หน้าหลัก arrow กิจกรรม ยส. arrow กิจกรรมย้อนหลัง arrow กิจกรรมของ ยส. 1/2006 (ม.ค. - มิ.ย.)
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 200 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

กิจกรรมของ ยส. 1/2006 (ม.ค. - มิ.ย.) พิมพ์
Friday, 10 November 2006


จดหมายข่าว ยส. ๑/๒๐๐๖ (ม.ค. – มิ.ย.)



กิจกรรมของ ยส.  

เสวนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สถานการณ์การเมืองไทย ในยุค “จริยธรรมหายไป” 

Imageด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมเมื่อเกิดความขัดแย้งทางความคิดระหว่างประชาชนที่สนับสนุนและต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีข้อครหาในกรณีขายหุ้นชินคอร์ปให้แก่เทมาเสกของประเทศสิงคโปร์ จนนำไปสู่การชุมนุมเรียกร้องให้นายกฯ ลาออกจากตำแหน่ง  อีกด้านหนึ่งกลุ่มผู้สนับสนุนนายกฯ ก็ออกมาชุมนุมเพื่อให้กำลังใจนายกฯ สังคมจึงเกิดความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย เลือกข้างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย

Imageคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.) จึงจัดเสวนาให้ข้อมูลสถานการณ์ด้านการเมืองและสังคมแก่บุคลากรในองค์กรภายใต้พระศาสนจักรคาทอลิกแห่งประเทศไทย เพื่อให้เข้าใจและรู้เท่าทัน ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒ มีนาคม ๒๕๔๙ เวลา ๑๔.๐๐ น. - ๑๖.๐๐ น. ณ ห้องประชุม ชั้น ๑๐   อาคารสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ  วิทยากรโดย คุณไพโรจน์  พลเพชร เลขาธิการ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน  ได้นำเสนอให้เห็นภาพและเข้าใจถึงสถานการณ์การเมือง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของวิกฤติการเมืองซึ่งเกิดจากการมีรัฐบาลที่มีเสียงข้างมาก สามารถจัดรัฐบาลพรรคเดียว จนทำให้ฝ่ายค้านไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ และนโยบายประชานิยม โครงการเอื้ออาทรต่างๆ ได้แก่ กองทุนหมู่บ้านละล้าน ที่ส่งผลให้ชาวบ้านเป็นหนี้มากขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือ การเอื้อผลประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้องจนทำให้ประเทศชาติสูญเสียผลประโยชน์มหาศาล การเสวนาในครั้งนี้มีความตื่นตัวของผู้เข้าร่วมเสวนา โดยมีการซักถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการเมืองกันอย่างเข้มข้น ทั้งยังได้พูดคุยกันถึงในด้านของจริยธรรมของผู้นำที่ขาดหายไป และบทบาทของศาสนิกชนที่จะร่วมกันนำจริยธรรมให้กลับคืนมาสู่สังคม 




ศึกษาสารวันสันติภาพสากล ประจำปี ๒๐๐๖   “สันติภาพ ดำรงอยู่ในความจริง”
  

Image

เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๙ คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.) จัดงานศึกษาสารวันสันติภาพสากล ประจำปี ๒๐๐๖ ณ ห้องประชุมชั้น ๑๐ อาคารสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย โดยจัดให้มีการเสวนาหัวข้อ “อำนาจ ความจริง และสันติภาพ” เพื่อสร้างความตระหนักแก่ศาสนิกให้เห็นความสำคัญของการส่งเสริมและมีส่วนร่วมสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในสังคม โดย คุณอัจฉรา  สมแสงสรวง เลขาธิการ ยส. ได้บรรยายสรุปเนื้อหาจากสารวันสันติภาพสากล ซึ่งเป็นสารสันติภาพฉบับแรกของสมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ ๑๖ ที่มีจุดยืนและความเชื่อว่า สันติภาพจะต้องดำรงอยู่ในความจริง เชื่อในความแตกต่าง และเรียนรู้ที่จะอยู่ในความแตกต่าง คือ การยอมรับและเคารพซึ่งกันและกัน โดยศาสนิกมีหน้าที่ในการค้นหาความจริงแท้นั้น  ทั้งนี้ในสารยังแสดงให้เห็นว่า ทรงห่วงใยและหวังที่จะเห็นโลกมีสันติสุขมากกว่าที่เป็นอยู่ อันเป็นโลกที่มนุษย์ทุกคนต่างอุทิศตนสู่หนทางแห่งความยุติธรรมและสันติ 

 Image

สำหรับการเสวนา “อำนาจ ความจริง และสันติภาพ” วิทยากรได้แก่ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และวัดป่ามหาวัน จ.ชัยภูมิ และคุณวันชัย  ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร สารคดี โดยคุณวันชัยได้ร่วมแบ่งปันในการเสวนาให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้เข้าใจว่า “อำนาจสามารถทำให้ความจริงเปลี่ยนแปลงหรือบิดเบือนได้ ดังนั้นเราซึ่งเป็นผู้รับสารจึงควรตั้งคำถามเพื่อแสวงหาความจริง และในการรับสารนั้นต้องImageพิจารณาอย่างถ่องแท้และรอบด้าน”  ทางด้านพระไพศาล วิสาโล ทำให้เราได้ตระหนักว่า “อำนาจเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงความจริง เพราะอำนาจไม่ต้องการการตั้งคำถาม แต่อำนาจต้องการให้ทุกคนเชื่อ หรือสยบ อำนาจจะภูมิใจและเชื่อมั่นว่าทุกอย่างจัดการได้ถ้ามีเงินและมีอำนาจทางการเมือง อำนาจจึงเกลียดและกลัวความจริง เพราะอำนาจทำอะไรความจริงไม่ได้ ได้แต่เพียงแค่สร้างความเท็จเข้ามาทดแทนความจริง สิ่งที่น่ากลัวก็คือ อำนาจที่เข้าไปผูกขาดความจริง เพราะเมื่อผูกขาดความจริงก็จะรู้สึกว่าอยู่ในฝ่ายที่ถูกต้อง และคิดว่าเข้าถึงความจริงสูงสุดแล้ว จึงสามารถทำให้เกิดการทำลายล้างมากมายตามมา เราจึงต้องมีเสรีภาพในการแสวงหาความจริงเพราะความจริงสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความถูกต้องและยุติธรรม และยังนำไปสู่ความรัก ซึ่งความรักจะนำไปสู่สันติภาพได้ ถ้าเราเข้าใจคนอย่างครบถ้วนรอบด้าน จะทำให้เราเกลียดกันน้อยลง ความรักและความเมตตาเกิดขึ้น สันติภาพก็จะสามารถเกิดขึ้นได้” 




จัดเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หัวข้อ “ปฏิรูปการเมืองกับการมีส่วนร่วมของประชาชน”
     

 Image

เมื่อวันพุธที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ณ ห้องประชุม ชั้น ๑๐ อาคารสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ โดยเชิญ คุณรสนา โตสิตระกูล ว่าที่สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพฯ มาเป็นวิทยากรนำการเสวนา เพื่อทำความเข้าใจเรื่องการปฏิรูปการเมือง เรียนรู้กลไกการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชน และแสดงจุดยืนของคาทอลิกต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองในการปฏิรูปการเมืองรอบสอง คุณรสนาได้กล่าวถึงการปฏิรูปการเมืองว่า นับจากปี ๒๕๔๐ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นการปฏิรูประบอบการปกครองครั้งที่ ๑ประเทศไทยได้รัฐธรรมนูญที่เกิดจากประชาชน เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงและเชื่อกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในโลก แต่รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ กลับดีเพียงรูปแบบ คือทำได้เพียงแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมืองแบบเดิมๆ แต่ยังไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้อำนาจได้อย่างแท้จริง จึงถึงเวลาที่ประชาชนจะต้องทบทวนให้ดีถึงเป้าหมายของการปฏิรูปการเมืองว่าเราต้องการปฏิรูปการเมืองเพื่อนำไปสู่สิ่งใด ดังนั้นในการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่นี้ต้องทำให้การเมืองภาคประชาชนเข้มแข็ง และสามารถใช้อำนาจในการตรวจสอบนักการเมืองเพื่อให้การเมืองมีคุณภาพมากขึ้น 

 ImageImage

ในเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครั้งนี้ พระคุณเจ้าบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ ประธานคณะกรรมการฝ่ายสังคมของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย ได้แสดงความคิดเห็นว่า ศาสนาต้องมีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิรูปการเมือง และต้องเปลี่ยนแปลงไปถึงเนื้อหามากกว่ารูปแบบ “การเมืองซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นสิ่งสกปรก โดยเฉพาะฝ่ายศาสนาส่วนใหญ่บอกว่า ไม่ควรเกี่ยวข้องกับการเมือง เดี๋ยวทำให้ศาสนามัวหมอง ซึ่งความคิดอย่างนี้ผิดอย่างมาก ถ้าการเมืองสกปรก ศาสนาจะต้องเป็นเกลือที่จะไปดองให้สะอาด ถ้าการเมืองนำไปสู่มุมมืด ศาสนาจะต้องเป็นความสว่างให้การเมือง และเป็นหน้าที่ของศาสนาที่จะต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง  พระคุณเจ้าบุญเลื่อนกล่าว

นอกจากนี้ พระคุณเจ้าบุญเลื่อนยังแสดงความกังวลว่า การทำหน้าที่เป็นประจักษ์พยานของคาทอลิกในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากกว่าการเข็นครกขึ้นภูเขาอันเนื่องมาจากการได้รับอิทธิพลของธนกิจการเมืองไม่มากก็น้อยเช่นกัน 




จัดเสวนาโต๊ะกลม หัวข้อ “ปัญหา สาเหตุ และทางออกจากวิกฤติแห่งความรุนแรง ในมุมมองศาสนิกชน” เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑ ปี พระสุพจน์ สุวโจ, ๒ ปี เจริญ วัดอักษร และการอุ้มหาย ทนายสมชาย นีละไพจิตร

Imageเมื่อวันที่ 17 -18 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.) ร่วมกับองค์กรเครือข่าย ประกอบด้วย มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ เครือข่ายศาสนิกชนแห่งประเทศไทย สภาองค์การมุสลิมแห่งประเทศไทย จัดเสวนาโต๊ะกลม หัวข้อ “ปัญหา สาเหตุ และทางออกจากวิกฤติแห่งความรุนแรง ในมุมมองศาสนิกชน” ในงานครบรอบ 2 ปี เจริญ วัดอักษร,  1 ปี พระสุพจน์ สุวโจ และการอุ้มหาย ทนายสมชาย นีละไพจิตร โดยมีการสนทนาแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็น จากตัวแทน 3 ศาสนา ซึ่งเป็นบุคคลที่ทำงานด้านสังคมและด้านศาสนา ได้แก่ พระกิตติศักดิ์  กิตติโสภโณ จากมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์, ภิกษุณีธัมมนันทา จากวัดทรงธรรมกัลยา, คุณพ่อวิชัย  โภคทวี พระสงฆ์คาทอลิก, รศ.ดร.วไล ณ ป้อมเพชร จาก ยส., คุณวิทยา  วิเศษรัตน์ นักวิชาการมุสลิม, คุณนิติ  ฮาซัน จากมูลนิธิศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย, คุณรสนา  โตสิตระกูล ว่าที่สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯ, คุณเตือนใจ  ดีเทศน์ รักษาการสมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย, คุณสุนีย์  ไชยรส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  โดยมี ดร.เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง รักษาการสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพฯ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา โดยมีผู้เข้าร่วมฟังเสวนาประมาณ 40 คน และได้มีการถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีข่าว ASTV ของทีมงานผู้จัดการ เพื่อเผยแพร่ไปยังผู้ชมทางบ้านอีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับประเด็นและเนื้อหาสาระที่ได้มีการพูดคุยกันนั้น คุณสุนีย์ ไชยรส จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะที่ทำงานติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในไทย กล่าวว่า “ความรุนแรงในประเทศไทยรุนแรงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลังรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 นี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ได้รวบรวมประเด็นเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน มีทั้งหมด 21 คนไม่ใช่ 19 คน โดยเฉพาะชาวบ้านที่สู้เพื่อพิทักษ์ฐานทรัพยากรของชุมชน เสียชีวิตอย่างน่าสะเทือนใจ และการเสียชีวิตแบบนี้ มักจะจับใครไม่ได้เลย  ส่วนความรุนแรงซึ่งมาจากกระบวนการยุติธรรม เป็นช่องโหว่และนำไปสู่การที่ชาวบ้านถูกจับกุมคุมขัง ความรุนแรงมีเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าชาวบ้านตื่นตัวขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเอง และนำมาซึ่งการขัดต่อผลประโยชน์ของหลายฝ่ายมากขึ้น แต่ภาคประชาชนกลับถูกมองว่าก้าวร้าวใช้ความรุนแรง ขัดแย้งกับโครงการของรัฐ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ตอนนี้ผลกระทบที่ลงสู่ชุมชนกับทิศทางการพัฒนาที่เน้นแต่ตัวเลข ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง ได้นำมาซึ่งความรุนแรงและกระจายไปสู่ทุกภาคอย่างเสมอกัน รวมถึงกรณีในสามจังหวัดภาคใต้”

Imageพระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ จากมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ กล่าวว่า “ความรุนแรงในสังคมไทย เพิ่มขึ้นทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ และความรุนแรงบางอย่างเป็นความรุนแรงอย่างลึกซึ้ง ซึ่งส่งผลสะเทือนถึงผู้คนในรุ่นต่อๆ ไป บรรยากาศทางสังคมที่เกิดขึ้นไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายศาสนาได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลามในแง่หลักธรรมที่ถูกต้องของทั้ง 3 ศาสนา ก็ถูกบ่อนเซาะจากการโฆษณาชวนเชื่ออย่างที่เราเห็นกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐและทุน เมื่อรัฐและทุนจับมือและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตรงนี้ฝ่ายที่อ่อนแอ ก็คือฝ่ายศาสนิกชน ในการที่ตัวเองจะดำเนินชีวิตภายใต้บรรยากาศความสงบร่มเย็น ก็ถูกกระทำให้กลายเป็นว่า บุคคลเหล่านี้เป็นผู้ที่ไม่ยอมรับการพัฒนา บุคคลเหล่านี้ไม่ส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศของการลงทุน บุคคลเหล่านี้ไม่เอื้อต่อการที่ประเทศชาติจะพัฒนาไปในทางวัตถุ”

Imageบาทหลวงวิชัย โภคทวี พระสงฆ์คาทอลิก กล่าวว่า  “ปัจจุบันนี้ทางฝ่ายศาสนิกยังไม่เห็นว่าปัญหาทั้งหมดที่เป็นอยู่นี้เป็นปัญหาทางศีลธรรม หลายคนวิเคราะห์ว่ามันเป็นปัญหาทางการเมือง ปัญหาทางเศรษฐกิจ เป็นปัญหาสังคม แต่พื้นฐานจริงๆ คือ ปัญหาทางศีลธรรม และเมื่อสังคมเราไม่ได้มุ่งไปสู่ทางธรรม ไม่ได้เอาจริยธรรมและศีลธรรมเป็นตัวตั้ง แต่กลับเอาผลประโยชน์เป็นตัวตั้ง ก็เลยทำให้สังคมทั้งหมดนั้นพลาด และปัญหาสังคมทั้งหมดอยู่ตรงนี้ ฝ่ายศาสนิกเมื่อมองไม่ถูก ก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องของฉัน แต่ถ้าเมื่อไหร่เรารู้ว่าอันนี้เป็นเรื่องของธรรมะ เราก็จะเข้ามาช่วยกันแก้ไข และศาสนาจะเข้ามาเป็นจิตสำนึก เข้ามาเตือนสติได้”

รศ.ดร.วไล ณ ป้อมเพ็ชร จากคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ กล่าวว่า “นอกจากความรุนแรงในสังคมไทยจะเพิ่มขึ้นแล้ว ยังขยายออกไปกว้างกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่น่าเป็นห่วงคือบรรดาเยาวชน เพราะความรุนแรงได้เข้าไปสู่โรงเรียน  เด็กนักเรียนมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น การแกล้งกัน ทำร้ายกันในระดับประถมฯ ไม่ใช่ระดับมัธยมฯ  เมื่อก่อนเราอยู่กันอย่างสันติ เพราะยังไม่มีอิทธิพลจากภายนอกเข้ามาอย่างรวดเร็วขนาดนี้ เมื่อมีทุนนิยมเข้ามาอย่างรวดเร็วจนเราตั้งตัวไม่ทันในการจัดกระบวนการทางสันติวิธี”

Imageคุณเตือนใจ ดีเทศน์ รักษาการสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า “ความรุนแรงมี 2 ระดับ คือระดับบุคคล ซึ่งเพิ่มขึ้น คือขาดความเมตตา ขาดความอดทน ขาดความสงบในจิตใจ และเกี่ยวข้องกับความรุนแรงระดับที่สอง คือโครงสร้างของนโยบายซึ่งมุ่งกระตุ้นโดยเอาเงิน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมาย จึงนำไปสู่ความขัดแย้ง ความโกรธ ความขัดผลประโยชน์ และมีความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นมาก เมื่อจิตใจของบุคคลขาดเมตตาธรรม ขาดความสงบสันติก็จะเกิดความรุนแรงทั้งในวิถีชีวิตและในโครงสร้างของรัฐบาลด้วย เมื่อประชาชนไม่เห็นด้วยกับโครงการของรัฐบาล รัฐบาลและคนของรัฐก็มองว่าประชาชนเป็นศัตรู รัฐบาลเห็นแต่ดัชนีวัดความเจริญเติบโตทางรายได้ ซึ่งรัฐน่าจะวัดความเจริญเติบโตทางความสุขมากกว่า”

คุณวิทยา วิเศษรัตน์ นักวิชาการมุสลิม กล่าวว่า “ทุกศาสนาไม่มีคำสอนใดที่ใช้ให้คนฆ่าคน ศาสดาบอกว่า เมื่อใดที่ผู้ปกครองระแวงสงสัยประชาชน ย่อมทำลายประชาชน คิดว่าเขาเป็นโจร คิดว่าเขาเป็นผู้ก่อการร้าย เมื่อผู้ปกครองปกป้องความชั่ว ความชั่วก็จะระบาดไปในสังคม ในศาสนาอิสลามศาสดามูฮัมหมัดไม่เคยรบกับใครก่อน มีแต่ให้อภัย”

ภิกษุณีธัมมนันทา จากวัดทรงธรรมกัลยา กล่าวว่า “การใช้ความรุนแรงยุติความรุนแรง เหมือนการที่เรากำลังยอมรับว่าความรุนแรงเป็นมาตรฐานที่ถูกต้องในการจัดการกับปัญหา ผู้นำจำเป็นต้องอยู่ในธรรม ถ้าผู้นำไม่อยู่ในธรรม ก็ไม่สามารถที่จะสร้างสรรค์สังคมไปในทางที่ดีได้”

Imageคุณรสนา โตสิตระกูล ว่าที่สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพฯ กล่าวว่า “สังคมไทยขาดความสุข ทำให้คนก่อความรุนแรงหรือก่ออาชญากรรมมากขึ้น แต่ในช่วงที่ประชาชนมีความสุข อาชญากรรมจะลดลง ถ้าผู้นำไม่มีคุณธรรม และมองประเทศเป็นที่ทำมาหากิน มองสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นที่ทำมาหากิน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า โลกทั้งหลายก็จะวิปริตตามทั้งหมด”

ทั้งนี้ การถูกลักพาตัวของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมแห่งประเทศไทย ซึ่งหายไปอย่างไร้ร่องรอย ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2547 หลังเป็นผู้รับทำคดีให้กับผู้ต้องหาชาวมุสลิมคดีเจไอถูกเจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายด้วยวิธีต่างๆ นานา เพื่อให้ยอมรับข้อกล่าวหา ขณะเดียวกันยังเป็นผู้เคลื่อนไหวล่ารายชื่อ 50,000 ชื่อ เพื่อให้รัฐยกเลิกพระราชกำหนดฉุกเฉินในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ให้อำนาจอย่างล้นเหลือแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ           

ส่วนเจริญ วัดอักษร ประธานกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอกฯ และแกนนำคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 21 มิถุนายน 2547 หลังเดินทางกลับจากการยื่นหนังสือเรื่องการออกโฉนดที่ดินทับที่สาธารณะของกลุ่มนายทุนต่ออนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่รัฐสภา           

และกรณีลอบสังหารพระสุพจน์ สุวโจ พระนักต่อสู้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งสวนเมตตาธรรม อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกสังหารอย่างโหดร้ายทารุณ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2548           

รวมนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเสียชีวิตภายใต้รัฐบาลทักษิณจำนวน 21 ราย   




FEATURE 

สถานการณ์ทางการเมืองและสังคมในช่วงครึ่งปีแรก 

ปฏิรูปการเมืองกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

Image“ประชาธิปไตยไม่ใช่เป้าหมายของผม”1
หากยังจำกันได้กับอีกหนึ่งวรรคทองแห่งยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร  ผู้ให้คุณค่ากับประชาธิปไตยเพียงเป็นเครื่องมือหรือหนทางนำไปสู่เป้าหมาย เราจึงได้เห็นว่าเป้าหมายของเขากลับมิใช่เป้าหมายเพื่อประโยชน์สุขโดยรวมแก่ประชาชนและประเทศชาติ แต่เป็นเป้าหมายมุ่งสู่ความร่ำรวยเฉพาะตนและพวกพ้อง ดังประจักษ์พยานจากตัวเลขมูลค่า ๗๓,๐๐๐ ล้านบาท จากการขายชินคอร์ป – ธุรกิจของตนให้กับทุนเทมาเสกของสิงคโปร์  การยึดศูนย์รวมอำนาจไว้กับตนและใช้อำนาจที่มีอยู่ในมือนั้นทั้งละเมิดรัฐธรรมนูญและทำลายกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลของระบบรัฐสภา องค์กรอิสระต่างๆ ตลอดจนแทรกแซงและครอบงำสื่อ แล้วคุมฝ่ายบริหารให้ดำเนินตามแนวทางและอุดมการณ์ที่ตนเองสร้างขึ้นใหม่ สามารถบงการให้เกิดนโยบายและโครงการต่างๆ ที่เอื้ออำนวยผลประโยชน์ทางธุรกิจแก่ตนเองและพวกพ้อง โดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ อีกด้านหนึ่งก็ใช้นโยบายการตลาด นโยบายประชานิยม โปรยหว่านให้คนรากหญ้าเชื่อว่าทักษิณเท่านั้นจะทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากความยากจน  ซึ่งแท้จริงแล้วกลับยิ่งเป็นการเพิ่มหนี้สินในครัวเรือนมากขึ้น ทั้งยังสร้างระบบอุปถัมภ์ให้ประชาชนติดนิสัยการรอรับความช่วยเหลือโดยไม่พึ่งพิงตนเอง มิหนำซ้ำยังทำลายมาตรฐานทางศีลธรรมของสังคมให้เห็นว่าการโกงเป็นสิ่งไม่ผิด การไม่จ่ายภาษีก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้   แต่ในเมื่อสังคมโดยรวมยังให้ค่าเห็นความสำคัญต่อหลักศีลธรรมที่ควรมีกำกับเป็นคุณธรรมประจำใจของทุกคน โดยเฉพาะหากยิ่งเป็นผู้นำประเทศด้วยแล้วยิ่งจำเป็นต้องประพฤติเป็นแบบอย่าง ด้วยเหตุนี้สถานการณ์ทางการเมืองจึงเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะต้องมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกครั้ง

ImageImage

เมื่อผมมาตามระบอบประชาธิปไตย ถ้าจะให้ไป ก็ต้องไปตามระบอบประชาธิปไตยไม่อยากให้คนกลุ่มหนึ่งมาแบล็กเมล์รัฐบาลทุกสมัย  ถึงได้ให้มีการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่  ถ้าไม่ชนะก็ไม่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องรักษาประชาธิปไตยไว้ให้ดีที่สุด  รักษาประชาธิปไตยให้ยั่งยืน”2  

Imageการประกาศยุบสภาเพื่อหนีการตรวจสอบ โดยอ้างว่าต้องยึดกติกาเพื่อรักษาไว้ซึ่งประชาธิปไตย แท้จริงแล้วนั่นคือการฟอกตัวให้สะอาดบริสุทธิ์ โดยใช้คะแนนเสียงจากประชาชนสร้างความชอบธรรมในการหวนคืนสู่ตำแหน่งอีกครั้ง กับการเลือกตั้งที่ต้องใช้งบประมาณ ๒,๒๐๐ ล้านบาทจากเงินภาษีของประชาชน แต่เมื่อการณ์ไม่เป็นไปตามคาด เมื่อประชาชนร่วมกันสร้างปรากฏการณ์เสมือนตบหน้าสั่งสอนแสดงให้รู้กันว่าพวกเขาไม่ต้องการผู้นำที่ขาดศีลธรรมจริยธรรม ด้วยการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งโดยกาช่องไม่ประสงค์จะเลือกใคร หรือ No Vote กันอย่างท่วมท้น รวมถึงการตั้งใจทำให้บัตรเลือกตั้งเสียจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ ทำให้ ๑๖ ล้านเสียงที่ได้มาไม่สามารถนำมาอ้างได้อย่างภาคภูมิใจเช่นเคย การหาทางลงโดยประกาศเว้นวรรคทางการเมืองไม่ขอรับตำแหน่งนายกฯ จนกว่ากระบวนการสรรหาในสภาฯ จะแล้วเสร็จ ทั้งจะเดินหน้าปฏิรูปการเมืองรอบสองตามที่ภาคประชาชนต้องการ จึงถูกนำมาใช้เป็นทางออกในการสร้างความสง่างามให้กับตนเอง




ล้างบางระบอบทักษิณ เดินหน้าปฏิรูปการเมือง สร้างสังคมที่เป็นธรรม

๔ วิกฤติ จากระบอบทักษิณ

๑. ระบอบทักษิณ... ยักยอกรัฐธรรมนูญ ยึดครองประชาธิปไตย

๒. ระบอบทักษิณ... หลงใหลทุนนิยมใหม่ จนลืมประเทศชาติ

๓. ระบอบทักษิณ... โกงกินชาติ บ้านเมือง

๔. ระบอบทักษิณ... ทำให้บ้านเมืองสิ้นความสงบสุข 

........................................................

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ  วะสี 3   บอกไว้ว่า “คุณูปการของ "ระบอบทักษิณ" คือ ทำให้คนไทยตื่นตัวครั้งใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน คนไทยจำนวนแสน จำนวนล้าน ได้เรียนรู้เรื่องระบบการเมือง เรื่องคอร์รัปชัน เรื่องขายรัฐวิสาหกิจ เรื่องขายหุ้นให้ต่างชาติ ฯลฯ จึงเป็นความตื่นตัวทางศีลธรรมจริยธรรมของ ภาคประชาชน และถือเป็นการสร้างทุนทางจิตสำนึก ทุนทางสังคม และทุนทางปัญญาอย่างมหาศาล ซึ่งการเมืองภาคประชาชนจะต้องทำให้ทุนเหล่านี้เพิ่มพูนขึ้นอย่างต่อเนื่อง” 

ผู้มีความห่วงใยต่อบ้านเมืองต่างล้วนหวั่นเกรงพิษภัยของระบอบทักษิณซึ่งเริ่มแพร่กระจายไปทุกหย่อมหญ้า และรังแต่จะยิ่งสร้างความแตกแยกระหว่างผู้คนในสังคมไทยดังที่ปรากฏในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา แม้กระทั่งบัดนี้ เสียงเรียกร้องจากสังคมให้ปฏิรูปการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการใช้ข้อได้เปรียบทางการเมือง ทำลายเนื้อหาสาระของประชาธิปไตยและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ และปิดกั้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมถึงปัญหาภาวะวิกฤติจริยธรรมของผู้นำรัฐบาล จึงดังขึ้นอย่างที่รัฐไม่อาจเพิกเฉยได้ แต่ทว่าแม้รัฐบาลพรรคไทยรักไทยจะแสดงตัวเป็นเจ้าภาพเดินหน้าปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าจะมีคนกลางมาดำเนินการในเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จภายในเวลา ๑ ปีเศษ ก็ตาม แต่เสียงจากภาคสังคมยังไม่ยอมรับและไม่ไว้วางใจด้วยเห็นว่ารัฐยังคงกุมกลไกและอำนาจต่างๆ ไว้ในมือ จึงเป็นเรื่องยากที่การปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งใหม่นี้จะปราศจากการแทรกแซงใดๆ

Image

ด้วยเหตุนี้จึงมีการรวมตัวกันครั้งใหญ่ของภาคประชาชนเพื่อร่วมกันผลักดันให้มีการปฏิรูปการเมืองที่ประชาชนจากทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมเสนอแนะ กำหนดแนวทาง และจังหวะก้าวในการเคลื่อนไหวปฏิรูปการเมืองให้เป็นไปอย่างเข้มแข็งและมีพลัง จนกระทั่งสามารถจัดตั้งเป็นเครือข่ายองค์กรประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองและสังคม  ๒๖ เครือข่าย ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายนักวิชาการ อาทิ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย ฯลฯ เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน อาทิ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คณะกรรมการประสาน งานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์/HIVประเทศไทย  สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคม  เครือข่ายสลัมสี่ภาค สมัชชาคนจน กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)  สมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ ศูนย์ประสานงานนักเรียนนิสิตนักศึกษา ฯลฯ เป็นต้น

สำหรับการปฏิรูปการเมืองที่ภาคประชาชนมุ่งหวังนั้นก็คือ ต้องการให้เกิดการเมืองที่มีหลักคุณธรรมและจริยธรรมเป็นจุดขับเคลื่อน ไม่ใช่เพียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่เป้าหมายหลักต้องอยู่ที่การสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และตอบสนองต่อปัญหาของประชาชน ต้องให้อำนาจแก่ประชาชนในการเข้าถึงและใช้อำนาจได้อย่างเท่าเทียม ต้องสร้างกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพโดยสังคม ต้องมุ่งสร้างความเข้มแข็งของการเมืองภาคประชาชนอันเป็นรากฐานสำคัญยิ่งในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพ บทบาทหน้าที่ในการร่วมพัฒนาบ้านเมือง และตรวจสอบถ่วงดุลการเมืองในระบบรัฐสภาและระบบพรรคการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การปฏิรูปการเมืองจะต้องปฏิรูปสังคมไปพร้อมๆ กันด้วย  โดยจะต้องครอบคลุมประเด็นที่เป็นปัญหาหลักของสังคมไทย ได้แก่ การจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า พลังงาน ความหลากหลายทางชีวภาพ  การสร้างความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ  การกำหนดนโยบายสาธารณะขั้นพื้นฐาน  ปฏิรูปสื่อสาธารณะ  กระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นและชุมชน ที่สำคัญการปฏิรูปการเมืองต้องนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในระดับรากหญ้า ความยั่งยืนของฐานทรัพยากร หลุดพ้นจากโครงสร้างความขัดแย้ง คุ้มครองสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชนในมิติต่างๆ และเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน

แม้สังคมไทยขณะนี้ยังคงอยู่ในวังวนแห่งความขัดแย้งทางการเมือง แต่ไม่ว่าจะช้าเร็วอย่างไร การปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในจุดที่มีช่องโหว่มีข้อบกพร่องให้รัดกุมและสมบูรณ์มากขึ้น ย่อมเป็นทิศทางที่ต้องเดินหน้าต่อไป และเมื่อนั้นธงปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่โดยภาคประชาชนจะถูกนำมาออกมาปักเคียงคู่ไปกับธงปฏิรูปฯ ของภาครัฐ เพื่อนำข้อเสนอและประเด็นต่างๆ ที่เป็นเสียงและความต้องการของประชาชนจากทุกภาคส่วนเพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ดังมาตรา ๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดไว้ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” ได้อย่างแท้จริง 




Of Thousands of Words, Images and Impression

นับเป็นเวลากว่า  15   ปี ที่คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ ประเทศไทย ได้จัดทำ JP Newsletter เพื่อเป็นสื่อในการเผยแพร่กิจกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นงานของ JP Thailand ให้ท่านได้รู้จักองค์กรของเราและงานของเราซึ่งมุ่งหวังจะเป็นส่วนหนึ่งที่มุ่งสร้างความยุติธรรม สันติภาพ และสิทธิมนุษยชน ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยและสังคมโลก เช่นเดียวกับที่องค์กรของท่านทั้งหลายต่างก็พยายามทำหน้าที่นี้กันอย่างเต็มที่เช่นกัน

และด้วยเจตนารมณ์ของ JP Thai ที่ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพและเปิดกว้างให้สาธารณชนทั่วไปได้รับรู้และเข้ามามีส่วนร่วมในงานด้านความยุติธรรม สันติภาพ และสิทธิมนุษยชน อย่างกว้างขวางและหลากหลายมากขึ้น เราจึงเห็นว่าช่องทางในการใช้สื่อทางอินเตอร์เน็ตมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเผยแพร่งานและกิจกรรมต่างๆ ของ JP Thai  

 

ด้วยเหตุนี้เราจึงได้จัดทำเว็บไซต์ www.jpthai.org และพยายามพัฒนาทั้งในด้านเนื้อหาสาระและหน้าตาของเว็บไซต์ให้น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนในการเป็นทั้งแหล่งข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนและการนำศาสนธรรมมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างความยุติธรรมและสันติให้เกิดขึ้นในสังคม 

สำหรับเว็บไซต์ของ JP Thai ซึ่งปัจจุบันเป็นภาษาไทย  ขณะนี้เรากำลังพัฒนาและจะเพิ่มให้มีภาคภาษาอังกฤษ ให้ท่านได้ติดตามงานและกิจกรรมต่างๆ ของ JP Thai รวมถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ตลอดจนบทความที่น่าสนใจอื่นๆ 

จึงขอแจ้งให้ท่านทราบว่า นับตั้งแต่ฉบับหน้าเป็นต้นไป ทางเราจะของดการจัดส่ง JP Newsletter ทางไปรษณีย์ 

โดยท่านสามารถเข้าไปอ่านได้จาก www.jpthai.org และหากท่านต้องการให้ทางเราส่ง JP Newsletter ให้ท่านทาง E-mail  กรุณาแจ้งที่อยู่ E-mail ขององค์กรท่านกลับมาที่ jpthai E-mail จักเป็นพระคุณยิ่ง  

ด้วยความเชื่อมั่น
........................



“ประชาธิปไตยไม่ใช่เป้าหมายของผม ประชาธิปไตยเป็นเพียงยานพาหนะ ซึ่งเราไม่สามารถขับรถยนต์โรสรอยซ์เข้าไปแก้ไขปัญหาชาวบ้านในชนบทได้ แต่รถกระบะหรือรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อต่างหากที่จะสามารถทำอย่างนั้นได้ ดังนั้นเราจะต้องคิดให้รอบคอบและเลือกในสิ่งที่เหมาะสม”  พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตรกล่าวไว้เกี่ยวกับการขจัดความยากจน  (น.ส.พ.เดอะเนชั่น วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๖)

พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร กล่าวไว้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๙  เมื่อมีการเรียกรัองให้ลาออกจากตำแหน่ง  ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๙ ( น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๔๙)

บทความเรื่อง การเมืองภาคประชาชน กับภารกิจ ๘ ประการ โดย ศ.นพ.ประเวศ  วะสี  จาก www.manageronline  วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๙  
                      

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >