หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 44 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


รู้ทัน “FTA” (ของ รัฐบาลนายกฯ) ทักษิณ พิมพ์
Monday, 30 October 2006


รู้ทัน “FTA” (ของ รัฐบาลนายกฯ) ทักษิณ

ธัญลักษณ์  นวลักษณกวี : สัมภาษณ์


คุณบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ นับตั้งแต่รัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ประกาศเดินหน้าจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือ Free Trade Agreement (FTA) กับประเทศต่างๆ ตั้งแต่ปลายปี 2546 เป็นต้นมา และมีนโยบายว่าทุกเอฟทีเอที่ประเทศไทยเจรจาจะต้องปิดให้ได้ภายในปี 2547 นี้ สร้างความห่วงใยให้กับกลุ่มนักวิชาการไทยที่กังวลถึงผลกระทบในทางลบจากการทำเอฟทีเอซึ่งจะมีต่อประเทศชาติและประชาชน โดยเฉพาะการทำเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกา  ดังที่นักวิชาการท่านหนึ่งกล่าวว่า รัฐบาลเลือกใช้วิธี ขึ้นรถไฟไปตายเอาดาบหน้า  ผู้ไถ่ เห็นว่าประชาชนควรได้รับรู้ข้อมูลการทำเอฟทีเอของรัฐบาลไทยในอีกแง่มุมหนึ่งจากผู้ที่ศึกษาติดตามการจัดทำเอฟทีเอของรัฐบาลอย่างเกาะติดสถานการณ์ เพื่อให้เราได้ รู้ทัน FTA ผ่านบทสัมภาษณ์  คุณบัณฑูร  เศรษฐศิโรตม์  ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา  และสมาชิกกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรี ภาคประชาชน (FTA Watch)

ผู้ไถ่ : ทำไมกลุ่ม FTA Watch  ถึงออกมาคัดค้านการทำ FTA

คุณบัณฑูร : เราติดตามศึกษา บางประเด็นก็ค้าน บางประเด็นก็เห็นว่าอาจจะเป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นไม่ได้เป็นเรื่องของการตั้งหลักว่าจะต้องค้าน แต่ประเด็นคือ หนึ่ง ในเรื่องกระบวนการ การเจรจาของรัฐบาลมีกระบวนการที่ไม่ได้เปิดกว้างให้เกิดความเชื่อมั่นว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะเป็นผลประโยชน์ต่อประเทศชาติจริง สอง ในแง่ของเนื้อหา เท่าที่ได้มีโอกาสดูหลายเรื่อง เป็นเรื่องที่มองไม่เห็นว่าในมุมไหนที่เราจะได้ประโยชน์จากตรงนั้น เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องสิทธิบัตรยาที่จะขยายอายุการคุ้มครอง เรื่องการขยายสิทธิบัตรมายังสิ่งมีชีวิต เพราะฉะนั้นในแง่กระบวนการเราเห็นว่าเป็นปัญหา ในแง่เนื้อหาก็มีส่วนน่าสงสัยอยู่เยอะ แล้วไม่มีกระบวนการตอบคำถามว่าปัญหาเหล่านี้อธิบายให้กับสังคมได้ทราบถึงเหตุผลของการเร่งทำเอฟทีเอว่าเป็นอย่างไร


ผู้ไถ่ : จากการติดตามศึกษา ประเมินว่าผลดี
ผลเสียที่ไทยจะได้รับจากการทำเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ เป็นอย่างไร

คุณบัณฑูร : ตอนนี้ประเทศไทยทำเอฟทีเอเปิดกว้างไว้เยอะมาก เกือบจะครบ 10 ประเทศแล้ว เนื้อหาของเอฟทีเอ จะมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างกรณีของออสเตรเลีย วันนี้ที่เห็นหน้าตาของตัวร่างมีเกือบ 21 บท ตั้งแต่เรื่องเกษตร การค้า บริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องลดภาษี นี่เป็นปัญหาหนึ่งว่าสังคมและภาครัฐเองมักจะหยิบยกประเด็นเอฟทีเอมาเป็นเหมือนกับว่าเป็นการลดภาษีทำให้การส่งออกสินค้าระหว่างกันง่ายขึ้นไม่มีอุปสรรค แต่ในความเป็นจริงเนื้อหาของเอฟทีเอมีมากกว่าเรื่องการปรับลดภาษี เพราะฉะนั้นถามว่าผลกระทบมันเป็นอย่างไร ก็ต้องว่ากันทีละหัวข้อเลย เรื่องการลงทุนจะมีปัญหาอะไร เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาจะมีอะไร เกษตรมีปัญหาอะไร

ยกตัวอย่างคือ เรื่องเกษตร เมื่อปรับลดภาษีของทั้งสองฝ่าย สินค้าของประเทศคู่ค้าที่ทำเอฟทีเอกับเรา ซึ่งเขามีตลาดในบ้านเรานี่แน่นอนเมื่อกำแพงภาษีมันหมดไปปริมาณก็จะเข้ามามากขึ้น ก็จะกระทบกับเกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดนั้นอยู่ ถ้าแข่งไม่ได้ปัญหาก็คือเขาจะไปอยู่ที่ไหนในระบบการผลิต รัฐบาลเตรียมแผนการรองรับเขาไว้อย่างไร ข้ามไปถึงปัญหากรณีไทย จีน ซึ่งตอนนี้เอฟทีเอไทย จีน ปัจจุบันที่ทำเป็นเรื่องปรับลดภาษีเป็นหลัก ปัญหาที่ปรากฏให้เห็นวันนี้ก็คือสินค้าผักผลไม้จีนทะลักเข้ามา ในมุมของผู้บริโภคก็อาจมองว่าได้ผลไม้ผักราคาถูกลง ทั้ง หัวหอม กระเทียม แอปเปิ้ล สาลี่ ลิ้นจี่ แต่ในปัญหาระยะยาว เกษตรกรที่ปลูกพืชพวกนี้เพื่อเป็นพืชอาหาร เขาแข่งไม่ได้เพราะราคาทางนั้นถูกกว่าก็เลิกการผลิตไปแต่ปัญหาคือ เขาไปไหน เขาเป็นคนในสังคม ถ้าเขาปลูกพืชชนิดอื่นที่แข่งขันได้แต่พืชนั้นไม่ใช่พืชอาหาร ปัญหาในอนาคตที่ต้องตั้งคำถามคือ ความมั่นคงทางอาหารในระยะยาวของประเทศมันจะกระทบหรือไม่ ถ้าพืชอาหารจำนวนมากเราไม่ปลูกเพราะบอกว่าแข่งไม่ได้ สู้ราคาไม่ได้ เราก็ไปปลูกพืชอื่นที่ไม่ใช่พืชอาหารอันนั้นคือปัญหาในทางเกษตร

เรื่องใหญ่อีกเรื่องคือ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ถ้าเราทำกับประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงเขาก็จะเรียกร้องให้เรายกระดับการคุ้มครองให้เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งร่างของทั้งอเมริกาและออสเตรเลียจะเป็นไปทางนั้น ปัญหาก็คือ ผลที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค ถ้ายาจากเดิมอายุการคุ้มครอง 20 ปี ถูกขยายเป็น 25 ปี ผู้ป่วยที่ต้องการเข้าถึงยาก็มีปัญหาต้นทุนของราคายา  การขยายเรื่องสิทธิบัตรมายังพันธุ์พืช ปัญหาที่ตามมาก็คือต้นทุนของพันธุ์พืชที่เกษตรกรต้องใช้ เรื่องการจะเก็บพืชที่มีสิทธิบัตรไว้ใช้ก็ทำไม่ได้เพราะต้องทำสัญญาขอซื้อในทุกปี ฉะนั้นวัฒนธรรมเดิมที่เกษตรกรเก็บไว้เพื่อแลกกับเพื่อนบ้านและมีการคัดพันธุ์เพื่อปรับปรุงพันธุ์ตรงนี้ก็กระทบ นี่คือปัญหาที่หยิบยกมา ซึ่งแต่ละเรื่องก็จะเยอะมาก ลงทุนก็แบบหนึ่ง บริการก็อีกแบบหนึ่ง


ผู้ไถ่ : กรณีจีนเรื่องผักผลไม้ ที่รัฐบอกว่าต่อไปเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ผลไม้ไทยจะส่งออกได้มาก คิดว่าเป็นไปได้หรือไม่

คุณบัณฑูร : มันก็มีประเด็นอย่างนั้นจริง ซึ่งการที่จะทำให้เกิดตรงนั้นได้ต้องไปจัดการเรื่องกติกา สุขอนามัยต้องไปดูว่าแก้ปัญหาตรงนี้ได้หรือเปล่า รวมทั้งเรื่องขั้นตอนทางศุลกากรเวลาผ่านว่าจะทำให้เกิดการไหลสะดวกหรือไม่ มีข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า ผักผลไม้ของไทยที่จะออกมาแล้วเข้าไปจีน จีนเองก็เริ่มปลูกผลไม้เหล่านี้อยู่บ้างเหมือนกัน ตามที่ได้ข้อมูลและมีการยืนยันเมื่อครั้งที่คณะกรรมาธิการฯ เชิญผู้ประกอบการมาหารือ คือ เรื่องลำไย จีนเองก็ปลูกเยอะ ปัญหาที่แต่เดิมเราคิดว่าจะไม่เกิดก็คือ ผลผลิตออกมาคนละฤดูกาลนี่ไม่ใช่ เพราะบางปีการเปลี่ยนแปลงเรื่องสภาพอากาศก็ทำให้ผลผลิตที่ออกมาแทบจะเป็นช่วงเดียวกันเลย ฉะนั้นความหวังที่จะส่งผลไม้ไทยไปจีนก็มีบางชนิดของผลไม้ที่ไม่เป็นแบบที่เราคาดหวัง แต่กรณีบางชนิดที่เขาไม่ปลูก เช่น มังคุด เงาะ คงต้องรอดู 


ผู้ไถ่ : กับประเทศที่เราเริ่มไปเจรจาแล้ว เช่น อินเดีย บาห์เรน คิดว่ามีปัญหาอะไรไหม

คุณบัณฑูร : อินเดีย ยังเป็นหมวดปรับลดภาษีเป็นหลัก ถ้าเป็นประเทศที่ความสามารถในการแข่งขันไม่ต่างกันมากก็แข่งกันพอไหว ถ้าเปรียบเทียบระหว่างผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอินเดียกับผลกระทบที่ไทยไปทำกับอเมริกาและออสเตรเลียแล้ว ผมว่ามันต่างกันเยอะ ตอนนี้อินเดีย สภาพความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ทางเทคโนโลยี พอสู้กันไหว ขณะนี้ยังไม่เห็นประเด็นใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเอเชียด้วยกัน


ผู้ไถ่ : คิดว่าทำไมรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ถึงเลือกทำเอฟทีเอกับบางประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ

คุณบัณฑูร : ต้องบอกว่ารัฐบาลนี้ทำเอฟทีเอไม่น้อย ตอนนี้ถ้าไล่กันเกือบทุกทวีป อินเดีย จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และกำลังจะเปิดกับนิวซีแลนด์ และทางแอฟริกา ประเด็นอยู่ที่ว่า ทำไมต้องตัดสินใจทำเอฟทีเอ และทำไมต้องเลือกทำกับประเทศเหล่านี้  คำอธิบายใหญ่ๆ ขณะนี้ก็คือ ทุกคนห่วงว่าถ้าไปเจรจาใน WTO ซึ่งมีหลายประเทศ ประมาณ 149 ประเทศ  การเจรจาวุ่นวายมากและช้า เพราะฉะนั้นถ้ามาเจรจาแบบคู่ จะตกลงกันได้เร็วกว่า อันนี้ก็เป็นแนวคิด Economy of Speed ของนายกฯ ที่ชอบใช้อยู่ว่า ไปได้เร็ว นี่คือการอธิบายทางมุมฝ่ายรัฐบาล  ถ้าวันนี้ไม่เปลี่ยน รัฐบาลก็บอกว่า มันก็ต้องถูกเปลี่ยนอยู่ดีโดยกติกาของ WTO (World Trade Organization) นอกจากนี้ เราจะได้ประโยชน์จากการเข้าไปทำการเจรจากับพวกตลาดใหญ่ที่มีจำนวนคนเยอะ เช่น จีน อเมริกา นี่คือข้ออธิบายจากทางรัฐบาล ซึ่งมีข้อโต้แย้งได้ทั้งหมดเลยในเหตุผลนั้นๆ ซึ่งอย่างที่บอกแต่แรกว่าไม่มีการอธิบายเรื่องพวกนี้ให้ชัดเจนนักว่าทำไมต้องไปเลือกบางประเทศ บางทีก็มีลักษณะของการที่เราเองก็ไม่ได้เป็นคนเลือก เราเองก็ถูกเลือกเหมือนกัน อย่างกรณีอเมริกา เขาเริ่มเจาะมาทำกับสิงคโปร์เป็นชาติแรกในเอเชีย แล้วก็บอกว่าจะใช้ต้นแบบของสิงคโปร์เป็นต้นแบบที่จะทำกับเอเชียทุกประเทศ ใครไม่อยากทำดูจากสิงคโปร์แล้วก็ถอยออกไป ไทยบอกว่าไทยพร้อมจะทำ นั่นก็หมายความว่า เราเองก็ตัดสินใจเลือก

เรื่องเอฟทีเอนี่ ผมว่า ไม่ใช่เรื่องทางเศรษฐศาสตร์อย่างเดียว มันเป็นเรื่องของการเลือกความสัมพันธ์ทางการเมือง คือ ถ้าจะทำกับประเทศไหนก็มีความสัมพันธ์ มีเหตุผลทางการเมืองเบื้องหลัง อเมริกาเองก็เลือกทำกับบางประเทศ บางประเทศที่ไม่ได้เป็นจุดยุทธศาสตร์ อเมริกาก็ไม่เลือกทำ เป็นเหตุผลของทางอเมริกา แต่ของไทย วันนี้เราก็ถามกันอยู่หลายเหตุผลว่าทำไมต้องเลือกทำกับประเทศนี้ และทำไมต้องทำพร้อมๆ กัน ในจำนวนมากขนาดนี้ เพราะว่าการทำพร้อมกันขนาดนี้เป็นการบริหารโดยต้นทุนที่มหาศาล รัฐบาลมีคนไม่มากนักที่มีความเชี่ยวชาญไปต่อรองทีเดียวพร้อมๆ กัน เปิดรอบตัว 360 องศา ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่ดีนัก คิดว่าเหตุผลของการทำมันมีมากกว่านั้นที่ซ่อนอยู่


ผู้ไถ่ : แล้วคิดว่าทำไมรัฐบาลถึงพร้อมที่จะเข้าไปทำเอฟทีเอกับอเมริกา ทั้งๆ ที่เขาก็มีการปกป้องผลประโยชน์ในประเทศ  ไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการทำเอฟทีเอกับอเมริกา

คุณบัณฑูร : เราคาดหวังว่าผลจากการทำเอฟทีเอกับอเมริกาจะทำให้การคุ้มครองการอุดหนุนของเขาลดลง เช่น กรณีเรื่องเกษตร อเมริกาออกกฎหมายการเกษตรเรียกว่า ฟาร์มบิล (Farm Bill)  สำหรับให้การอุดหนุนคุ้มครองเกษตรกรของเขา ซึ่งออกมาปี ค.ศ.2001 และจะต่อเนื่องไปอีก 6 ปี ซึ่งปริมาณเงินอุดหนุนตามกฎหมายสูงมากถึง 17 พันล้านเหรียญ พอเราเจรจาเอฟทีเอเราก็คาดหวังว่าประโยชน์ที่ได้รับอย่างหนึ่งคือ มันจะมีผลทำให้ Non – Tariff Barrier (กฎเกณฑ์กีดกันการค้าและบริการ) มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีทั้งหลายลดลง หวังว่าการอุดหนุนจะลดลงไป ซึ่งในความเป็นจริงนักวิชาการก็ไม่เชื่อว่าจะลดได้เพราะ หนึ่ง มันเป็นนโยบายทางการเมือง การคุ้มครองภาคเกษตรสหรัฐฯ การที่เขาจะมาลดตรงนี้มีผลกระทบต่อเสียงทางการเมืองของเขา และสอง เป็นกฎหมายในประเทศ ซึ่งผูกพันกันไว้แล้วอย่างน้อย 6 ปี ต่อจาก 6 ปี อาจจะทำอีกก็ได้ซึ่งประวัติศาสตร์กฎหมายสหรัฐฯ ทำกันมาร่วม 100 ปีแล้ว ฉบับล่าสุดนั้นไม่ใช่ฉบับแรก และก็ปรับไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นหมดจาก 6 ปี ก็ไม่คิดว่ามันจะหายไป เท่ากับว่าสิ่งที่เราคาดหวังว่าจะไปลดการอุดหนุนก็ไม่น่าเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นจริง ความคาดหวังว่าเราจะส่งสินค้าออกไปได้มากขึ้นเพราะภาษีลดลงแล้วไปแข่งได้นี่ ก็มีปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกอยู่เพราะภาคเกษตรของเขาแข่งได้ด้วยต้นทุนที่ไม่เป็นจริงเพราะรัฐบาลเขาอุดหนุน


ผู้ไถ่ : ถ้าอย่างนั้น การเจรจาอย่างไรจึงจะทำให้ไทยเสียเปรียบน้อยที่สุดหรือสู้กับเขาได้

คุณบัณฑูร : หนึ่ง เราต้องเตรียมความพร้อมให้ดีกว่านี้ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องความรู้ เรื่องข้อมูล ไม่ใช่ลักษณะเจรจาไปทำไปซึ่งปัจจุบันเป็นลักษณะนั้น คือ ระหว่างเจรจาก็มีการศึกษาตามไปด้วย ตรงนี้เป็นปัญหาจุดอ่อนใหญ่อันหนึ่งคือเราไม่มีความรู้ในเรื่องที่เราเจรจาอย่างดีพอ แล้วก็เตรียมลู่ทางยุทธศาสตร์ข้อต่อรองไว้อย่างดีพอโดยที่มีงานศึกษารองรับ ถ้าจะให้เราได้ประโยชน์ต้องเตรียมตรงนี้ให้มากขึ้นหรือให้เราเสียเปรียบน้อยลงก็ต้องทำตรงนี้ให้มากขึ้นในเรื่องของความรู้

สอง เรื่องกระบวนการเจรจา จะต้องให้ภาคสังคม ส่วนได้ เสีย เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นซึ่งจะมีประโยชน์ในลักษณะมีข้อมูล มีแง่มุม เอามาเสริมให้กับผู้ไปเจรจาได้เห็นแง่มุมรอบด้านมากขึ้น ซึ่งจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้ไปเจรจาสามารถหยิบยกอ้างในการเจรจาว่า เมื่อได้รับฟังความเห็นของประชาชนในประเทศไทยแล้วภาคประชาชนของไทยมีความเห็นอย่างนี้มีจุดยืนอย่างนี้ ก็สามารถหยิบยกเอาไปใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการเจรจาได้ ซึ่งประเทศต่างๆ ที่เขาเจรจาแล้วก็มักใช้กับเรา ที่เห็นโดดเด่นเลยคือ ญี่ปุ่น ก็มักจะอ้างอยู่เสมอว่าชาวนาญี่ปุ่นมีความต้องการแบบนี้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะต้องยึดจุดยืนการเจรจาของ  ชาวนาเป็นหลัก หากรัฐบาลไทยใช้แบบเดียวกันนี้ก็จะทำให้เราเสียเปรียบน้อยลง และเตรียมข้อมูล เตรียมความรู้ให้มากขึ้น การยึดกระบวนการเจรจาให้โปร่งใสให้ภาคประชาสังคมได้เข้าไปร่วมมากขึ้น ก็จะเป็นตัวหนุน เป็น buffer (กันชน) ให้กับข้อต่อรองของผู้เจรจาได้มากขึ้น


ผู้ไถ่ : ความเป็นไปได้ที่จะทำให้ภาคประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทำ FTA ของรัฐบาล

คุณบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ คุณบัณฑูร : นี่เป็นข้อเรียกร้องที่แต่ละกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ เกษตรกร ต้องช่วยกันทำ กลุ่ม FTA Watch ก็พยายามที่จะกระตุ้นให้ข้อมูล และเรียกร้องประชาชนในกลุ่มต่างๆ ให้ออกมาผลักดันข้อเสนอตรงนี้ให้มากขึ้น เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนในฐานะที่จะมีส่วนได้ เสีย กับผลที่เกิดขึ้น ปัญหาที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ก็คือ ล่าสุด กรณีเอฟทีเอ ไทย - ออสเตรเลีย ตอนนี้ปิดโต๊ะเจรจาไปแล้ว มีร่างเอกสารไว้แล้วแต่ขอรัฐบาลไทยไม่ได้ แม้ว่ากรรมาธิการต่างประเทศหรือกรรมาธิการหลายชุดของวุฒิสภาซึ่งเป็นองค์กรของรัฐสภาก็ขอไม่ได้ ในทางตรงข้าม ออสเตรเลียเอาไปเปิดเผยในเว็บไซต์ของเขาซึ่งเราดาวน์โหลดได้มา  วันนี้เราได้เอกสารมาจากทางออสเตรเลียไม่ใช่ทางฝ่ายไทย ปัญหาที่ถามว่าทำอย่างไรจึงจะเปิดเผย เห็นอยู่ว่าสถานการณ์นี้ยาก ซึ่งก็ยิ่งทำให้กลับไปสู่ประเด็นที่ว่า ทำไมเราต้องออกมาท้วงติง ออกมาคัดค้านก็เพราะว่ารัฐบาลไม่ยอมเปิดเผย และสร้างความโปร่งใส สร้างความน่าเชื่อถือในการเจรจา มันมีเหตุผลว่ากลุ่มคนที่จะได้ประโยชน์ในสังคม ไม่ใช่ประชาชนส่วนใหญ่หรือเปล่าถึงทำให้ไม่พยายามที่จะเปิดเผย ถ้าสามารถตอบคำถามได้ว่าผลการทำเอฟทีเอเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ต่อคนส่วนใหญ่ยิ่งต้องเปิดเผย รัฐบาลก็สามารถอธิบายต่อสังคม สามารถได้คะแนนนิยมในทางการเมืองว่าเขากำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ นี่เป็นปัญหาที่เราเผชิญอยู่เพราะฉะนั้น ผมว่าทุกคนต้องช่วยกัน กลุ่ม FTA Watch กลุ่มเดียว หรือกรรมาธิการกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งทำไม่ไหว


ผู้ไถ่ : แสดงว่าแม้แต่วุฒิสภาเองก็ไม่สามารถยับยั้งรัฐบาลได้

คุณบัณฑูร : หลายเรื่องก็เห็นว่าสถานการณ์แบบนี้ องค์กรทางการเมือง องค์กรของรัฐสภาเองก็ถูกทำอะไรบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้เต็มที่ ขอข้อมูลก็ไม่ได้ ขอให้เจ้าหน้าที่มาชี้แจงก็ส่งคนในระดับที่ไม่สามารถชี้แจงได้เต็มที่ ก็เป็นปัญหาอยู่จริงๆ ครับ (ขณะ ผู้ไถ่ สัมภาษณ์ ต้องหยุดเทปไว้ชั่วขณะ เมื่อคุณบัณฑูรได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ซึ่งประสานงานกับหน่วยราชการว่าไม่ได้รับความร่วมมือในการขอข้อมูลเอกสาร) ตัวอย่างที่เกิดขึ้นชัดเจนว่าไม่ได้รับความร่วมมือ ช่วงนี้อาจจะเป็นเหตุผลอธิบายได้ว่าใกล้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ รัฐบาลก็ส่งนโยบายแจ้งข้อมูลกับหน่วยราชการว่าใครขออะไรตอนนี้อย่าเพิ่งให้เพราะอาจจะไปใช้ประกอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะฉะนั้นตอนนี้ขออะไรไม่เคยได้เลย ...(หัวเราะ) ...แต่ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้


ผู้ไถ่ : ตัวอย่างจากจีน  ที่จีนบอกว่าต่อไปจีนจะลดภาษีในกรอบของอาเซียน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานเพราะต้องเจรจากับกลุ่มประเทศอาเซียนก่อน ไทยจึงจะเจรจากับจีนได้ คิดว่าเป็นไปได้ไหมที่จีนเองก็ใช้การประวิงเวลาปกป้องผลประโยชน์ในประเทศตน

คุณบัณฑูร : น่าจะเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งนะครับ ข้อเสนอของนักวิชาการฝ่ายไทยเองที่บอกกับรัฐบาลก็คือ ใช้ tactics (ยุทธวิธี) เดียวกันว่าไม่จำเป็นต้องเร่ง ยิ่งเร่งเราจะยิ่งเสียเปรียบในการเจรจาแทนที่จะได้เปรียบ ในฝ่ายรัฐบาลมักจะคิดว่า ถ้าเราเร่งทำเราจะได้ประโยชน์ เป็น Economy of Speed ยิ่งทำยิ่งได้ประโยชน์ ยิ่งเร่งยิ่งได้ประโยชน์ แต่ว่ามันก็มีต้นทุนของความเร็ว มีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความเร็ว ซึ่งกรณีจีนผมก็คิดว่าเขาคิดในแง่มุมนี้ ว่ามันไม่จำเป็นต้องเร่ง ฉะนั้นรัฐบาลไทยไม่ควรเร่ง ตอนต้นปี คุณทักษิณให้นโยบายว่า ทุกเอฟทีเอที่ประเทศไทยเจรจาต้องปิดให้ได้ภายในปีนี้ ซึ่งตรงนั้นคือปัญหาอย่างมาก แต่ว่าตอนที่คุณณรงค์ชัย  อัครเศรณี ซึ่งเป็นประธานดูแลเรื่องการเจรจา เรื่องผลกระทบ เป็นกลุ่มคณะติดตามเรื่องผลกระทบการทำเอฟทีเอ มาให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการต่างประเทศ ก็บอกว่าผู้นำสั่งมาในช่วงเดือนเมษายนว่าไม่ต้องเร่งแล้ว แต่ว่าเหตุผลของการไม่เร่งนี่อาจจะต่างจากในเชิง tactics ก็ได้ กรณีสหรัฐ มีปัญหาว่าประธานาธิบดีเขาเองก็จะเลือกตั้งกันตอนปลายปี รัฐบาลไทยเองก็จะครบเทอมและเลือกตั้งต้นปีหน้า เพราะฉะนั้นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้นโยบายของรัฐบาลเปลี่ยนไปว่าไม่ต้องเร่งเพราะสถานการณ์การเมืองเริ่มไม่นิ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่อาจจะไม่ใช่เหตุผลว่าไม่เร่งเพราะอยากใช้ tactics การเจรจาที่ประเทศอื่นใช้เพราะแนวคิดของรัฐบาลตั้งแต่ต้นและหลายๆ เรื่อง ไม่ได้คิดในทางนี้ เขาคิดในเชิงว่ายิ่งเร่งยิ่งได้เปรียบ


ผู้ไถ่ : คิดว่าไทยจะมีโอกาสเป็นแบบประเทศชิลี เม็กซิโก ที่ทำเอฟทีเอไปแล้วไหม 

คุณบัณฑูร : เราศึกษาจากบทเรียนประเทศเหล่านั้นว่า ระดับขีดความสามารถในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ มันต่างกันมากก็จะเกิดกรณีเสี่ยงสูงมากๆ ที่จะเกิดปัญหากับประเทศที่ยกตัวอย่างมา เพราะอิทธิพลทางการเมือง เศรษฐกิจ ระหว่างเรากับประเทศที่เราทำเอฟทีเอที่ใหญ่โตมากๆ อย่างอเมริกา ก็เหมือนกับเราเปรียบเทียบกันว่า เอานักมวยต่างรุ่นระหว่างเขาทรายไปชกกับไมค์ ไทสัน แล้วก็บอกว่าใช้กติกาเดียวกันคือ ชกกัน 3 นาที ใช้นวมขนาดเดียวกัน กติกาทุกอย่างเหมือนกัน มันก็สู้ไม่ได้ โดยสภาพของคู่แข่งขันต่างกันอย่างลิบลับอย่างนี้ ปัญหามันก็อาจจะเดินย้อนรอยกับกรณีที่หยิบยกขึ้นมาในเม็กซิโก ชิลี ซึ่งเราก็เชิญทั้งเกษตรกรทั้งนักวิชาการของประเทศเหล่านั้นมาพูดคุย ซึ่งเขาก็ให้ภาพแบบเดียวกับเราว่ามันมีความเสี่ยงสูงหลายเรื่องที่เราไปผูกเจรจาขับเคี่ยวกับประเทศที่เหนือกว่าเกือบจะทุกด้าน 


ผู้ไถ่ : สรุปโดยรวมแล้วผลกระทบต่อประชาชนไทย จากการที่รัฐบาลไปทำเอฟทีเอกับประเทศใหญ่ๆ

คุณบัณฑูร : มันครอบคลุมในหลายมิติ ทั้งเรื่องการผูกขาดสินค้าในบางประเทศ ซึ่งตรงข้ามกับความหมายการเปิดเสรีเลย คือเปลี่ยนจากการผูกขาดจากทุนท้องถิ่นไปสู่ทุนข้ามชาติในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคเพราะว่า โดยกติกาทำให้เราแข่งขันสู้ไม่ได้มากนัก และปัญหาที่เกิดจากการเปิดเสรีการค้าบริการก็มีปัญหาเชื่อมโยงกับประเด็นสุขภาพ เช่น การบริการเรื่องสาธารณสุข ถ้าเราเปิดให้การรักษาพยาบาลของต่างชาติเข้ามามากขึ้นก็ยิ่งดึงเอาทรัพยากรทางสาธารณสุขของไทยไม่ว่าจะเป็นหมอ สถานที่รักษาพยาบาลต้องถูกใช้โดยชาวต่างชาติ ส่วนหนึ่งเราได้เงินเข้าประเทศมากขึ้น แต่ว่าคนที่มีรายได้น้อยอย่างชาวบ้านทั่วๆ ไปก็ถูกดึงทรัพยากรไปบริการคนต่างชาติ ปัญหามันแวดล้อมในทุกๆ ด้าน ฉะนั้น ถ้าถามโดยสรุป มันกระทบกับประชาชนในแทบทุกกลุ่ม เอาแค่เฉพาะเรื่องยาเรื่องเดียว ทุกคนมีโอกาสป่วยได้ทั้งนั้น วันใดที่คุณป่วยคุณก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคายาที่แพงขึ้นจากปัญหาการขยายอายุสิทธิบัตรยา


ผู้ไถ่ : ถ้าถามคุณบัณฑูรว่า ออกมาคัดค้านการทำเอฟทีเอ แล้วตัวเองได้อะไร

คุณบัณฑูร : ตอบแบบรูปธรรมก็คือ สำนึกว่ากระทบตัวเรา ลูกหลาน ครอบครัวเราก็ได้รับผลกระทบ เพราะมันเป็นปัญหาสังคม เรามีสำนึกในปัญหาสังคม ซึ่งเห็นว่าไม่ถูกต้อง วันข้างหน้าก็จะกระทบกับชีวิตเรา ทั้งเรื่องค่าไฟ ค่าน้ำ การรักษาพยาบาล หรือแม้กระทั่งเรื่องการศึกษา


สนใจติดตามรายละเอียดเรื่อง FTA เพิ่มเติมได้ที่
http://www.ftawatch.org/

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >