หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 240 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


พระเจ้าคือความรัก (Deus Caritas Est) ในมิติด้านสังคม : โดย บาทหลวงวัชรินทร์ สมานจิต พิมพ์
Wednesday, 29 March 2017

พระเจ้าคือความรัก (Deus Caritas Est) ในมิติด้านสังคม

โดย บาทหลวงวัชรินทร์ สมานจิต


I. ความเข้าใจพื้นฐานเรื่อง “ความรัก”

Imageพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ทรงใช้คำสองคำเพื่ออธิบายความหมายของความรัก เพื่อทำความเข้าใจและเน้นย้ำถึงพันธกิจของพระศาสนจักร ในการเป็นเครื่องหมายและเครื่องมือของความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อมนุษยชาติ คือ

1.  Eros เป็นความรักแบบชาย - หญิง เป็นความรักแบบแสวงหาเพื่อประโยชน์สุขส่วนตน เพื่อความพึงพอใจของตนเอง เป็นความรักทางโลก ความรักในลักษณะนี้ไม่จีรัง จึงต้องได้รับการชำระและยกระดับให้สูงขึ้น

2.  Agape เป็นความรักบริสุทธิ์ต่อเพื่อนมนุษย์ ความรักที่ค้นพบแล้วอย่างแท้จริง ที่มีพื้นฐานและหล่อหลอมขึ้นด้วยความเชื่อ และพร้อมที่จะเสียสละและมอบให้อีกฝ่ายหนึ่ง เป็นความรักมุ่งสู่ความเป็นนิรันดร์ และเป็น “บรมสุข” แท้จริง

ความรักแบบ Eros และ Agape ต่างมีความสำคัญ แม้จะต่างกันในระดับขีดขั้นของความรัก แต่เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้และมีส่วนเป็นพลังเสริมสร้างกันและกัน ความรักแบบ Eros ในขั้นแรกอาจมุ่งเพื่อตนเองของแต่ละฝ่าย แต่อาศัยการชำระให้บริสุทธิ์ ความรักนี้จะค่อยๆ เจริญเติบโต มีวุฒิภาวะสูงส่งขึ้น กล่าวคือ จากความเห็นแก่ตัวกลายเป็นความห่วงใยและดูแลเอาใจใส่อีกฝ่ายหนึ่ง จากการแสวงหาตนเองกลายเป็นการแสวงหาความดีของผู้ที่ตนรัก รู้จักปฏิเสธตนเอง และมอบตนเองหรืออุทิศตนเพื่ออีกฝ่ายหนึ่ง แม้กระทั่งเต็มใจที่จะเสียสละและบูชาชีวิตเพื่อผู้อื่น ซึ่งเข้าสู่ขั้นของความรักแบบ Agape


II. การปฏิบัติความรักของพระศาสนจักร ในฐานะที่เป็น “ชุมชนแห่งความรัก”

Image1.  การไตร่ตรองทางเทววิทยา และคำสอนด้านสังคม (19)

1.1   กิจเมตตาธรรมของพระศาสนจักร เป็นการแสดงออกซึ่งความรักแห่งพระตรีเอกภาพ
“หากท่านเห็นกิจเมตตาธรรม ท่านก็เห็นพระตรีเอกภาพ” (น.ออกัสติน)

1.1.1  อาศัยการไตร่ตรองถึงพระเจ้าผู้ที่ถูกอาวุธทิ่มแทง (ยน 19:37) ทำให้เราทราบถึงแผนการของ พระบิดาผู้ทรงรักโลกอย่างมาก ได้ทรงส่งพระบุตรแต่องค์เดียวของพระองค์มาบังเกิดในโลกเพื่อไถ่กู้มนุษย์ (ยน 3:16) ด้วยการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระองค์ พร้อมกับหวังที่จะได้รับพระพรของ พระจิตเจ้า หลังจากที่พระองค์ทรงกลับคืนพระชนม์ชีพ (ยน 20:22) อีกด้วย

1.1.2  พระจิตเจ้าทรงเป็นพลังแห่งอำนาจภายใน...

  • ทรงผนึกดวงใจของบรรดาอัครสาวกให้เป็นหนึ่งเดียวกันกับดวงหทัยของพระคริสตเจ้า กล่าวคือ ทำให้พวกเขารักผู้อื่นดังที่พระคริสตเจ้าทรงรักพวกเขา
  • ทรงเป็นพลังที่เปลี่ยนดวงใจของชุมชนคริสตชน ให้เป็นประจักษ์พยานถึงความรักของพระบิดา ผู้ทรงประสงค์ให้มนุษยชาติเป็นครอบครัวเดียวกัน


1.2  คุณค่าและความหมายของการปฏิบัติกิจเมตตาธรรมของพระศาสนจักร

1.2.1  เป็นการแสดงออกถึงความรักที่แสวงหาความดีส่วนรวมของมนุษย์

1.2.2  เป็นการแสวงหาการประกาศพระวรสาร โดยอาศัยพระวจนารถและศีลศักดิ์สิทธิ์

1.2.3  เป็นการแสวงหาหนทางในการส่งเสริมมนุษย์ในบริบทต่างๆ ของชีวิต และกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์

1.2.4  ยึดมั่นในจิตตารมณ์แห่ง “ความรักคือการรับใช้” และ “การรับใช้ด้วยความรัก” เพื่อคอยดูแลเอาใจใส่ความทุกข์ยากและความต้องการต่างๆ ของเพื่อนพี่น้องทั้งด้านจิตใจและด้านวัตถุ ทั้งนี้ทุกคนจะได้มีโอกาสพัฒนาชีวิตให้สมบูรณ์ในฐานะที่เป็นมนุษย์


2. พระศาสนจักรมีพันธกิจปฏิบัติความรักต่อเพื่อนมนุษย์ (Agape) ตั้งแต่แรกเริ่มและเป็นกิจร่วมสมัย

2.1  ความรักต่อเพื่อนมนุษย์เป็นความรับผิดชอบของสมาชิกหรือสัตบุรุษแต่ละคนและเป็นความรับผิดชอบของชุมชน จึงต้องมีการบริหารจัดการในเชิงโครงสร้าง คือ ถ่ายทอดและซื่อสัตย์ต่อ “คำสั่งสอนของอัครสาวก” มี “ความเป็นหนึ่งเดียวกัน” (Koinonia) มีพิธี “การหักปัง” และ “การสวดภาวนา” (กจ 2:42-45) ทั้งนี้ เพื่อชุมชนที่มีความเชื่อจะต้องไม่มีที่ว่างสำหรับความยากจน (กจ 4:32-37)  (20)

2.2  ในกลุ่มคริสตชนสมัยแรก ได้มีการสรรหาบุคลากรและจัดตั้งกลุ่มสังฆานุกร (Diaconia) 7 คน ที่มีจิตตารมณ์แห่งการรับใช้และอุทิศตน เพื่อบริหารจัดการพันธกิจเมตตาธรรมลงสู่ภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและมีระเบียบ (กจ 6:5-6) การปฏิบัติความรักต่อเพื่อนมนุษย์นี้จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของพระศาสนจักร (21)

2.3  สนามงานเมตตาธรรมของพระศาสนจักรได้ขยายขอบเขต และขอบข่ายงานเพิ่มมากขึ้น จึงได้รับการสถาปนาให้เป็นพันธกิจที่มีความสำคัญ ควบคู่กันไปกับการโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์และการประกาศพระวาจา มีการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้ขัดสนและผู้ทนทุกข์ที่หลากหลายและด้วยวิธีการหลายรูปแบบ ซึ่งพระศาสนจักรถือว่า กิจเมตตาธรรมเหล่านี้ “เป็นเหมือนดังศีลศักดิ์สิทธิ์และการประกาศพระวรสาร พระศาสนจักรไม่อาจมองข้าม กิจเมตตาเช่นเดียวกับที่ไม่อาจละเลยต่อศีลศักดิ์สิทธิและพระวาจา” ดังตัวอย่างของนักบุญยุสติน มรณสักขี แตร์ตูลเลี่ยน นักเขียน คริสตชนผู้ยิ่งใหญ่ และนักบุญอิกญาซีอุส แห่งเมืองอันติโอ๊ค (22)

2.4  ในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักร งานเมตตาธรรมต่อคนยากจนและผู้ที่ทนทุกข์เป็นงานสำคัญส่วนหนึ่งโดยธรรมชาติของพระศาสนจักรโรมมาตั้งแต่แรก เช่น สังฆานุกรลอเรนซ์ (ค.ศ.258) นักบุญอัมโบรซีโอ (ค.ศ.397) และจักรพรรดิจูเลียโน (ค.ศ.363) ต่อมาได้มีการพัฒนาโครงสร้างของพระศาสนจักรในการปฏิบัติพันธกิจเมตตาธรรม โดยเริ่มจากสถาบันนักพรตในรูปแบบของ Diaconia ที่ประเทศอียิปต์ กลางศตวรรษที่ 4 และได้รับการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายในศตวรรษที่ 6 สถาบันนี้ได้ขยายออกไปทั่วทั้งทิศตะวันออกและตะวันตก ที่เมืองเนเปิ้ลในสมณสมัยของพระสันตะปาปาเกรโกรี (ค.ศ.604) และที่โรม ในศตวรรษที่ 7 และ 8 (23-24)


3.  ผลการไตร่ตรองถึงชีวิตของพระศาสนจักร (25)

3.1  ธรรมชาติล้ำลึกของพระศาสนจักรแสดงออกมาในความรับผิดชอบ 3 ประการ

3.1.1  การประกาศพระวาจาของพระเจ้า ด้วยการเจริญชีวิตที่เป็นประจักษ์   พยาน  (Kerygma – ประกาศ และ Martyria – เป็นประจักษ์พยาน)

3.1.2  การเฉลิมฉลองศีลศักดิ์สิทธิ์ (Leitourgia)

3.1.3  การประกอบกิจเมตตา (diakonia)

หน้าที่ทั้ง 3 ประการนี้เอื้อต่อกันและกันและไม่อาจแยกจากกันได้ ดังนั้น งานเมตตาธรรมจึงเป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติของพระศาสนจักร


3.2  พระศาสนจักรคือครอบครัวของพระเจ้าในโลกนี้ภายในครอบครัวไม่ควรมีผู้ใดเดือดร้อนสิ่งจำเป็นในชีวิต พระศาสนจักรยังมีความรับผิดชอบพิเศษภายในครอบครัวของพระศาสนจักรเอง แต่ในขณะเดียวกัน ความรักแบบ Agape ซึ่งเป็นความรักสากล และเป็นความรักที่เสียสละแบ่งปัน ต้องครอบคลุมไปยังพี่น้องต่างความเชื่อ ต่างวัฒนธรรมและประเพณีด้วย ดังนิทานเปรียบเทียบเรื่องชาวซามาริตันผู้ใจดี


4.  งานกิจเมตตาของพระศาสนจักร ต้องอยู่ในบริบทความยุติธรรม

Image4.1  ในศตวรรษที่ 19 ลัทธิมาร์กซ์ ได้วิพากษ์พระศาสนจักรให้หันมาเอาใจใส่เรื่องความยุติธรรมในงานกิจเมตตาธรรมในสังคม โดยอ้างว่า คนจนไม่ต้องการความเมตตา แต่ต้องการความยุติธรรม งานเมตตาธรรม เช่น การทำบุญให้ทาน กำลังกลายเป็นเครื่องมือของคนรวย ที่จะหลีกเลี่ยงการปฏิบัติความยุติธรรม นอกจากนั้น ยังเป็นเครื่องมือผ่อนคลายมโนธรรมของผู้มีอำนาจ ผู้มีสถานะทางสังคม ที่กำลังขโมยสิทธิของคนจนไป

4.2  พระศาสนจักรแสดงจุดยืนถึงความจริงที่ว่า การดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมต้องเป็นมาตรการ พื้นฐานของรัฐ และเป้าหมายของระเบียบสังคมชอบธรรมต้องเป็นหลักประกันให้ทุกคนตามหลักการของความเอื้ออาทร คือ ทุกคนมีส่วนในสมบัติของชุมชน (26)

4.3  พระศาสนจักรยอมรับถึงความเชื่องช้าในการรับรู้ว่า มีความจำเป็นต้องใช้กระบวนการใหม่ในการจรรโลงโครงสร้างของสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ได้มีความพยายามทดลองปฏิบัติงานกิจเมตตาที่เป็นรูปธรรมโดยกลุ่มชน สมาคม สมาพันธ์ โดยเฉพาะคณะนักบวชที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ในศตวรรษที่ 19 เพื่อทำสงครามกับความยากจน โรคภัยไข้เจ็บ และส่งเสริมการศึกษาให้ดีขึ้น (27)

4.4  พระศาสนจักรได้พยายามปรับตัวในการติดตามสถานการณ์สังคมอย่างใกล้ชิด และทำการไตร่ตรองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับนำเสนอหลักปฏิบัติเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติความรักเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ ดังปรากฏในสมณสาสน์ของพระสันตะปาปา ดังนี้

4.4.1  พระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 (1891) ใน Rerum Novarum ที่แสดงความห่วงใยพระศาสนจักร ต่อปัญหาความอยุติธรรมของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม การเอาเปรียบคนงาน ในเรื่องค่าจ้าง และสวัสดิการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นขั้นพื้นฐาน

4.4.2  พระสันตะปาปาปีโอ ที่ 11 (1931) ใน Quadragesimo Anno ที่ประณามระบบทุนนิยมในแนวทางของฟาสซิสต์ในอิตาลี ซึ่งเป็นตัวการของความอยุติธรรมในสังคม และเรียกร้องเรื่องสิทธิของบุคคลต่อหน้ารัฐ ที่จะประกาศความเชื่อและดำรงชีวิตตามความเชื่อ

4.4.3  พระสันตะปาปา ยอห์นที่ 23 (1961) Mater et  Magistra ได้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนของกลุ่มประเทศที่ร่ำรวย และยากจน การแข่งขันสะสมอาวุธ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ก่อตัวขึ้น ทำให้เกิดการพึ่งพาและการเอาเปรียบกันมากขึ้น พระองค์จึงทรงเรียกร้อง ให้คริสตชนให้ความสำคัญต่อการนำเอาคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักรไปปฏิบัติ และให้มีการปฏิบัติทางสังคม ด้วยกระบวนการ See Judge Act ซึ่งเป็นการตอกย้ำการมี Critical Mind ของพระศาสนจักร

4.4.4  พระสันตะปาปา ปอลที่ 6 (1967) ใน Populorum Progressio ที่คำนึงถึงการพัฒนามนุษย์ จากบทเรียนของนโยบายการพัฒนาที่ประเทศโลกที่หนึ่งมีต่อโลกที่สาม จึงนำเสนอแนวคิดการพัฒนาว่า การพัฒนามนุษย์ไม่ใช่เพียงมิติทางเศรษฐกิจเท่านั้น ต้องมีมิติด้านสังคม การเมือง และวัฒนธรรม และจิตใจด้วย ซึ่งหมายถึงการพัฒนาแบบองค์รวม

4.4.5  พระสันตะปาปา ปอลที่ 6 (1971) ใน Octogesima Adveniens ที่เห็นปรากฏการณ์ของคนจนภาคเมือง จากการอพยพเข้าไปทำงานมีมากขึ้น และกลายเป็นปัญหาสังคม โดยเฉพาะปัญหา ผู้หญิง เด็ก และบริโภคนิยม ซึ่งเป็นปัญหาจากเศรษฐกิจ และจำเป็นต้องแก้ไขด้วยการเมือง พระองค์จึงเชิญชวนให้คริสตชนให้เกี่ยวข้องกับการเมือง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสังคม

4.4.6  พระสันตะปาปา ยอห์นปอล ที่ 2 ได้ออกสมณสาสน์ด้านสังคมที่สำคัญ 3 ฉบับติดต่อกัน หรือเรียกว่าเป็นไตรวิทยาด้านสังคม คือ

  • Laborem Exercens (1981) ที่กล่าวถึง คนงาน โดยเฉพาะเกียรติ ศักดิ์ศรี และสิทธิของมนุษย์ในฐานะคนงาน และสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม
  • Sollicitudo Rei Socialis (1987) ที่แสดงความห่วงใยต่อสังคม และประณามโครงสร้างที่อยุติธรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนามนุษย์
  • Centesimus Annus (1991) ที่ศึกษาวิวัฒนาการของสังคมในช่วง 100 ปี และ วิพากษ์ระบบ Neo-liberalism ที่กำลังก่อตัวขึ้นและเป็นต้นเหตุของธนกิจการเมืองในสังคมปัจจุบัน พระสันตะปาปา ยอห์นปอล ที่ 2 เรียกร้องว่า ในการทำงานเพื่อผู้อื่น เพื่อความยุติธรรมในสังคม คริสตชนจำเป็นต้องศึกษาบทเรียนในอดีต ต้องเข้าใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และต้องวางแผนที่จะทำงานในอนาคต

4.4.7  พระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ทรงเน้นย้ำถึงพัฒนาการของคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร และการให้ความสำคัญต่อคำสอนด้านนี้ กล่าวว่า “ในสภาพการณ์สลับซับซ้อนของทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นเพราะการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดของเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์ คำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักรคือคู่มือแนะนำขั้นพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพมาก กระทั่งเหนือเขตแดนปกครองของพระศาสนจักรด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับการพัฒนา คำแนะนำดังกล่าวจะต้องนำมาใช้ในบริบทแห่งการเสวนากับทุกท่าน ที่มีความกังวลอย่างจริงจังต่อมนุษยชาติและต่อโลกที่เราอาศัยอยู่” (27)


5.  ความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรมและพันธกิจเมตตาธรรม (28)

Imageเมื่อพันธกิจเมตตาธรรม เป็นความสัมพันธ์ที่แยกไม่ออกจากความยุติธรรมในสังคม และเมื่อสังคมจะดำรงอยู่ได้อย่างมีระเบียบ ต้องอาศัยการเมืองการปกครอง พระศาสนจักรจึงมีหน้าที่ช่วยจัดระเบียบยุติธรรมของรัฐและสังคม โดยคำนึงถึงหลักสำคัญสองประการคือ

5.1 การจัดระเบียบชอบธรรมของสังคมและของรัฐเป็นความรับผิดชอบหลักของการเมือง

5.1.1  นักบุญเอากุสตีโนได้กล่าวไว้ว่า “รัฐใดที่ไม่มีการปกครองตามหลักความยุติธรรมรัฐนั้นก็จะเป็นแค่คนที่เป็นหัวขโมยกลุ่มหนึ่ง” (Remota itaque iustitia quid sunt regna nisi magna latrocinia?) พื้นฐานสำคัญของคาทอลิกคือ อะไรเป็นของซีซาร์และอะไรเป็นของพระเจ้า (มธ 22:21) ซึ่งแบ่งแยกชัดเจนระหว่าง พระศาสนจักรกับรัฐ

5.1.2  ความยุติธรรมต้องเป็นทั้งเป้าหมาย และมาตรฐานภายในของการเมืองทุกอย่าง กล่าวคือ ต้นกำเนิดและเป้าหมายของการเมือง ต้องตั้งอยู่บนความยุติธรรม ซึ่งโดยธรรมชาติของมันเองคืออยู่ในคุณธรรมและจริยธรรม

5.1.3  ความยุติธรรมอาจถูกใช้ หรือบิดเบือนไปโดยระบอบการเมือง เพราะอยู่ที่การใช้เหตุผล อันเนื่องมาจากความมืดบอดบางอย่างในเชิงจริยธรรม ไม่ว่าจะเป็นอำนาจหรือผลประโยชน์ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อเป็นเช่นนี้ “การเมืองและความเชื่อจะบรรจบพบกัน ณ จุดนี้ ธรรมชาติพิเศษของความเชื่อคือ การที่ได้พบกับพระเจ้าผู้ทรงชีวิต เป็นการพบที่เปิดประตูสู่มิติใหม่ที่ข้ามบริบทของเหตุผล แต่ก็ยังเป็นพลังที่คอยชำระล้างให้เหตุผลเองด้วย” พระศาสนจักรจึงมีหน้าที่สำคัญ 2 ประการคือ 

  • ช่วยชำระเหตุผลเกี่ยวกับความยุติธรรมให้สะอาดหมดจดเพื่อทราบว่าอะไรคือความยุติธรรม โดยไม่มีจุดประสงค์ที่จะอยู่เหนืออำนาจรัฐ หรือบังคับให้ผู้ที่ไม่มีความเชื่อต้องเชื่อด้วยการคิดและวิธีคิดของพระศาสนจักร
  • โดยอาศัยคำสอนด้านสังคม “พระศาสนจักรต้องการที่จะสร้างมโนธรรมในชีวิตการเมือง และช่วยกระตุ้นให้มองลึกๆ ถึงหลักการที่แท้จริงของความยุติธรรมพร้อมกับความตั้งใจจริงที่จะปฏิบัติตาม”

5.1.4  “พระศาสนจักรโดยอาศัยหน้าที่ อาศัยการชำระเหตุผลให้สะอาดและอาศัยคำแนะนำด้านจริยธรรม จำต้องมีส่วนในการสร้างความเข้าใจพื้นฐานที่ถูกต้องของความยุติธรรม ซึ่งควรที่จะได้มาด้วยการเมือง”

5.1.5    เพื่อให้ได้มาซึ่งสังคมที่ยุติธรรม พระศาสนจักร......

  • ไม่สามารถและต้องไม่ลงไปในสนามรบทางการเมือง
  • ไม่สามารถและต้องไม่ไปมีบทบาทแทนรัฐ
  • ไม่สามารถและต้องไม่ยืนดูอยู่ข้างทางในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม
  • เล่นบทบาทโดยอาศัยการโต้ด้วยเหตุผล ต้องปลุกพลังจิตให้เกิดขึ้นและส่งเสริมความยุติธรรม โดยอาศัยความพยายามที่ช่วยให้เกิดความมีจิตใจกว้างที่สอดคล้องกับความดีส่วนรวม
  • สังคมยุติธรรมต้องเป็นความสำเร็จทางการเมืองไม่ใช่ของพระศาสนจักร


5.2  ความรัก (Caritas) เป็นสิ่งจำเป็นเสมอ แม้ในสังคมที่มีความยุติธรรม

Image5.2.1  ไม่มีการจัดระเบียบของรัฐใด ที่ยุติธรรมจนถึงกับตัดความจำเป็นของการให้บริการความรักออกไปได้

5.2.2  พระศาสนจักร “ไม่ต้องการรัฐที่จัดระเบียบและควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ต้องการรัฐที่ใช้หลักเอื้ออาทร ยอมรับด้วยใจกว้างและให้การสนับสนุนความคิดริเริ่มที่เกิดจากพลังสังคมต่างๆ จากนั้นก็รวมพลังเหล่านั้นไว้ด้วยกัน โดยให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษแก่คนยากจน พระศาสนจักรคือพลังหนึ่งแห่งพลังทรงชีวิตเหล่านั้น”

5.2.3  ความรักนี้ไม่เพียงแต่ให้ความช่วยเหลือคนในด้านวัตถุเท่านั้น แต่ต้องมีการดูแลเอาใจใส่จิตวิญญาณของเขาด้วย


6.  บทบาทหน้าที่ของพระศาสนจักรในการจัดระเบียบของรัฐและสังคม กับการจัดตั้งองค์กรเมตตาธรรม (29)

6.1  การสร้างโครงสร้างชอบธรรมไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของพระศาสนจักร แต่เป็นเรื่องของโลกการเมือง พระศาสนจักรมีหน้าที่ทางอ้อมคือ ช่วยชำระเหตุผลให้บริสุทธิ์และปลุกพลังธรรมเหล่านั้นให้ตื่นขึ้น

6.2  ฆราวาสมีหน้าที่และพันธกิจโดยตรง ทั้งในฐานะที่เป็นบุคคลและเป็นพลเมืองของรัฐ ที่จะจัดระเบียบของสังคมให้มีความยุติธรรมและมีส่วนในชีวิตส่วนรวมช่วยกันดูแลชีวิตสังคมให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น มีการเคารพอำนาจที่ชอบธรรมและความร่วมมือกับประชาชนทั่วไปตามความสันทัดของตน ความรักต้องเป็นแรงบันดาลใจสำหรับชีวิตทั้งชีวิตของฆราวาส และเป็นพลังให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งเรียกว่า “ความรักต่อสังคม”


7.  โครงสร้างหลากหลายของงานเมตตาธรรมในบริบทสังคมปัจจุบัน (30)

7.1   สภาพความจริง

สภาพสังคมในยุคหลังสมัยใหม่นี้ แม้จะทำให้โลกไม่มีพรมแดน ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสื่อสารสามารถเชื่อมทุกส่วนต่างๆ ของสังคมเข้าด้วยกัน แต่ความจริงที่ปรากฏคือ ความทุกข์ยากของมนุษย์มิได้ลดลง กลับมีเพิ่มขึ้น มีความยากจนในรูปแบบต่างๆ อันเป็นผลจากการใช้เทคโนโลยี และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ผนวกกับการเติบโตทางเศรษฐกิจตามแนวเสรีนิยมแนวใหม่ ที่ใช้กลไกการเมืองเอารัดเอาเปรียบคนระดับล่างมากขึ้น ยุคนี้จึงเรียกร้องให้เราพร้อมอยู่เสมอที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่กำลังเผชิญกับความทุกข์ยาก


7.2   ท่าทีของพระศาสนจักร

Image7.2.1  พระศาสนจักร ตระหนักถึงการท้าทายใหม่ในเชิงบวกของกระบวนการโลกาภิวัตน์ นำมาเป็นเครื่องมือทำงานให้เข้าถึงคนทุกข์ยากมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาของคนทุกข์ยาก ซึ่งมิใช่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ยังเป็นปัญหาของความไม่เข้าใจกัน ความขัดแย้งทางวัฒนธรรม และความเชื่อ และที่รุนแรงกว่านั้น คือ การที่คนถูกละเมิดสิทธิมากขึ้น

7.2.2  พระศาสนจักรให้ความสนใจ ชื่นชมและสนับสนุนการพัฒนาเจริญเติบโตของความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ ทั้งในระหว่างรัฐ เอกชนและหน่วยงานต่างๆ ของพระศาสนจักร มีการตั้งองค์กรเพื่อทำกิจเมตตาธรรมมากขึ้น พร้อมกับอาสาสมัครที่ให้บริการตามองค์กรในรูปแบบต่างๆ จำนวนมากมาย

7.2.3  การมีส่วนร่วมของคนหนุ่มสาวในงานเมตตาธรรมนี้ถือเป็นสถานที่อบรมชีวิต ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ถึงการเจริญชีวิตด้วยการทำงานเพื่อผู้อื่น บนพื้นฐานของความรัก ความเอื้ออาทร และการเคารพสิทธิของบุคคล กล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นเวทีแห่งการร่วมกันสร้างวัฒนธรรมแห่งชีวิต

7.2.4  ในพระศาสนจักร มีรูปแบบเมตตาธรรมเกิดขึ้นมาใหม่ ขณะเดียวกันก็มีการฟื้นฟูและปรับรูปแบบเก่าของการปฏิบัติกิจเมตตาให้มีชีวิตและมีพลังใหม่ โดยเชื่อมโยงการประกาศพระวรสารกับงานเมตตาธรรมเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน

7.2.5  พระศาสนจักรพร้อมที่จะร่วมมือกับหน่วยงานกุศลของพระศาสนจักร และชุมชนต่างๆ เพื่อ “มนุษยธรรมที่แท้จริง” พร้อมกับเรียกร้อง คริสตชนให้ร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกันในการสร้าง “ความเคารพต่อสิทธิและความต้องการของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจน คนที่ต่ำต้อย และคนที่ไม่มีทางปกป้องตนเอง”


8.  ความแตกต่างและปัจจัยที่สำคัญในงานกิจเมตตาของพระศาสนจักร (31)

หัวใจของการทำงานกิจเมตตาคือบัญญัติเอก “ให้รักเพื่อนมนุษย์ ซึ่งพระผู้สร้างจารึกไว้ในธรรมชาติของมนุษย์” งานกิจเมตตาธรรมของพระศาสนจักรจึงต้องดำรงรักษาไว้ และไม่ปล่อยให้กลายเป็นเพียงงานสังคมสงเคราะห์รูปแบบหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องมีแรงบันดาลใจมาจากความรักต่อพระเจ้าและความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ในทุกสถานการณ์และทุกกรณีของชีวิต


8.1  ผลการไตร่ตรองจากเรื่องชาวซามาริตันผู้ใจดี

Image8.1.1  เป็นการตอบสนองทันทีต่อความต้องการในเหตุการณ์พิเศษต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความทุกข์ในชีวิตมนุษย์

8.1.2  องค์กรกิจเมตตาของพระศาสนจักร ควรจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงาน โดยเฉพาะบุคลากรที่มีความรอบรู้เชี่ยวชาญ มีความเป็นมืออาชีพ ซึ่งต้องได้รับการอบรมมาอย่างดี และมีความตั้งใจที่จะทำงานต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ที่ประสบทุกข์นั้นต้องการความห่วงใยที่ออกมาจากใจ มากกว่าการจัดการด้านเทคนิค

8.1.3  บุคลากรที่ทำงานในองค์กรมนุษยธรรมของพระศาสนจักร ต้องมีความแตกต่างจากองค์กรอื่นและมีจุดยืนที่ชัดเจน ซึ่งไม่เพียงแต่มีความสามารถตอบสนองความต้องการในเฉพาะกิจ เฉพาะเรื่องเท่านั้น แต่ต้องมอบตนเองแก่ผู้อื่นด้วยความห่วงใยอย่างจริงใจ

8.1.4  องค์กรกิจเมตตาของพระศาสนจักรจึงมีหน้าที่จัดให้บุคลากรได้รับ “การอบรมจิตใจ” ด้วย เพื่อพวกเขาจะได้ “สัมผัสกับพระเจ้าในองค์พระคริสตเจ้า ผู้ที่จะทรงเป็นผู้ปลุกความรักของเขาให้ตื่นขึ้นและทรงเปิดดวงใจพวกเขาสู่ผู้อื่น”

8.2  งานเมตตากิจของคริสตชนต้องเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับพรรคการเมืองหรืออุดมการณ์อื่น ทุกคนในชุมชนต้องพร้อมที่จะร่วมมือในการวางแผน และประสานกับองค์กรต่างๆ ที่ทำงานประเภทเดียวกัน

8.3  ความรักต้องไม่นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการ “เปลี่ยนศาสนา” ของผู้อื่น “ผู้ที่ทำงานเมตตากิจในพระศาสนจักรจะต้องไม่บังคับผู้อื่นให้มารับความเชื่อของพระศาสนจักร” เพราะความรักเป็นอิสระ บริสุทธิ์และมีใจกว้าง จะเป็นประจักษ์พยานที่ดีที่สุดต่อพระเจ้าที่เราเชื่อ เพราะความรักนี้ คริสตชนตระหนักดีว่า “เมื่อใดที่ควรพูดถึงพระเจ้า และเมื่อใดควรเงียบดีกว่า แล้วปล่อยให้ความรักพูดเอง”

8.4  "เป็นหน้าที่ของหน่วยงานเมตตาธรรมต่างๆ ของพระศาสนจักร ที่จะต้องสร้างความตระหนักแก่บรรดาสมาชิกในเรื่องนี้ให้มาก เพื่อที่พวกเขาจะได้ปฏิบัติภารกิจ ทั้งในการพูด ในความเงียบและในตัวอย่าง พวกเขาจะได้เป็นประจักษ์พยานที่มีความน่าเชื่อถือต่อพระคริสตเจ้า”


9.  ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต่องานเมตตาธรรมของพระศาสนจักร

9.1  องค์กรแรกคือ พระศาสนจักรในทุกระดับที่ต้องรับผิดชอบ โดยมีสมณสภา Cor Unum ซึ่งเป็นหน่วยงานของสันตะสำนักที่พระสันตะปาปา ปอลที่ 6 ทรงสถาปนาขึ้น เพื่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานด้านเมตตาธรรมในพระศาสนจักร (32)

9.2  พระสังฆราช ในฐานะเป็นผู้สืบตำแหน่งจากอัครสาวก มีความรับผิดชอบเบื้องต้นในการดำเนินโครงการต่างๆ ของพระศาสนจักรท้องถิ่น “พระศาสนจักรในฐานะที่เป็นครอบครัวของพระเจ้า ต้องเป็นสถานที่ที่คอยให้ความช่วยเหลือ และได้รับความช่วยเหลือ และในขณะเดียวกันยังเป็นสถานที่ที่ผู้คนพร้อมที่จะรับใช้” (32)

9.3  บุคลากรที่ปฏิบัติงาน ดังที่กล่าวมาแล้วในข้อ 31 ต้องตระหนักถึง “ความสำนึกที่ว่า ในพระคริสตเจ้า พระเจ้าได้ทรงมอบตนเองเพื่อเรา แม้กระทั่งสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ต้องเป็นแรงบันดาลใจให้เรามีชีวิตไม่ใช่เพื่อตัวเราเอง แต่เพื่อพระองค์และพร้อมกับพระองค์เพื่อผู้อื่น ใครที่รักพระคริสตเจ้าก็รักพระศาสนจักรด้วย” พวกเขาจึงต้องทำงานกับพระศาสนจักรและกับพระสังฆราชด้วย (33)

9.4  ท่าทีและการมีชีวิตจิตลักษณะนี้จะช่วยผู้ที่ทำงานด้านเมตตาธรรมให้สามารถทำงานอย่างประสานกลมเกลียวกับองค์กรต่างๆ ในการรับใช้ความต้องการที่มาในรูปแบบต่างๆ และที่สำคัญที่สุด งานทุกอย่างจะบรรลุความสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อการปฏิบัตินั้นแสดงออกมาจากความรักต่อเพื่อนมนุษย์แท้จริง (34)

Image9.5  การรับใช้ผู้อื่น เป็นหนทางสู่ความสุภาพถ่อมตน “เราตระหนักดีว่า เราไม่ได้กระทำกิจเมตตาเพราะความเหนือกว่าผู้อื่นหรือมีความเก่งกาจส่วนตัว แต่เป็นเพราะว่าพระเจ้าได้ทรงโปรดให้เราสามารถทำเช่นนั้น.... เราเป็นเพียงเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระเจ้า... เราจะมอบทุกสิ่งทุกอย่างไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์” (35)

9.6  การมีชีวิตสัมพันธ์กับพระเจ้า โดยอาศัยการสวดภาวนา มีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการทำงานเมตตาธรรม เป็นการเติมเต็มพลังใหม่จากพระคริสตเจ้า และเป็นต้นกำเนิดแห่งการรับใช้ที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ดังชีวิตตัวอย่างบุญราศี เทเรซา แห่งกัลกัตตา (36)

9.7  การสวดภาวนาจะช่วยให้ผู้ที่ทำงานมีความวางใจในพระประสงค์ของพระเจ้า สามารถปล่อยวางทุกสิ่งไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์ และจิตใจก็จะรอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อของสิ่งที่ปัจจุบันเรียกว่า วัตถุนิยม ที่ทำให้คนหลงคิดว่าตนเองสามารถแก้ไขสิ่งต่างๆ ได้ โดยปราศจากการช่วยเหลือจากพระเจ้า (37)

9.8  ชีวิตของมหาบุรุษโยบสะท้อนถึงท่าทีแห่งการภาวนาในการทำงานด้านเมตตาธรรมของเรา “บ่อยครั้งเราไม่อาจเข้าใจว่า เหตุใดพระเจ้าจึงไม่ยอมเข้ามาแก้ไข แต่พระองค์ก็ไม่ทรงห้ามเราไม่ให้ร้องออกมา เช่น พระเยซูที่ร้องบนไม้กางเขนว่า “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า เหตุใดพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้า?” ...การร้องของเราเฉกเช่นพระเยซูบนไม้กางเขน คือ วิธีที่ดีที่สุดและล้ำลึกที่สุดในการยืนยันความเชื่อของเราในพลานุภาพอันยิ่งใหญ่หาที่สุดมิได้ของพระองค์” (38)

9.9  ความเชื่อ ความไว้ใจ และความรัก เป็นฤทธิ์กุศลสำคัญของคริสตชนในการปฏิบัติกิจเมตตาธรรม เพราะคนยากจนไม่หมดไปจากโลกนี้ คนยากจนเป็นเครื่องหมายและเครื่องมือให้ผู้ที่มีความเชื่อ มีความไว้ใจในพระเจ้า ได้ปฏิบัติความรักของพระเจ้าต่อผู้อื่นด้วยความเพียรทนและสุภาพถ่อมตน (39)


10.  สรุป (40 – 42)

การปฏิบัติเมตตากิจ เป็นงานที่เราได้รับการเชื้อเชิญให้ร่วมกระทำ ในฐานะที่เป็นลูกที่มีภาพลักษณ์ของพระเจ้า ผู้เป็นองค์ความรัก ดังที่ พระเยซูเจ้า แม่พระ และนักบุญต่างๆ ได้กระทำล่วงหน้าไปก่อนแล้ว และยังคงเป็นพลังสำหรับเราในการแสดงความรักต่อผู้อื่น จวบจนปัจจุบัน

 

นำเสนอโอกาสเข้าเงียบพระสงฆ์อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ สังฆมณฑลจันทบุรี และสังฆมณฑลราชบุรี
ณ บ้านผู้หว่าน สามพราน นครปฐม
7 – 8 มิถุนายน 2006

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >