออกแล้ว

เมื่อหนทางสู่พระเจ้าเปิดออกเช่นนี้แล้ว การพิจารณามโนธรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวไว้ว่า “แต่ละคนจงพิจารณาตนเอง....ถ้าเราได้พิจารณาตนอย่างละเอียด เราจะไม่ถูกตัดสินลงโทษ” (1 คร 11:28-31)

การพิจารณามโนธรรมอาจแบ่งตามวัตถุประสงค์ได้ 2 ประเภทคือ เพื่อเตรียมตัวรับศีลอภัยบาป และเพื่อเพิ่มพูนความศรัทธา

การพิจารณามโนธรรมก่อนสารภาพบาป ต้องกระทำอย่างจริงจังเพื่อจะได้เป็นทุกข์ถึงบาปและเกิดความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขความผิดพลาด  หากทำแบบลวกๆ หรือแบบสุกเอาเผากิน โอกาสที่จะกลับมาหาพระเจ้าแบบลูกล้างผลาญ (ลก 15:11-32) ย่อมยืดเยื้อออกไปอีก

วิธีที่นิยมใช้กันทั่วไปคือ ตรวจสอบมโนธรรมไล่เรียงกันไปตามลำดับ โดยเริ่มต้นจากบัญญัติสิบประการ  บัญญัติพระศาสนจักร  บาปต้นเจ็ดประการ  หน้าที่ตามสถานภาพของแต่ละคน เช่น ในฐานะพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ พระสงฆ์ นักบวช ฯลฯ  และท้ายสุดให้พิจารณาว่าตนมีส่วนร่วมในบาปของผู้อื่นด้วยหรือไม่ (ดู VCD เรื่อง “บาป-ไม่บาป: วิเคราะห์มโนธรรมคาทอลิก” แผ่น B) 

ส่วนการพิจารณามโนธรรมเพื่อเพิ่มพูนความศรัทธานั้น นิยมปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน โดยแบ่งเป็น 2 แนวทางด้วยกัน กล่าวคือ

1. การพิจารณามโนธรรมแบบทั่วไป มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขความผิดพลาดทุกชนิด (ทั่วไป)  นักบุญอิกญาซีโอแห่งโลโยลา ได้ให้ขั้นตอนปฏิบัติไว้ 5 ขั้นด้วยกันคือ

1.1  โมทนาคุณพระเจ้าสำหรับพระพรต่างๆ ที่ได้รับ

1.2  วอนขอพระหรรษทานเพื่อจะได้รู้และแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ

1.3  พิจารณาไล่เรียงแต่ละชั่วโมงตลอดวันว่าได้กระทำสิ่งใดผิดพลาดไปบ้าง ทั้งด้วยความคิด วาจา กิจการ และการละเลย

1.4  วอนขอการอภัยจากพระเจ้า

1.5  ตั้งใจแน่วแน่จะแก้ไขในสิ่งผิด

2. การพิจารณามโนธรรมแบบเฉพาะเจาะจง มีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดหนึ่งๆ (เฉพาะเจาะจง) หรือเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมหนึ่งๆ

นักบุญอิกญาซีโอแนะนำให้ปฏิบัติดังนี้

2.1  เมื่อตื่นนอน ให้หาข้อตั้งใจว่าจะหลีกเลี่ยงหรือจะทำสิ่งใด

2.2  ตกเที่ยงให้ตรวจสอบว่าได้ทำผิดพลาดหรือทำดีอะไรบ้าง? กี่ครั้ง? แล้วบันทึกลงสมุดที่เตรียมไว้ พร้อมกับรื้อฟื้นข้อตั้งใจสำหรับเวลาที่เหลือ

2.3  เวลากลางคืนให้ดำเนินการเหมือนตอนเที่ยง ต่างกันเพียงให้หาข้อตั้งใจสำหรับวันรุ่งขึ้นด้วย

ท่านนักบุญยังแนะนำให้กำหนดกิจใช้โทษบาปสำหรับตัวเอง พร้อมกับนำข้อมูลที่ได้วันนี้ไปเปรียบเทียบกันวันก่อนๆ  อาทิตย์ก่อนๆ  และเดือนก่อนๆ ด้วย

ฟังดูเหมือนยุ่งยาก แต่อย่าลืมว่าในการดำเนินชีวิตหรือดำเนินธุรกิจทุกวันนี้ เรามีระบบตรวจสอบ ระบบพัฒนาคุณภาพ ฯลฯ มากมายจนพระเยซูเจ้าเองยังนึกชมกึ่งน้อยใจว่า ‘บุตรของโลกนี้มีความเฉลียวฉลาดในการติดต่อกับคนประเภทเดียวกันมากกว่าบุตรของความสว่าง' (ลก 16:8) 

6. เรื่องสืบเนื่อง  

การที่ความประพฤติบางอย่างเป็นสิ่งน่ายกย่องสำหรับสังคมหนึ่ง แต่กลับเป็นสิ่งต้องห้ามในอีกสังคมหนึ่ง ย่อมแสดงว่าเราจะหล่อหลอมมโนธรรมของเราตามมาตรฐานของสังคม หรือตามความพึงพอใจส่วนตัวเท่านั้นไม่ได้

แม้สังคมคริสตชนแต่ละแห่งจะมีความแตกต่างกัน แต่ทุกแห่งต่างเห็นพ้องต้องกันว่ามาตรฐานด้านศีลธรรมจะขึ้นกับโครงสร้างแคบ ๆ ของสังคมแต่ละแห่งไม่ได้ จำเป็นต้องขึ้นกับแสงสว่างจากพระคัมภีร์ ดังที่นักบุญยอห์นกล่าวไว้ว่า “ถ้าเราดำเนินชีวิตในความสว่าง ดังที่พระองค์ทรงดำรงอยู่ในความสว่างแล้ว เราทุกคนก็สนิทสัมพันธ์กันด้วย” (1ยน 1:7)          

และอีกตอนหนึ่งนักบุญเปาโลกล่าวว่า “มโนธรรมของข้าพเจ้าและพระจิตเจ้าร่วมเป็นพยานได้....” (รม 9:1) 

เท่ากับว่าอาศัยความสว่างในพระคัมภีร์และพระจิตเจ้า เราจะค้นพบ “หลักการและความจริงอันยิ่งใหญ่ไพศาล” สำหรับหล่อหลอมมโนธรรมที่ถูกต้อง

อาศัย “หลักการและความจริง” เหล่านี้เองที่ทำให้มโนธรรมของเรากลายเป็น “เสียงของพระเจ้า” หรือ “พระประสงค์ของพระเจ้า”

เมื่อเราดำเนินชีวิตตามมโนธรรม เท่ากับเรากำลังปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า ซึ่งเท่ากับว่า

1. เรากำลังเลือกสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งทำให้เรามีเสรีภาพที่แท้จริงสูงสุด

ตราบใดที่การเลือกของเรายังไม่สิ้นสุด นั่นแสดงว่าเรายังไม่มีเสรีภาพ แต่กำลังตกเป็นทาสของการแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุด

ตรงกันข้าม ถ้าเราเลือกพระประสงค์ของพระเจ้าซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เราจะมีเสรีภาพสูงสุดและพึงพอใจสูงสุด เพราะไม่ปรารถนาสิ่งอื่นใดอีก

2. เรากำลังเป็นอิสระจากอัตตาและแรงกระตุ้นต่างๆ ได้อย่างสิ้นเชิง  เปรียบได้กับ “นิพพาน” ในพระพุทธศาสนา

3. เรากำลังเป็นสมาชิกของพระอาณาจักรสวรรค์ ดังที่เราวอนขอทุกครั้งที่สวดบทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย

ภาษาฮีบรูมีลีลาการเขียนที่เรียกว่า Parallelism กล่าวคือชาวฮีบรูนิยมพูดสิ่งเดียวกันซ้ำ 2 ครั้ง โดยครั้งที่สองอาจเป็นเพียงการซ้ำท่อนแรก หรืออาจเป็นการขยายความเพิ่มเติมให้กับท่อนแรกก็ได้ แทบทุกข้อในหนังสือเพลงสดุดีล้วนใช้ลีลาการเขียนแบบนี้

เมื่อเราจับเอาคำวอนขอ 2 ประการในบทข้าแต่พระบิดามาเรียงขนานกันดังนี้  

ท่อนแรก     “พระอาณาจักรจงมาถึง”                     

ท่อนที่สอง   “พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์”

เราอาจให้คำนิยามของพระอาณาจักรของพระเจ้าได้ว่าเป็น “สังคมบนโลกนี้ที่พระประสงค์ของพระเจ้าได้รับการปฏิบัติอย่างสมบูรณ์เหมือนในสวรรค์”

เมื่อใดก็ตามที่เราปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า เมื่อนั้นเราเป็นสมาชิกของพระอาณาจักรสวรรค์ทันที

4. เรากำลังมีความสุขสูงสุด  เพราะได้คิดแบบพระเจ้า ปรารถนาแบบพระเจ้า และทำแบบพระเจ้า

พระเจ้าซึ่งทรงรักเรา และเรารักมากที่สุด !          

แล้วเรายังไม่คิดจะแสวงหา “หลักการและความจริง” จากขุมทรัพย์อันล้ำค่าดังเช่นหนังสือพระคัมภีร์นี้อีกหรือ?

Image

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >