หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 76 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


สิทธิมนุษยชนกับความผิดของสังคม: มุมมองจากคริสต์ศาสนา พิมพ์
Wednesday, 01 November 2006

สิทธิมนุษยชนกับความผิดของสังคม
: มุมมองจากคริสต์ศาสนา

โดย รศ.ดร. สุวรรณา สถาอานันท์
ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ


พระเยซูมีความหมายมากกว่าการเป็นนักสิทธิมนุษยชนมาก จริงๆ ศาสนาทุกศาสนาเรียกร้องจากศาสนิกชนมากกว่าสิทธิมนุษยชนเรียกร้อง สิทธิมนุษยชนเป็นเงื่อนไขขั้นตํ่าที่สังคมหรือรัฐพึงเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ ไม่ว่าคนนั้นจะเลวร้ายป่าเถื่อนน่ารังเกียจแค่ไหน แต่เข้าใจว่าโจทย์นี้มาจากความกังวลที่คริสตชนน่าจะมีในช่วงนี้ ซึ่งได้ยินข่าวเกี่ยวกับรัฐ ที่จริงๆ แล้วมีหน้าที่ปกป้องสิทธิแต่กลับเป็นผู้ละเมิดสิทธิ ตั้งแต่สุนัขจรจัดจนถึงมนุษย์ที่ถูกกระทำราวกับสุนัขจรจัด ถ้าเช่นนั้นน่าจะพูดเรื่องศาสนากับสิทธิมนุษยชนดีไหม ในหลายๆ กรณีอาจเป็นโจทย์ที่กว้างเกินไป  ก็เลยเข้าใจว่าผู้จัดอยากให้มองไปที่การกระทำบางอย่างของพระเยซูในฐานะมนุษย์  ว่ามีนัยยะต่อการเข้าใจสิทธิมนุษยชนอย่างไร 

เมื่อมองย้อนไปในพระคัมภีร์ มีเรื่องไหนที่โดดเด่นออกมาเวลาเราคิดถึงสิทธิมนุษยชน เรื่องแรกที่เด่นมากคือ พระวรสารนักบุญยอห์นบทที่ 8 เรื่องที่หญิงประเวณีที่กำลังจะถูกลงโทษโดยเอาหินปาให้ตาย อยากเริ่มจากการวิเคราะห์เรื่องหญิงผู้นี้  ซึ่งจะโยงไปสู่เรื่องการให้อภัยพี่น้องเจ็ดครั้งเจ็ดสิบครั้ง  (เจ็ดครั้งคูณด้วยเจ็ดสิบ) (มธ. 18 : 21)  การให้อภัยของพระเยซูที่ถูกตรึงบนไม้กางเขน เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าพวกเขาได้ทำอะไรลงไป  เรื่องของกฏมีไว้รับใช้คนหรือคนมีไว้รับใช้กฏ และประเด็นสุดท้าย เรื่องความรักพระเจ้าและความรักมนุษย์ 

เริ่มที่พระวรสารของนักบุญยอห์นบทที่ 8 “พระเยซูเสด็จขึ้นไปบนภูเขามะกอกเทศ เช้าตรู่วันรุ่งขึ้นพระองค์ก็เสด็จไปยังพระวิหาร มหาชนมาห้อมล้อมพระองค์ พระองค์ประทับลงและสอนพวกเขา ขณะนั้นครูผู้สอนพระธรรบัญญัติ และพวกฟาริสีนำตัวหญิงผู้หนึ่งซึ่งถูกจับได้เนื่องจากกระทำผิดประเวณี เขาให้นางยืนต่อหน้าคนทั้งปวง แล้วเขาฟ้องพระเยซูว่า พระอาจารย์ครับหญิงผู้นี้ถูกจับได้ขณะที่กระทำผิดประเวณี ตามบัญญัติของโมเสสนั้นสั่งให้เอาหินขว้างคนเช่นนี้ถึงตาย ท่านเล่ามีความเห็นเช่นไร  เขาถามเช่นนั้นเพื่อจะลองภูมิพระองค์เพื่อจะได้มีเหตุฟ้องพระองค์ เราจะเห็นได้ว่าเป็นการกล่าวโทษซ้อนการกล่าวโทษ คือเอาเรื่องผู้หญิงเป็นเหตุ จริงๆ แล้วจะหาเรื่องกล่าวโทษพระเยซูไปพร้อมๆ กัน (หมายเหตุของนักบุญยอห์น) พระเยซูใช้นิ้วเขียนบนพื้นดินเล่นเมื่อเห็นพวกเขายังเฝ้าเซ้าซี้ถามพระองค์อยู่ พระองค์ก็ยืดพระกายขึ้นและตรัสกับเขาว่าคนไหนที่ไม่มีบาปให้เขาลงมือขว้างหินก่อน แล้วพระองค์ก็ก้มลงเขียนพื้นดินต่อไป คนเหล่านั้นได้ยินพระองค์ตรัสดังนี้ ก็เลี่ยงหลบไปทีละคนสองคน  ผู้มีอาวุโสหลบไปก่อน เหลือพระเยซูอยู่ตามลำพัง หญิงนั้นยังคงยืนอยู่ที่นั่น พระองค์ทรงยืดกายขึ้นแล้วตรัสกับหญิงนั้นว่า หญิงเอ๋ยพวกนั้นไปไหนหมดเล่าไม่มีใครลงโทษเจ้าดอกหรือ หญิงนั้นทูลพระองค์ว่าไม่มีหรอกเจ้าข้า พระเยซูจึงบอกนางว่า  เราก็ไม่กล่าวโทษเจ้าด้วย จงไปเถิดแล้วอย่าทำบาปอีก 

ดิฉันคิดว่า ประเด็นหลักของเรื่องนี้อยู่ที่ พระเยซูหันการกล่าวโทษที่พุ่งเป้าไปสู่ผู้หญิง แต่กลับพุ่งเป้าไปสู่ผู้กล่าวโทษคือฝูงชน  การที่พระเยซูหันการกล่าวโทษความผิดไปยังฝูงชนเช่นนี้ คล้ายๆ กับว่าทุกคนก็มีความผิดมิใช่หรือ มีใครไหมที่ไม่มีบาป ดิฉันสงสัยต่อไปด้วยว่าการกล่าวโทษกลับไปที่ฝูงชนนี้ ไม่เพียงจะบอกว่า คนทุกคนที่อยู่ตรงนั้น และคนทั่วๆ ไปที่ไม่ได้อยู่ตรงนั้นก็มีความผิดด้วย  ยิ่งกว่านั้น  คนที่อยู่ตรงนั้นทุกคน  มีส่วนทำให้ผู้หญิงคนนี้ผิด ในเรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดส่วนตัวของเธอ แต่คนที่มาล้อมกล่าวโทษนี้ มีส่วนผิดที่ทำให้ผู้หญิงผิดในเรื่องนี้หรือเปล่า แต่ไม่ว่าจะคิดแบบแรกหรือแบบที่สองนี้ ทั้งสองกรณีทำให้การลงโทษครั้งนี้หรือแบบนี้ไม่ชอบธรรมโดยสมบูรณ์ พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงคนนี้ไม่ผิด ตอนจบพระเยซูพูดชัดว่าอย่าทำบาปอีก พระองค์เห็นว่าผิด แต่คำถามที่ใหญ่กว่าคือความผิดจริงๆ อยู่ที่ไหน ความผิดจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่หญิงผู้นี้ทำผิดประเวณีในครั้งนี้ แต่ความผิดอยู่ที่สิ่งที่ใหญ่กว่านี้หรือเปล่าซึ่งได้เกิดก่อนหน้านี้แล้ว  

ดิฉันขอเสนอว่าถ้าเรามองในบริบทปัจจุบัน การที่สังคมหรือรัฐทำหน้าที่ลงโทษผู้กระทำผิดไม่ว่าจะค้ายาบ้าหรืออาวุธอะไรก็แล้วแต่ ถึงแม้ผู้กระทำผิดทำผิดจริง เวลาที่รัฐหรือสังคมพึงจะลงโทษโดยไม่ตระหนักว่าตนเองก็กระทำผิดด้วย ตัวเองก็ไม่ได้บริสุทธิ์ บางครั้งสังคมและรัฐอาจจะฉ้อฉลยิ่งกว่าคนค้ายาเสพติดบางคนก็ได้ ดิฉันไม่ได้บอกว่าการค้ายาเสพติดเป็นสิ่งที่ถูก ตัวอย่างเช่น เด็กติดยาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกรณีเฉพาะต่อหน้า แต่มองย้อนกลับไปก่อนที่เด็กจะติดยาหรือก่อนที่ยาบ้าจะแพร่หลายขนาดนี้ ดิฉันอยากจะตั้งข้อเสนอว่ารัฐและสังคมไทยนี้ไม่ลงทุนกับพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนพอ พื้นที่สาธารณะสำคัญอย่างไร มองในรูปธรรมเช่น พิพิธภัณฑ์ สวน ที่พักผ่อนหย่อนใจที่ไม่เสียเงิน กิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม อะไรที่สร้างสรรค์จินตนาการของคน ตัวอย่างที่รูปธรรมไปกว่านั้นคือ สวนลุมไนท์บาซาร์ โปรเจ็กท์แบบนั้นจริงๆ ตรงนั้นเป็นที่สวยงาม เมื่อโรงเรียนรวมเหล่าย้ายออกไปน่าจะใช้เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมให้คนที่สะอาดอยากมีความสนุกสนานบ้าง หมายถึงคนที่อยากออกจากบ้านโดยไม่ต้องเจออาร์ซีเอหรือยาเสพติด คนที่ออกจากบ้านแล้วอยากมีกิจกรรมอยู่ในที่สร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมบ้าง ไม่ใช่ไปแต่ศูนย์การค้าหรือแหล่ง บันเทิงที่จะทำให้เกิดการเสพยาเสพติดได้ง่าย หรือกรณีมีโครงการหอศิลป์ในกรุงเทพฯ  ศิลปินรวมตัวกันเป็นโครงการใหญ่อยู่แถวพญาไท เขากำหนดสัดส่วนว่าจะใช้พื้นที่ 80 เปอร์เซ็นต์ของคอมเพล็กซ์ เป็นพื้นที่แสดงงานสร้างสรรค์ทางศิลปะ อีก 20 เปอร์เซนต์สำหรับพื้นที่พาณิชย์ พอผู้ว่า  กทม. คนปัจจุบันมารับตำแหน่ง ก็มาทำตัวเลขกลับกันคือ เอา 20เปอร์เซ็นต์เป็นพื้นที่แสดงศิลปะ และ 80 เปอร์เซ็นต์เป็นการค้า สิ่งเหล่านี้ดิฉันเรียกว่าเป็นการ ฉ้อฉลทางจินตนาการ (Corruption of the Imagination) ในแง่ที่ว่ารัฐกับสังคม โดยเฉพาะรัฐได้ขายพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับทุนนิยมไปหมดแล้ว มันไม่มีที่ว่างที่สร้างสรรค์สำหรับเยาวชนหรือสำหรับคนในประเทศไทยหรือคนใกรุงเทพฯ สังคมแบบนี้ที่ไม่มีพื้นที่ทั้งกายภาพและนามธรรม ทำให้คนคิดอะไรไม่ออก ไม่ใฝ่สิ่งซึ่งสร้างสรรค์ กิจกรรมที่สร้างสรรค์อาจจะไม่ได้สตางค์ เขียนบทความปรัชญาได้ 200 บาท ขายยาบ้าได้ 200,000 บาท ใครจะมานั่งเขียนปรัชญาอยู่ นอกจากคนแปลกๆ บางคน   ดิฉันคิดว่าเป็นสิทธิของเยาวชนที่จะใฝ่รู้ แต่กลับไม่มีพื้นที่ที่จะให้เขาได้ใฝ่รู้ โดยไม่เสียสตางค์ และเขาถูกผลักไปทำอย่างอื่นซึ่งไม่สร้างสรรค์และทำลายศักยภาพทั้งสติปัญญา เศรษฐกิจและอื่นๆ พอเกิดเหตุแบบนี้มากๆ รัฐก็ปล่อย เสร็จแล้วมาฆ่าตัดตอนแล้วเกิดปัญหาสิทธิมนุษยชน ถ้าเรามองขบวนการทั้งหมดนี้ ดิฉันอยากจะเสนอว่า ปัญหาสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นก่อนหน้าการฆ่าตัดตอนมานานแล้ว เพราะไปขโมยพื้นที่สาธารณะ ขโมยพื้นที่ทางจินตนาการ ซึ่งเป็นพลังสร้างสรรค์เชิงบวกในประเทศนี้ 

การที่พระเยซูหันการกล่าวโทษกลับไปที่ผู้จะมาลงโทษ เป็นการมองที่เหตุซึ่งมาก่อนการทำผิดประเวณีครั้งนี้ของหญิง มุมที่สองที่อยากจะมองคือ สัมพันธภาพระหว่างเพศ ในกรณีนี้ในคัมภีร์ไม่ได้ให้เบาะแสว่า ชู้ของหญิงคนนั้นอยู่ในฝูงชนหรือเปล่า เผลอๆ อาจจะอยู่ก็ได้ ความหน้าไหว้หลังหลอกของการละเมิดทางเพศเป็นที่ปรากฎในทุกสังคม ไม่ใช่เฉพาะสังคมไทย หญิงที่ทำผิดทางเพศหรือให้บริการถือเป็นคนชั่วสกปรก แต่ผู้ใช้บริการเป็นผู้สะอาดบริสุทธิ์น่าเคารพเป็นธรรมชาติชายอย่างนี้เป็นต้น เรื่องธรรมชาติกับธรรมดาเป็นคนละเรื่องกัน การที่พระเยซูหันกลับไปกล่าวโทษผู้ที่มากล่าวโทษ ในเรื่องนี้มีนัยยะที่ชี้ไปที่ปัญหาสัมพันธภาพทางเพศในสังคมด้วย สังคมซึ่งชายเป็นใหญ่นี้มักจะลงโทษผู้หญิงที่ละเมิดกฎสังคม แต่การละเมิดทุกครั้งจะมีผู้ชายร่วมด้วยไม่ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์นอกสมรส ไม่ว่าจะเป็นการขายบริการ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมประเวณี ทุกเรื่องจะมีคู่กรณี แต่สังคมจะใช้คนละมาตรฐานต่างจากเพศชายเสมอ หรือเกือบจะเสมอทุกครั้งไป อยากจะเล่าเรื่องเล็กๆ จากประสบการณ์ในครอบครัว  มีหลานอายุ 7 ขวบนั่งกินข้าวอยู่ แม่เขาเล่าให้ลูกคนนี้ฟังว่า แม่ใจร้ายเอาทารกไปทิ้งขยะ หลาน 7 ขวบก็ว่าแม่ใจร้าย แต่เบื้องหลังแม่ใจร้ายนี้ มีผู้ชายที่ไม่รับผิดชอบ ภาพของผู้ชายที่ไม่รับผิดชอบ ไม่ปรากฎในสื่อในสังคมเหมือนกับคนที่เอาถุงนั้นไปทิ้ง มีคนทำวิจัยว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่ไปใช้บริการการทำแท้งนั้น มาจากผู้ชายบอกให้ไปทำแท้ง แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่อยากไป อีกกรณีหนึ่ง พี่ของเด็ก 7 ขวบคนดังกล่าว นั่งฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับเฮเลนของกรุงทรอย ที่เป็นคนที่สวยงามมาก และเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งกัน จนนำไปสู่สงครามกรุง ทรอยในยุคกรีกโบราณ หลานคนนี้อายุ 10 ขวบ สรุปทันทีว่า ผู้หญิงคนเดียวนี้นะทำให้เกิดสงครามได้ขนาดนั้น  ดิฉันก็ต้องบอกเด็กว่าควรคิดให้ดีๆ ว่าใครก่อสงคราม ผู้หญิงเกิดมาสวยแล้วจะให้เขาทำอย่างไร เหตุก่อสงครามมาจากใครกันแน่ สังคมกลับไม่ค่อยถามคำถามจากแง่มุมนี้ ดิฉันอยากจะพูดอย่างนี้ว่า ลองใคร่ครวญให้ดี การที่พระเยซูพลิกสถานการณ์การกล่าวโทษ กลับไปหาต้นตอของปัญหาซึ่งก็คือตัวสังคมเอง สังคมในที่นี้เป็นสังคมที่ทำตัวเป็นฝูงชนมากล่าวโทษ มาลงโทษ แต่ไม่ได้รวมตัวมาสร้างสรรค์สังคม แต่มารวมตัวกันเพื่อมาลงโทษคนๆ หนึ่งที่ทำผิดในเรื่องแบบนี้ 

ประเด็นที่สามที่อยากจะวิเคราะห์คือ ยุทธวิธีของพระเยซู พระองค์ท้าทายการกล่าวโทษผู้ที่กล่าวโทษกลับไปสู่ฝูงชน ทำให้ไม่มีใครกล้าปาหินก้อนแรก การที่พระเยซูบีบคนตรงนั้นโดยสถานการณ์ ให้แสดงตนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ต่อหน้าสังคม การตั้งโจทย์ว่าคนไหนที่ไม่มีบาป จริงๆ แล้วเป็นโจทย์ที่เป็นไปไม่ได้สำหรับมนุษย์   ไม่มีใครกล้าอ้างได้ว่าไม่เคยทำบาป ประโยคนี้เป็นสิ่งที่ Humanly Impossible พระเยซูชนะแน่ ยกเว้นคนที่หน้าหนามากๆ  ดิฉันยังเคยสงสัยว่าถ้ามีคนหน้าหนามากๆ พระเยซูจะตอบว่าอย่างไร ผลที่เกิดขึ้นคือคนที่พุ่งเป้าความผิดไปยังผู้อื่น จะถูกบีบให้มาพุ่งเป้าพิจารณาตนเอง ตัวเองก็ผิดด้วยเหมือนกัน ตรงนี้เป็นการกล่าวโทษซ้อน   อีกเรื่องหนึ่งจากข้อความในหมายเหตุของนักบุญยอห์นซึ่งบอกว่า พวกฟาริสีถามเรื่องนี้ เพื่อเป็นกับดักสำหรับกล่าวโทษพระเยซู ถ้าเราคิดตรงนี้แปลว่าคนพวกนี้จะเอาเรื่องผู้หญิงผิดประเวณี  แต่อันที่จริงจะมากล่าวโทษพระเยซู  และการที่พระเยซูทำอย่างนั้นต่อผู้หญิงคนนี้ ก็เป็นการกล่าวโทษคนที่กล่าวโทษพระเยซูไปด้วย ในแง่หนึ่งพระเยซูกำลังถูกกระทำเช่นเดียวกับผู้หญิงที่ผิดประเวณีคนนี้ และพระองค์ท้าทายวิธีมองโทษกลับไปที่ฝูงชน ก็เป็นการท้าทายการมองความผิด กลับไปยังคนที่ทำกับดักนี้ เพื่อจะมากล่าวโทษพระเยซูเช่นกัน  

ประเด็นสุดท้ายที่คิดว่าพระเยซูน่ารักก็คือ ถึงแม้จะถูกท้าทายอย่างรุนแรงขนาดนี้ แต่พระเยซูเมตตาคือไม่ไปยืนจ้องหน้าแต่ทำเป็นเขี่ยดิน คือเปิดโอกาสให้คนสำนึกผิดเองแล้วหลบไป ไม่ไปทำท่าขึงขังชี้หน้า ปล่อยให้มโนธรรมทำกับเขาเอง  

ดิฉันเห็นว่าคำถามต่อไปนี้ที่สำคัญคือ สิทธิมนุษยชนชนิดที่พระเยซูกำลังปกป้องกับหญิงคนนี้เป็นสิทธิแบบไหน ถ้าเราจะบอกว่าตัวอย่างเรื่องนี้เป็นตัวอย่างของการปกป้องสิทธิมนุษยชนก็น่าจะถามว่าเป็นสิทธิแบบไหน หนึ่งไม่ใช่สิทธิที่จะไม่ถูกลงโทษเมื่อทำผิด พระเยซูไม่ได้บอกว่าหญิงคนนี้ไม่ผิด แต่ความผิดของเธอกับความผิดของผู้จะลงโทษเธอ พระเยซูกำลังถามว่าใครผิดมากกว่ากัน อันที่สองสิทธิที่ผู้หญิงคนนี้ได้นั้นในแง่สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิแบบไหน เป็นสิทธิที่ไม่ถูกลงโทษจากสังคมที่ทำตัวเป็นฝูงชน ตรงนี้เราไม่ชัดว่าที่บอกว่าถูกจับได้ตอนกำลังร่วมประเวณีนั้นน่าเชื่อถือแค่ไหน กระบวนการไต่สวนยุติธรรมมีหรือเปล่าก่อนที่จะมาถูกลงโทษ การอ้างกฎของโมเสสที่กำลังจะอ้างต่อไป หรือมีวิธีอื่นที่ไม่ต้องเอาหินขว้างได้ไหม ประเด็นมันอยู่ตรงไหน มันเป็นไปได้ทั้งสิ้นในแง่กระบวนการพิสูจน์หรือในแง่วิธีการลงโทษ ตรงนี้ไม่ชัด แต่ที่ชัดคือ การลงโทษจากสังคมไม่ควรเป็นลักษณะของฝูงชน นี้คือสิทธิที่พระเยซูให้แก่ผู้หญิงนี้ อันที่สามคือสิทธิที่จะได้รับการอภัยจากสังคมที่ไม่สมบูรณ์พร้อม ตัวสังคมเองถ้ายอมรับความผิดของตนเอง ย่อมไม่มีสิทธิอันชอบธรรมโดยสมบูรณ์ ที่จะลงโทษผู้หญิงคนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลักษณะที่เป็นฝูงชน และประการที่สี่ สิทธิที่ใหญ่กว่านั้น ดิฉันคิดว่าเป็น  นัยยะคือ สิทธิที่จะได้รับความเอื้ออาทรจากสังคม สิทธิที่ได้รับความรักความเอาใจใส่จาสังคม ซึ่งตรงนี้ดิฉันว่าเกินขอบข่ายของสิทธิมนุษยชนที่เข้าใจกันในปัจจุบัน  

พอวิเคราะห์เรื่องนี้เสร็จดิฉันขอโยงไปสู่สองสามประเด็น ประเด็นแรก จากการเข้าใจพระวรสารของนักบุญยอห์นบทที่ 8  ตรงนี้ดิฉันคิดว่าเกี่ยวเนื่องกับเรื่องการให้อภัยพี่น้อง และการที่พระเยซูให้อภัยผู้ที่ตรึงกางเขนพระองค์เอง สองเรื่องนี้มีความหมายเชื่อมโยงกัน ดิฉันมองว่าสังคมมนุษย์ไม่เข้มแข็งทางศีลธรรมพอที่จะปกป้องคนคนเดียว ที่เทววิทยาศาสนาคริสต์บอกว่าบริสุทธิ์คือพระเยซู  คือสังคมมนุษย์เองไม่เข้มแข็งพอที่จะปกป้องพระเยซู พระเยซูจึงถูกตรึงกางเขน แต่แม้ถึงจุดนั้นพระเยซูยังให้อภัยคนและสังคมที่มีความอ่อนแอทางศีลธรรมขนาดนั้น  ถ้าคิดแบบนี้ ดิฉันคิดว่าสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์คิดออก เป็นสิทธิมนุษยชนที่มีรากฐานมาจากแนวคิดเรื่องสิทธิคือเรื่อง Rights ซึ่งเป็นรากของสิทธิมนุษยชนที่เรารับมา แต่สิทธิมนุษยชนที่พระเยซูมอบให้ เป็นสิทธิมนุษยชนที่มีรากฐานในเรื่องความรัก ไม่ใช่สิทธิในเรื่องปัจเจก ดิฉันคิดว่าเป็นฐานที่กว้างกว่าสิทธิมนุษยชนชนิดที่เรารับมาจากอารยธรรมสากลหรือตะวันตก ประเด็นถัดมาคือเรื่องการเคารพกฎ พระเยซูถามว่า เราควรเคารพกฎหรือเราควรเคารพมนุษย์ เราควรจะเอาสิ่งไหนรับใช้สิ่งไหนกันแน่ สังคมอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีกฎ ตรงนั้นพระเยซูคงไม่ปฏิเสธ แต่เราอาจจะถามพระเยซูก็ได้ว่า จากเรื่องเมื่อสักครู่นี้ พระเยซูละเมิดกฎที่ไม่ให้ผู้หญิงถูกทำร้าย ถ้าเรามัวแต่ให้อภัยคนละเมิดกฎ สังคมจะยุติธรรมได้รึเปล่า ตาต่อตาฟันต่อฟันไม่ดีกว่าหรือ กฎหมายสมัยกษัตริย์ฮัมมูราบีไม่ดีกว่าหรือ คำถามมีมากมายว่า เราควรให้อภัยคนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนคนอื่นรึเปล่า ถามว่าการที่พระเยซูหยุดการปาก้อนหินของฝูงชนนั้น พระองค์ละเมิดกฎของโมเสสหรือเปล่า ในแง่หนึ่งใช่ แต่ใช่หมายถึง การหยุดใช้กฎเมื่อการใช้กฎนั้นละเมิดสิทธิการได้ความรักหรือการให้อภัยจากสังคมที่ไม่สมบูรณ์ ตรงนั้นคือจุดที่จะต้องหยุดใช้กฎ ไม่ได้ให้ละเมิดกฎในทุกข้อ เพราะกฎมีไว้เกื้อหนุนสังคมให้เอื้ออาทรต่อกัน กฎไม่ได้มีไว้ให้ทำลายมนุษย์ และเมื่อกฎบางชนิดถูกใช้เพื่อทำลายมนุษย์  ก็ต้องหยุดใช้  

มาสู่ประเด็นสุดท้ายว่า ถามต่อไปว่าถ้ากฎมาจากไหน ทำไมเราต้องเชื่อกฎด้วย ต้องถามต่อไปด้วยว่า กฎเอื้อต่อการพัฒนาอะไร เราไม่ได้รักกฎเพราะว่ามันเป็นกฎ ในบัญญัติเอกของศาสนาคริสต์ ที่สอนให้รักพระเจ้าสุดจิตใจ และให้รักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง รักพระเจ้าหมายถึงอะไร ดิฉันคิดว่าการรักพระเจ้า หมายถึงรักที่จะหาพระเจ้า การรักที่จะหาพระเจ้าคืออะไร คือการหาสิ่งที่ดีกว่า ที่สมบูรณ์กว่าเท่าที่มนุษย์จะทำได้ ถ้าเราไม่รักหรือศรัทธาในความดีงาม มันยากมากที่จะให้อภัยมนุษย์ เราจะเห็นแต่ผงเล็กๆ หรือความไม่ดีในลูกตาคนอื่นตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ความไม่ดีของตนเหมือนท่อนซุง ถ้าเราไม่ศรัทธาในความดีงาม ถ้าเราไม่รักความดีงาม ความดีงามที่หาไม่ได้ในหมู่มนุษย์เลย ต้องหาสิ่งนี้ในพระเจ้า ถ้าเราไม่รักที่จะหาตรงนี้ ดิฉันคิดว่ายากมากที่จะรักมนุษย์ ฉะนั้นการรักพระเจ้ากับรักมนุษย์จึงเกี่ยวกันตรงนี้ มันง่ายมากที่เราเห็นความชั่วของคนอื่น บางคนมีอัตตาสูงมาก แล้วยังไม่ค่อยรู้ตัว มันรักไม่ลงจริงๆ ถ้าเรารักมนุษย์ไม่ได้ เราก็จะมีชีวิตที่มีความสุขได้ยาก ยกเว้นเป็นพระอรหันต์ ทั้งหมดนี้มีนัยยะอะไร ในเรื่องสิทธิมนุษยชนจากแง่มุมที่พระเยซูกระทำ ดิฉันคิดว่าเป็นสิทธิมนุษยชนซึ่งมีพื้นฐานจากความรักที่ห่อหุ้มด้วยความรักที่จะสร้างสังคมที่อบอุ่น เอื้ออาทร ไม่ใช่สังคมที่ทำตัวเป็นฝูงชนคอยคาโทษหรือลงโทษอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นฆ่าตัดตอน ไม่ว่าจะเป็นโทษประหาร โดยการอ้างกฎหรืออ้างระเบียบสังคม แต่สังคมหรือรัฐไม่ส่องกระจกตนเองเลย ว่าตนเองได้ฉ้อฉลเชิงจินตนาการได้ทำลายพลังสร้างสรรค์ของประชากรไปแค่ไหน เสร็จแล้วไปไล่ชาวบ้าน ไปฆ่าตัดตอน ก็ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไปอีก

ฉะนั้นโดยสรุป บทเรียนเชิงสิทธิมนุษยชนของพระเยซูคืออะไร หนึ่งคือการมองว่าความผิดของปัจเจกบุคคลของแต่ละคนเป็นกระบวนการเดียวกับความผิดเชิงโครงสร้างของสังคม ไม่ได้มองเฉพาะกรณีใดกรณีหนึ่งแต่มองไปที่ที่มาของการกระทำผิดในครั้งนี้ด้วย อันที่สอง เป็นการตั้งข้อวิพากษ์วิจารณ์กับกลไก วิธีการ หรือขั้นตอนการลงโทษ ต้องไม่ทำเยี่ยงฝูงชน สังคมต้องหาวิธีที่ดีกว่านี้ แต่สังคมไม่ได้รวมกันคิดสิ่งที่สร้างสรรค์ กลับมารวมตัวกันเพื่อทำสิ่งเหล่านี้ ประการที่สาม การละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เพียงมาละเมิดตอนที่เขาทำผิดแล้ว เช่นเขาทำไม่ดีแล้วมาลงโทษเขา แต่รัฐและสังคมได้ละเมิดสิทธิในชีวิตที่สร้างสรรค์ของประชาชนตั้งแต่ต้นหรือเปล่า ทีนี้ถ้ามองแบบนี้กิจกรรมการกุศล สังคมสงเคราะห์ งานสร้างสรรค์ประชาธิปไตย งานอื่นๆ ในแง่หนึ่งเป็นงานป้องกันสิทธิมนุษยชนในเชิงบวก เป็นการลงทุนต่อขบวนการในสังคม ที่จะไม่นำสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในตอนหลัง ประการที่สี่ สิทธิของปัจเจกบุคคลเป็นผลมาจากความรัก สิทธิมนุษยชนไม่ได้มาจากปัจเจกของทฤษฎีสิทธิเสรีนิยมทางตะวันตกสมัยใหม่บางสำนัก  ที่ค่อนข้างแข็งกระด้าง และเกิดจากความไม่ไว้วางใจระหว่างมนุษย์และมนุษย์กับรัฐ มากกว่าความรักแลการพยายามให้อภัย ดิฉันคิดว่าศาสนาคริสต์สามารถช่วยให้สิทธิมนุษยชนสากลละมุนละไม เอื้ออาทรมากขึ้น และประการสุดท้าย สิทธิมนุษยชนที่ศาสนาคริสต์จะให้ได้แก่สังคมโลก น่าจะรวมถึงสิทธิที่จะได้รับการอภัย เพราะสังคมทั้งสังคมมีส่วนผิด มีส่วนรับรู้ มีส่วนร่วมในกระบวนการที่ปล่อยให้มีการทำผิดเหล่านี้  


หมายเหตุ: ถอดความจากงานเสวนาเรื่อง การฟื้นคืนศักดิ์ศรีมนุษย์เนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนในพระศาสนจักรไทย เมื่อวันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2546

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >