หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 64 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


สานใจให้คนกล้ากับอีกมุมของชีวิต สุภิญญา กลางณรงค์ พิมพ์
Wednesday, 07 June 2006


สานใจให้คนกล้า...

กับอีกมุมของชีวิต...สุภิญญา กลางณรงค์


ธัญลักษณ์ นวลักษณกวี เรื่อง


ภาพ : CCJP - Thailand

“เมื่อลมพัดแรง บดบังเบื้องบน
แสงดาวดูหม่น ฝ่าพายุฝน เส้นทางมืดมัว
แต่นกบางตัวยังบิน
อาจดูน่ากลัว ขู่ด้วยเสียงดัง ใช้อำนาจข่ม
ย่อมมีสักคน หยัดยืนท้าทาย ไม่ยอมพ่าย ไม่ยอมจำนน
สานใจให้คนกล้า ให้รู้ว่า เธอไม่ได้ยืนลำพัง
ถึงเรี่ยวแรงเราอ่อนล้า ให้ดวงตายังมีความหวัง
ฉันจะยืนไม่ห่างไกล อย่าหวั่นไหว เธอจะไม่เดียวดาย
สานใจให้คนกล้า ให้รู้ว่าเธอไม่เดียวดาย
ถึงเรี่ยวแรงอ่อนล้า แต่น้ำตาก็มีความหมาย
ฉันจะยืนไม่ห่างไกล เธอไม่ได้สู้ลำพัง”

- บทเพลง “สานใจให้คนกล้า” โดย ศุ บุญเลี้ยง -


หากเปรียบให้ ‘นก’ เป็นตัวแทนของความอิสระเสรี ด้วยปีกที่สามารถนำพาร่างกายโบกโบยบินไปในโลกอันกว้างใหญ่ได้อย่างเสรีแล้ว ‘นก’ ก็ถูกใช้เป็นตัวแทนของ ‘นักสื่อสารมวลชน’ ผู้ (เคย) มีอิสระทางความคิดในการแสดงความคิดเห็น นำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคม เป็นกระบอกเสียงที่จะป่าวร้องแทนผู้คนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ สร้างความเข้าใจระหว่างรัฐและประชาชนในทุกระดับชั้นไม่ว่าจะยากดีมีจน หรือรวยล้นฟ้าก็ตาม ในวันนี้ เมื่อนกส่วนใหญ่ถูกขลิบปีกให้บินได้เพียงระยะสั้นๆ บ้างอยู่ในกรงทองรอรับอาหารที่นำมาป้อน แต่ยังคงมีนกบางตัว มุ่งมั่นบินฝ่าสายลมแรง ท่ามกลางพายุที่โหมกระหน่ำอยู่อย่างไม่ย่อท้อ ด้วยรักในอิสระอย่างแท้จริง


บินตามความฝัน
หญิงสาวคนหนึ่ง... ในวัยวันที่เธอเริ่มก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เธอใฝ่ฝันจะเป็นนกน้อยในไร่ส้ม – สมญานามซึ่งใช้เรียกขานอาชีพ นักข่าว นักสื่อสารมวลชน จากเด็กต่างจังหวัดเช่นเดียวกับผู้คนอีกมากมายซึ่งเข้าสู่เมืองหลวงด้วยจุดมุ่งหมายและความใฝ่ฝันของตน สำหรับเธอแล้ว ที่กรุงเทพฯ นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นของวิญญาณขบถที่อยู่ภายใน อย่างที่เธอเล่าให้ฟังว่า “ช่วงที่มาอยู่กรุงเทพฯ ได้เห็นอะไรที่ตรงกันข้ามหรือขัดแย้งชัดขึ้น จากเด็กต่างจังหวัดมาเรียนหนังสือกรุงเทพฯ ในขณะที่เราก็ขยันขันแข็งเรียนให้เก่งๆ เพื่อจะสอบเอ็นฯ ให้ได้ แต่ทางด้านความคิดเราก็เริ่มผลิบานแล้วล่ะ เริ่มตั้งคำถามแล้ว แต่มาสุกงอมมากๆ ตอนเรียนมหาวิทยาลัยที่ทำให้เราตั้งคำถามกับชีวิตว่า เอ๊ะ! เราเกิดมาทำไม ? คุณภาพชีวิตคืออะไร? ทำไมเราต้องมาเรียนหนังสือ? แล้วทำไมมันมีความต่างระหว่างคนจน – คนรวย คนเมือง – คนชนบท บรรยากาศการไปค่ายอาสาพัฒนาฯ การถกเถียง และบรรยากาศช่วงพฤษภาทมิฬด้วย ที่หล่อหลอมความคิดให้ชัดเจนขึ้น”

หากทางชีวิตตามขนบของสังคมกระแสหลักซึ่งมักให้คุณค่าความสำคัญกับภาพลักษณ์ภายนอก อาทิ ความร่ำรวย ความสำเร็จ ชื่อเสียง และเกียรติยศ ฯลฯ ได้ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ต่างพากันมุ่งเดินสู่ทางสายหลักนี้ แต่สำหรับเธอแล้วกลับมิใช่

“เราโตมาในครอบครัวของคนธรรมดาๆ คือไม่ได้รู้สึกว่าชาตินี้ต้องร่ำรวย หรือต้องมีเกียรติยศชื่อเสียง หรือว่ามีเงินมากมาย ตรงนี้มันสั่งสมอยู่ในใจ ทำให้เราไม่คิดไปทำงานอะไรที่ต้องสะสมเงินทองหรือวัตถุ และที่บ้านครอบครัวก็ไม่เคยคาดหวัง พ่อบอกว่า ให้เราเรียนให้จบ มีครอบครัว ดูแลตัวเองได้ ก็แค่นั้น ฐานคิดตรงนี้ช่วยทำให้ทางเลือกในชีวิตเราแคบลง คือ อยากเป็นนักข่าว เป็นนักเขียน เงินเดือนไม่เยอะไม่เป็นไร”

เมื่อเรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางชีวิตที่เลือกไว้กลับถูกปิดกั้น ราวกับเขื่อนที่ถูกสร้างขึ้นปิดกั้นกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวแรง ณ ยามนั้น

“ตอนที่จบปริญญาตรีแล้ว ก็ได้ฝึกงานกับบริษัทป่าใหญ่ครีเอชั่น ได้ทำรายการสารคดีเยาวชนชื่อรายการ “ริมระเบียง” ชอบมาก มีความสุขมาก ณ เวลานั้นใช่ อยากเป็นสื่อมวลชน ทำเรื่องราวของชาวบ้าน คนด้อยโอกาส มานำเสนอ พอรายการถูกยุบไปด้วยเหตุผลที่เป็นทางการคือ ไม่มีผู้สนับสนุนต่อ ไม่มีสปอนเซอร์ หรืออาจเป็นเหตุผลทางธุรกิจ หรือรายการอาจจะล่อแหลมเพราะตอนนั้นเราก็ทำเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์เยอะเหมือนกัน หรือเพราะเหตุผลทางการเมืองก็ไม่รู้... พอรายการถูกยกเลิก เราก็เสียใจ อกหัก”

หากมนุษย์ สิ่งมีชีวิตอันเล็กน้อยกระจิดริดบนโลกใบนี้ ซึ่งดำเนินไปตามวิถีที่ตนเป็นผู้ลิขิตเองแล้ว ยังมีบางสิ่งบางอย่างอยู่เหนือการควบคุมนั้น ทำให้บางครั้งเราไม่สามารถหาเหตุผลให้กับชะตาชีวิตที่หักเหของบางผู้คนได้ สำหรับเธอก็เช่นกัน ทางสายใหม่ที่ย่างเท้าก้าวสู่ แม้ไม่เคยอยู่ในสารบบความคิดมาก่อน แต่กลับกลายเป็นเส้นทางชีวิตสายหลักของเธอไปแล้ว

“พอดีมีเพื่อนชวนมาทำเอ็นจีโอ ก็ไม่รู้จักว่าเอ็นจีโอคืออะไร ก็ลองดู ว่ามันท้าทายดี ได้เงินเดือนนิดเดียวมารับเงินเดือน 6,500 บาท ที่ มอส. (มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม) กะว่าจะลองทำสักพักหนึ่ง ตัดสินใจแป๊บเดียวเอง เพราะจริงๆ ถ้าเราไปทำรายการอื่นหรือไปทำสื่ออื่นจริงๆ ก็ทำได้ เพียงแต่ว่าอะไรมาดลใจไม่รู้ รู้สึกว่าไม่เอาแล้ว มาทำสื่อทางเลือกให้กับเอ็นจีโอดีกว่า น่าจะท้าทายดี รู้สึกว่าเราเริ่มเลือกข้าง เริ่มเห็นปัญหาแล้วว่า คนจนคนด้อยโอกาสไม่ค่อยมีสื่อนำเสนอปัญหาของเขาจริงๆ เพราะฉะนั้นความเป็นกลางในสื่อมวลชนที่เราเรียนมา มันอาจไม่มีจริงหรือเปล่า มีแต่เสียงของรัฐอย่างเดียว แล้วเสียงของชาวบ้านหายไปไหน ชาวบ้านต้องสร้างกระบอกเสียงของตัวเองขึ้นมา ก็คิดตรงนั้นและฝันว่า ถ้าเราได้มีศักยภาพในการสร้างสื่อทางเลือกให้กับเอ็นจีโอได้ก็น่าจะดี”

เธอเข้ามารับผิดชอบกับงานจัดรายการวิทยุของ มอส. สัมภาษณ์บุคคลในแวดวงเอ็นจีโอและชาวบ้าน ออกอากาศเพียงสัปดาห์ละครั้ง ต่อมาทำรายการร่วมกับเครือข่ายต่างจังหวัด จึงมีแนวคิดที่อยากจะมีสื่อภาคประชาชนและวิทยุชุมชนเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ข้อมูลข่าวสารแก่คนในท้องถิ่น และนำไปสู่การผลักดันมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 ซึ่งกำหนดให้มีองค์กรอิสระของรัฐทำหน้าที่จัดสรรและกำกับดูแลคลื่นความถี่วิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน นั่นจึงเป็นที่มาของการก่อตั้งคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ หรือ คปส.เพื่อรณรงค์แนวคิดเรื่องการปฏิรูปสื่อและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการปฏิรูปสื่อ รวมถึงตรวจสอบการทำงานขององค์กรอิสระด้านสื่อ การเกิดสถานีวิทยุชุมชนกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ จึงถือเป็นผลงานที่โดดเด่นของ คปส. แม้ในยามนี้จะยังมีปัญหาการแย่งชิงคลื่นความถี่วิทยุของกลุ่มทุนต่างๆ ที่แสวงหาผลกำไรทางธุรกิจ ซึ่งยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามแก้ไขปัญหาต่อไป


ท้าทายอำนาจทุนนิยม
ช่วงเวลา 10 ปีในการทำงานเอ็นจีโอ หล่อหลอมให้ เก๋ - สุภิญญา กลางณรงค์ สั่งสมประสบการณ์ จากการติดตามสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนผันไปในแต่ละยุคสมัย ได้เรียนรู้โครงสร้างอำนาจทุน อำนาจรัฐ ที่มีผลต่อการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อที่ยิ่งรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน เธอจึงเกาะติดประเด็นที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อแวดวงสื่อสารมวลชนอย่างไม่ลดละ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้รัฐปฏิรูปสื่อวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม เรียกร้องให้มีสื่อทางเลือกของภาคประชาชนอย่างแท้จริง ติดตามกฎหมายการแปรสัญญากิจการโทรคมนาคมที่เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเจ้าของสัมปทาน โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของนักธุรกิจการเมือง ซึ่งทำเอาชีวิตเธอต้องพลิกผันอย่างไม่เคยคาดคิดมาก่อน !


“สุภิญญา" ตั้ง 6 ประเด็นสู้ชินคอร์ป ปลื้ม ต่างชาติล่าชื่อกดดันถอนฟ้อง

18 กรกฎาคม 2548

“สุภิญญา” ประกาศพร้อมขึ้นศาล สู้คดีที่ถูก “ชินคอร์ป” ฟ้องเรียก 400 ล้านบาท เตรียมกระชากหน้ากากธุรกิจการเมือง เผยต่างชาติ ล่าชื่อนักวิชาการยันดารา กดดันบริษัทนายกฯ ถอนฟ้อง

คมชัดลึก www.Komchadluek.com

 


ที่ปรึกษากฎหมายชินคอร์ป เบิกความมัด “สุภิญญา” คดีหมิ่น

19 กรกฎาคม 2548

ศาลสืบพยานโจทก์ คดีชินคอร์ปฟ้อง “สุภิญญา” หมิ่นประมาท กล่าวหารัฐบาลไทยรักไทยหนุนบริษัทในเครือนายกฯ ทนายนำที่ปรึกษาด้าน กม.ขึ้นเบิกความ ยันเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ขณะที่ศาลนัดสืบโจทก์ครั้งต่อไปพรุ่งนี้ ด้านจำเลยเตรียมพยาน 50 ปาก เข้าเบิกความสู้คดี

ผู้จัดการ Manager Online (www.manager.co.th)

 


สื่อทั่วโลกล่าชื่อกดดัน"นายกฯ-ชิน"
ถอนฟ้อง "สุภิญญา"

14 สิงหาคม 2548

องค์กรสื่อทั่วโลกอุ้ม"สุภิญญา"ชน"ชินคอร์ป"ระดมล่าชื่อยื่น"ทักษิณ-ชินคอร์ป"กดดันถอนฟ้อง ยึดศาลแฉเบื้องหลังกลไกธุรกิจการเมือง ข้องใจใช้ทีวีรัฐถ่ายทอดสดยิง "ไอพีสตาร์" ธุรกิจของบริษัทเอกชน ตั้งคำถามผลประโยชน์ชาติหรือชินฯ

กรุงเทพธุรกิจ www.bangkokbiznews.com



เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2546 สุภิญญา กลางณรงค์ ในตำแหน่งเลขาธิการ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ในวาระครบรอบ 5 ปี ของการก่อตั้งพรรคไทยรักไทยว่า ในช่วงที่เป็นแกนนำรัฐบาลได้เกื้อหนุนผลประโยชน์ธุรกิจของเครือชินคอร์ป จนทำให้มีผลกำไรเพิ่มขึ้นทุกปีในอัตราที่สูงขึ้นหลายเท่าตัว และรัฐบาลได้ออกมาตรการหนุนเสริมให้ธุรกิจของตนเติบโตมากยิ่งขึ้นด้วยการใช้อำนาจการเมืองรักษาธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ 3 ประเภท คือ 1.ธุรกิจมือถือ (AIS) 2.ธุรกิจดาวเทียม (IP Star) 3.ธุรกิจโทรทัศน์ (iTV) ซึ่งเป็นการประกอบการบนทรัพยากรสาธารณะที่เกี่ยวพันกับประชาชน ทั้งนี้ คปส.ได้จัดทำรายงาน “ระบบสื่อสารครบวงจรภายใต้อาณาจักรชินคอร์ป ผลประโยชน์ทับซ้อนที่มิอาจปฏิเสธ” โดยชี้ให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำประเทศมีผลประโยชน์ทับซ้อนในเชิงธุรกิจ (Conflict of Interest) หรือมีส่วนได้ส่วนเสียระหว่างผลประโยชน์ครอบครัว กับผลประโยชน์ของประเทศอย่างชัดเจนและนำไปสู่ความคลางแคลงใจของสังคม นั่นจึงเป็นที่มาของการฟ้องหมิ่นประมาทในคดีอาญาและคดีแพ่ง ระหว่าง บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์และสุภิญญา กลางณรงค์

ในเรื่องดังกล่าวนี้ เธอเล่าว่า “ตอนนั้นมีนโยบายเกี่ยวกับโทรคมนาคมออกมาเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแปรสัญญาโทรคมนาคม การแปรสัญญาสัมปทานไอทีวี รวมถึงการมีดาวเทียมไอพี สตาร์ ซึ่งจริงๆ เขาจะขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้วด้วยซ้ำไป ก็เลยเป็นภาระงานของ คปส. ที่ศึกษาเรื่องนี้อยู่แล้วที่จะบอกกับสังคมว่า นโยบายที่เกี่ยวข้องจะกระทบอย่างไรกับสังคม ตอนนั้นมีงานสภาประชาชนพอดี เขาอภิปรายกันเรื่องผลกระทบของการแปรสัญญาโทรคมนาคม เราก็ได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งในผู้อภิปรายเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจในเครือของชินฯ มาประกอบให้สังคมเห็นว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเขาทำธุรกิจครบวงจรทั้งดาวเทียม มือถือ ไอที ในมุมมองของคนทำงานเรื่องสื่อ เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องน่ากังวลเพราะบริษัทยักษ์ใหญ่บริษัทเดียวแต่ทำหลายๆ กิจการ มันอาจจะเกี่ยวกับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนได้ เลยทำให้เราไปติดตามเพื่อทำวิจัย ทำรายงานเผยแพร่ให้สังคม มันเป็นหน้าที่ขององค์กรและเป็นความสนใจของคนทำงานด้วย ประกอบกับสถานการณ์ตอนนั้นที่ปัญหาเรื่องนี้ปะทุขึ้นมาพอดี เป็นจุดที่ทำให้เราเข้าไปเกี่ยวข้องและหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์เข้ามาสัมภาษณ์เรา”

“ชิ้นที่โดนฟ้อง คือชิ้นที่หนังสือพิมพ์มาสัมภาษณ์ความคิดเห็นเรานะคะ ไม่ใช่เราเขียนบทความเองหรือไปนั่งแถลง ซึ่งข้อมูลก็ไม่ได้ลึกหรือไปขุดค้นมาจากที่ไหน ส่วนใหญ่ก็หาจากเอกสาร เว็บไซท์ของเขา หนังสือพิมพ์ หนังสือประกอบ ซึ่งก็เป็นข้อมูลเบื้องต้น เช่น ตัวเลขผลกำไร แผนนโยบายกิจการของเขาก็มาจากเว็บไซท์ ว่าเขาทำอะไรบ้าง ข่าวความคิดเห็นคนนั้นคนนี้ ก็เอามาประมวลดูและมาวิเคราะห์ ทำชุดวิเคราะห์ของเราเอง”


เรียนรู้และเติบโต
2 ตุลาคม 2546 สุภิญญา กลางณรงค์ และหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ได้รับหมายศาล บริษัท ชินคอร์ปฯ ฟ้องหมิ่นประมาท ตาม พ.ร.บ.การพิมพ์และประมวลกฎหมายอาญา

สุภิญญา กลางณรงค์สุภิญญา ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าการให้สัมภาษณ์ของเธอในเรื่องดังกล่าว ไม่เพียงส่งผลให้เธอต้องเข้าสู่วังวนของคดีความที่ยืดเยื้อยาวนาน เท่านั้น แต่กลับมีผลอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิต ทัศนคติ และความเข้าใจในชีวิตของเธอ

“ผ่านไปๆ มันใหญ่ขึ้นๆ เริ่มรู้สึกว่ามันมีผลต่อชีวิตสูงมาก เหมือนก้อนเนื้อมะเร็ง คือมันกลายเป็นชีวิตเรา 100 เปอร์เซ็นต์ไปแล้วตอนนี้ คือใครเจอหน้าเราก็จะถามถึงคดี นึกออกไหมคะ คือไม่ทักแล้วนะว่า เอ๊ะ! ตัดผมใหม่นะ หรืออะไร คำถามก็จะถามว่าคดีเป็นอย่างไร ก็ต้องเล่าว่าคดีเป็นอย่างไร ทุกวันเลย ก็เลยทำให้เครียด รู้สึกว่าชีวิตเราจมปลักอยู่เรื่องเดียว 3 ปีแล้ว มันเลยกลายเป็นเข้าไปอยู่ในเลือด ในอะไรเยอะมาก มันอาจจะเว่อร์นะ คือ กรณีคนอื่นอาจจะไม่เป็นขนาดนี้ แต่เนื่องจากกรณีเรามันดัง ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงดัง ดังในแง่ที่ว่าคนสนใจเยอะ สื่อลงเยอะ ต่างประเทศสนใจเยอะ ทำให้เราต้องคุยกับคนเยอะ แล้วคนที่รู้สึกกับเราก็ต่าง บางคนก็ชื่นชมมาก บางคนก็หมั่นไส้ วิพากษ์วิจารณ์ บางคนก็ปลื้ม ทำให้เรางงเหมือนกัน(หัวเราะ) ว่าตกลงแล้วมันดีหรือไม่ดี ก็เลยเครียด กลายเป็นอารมณ์อะไรไป ส่งผลต่อชีวิตประจำวันมาก”

“เราประเมินตัวเองคือ เรายังไม่แกร่งพอ วุฒิภาวะยังไม่เข้มแข็งพอ เจอปัญหาที่มันใหญ่ขนาดนี้เลยไม่รู้จะทำอย่างไรกับมัน ถ้าเป็นพี่ๆ ที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว เขาอาจจะรู้สึกเด็กๆ โอ๊ย เรื่องแค่นี้ ใช่ไหมคะ แต่สำหรับเรา คิดๆ ในใจ ก็ยังอ่อนแออยู่ แต่ภายนอกอาจจะรู้สึกว่าเราเข้มแข็ง คนไม่รู้จักจะ โห ! เธอเข้มแข็งมาก เธอห้าวมาก(หัวเราะ) ในเวทีจะรู้สึกว่า สุภิญญา ห้าวมาก ทำไมออกมาฟัดกับคนนั้นคนนี้ตลอด มาวิพากษ์วิจารณ์ แต่ลึกๆ ในใจ ถ้าเราเข้มแข็งจริง เราจะต้องหนักแน่นน่ะ และก็ทำงานได้อย่างสบายใจ ไม่เครียด แต่นี่ไม่ใช่ ยังเครียดอยู่ เหมือนเล่นไปตามบทบาท แต่ก็เหนื่อย” (เสียงระโหย)

“ก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องส่วนตัวด้วย รู้สึกเหมือนมันเฮิร์ทไปหมดเลย หมดกำลังใจในชีวิตไปเหมือนกัน 6 – 7 เดือนที่แล้ว ช่วงที่ยังไม่ขึ้นศาล ช่วงที่กำลังเตรียมๆ วุ่นวายเนี่ยะ แย่มาก กลับบ้านไปก็ร้องไห้แทบทุกคืนเลย ... แต่ว่าวันหนึ่งมันก็ผ่านไป ไม่ค่อยฟูมฟายแล้ว แต่ยังเครียดอยู่ ...เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยร้องแล้ว ช่วงนี้รู้สึกเข้มแข็งขึ้น แรงต้านทานมีมากขึ้น ...นั่นล่ะค่ะ เวลาเราอ่อนแอมากๆ สุดท้ายเราก็ต้องอยู่กับตัวเอง เผชิญกับมันจริงๆ ว่าอะไรที่เรากลัว กังวล หรือแค่คิดไปเอง มันอาจไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้นก็ได้”

มรสุมที่พัดเข้ามาในชีวิต ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องการงาน เป็นสิ่งที่เธอต้องเผชิญ มีวิธีจัดการ และผ่านมันไปได้ด้วยตัวเธอเอง สำหรับเธอแล้ว เธอบอกว่า การใช้ “ปัญญา” เป็นหลักยึดทางใจที่ทำให้เธอผ่านความทุกข์มาได้

“ปัญญา ซึ่งไม่ได้หมายถึงความรู้นะคะ คือการที่เราได้ศึกษาเรื่องสังคม การที่เราได้อยู่ในแวดวงเอ็นจีโอ ทำให้เราเข้าใจ รู้จักวิเคราะห์เข้าใจชีวิต เข้าใจสังคม อันนี้คือสิ่งสำคัญที่เป็นฐานให้เราวิเคราะห์เรื่องราวอย่างมีเหตุมีผล และใช้อารมณ์น้อยลง การมองเห็นสัจจะของโลกนี้ การมองเห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอน การมองเห็นความเปลี่ยนแปลง มองเห็นสุขทุกข์เป็นสากล มันเกิดขึ้นไม่ใช่แค่เราคนเดียว คนอื่นก็เกิด สติตรงนี้ก็มาจากรากฐานที่เราโตมาในครอบครัว การที่เราได้อยู่ท่ามกลางกัลยาณมิตร การมาทำงานเอ็นจีโอ การที่เราได้อ่านหนังสือดีๆ ได้คุยกับคนดีๆ ก็เป็นแบบอย่างให้เราเห็นว่า ถ้าเทียบกับคนอื่นแล้ว คนอื่นที่เขาโดนกระทำ โดนอุ้ม ชาวบ้านเขาไม่มีโอกาสได้สู้ด้วยซ้ำ มันเห็นอยู่น่ะค่ะ เดี๋ยวก็เห็นข่าว แรงงาน ชาวบ้าน คนกลุ่มน้อย พวกเขามีปัญหาหนักกว่าเราแล้วเขาไม่มีโอกาสได้สู้เหมือนเรา ไม่มีสื่อมานำเสนอเรื่องของเขาด้วย ไม่มีคนรู้จักด้วย เมื่อเทียบกับคนอื่นแล้ว เราเล็กน้อยมาก ทำไมเราฟูมฟายราวกับเรื่องใหญ่”

“กลายเป็นว่า ตอนแรกเราคิดว่าเราสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพสื่อ แต่ตอนนี้กลับเป็นการสู้กับภายในตัวเองมากกว่า เป็นบทพิสูจน์ความเข้มแข็ง รวมถึงศรัทธา จุดยืน ตัวตน และความจริงแท้ของเราที่เราบอกว่าเราเชื่อมั่นในแนวทางแบบนี้ เราจริงหรือเปล่า”

ครอบครัวมีบทบาทสำคัญเสมอ สำหรับเธอแล้ว ในฐานะลูกสาวคนเดียวของครอบครัว แม้จะไม่ได้อยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพ่อแม่ลูก แต่เธอก็ได้รับพลังใจอันยิ่งใหญ่และอบอุ่นจากพ่อแม่สิ่งยึดเหนี่ยวหนึ่งเดียวของเธอ ถึงแม้ในช่วงแรกเธอยังไม่บอกความจริงเรื่องคดีความให้พ่อแม่ทราบ ด้วยไม่ต้องการให้เป็นกังวลกับปัญหาของเธอ แต่การไม่บอกความจริงกลับยิ่งเป็นการเพิ่มทุกข์ให้กับพ่อแม่ยิ่งขึ้น แต่เมื่อเธอตัดสินใจพูดความจริงและสะท้อนความรู้สึกภายในใจให้พ่อแม่ได้รับรู้ กลับทำให้เธอได้รู้ซึ้งถึงความรักอันยิ่งใหญ่ที่พ่อแม่มีให้กับเธอ

“จนวันหนึ่ง เราตัดสินใจว่าต้องพูดกับเขาตรงๆ แล้ว แต่ใช้โทรศัพท์นะ ไม่ดีเลยไม่ได้กลับบ้านไง พูดกับเขาตรงๆ ว่า แม่ มันเกิดขึ้นแล้วก็ต้องยอมรับ ถึงเราจะติดคุกก็ได้(หัวเราะเสียงเครือ) อยู่อย่างนี้ก็ได้ แต่มันเกิดขึ้นแล้ว แม่จะให้ทำยังไง แม่จะไม่ให้สู้หรือ แม่ก็ร้องไห้ บอกว่า แล้วเก๋จะอยู่ยังไง ใครจะดูแล ก็บอก แม่ ไม่ต้องกังวลหรอก เก๋อยู่ได้ เก๋เลือกเอง สุดท้ายเก๋ก็ต้องรับผิดชอบ มันเป็นชีวิตที่เก๋เลือกเอง แม่เขาบอก เก๋ ทำไมพูดอย่างนี้ ทำไมคิดอย่างนี้ ทำไมเป็นลูกอย่างนี้”

“แม่พูดประโยคหนึ่งแบบสะเทือนใจมาก คือเราบอก แม่ไม่ต้องห่วงหรอก คนสนับสนุนเยอะแยะ เราไม่โดดเดี่ยวหรอก ยังไงก็มีคนมาช่วยเหลือเรา แม่บอกว่า ก็ใช่ซิ แม่รู้ว่ามีคนสนับสนุนเยอะแยะ แต่แม่ถามหน่อยเถอะว่า ถ้าเก๋เป็นลูกเขา เขาจะเชียร์ให้สู้ไหม”

“จากก่อนหน้านี้เราไม่ยอมรับความจริงกับเขา โกหกเขาว่า ไม่เป็นไรๆ พอเริ่มพูดตรงๆ กับเขาว่า มันอาจเป็นอะไรก็ได้นะแม่ มันอาจจะแย่ก็ได้ แต่แม่จะให้เก๋ทำยังไง เก๋ก็ต้องยอมรับกับมัน เก๋ก็รู้สึกแย่นะ เก๋ก็เศร้า เก๋ก็เสียใจนะ เครียดนะ เก๋ก็ร้องไห้นะ พอเราพูดตรงๆ พ่อแม่เขากลับดีขึ้น ไม่ว่าเราอีกแล้ว ทำให้เราได้พลังใจอันอบอุ่นกลับคืนมา”

“เราถึงรู้สึกว่า โห เราดีใจมากที่ได้พ่อแม่ที่เข้าใจ แต่ลึกๆ เรารู้ว่าเขายังเครียดอยู่ ถ้าเลือกได้เขาก็อยากให้มันจบลง แต่ด้วยความที่เขารักเรา และเรายังต้องเดินไปบนเส้นทางสายนี้ ยังไม่จบสิ้น เขายังต้องอยู่กับเรา และอยู่อย่างไม่ทุกข์ด้วย เขาจะทุกข์ก็ช่างแต่เขาให้เราเห็นว่าเขาไม่ทุกข์ เขาเลือกที่จะไม่ว่าเรา เราก็รู้สึกดีขึ้นและได้เรียนรู้ว่าพ่อแม่รักเรา เขาอดทนมากนะ เราลากเขามาสู้ด้วย ก็เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น”


เพื่ออิสรภาพทางความคิด
Imageเก๋ – สุภิญญา ยอมรับว่าทัศนคติและมุมมองต่อชีวิตและการงานของเธอเปลี่ยนแปลงไป เธอคิดว่า เธอเข้าใจชีวิตและสังคมมากขึ้น คดีนี้ทำให้เธอหันมาให้ความสำคัญกับมิติทางจิตวิญญาณมากขึ้น และเรียนรู้ที่จะสร้างดุลยภาพของชีวิต ดังที่เธอเขียนไว้ใน ‘สานใจให้คนกล้า’* ว่า

หลายคนอาจมองการต่อสู้ครั้งนี้ต่างกันไป บ้างมองเป็นเรื่องใหญ่ บ้างมองเป็นเรื่องเล็ก เป็นปรากฏการณ์ธรรมดาๆ สำหรับเรานั้น ก่อนหน้าที่เคยคิดว่า เราต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม มาวันนี้เมื่อชีวิตเจอวิกฤต ทำให้ได้ค้นพบว่าแท้ที่จริงนั่นคือการต่อสู้กับตัวเอง และครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งบททดสอบที่ยิ่งใหญ่ ทำให้ค้นพบว่า ความปรารถนาสูงสุดของเรา คือ ความเป็นอิสระ โดยเฉพาะความเป็นอิสระทางจิตใจ เราเชื่อมั่นว่า ถ้ามนุษย์เป็นอิสระจากความกลัวได้ เราจะเป็นอิสระจากทั้งปวง

หากอุปสรรค คือ สิ่งที่เราต้องก้าวข้าม ทุกผู้คนย่อมต้องเผชิญกับช่วงเวลายากลำบากของชีวิต ให้เราได้เรียนรู้ และก้าวข้ามผ่านไปให้ได้ บททดสอบของแต่ละคนย่อมต่างกัน เพียงเรากล้าที่จะสู้ พร้อมเผชิญกับอุปสรรคนั้นด้วยใจที่มั่นคง

สำหรับเธอคนนี้ แม้ยังต้องต่อสู้กับคดีความซึ่งคงยืดเยื้อต่อเนื่องไปอีกหลายปี แต่เธอยังตอบอย่างแน่แน่วว่า “จุดยืนที่จะทำงานสังคม ยังทำงานปฏิรูปสื่อแน่นอน ให้เวลาตัวเองนิดหนึ่งในการฟื้นฟูเยียวยาจิตใจ คราวนี้เราคงแข็งแกร่งกว่าเดิม”

เมื่อนกตัวนี้รักษาบาดแผลหายดีแล้ว เราคงได้ ‘นกเสรี’ ที่มี ‘อิสรภาพทางความคิด’ มาเป็นปากเสียงแทนประชาชนและเสรีภาพของสื่อในสังคมไทยกันต่อไป


* เอกสารที่พิมพ์แจกในงานระดมทุนเพื่อเป็น “กองทุนสู้คดีสุภิญญา” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม 2548 ณ ห้องแกรนด์บอลลูม โรงแรมมณเฑียรริเวอร์ไซด์ ซึ่งเป็นความร่วมมือของเครือข่าย 30 องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรพันธมิตร ที่ตระหนักถึงบทบาทการทำหน้าที่ของสุภิญญา กลางณรงค์ และหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อตรวจสอบบุคคลและองค์กรสาธารณะ ซึ่งดำเนินนโยบายและกิจการที่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงร่วมเป็นกำลังใจและช่วยกันหาทุนสนับสนุนการสู้คดีให้เธอ


ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >