หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 102 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


คนเล็ก...หัวใจ "โต" พิมพ์
Thursday, 17 August 2006


ธัญลักษณ์  นวลักษณกวี เรื่อง

คนเล็ก...หัวใจ "โต"

สังคมในยุควัตถุนิยมบริโภคนิยมครอบงำอย่างเต็มอัตรา หลายครั้ง...การทำดีของบางคนฉาบเคลือบด้วยมายาคติล่อลวงสังคมให้ติดกับดักที่วางไว้ หลายครา...เราเองก็ปฏิเสธการทำดีเพียงเพราะกังวลว่านั่นจะเป็นกับดักที่วางดักตน เราต่างระแวดระแวงกันและกัน ปฏิเสธการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่เอาตัวเข้าไปเกี่ยวพันข้องแวะกับคนอื่นที่มิใช่พวกพ้องตน เป็นสังคมตัวใครตัวมัน ต่างคนต่างอยู่ ช่างเป็นสังคมที่โดดเดี่ยวเหลือแสน

แต่พลันที่คลื่นสึนามิโหมซัดทุกข์โศกใส่ผู้คนใน 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน คลื่นน้ำใจจากทั่วประเทศและทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามาแบ่งเบาทุกข์บรรเทาโศกเป็นปรากฏการณ์อีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกไว้คู่ขนานกับหายนะภัยที่รุนแรง มีเรื่องราวของคนธรรมดาสามัญจำนวนมากที่อาสานำพาตนไปร่วมช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันอย่างที่ไม่เคยมีใครคาดคิดเช่นกัน ในสภาพการณ์สังคม ณ ปัจจุบันสมัย

หากเรื่องราวของความดีและการทำดี ทำให้เราชุ่มชื่นใจ เป็นดังพลังแฝงที่ซ่อนอยู่ในซอกมุมหนึ่งภายในจิตใจของมนุษย์และรอเวลาสำแดงพลัง... ให้ความดีมีพลังมากพอ ให้สังคมที่เราอยู่เป็นสังคมแห่งการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และอาทรต่อกัน เป็นสังคมที่มีอยู่จริง ไม่อิงนิยาย ...มิใยเราไม่นำเรื่องของบรรดาคนเล็กๆ ผู้มีหัวใจดวงโต มาเล่าให้กันฟังเยอะๆ เล่า  เพื่อร่วมปลุกเร้าเมล็ดพันธุ์แห่งความดีที่มีในตัวเราทุกคน ให้ตื่นและเบิกบานอยู่เสมอ...ตลอดไป


Imageนิศานาถ  โยธาสมุทร
"เวลามีค่า ชีวิตมีความหมายเกินกว่าจะอยู่เฉยๆ"

เมื่อรู้ข่าวมหันตภัยสึนามิคร่าชีวิตผู้คนใน 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันมากมายเกินกว่าใครจะคาดคิด พี่ตู่ - นิศานาถ  โยธาสมุทร เจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารของธนาคารแห่งหนึ่ง ไม่สามารถนิ่งเฉยเพียงดูรายงานข่าวทางทีวีได้อีกต่อไป เธอชักชวนเพื่อนร่วมงานนำสิ่งของและเงินบริจาคไปที่กองบรรเทาสาธารณภัย ที่ซึ่งเธอได้ข้อมูลมาว่าจะนำพาสิ่งของบริจาคไปสู่พี่น้องผู้ประสบภัยได้เร็วที่สุด

ที่กองบรรเทาสาธารณภัย เธอได้พบผู้คนจำนวนมากทั้งคนทำงาน นักเรียน นักศึกษา ฝรั่งต่างชาติ ต่างมาช่วยกันลำเลียงสิ่งของบริจาคที่ทวีจำนวนมากขึ้นๆ เพื่อส่งไปยัง 6 จังหวัดที่ประสบภัย และวันที่ 31 ธันวาคม 2547 ขณะที่ใครหลายคนเตรียมนับเวลาถอยหลังเพื่อฉลองต้อนรับวันใหม่ของปีใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่ เธอและเพื่อนผู้มีจิตใจอาสา กลับพากันมุ่งลงไปยังจังหวัดพังงาโดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยทำอาหารให้กับอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยซึ่งเหน็ดเหนื่อยอยู่ที่นั่น

เมื่อไปถึงเขาหลักเนเจอร์รีสอร์ท ซึ่งถูกใช้เป็นศูนย์อาสาสมัครสึนามิ เจ้าของรีสอร์ทชื่อ ครูแก้ว ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้หนึ่งที่คอยช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว ยังได้ยกรีสอร์ทให้เป็นที่ทำการและที่พักของกลุ่มอาสาสมัครช่วยผู้ประสบภัยอีกด้วย พี่ตู่เล่าว่า "วันที่เราไปถึงเจ้าของกับครอบครัวเขาเป็นคนทำอาหารทั้งหมดเลย และเขาไม่ได้พักเลยทั้งวันทั้งคืน เหนื่อยมาก จังหวะเราไปก็เลยบอกให้เขาพัก แล้วทีมเราก็ลงไปทำครัวทำอาหารให้อาสาสมัครทั้งหมด ให้ศูนย์บริการของตำรวจและพวกที่ไปกู้ชีพโดยมีรถของอาสาสมัครคันหนึ่งวิ่งเอาอาหารไปแจก พวกที่ทำอาหารก็ตื่นตั้งแต่ตีสี่ครึ่ง ลงครัวทำอาหาร 4 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น ค่ำ เพราะกว่าที่อาสาสมัครจะกลับมาจากไปแบกศพที่วัดบางม่วงและวัดย่านยาวก็ค่อนข้างดึก"

"ตอนแรกเรากะว่าคงมีคนไปแบกศพไม่เยอะ ปรากฏว่าคนชูมือไปแบกศพเยอะที่สุดในกลุ่มที่ทำงานซึ่งเราก็ค่อนข้างเป็นห่วงคนที่ไปแบกศพว่าจะไหวไหม แต่ทุกคนไหวและเต็มที่เลย"

พี่ตู่ช่วยงานทำครัวอยู่จนหมดช่วงวันหยุดจึงต้องกลับมาทำงานตามปกติ แต่เธอยังคงหมั่นเดินทางลงไปช่วยงานที่ศูนย์อาสาสมัครสึนามิอยู่เป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องจนถึงขณะนี้ และงานหนึ่งที่เธอได้นำความรู้ความสามารถในสายงานที่รับผิดชอบอยู่มาช่วยเหลือชุมชนที่ประสบภัยสึนามิอย่างรุนแรงชุมชนหนึ่ง คือ ชุมชนบ้านน้ำเค็ม เธอช่วยตั้งแต่การจัดทีมอาสาสมัครเพื่อจัดทำฐานข้อมูลของชุมชนบ้านน้ำเค็ม ช่วยประสานการหาทุนสำหรับกลุ่มอาชีพที่ชาวบ้านตั้งขึ้น ไปจนถึงการจัดตั้งธนาคารชุมชนเพื่อจัดการด้านการเงินของชุมชนให้เป็นระบบ

เธอพูดถึงการเป็นอาสาสมัครว่า  "พี่คิดว่าถ้าเราทำงานเป็นอาสาสมัครมาระยะหนึ่ง เราจะกระเด้งกับงาน เขามีอะไรที่ไหน เราก็อยากจะไป ช่วยเล็กช่วยน้อย ก็ถือว่าเวลาของเรามีค่า และทำให้ชีวิตมีค่ามากขึ้นกว่าการอยู่เฉยๆ การเข้ามาทำงานตรงนี้นอกจากจะได้กับผู้ที่เราช่วยแล้ว ยังได้กับตัวเรา ตรงนี้พี่คิดว่าเป็นการสร้างจิตสำนึกนะ"

"การสร้างจิตสำนึกไม่ได้สร้างด้วยคำพูด การอ่านหนังสือ หรือฟังคนมีความรู้มาบอก มันต้องลงไป ไปเจอด้วยตัวเรา และทำให้เกิดที่ใจของเรา" บทสรุปที่ชัดเจนของเธอคนนี้ - นิศานาถ  โยธาสมุทร



Imageสก็อต  คาร์เทอร์
ชายผู้ค้นพบความหมายชีวิตของชีวิต จากการเป็นผู้ให้

"ผมคิดว่าเราทุกคนสามารถอาสาเข้ามาช่วยเหลือกันด้วยเหตุผลพื้นฐานเลยคือ เราตระหนักว่าเราสามารถทำอะไรที่ช่วยพิทักษ์รักษาสิ่งดีๆ ในโลกนี้ได้ และทำด้วยสัญชาติญาณของความเป็นมนุษย์เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่เราจะช่วยเหลือกัน การเสียสละนี่แหละทำให้เราตระหนักว่ามันเป็นสิ่งสำคัญ" สก็อต  คาร์เทอร์  วิศวกรหนุ่มสัญชาติอเมริกัน กล่าวเช่นนั้น

นับตั้งแต่ภาพข่าวเหตุการณ์มหันตภัยคลื่นยักษ์สึนามิถล่มเข้าใส่ชายฝั่งทะเลของประเทศทางแถบเอเชียหลายประเทศ  ความสูญเสียที่ดูหนักหนาสาหัสครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติทำให้เขาพลอยรู้สึกทุกข์ร้อนไปด้วย เขาเริ่มคิดว่าเขาควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือประเทศเหล่านั้น เขาเสิร์ชหาข้อมูลเกี่ยวกับสึนามิทางอินเตอร์เน็ตว่าที่ใดต้องการความช่วยเหลือบ้าง แล้วเขาก็พบว่าเมืองไทยเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่พร้อมรับความช่วยเหลือจากนานาประเทศ

เพียงย่างเข้าสัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคม 2548 เท้าเขาก็สัมผัสถึงผืนดินไทย จุดหมายแรกของเขาคือ ภูเก็ต - เกาะหนึ่งที่ได้รับความเสียหายจากคลื่นสึนามิ ที่นี่เขาเช่ามอเตอร์ไซด์ขี่ตระเวนไปตามโรงพยาบาลและคลีนิคต่างๆ เพื่อดูว่าเขาพอจะช่วยอะไรได้บ้าง สัปดาห์แรกที่ภูเก็ต...วันแล้ววันเล่าผ่านไปโดยที่เขายังไม่สามารถทำอะไรได้ เขาเกือบจะเริ่มท้อถอยและสิ้นหวัง แล้วก็มีคนบอกเขาให้ไปที่วัดย่านยาว จ.พังงา เพราะที่นั่นยังต้องการอาสาสมัครช่วยผู้ประสบภัยอีกมาก เขาจึงเดินทางต่อไปยังเขาหลัก จ.พังงา ที่เขาหลักเนเจอร์รีสอร์ทซึ่งใช้เป็นศูนย์อาสาสมัครสึนามิ แล้วเขาก็ได้ร่วมเป็นหนึ่งในทีมอาสาสมัครช่วยงานต่างๆ เท่าที่จะมีให้เขาช่วยได้ เป็นอันบรรลุเจตนารมณ์

สก็อตไม่หยุดเพียงเท่านี้ เมื่อได้เข้าไปช่วยต่อและซ่อมเรือประมงให้กับชาวบ้านซึ่งสูญเสียเรือประมงกันอย่างถ้วนหน้า  เขาได้พบผู้มีน้ำใจดีหลายคนที่ต้องการบริจาคเงินช่วยเหลือในการทำเรือประมงให้ชาวบ้าน โครงการสร้างโรงต่อเรือและซ่อมเรือประมงที่แหลมปะการัง หรือ Tsunami Boat Project - โครงการเล็กๆ จึงได้เริ่มต้นขึ้นอย่างสวยงามเพื่อฟื้นฟูอาชีพให้กับผู้ประสบภัยสึนามิด้วยเงินบริจาคเริ่มต้นจากเขารวมกับผู้บริจาคอื่นๆ ที่ทยอยสมทบเข้ามาเรื่อยๆ

"เงินบริจาคจะไม่สูญหายไปไหนหรอก พวกเขามั่นใจได้ว่ามันถูกนำมาใช้อย่างรอบคอบและรู้คุณค่าเพื่อพัฒนาชีวิตของผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิ นั่นคือสิ่งที่เราทำ" เขายืนยันถึงที่มาที่ไปของดอกผลจากหลายน้ำใจนั้น

ดินแดนอีกฟากมหาสมุทรไกลโพ้นจากบ้านที่เขาจากมา กลับทำให้เขาได้ค้นพบคุณค่าและความหมายของการมีชีวิตอยู่

"ตอนนี้ผมควรจะอยู่ที่อเมริกาใช่ไหม ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ไปทำงานทุกวัน เลี้ยงหมา ตัดหญ้าหน้าบ้าน ไปกินอาหารค่ำบ้านเพื่อน และควรจะมีความสุขแล้วใช่ไหม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่มันสำคัญและยิ่งใหญ่กว่ากันมากนัก"

"ผมบอกได้เลยว่าตอนนี้ผมมีความสุขมาก อย่างที่ไม่เคยรู้สึกอย่างนี้มาก่อนเลยในชีวิต ถึงแม้ความเป็นอยู่ที่นี่จะไม่สะดวกสบายนัก แม้จะไม่มีเพื่อนฝูงและครอบครัวที่คุ้นเคยที่นี่ก็ตาม แต่การอยู่ที่นี่ได้ทำให้ผมเห็นคุณค่าว่าสิ่งที่ดียังมีอยู่ในโลกนี้"



Imageเกศสุดา ชาตยานนท์ บุญงามอนงค์
หญิงสาวผู้เห็นคุณค่าของเม็ดทราย

"ชีวิตทุกคนเปรียบเสมือนเม็ดทรายเม็ดเล็กๆ ที่มีคุณค่าในตัวเอง เพียงแต่เราจะค้นพบและค้นหาคุณค่านั้นได้หรือไม่เพียงใด คุณค่าของเม็ดทรายมีมากมายมหาศาล บางคนไม่เคยรู้ บางคนพัฒนาได้เปี่ยมล้น และเหลือไปสู่สิ่งรอบๆ..."

ส่วนหนึ่งของบทความ "จากเม็ดทรายเม็ดเล็กสู่ผืนทรายสวยงาม" โดย ครูเกด - เกศสุดา  ชาตยานนท์ บุญงามอนงค์ ครูสอนโยคะ นักเขียนและนักจัดอบรมนพลักษณ์ ซึ่งเขียนเล่าเรื่องราวของอาสาสมัครสึนามิทั้งไทยและต่างชาติที่ลงมารวมกันอยู่ในชุมชนที่เรียกว่า "ศูนย์อาสาสมัครสึนามิ"  ณ เขาหลักเนเจอร์  รีสอร์ท จ.พังงา ปรากฏอยู่บนเว็บไซท์ www.tsunami volunteer.net ด้วยมุ่งหวังบอกเล่าเรื่องราวของคนดีให้สังคมได้รับรู้กว้างขวางขึ้น

เธอบอกว่า "ตอนที่เกิดเหตุการณ์ก็คิดว่าจะช่วยอะไรได้ คิดว่างานที่เราถนัดคือเรื่องของจิตใจ ก็คงเป็นเรื่องสอนโยคะ พอมาแล้วก็มาทำเรื่องนี้และงานเขียนที่จะสื่อออกไปถึงความรู้สึกของเรา ทำอย่างไรให้คนได้รับรู้เรื่องพวกนี้ และให้ความสำคัญกับเรื่องของการยกระดับจิตใจว่าในการทำอะไรที่ดีๆ ก็เป็นความสุขแบบหนึ่ง"

การสอนโยคะเพื่อช่วยในเรื่องสุขภาวะทางกายและจิตใจให้กับอาสาสมัคร การพูดคุยสัมภาษณ์เก็บข้อมูลบรรดาอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยงานที่ศูนย์อาสาสมัครสึนามิ เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลอาสาสมัครสำหรับศูนย์ฯ นี้ แต่เมื่อได้เห็นได้สัมผัสรับรู้เรื่องราวของอาสาสมัครทั้งไทยและต่างชาติจำนวนมากที่มาร่วมไม้ร่วมมือช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยและต่างก็ทำงานกันอย่างมีความสุขซึ่งฉายโชนออกมาจากใบหน้าอาบไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เธอจึงอยากจะแบ่งปันให้คนภายนอกได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้บ้าง

อย่างเช่น เรื่องราวของอาสาสมัครหญิงชาวออสเตรเลีย วัย 70 ปี ชื่อแมรี่ แจ็คสัน มีอาชีพเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบและตกแต่งภายในบ้านหรือที่เรารู้จักกันในอาชีพของมัณฑนากร คุณเกศสุดาได้บรรยายไว้ว่า "หญิงสูงวัยที่คนที่นี่ให้ฉายาว่า เจมส์   แมรี่ เพราะรถที่ป้าแมรี่ใช้อยู่เป็นรถรุ่นเดียวกับที่เจมส์บอนด์ใช้ เธอไม่มีแววของคนอายุ 70 ยังคงความสง่างามในบุคลิกท่าทาง เธอเดินทางมาแล้วรอบโลก ศรัทธาในพุทธศาสนาแบบมหายานผ่านท่านดาไลลามะ แมรี่บอกว่าตลอดชีวิต 70 ปีของเธอ ได้เจอคนที่มีชื่อเสียงเงินทองหลายคนในชีวิต แต่ไม่เคยเห็นอะไรที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นชีวิตที่ยิ่งใหญ่ ชีวิตที่มีแต่ให้ ไม่แบ่งแยกฐานะ เสื้อผ้าการแต่งตัว ทุกคนทุกชาติรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว ร่วมจิตร่วมใจทำงานเพื่อผู้อื่นกันอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยในสถานที่แห่งนี้"

สำหรับตัวเธอเองแล้ว เธอก็ได้รับสิ่งดีจากการเป็นผู้ให้และผู้รับเช่นกัน

"กับตัวเองรู้สึกว่ามันช่วยชาร์จไฟตัวเองด้วย ทำให้เราเห็นว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ทุกคนก็รู้สึกถึงความทุกข์เหมือนกัน และหยิบยื่นช่วยเหลือกัน เรายิ่งเห็นเลยว่ามีคนดีๆ ที่มีน้ำใจอยู่มากมายที่พร้อมจะช่วยเหลือคนอื่นๆ ตัวเองก็ได้สิ่งดีๆ จากคนเหล่านี้เยอะ"

คงเป็นอย่างที่เธอเขียนไว้ "เม็ดทรายที่มีคุณค่าในตัวเองจะส่องประกายไปทุกหนแห่งของผืนดินที่เขาอยู่ และที่เขารับรู้ในทุกๆ ที่ จากหนึ่งเป็นร้อยเป็นพันแสนล้าน สว่างไสวในผืนโลกตลอดไปในใจของผู้กระทำและผู้ได้สัมพันธ์ใกล้ชิด"



Imageดร.มิชิตา  จำปาเทศ รอดสุทธิ
กับ การสร้างเครือข่ายผู้มีหัวใจอาสา

"รู้สึกว่าคนเขาคงเดือดร้อนน่ะค่ะ อยากจะทำอะไรสักอย่าง ไม่รู้ว่าจะทำอะไร แต่ก็ลงมาดูเผื่อจะทำอะไรได้บ้าง พอเคลียร์งานได้ก็รีบลงมาเลย"

ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ อาจารย์และผู้บริหารสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ บอกถึงเหตุผลที่ลงมาเป็นอาสาสมัครที่ จ.พังงา

"เวลาคนถามว่าทำไมถึงลงมาช่วย จะบอกว่า ไม่รู้เป็นอะไร มันคัน เลยต้องลงมา อารมณ์นั้น มันนั่งทำงานไม่ได้ ทำไปแล้วจะเป็นห่วงว่า เอ๊ะ เขาจะเป็นยังไงกัน ไม่ได้ต้องลงมาดูเผื่อทำอะไรได้บ้าง นิดๆ หน่อยๆ"

"ลงมาเดือนมกราคม ทราบข้อมูลว่า สสส. นำอาสาสมัครลงมาช่วยที่เขาหลัก ตอนแรกตั้งใจมาขนศพนะคะ แต่เขาบอกว่าศพเหลือน้อยแล้ว เขาให้ช่วยจัดองค์กร แปลข้อมูลพื้นฐาน ทำฐานข้อมูลผู้เสียชีวิต ผู้สูญหาย และช่วยทำรีคอนสตรั๊คชั่นศพโดยใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกช่วย เพราะสภาพศพเต็มไปด้วยโคลน มีหมอจากต่างประเทศมาช่วยทำด้วย เราก็ช่วยเท่าที่ช่วยได้เพื่อไปประกอบกับข้อมูลพื้นฐาน"

เมื่อลงมาและได้พบเจอกับหลากหลายผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกฐานะอาชีพ จากต่างที่ต่างถิ่น แต่รวมแล้วล้วนมีเป้าหมายเดียวกันในการทำเพื่อผู้อื่นอย่างแท้จริง เธอเริ่มคิดว่าน่าจะถึงเวลาที่สังคมไทยควรจะมีเครือข่ายอาสาสมัคร อย่างเป็นระบบ

"ตัวเองได้เรียนรู้ ได้รับการขัดเกลาไม่ใช่แค่ระดับพฤติกรรม แต่เป็นระดับจิตใจลึกๆ ด้วย คือเรื่องอาสาสมัครมันไม่ใช่เพียงเราลงไปช่วยชุมชนอย่างเดียว ตอนแรกคิดแบบนั้น จริงๆ แล้ว มันกลายเป็นว่า ตัวเองก็ได้ด้วย ได้การพัฒนาตัวเอง ทั้งพฤติกรรม เรียนรู้การอยู่กับสิ่งต่างๆ เรียนรู้ชุมชน ทั้งความรู้และระดับจิตใจ นี่คือสำหรับตัวเอง แต่ว่าพอเจอตรงนี้ก็เลยรู้สึกว่า อยากให้หลายๆ คนไม่ใช่แค่เราคนเดียว อยากให้ความดีทางทฤษฎีที่เราศรัทธา สนใจ สามารถเชื่อมโยงกับความดีในทางปฏิบัติ พอเจอเรื่องอาสาสมัครก็พบว่า นี่แหละเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้คนทำดีได้ง่ายๆ และไม่ยากอะไร ไม่เหนื่อยด้วย ไม่ต้องมีพิธีกรรมมากมาย และเห็นเด็กๆ วัยรุ่นเยอะเลยลงมาทำดีกัน พอเขาฝึกทำดีไปเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นอัตโนมัติขึ้น ทีหลังพอทำดีบ่อยๆ ก็จะเป็นพฤติกรรมซ้ำๆ จิตใจเขาก็ยกระดับขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งเขาอาจจะต่อไปในเรื่องที่ลึกซึ้งมากขึ้นได้เอง บางคนมีอยู่แล้ว มาถึงปุ๊บก็ คลิ๊กเลย เราก็เลยคิดว่า อืม ถ้าอย่างนั้น น่าจะยกระดับอาสาสมัคร ตอนนี้ก็เลยร่วมกับหลายๆ คน กับกลุ่มเอ็นจีโอต่างๆ ต่อสานกันเชื่อมเป็นเน็ตเวิร์คอาสาสมัครกันเพื่อให้เมืองไทยมีระบบตรงนี้ชัดเจนขึ้น"

Volunteer Spirit Network เป็นชื่อขององค์กรที่จะทำหน้าที่เชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรอาสาสมัครที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการเข้าถึงงานอาสาสมัคร นั่นหมายถึงองค์กรนี้จะเป็นแหล่งข้อมูลให้ผู้ที่ต้องการจะเข้ามาเป็นอาสาสมัคร ได้ทราบว่าในเมืองไทยนั้นมีองค์กรอาสาสมัครใดที่พวกเขาจะช่วยได้ ภายในระยะเวลาที่พวกเขามีให้ พร้อมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับงานอาสาสมัคร รวมถึงหลักเกณฑ์ที่อาสาสมัครควรปฏิบัติ

ดร.มิชิตา บอกว่า การปลุกกระแสอาสาสมัครให้สังคมได้รับรู้ยังคงมีความสำคัญ แม้สึนามิจะสร่างซาไปแล้วก็ตาม


Image
และนี่คือความมุ่งหวังที่จะสานต่อพลังอาสาสมัคร
ให้คนทำดีกันได้ง่ายๆ ให้ผู้มีหัวใจอาสา ได้มีที่ทางหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงาม
เพื่อให้ความดีงอกงามในใจของเราทุกคน


ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >