หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 61 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


ความเป็นธรรม ความจริงใจ จะลบรอยแผลในใจเราได้” พิมพ์
Wednesday, 07 June 2006


“ความเป็นธรรม ความจริงใจ จะลบรอยแผลในใจเราได้”

เสียงจาก... เธอผู้เข้มแข็ง “อังคณา นีละไพจิตร”


ฝ่ายเผยแพร่เพื่อการมีส่วนร่วม


ด้านหน้าสำนักงาน สภาทนายความ ถนนราชดำเนินกลาง – ป้ายผ้าพลาสติกสีขาวมีภาพของชายผู้หนึ่งซึ่ง ณ วันนี้คงแทบไม่มีใครไม่รู้จักเขาแล้ว สมชาย นีละไพจิตร : ทนายความนักสิทธิมนุษยชน ทนายความดีเด่นแห่งปี 2546 ผู้มีบทบาทในการว่าความช่วยเหลือชาวมุสลิมที่ถูกกล่าวหาในคดีเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนถึงบัดนี้ ไม่มีร่องรอยใดๆ ที่จะแสดงว่าเขายังมีลมหายใจอยู่ ให้เป็นความหวังแก่ 6 ชีวิตของครอบครัวนีละไพจิตร เลยแม้แต่น้อย

ภาพ : Asian Women's Liberationอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาและแม่ของลูก 5 คน ผ่านช่วงเวลาแห่งความทุกข์ระทมอย่างที่สุด เมื่อสามีอันเป็นที่รักหายสาบสูญไปโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ดูแลความสงบสุขของประชาชน แม่บ้านธรรมดาคนหนึ่งซึ่งเคยมีวิถีชีวิตเรียบง่ายงดงามตามวิถีมุสลิมซึ่งมีศาสนาเป็นแนวทาง ภรรยาที่สนับสนุนงานของสามีผู้อุทิศตนเพื่อสังคมและคนยากไร้ แม่ที่ดูแลเลี้ยงดูและเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกๆ เป็นการทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ และคงจะเป็นวิถีชีวิตที่เป็นไปตามครรลองอย่างสมบูรณ์แบบครอบครัวหนึ่ง... หากไม่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายที่เข้ามาในชีวิต

และหากไม่ใช่ความเข้มแข็งของผู้หญิงคนนี้แล้ว คงมิใช่เรื่องง่ายเลยที่สมาชิกครอบครัว นีละไพจิตร จะข้ามผ่านวิกฤตนั้นไปได้ ณ วันนี้ เธอและลูกๆ พร้อมแล้วที่จะออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทักษิณหาคำตอบเรื่องการอุ้มหายทนายสมชายซึ่งได้กลายเป็นตัวแทนของการทวงถามความยุติธรรมในนามของผู้สูญหายจากปัญหาสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว และการก้าวออกมาอย่างเต็มตัวของเธอและลูกๆ ไม่ใช่การทำเพียงเพื่อครอบครัวตนเองเสียแล้ว แต่กลับเป็นการทวงถามถึงการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนจากผู้มีอำนาจรัฐในยุคนี้

“ผู้ไถ่” มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนถึงบ้านของครอบครัวนีละไพจิตร เพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้เธอและครอบครัว ร่วมทวงถามความยุติธรรมจากอำนาจรัฐ


ชีวิตตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ก็พยายามทำให้เหมือนเดิม แต่ช่วงนี้ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลอยู่ตลอด งานการที่จะทำเลยต้องแบ่งเวลา ความจริงไม่จำเป็นต้องไปศาลก็ได้ค่ะ เพราะมีทนาย เขาก็ทำหน้าที่ แต่มีความรู้สึกว่าเป็นหน้าที่และเราก็อยากจะไป อยากจะรู้ บาง ครั้งมีข้อมูลบางอย่างที่ไม่ถูกต้อง เราก็เสริมเพิ่มเติมได้บ้าง อยากทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ในช่วงนี้จะลำบากหน่อย เวลาส่วนตัวจะน้อยลง แต่สำหรับการดูแลลูกก็ยังเหมือนเดิม เช้าๆ จะส่งลูกไปโรงเรียน แล้วค่อยไปศาล เย็นก็กลับบ้าน คงสืบพยานไปเรื่อยๆ ถึงสิ้นปี เป็นคดีต่อเนื่อง อาทิตย์เว้นอาทิตย์


ขึ้นศาลบ่อยๆ รู้สึกกดดันไหม
ก็ไม่กดดันนะคะ เพราะที่พูดไปทั้งหมดคือความจริง เราพูดความจริงก็พูดไปได้เรื่อยๆ ไม่ต้องไปเสียเวลาคิดว่าเขาจะถามอะไร เราจะตอบอะไร เชื่อมั่นว่าเราทำในสิ่งที่ถูกต้องมาตลอด ปกติจะเป็นคนเปิดเผยไม่ได้ปิดบังใคร ที่ถูกซักในศาล ทนายจำเลยจะข้องใจว่าเรา (ทนายสมชายและครอบครัว) อยู่ได้อย่างไร มีลูกตั้ง 5 คนอยู่ในระดับมีคุณภาพชีวิตที่ดี เรียนหนังสือโรงเรียนดีๆ เอาเงินทองที่ไหนมา ก็ตอบความจริงในศาลว่า จริงๆ แล้วนี่ การว่าความไม่ต้องใช้เงิน เราเพียงใช้วิชาความรู้ ใช้ประสบการณ์ และความจริงใจ มีค่ารถไปศาลแค่นั้นเอง ส่วนค่าคัดคำให้การบ้าง อะไรบ้าง ไม่กี่บาทค่ะ กลางวันทานข้าวจานละ 20 บาท กลับมาทานข้าวบ้าน ก็อยู่ได้ นอกจากนานๆ ทีจะมีประเด็นต้องไปสืบที่ต่าง จังหวัด ก็เสียค่าเครื่องบินประมาณสี่พันกว่าบาท เดือนหนึ่งอย่างมาก 2 ครั้งไม่ถึงหมื่น ตรงนี้เรามีรายได้เดือนละ 3-4 หมื่น เราก็คิดว่า เสียสละได้ตรงนี้ ไม่เดือดร้อน แต่บางคนจะไม่เข้าใจ ทนายส่วนใหญ่อาจจะมีรถคันโตๆ ขับ มีบ้านหรูหรา แต่เราอยู่ได้ค่ะ อยู่บ้านเป็นตึกแถวเล็กๆ แต่เราก็มีคุณภาพชีวิตที่ดี


ตอนนี้มีรายได้จากไหน
เมื่อก่อนตอนที่เรียนพยาบาล ที่บ้านมีกิจการเป็นบริษัทเล็กๆ ส่งออกเครื่องเงิน พอลา ออกจากงานพยาบาลก็มาดูแลครอบครัว และทำกิจการส่วนตัวตรงนี้ด้วย ต่อมาเศรษฐกิจไม่ดีช่วงฟองสบู่แตกก็ปิดบริษัท แต่ลูกค้าต่างประเทศยังติดต่อกันอยู่ คบหาเหมือนเป็นเพื่อนกันเพราะเราทำการค้าขายมา 20 กว่าปี มาวันนี้ก็เลยมาเริ่มใหม่ ทำธุรกิจเพื่อประคับประคองตรงนี้ไประยะหนึ่งช่วงที่ลูกๆ ยังเรียนหนังสือ แต่ยังมีปัญหาเยอะเพราะยังต้องขึ้นโรงขึ้นศาลทุกวัน ก็ทำเท่าที่ทำได้ เอาแค่พออยู่พอกิน ประคองตรงนี้ไปได้

อย่างลูกๆ ที่เรียนมหาวิทยาลัยทุกคนจะได้ทุนเรียนและจะทำงานไปด้วย รับงานเป็นผู้ช่วยอาจารย์ และทำงานในห้องสมุด เพราะฉะนั้นตรงนี้จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายของลูกเพราะว่าเขาช่วยตัวเขาเอง เสาร์อาทิตย์เขาจะรับจ้างซักเสื้อผ้าก็จะมีรายได้เป็นค่าขนม ไม่ได้จ่ายค่าขนมให้ลูกๆ มาหลายปีแล้ว ตั้งแต่คุณสมชายยังอยู่ อะไรเล็กๆ น้อยๆ เขาก็จะทำ คือจะเลี้ยงลูกแบบให้พึ่งพาตัวเองมาตลอด ส่วนค่าใช้จ่ายในบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอาหาร
ก็ไม่มากมายค่ะ เรามีเท่าไรก็กินใช้เท่านั้น


ลูกๆ เขาเลือกทำงานพิเศษเองหรือ
เขาก็คิดเองทำเองค่ะ คืออยู่บ้านเฉยๆ อย่างเสาร์อาทิตย์ เช้ามาคนหนึ่งมีหน้าที่ไปรับผ้ามา อีกคนก็มีหน้าที่ซักตาก เสร็จแล้วกลางวันว่างก็ท่องหนังสือทำการบ้านไปตามปกติ เย็นก็พับไปส่ง แล้วรู้สึกเขาจะภูมิใจนะคะว่าเขาดูแลตัวเองได้ และไม่เป็นภาระกับคุณพ่อคุณแม่ คือ ตั้งแต่คุณสมชายยังอยู่ ทุกคนจะไม่ค่อยขอเงินพ่อเพราะเขารู้สึกว่าพ่อไม่ค่อยมีเงิน ต้องยอมรับว่านับถือน้ำใจเขา เพราะลูกๆ จะไม่เคยมาบอกว่าทำไมเราไม่ได้ไปเที่ยวต่างจังหวัดบ้าง ทำไมเราไม่มีโอกาสไปเที่ยวเมืองนอกบ้าง ทำไมเราต้องมาลำบาก ทำไมพ่อว่าความ พ่อไม่เรียกเงินค่าทนายเยอะๆ เราจะได้สุขสบายเหมือนครอบครัวอื่น ตรงนี้เขาจะไม่มีในความคิด เขาเสียสละสิทธิที่เขาจะได้หลายๆ อย่าง มาวันนี้ที่พ่อเขาไม่อยู่จริงๆ ก็คุยกับเขาว่า สิ่งที่เขาลำบากมาหลายๆ ปี ทำให้วันนี้เขาอยู่ได้


คุณอังคณา นีละไพจิตรคุณสมชายว่าความช่วยชาวบ้านมานานแค่ไหนแล้ว
ครั้งแรกทำคดีนักศึกษารามฯ ข้อหาเป็นกบฏ ทำหลายคดีกับคุณทองใบ ทองเปาด์ ไม่ต่ำกว่า 4 - 5 ปี คุณทองใบเป็นคนหนึ่งที่ร่วมก่อตั้งชมรมนักกฎหมายมุสลิม ตอนหลังเริ่มมีคดีทางใต้ คุณสมชายมาทำงานทางใต้เต็มตัวมากขึ้นเพราะเห็นว่าปัญหาของมุสลิมถ้าทนายซึ่งไม่ใช่มุสลิมอาจจะไม่ค่อยเข้าใจในวัฒนธรรมประเพณีลึกซึ้ง คุณสมชายเลยแยกมาทำตรงนี้เต็มตัว ทำมาเรื่อยๆ แต่คดีก็ไม่ได้มากมายอะไร ทำเฉพาะคดีสำคัญๆ อย่างคดียาเสพติดนี่จะปฏิเสธไม่ทำเลย คดีข่มขืน ต่อให้คนรู้จักมาให้ทำก็จะไม่ทำ จะเลือกทำเฉพาะคดีที่ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกกล่าวหา คุณสมชายทำกับสภาทนายความประมาณ 10 กว่าปีแล้วค่ะ

คุณสมชายทำงานเพื่อสังคมมาตั้งแต่ก่อนแต่งงานแล้ว พอมีครอบครัวก็ไม่ได้เปลี่ยน ทีแรกไม่คิดว่าคุณสมชายจะทุ่มให้กับสังคมมากขนาดนี้ แต่ว่าพออยู่ไปๆ งานมากขึ้น อาจเป็นเพราะว่าประชาชนเริ่มรู้ถึงสิทธิของตัวเอง พอได้รับความไม่เป็นธรรมประชาชนก็ไม่อยู่เฉย ต้องร้องขอ ซึ่งตรงนี้นักกฎหมายจะมีส่วนเข้าไปช่วยได้มาก เมื่อก่อนบางทีเราโดนเจ้าหน้าที่รัฐยัดเยียดข้อหา เราก็ช่างมัน เวรกรรมเรา แต่เดี๋ยวนี้ประชาชนจะไม่ยอมอยู่เฉย จะต้องออกมาพูด มาขอความเป็นธรรม งานจึงมากขึ้น

เราก็ต้องมาคุยกับลูกๆ ใหม่ว่า เราต้องเสียสละนะ ถ้าหากคุณพ่อไปเที่ยวเตร่หมดเงินหมดทองกับอะไรซึ่งไม่ถูกไม่ควร อย่างนั้นเราคงต้องเสียใจ แต่สิ่งที่คุณพ่อทำคือการไปช่วยเหลือคนอื่น เพราะฉะนั้นตรงนี้เราต้องยอม ต้องเสียสละ แต่เราก็จะได้สิ่งดีๆ ทดแทนกลับเข้ามา เป็นความรู้สึกดีๆ บางทีชาวบ้านเขามาหา เขาไม่มีเงินทองมาให้ เอากล้วยมาเครือหนึ่ง มะพร้าวทะลายหนึ่ง ก็แบ่งเพื่อนบ้าน จนถึงวันนี้ซึ่งคุณสมชายไม่อยู่


ปกติคุณสมชายทำงานก็จะไม่ค่อยมีเวลาให้ครอบครัวอยู่แล้ว

ไปทำงานก็จะเหมือนราชการ เช้าไปเย็นกลับ แล้วจะมีเพิ่มเติม คือ ประชุมตอนเย็นบ้าง ประชุมถึงมืดค่ำ เสาร์อาทิตย์ต้องออก ก็เลยกลายเป็นเวลาให้ครอบครัวน้อยลงๆ แต่ว่าถ้าวันไหนอยู่จะไม่ไปไหนค่ะ ถ้าไม่มีงาน กลับบ้านก็อยู่บ้าน ถึงอยู่ข้างนอกก็จะโทรหาที่บ้านตลอด โทรบางทีทุก 15 นาที 20 นาที จะโทรถามตลอด ลูกคนนั้นกลับบ้านหรือยัง ลูกคนนี้กลับบ้านหรือยัง ทานข้าวหรือยัง


กิจกรรมที่ชอบทำร่วมกันเมื่อคุณสมชายอยู่บ้าน
ทำความสะอาดบ้าน ถ้าวันไหนพ่ออยู่บ้าน ลูกๆ จะต้องคอยหลบแล้ว ถูบ้านไม่สะอาด ล้างห้องน้ำ เอาหมอนที่นอนไปตากแดด จะช่วยกันทำค่ะ จะไม่มี เออวันนี้พ่อว่าง ไปเที่ยวต่างจังหวัด


ลูกๆ จึงเห็นคุณพ่อทำงานอย่างนี้และรับได้อยู่แล้ว
ค่ะ และแถมจะมีงานมาให้ลูกทำด้วย คือคุณสมชายไม่มีเงินมากพอจะจ้างคนขับรถ หรือเสมียน หรือเลขาฯ ช่วยพิมพ์ ช่วยเตรียมงาน ก็จะมีลูกๆ นี่ล่ะค่ะ ช่วยพิมพ์คำฟ้องอุทธรณ์ พิมพ์ฎีกา ช่วยมาตั้งแต่เด็กๆ นั่งว่างๆ ก็ช่วยคุณพ่อ จนซึมซับเข้าไป


Imageลูกคนไหนคล้ายคุณสมชายที่สุด
น่าจะเป็นคนที่สอง (ประทับจิต - ลูกสาว) ตอนนี้เรียนปริญญาเอกที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ค่ะ ถ้าถามว่าความคิดเหมือนกันไหม ความคิดก็ไม่ค่อยเหมือน คือ ที่บ้านจะค่อนข้างถกเถียงกันได้ อะไรที่เห็นไม่เหมือนกันจะถกเถียงกัน แต่ที่คล้ายกันจะเป็นลักษณะเป็นคนสู้คน และถ้าเชื่อมั่นว่าถูกก็จะไม่ถอย คนโตก็จะเหมือนนะคะ คนโตเป็นนักกฎหมาย (สุดปรารถนา – ลูกสาว) แต่คนโตจะเป็นลักษณะที่ว่า นิสัยส่วนตัวเขาจะเงียบๆ แต่จะเป็นคนที่สู้ในกระบวนการยุติธรรม คือจะสู้แบบตามหลักเกณฑ์ แต่คนที่สองจะเป็นคนที่ชอบเคลื่อนไหวทางสังคมมากกว่า ถ้าคนโตกับคนที่สองมารวมกันก็อาจจะเป็นคุณพ่อเลยก็ได้


แล้วคนไหนคล้ายคุณแม่
ก็คงจะมีในทุกคนค่ะ แต่คนละแบบ แต่ถ้าถามเรื่องอดทนไหม ทุกคนจะอดทนเหมือนๆ กัน อย่างคุณพ่อหายไป ใหม่ๆ เขาก็สับสน เอ๊ะ ทำไม ก็คุยกับเขาว่า พ่อทำงานอย่างนี้นะ ถ้าเรารักพ่อก็ต้องเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าพ่อจะตัดสินใจอะไรก็ตามเราต้องเชื่อมั่น และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เราต้องยืนอยู่ได้ ไม่ใช่ว่าพอพ่อไม่อยู่แล้วเรามานั่งพูดว่าพ่อไม่น่าทำอย่างนั้นพ่อไม่น่าทำอย่างนี้ พ่อจะได้อยู่กับเรา บางทีดูเหมือนเราเป็นคนเห็นแก่ตัว ถ้าพ่อรู้พ่อคงไม่สบายใจ เพราะฉะนั้นเราก็ปรับวิธีคิด เขาก็เข้าใจ


คุณอังคณาจึงต้องคอยอธิบายให้ลูกๆ เข้าใจคุณพ่อ
ค่ะ เป็นอย่างนี้มาตลอด 10 ปีแล้ว บาง ครั้งพ่อทำงานมาเหนื่อยๆ หงุดหงิด ลูกจุกจิกถามโน่นถามนี่ หน้าที่ของแม่ก็ต้องคอยดูแลอยู่ บางทีพ่อให้ช่วยพิมพ์งานให้หน่อย ลูกกำลังสอบด้วย พิมพ์งานไปร้องไห้ไป เพราะหนังสือยังไม่ดู รายงานยังไม่ได้ทำ ยังต้องพิมพ์คำฟ้องให้พ่อ พรุ่งนี้เช้าพ่อจะต้องใช้ ก็บอก เอามา เดี๋ยวแม่ช่วยพิมพ์ให้ แล้วลูกก็นั่งดูหนังสือไป จะคอยสังเกตว่าใครมีอะไร แล้วจะเข้าไปช่วยเขา ก็เป็นอย่างนี้มาตลอด แต่จะไม่มีการไปตำหนิ ทำไมพ่อต้องไปทำอะไรเยอะแยะ ทำไมพ่อไม่เรียกเงินกับเขาบ้าง พ่อจะได้มีเลขาฯ ส่วนตัวช่วยพิมพ์งานให้ จะได้ไม่เหนื่อย เราจะได้มีชีวิตที่สบายขึ้น เราไม่ได้คิดที่ตรงนั้น ก็บอกลูกให้ปรับวิธีคิดว่าเวลาที่เราทำงานเราก็จะได้ความรู้ ตรงนี้สำคัญ หรือแม้กระทั่งว่า ทำไมเราถึงไม่มีคนรับใช้ในบ้าน แต่เวลาลูกกวาดบ้านถูบ้าน ลูกจะได้รู้ว่ามันเหนื่อยอย่างไร วันหน้าถ้าหากว่าลูกอาจจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ลูกอาจจะมีคน ทำงานบ้านให้ ลูกจะได้รู้ว่าคนที่เขาทำ เขาเหนื่อยอย่างไร เราจะได้ดูแลเขาได้ ปกครองเขาได้ ตรงนี้เขาจะได้มาโดยไม่รู้ตัว


ลูกๆ เลือกเรียนเองอย่างที่เขาชอบ
ทุกคนได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ พ่อเขาอยากให้เรียนนิติศาสตร์ คนที่สองเขาก็บอกว่าเขาไม่เอาเพราะเขาเชื่อว่าชีวิตของคนเราไม่ได้เป็นไปตามหลักนิติศาสตร์อย่างเดียว มีสังคม มีอะไรเข้ามาสอดแทรก เขาชอบรัฐศาสตร์ พ่อก็ไม่ได้ขัดอะไร อย่างคนโตเรียนนิติศาสตร์ ปริญญาโทสายกฎหมายมหาชน คนที่สองเรียนรัฐศาสตร์ คือเขาจบปริญญาตรีได้เกียรตินิยม แล้วสอบเข้าเรียนปริญญาเอกได้ เวลาเขาเรียน เวลาเขาทำงาน เขาจะเอามาประสานกัน พึ่งพากัน และแชร์ข้อมูลกัน เรื่องของสิทธิมนุษยชน นิติศาสตร์ว่าไง รัฐศาสตร์ว่าไง


ลูกๆ เขารู้สึกว่าคุณพ่อเป็นฮีโร่ไหม
ก็ไม่ถึงขนาดเห็นคุณพ่อเป็นฮีโร่ แต่ว่าเขาชื่นชม บางครั้งเขาไม่ค่อยเห็นด้วยกับงานที่พ่อทำเพราะเขาจะพูดกับคุณพ่อบ่อยๆ ว่า “ทำไมชาวบ้านไม่พึ่งพาตัวเองล่ะ เวลาชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำไมชาวบ้านไม่ร้องขอความเป็นธรรมล่ะพ่อ ทำไมต้องให้พ่อเป็นคนพูดแทน” คุณพ่อก็จะบอกว่า “ชาวบ้านเขากลัว เขาไม่กล้า” ลูกก็ถาม “ทำไมเขาต้องกลัวล่ะพ่อ อย่างเราทำไมเราถึงไม่กลัว แล้วถ้าเขากลัวแล้วเขาจะตายไหม และถ้าเขาไม่กลัวแล้วเขาจะตายไหม ชีวิตคนเราก็อย่างนี้” เขาจะพูดคำนี้กับพ่อเขาบ่อยๆ ก็มีถกเถียงกัน “ทำไมพ่อไม่สอนให้เขายืนได้ด้วยตัวเขาเองล่ะ เหมือนที่พ่อสอนลูกน่ะ ให้ลูกพึ่งพาตัวเอง” เขาจะถามพ่อว่า “ทำไมพ่อไม่สอนให้ชาวบ้านกล้าที่จะพูดเอง อย่างที่คุณพ่อไปร้องเรียนว่า ชาวบ้านถูกฟ้อง ถูกทรมาน แล้วญาติพี่น้องเขาไปไหนล่ะคะ ทำไมญาติพี่น้องเขาไม่มาปกป้องสิทธิพี่น้องเขาเอง” พ่อจะบอกว่า “เขากลัวหมดเลย ขนาดญาติพี่น้องเขา ยังไม่กล้ามาเยี่ยมเลย” ก็เป็นความคิดของเขา ว่าชาวบ้านจะต้องลุกขึ้นยืนด้วยตัวเอง ลูกสาว 2 คนโตจะถกเถียงกับพ่อเขาตลอด เพราะพ่อจะมาเล่าให้ฟัง หรือบางทีพ่อไม่เล่า เขาเห็นพ่อไปทำคดีนั้นคดีนี้ออกโทรทัศน์ และมาวันนี้พอพ่อไม่อยู่ เขาก็มีความคิดว่า น่าจะถึงเวลาที่คนเราต้องลุกขึ้นเพื่อที่จะปกป้องตัวเอง เพราะคงจะไม่มีใครมาช่วยเราได้ตลอด


Imageช่วงที่คุณสมชายหายไปใหม่ๆ ความรู้สึกเราเป็นอย่างไร
ก็สับสนค่ะ คุณสมชายเคยพาญาติพี่น้องของคนที่สูญหายมาร้องเรียนกรรมการสิทธิฯ และรัฐมนตรีฯ แต่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นกับเราหรอกค่ะ ไม่คิดเลย เราทำงานอย่างตรงไปตรงมาตลอด ไม่เคยมักใหญ่ใฝ่สูง ไม่เคยอยากมีอยากได้ แล้วทำไมถึงต้องเป็นอย่างนี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็รู้สึกว่าขณะที่เราเคยไปช่วยคนอื่นที่ญาติพี่น้องเสียหาย แล้ววันหนึ่งมันเกิดขึ้นกับเรา จริงๆ ใหม่ๆ ก็สับสนว่า เอ๊ะ มันจริงหรือ หรือแค่หายไปสักพักแล้วกลับมา ลูกๆ ก็มีความคิดอย่างนั้น จนกระทั่งผ่านไประยะหนึ่งต้องกลับมาคุยกันว่าเราต้องยอมรับความจริงนะ และต้องอยู่กับมันให้ได้ แต่เราจะอยู่แบบไหน จะอยู่แบบครอบครัวคนอื่นหรือเปล่า คือ ไม่กล้าพูด ไม่กล้าคิด ไม่กล้าถาม แล้วก็ปล่อยให้มันเป็นไปเหมือนครอบครัวคนอื่น หายแล้วก็หายไป ถ้าหากว่าเราสู้ก็ต้องสู้ด้วยกัน แต่ถ้าไม่สู้ก็ทำมาหากินของเราไป ใช้ชีวิตของเราไป เรื่องของพ่อก็คงปล่อยให้เป็นเรื่องทางกระบวนการยุติธรรม หรือกระบวนการทางสังคม ช่วงแรกพี่กับลูกๆ เรากดดันเพราะว่า ญาติพี่น้องคุณพ่อเองยังถามว่า แน่ใจหรือจะมีเรื่องกับตำรวจ ทำแล้วจะได้อะไร ทุกคนคิดแต่ว่ายังไงเราก็ไม่ได้คนของเรากลับมา แต่กลับต้องเจอกับความไม่ปลอดภัย เจอกับการถูกคุกคาม เขาก็ถามว่า แน่ใจแล้วหรือที่จะสู้น่ะ ก็คุยกันกับลูกว่า เราจะทำอย่างไร เพราะว่ามีคนหายไปเยอะทางใต้ คุณสมชายพามาร้องเรียน แต่พอคุณสมชายหาย ไม่มีใครที่จะพาเราไปร้องเรียนตรงนั้นตรงนี้ก็ต้องถามตัวเองว่าเราจะสู้ไหม

ใหม่ๆ ลูกๆ เขาค่อนข้างรับไม่ได้ เพราะว่าเราเคยเป็นครอบครัวธรรมดา เช้าไปโรงเรียน เย็นกลับมา แต่วันหนึ่งเราเป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งทุกวัน เดินผ่านไปก็เห็นเรื่องของพ่ออยู่ในหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ เราก็รู้สึกเจ็บปวด เพราะไม่คิดว่าชีวิตจะเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้ ไปไหน ออกจากบ้านปุ๊บก็จะมีนักข่าวยืนออกันอยู่หน้าบ้าน คอยจะถ่ายรูปเราอยู่ตลอด มันเปลี่ยนจนแทบจะปรับตัวไม่ได้ ยอมรับว่าแรกๆ เป็นอย่างนั้น บางครั้งมีนักข่าวมาถามมากๆ แล้วลูกเขารู้สึกไม่อยากพูด ไม่อยากคิด และไม่อยากให้แม่พูดอะไรด้วย ก็ไม่เป็นไร ให้โอกาสลูก คือ อันไหนที่ทำแล้วไม่สบายใจก็ไม่ต้องทำ จนเวลาผ่านไป เขาก็ค่อยๆ ลุกขึ้นมาได้เอง จนวันนี้ทุกคนรู้สึกว่าเราพร้อมแล้วล่ะที่จะออกมาบอกกับสังคมว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับครอบครัวเรา เรื่องอะไรเราจะปล่อยให้มันเงียบ เรื่องอะไรจะปล่อยให้พ่อหายไปเฉยๆ โดยไม่มีการค้นหา


ช่วงแรกๆ จึงไม่ค่อยเห็นคุณอังคณาออกมาให้สัมภาษณ์
ใช่ค่ะ เพราะลูกๆ เขาไม่สบายใจ เขาปรับตัวไม่ได้จริงๆ ที่ว่าอยู่ดีๆ เราจะไปลงหนังสือ พิมพ์หน้าหนึ่ง ก็บอกว่าไม่เป็นไร แม่ก็จะไม่ บางทีมีนักข่าวมาก็จะให้ข่าวอย่างเดียว จะขอว่า ให้ข่าวอย่างเดียวได้ไหม อย่าถ่ายรูปในบ้าน อย่าถ่ายรูปครอบครัว เพราะเด็กๆ เขาไม่อยากตอบคำถาม ก็ต้องใช้เวลา เพราะเราไม่มีใคร อยู่กันประสาแม่ลูกอย่างนี้ แต่เราก็ได้ภาคสังคมช่วย เหลือนะคะ บางทีเช้าถึงเย็นมีแต่ตำรวจมากับนักข่าวมา สลับทั้งวันจนไม่มีเวลา เพื่อนบ้านเดินผ่านก็ให้ข้าวถุง แกงถุง ผลไม้ เยอะแยะไปหมด จนต้องแบ่งปันแจกจ่ายกันไป เราได้เพื่อนใหม่ๆ มาก บางคนไม่เคยรู้จักเลย บางคนเราไม่เคยคิดเลยว่าชีวิตเราจะได้รู้จักคนระดับนั้น แต่วันนี้หลายๆ คน ซึ่งเราคิดว่าไม่น่าจะมีโอกาสรู้จัก กลับมาขอเป็นเพื่อนกับเรา ซึ่งเป็นเกียรติและเป็นความซาบซึ้งใจว่า สังคมไม่ทอดทิ้งเรา บางครั้งเราเห็นว่าสังคมก็เงียบๆ ไม่ค่อยออกมาช่วยทวงถามความเป็นธรรม แต่จริงๆ แล้วรู้เลยว่า นิสัยจริงๆ ของคนไทย รักความเป็นธรรม ทนไม่ได้ที่จะเห็นใครถูกข่มเหงรังแก เรารู้ได้จากการที่เราได้เพื่อนใหม่ มีคนมาคอยดูแลประคับประคอง เป็นสิ่งดีๆ เข้ามาซึ่งเรารู้สึกว่าโอ้โฮ มันมีมากนะคะ มากกว่าความทุกข์ที่เรามีเสียอีก มีสิ่งดีๆ เข้ามาเยอะมาก


มีความหวังแค่ไหนกับการฟ้องร้องคดี
ถ้าถามว่าคาดหวังไหม ก็ไม่ได้คาดหวังอะไร เพราะว่าที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้จะบอกกับลูกว่า เราไม่รู้สึกว่า เราสะใจ หรือสาแก่ใจที่จะเอาใครสักคนมาประหารชีวิต หรือมาลงโทษ เราไม่รู้สึกอย่างนั้น แต่จะรู้สึกว่าอยากให้มันกระจ่าง อยากให้ความจริงเปิดเผย อยากที่จะไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคนอื่นอีก ถ้าหากว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ คนทำไม่ได้รับโทษ ไม่มีใครมาตำหนิติเตียน อีกหน่อยก็เหิมเกริม ไปทำใหม่อีก และมันก็ไม่จบสิ้น เราเพียงแต่คิดว่า เราไม่ได้ต้องการอะไร สิ่งที่ต้องการจริงๆ คือ ทำอย่างไรมันจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก คนๆ หนึ่งก็ต้องมีเกียรติมีศักดิ์ศรี ไม่ควรที่จะถูกทำให้หายไปเฉยๆ โดยไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร

เรายอมรับว่าเราคือประชาชนธรรม ดาซึ่งไม่ได้มีอำนาจ ในขณะที่คู่กรณีเป็นคนที่มีอำนาจ เราเสียเปรียบแต่เราก็จะทำให้ดีที่สุด เจ้าหน้าที่รัฐก็บอกว่า มีคนอื่นบริสุทธิ์ที่ตายไปเยอะแยะ แต่รู้สึกว่าคนที่หายไปโดยไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร มันทุกข์ทรมานยิ่งกว่าการที่เราเห็นว่ามันเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากว่ามายิงคุณสมชายตาย แล้วเราได้ศพมาทำพิธีทางศาสนา วันนี้รู้สึกว่าอย่างนั้นดีกว่าการหายไปโดยที่เราไม่เห็นเลย ไม่มีโอกาสกระทั่งจะมาทำพิธีทางศาสนาด้วยซ้ำ รู้สึกว่ามันโหดเหี้ยมทารุณ โดยเฉพาะมันเกิดขึ้นจากกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เราต้องถามตัวเองว่า คนเรานี่โกรธแค้นกันได้มากถึงขนาดนี้เชียวหรือ โกรธแค้นกันได้มากถึงขนาดที่จะต้องทำให้หายไปโดยไม่มีร่อง รอยอะไรเลยใช่ไหม


Imageปกติคนทั่วไปจะเห็นคุณอังคณาในภาพค่อน ข้างเข้มแข็ง ในช่วงอ่อนแอเป็นอย่างไร
อยู่คนเดียวก็...(อึ้งไปครู่หนึ่ง) ตอนนี้ก็ปรับตัวได้ เพราะว่าที่ผ่านมาชีวิตตั้งแต่เด็กก็ไม่ได้สบาย พูดตามตรงว่าไม่เคยลำบากแต่ก็ไม่เคยสบาย ไม่ใช่ว่าอยากได้อะไรแล้วได้ ต้องทำงานไปด้วยเรียนหนังสือไปด้วยเป็นอย่างนี้มาตลอด ความที่เชื่อมั่นในพระเจ้าค่ะ เราเชื่อมั่นว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็แค่การทดสอบ แล้วมันก็จะผ่านไป ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเราจะต้องไม่ยอมให้มันมาทำให้เราถดถอย เราอาจจะรู้สึกเซๆ ไปสักพัก แล้วเราก็ต้องปรับตัวขึ้นมาว่ามีคนอีกมากมายที่ถูกทดสอบยิ่งกว่าเรา ไม่ว่าจะที่ไหนๆ ในโลก ยังมีคนที่ต้องซุกตัวนั่งร้องไห้ในมุมมืดๆ มีเด็กที่อดอยาก หิวโหย มีคนที่เป็นโรคเอดส์ที่ไม่เคยมีใครให้ความสนใจ มีเด็กที่เกิดมาพ่อแม่ตายกำพร้าไม่มีใครดูแล พอมาดูตรงนี้ เราสุขสบายมากกว่าเขาเยอะ เพียงแต่ว่าเราต้องปรับตัว เมื่อก่อนเราเป็นแม่บ้าน แต่วันนี้เราอาจจะอยู่ในสภาพที่ถูกคุกคาม มีคนคอยตาม ก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ เรียนรู้ที่จะอยู่กับความกลัว เพราะถ้าเรากลัวแล้วเราซุกตัวอยู่แต่ในบ้านไม่ทำอะไร สิ่งเหล่านี้ก็จะต้องเกิดขึ้นอีก แต่เราต้องรู้สึกว่า ไม่ว่าอย่างไร อย่างน้อยๆ เราอาจจะเป็นกรวดหรือเม็ดทรายเล็กๆ แต่มันก็จะปูทางไปถึงวิถีชีวิตที่ดีกว่าในวันหน้า มันจะปูทางไปสู่ความยุติธรรมที่จะต้องมีให้กับประชาชนทุกคนในวันหน้า เราต้องคิดอย่างนั้น


ยังเชื่อในเรื่องของความยุติธรรม

เชื่อค่ะ แต่ความยุติธรรมไม่ได้มีอยู่แต่ในศาลนะคะ ความยุติธรรมไม่ได้อยู่ที่คำตัดสินของศาล ดิฉันเชื่อในความเป็นธรรม เชื่อว่าในวันหนึ่งต้องมีความเป็นธรรม เรื่องต่างๆ ต้องคลี่คลาย ถึงแม้ว่าพยานหลักฐานจะมีหรือไม่มีก็แล้วแต่ เพราะเราคือผู้ที่ไม่มีอำนาจ แต่เรากำลังต่อสู้กับผู้มีอำนาจ เราอาจจะเสียเปรียบ แต่ดิฉันเชื่อว่าสุดท้ายจะต้องมีความเป็นธรรม

ท่านนายกฯ บอกว่า ท่านอยากช่วย เหลือครอบครัว ท่านอยากช่วยจริงๆ อะไรก็ได้ที่คิดว่าอยากจะได้ เดือดร้อน ท่านอยากจะช่วย ก็บอกว่า ท่านช่วยได้แน่นอน คือเรื่องความเป็นธรรม และเรื่องความจริง ให้มีการสืบค้น ได้มีการทำงานเต็มที่และบอกว่ามันเกิดอะไรขึ้น คุณสมชายหายไปไหน หายไปได้อย่างไร ถูกกระทำอย่างไร ก็ยังยืนยันตรงนี้มาตลอด อยากได้ความเป็นธรรม ทรัพย์สินเงินทองมีได้ก็หมดได้ มาแล้วก็ไป แต่ว่าความเป็นธรรม ความจริงใจ มันจะลบรอยแผลในใจเราได้ และไม่ใช่แต่เราคนเดียว ถ้าชาวบ้านเห็นว่าคดีคุณสมชายคลี่คลาย เขาก็จะมีความมั่นใจว่าเรื่องของเขาก็จะคลี่คลายได้ แต่ถ้าคดีคุณสมชายยังมืดมน คนอื่นจะไปเหลือความหวังอะไร



แม้กายจะหายไป หนึ่งปีผ่านไป คุณสมชายยังดำรงอยู่
: AHRC ร่วมรณรงค์

“คดีของคุณสมชายเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะได้สะท้อนถึงการทำงาน ในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด หากความยุติธรรมที่แท้จริงไม่สามารถเกิดขึ้นกับเขา เราจะหวังให้เกิดกับคนอื่นๆ ได้อย่างไร”

Basil Fernando ผู้อำนวยการบริหาร คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission ; AHRC)

ทนายสมชาย ได้ปรากฏตัวเป็นครั้งสุดท้ายที่เขตอำเภอบางกะปิ ในคืนวันที่ 12 มีนาคม 2547 การหายตัวไปของเขาเกิดขึ้นหลังจากที่เขาได้ร้องเรียนถึงกรณีที่ลูกความของเขา 5 คนที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับการบุกรุกค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาส วันที่ 4 มกราคม 2547 ถูกทำร้ายร่างกายโดยเจ้าหน้าที่ ทนายสมชายได้ร้องเรียนไปยังศาลให้มีการอนุญาตให้ทั้ง 5 คนนี้ ได้รับการตรวจสุขภาพและให้ย้ายออกจากการควบคุมดูแลของตำรวจ ศาลมีคำสั่งเห็นด้วยกับข้อร้องเรียนและอนุญาตให้ย้ายผู้ต้องหาจากปราบปรามมาอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่พอใจที่นายสมชายกระทำเช่นนี้จนทำให้เกิดการย้ายลูกความ

รถของนายสมชายถูกทิ้งไว้ที่สถานีขนส่งหมอชิตและพบว่ามีรอยถูกเฉี่ยวชน คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้ทำการตรวจสอบร่องรอยจากรถเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ได้แสดงความมั่นใจว่ารถของเขาถูกชนในคืนวันที่ 12 ซึ่งเป็นคืนที่เขาหายตัวไป นายสมชายได้ต่ออายุประกันรถยนต์ 2 อาทิตย์ก่อนที่เขาจะหายตัวไป แต่ไม่ได้เรียกค่าเสียหายจากการถูกเฉี่ยวชน ซึ่งอาจทำให้ประมวลได้ว่าอุบัติเหตุนั้นเพิ่งจะเกิดขึ้น

เจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายที่ได้รับข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำให้นายสมชาย หายตัวไปถูกตั้งข้อหาเพียงแค่ร่วมกันปล้นทรัพย์โดยยานพาหนะเพื่อกระทำความผิด และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือไม่กระทำการใดโดยใช้กำลังประทุษร้าย ความล้มเหลวในการค้นหาตัวนายสมชายของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นหมายความว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกตั้งข้อหาว่ามีส่วนพัวพันต่อคดีนี้จะต้องถูกตั้งข้อหาในทางอาชญากรรมที่ร้ายแรงกว่า คือการหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย ซึ่งข้อหานี้จะทำให้บทลงโทษสูงกว่าข้อหาเดิมที่ได้รับ

จาก แถลงการณ์ของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2547

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >