
เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2547 ที่ผ่านมา
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดงานประกาศผลและมอบรางวัลผลงานดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนในสื่อมวลชน ประจำปี 2547 ณ ห้องอิมพีเรียล ควีนสพาร์ค 3 โรงแรมอิมพีเรียลควีนสพาร์ค สุขุมวิท 22 กรุงเทพฯ โดยมีผู้บริหารของแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย
ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
คุณหญิงอัมพร มีศุข กรรมการสิทธิมนุษยชนและประธานกรรมการกองทุนนักสิทธิมนุษยชน
ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการตัดสินรางวัลผลงาน PRESS AWARD 2004 และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการตัดสินรางวัลผลงาน PRESS AWARD อีกหลายท่าน องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอีกหลายองค์กร และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานครั้งนี้
สำหรับผลการตัดสิน
รางวัลผลงานสื่อมวลชนดีเด่นระดับชาติด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี 2547 ได้แก่
รายการคนค้นฅน ของบริษัท ทีวีบูรพา จำกัด ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ส่วน
รางวัลชมเชยมี 3 รางวัล ได้แก่
รายการถอดรหัส ตอน “เด็กขายมะม่วง” ของ สถานีไอทีวี
วารสาร “ปาจารยสาร” ของมูลนิธิเสถียรโกเศศ - นาคะประทีป และ
วารสาร “ผู้ไถ่” ของคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.) โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้มอบรางวัล
นอกจากนี้ในงานยังได้มีการกล่าวปาฐกถา หัวข้อ
“สื่อมวลชน สิทธิมนุษยชน กับการฝ่าข้ามวิบากกรรมของสังคม” โดย ดร.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ สมาชิกวุฒิสภา และประธานอนุกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ” ซึ่งได้กล่าวถึงปัญหาสังคมปัจจุบันภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลที่ใช้ระบบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จส่งผลให้สังคมไทยมีปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องมาจากนโยบายของรัฐที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มนักธุรกิจการเมือง การพัฒนาโครงการต่างๆ ที่ไปแย่งชิงและทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประชาชนในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านต้องออกมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่จะจัดการดูแลทรัพยากรท้องถิ่นของตนจนกระทั่งเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงตามมา เช่น กรณีโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย และการที่นักอนุรักษ์ถูกฆ่าตายไป 16-17 ศพ รวมถึงนโยบายปราบปรามยาเสพติด ซึ่งส่งผลให้เกิดการฆ่าตัดตอนคนไทยประมาณ 2,500 คนโดยส่วนใหญ่เป็นผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกล่าวหาและประสบปัญหากับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ การใช้อำนาจและความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นกับปัญหาใน 3-4 จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืน การหายตัวของทนายสมชาย นีละไพจิตร กรณี กรือเซะ จนกระทั่งล่าสุด กรณีที่ตากใบซึ่งทำให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต 78 ศพ ขณะขนย้ายผู้ชุมนุมประมาณ 1,000 กว่าคน เมื่อรวมแล้ว 4 ปี ประมาณ 4,000 ศพ ซึ่งถือเป็นวิบากกรรมในสังคมไทยที่มีการละเมิดและทำลายชีวิตเกิดขึ้น และเป็นสิ่งที่ท้าทายเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยเฉพาะบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนที่จะตระหนักว่าตนมีบทบาทเป็นอย่างมากที่จะทำให้สังคมได้เข้าใจ วิเคราะห์และติดตามเพื่อมาเชื่อมโยงกับสังคมไทย
ดร.นิรันดร์ ได้ฝากถึงสื่อมวลชน ดังนี้

1.การบอกความจริงเป็นภาระหน้าที่ของสื่อมวลชน สื่อมวลชนควรบอกความจริงที่เกิดขึ้นต่อสังคม ซึ่งไม่ใช่ความจริงที่เน้นเรื่องความรุนแรง แต่ต้องทำหน้าที่วิเคราะห์เจาะลึกถึงข้อมูลหรือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมว่ามีผลกระทบต่อชีวิต สังคมและชุมชนอย่างไร
2.ระบบทุนนิยมอำนาจเบ็ดเสร็จสามารถจัดการครอบงำสื่อโดยไม่ต้องใช้กำลัง เช่น การควบคุมข้อมูลข่าวสารบางส่วนทั้งสื่อทีวีและสื่อสิ่งพิมพ์ การปลดบรรณาธิการของสื่อหนังสือพิมพ์บางฉบับ ทำให้เกิดระบบการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิของสื่อสารมวลชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 39 ในการแสดงความคิดเห็น
3.การถูกละเมิดในสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ เช่น กรณีคุณสุภิญญา กลางณรงค์ ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย 400 ล้านบาท เป็นสิ่งที่ท้าทายความเป็นวิชาชีพและความเป็นพลเมืองไทยในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบอำนาจรัฐ
4.ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย ที่มีในวงการสื่อสารมวลชน โดยใช้ความคุ้นเคยกัน ขอกันได้ ซึ่งเป็นม่านบังตาทำให้บางครั้งไม่เห็นถึงอิทธิพลหรืออันตรายของระบบเผด็จการที่ผูกขาดซึ่งหนักกว่าเผด็จการทางทหาร
5.สื่อมวลชนต้องเน้นในการเป็นสื่อทางเลือกของภาคประชาชนและสื่อสารโดยตรงกับประชาชนได้ ปัญหาคือ วิทยุชุมชนซึ่งเป็นสื่อภาคประชาชน แต่ขณะนี้รัฐกำลังเปิดโอกาสให้นักธุรกิจ นักการเมือง ส.ส. หรือนักจัดรายการ เข้าไปเปิดวิทยุชุมชนในจังหวัดต่างๆ ซึ่งเป็นปัญหาท้าทายว่าระบบการสื่อสารภาคประชาชนกำลังจะถูกครอบงำจากภาคธุรกิจการเมือง
“สื่อมวลชนนั้น มีคำกล่าวหนึ่งคือ เป็นหมาเฝ้าบ้าน ในขณะนี้สังคมไทยเป็นสังคมที่กำลังมีปัญหาในเรื่องความขัดแย้ง ความรุนแรง มีปัญหาในเรื่องของการทุจริตตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงเรื่องของทุจริตลึกถึงคุณธรรมและศีลธรรม ท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี บอกว่า มันลึกเข้าไปในกระดูกจนถึงระดับดีเอ็นเอ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ผมคิดว่า ถ้าเราต้องการให้สื่อมวลชนได้แสดงศักยภาพในการแสดงให้เห็นถึงสุขภาพของสังคมไทย สื่อมวลชนต้องทำให้เห็นถึงศักยภาพในการแสดงให้เห็นเป็นตัวแทนในการเชื่อมโยงในบริบทของสื่อสารมวลชนกับการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะตรงนั้นเราถึงจะสามารถฝ่าข้ามวิบากกรรมของสังคมไทยเราได้ในขณะนี้” ดร.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ สมาชิกวุฒิสภา และประธานอนุกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ
อนึ่ง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นองค์กรที่เคลื่อนไหวรณรงค์ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนโดยการวิจัยและเผยแพร่เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเน้นที่การป้องกันและหยุดยั้งการละเมิดสิทธิทั้งทางร่างกายและจิตใจ เสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก และเสรีภาพจากการถูกเลือกปฏิบัติซึ่งอยู่ภายใต้บริบทของการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน มีสาขาที่ประเทศไทย และสาขาทั่วโลกมากกว่า 150 ประเทศและมีสมาชิกกว่า 1.5 ล้านคนทั่วโลก สำหรับรางวัล PRESS AWARD เป็นรางวัลที่มอบให้กับสื่อมวลชนที่เผยแพร่งานด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น ซึ่งจัดขึ้นทุกปี ในเกือบทุกประเทศ โดยผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้ไปดูงานด้านสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศ โล่ห์เกียรติยศ ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 20,000 บาท
วารสาร “ผู้ไถ่” เป็นวารสารราย 4 เดือน ออกปีละ 3 ฉบับ นำเสนอข่าวสารด้านสิทธิมนุษยชน สังคม ศาสนา และสิ่งแวดล้อม โดยนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น วิเคราะห์และไตร่ตรองบนจุดยืนของคุณค่าศาสนา เพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านได้ใช้วิจารณญาณในการเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และสำนึกถึงบทบาทการมีส่วนร่วมสร้างสังคมที่มีสันติสุข บนพื้นฐานแห่งความรัก ความยุติธรรม เคารพศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชน