หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 60 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


FTA : Free Trade Agreement “ข้อตกลงเขตการค้าเสรี พิมพ์
Tuesday, 17 October 2006
  
Image


FTA : Free Trade Agreement  

“ข้อตกลงเขตการค้าเสรี”

เพื่อผลประโยชน์ของชาติ

หรือ เครื่องมือ ของ กลุ่มนัก(ธุรกิจ)การเมือง

ธัญลักษณ์  นวลักษณกวี รายงาน

“ในโลกของ Wind of Change ที่กำลังพัดแรง คุณเป็นประเทศเล็กๆ หากคุณต่อต้านปิดประเทศไม่พัฒนา ผลก็คือ ประเทศก็จะอยู่ไม่ได้ ดังนั้น เราต้องอยู่กับมัน เปลี่ยนจากภัยคุกคามเป็นโอกาส จากเชิงรับเป็นเชิงรุกด้วยการดำเนินการกับสิ่งเหล่านี้ รวมกันเป็นหนึ่งเดียว แล้วเราจะไม่มีคำว่าเสียเปรียบ”

คำกล่าวของ นายสมคิด  จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในการเปิดประชุมระดมความคิดเห็นด้านยุทธศาสตร์การเจรจาเปิดเขตเสรีการค้า FTA

Imageรัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี มีนโยบายชัดเจนที่จะ “ใช้การเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีเป็นกลยุทธ์ด้านเศรษฐกิจของไทยในด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ” (ปาฐกถาของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2547)  เห็นได้จากการเร่งรัดผลักดันให้มีข้อตกลงแบบทวิภาคีจัดตั้งเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) กับประเทศต่างๆ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน, อินเดีย, บาห์เรน, ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, เปรู และออสเตรเลีย

รัฐบาลนายกฯ ทักษิณ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้แถลงต่อสาธารณะหลายครั้งถึงข้อดีนานัปการของการลงนามจัดตั้งเขตการค้าเสรี เช่น เป็นการเปิดตลาดสินค้าไทยให้มีโอกาสเข้าไปขายในต่างประเทศ เพื่อผู้บริโภคในประเทศได้ซื้อสินค้าในราคาถูกลง ทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ภาคเศรษฐกิจของไทยต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศมากขึ้น เป็นต้น

การเร่งรัดลงนามจัดตั้งเขตการค้าเสรีของรัฐบาลไทยกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา นำไปสู่คำถามและข้อวิตกกังวลของนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน แม้กระทั่งคณะกรรมาธิการฝ่ายต่างๆ ของวุฒิสภา ได้แก่ คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ, คณะกรรมาธิการการเกษตร, คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม และคณะกรรมาธิการการคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน ซึ่งได้ออกแถลงการณ์ตั้งข้อสังเกตต่อการดำเนินงานของรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2546 โดยเห็นว่า

กระบวนการเจรจาค่อนข้างเป็นไปด้วยความเร่งรีบทั้งที่ยังไม่มีความชัดเจนถึงข้อมูลผลกระทบในระยะยาวที่จะเกิดขึ้น ไม่ได้ศึกษาผลกระทบทางด้านสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม มีเพียงการศึกษาเฉพาะมิติด้านเศรษฐกิจการค้า แม้กระทั่งการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ซึ่งภาคเอกชนมีคำถามแสดงความห่วงใย แต่กลับไม่ได้รับคำตอบที่กระจ่างชัด

Imageอีกทั้งยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจากประชาชนทั่วไป องค์กรเกษตรกร องค์กรผู้บริโภค ฯลฯ มุ่งเน้นพิจารณาจากความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของกลุ่มธุรกิจเอกชนเป็นหลักเท่านั้น นอกจากนี้ ยังขาดการเตรียมมาตรการที่เหมาะสมเพื่อรองรับผลกระทบอย่างรอบด้านซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร อันเนื่องมาจากการที่เกษตรกรไทยต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่พืชอาหารเพราะไม่สามารถแข่งขันกับพืชอาหารราคาถูกที่นำเข้าจากต่างประเทศได้ คำตอบของหน่วยงานภาครัฐที่ยึดเป็นคำตอบหลักว่า “ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเปลี่ยนอาชีพ หรือเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูก”  แสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีการศึกษาและจัดทำแผนงานรองรับผลกระทบ และที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่ง นั่นคือ ข้อผูกพันที่จะเกิดขึ้นจากข้อตกลงระหว่างประเทศไทยกับประเทศคู่เจรจา จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาในการกำหนดกรอบการเจรจาเสียก่อน ดังเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฯลฯ ต้องปฏิบัติ

ในทำนองเดียวกัน นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เช่น นายตีรณ  พงศ์มฆพัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความห่วงใยว่า รัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร พยายามใช้เอฟทีเอ เป็นเครื่องมือขยายบทบาทของตนบนเวทีนานาชาติ มีการเร่งรัดเอฟทีเอกับหลายประเทศ โดยมิได้ศึกษาถึงผลดี – ผลเสีย ล่วงหน้า ขาดแนวนโยบายที่ให้หลักเกณฑ์สำหรับการปฏิบัติว่าประเทศไทยควรมีเงื่อนไขในการเจรจาต่อรอง รวมทั้งการเตรียมพร้อมอย่างไร ความตกลงกับประเทศต่างๆ ที่รัฐบาลกำลังเร่งจัดทำเอฟทีเออยู่ในขณะนี้ไม่ชัดเจนอย่างมากในเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ และรัฐบาลก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมจึงพยายามเลือกทำเอฟทีเอกับประเทศใหญ่ที่มีอำนาจต่อรองเหนือกว่ามากอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งในการทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯ จะสำเร็จก็ต่อเมื่อสหรัฐฯ ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จนเป็นที่พึงพอใจ 

ในแง่เศรษฐศาสตร์ ไทยจะเสียเปรียบสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก เนื่องจากเอฟทีเอที่จัดทำขึ้นมีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมส่วนที่เป็นสินค้า(สินค้าเกษตร อาทิ ข้าว, ข้าวโพด, ถั่วเหลือง, พืชผักผลไม้, เนื้อสัตว์, อาหารทะเล  และสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ เครื่องจักรกล, อิเล็คโทรนิกส์)    และส่วนที่เป็นภาคบริการ (อาทิ การสื่อสารโทรคมนาคม, การเงินการธนาคาร, ไฟฟ้า, ประปา, การศึกษา)

ในแง่ของการเปิดเสรีตลาดสินค้า สหรัฐฯ มีภาษีศุลกากรที่ต่ำมากอยู่แล้ว และมาตรการกีดกันทางการค้ามักอยู่ในรูปอื่นที่มิใช่ภาษีศุลกากร (ได้แก่ มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures : SPS) เช่น กรณีผักผลไม้และอาหารทะเลไทยถูกสหรัฐฯ กักไว้ไม่ให้นำเข้าในปี 2001 จำนวน 1,340 ครั้ง) ในขณะที่ภาคการเกษตร สหรัฐฯ ก็มีการให้เงินอุดหนุนเกษตรกรประเทศตนมากมาย(สหรัฐฯ มีกฎหมายการเกษตรชื่อ The Farm Secureity and Rural Investment Act of 2002 ซึ่งให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรภายในประเทศวงเงินประมาณ 180 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.8 ล้านล้านบาท)  การเปิดเสรีภาคการเกษตรจะทำให้ไทยแปรสภาพเป็นตลาดของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าการเกษตรที่มีการตัดแต่งทางพันธุกรรม ซึ่งจะทำให้ระบบเกษตรอินทรีย์ของไทยได้รับความเสียหายและไร้อนาคต ส่วนข้อตกลงการเปิดเสรีภาคบริการ จะเป็นจุดสร้างประโยชน์ให้แก่สหรัฐฯ อย่างสำคัญ เพราะสหรัฐฯ มีความเข้มแข็งในธุรกิจบริการเป็นพิเศษ

Imageไม่เพียงเท่านั้น ศ.รังสรรค์  ธนะพรพันธุ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงอีกท่านหนึ่ง กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้เลือกแนวทางในการทำเขตการค้าเสรีเนื่องจากมองไม่เห็นว่าแนวทางพหุภาคี (การเจรจาภายใต้กรอบขององค์กรการค้าโลก หรือ WTO)  จะเป็นประโยชน์ อีกทั้งเกรงว่าไทยจะตกขบวนหากไม่ทำเขตการค้าเสรี อาจารย์รังสรรค์มองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะได้ประโยชน์โดยตรงจากการทำเขตการค้าเสรี ได้แก่ กิจกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งเป็นฐานการเมืองของพรรคไทยรักไทย และยังเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้มีวาระซ่อนเร้น (hidden agenda)  เกี่ยวกับเรื่องดาวเทียม ถึงแม้ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนในขณะนี้ นอกจากนี้ กระบวนการทำเขตการค้าเสรีของไทยก็ต่างจากสหรัฐฯโดยสหรัฐฯจะมีการขอความเห็นจากรัฐสภาขณะที่ไทยไม่มีการดำเนินการดังกล่าวเลย ซึ่งจะทำให้เมื่อมีผลกระทบทางลบเกิดขึ้น รัฐบาลไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ และที่สำคัญรัฐบาลชุดนี้เลือกใช้วิธี “ขึ้นรถไฟไปตายเอาดาบหน้า” โดยไม่มีการศึกษาผลกระทบที่ชัดเจน อีกทั้งการเร่งเจรจาโดยที่ข้อมูลยังไม่ชัดเจนก็ยิ่งจะทำให้ไทยเสียประโยชน์ในการทำเขตการค้าเสรีมากขึ้น ซึ่งเมื่อพ.ต.ท.ทักษิณชี้นำมาแล้วก็เป็นเรื่องของคณะผู้แทนที่ไปเจรจาต้องไปตายเอาดาบหน้าเอง

ใช่เพียงนักเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทยเท่านั้นที่แสดงความห่วงใยต่อการทำเอฟทีเอของรัฐบาลไทย นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศเกือบทั้งหมดทั่วโลก ต่างก็ล้วนระแวงสงสัยและคัดค้าน FTA กันอย่างดุเดือด ศาสตราจารย์ Jagdish Bhagwati แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และศาสตราจารย์ Arvind Panagariya แห่งมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์การค้าชื่อดังระดับโลก ได้แสดงทรรศนะว่า FTA กำลังกัดกร่อนบ่อนเบียนและเข้าแทนที่ระบบการค้าโลกที่มี WTO  เป็นแกนกลาง FTA กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมืองในประเทศและม้าไม้เมืองทรอยสำหรับกุมการค้าโลกของอเมริกา  และ FTA เป็นกลเม็ดของอเมริกาในการแบ่งแยกและปกครองกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเวทีการค้าโลก

ศาสตราจารย์ทั้งสองท่านยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า พวกที่เห่อแห่ตามแฟชั่น FTA กันอย่างคลั่งไคล้งอมแงมราวกับมันเป็นสวรรค์ ทุกหนทุกแห่ง ได้แก่  “กลุ่มนัก(ธุรกิจ)การเมือง”


บทเรียนจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการทำ FTA

“นึกไม่ถึงว่าการแปรรูปท้องทะเลและมหาสมุทรจะเกิดขึ้นได้”

Imageคามิล่า มอนติซินอส จาก Grain, Regional Programme Officer for Latin America, Chile ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศเล็กๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน ความหลากหลายทางชีวภาพ และสิทธิชุมชน มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสเปน  ได้เดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอนของเธอที่ชิลี มายังประเทศไทยเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2547 เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตของชาวชิลีขณะก้าวเดินบนเส้นทางแห่งการค้าเสรีให้ชาวไทย โดยเฉพาะผู้บริหารประเทศได้สดับฟังก่อนที่จะผลีผลามเดินตามถนนแห่งหายนะเส้นนี้

นับจากข้อตกลงการค้าเสรีฉบับแรกเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นของทศวรรษ 1990s ชาวชิลีซึ่งส่วนใหญ่ยังชีพด้วยอาชีพชาวประมงมานานนับศตวรรษ  ชาวประมงของชิลีมากกว่า 80 เปอร์เซนต์ ต้องเปลี่ยนอาชีพหรือกลายเป็นคนจนตกงาน ส่วนน้อยที่เหลือเป็นเพียงชาวประมงที่มีฐานะเป็นลูกจ้างคนหนึ่งของบริษัทยักษ์ใหญ่จากดินแดนไกลโพ้น สังคมชาวประมงของชิลีค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป ชาวประมงพากันทิ้งเรือ ทิ้งอุปกรณ์จับปลาหันหน้าสู่การเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุนโดยนักลงทุนต่างชาติ ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่อยากทำประมง อาชีพที่จะเลี้ยงตัวได้อย่างยั่งยืน หากแต่พวกเขาไม่มีสิทธิที่จะจับปลาในน่านน้ำของตัวเองได้อีกต่อไป เนื่องจากภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี น่านน้ำมหาสมุทรที่อยู่ในอาณาเขตถูกรัฐบาลนำไปแปรรูปยกสัมปทานให้กับบริษัทเอกชนจนหมด ทำให้ไม่เหลือน่านน้ำให้ชาวประมงท้องถิ่นได้จับปลา แม้กรรมสิทธิ์เหนือพื้นน้ำยังเป็นของรัฐบาลชิลีแต่ว่าผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์กลับไม่ใช่ชาวชิลี น่านน้ำและทรัพยากรในน้ำทั้งหมดถูกควบคุมจัดการโดยบริษัทต่างชาติที่เสนอผลตอบแทนให้กับรัฐบาลสูง แม้รัฐบาลจะอ้างว่าไม่ได้จำกัดสิทธิชาวประมงท้องถิ่น แต่พวกเขาจะทำประมงในน่านน้ำได้ก็ต่อเมื่อมีเม็ดเงินมหาศาลมาจ่ายเป็นค่าตอบแทนการใช้น่านน้ำให้กับรัฐบาลเท่านั้น แล้วชาวประมงท้องถิ่นคนใดเล่าที่จะมีเงินมากขนาดนั้น

คามิล่าบอกว่า ก่อนที่รัฐบาลชิลีจะลงนามทำ FTA กับประเทศต่างๆ นั้น มีขบวนการเคลื่อนไหวคัดค้านเกิดขึ้นในชิลีบ้าง แต่ไม่มากมายเพราะเป็นการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากสังคมในวงกว้าง “ตอนนั้นคนนึกไม่ถึงว่าการแปรรูปท้องทะเลและมหาสมุทรจะเกิดขึ้นได้” เธอกล่าว

ปัจจุบันสังคมชิลีเป็นสังคมแห่งความเครียด มากกว่า 50 เปอร์เซนต์ของคนไปพบแพทย์ทุกวันนี้ ล้วนไปด้วยเหตุผลทางด้านความเครียดทั้งนั้น ชาวบ้านไม่มีทางออกสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะการแปรรูปและการเอารัดเอาเปรียบจากบริษัทข้ามชาติมิได้เกิดขึ้นกับท้องทะเลเท่านั้น แต่มีภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมอีกมากมาย  ในข้อตกลงการค้าเสรี รัฐบาลชิลีต้องรับประกันรายได้ให้กับบริษัทเอกชนต่างชาติด้วย หากเมื่อใดก็ตามที่เอกชนเข้ามาลงทุนแล้วผลกำไรไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เอกชนรายนั้นสามารถฟ้องร้องรัฐบาลชิลีเพื่อให้ชดเชยกำไรส่วนที่ขาดหายไปได้ด้วย

Imageการประกันรายได้ของบริษัทต่างชาติมิได้เป็นเพียงเรื่องเล่าเล่นๆ มันเกิดขึ้นจริงแล้ว  คามิล่าบอกว่า ขณะนี้บริษัทเอกชนของสหภาพยุโรป (EU) แห่งหนึ่งที่มาลงทุนสร้างทางเชื่อมระหว่างภูมิภาคในชิลีกำลังจะฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยจากรัฐบาลเป็นเงินสูงถึง 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพราะบริษัทไม่สามารถเก็บค่าผ่านทางได้ตามที่คาดการณ์ไว้แต่แรก “มีการฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยหลายกรณีที่เราเห็นชัดเจนว่ามันไม่ได้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศ แต่เป็นผลมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามคาดการณ์”

บทเรียนจากการทำ FTA กับ สหภาพยุโรป ไม่ได้ถูกเรียนรู้โดยรัฐบาลชิลี ตลอดเวลาที่ประเทศและประชาชนถูกเอาเปรียบจากบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาในรูปของการค้าเสรี รัฐบาลก็ได้เจรจาเพื่อต่อรองในข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกามาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว โดยที่ชาวชิลีไม่มีโอกาสรับรู้เลยว่ากรอบและเงื่อนไขของการเจรจามีอะไรบ้าง เพิ่งมารู้เมื่อทั้งสองประเทศสามารถตกลงในเงื่อนไขและรายละเอียดกันได้แล้วตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2546 และเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2547 ที่ผ่านมา ซึ่งภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ ทุกอย่างถูกตีความหมายเป็นการบริการหมด ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การธนาคาร การประกันภัย สิ่งแวดล้อม ไม่เว้นแม้แต่อากาศ ซึ่งเธอกลัวว่าจะถูกนำไปแปรรูปให้เอกชนเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับน่านน้ำและมหาสมุทร หากวันนั้นมาถึงจริง ชาวชิลีคงเป็นทาสของอเมริกาไปชั่วลูกชั่วหลานเพราะเพียงแค่หายใจเอาอากาศเข้าไปก็ต้องมีค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทข้ามชาติแล้ว

Imageถึงวันนี้ เธอและชาวชิลีคนอื่นๆ ทำอะไรไม่ได้มากนักเพราะข้อตกลงเปิดเสรีการค้าถูกลงนามและมีผลบังคับใช้แล้ว สิ่งที่เธอทำได้คือ การเดินสายบอกเล่าประสบการณ์ของชิลีบนเส้นทางหายนะแห่ง FTA ให้เพื่อนๆ ในประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังจะเปิดเสรีทางการค้าได้ฟัง เธอหวังเพียงว่าเรื่องราวของชิลีจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับทุกประเทศที่ยังมีโอกาสขับเคลื่อนปกป้องอำนาจอธิปไตยของตนเอง

เธอกล่าวทิ้งท้ายด้วยความเป็นห่วงว่า “ขบวนการทางสังคมต้องเคลื่อนออกมาปกป้องอธิปไตยของตนเอง ก่อนที่จะหมดอำนาจอย่างชิลี ซึ่งกว่าจะรู้ก็เมื่อสายเกินไป” 


10 ปีเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ ประสบการณ์ที่ไทยต้องเรียนรู้ 

Imageอเลฮานโต้ วิลลาร์มาร์ (Alejandro Villamar) จากเครือข่ายปฏิบัติการเม็กซิโกต่อการค้าเสรี (The Mexican Action Network on Free Trade) กล่าวว่า คำมั่นสัญญาที่นักการเมืองและรัฐบาลให้ไว้ก่อนการลงนามนาฟต้า (ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา, แคนาดา และเม็กซิโก) คือ งานจะมีมากขึ้น ดีขึ้น การลงทุนเพิ่มมากขึ้น การส่งออกจะมากขึ้น เมื่อดูตัวเลขแล้วดีจริง แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกลงไปจะพบว่าปัญหาแรงงานมีมากขึ้นและเรื้อรัง ปัญหาเกษตรกรยากจน เป็นหนี้ และสูญเสียที่ดินมากขึ้น อธิปไตยทางเศรษฐกิจถูกเปลี่ยนมือไปเป็นของเอกชนต่างชาติ ทำให้สูญเสียความสามารถในการควบคุมเศรษฐกิจของประเทศ นักลงทุนต่างชาติเข้ามาอย่างไม่จำกัดโดยที่รัฐบาลไม่สามารถป้องกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในประเทศได้เลย ตัวเลขการว่างงานหายไป1.2 ล้านตำแหน่ง SMEs กว่า 2 ล้านกิจการถูกแทนที่ด้วยธุรกิจต่างชาติ ถึงแม้จะส่งออกมากขึ้นแต่ก็มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ และแคนาดาถึง 40% 

ช่วงระยะเวลา 10 ปี ของนาฟต้า ค่าแรงไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ค่าแรงกลับลดลงต่ำกว่าเมื่อเริ่มเซ็นสัญญาอีก 9% และด้วยมาตรการอุดหนุนสินค้าเกษตรและการส่งออกของอเมริกาทำให้อเมริกาสามารถเข้าทุ่มตลาดข้าวโพดที่เม็กซิโก จากที่เคยเป็นประเทศส่งออกข้าวโพด และเจ้าของพันธุกรรม เม็กซิโกต้องนำเข้าข้าวโพด การลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้นแต่เป็นอันตรายเพราะเป็นเงินที่เข้ามาซื้อภาคส่วนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เช่น ธนาคาร พาณิชยนาวี การคมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภคพื้นฐาน เมื่อทั้งหมดตกอยู่ในมือต่างชาติ การครอบงำจึงไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นการบงการนโยบายประเทศทั้งหมดทำให้รัฐไม่มีอำนาจอธิปไตยแม้แต่การบริหารประเทศเพื่อปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

ลอรี่  วอลเลส (Lori  Wallach)  ผู้อำนวยการ Public Citizen (Global Trade Watch)  จากสหรัฐอเมริกา  กล่าวว่า ข้อตกลงนาฟต้าเป็นตัวกำหนดกฎหมายและระเบียบทุกอย่างของประเทศผู้เจรจาให้ต้องแก้กฎหมายภายในของตัวเอง ไม่ใช่แค่เรื่องการลดกำแพงภาษี แต่หมายถึงการเปิดช่องให้บริษัทเอกชนต่างชาติเข้ามาครอบครองทุกอย่าง ทั้งการค้า บริการ รวมถึงระบบการไหลเข้าออกของเงิน ก็จะไม่สามารถครอบคลุม ซึ่งประเทศไทยเองก็เคยประสบปัญหานี้มาแล้วช่วงวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งแม้แต่ไอเอ็มเอฟยังระบุว่า ควรมีการควบคุมการไหลเข้าออกของเงินในบางสถานการณ์ แต่ในเอฟทีเอ สหรัฐ – ชิลี และสหรัฐ – สิงคโปร์ ระบุชัดเจนว่าห้ามควบคุมการไหลเข้าออกของเงินเด็ดขาด ไอเอ็มเอฟยังวิพากษ์ข้อตกลงทั้งสองว่าเป็นนโยบายที่แย่

ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญานั้น ข้อตกลงทวิภาคีกับสหรัฐฯ จะครอบคลุมมากกว่าในดับเบิลยูทีโอ ซึ่งรวมถึงสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตซึ่งจะให้อำนาจผูกขาดในเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น ยา เซลล์ร่างกายมนุษย์ ด้วยกรรมวิธีเพียงเล็กน้อยก็สามารถครอบครองสิทธิในพันธุกรรมท้องถิ่น ซึ่งทั้งหมดตรงข้ามกับการค้าเสรีโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นการผูกขาด ส่วนการลงทุนนั้น รูปแบบของนาฟต้าจะประกันสิทธิในการได้กำไรของบริษัทเอกชนต่างชาติให้ฟ้องรัฐได้ผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ซึ่งระบบนี้ทำลายระบบศาลยุติธรรมของประเทศนั้นไม่ให้สามารถปกป้องหรือรับผิดชอบผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรและสังคมได้เลย โดยที่นักลงทุนต่างชาติไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเหมือนนักลงทุนในประเทศ แต่กลับมีสิทธิมากกว่านักลงทุนในชาติทำให้การลงทุนของต่างชาติมีลักษณะของนักลงทุนท่องเที่ยว (Industrial Tourist) คือลงทุนแบบไร้รากโดยที่มีการประกันความเสี่ยงทั้งหมดไว้แล้ว จะถอนการลงทุนออกไปเมื่อไรก็ได้ มีตัวอย่างจากประเทศเม็กซิโกคือ บริษัทเม็กซิโกซึ่งทำธุรกิจที่ทิ้งขยะสารพิษแต่ไม่ได้ใบอนุญาตต่อ เนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นยื่นเงื่อนไขให้ฟื้นฟูและทำความสะอาดพื้นที่ก่อน บริษัทนี้จึงได้ขายกิจการในราคาถูกให้บริษัทเมเทิลแคทของสหรัฐอเมริกาในราคาถูก รัฐบาลท้องถิ่นได้ยื่นเงื่อนไขเดียวกันหากต้องการใบอนุญาตที่ทิ้งขยะต่อไป แต่บริษัทเมเทิลแคทของสหรัฐฯ ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลเม็กซิโกต่ออนุญาโตตุลาการ ผลตัดสินคือ รัฐบาลต้องจ่าย 17 ล้านดอลล่าร์ ให้กับเมเทิลแคท และต้องยอมออกใบอนุญาตทั้งที่ไม่ได้ฟื้นฟูพื้นที่ด้วย  อีกประเด็นสำคัญคือ การเข้าถึงยาของประชาชนจะได้รับผลกระทบอย่างหนักเพราะข้อตกลงนี้จะมากกว่าดับเบิลยูทีโอ ทำให้บริษัทยาท้องถิ่นไม่สามารถผลิตยาได้ ซึ่งยาของผู้ป่วยโรคเอดส์ก็จะได้รับผลกระทบด้วย

Imageลอรี่ วอลเลส บอกว่า นาฟต้าเป็นโมเดลการค้าเสรีที่สหรัฐฯ ต้องการ และมันก็ไปปรากฏในข้อตกลงที่สหรัฐฯ ทำกับสิงคโปร์และชิลีราวกับโคลนนิ่ง และเชื่อว่าจะเป็นเนื้อหาเดียวกับข้อตกลงเอฟทีเอที่สหรัฐฯ จะทำกับไทย หากรัฐบาลของไทยอ้างว่า มีนักเจรจาที่เก่งกาจ มีการวางแผนรัดกุม รู้เกมส์ ขอให้ดูออสเตรเลีย เป็นตัวอย่าง ว่าไม่ได้อะไรเลยแถมยังเสียมากมายหลายประเด็น ข้อตกลงเอฟทีเอ หากดูจากนาฟต้าจะพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของทั้งสามประเทศไม่ได้อะไร แต่คนที่ได้เป็นเพียงคนส่วนบนที่รวยขึ้น ขณะที่คนส่วนใหญ่จนลง 

นอกจากนี้ ยังมีคำบอกเล่าจาก พลาโป้  โซลอน (Pablo Solon) จากเครือข่ายต่อต้านเขตการค้าเสรีอเมริกา ประเทศโบลิเวีย (Fundacion Solon and Bolivian Movement Against FTAA) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศแอนดิส (เปรู โบลิเวีย เอกวาดอร์ โคลัมเบีย) ที่อยู่ระหว่างเจรจาเอฟทีเอพร้อมๆ กับไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการทำข้อตกลงทวิภาคีด้านการลงทุนกับสหรัฐฯ ไปแล้ว เขาบอกว่า ในโบลิเวีย ผลกระทบจากข้อตกลงเหล่านี้ชัดเจน ทำให้มีการออกมาคัดค้านในประเด็นสำคัญๆ เช่น การลงทุน การแปรรูปกิจการสาธารณูปโภค การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ  ในโบลิเวียมีทรัพยากรที่สำคัญคือ แก๊สและน้ำมัน ซึ่งตกอยู่ในมือต่างชาติทั้งหมดจากการแปรรูป เมื่อมีการจะแก้กฎหมายเพื่อขึ้นภาษีกิจการเหล่านี้ เพื่อเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษาและสาธารณสุข กลับถูกขู่จากนักลงทุนต่างชาติว่าจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเงินภาษีของประชาชน ถ้าหากรัฐบาลจะบังคับให้พวกเขาจ่ายภาษีมากขึ้น  


หรือไทยจะขึ้นรถไฟไปตายเอาดาบหน้าจริงๆ

Imageสำหรับในประเทศไทยเอง ภายหลังลงนามความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี ไทย – จีน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2546  โดยไทยต้องลดภาษีสินค้าผัก – ผลไม้ จำนวน 116 ชนิด เหลือ 0 % ข้อตกลงซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 เป็นต้นมา ไทยต้องเปิดให้มีการนำเข้าพืชผักผลไม้เมืองหนาวจากจีน อาทิ นำเข้าแอปเปิ้ลมากขึ้น 152%  สาลี่ 159%  มันฝรั่ง 11.70%  กระเทียม 140%  องุ่นและส้ม 27%  ถึงแม้จะช่วยให้ชาวไทยได้บริโภคพืชผักผลไม้จากจีนในราคาที่ถูกลง แต่หารู้ไม่ว่าได้ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรของไทยอย่างมาก ประโยคที่ว่า “การเปิด FTA ไทย – จีน แม้จะเกิดผลกระทบจริง แต่กระทรวงเกษตรฯ มีหน้าที่สร้างมาตรการรองรับและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่อภาคเกษตร” ของนางอภิรดี  ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการเจรจาการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์  เห็นได้ว่าการเจรจาการค้าของรัฐบาลไทยไม่ได้มีความชัดเจนในเรื่องความพร้อม การประเมินผลกระทบ และการหามาตรการรองรับ ก่อนที่จะเปิดเขตการค้าเสรีกับจีนแต่อย่างใด มีเพียงคำพูดที่ปราศจากความรับผิดชอบและมุ่งโยนปัญหาให้พ้นตัวเท่านั้น 


สถานการณ์การเจรจา FTA ระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ
  • จีนขอเจรจาอาเซียนก่อน / ไทยจะเร่งลดภาษีกลุ่มอื่นเพิ่มเติมในปี 2547
  • ลดภาษีบาห์เรนไม่ได้ ติดปัญหาแหล่งกำเนิด / ไทยดำเนินการแก้ไขกฎหมายภายในแล้ว พร้อมลดภาษีสินค้าเบื้องต้น 626 รายการ
  • อินเดียตุกติก เลื่อนลดภาษีถึง 1 ก.ค.47  / ไทยระบุยังไม่สามารถหาข้อสรุปเรื่องหลักเกณฑ์การได้แหล่งกำเนิดสินค้า
  • ญี่ปุ่นไม่ยอมลดสินค้าเกษตร / ไทยพร้อมยืนยันไม่กระทบการขายในญี่ปุ่น

ถึงแม้จะเริ่มมีการลงนามเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศเหล่านี้ไปบ้างแล้วเมื่อปลายปี 2546  แต่ในทางปฏิบัติเริ่มติดปัญหา อย่างเช่น การเจรจากับอินเดีย ยังไม่สามารถหาข้อสรุปในเรื่องหลักเกณฑ์การได้แหล่งกำเนิดสินค้า จีนเองก็ต้องการจะเจรจาลดภาษีกลุ่มอื่นๆ ให้อยู่ภายใต้กรอบของอาเซียนซึ่งเป็นไปได้ช้าเนื่องจากปัญหาความไม่พร้อมของประเทศในกลุ่มอาเซียนซึ่งในขั้นตอนไทยจะต้องตกลงกับประเทศสมาชิกอาเซียนก่อนจึงจะเจรจากับจีนได้ หรือแม้กระทั่งญี่ปุ่นซึ่งมีความกังวลในเรื่องสินค้าเกษตรว่าจะกระทบการขายในประเทศของตน

เห็นได้ว่า แต่ละประเทศต่างก็ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำเอฟทีเอระหว่างกัน  แนวทางการเจรจาที่พยายามให้ประเทศตนเสียเปรียบน้อยที่สุด หรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หรือพอจะแลกกันได้กับที่ต้องสูญเสีย การประวิงเวลาการเจรจาให้เนิ่นนานขึ้นเป็นอีกวิถีทางหนึ่งของการปกป้องผลประโยชน์ประเทศตน เหล่านี้พอจะทำให้เรารู้สึกและตั้งคำถามได้หรือไม่ว่า รัฐบาลไทยปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนมากน้อยแค่ไหน เหตุใดจึงเร่งรีบที่จะทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ โดยยังไม่ได้ศึกษาผลดีผลเสียอย่างรอบด้าน ไม่ได้เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาและตัดสินใจในเรื่องสำคัญที่จะมีผลกระทบต่อพวกเราในอนาคต ประสบการณ์และบทเรียนจากคำบอกเล่าของชาวชิลี, เม็กซิโก และโบลิเวีย ยังทำให้เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัวอีกหรือไม่ หรือประชาชนไทยจะขึ้นรถไฟขบวนที่นำโดยพลขับที่ชื่อ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ไปตายเอาดาบหน้าจริงๆ ! 


--------------------------------------------------------------

ข้อมูลอ้างอิงจาก

  • เอฟทีเอ : เศรษฐศาสตร์หรือการเมือง โดย ตีรณ  พงศ์มฆพัฒน์  หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 24 มีนาคม 2547
  • จาก WTO สู่ FTA : ยุทธศาสตร์การค้าโลกของอเมริกา โดย เกษียร  เตชะพีระ หนังสือพิมพ์มติชน เดือนมีนาคม 2547
  • ชิลี บนเส้นทางแห่งหายนะชื่อ FTA โดย เพ็ญนภา  หงษ์ทอง (FTA Watch)
  • 10 ปี เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ ประสบการณ์ที่ไทยต้องเรียนรู้ (FTA Watch)
  • กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ( FTA Watch)
  • สำนักข่าวประชาธรรม


ภาพทั้งหมดจาก http://www.ftawatch.org/

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >