หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 69 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


บันทึกของแม่ ผู้สู้ไม่ถอยเพื่อลูก ดลพร ล้อเสริมวัฒนา พิมพ์
Wednesday, 07 June 2006

บันทึกของแม่…ผู้ ‘สู้ไม่ถอย’ เพื่อลูก

ดลพร ล้อเสริมวัฒนา


“ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ... ถึงทนทุกข์ทรมานนานเท่าใด... ถึงทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ...จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด...”

บทเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวง ‘ความฝันอันสูงสุด’ เป็นแรงผลักดันให้ข้าพเจ้ามีแรงสู้อยู่เสมอ มีคนบอกข้าพเจ้ามากมายว่า ไม่อยากให้ข้าพเจ้าหวัง กลัวข้าพเจ้าผิดหวัง เพราะมันยากที่ประชาชนธรรมดาจะเอาชนะเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่า ต้องมีหวัง ในเมื่อเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง ข้าพเจ้าเชื่อว่า สักวันประชาชนต้องมีชัยชนะ วันดอกไม้บานจะต้องมีสักวัน


Imageฝันในวัยเยาว์... กับชีวิตที่สมบูรณ์

ข้าพเจ้าเป็นคนบ้านนอก อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย พ่อกับแม่เป็นชาวไร่ชาวนาที่ใจดีที่สุดในโลก ที่บ้านมีเกวียน มีวัว มีควายเอาไว้ไถนา ข้าพเจ้ามีความทรงจำที่ดีกับบ้านเกิด ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตไม่เคยได้อะไรมาง่ายๆ ต้องลงมือทำเอง ซึ่งข้าพเจ้ามองว่าเป็นสิ่งที่ดีที่เด็กสมัยนี้แทบไม่มีโอกาสได้ฝึกฝน และคิดว่าตัวเองโชคดีแล้วที่เกิดมาเป็นลูกชาวไร่ชาวนาที่ทรหดอดทน ในหมู่บ้านของข้าพเจ้าในอดีตนั้นทุกครัวเรือนยากจนโดยทั่วถึงกัน แต่ก็เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่อบอุ่นไปด้วยน้ำจิตน้ำใจ ดังนั้น แม้จะยากจนแค่ไหนแต่ข้าพเจ้าก็ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองมีปัญหา

ข้าพเจ้าชอบไปนอนเล่นกลางทุ่งนา มองขึ้นไปบนท้องฟ้าคิดว่า...อนาคตข้าพเจ้าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรหนอ....ข้าพเจ้าต้องไม่เป็นอย่างที่คนเขาดูถูกผู้หญิงเหนือ ข้าพเจ้าต้องแตกต่าง ข้าพเจ้าชอบมองเครื่องบิน...วันหนึ่งจะนั่งเครื่องบินให้ได้ แต่ไม่เคยคิดเลยว่า วันนี้เด็กบ้านนอกคนนี้จะต้องมาสู้กับใครมากมายที่เมืองหลวงจนแทบเอาชีวิตไม่รอดถึงเพียงนี้

ข้าพเจ้าชอบเล่นกีฬา ชอบเรียนหนังสือและเรียนเก่ง พ่อกับแม่และคุณอาน้องชายของพ่อที่มีฐานะดีกว่าจึงส่งเสียให้เรียนจนจบปริญญาตรี เมื่อเรียนจบแล้ว ข้าพเจ้าฝันอยากเรียนต่อปริญญา


โทอีก แต่ก็ไม่มีใครส่งเสียจึงจำใจหยุดไว้แค่นั้น ผันตัวเองมาเป็นมนุษย์เงินเดือนที่กรุงเทพฯ หลายปี แต่ความฝันเรื่องเรียนต่อปริญญาโทยังไม่หมดไป เพื่อนชวนไปอังกฤษบอกว่าขยันๆ ทำงานไปเรียนไปเดี๋ยวก็จบ ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจไปอังกฤษ ทำงานไปเรียนไปแบบปากกัดตีนถีบหนักเอาเบาสู้ แบก จ็อบตัวเป็นเกลียวหัวเป็นน็อต ทำให้ปริญญาโทที่ฝันไว้ไม่สำเร็จ แต่ก็ทำให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเรียนรู้ว่า สิทธิมนุษยชนของบ้านเขากับบ้านเราต่าง กันราวฟ้ากับเหวเลยทีเดียว

เมื่อถึงวัยอันควร ข้าพเจ้าได้แต่งงานกับผู้ชายที่ดี เขาเป็นวิศวกรจบจากจุฬาฯ ข้าพเจ้าทำงานเป็นผู้จัดการเกสต์เฮ้าส์แห่งหนึ่งย่านบาง ลำภูซึ่งสามีเป็นหุ้นส่วนอยู่ เมื่อมีครอบครัวแล้วข้าพเจ้าจึงตั้งใจว่าจะเป็นภรรยาที่ดี จะเป็นแม่ที่ดีที่สุดของลูก จะสร้างครอบครัวที่อบอุ่นสมบูรณ์ เมื่อตั้งท้องลูกคนแรก ข้าพเจ้ากับสามีดีใจมาก เราต่างตั้งตารอวันที่ลูกจะลืมตาดูโลกอย่างมีความหวัง เรามีความสุขมาก ชีวิตเราพร้อมจริง ๆ เราสองคนสามี-ภรรยา มีรายได้รวมกันแล้วก็ไม่น้อย ควรจะสุขสบาย มีเงินผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เราไม่เที่ยวเตร่ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขทั้งปวง พยายามอยู่ในศีลในธรรม เป็นคนดีของสังคม ที่สำคัญเรากำลังจะมีลูก ชีวิตครอบครัวของเรากำลังจะสุขสมบูรณ์พร้อม มีหลานให้ปู่ย่า-ตายาย


เหลือเพียงลมหายใจที่ปวดร้าว

แต่เมื่อถึงกำหนดคลอด ความฝันของเราก็สลาย เพราะน้องเซ้นต์ลืมตาดูโลกพร้อมกับความเจ็บปวด ลูกได้รับบาดเจ็บจากการทำคลอดและการดูแลหลังคลอดด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังทำให้ลูกชายคนแรกของครอบครัว ต้องกลายเป็นเด็กขาพิการสั้น - ยาวไม่เท่ากันไปตลอดชีวิต ท้ายทอยมีรอยเครื่องดูดที่น่าเกลียด ต้องทนทุกข์ทรมานผ่านการผ่าตัดครั้งแล้วครั้งเล่า ใส่เฝือกตั้งแต่อกถึงปลายขานาน 6 - 7 เดือน หลายครั้งผ่านการดมยาสลบครั้งแล้วครั้งเล่า อนาคตต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมทุก 10 ปี ทุกคืนจะเจ็บปวดขาอย่างทรมานต้องทุบแรงๆ ถึงจะนอนหลับได้มานานนับ 14 ปี

ครอบครัวข้าพเจ้ารักสงบ จึงเลือกที่จะใช้วิธีการพูดคุยกับทางโรงพยาบาลเป็นวิธีแรก อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่เคยโวยวาย ไม่เคยต้องการหาคนผิดคนถูก ขอความเมตตาให้เขาช่วยรับผิดชอบรักษาให้เท่านั้น แต่ก็ได้รับการปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือ ทั้งยังโกหกปัดความรับผิดชอบอย่างไม่มีเยื่อใย ไม่มีเมตตาธรรมอย่างที่เราคิดว่าเขาจะต้องมี ข้าพเจ้าจึงพยายามใช้ช่องทางอื่นๆ ที่คิดว่าน่าจะมีคนกลางทำให้สามารถคุยกันได้ เพียงอยากให้เขาช่วยรับผิดชอบรักษาลูกบ้างเท่านั้น ไม่เคยคิดเรียกเอาเงินทองแม้แต่บาทเดียว แต่ไม่ว่าจะร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีสาธารณสุขทุกสมัย คณะกรรมาธิการต่าง ๆ และหน่วยงานต่างๆ ตามขั้นตามตอน แต่ข้าพเจ้าก็ต้องพบกับความผิดหวังเรื่อยมา ไม่เคยมีใครช่วยได้เลยแม้แต่ที่เดียว บางที่พอจะช่วยได้แต่ก็ไม่มีอำนาจ หรือหน่วยงานเช่น แพทยสภา ที่น่าจะเป็นที่พึ่งได้มากที่สุดของคนไข้ ก็ไม่ช่วยแต่กลับซ้ำเติมความทุกข์ของข้าพเจ้าหนักเข้าไปอีก ข้าพเจ้าอดทนต่อสู้ จนสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่เหลือทรัพย์สินอื่นใด นอกจากลมหายใจที่เจ็บปวด และลูกสองคนเท่านั้น แม้กระทั่งบ้านที่อยู่อาศัยก็ถูกยึด จนคนในสังคมเขาว่า ข้าพเจ้าบ้า โง่ ตลก ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ข้าพเจ้าพยายามทุกวิถีทางที่สังคมเปิดโอกาสให้ แต่ก็ไม่เคยมีเส้นทางไหนที่ง่ายและสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้เลย!


สู้เพื่อลูก... เพรียกหาความยุติธรรม

คุณดลพร ล้อเสริมวัฒนาจนกระทั่งล่าสุดเมื่อทางโรงพยาบาลท้าทายให้ไปฟ้องร้องเอาเอง ข้าพเจ้าจึงเริ่มนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหวังเอาบารมีศาลเป็นที่พึ่ง แต่ก็ยังไม่เคยได้รับความยุติธรรมที่แท้จริง จนข้าพเจ้าแทบจะเป็นบ้าด้วยความหมดหวัง การต่อสู้คดีเป็นไปด้วยความยากลำบาก เป็นเพราะเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน ระบบอำนาจอุปถัมภ์ อำนาจเงิน อำนาจความรู้ อำนาจกฎหมาย อำนาจเส้นสายอิทธิพลทางการเมือง ของบ้านเมืองเราที่มีอยู่จริงเป็นอุปสรรค

สุดท้ายเมื่อพึ่งกระบวนการต่างๆ ไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงหันไปพึ่งสื่อมวลชนที่รัฐสภา มีหนังสือ พิมพ์มติชนลงข่าวหน้าหนึ่งให้เมื่อเดือนกันยายนปี 2537 เริ่มแรกก็ไม่ค่อยมีสื่อสนใจมากนัก คงเป็นเพราะกระแสเรื่องการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในบ้านเมืองเรายังไม่รุนแรง แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ย่อท้อแม้ไม่เคยมีใครเห็นด้วยแม้แต่สามีและญาติ อดทนต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ส่งข่าวก็ไม่ค่อยเป็น ทำตัวให้สัมภาษณ์ก็ไม่เก่ง

ข้าพเจ้าต่อสู้อย่างเงียบๆ ไปเรื่อยๆ จนมีข้อมูลมากขึ้น จึงคิดนำเอกสารไปเสนอให้รายการต่างๆ ช่วยฟ้องสังคมให้ ไปที่ไหนเขาก็ไม่สนใจ ไม่ออกมาคุยด้วยซ้ำ ส่งเอกสารไปเขาก็ไม่เคยติดต่อกลับ คงเป็นเพราะสื่อมวลชนยังเกรงต่ออำนาจตุลาการ ทุกที่เขาจะบอกข้าพเจ้าว่าเรื่องอยู่ที่ศาลไม่มีใครกล้าแตะต้อง วันหนึ่งข้าพเจ้ามีเงินติดกระเป๋าอยู่ไม่กี่บาท อุตส่าห์นั่งรถเมล์เอาเอกสารไปเสนอที่สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งแต่เขาก็ปฏิเสธ ด้วยความน้อยใจ ข้าพเจ้านั่งรถเมล์ไปลงที่สนามหลวง ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วเดินตากฝนไปนั่งอยู่ที่สะพานพระปิ่นเกล้าฯ ตั้งใจจะกระโดดน้ำตายไปให้มันจบๆ กัน แต่ดูเหมือนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เตือนใจกระชากความคิด ให้ข้าพเจ้าหยุดกระทำสิ่งโง่ๆ แล้วควรหันมาทำประโยชน์ให้สังคมจะดีกว่า ข้าพเจ้านึกถึงหน้าลูก หากข้าพเจ้าตายไปใครจะทุบขาให้เขา ใครจะดูแลเขาได้ดีเท่าแม่ นาทีนั้นข้าพเจ้าคิดได้ว่าถ้าข้าพเจ้าไม่ฮึดสู้ จะต้องมีคนต่อๆ ไปในสังคมถูกกระทำอย่างครอบครัวข้าพเจ้าอีก ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจกลับบ้าน และนับแต่นั้นมาข้าพเจ้าตั้งปณิธานไว้ว่าจะอาศัยความเจ็บปวดของครอบครัว สร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กลับคืนสู่สังคมให้ได้ จะทำทุกสิ่งให้ดีเหมือนทุกวันเป็นวันสุดท้ายของชีวิตให้ได้


เดินสายเรียกร้องความเป็นธรรม

จากนั้นข้าพเจ้าจึงเริ่มคิดเปลี่ยนวิธีสู้ เมื่อปี 2544 มีกลุ่มหมอเขารวมตัวกันใส่ชุดดำประท้วงมาตรา 41, 42 ข้าพเจ้าจึงใส่ชุดดำเขียนป้ายไปยืนประท้วงหมออีกที ถูกเขาด่าว่าเสียๆ หายๆ หาว่าข้าพเจ้ารับจ้างจากพรรคการเมืองบ้าง เป็นลูกสมุนของ NGOs บ้าง มีคนยุยงให้ทำบ้าง พวกเขาคิดผิด “ข้าพเจ้าเกลียดความอยุติธรรมมากพอที่จะไม่ต้องมีใครมายุให้สู้” แต่ข้าพเจ้านิ่งเฉยไม่โต้ตอบ เพราะหัวใจมันตายด้านไปหมดแล้ว ข้าพเจ้าไม่มีความอายเลย แปลกใจตัวเองเหมือนกันว่าทำไมเรากล้าทำอะไรอย่างนี้

จากนั้นข้าพเจ้าก็เริ่มเขียนป้ายไปประท้วงที่หน้าโรงพยาบาลคู่กรณี ประท้วงที่หน้าแพทยสภา แม้กระทั่งที่กระทรวงสาธารณสุข การไปถือป้ายประท้วงทำให้ข้าพเจ้าหายจากความเครียด หายจากความคับแค้นใจได้บ้าง เป็นข่าวบ้างไม่เป็นข่าวบ้าง แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ใส่ใจนักที่จะเป็นข่าว เพียงแค่ขอให้ได้แสดงออกเท่านั้นว่าสิทธิของผู้ป่วยเราถูกละเมิด แต่ไม่มีใครเหลียวแล ไม่มีใครช่วยได้ แม้กระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

จากนั้นเป็นต้นมา เมื่อข้าพเจ้าทราบว่าเขามีการจัดเสวนา สัมมนา หรือประชุมวิชาการอะไรที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางการแพทย์ที่ไหน ข้าพเจ้าก็จะพยายามพาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วม ออกความคิดเห็นถูกๆ ผิดๆ บ้างตามประสาชาวบ้านที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์ เพียงแค่อยากสื่อให้ผู้คนเหล่านั้นรับรู้เท่านั้นว่ามีปัญหาอย่างนี้อยู่ มันผิดแต่ถูกปกปิดอยู่ และยังไม่ได้รับการแก้ไข ที่ผ่านมาแก้ไขแบบผิดวิธี บางที่เขาก็ต้อนรับดี บางที่ข้าพเจ้าก็กลายเป็นตัวประหลาด ถูกเขาถากถางให้ช้ำใจก็มี แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ย่อท้อ ถ้าเหนื่อยก็หยุด หายเหนื่อยก็ทำต่อ


สู้... จนเป็นข่าว

กระทั่งวันหนึ่งก็กลายเป็นที่สนใจของสื่อขึ้นเรื่อยๆ เพราะข้าพเจ้าถูกโรงพยาบาลคู่กรณีฟ้องเป็นคดีอาญา และคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายถึง 100 ล้านบาท พร้อมกับสื่อคือสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท. คู่กรณีถอนฟ้องสื่อ แต่เหลือข้าพเจ้าเป็นจำเลยเพียงคนเดียว ข้าพเจ้าเหมือนถูกทิ้งให้เผชิญชะตากรรมเพียงลำพัง ข้าพเจ้านึกถึงสัจธรรมของชีวิต น้อยใจว่าข้าพเจ้าต่ำต้อยไร้ค่าไม่มีเงินทอง จึงไม่มีใครให้ความสนใจว่าข้าพเจ้าจะรู้สึกอย่างไร ข้าพเจ้าจะต่อสู้คดีอย่างไร จะตกอยู่ในสภาพใด แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เคยโกรธเขาเพราะข้าพเจ้านำเรื่องเดือดร้อนไปให้เขา

เมื่อได้เริ่มออกสื่อบ่อยๆ เข้า ก็เริ่มมีเสียงโทรศัพท์ข่มขู่ เช่น “เก่งมากนักใช่มั๊ย เดี๋ยวเจอกันที่บ้าน” “ไม่มีเงินหรือมาถ่ายหนังโป๊เอามั้ย” “ถ้ายังไม่หยุดเจอดีแน่” ปรากฏว่าคืนนั้นประตูรั้วเหล็กที่บ้านก็ถูกงัดจนกระจุย ข้าพเจ้าก็ทิ้งมันไว้เป็นหลักฐานจนทุกวันนี้โดยไม่ได้ซ่อม จากนั้นออกสื่อทีไรก็จะมีเสียงตามสายแปลกๆ มาทุกครั้ง มีการคุกคาม เช่น มีมอเตอร์ไซค์มาวนหน้าบ้านทุกวัน พอหยิบกล้องจะถ่ายรูปก็บึ่งหนีไป และที่หนักสุดคือ พยานของข้าพเจ้าที่เป็นแพทย์ก็ถูกชกที่หน้าคลินิก (ไม่รู้ว่าใครทำ) โดยเตือนว่าอย่าเสือกเรื่องชาวบ้านให้มากนัก ล่าสุดก็มีคนพยายามบุกเข้าไปในบ้านกลางดึก แต่โชคดีที่ไม่มีใครได้รับอันตราย

ข้าพเจ้ากล้ำกลืนอดทนต่อสู้ไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรค ไม่เคยเกรงกลัวต่ออำนาจหรืออิทธิพลของใครที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดี จะเป็นใครใหญ่โตแค่ไหนข้าพเจ้าไม่สนใจ ข้าพเจ้าถือว่าคนใหญ่คนโตที่ทำชั่วก็ไม่มีค่าอะไรที่ข้าพเจ้าต้องไปกลัวเกรง ที่สำคัญข้าพเจ้าถือว่าทุกวันเป็นวันสุดท้ายของชีวิตจึงสู้ไม่ถอย “ถึงรู้ว่าไม่ชนะแต่ขอให้ได้สู้อย่างเต็มกำลัง จะได้ไม่เสียชาติเกิด” ในเมื่อข้าพเจ้าเป็นฝ่ายถูกกระทำ ทำไมข้าพเจ้าต้องยอมแพ้ หากแม้นข้าพเจ้าแพ้ ต่อไปคนในสังคมจะต้องแพ้อย่างข้าพเจ้าไปเรื่อยๆ เรื่องของข้าพเจ้าจึงเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา


ต้นสาย...เพื่อลูก ปลายทาง... เพื่อสังคม

ข้าพเจ้ายังมีความเชื่อว่า ใต้ฟ้าเมืองไทยของเรา ต้องมีความยุติธรรมอยู่ที่ไหนสักแห่ง เพียงแต่ข้าพเจ้ายังหาไม่เจอ ความไม่ถูกต้องในสังคม หากข้าพเจ้าเพิกเฉยไม่ต่อสู้แล้ว ข้าพเจ้าจะมีความดีอะไรไว้สอนลูกสอนหลาน แล้วเรื่องนี้มันเป็นเรื่องของลูกข้าพเจ้าเองแท้ๆ หากไม่สู้ให้ลูกแล้ว ข้าพเจ้าก็ไม่สมควรเป็นแม่ของเขา ที่สำคัญข้าพเจ้าคิดว่าหากความจริงไม่ถูกนำมาเปิดเผย คนในสังคมจะต้องถูกกระทำเหมือนครอบครัวข้าพเจ้าไปอีกเรื่อยๆ เราก็จะแพ้กันไปเรื่อยๆ คนทำผิดก็ทำผิดกันไปเรื่อยๆ เพราะถูกปกปิดไว้อย่างผิดๆ บางครั้งรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เคยถอยให้กับความไม่ถูกต้อง จนข้าพเจ้าถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำเพื่อสังคมส่วนรวม มากกว่าเรื่องลูกซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวไปแล้ว

สำหรับข้าพเจ้าแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ เริ่มจากเป็นเพียงเรื่องส่วนตัว แต่กลับได้พัฒนากลายเป็นการฉ้อฉลร่วมมือกันรังแกประชาชน ของอำนาจรัฐไปแล้ว โดยเฉพาะแพทยสภา จึงทำให้รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นภัยต่อสังคม เป็นภัยต่อผู้ป่วยอื่นๆ ต้องได้รับการแก้ไข จนแม้กระทั่งนำเรื่องฟ้องร้องศาลแล้ว ก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องร้องเรียนศาลว่าศาลไม่เป็นธรรม ในขณะที่ฝ่ายโรงพยาบาลก็ใช้กระบวนการทางศาลมารังแกผู้ป่วย ถ้าปล่อยเรื่องนี้หลุดรอดการตรวจสอบ ต่อไปชาวบ้านเราจะอยู่กันได้อย่างไร ทุกคนมีเจ็บไข้ได้ป่วยกันทุกวัน หมอก็มีผิดพลาดทุกวัน แล้วประชาชนที่ไม่มีเส้นสายจะหาความเป็นธรรมได้จากใคร ชีวิตเด็กน้อยๆ ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมตั้งแต่เกิดมาบนโลกมันถูกต้องไหม แม้ข้าพเจ้าจะหาความเป็นธรรมให้เขาไม่ได้ แต่ข้าพเจ้าคิดว่าต้องสู้ให้ถึงที่สุดก่อน ให้ลูกได้รู้ว่าแม่ได้ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว และกรณีของเขานั้นก็เป็นกรณีที่ทำให้สังคมรับรู้ถึงความไม่ถูกต้องของวงการแพทย์ เป็นประโยชน์ต่อสังคม แม้ตัวเขาจะพิการมาตั้งแต่เกิด แต่เขาก็ได้ทำประโยชน์ให้แก่สังคมตั้งแต่เกิดมาเช่นกัน ขอให้เขาภูมิใจ แม้เขาจะทำเองไม่ได้แต่แม่ก็จะพยายามให้ถึงที่สุด


บันทึกโดย ดลพร ล้อเสริมวัฒนา


---------------- นอกบันทึกของ ดลพร ล้อเสริมวัฒนา ----------------

Imageดลพร ล้อเสริมวัฒนา แม่ผู้ออกมาเรียกร้องสิทธิและถามหาความเป็นธรรมในกรณีความผิดพลาดทางการแพทย์ของโรงพยาบาลพญาไท 1 ซึ่งทำคลอดลูกชายของเธอ โดยแพทย์ได้วินิจฉัยให้เธอคลอดโดยวิธีธรรมชาติทั้งๆ ที่ลูกในท้องของเธอมีน้ำหนักถึง 4,050 กรัม เมื่อเธอไม่สามารถคลอดตามธรรมชาติได้ แม้กระทั่งเมื่อแพทย์ใช้เครื่องดูดสูญญากาศดูดศีรษะของเด็กแต่ก็ยังไม่สามารถดึงเด็กออกมาได้ แพทย์จึงต้องผ่าตัดฉุกเฉิน แต่ผลของการทำคลอดครั้งนี้ได้ส่งผลให้บริเวณท้ายทอยของลูกชายเธอบวมช้ำและยังคงมีร่องรอยอัปลักษณ์ปรากฏอยู่บนศีรษะของเขาโดยไม่สามารถแก้ไขให้เป็นปกติได้ ไม่เพียงเท่านั้นด้วยความไม่ใส่ใจดูแลรักษาของแพทย์และพยาบาล ยังทำให้ลูกชายติดเชื้อส่งผลให้ลูกของเธอพิการขาซ้ายเสียเนื่องจากเชื้อที่ติดได้ลุกลามไปที่สะโพกและเป็นหนองกัดกินหัวสะโพกขาข้างซ้ายจนหมดทำให้ไม่สามารถยืน เดิน นั่งได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป และต้องทนทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวดนับแต่เกิดมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนตัวเธอและครอบครัวก็แทบสิ้นเนื้อประดาตัว ด้วยหมดเงินไปกับค่ารักษาพยาบาลลูกชายและค่าคดีความที่ฟ้องร้องต่อศาลยืดเยื้อกว่า 10 ปี กิจการที่มีคือร้านถ่ายรูปที่เคยเป็นรายได้หลักก็ต้องปิดกิจการเพราะต้องทุ่มเทเวลาในการดูแลรักษาลูก ประกอบกับสามีซึ่งเป็นวิศวกรต้องไปขายแรงงานที่สหรัฐอเมริกา ซ้ำร้ายเมื่อประสบอุบัติเหตุตกจากหลังคาบ้านที่ไปรับจ้างซ่อม กระดูกสันหลังหัก ทำงานหนักไม่ได้ บ้านที่มีก็ถูกยึด เธอจึงต้องออกมาเรียกร้องถามหาความยุติธรรมจากรัฐและโรงพยาบาลมาเป็นเวลา 14 ปีเท่าอายุลูกชายของเธอ

เธอเป็นที่รับรู้ของสังคมหลังจากได้ไปออกรายการ ‘เจาะใจ’ ทางสถานีกองทัพบกช่อง 5 ต่อมาเธอถูกฟ้องร้องโดยโรงพยาบาลพญาไท 1 ในข้อหาหมิ่นประมาท ทำให้โรงพยาบาลเสียชื่อเสียง จากการที่เธอให้สัมภาษณ์รายการ ‘เมืองไทยรายวัน’ ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ช่อง 9 อสมท.เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2545 และเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2548 ศาลได้พิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว ทางรายการ ‘ถึงลูกถึงคน’ โดย สรยุทธ สุทัศนะจินดา ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ช่อง 9 อสมท. จึงเชิญเธอมาออกรายการอีกครั้ง ชื่อของเธอจึงเป็นที่รู้จักของสังคมในฐานะแม่ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิและความยุติธรรมให้กับลูก

ถึงแม้ข่าวคดีความของเธอตามที่เราทราบกันว่า ศาลได้ยกฟ้องคดีหมิ่นประมาทโรงพยาบาลพญาไท 1 ไปแล้ว แต่ทางฝ่ายโรงพยาบาลได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล เธอจึงยังต้องรอฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ต่อไป รวมถึงคดีแพ่งข้อหาละเมิด ซึ่งโรงพยาบาลดังกล่าวเรียกค่าเสียหายจากเธอ 100 ล้านบาท ถึงแม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้เธอชนะคดี แต่ก็ยังอยู่ในขั้นการฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เช่นกัน ส่วนเธอเองก็ได้ฟ้องแพทยสภาทั้งคณะเป็นคดีอาญาข้อหาปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบมาตรา 157 ซึ่งเธอบอกว่า คดีนี้สำคัญมากสำหรับชีวิตของเธอและชีวิตของผู้เสียหายทางการแพทย์ทุกคน ถึงแม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่รับฟ้องโดยกล่าวว่าคดีไม่มีมูล ถึงแม้เธอจะมีคณะกรรมการแพทยสภา 2 ท่าน และแพทย์อีก 1 ท่าน ไปเบิก ความเป็นพยานถึง 3 ปาก ว่าแพทยสภาเข้าข้างกันอย่างไร ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างไร เธอจึงยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เธอบอกว่า “มีผู้รู้หลายท่านบอกว่า ปกติแล้วถ้าศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ไม่รับ เขามักจะไม่รับฎีกา แต่ก็ได้ทำคำร้องขอความเมตตาให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งของศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ช่วยรับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงให้เพื่อฎีกาจะได้ขึ้นสู่ศาลสูง ปรากฏว่ามีผู้พิพากษาท่านหนึ่งเมตตาช่วยรับรองฎีกาให้ ตอนนี้ก็ใจจดใจจ่อรอฟังคำพิพากษาศาลฎีกาว่าศาลจะประทับฟ้องหรือไม่”

“คดีนี้มีคนมากมายบอกว่า ไม่อยากให้หวัง กลัวจะผิดหวัง เพราะมันยากที่ประชาชนธรรมดาจะเอาชนะเจ้าหน้าที่รัฐได้ แต่ก็เชื่อว่าต้องหวัง ในเมื่อเราทำสิ่งที่ถูกต้อง”

“พี่คิดว่าทุกอย่างถ้าเราลงมือทำแล้วเราจริงใจนะ สักวันหนึ่งต้องสำเร็จ คดีพี่อุ้ยถึงไม่ชนะ แต่สังคมได้ก็โอเค...แค่นี้ก็กระเทือนเยอะแล้ว”


เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์

Imageระหว่างที่ต้องต่อสู้อย่างเดียวดายนั้น ทำให้เธอได้คิดว่าการสู้คนเดียวไม่ค่อยมีใครสนใจต่อปัญหานั้น การรวมตัวกันมากๆ น่าจะเป็นแนวทางในการต่อสู้ที่ได้ผลและทำให้มีพลังในการต่อสู้มากกว่า จึงเป็นที่มาของการรวมกลุ่มกับเพื่อนผู้เสียหายด้วยกัน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 150 กรณี โดยมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือในการประสานงานให้ และมีแพทย์และนักกฎหมายที่มีใจเป็นธรรมเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการตั้งเป็นเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ หรือ Thai Iatrogenic Network (TIN) ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ว่า “การที่เราไม่ท้อถอย ยังคงยืนหยัดนั้น ผู้คนรอบข้างที่เห็นด้วยก็จะค่อยๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับเราเอง”

กรณีความเสียหายจากการรักษาทางการแพทย์นั้นมีจำนวนมาก เครือข่ายฯ จึงแบ่งเป็นกลุ่มหลักๆ ได้แก่ 1.กลุ่มแพ้ยาแล้วตาย พิการ ตาบอด 2.กลุ่มคลอดลูกแล้วตาย พิการ 3.กลุ่มไส้ติ่ง 4.กลุ่มศัลยกรรมความงาม 5.กลุ่มอื่นๆ ทั่วไป สำหรับการดำเนินการช่วยเหลือผู้เสียหายทางการแพทย์ที่ต้องการให้ช่วยเหลือนั้น เธอจะให้คำปรึกษาและช่วยเหลือตั้งแต่การจัดส่งเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับตัวผู้เสียหาย ส่งให้กับแพทย์ของเครือข่ายฯ และทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หากคดีมีมูลก็จะแนะนำให้ผู้เสียหายร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ อย่างเป็นขั้นตอน และหากยังไม่ได้รับความเป็นธรรม และผู้เสียหายยังประสงค์จะดำเนินการพึ่งกระบวนการยุติธรรม เครือข่ายฯ ก็มีนักกฎหมายที่มีประสบการณ์ด้านคดีทางการแพทย์คอยให้คำแนะนำและช่วยเหลือ ตลอดจนช่วยหาพยานทางการแพทย์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วหายากมาก

ผลงานความสำเร็จจากการช่วยเหลือของเครือข่ายฯ ซึ่งเป็นที่รู้จักของสังคมกรณีหนึ่งก็คือ กรณีของนางดอกรัก เพชรประเสริฐ ซึ่งไปรักษาไข้หวัดที่คลินิกประจำ แพทย์ทราบดีว่าคนไข้มีประวัติแพ้ยา แต่กลับฉีดยาทำให้นางดอกรักแพ้ยาอย่างรุนแรงส่งผลให้นางดอกรักตาบอด แต่แพทย์ผู้ทำการรักษากลับปฏิเสธความรับผิดชอบและท้าทายให้ไปฟ้องร้องเอาเอง เครือข่ายได้เข้าไปช่วยเหลือดำเนินการจนถึงชั้นศาล ซึ่งได้ตัดสินให้กระทรวงสาธารณสุขชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นางดอกรัก และนางดอกรักได้รับการรักษาดวงตาให้เริ่มมองเห็นได้แล้ว

การดำเนินงานของเครือข่ายนั้นทำงานกันโดยใช้นโยบายประหยัด เนื่องจากไม่มีเงินทุนหรืองบ ประมาณจากที่ใด สมาชิกในเครือข่ายจึงช่วยกันออกค่าใช้จ่ายตามแต่กำลังของแต่ละคน หากใครไม่มีเงินก็ออกแรง ใครพอมีเงินก็ช่วยมากหน่อย แต่หากเป็นงานที่เกี่ยวกับส่วนรวมในระดับนโยบาย ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะให้การสนับสนุน และหากผู้เสียหายรายใดยากจน ทางเครือข่ายฯ และมูลนิธิฯ ก็รับช่วยเหลือด้านกฎหมายให้ฟรี หากผู้เสียหายรายใดพอมีฐานะก็จะให้ออกค่าใช้จ่ายเอง

และไม่เพียงจะดำเนินการช่วยเหลือเพียงในกลุ่มเครือข่ายทางการแพทย์เองเท่านั้น พวกเขายังมีพันธมิตรร่วมอีก 3 เครือข่าย ได้แก่ 1.เครือข่ายผู้เดือดร้อนเรื่องบ้านและคอนโด 2.เครือข่ายผู้เดือดร้อนเรื่องการซื้อรถยนต์ 3.เครือข่ายผู้เดือดร้อนเรื่องหนี้นอกระบบ ซึ่งพวกเขาทั้งหมดมีความฝันร่วมกันที่จะให้รัฐบาลจัดตั้งสภาผู้บริโภคตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 57 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภคในทุกแขนง

ดลพร กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าฟังว่า “ถ้าไม่ทำแล้วลูกหลานจะอยู่อย่างไร ลูกพี่อีกหน่อยต้องมีครอบครัว พี่อุ้ยถ้าไม่สู้ก็อาจจะตายด้วยอุบัติเหตุอะไรก็ได้ แล้วคุณค่าชีวิตตนเองอยู่ตรงไหน ขอให้ได้สู้ ขอให้ได้ทำนะ ตอนนี้แนวคิดพี่เปลี่ยนไปแล้วนะ คือ สังคมต้องดี ระบบระเบียบดี จึงจะอยู่อย่างสงบสุข ไม่มีเรื่องมีราว วันไหนอาจจะไปเจอกับลูกหลานเราล่ะ วันนี้เมื่อพี่มีโอกาส พี่รู้พี่เห็นมากว่า 14 ปี ทำไมไม่ทำล่ะ ทำแล้วพอสำเร็จแล้วภูมิใจ พี่ไม่ถอย ถอยไม่ได้ คนเราสุดท้ายก็ลงเชิงตะกอนเหมือนกัน จะช้าจะเร็ว คุณค่าของมนุษย์ก็คือ ครั้งหนึ่งในชีวิตได้ทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง คนพูดถึงเราในทางที่ดี ดีกว่าตายไปโดยไม่มีคุณค่า”

 


เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ติดต่อได้ที่ คุณดลพร ล้อเสริมวัฒนา
โทร. 0-2869-6984 หรือ 0-9210-6281

 

ข้อมูลอ้างอิง
ชีวิตที่เกิดมาเป็นมนุษย์ของ‘ดลพร ล้อเสริมวัฒนา’
จาก www.consumerthai.org มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ความคิดเห็น
เขียนโดย ไวโอเล็ต วงศ์รัตนเทพา เปิด 2012-12-07 20:48:28
ขอเป็นกำลังใจในการต่อสู้ของคุณนะคะ ไม่แน่ใจว่าเราเคยรู้จักกันตอนเป็นเด็กหรือเปล่า....? รู้สึกคุ้นหน้าคุณมากแต่ยังไงก็ตามดิฉันก็จะส่งกำลังใจช่วยในกา รต่อสู้ของคุณกับพวกที่เห็นคนจนไม่ใช่คน และชอบเอาเปรียบคนอื่นอย่างหน้าด้านๆนะคะ :roll :grin

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >