หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 71 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


ภาระที่ยังอยู่ ... ชีวิตที่ถูกลืม พิมพ์
Tuesday, 04 July 2006

  

ภาพจาก www.muslimthai.com

  


      ภาระที่ยังอยู่ ...

       
                 ชีวิตที่ถูกลืม

 

ธัญลักษณ์  นวลักษณกวี เรื่อง

เหตุการณ์ความไม่สงบทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก ความตายของเขาเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ประชาชน หรือใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใด ศาสนาใด อาชีพใด เป็นผู้บริสุทธิ์ หรือผู้ก่อการร้าย ชีวิตหนึ่งล่วงลับไป แต่เบื้องหลังชีวิตที่ล่วงลับเหล่านั้น ยังมีอีกหลายชีวิต ...แม่, เมีย, พ่อ, ลูก, น้อง, พี่... ต้องเจ็บปวด เศร้าโศก ทุกข์ทน เผชิญกับความลำบากเมื่อขาดเสาหลักของครอบครัว ขาดกำลังใจ ชีวิตของผู้อยู่ข้างหลัง...ที่กำลังถูกลืม!


มณฑิรา  ขุนกลับ อายุ 36 ปี เป็นชาวสงขลา   สามีเป็นตำรวจยศจ่าสิบตำรวจ ถูกยิงเสียชีวิตขณะอายุเพียง 37 ปี มีบุตร 4 คน คนโตอายุ 15 ปี ส่วนคนสุดท้องอายุ 4 ปี นับถือศาสนาพุทธ
 
“เป็นการสูญเสียที่เราตั้งตัวไม่ติดเลย จากครอบครัวที่เคยอยู่พร้อมหน้ากัน มันทำอะไรไม่ถูก” น้ำเสียงสั่นเครือ เมื่อย้อนทบทวนไปถึงวันนั้นที่เธอไม่มีวันลืมเลือน

มณฑิรา เป็นแม่บ้านที่ต้องดูแลลูกๆ 4 คน ซึ่งอยู่ในวัยเรียนและกำลังโตวันโตคืน พร้อมทั้งช่วยดูแลร้านขายของชำซึ่งเป็นของพ่อแม่เธอซึ่งแก่มากแล้ว รายได้หลักจึงอยู่ที่สามีซึ่งเป็นจ่าสิบตำรวจ

“สามีเป็นคนขยัน วันไหนแกว่างจากเข้าเวร ก็จะช่วยงานที่บ้าน โดยออกไปส่งของ พวกข้าวสาร เหล้า เบียร์ ตามร้านต่างอำเภอ เงินส่วนนี้ช่วยค่าเทอมลูกได้เยอะ เพราะลูก 3 คน เรียนโรงเรียนเอกชน”

สามีของมณฑิรา ทำงานอยู่ฝ่ายป้องกันและปราบปรามฯ ปกติเขาจะเข้าเวรประจำป้อมซึ่งห่างจากบ้านไปไม่ไกลนัก เธอบอกว่าเขาต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมงโดยผลัดกันพักกับเพื่อนคนละ 3 ชั่วโมงสลับกันไป  ใครเลยจะคิดว่า เวลาแห่งการจากพรากได้ถูกกำหนดไว้แล้ว

“วันเกิดเหตุ แกกลับบ้านมาเอาเครื่องประกอบอาหารประเภท ตะไคร้ พริก หอม กระเทียม ซึ่งที่บ้านมีขาย เพื่อนำไปทำอาหารให้เพื่อนที่ป้อมทาน ก็มาตัดตะไคร้หน้าบ้าน  แกก้มลงตัดตะไคร้จึงมองไม่เห็นผู้ไม่หวังดีเข้ามาลอบยิงจากด้านหลัง คนนอกบ้านซึ่งเห็นเหตุการณ์บอก”

“ตัวดิฉันอยู่ในบ้านก็คิดว่าเด็กเล่นปะทัดกัน เพราะเด็กที่นั่นเขาชอบเล่นปะทัด แล้วเสียงปืนก็ดังไม่มาก มันกระชั้นชิด คนที่หน้าบ้านที่นั่งกินเหล้ากัน เขาบอกว่า สามีโดนยิง ดิฉันก็ไม่เชื่อ เดินออกไปดูก็เห็นนอนจมกองเลือดอยู่ ทำอะไรไม่ถูก เรียกน้าข้างบ้านมาอุ้มส่งโรงพยาบาล ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าแกจะเสียชีวิต พอปิดร้านเสร็จ ทางโรงพยาบาลโทรมาบอกว่า ให้เตรียมรถไปรับศพ ตอนนั้นก็ทำอะไรไม่ถูก”

การสูญเสียเสาหลักของครอบครัวไปอย่างกะทันหัน นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่วิถีชีวิตครอบครัวเธอ สำหรับตัวเธอเองกับวุฒิการศึกษาระดับประถม 6 ไม่ง่ายเลยสำหรับการหางานทำด้วยวุฒิและวัยเช่นนี้ ลูกๆ ต้องย้ายจากโรงเรียนเอกชนกลางครันเพื่อมาเข้าโรงเรียนรัฐบาลซึ่งค่าใช้จ่ายถูกลง เด็กๆ ต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย

“ลูกเขาบอกว่า เขายอมหยุดเรียนก็ได้เพื่อจะประหยัดเงิน และออกมาช่วยทำงาน แต่ตัวเองบอกว่า ไม่ได้ ยังไงก็ต้องเรียน เด็กๆ ต้องเรียนหนังสือ”

สำหรับความช่วยเหลือที่เธอได้รับ มีเพียงเงินช่วยเหลือจากกลุ่มสงเคราะห์ และกลุ่มแม่บ้านเพียงเท่านั้น ส่วนความช่วยเหลือจากภาครัฐและหน่วยงานที่สามีเธอสังกัด กลับไม่เคยถึงมือเธอแต่อย่างใด

“เขาบอกว่าเดี๋ยวจะมีอันนั้นอันนี้มา จะติดต่อช่วยเหลือ แต่ว่าพอไปสอบถาม เขาก็บอกว่า ต้องรอก่อนนะ ยังไม่มีคำสั่งมา ยังไม่มีความช่วยเหลือมา ตอนนี้แม้แต่เงินเดือน 3 เดือนสุดท้ายของสามี ก็ยังไม่ได้รับเลย แล้วปกติตายในหน้าที่จากการสอบถามคนที่เขาเคยประสบมา บอกว่าทุกอย่างจะเบิกได้เหมือนเดิม ค่าเทอม ค่ารักษาพยาบาล แต่นี่ ขนาดค่าเทอมส่งไปเขาก็ตีกลับมา บอกว่าเบิกไม่ได้”

มณฑิราฝากไปยังหน่วยงานของภาครัฐว่า “อยากให้การช่วยเหลือของเขาเร็วกว่านี้ กระตือรือร้นที่จะทำให้เรามากกว่านี้ และช่วยเหลือด้วยความจริงใจไม่ใช่แค่ทำตามหน้าที่ ถ้าเขาประสบเหตุแบบเรา เขาคงจะทราบว่าเราทุกข์ทรมานแค่ไหน เราต้องยืนด้วยขาของเราเอง แต่ว่าการกระทำของเขาที่บอกว่าทำตามหน้าที่ ให้เป็นไปตามขั้นตอน มันเหมือนกับการเหยียบย่ำเรามากเลย ที่ว่าเขาไม่สนใจทำเรื่องของเราให้เร็ว เพราะเราเป็นผู้ที่เดือดร้อน”


นางไรนา  รอยิง อายุ 32 ปี  อยู่ อ.ยะหา จ.ยะลา สามีเป็นสายสืบให้ตำรวจ ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2547  ศาสนา  อิสลาม มีบุตร 3 คน
 
     ทุกวันนางไรนา จะออกไปขายข้าวยำ ข้าวเหนียว รายได้เฉลี่ยต่อวันประมาณ 200 บาท ซึ่งไม่ค่อยจะพอกับค่าใช้จ่ายนัก เนื่องจากลูกแต่ละคนต่างอยู่ในวัยกำลังศึกษาเล่าเรียน ส่วนสามีนั้น ถึงแม้อาชีพหลักของเขาจะเป็นคนเก็บค่าไฟตามหมู่บ้าน แต่เขากลับชอบทำงานด้านสังคมเสียมากกว่าโดยการเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และเป็นสายสืบให้กับตำรวจโดยไม่ได้รับค่าจ้างแต่อย่างใดตลอด 4 ปีมานี้ แต่เขากลับภูมิใจกับการทำหน้าที่นี้ ภาระทั้งหมดจึงตกอยู่กับเธอซึ่งต้องเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัว

การทำงานที่ต้องสุ่มเสี่ยงต่อชีวิตของ สามีสร้างความวิตกกังวลและห่วงใยสำหรับเธอเสมอมา 3 ครั้งมาแล้วที่เขาโดนลอบยิง เธอก็ได้แต่ขอพรจากองค์อัลเลาะฮ์และปล่อยให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์ ถึงแม้พอจะรู้ล่วงหน้ามาบ้างแล้วจากกลุ่มเพื่อนๆ ที่คอยเตือนให้สามีระวังตัวจากผู้ไม่หวังดีซึ่งไม่พอใจกับการเป็นสายให้กับตำรวจ

หลังการเสียชีวิตของสามี เธอต้องลำบากมากขึ้นกว่าเดิม งานสายสืบที่สามีภูมิใจนักหนา กลับยิ่งสร้างความเจ็บแปลบเข้าไปในจิตใจของเธอเมื่อพบว่า หน่วยงานนั้นไม่เคยมาเหลียวแล ให้ความช่วยเหลือแต่อย่างใดเลย คำพูดของเพื่อนบ้านยิ่งตอกย้ำ “อุตส่าห์ช่วยงานตำรวจ แต่พอเกิดอะไรขึ้น ตำรวจไม่ได้มาสนใจให้ความช่วยเหลือ ทำงานเหนื่อยให้ฟรี” มีเพียงเงินช่วยเหลือจากการเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเท่านั้นที่เธอได้รับ นี่หากท่านนายกฯ ไม่ลงมาเยี่ยมเยียนแล้วก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเงินก้อนนี้จะถึงมือเธอไหม

เงิน 1 แสนบาท มันเป็นจำนวนเงินที่มากทีเดียวสำหรับเธอผู้ไม่เคยมีโอกาสได้จับเงินเยอะขนาดนี้ แต่มันผ่านมาแล้วก็ผ่านมือไป เธอเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า หนี้ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ก้อนนี้มีมาแต่หนไหน แต่เมื่อเป็นหนี้แล้วเธอก็ต้องชดใช้ 1 แสนบาทจึงหมดไปกับการใช้หนี้ที่ยังไม่หมดสิ้น ทั้งยังต้องส่งเสียลูกเรียนอีกเล่า พ่อของเด็กๆ มีความฝันอยากให้ลูกเรียนต่อสูงๆ คนโตกำลังจะจบ ม.6 ยังไม่รู้จะหาเงินจากไหนมาส่งให้ลูกเรียนต่อ เธอเองก็อยากจะสานฝันของสามี ไม่อยากให้ลูกต้องหยุดเรียน ได้แต่ภาวนา “ขอให้มีหน่วยงานลงมาช่วยด้านการศึกษาให้ลูกด้วยเถิด !”


นางแยนา  มาแต๊ะแล อายุ 63 ปี ภูมิลำเนา บ้านห้วยกระทิง อ.กรงปีนัง จ.ยะลา สูญเสีย  ลูกชาย ลูกเลี้ยง ลูกเขย (เสียชีวิตที่ กิ่ง อ.กรง ปีนัง) และสามี (เสียชีวิตที่มัสยิดกรือเซะ) รวม  4 ชีวิต 
 
ก่อนจากกันในวันนั้น สามีของนางบอกว่าจะไปแสวงบุญที่มัสยิด นางไม่ได้เอะใจ หรือรู้สึกถึงความผิดปกติแต่อย่างใด เขามักจะไปแสวงบุญที่มัสยิดเป็นประจำอยู่แล้ว มันเป็นวัตรปกติที่เขาทำมาเนิ่นนานหลังเกษียณจากการเป็นผู้ใหญ่บ้าน นางภูมิใจในตัวเขา เขาเป็นผู้ใหญ่บ้านที่ชาวบ้านรักมาก เนื่องจากความเป็นคนอัธยาศัยดี ซื่อสัตย์ และตรงไปตรงมา

หัวใจนางแทบสลาย เมื่อชาวบ้านมาบอกว่า ลูกๆ ทั้ง 3 คนเสียชีวิต ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าสามีก็เสียชีวิตเช่นกัน ยังให้คนไปตามเพื่อบอกว่า “ลูกเสียแล้ว ทำไมพ่อยังไม่มา”  ยิ่งพอรู้ว่าสามีไปเสียชีวิตที่มัสยิดกรือเซะ  ฟ้าเหมือนจะถล่มทลายอยู่ตรงหน้า แข้งขามันอ่อนไร้เรี่ยวแรง

ทางการเขากล่าวหาว่าสามีและลูกๆ ของนางเป็นกลุ่มผู้ก่อการ เขาพาทหารมาล้อมบ้าน รื้อค้นอะไรทั่วบ้านไปหมด นางพยายามห้ามไม่ให้พวกเขาเข้ามาในบ้านเพราะเหลือกันแต่ผู้หญิงและเด็กๆ ไม่เพียงเท่านั้น พอเพื่อนบ้านรู้ข่าว จากเดิมเคยคุยกัน ติดต่อไปมาหาสู่กัน กลับไม่มีใครกล้าเข้ามาพูดคุยหรือให้ความช่วยเหลือ เขากลัวจะเป็นเป้าสายตา กลัวว่าจะมีความผิดฐานเข้าร่วมขบวนการด้วย นางได้แต่รู้สึกน้อยใจ เจ็บใจตัวเอง

หลังจากเกิดเหตุการณ์ นางหมดเรี่ยวหมดแรง ทำงานไม่ไหว  ทำอะไรไม่ได้เหมือนเดิมที่เคยออกไปตัดยาง เก็บขี้ยาง ได้แต่อยู่บ้าน คอยดูแลหลานๆ ที่ยังเล็กทั้ง 6 คน แล้วให้ลูกสะใภ้ออกไปทำงานแทน  นางได้แต่ทอดถอนใจ และทำใจยอมรับว่า “ความอบอุ่นพร้อมหน้าพร้อมตาในครอบครัว” ได้มลายหายไปอย่างไม่มีวันหวนคืน


ฐิติพร  จงจำเริญกุล  อายุ 38 ปี ภูมิลำเนา อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส บุตร 2 คน  สามีทำงานเป็นนายช่าง  สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบล   ละนอ จ.ปัตตานี ถูกยิงเสียชีวิต   เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2547 ขณะอายุ 38 ปี นับถือศาสนาพุทธ
 
     “ด้วยความที่เราไม่ได้คิดมาก่อน เพราะสามีไม่ได้เป็นตำรวจ ไม่ได้ไปทำความเดือดร้อนให้ใคร เขาทำความดีมาตลอด เป็นคนซื่อตรง งานการเขาก็รับผิดชอบดี ชอบทำบุญ ไปบริจาคโลหิต 3 เดือนครั้ง ไม่คิดว่าผลตอบแทนที่เขาได้รับคือ มีใครมาทำกับเขาแบบนี้” น้ำตายังคงไหลอาบแก้ม เมื่อใดก็ตามที่ต้องนึกไปถึงวันนั้น วันที่ได้รู้ว่าทุกข์อย่างที่สุดเป็นอย่างไร

พรและสามีเคยอยู่กรุงเทพฯ สามีเธอทำงานเป็นวิศวกร แต่พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2542 สามีต้องออกจากงาน เธอจึงชวนเขากลับมาอยู่บ้านที่ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ด้วยความไม่ชอบอยู่นิ่ง เธอจึงเริ่มขายของเล็กๆ น้อยๆ เช่น ไปรับผลไม้มาขาย และขายขนม ช่วยกันกับสามี เปิดร้านอยู่ที่บ้าน เมื่อรู้ข่าวว่าทางปัตตานีรับสมัครนายช่าง อ.บ.ต. สามีจึงไปสมัครคัดเลือกและได้เข้าทำงานตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

การทำงานของสามีทำให้ทั้งคู่ต้องแยกกันอยู่ พรอยู่ที่นราธิวาส ส่วนเขาไปทำงานที่ปัตตานี จันทร์ถึงศุกร์ เมื่อถึงวันสุดสัปดาห์ครอบครัวจึงพร้อมหน้าพร้อมตาพ่อแม่ลูก

“ปกติเขาจะนั่งรถไฟไปลงที่ปัตตานี แล้วต่อรถไปถึงที่ทำงาน ส่วนพาหนะที่ใช้ที่นั่นจะเป็นมอเตอร์ไซด์ เขาจะกลับมาทุกวันศุกร์ วันจันทร์ถึงจะกลับไปทำงาน วันนั้นพรมีนัดต้องไปผ่าตัดเส้นเลือดขอดที่ข้อพับขาเพราะเป็นมาก ที่โรงพยาบาล ม.สงขลาฯ ก่อนวันเกิดเหตุโทรคุยกับสามี เขาบอกว่าให้เอารถไปลงที่ปัตตานี แต่เราเห็นเหตุการณ์ช่วงนั้นไม่ค่อยดีก็เลยไม่กล้าไป เขายังบอกว่าที่โกลก ที่สุไหงปาดียังอันตรายกว่า ที่ปัตตานีไม่น่ากลัวหรอก”

“วันนั้นเลยนั่งรถตู้ไปที่โรงพยาบาลกับลูกสาว ถึงที่นั่น 10 โมงเช้า นั่งรอให้หมอเรียกนานมากเพราะคนเยอะ รอจนเที่ยง พยาบาลมาเรียกก็คิดว่าถึงคิวเราแล้ว ก็เดินไป พยาบาลบอกให้รับโทรศัพท์เราก็งงว่าใครโทรมาหา เป็นเสียงของน้องชาย…” ก้อนสะอื้นรื้นขึ้นมาอีกครั้ง

“น้องชายบอกว่าไม่ต้องผ่าแล้ว เราก็บอกไม่กลับจะผ่า มีอะไรหรือ เราไม่นึกว่า ตอนเช้าอย่างนี้จะมีใครมายิงสามีเรา น้องชายบอกว่า พี่วิทย์ถูกยิง! พอรู้ก็รับไม่ได้ ลูกสาวยืนอยู่ข้างๆ ถามว่า แม่! ปาป๊าเป็นอะไรเหรอ ด้วยความที่บอกไม่ถูก ไม่รู้จะบอกลูกว่าอย่างไร คือพยายามคิดว่า เป็นไปไม่ได้ มันไม่จริง”

“คุยกับน้องชาย บอกให้กลับบ้าน เราก็บอกว่า กลับไม่ถูก ไม่มีแรง ทำอะไรไม่ถูกเลย เขาก็บอก ตั้งสติให้ดี ทำใจให้ได้ เลยบอกพยาบาลช่วยเรียกรถตู้ให้หน่อย น้องชายมารอรับไปโรงพยาบาลที่สามีอยู่ ไปถึง นั่งทำใจอยู่พักหนึ่งว่า สามีเราไม่มีแล้ว เราจะทำอย่างไรต่อไป”

พรต้องเรียกความเข้มแข็งกลับคืนมาเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้ลูก หนทางข้างหน้ายังไม่รู้จะเป็นอย่างไร แต่เพื่ออนาคตของลูกทั้งสองที่จะต้องดำเนินต่อไป เธอรู้ว่าเธออ่อนแอไม่ได้!


นางสีตีฮาลีเมาะ  ดือราแม อายุ 33 ปี  อยู่ที่ อ.กรงปีนัง จ.ยะลา บุตร 2 คน อายุ 14 ปี   และ อายุ  4 ปี สามีเป็นสายให้ตำรวจ ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2546
    
     สามีของกะเนาะมีอาชีพรับจ้างทั่วไป เขาทำทุกอย่างแล้วแต่จะมีคนจ้าง เขาเป็นสายสืบให้ตำรวจมาเป็นเวลา 6 ปีแล้ว ด้วยความเสี่ยงของการทำงานทำให้เธอเป็นห่วงไม่อยากให้เขาทำงานนี้ กลัวเขาจะตายฟรี แต่เขาให้คำยืนยันหนักแน่นว่า ตำรวจทำประกันชีวิตให้ ถ้าเขาเสียชีวิตจะได้รับเงิน 180,000 บาท ซ้ำยังบอกด้วยว่าไม่ต้องกลัวเขาตายฟรีหรอก ถ้าตายไปจะมีทีมตำรวจมาช่วยเหลือแทนที่เขา รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาให้ลูกๆ ด้วย

หลังการเสียชีวิตของสามี เธอจึงได้รับรู้ความเป็นจริงที่แสนขมขื่นว่า สิ่งที่สามีให้คำยืนยันถึงความช่วยเหลือของหน่วยงานต้นสังกัด เป็นเพียงโกหกคำโตที่เจ้านายเขาปั้นไว้ลวงหลอกเท่านั้น และความจริงที่เธอต้องเผชิญเมื่อหัวหน้าครอบครัวจากไป จากที่เคยเป็นแม่บ้านคอยดูแลลูกๆ เธอต้องลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ไม่เคยทำเพื่อความอยู่รอดและปากท้องของอีก 2 ชีวิต เธอต้องไปรับจ้างตัดยางได้ค่าจ้างวันละ 100 บาท ซึ่งต้องหารแบ่งครึ่งกับเจ้าของสวนยาง ในแต่ละวันเธอจึงเหลือเงินเพียง 50 บาท เพื่อเป็นค่าอาหารและค่าใช้จ่ายของลูกทั้งสองคน เธอไม่รู้จะไปทำมาหากินอย่างไรได้อีกนอกเหนือจากการรับจ้างตัดยาง ซ้ำถ้าเข้าหน้าฝนยิ่งแร้นแค้นหนักเข้าไปอีกเพราะไปตัดยางไม่ได้ พอจะมีสมบัติติดตัวเป็นทอง 1 สลึง ต้องเอาไปขายเพื่อมีข้าวให้ลูกกิน เพื่อนบ้านไม่รู้กลับคิดว่าเธอได้รับเงินช่วยเหลือจากทางราชการเพราะสามีเป็นสายสืบให้ตำรวจ สิ่งเดียวที่เธอมุ่งหวัง เธออยากให้ลูกได้ทุนการศึกษา เพื่อที่ลูกจะได้เรียนจบและมีงานทำในอนาคต เพียงเท่านี้เธอคงหมดห่วง 

นี่เป็นเพียงบางส่วนเสี้ยวของชีวิตผู้กำลังถูกลืม ยังมีอีกหลายชีวิตที่เราอาจยังไม่เคยได้รับรู้ถึงความมีตัวตนและลมหายใจของบุคคลเหล่านั้นผู้ยังคงทุกข์ทน เจ็บช้ำ และยากไร้

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเสียงสะท้อนจากผู้หญิงผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้ ผู้ที่ยอมเปิดเผยบางแง่มุมบอบช้ำของชีวิตเธอให้เราได้มีโอกาสรับรู้  จะไม่ถูกละเลย เพิกเฉย อีกต่อไป

หากเปรียบเช่น ไม้ขีดก้านแรกได้ถูกจุดให้แสงสว่างและความอบอุ่นแก่ผู้ทุกข์ยากซึ่งหนาวเหน็บและหิวโหยแล้ว  เราแต่ละคนล้วนมีโอกาสช่วยส่งไม้ขีดก้านต่อๆ ไป ก่อกองไฟที่ให้แสงสว่างกระจายกว้างไกลและเพิ่มความอบอุ่นให้เหมือนผ้าห่มผืนใหญ่ช่วยห่มคลุมผู้คนที่ยังคงเหน็บหนาวและร้าวรานอีกมากมายในสังคมของเรา


ขอขอบคุณ ไม้ขีดก้านแรก :

เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพ ผู้ลงไปให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาจิตใจแก่ผู้หญิงในสามจังหวัดภาคใต้

สมทบทุนช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กภาคใต้ ได้ที่
เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพ
โทร. 0-2433-5149, 0-2435-1246

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >