หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 576 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 124: เรียนรู้โลกยุคใหม่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ชีวิต จิตวิญญาณ!?
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 124


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


สาระสำคัญของสารวันสันติภาพสากล ปี 1997/2540 : จงให้อภัยและน้อมรับสันติ พิมพ์
Friday, 19 May 2006
สาระสำคัญของสารวันสันติภาพสากล
ของสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น พอล ที่ 2
1 มกราคม 1997/2540
จงให้อภัยและน้อมรับสันติ
สารฉบับปี 1997 นี้ เป็นเสมือนการทบทวนเส้นทางของมนุษยชาติในช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านศีลธรรมและสมานฉันท์ในโลกมนุษย์

สารฉบับนี้บอกไว้ว่ากระบวนการสร้างสันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากทัศนคติแห่งการให้อภัยอย่างจริงใจ

เมื่อปราศจากซึ่งการให้อภัย บาดแผลก็ยังคงพุพองต่อไป ซึ่งจะเป็นการเติมเชื้อเพลิงลงในชนรุ่นหนุ่มสาวให้เกิดความขุ่นเคืองใจไม่สิ้นสุด ก่อให้เกิดความปรารถนาที่จะแก้แค้นและทำให้เกิดการทำลายล้างกันอีก การให้และรับการอภัย เป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับการเดินทางไปสู่สันติภาพที่แท้จริงและถาวร

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 เรียกร้องให้ทุกคนแสวงหาสันติภาพโดยการให้อภัย เพราะการให้อภัยได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุผลแห่งความรัก ซึ่งพระเป็นเจ้ามีต่อมนุษย์ทั้งชายและหญิงทุกคน แต่ละประชาชาติ ประเทศและครอบครัว มนุษยชาติทั้งมวล

สารฉบับนี้บอกไว้ว่า “หากพระศาสนจักรมีความกล้าหาญที่จะป่าวประกาศสิ่งที่ดูเหมือนโง่เขลาในสายตาของมนุษย์ นั่นก็เป็นเพราะความเชื่อมั่นในความรักไม่สิ้นสุดของพระเป็นเจ้านั่นเอง”

การให้อภัยของพระเป็นเจ้า กลายเป็นบ่อเกิดแห่งการให้อภัยต่อความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่นอย่างไม่สิ้นสุดในหัวใจของเรา ช่วยให้เราดำเนินชีวิตร่วมกันฉันพี่น้องอย่างแท้จริง

สารฉบับนี้ระบุไว้ว่า โลกที่เต็มไปด้วยบาดแผลกำลังโหยหาการรักษาเยียวยา และถึงแม้ว่าโลกสมัยใหม่ จะได้ชื่อว่าเป็นโลกที่ประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ มากมาย แต่ก็ยังคงมีร่องรอยของความขัดแย้งรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วย

ถึงแม้ยุคนี้ ความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ทำให้คนเรือนล้านมีมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น ทำให้คนจำนวนมากเกิดความหวังเพิ่มขึ้น แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ภาพของโลกปัจจุบัน ยังคงมีด้านไม่ดีอยู่หลายประการ ซึ่งรวมถึงลัทธิวัตถุนิยม และการดูแคลนชีวิตที่กำลังลุกลามเพิ่มขึ้นถึงขีดขั้นที่น่าเป็นห่วง ประชาชนจำนวนมากใช้ชีวิตของตน โดยไม่ยึดติดอยู่กับสิ่งใด นอกจาก “กฎแห่งการทำกำไร เกียรติยศ และอำนาจ”

หลายคนจึงรู้สึกว่าตนต้องถูกจองจำอยู่ในความโดดเดี่ยวภายในอย่าลึกซึ้ง คนอื่นๆ ยังคงถูกกีดกันอย่างเปิดเผยเพราะเชื้อชาติ สัญชาติ และเพศ ความยากจนยังคงผลักดันมวลชนให้ออกไปอยู่ขอบของสังคม จนถึงกับต้องสิ้นชาติสูญพันธุ์เลยทีเดียว สำหรับคนอีกจำนวนมาก สงครามยังคงเป็นสถานการณ์จริงที่รุนแรงที่ปรากฏอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

สารฉบับปี 1997 เน้นอย่างชัดเจนว่า สังคมที่สนใจแต่เพียงวัตถุและสิ่งของที่ไม่จีรังยั่งยืน มีแนวโน้มที่จะกีดกันผู้ที่ไม่มีประโยชน์ต่อเป้าหมายของตนออกไป เมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้น ก็ก่อให้เกิดความโหดร้ายอย่างแท้จริงต่อมนุษย์ บางคนก็เลือกที่จะปิดตาตนเอง โดยไม่แยแสอะไรทั้งสิ้น

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า เมื่อพี่น้องชายหญิงจำนวนมากของเราต้องทนทุกข์ทรมาน เราก็ไม่อาจจะนิ่งดูดายได้อีกต่อไป ความทุกข์ยากของพวกเขาส่งเสียงเรียกร้องมายังมโนธรรมของเรา

ดังนั้น เราทุกคนต้องพร้อมที่จะให้อภัยและร้องขอการให้อภัยด้วย

สารฉบับนี้ยังกล่าวไว้ว่า ขั้นตอนแรกที่จะนำไปสู่การคืนดีกัน คือต้องมีการยอมรับในความแตกต่างทั้งทางสังคม วัฒนธรรม และศาสนา ซึ่งการเคารพความแตกต่าง เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นโดยแท้จริงสำหรับความสัมพันธ์แท้จริงระหว่างบุคคลและระหว่างกลุ่ม

ส่วนการไม่ยอมรับความแตกต่าง จะนำไปสู่ความเปราะบาง และเป็นชนวนให้เกิดความรุนแรงตามมา

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 ชี้ให้เห็นว่า ในยุคสมัยของเราคุ้นเคยกับเทคโนโลยีแห่งความหายนะ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องกระตุ้นประชาชาติ ประเทศและรัฐ ให้หลุดพ้นจาก “วัฒนธรรมแห่งสงคราม” และต้องพัฒนา “วัฒนธรรมแห่งสันติภาพ” อย่างเข้มข้น รวมทั้งดำเนินการขั้นตอนต่างๆ เพื่อหยุดยั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมอาวุธและการค้าอาวุธ

สิ่งสำคัญก็คือคำพูดอย่างตรงไปตรงมาของสารฉบับนี้ บอกไว้ว่าศาสนาต่างๆ มีส่วนสำคัญ โดยการออกมาต่อต้านสงคราม และที่จะเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่จะติดตามมาด้วยความกล้าหาญ

และบอกอย่างชัดเจนว่า สันติภาพที่ถาวร มิใช่เพียงเรื่องของโครงสร้างและกลไกเท่านั้น เหนืออื่นใด ยังขึ้นอยู่กับการรับเอาวิถีแห่งการดำรงอยู่ด้วยกันของมนุษยชาติที่เปี่ยมไปด้วยการยอมรับซึ่งกันและกัน และความสามารถที่จะให้อภัยจากหัวใจ

เราทุกคนต้องการได้รับอภัยจากผู้อื่น เพื่อเราทุกคนจะได้พร้อมที่จะให้อภัย การขออภัยและการให้อภัย เป็นสิ่งที่มีค่าอย่างลึกซึ้งสำหรับมนุษย์ และอาจเป็นทางออกเพียงทางเดียวสำหรับสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังรุนแรงที่มีมาช้านานแล้ว

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 สรุปสารฉบับนี้ โดยเรียกร้องให้เราแต่ละคนเป็น “เครื่องมือสำหรับสันติภาพและการคืนดีกัน”

และกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “ข้าพเจ้าขอส่งสารถึงพี่น้อง สังฆราชและสงฆ์ ขอให้เป็นกระจกเงาของความรัก ซึ่งเปี่ยมด้วยพระเมตตาของพระเป็นเจ้า มิใช่แต่เพียงเฉพาะในชุมชนคริสตชนเท่านั้น แต่ต่อหน้าสังคมโลกด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ความขัดแย้งทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์กำลังระอุอยู่ แม้ว่าจะต้องยอมรับความทุกข์ทรมาน ก็จงอย่าให้ “ความเกลียดชัง” เข้ามาในหัวใจของท่าน แต่ให้ประกาศพระวรสารของพระคริสต์อย่างชื่นชมยินดี และกระจายการให้อภัยของพระเป็นเจ้าผ่านทางศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการคืนดีกัน

และสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 ยังเรียกร้องบรรดาพ่อแม่ ครู เยาวชน ข้าราชการทั้งชายหญิง รวมถึงบรรดาผู้ที่ทำงานด้านสื่อมวลชน โดยด้านสื่อมวลชน ท่านกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “ท่านที่ทำงานด้านสื่อมวลชน ข้าพเจ้าเรียกร้องท่านให้คำนึงถึงความรับผิดชอบใหญ่หลวงที่อาชีพของท่านต้องมีและจะต้องไม่เป็นผู้ส่งเสริมข่าวสารที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง ความรุนแรง และความเท็จ ขอให้ระลึกเสมอว่า เครื่องมืออันทรงพลังแห่งการสื่อสารต้องมุ่งที่จะรับใช้มนุษย์”

และสำหรับผู้มีน้ำใจดีทุกท่าน ที่ขวนขวายทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อสร้างอารยธรรมใหม่แห่งความรัก สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 สรุปลงท้ายไว้ในสารฉบับปี 1997 นี้ว่า “จงให้อภัย และน้อมรับสันติ”

เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
สาระสำคัญของสารวันสันติภาพสากล ปี 1996/2539 : ให้เรามอบอนาคตที่เปี่ยมด้วยสันติแก่เด็กๆ พิมพ์
Friday, 19 May 2006

สาระสำคัญของสารวันสันติภาพสากล
ของสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น พอล ที่ 2
1 มกราคม 1996/2539
ให้เรามอบอนาคตที่เปี่ยมด้วยสันติแก่เด็กๆ

“ให้เรามอบอนาคตที่เปี่ยมด้วยสันติแก่เด็กๆ”
นี่เป็นคำร้องขออย่างเชื่อมั่น ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 ระบุไว้ และพระองค์เชื้อเชิญทุกๆ คนให้ช่วยเหลือเด็กให้เติบโตขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมแห่งสันติภาพที่แท้จริง ซึ่งเป็นสิทธิของพวกเขา และเป็นหน้าที่ของเราทุกคน

ในช่วงเวลานั้น เด็กจำนวนมากมายตกเป็นเหยื่อของสงคราม เด็กเรือนล้านได้รับบาดเจ็บหรือถูกสังหารอันเป็นการล้างผลาญชีวิตอย่างแท้จริง

สารฉบับนี้กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “กฎหมายระหว่างประเทศที่ปกป้องเด็กเป็นพิเศษ มักจะถูกเพิกเฉยอย่างแพร่หลาย เด็กๆ ยังต้องตกเป็นเป้าของการลอบสังหาร โรงเรียนของพวกเขาถูกทำลายอย่างจงใจ และโรงพยาบาลที่พวกเขากำลังรับการรักษาต้องถูกระเบิดทำลาย เราจะไม่ประณามสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร การฆ่าเด็กอย่างจงใจเป็นสัญญาณที่น่าสลดใจถึงการสูญสิ้นต่อความเคารพในชีวิตมนุษย์”

นอกจากเด็กที่ถูกสังหารแล้ว สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 ยังคิดถึงเด็กที่พิการไปในระหว่างที่เกิดความขัดแย้งหรือหลังความขัดแย้งด้วย พระองค์ทรงคิดถึงเยาวชนที่ถูกไล่ล่า ถูกข่มขืน หรือสังหารอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเวลาที่เรียกว่า “การล้างเผ่าพันธุ์”

สารฉบับนี้บอกว่า เด็กๆ มิเพียงแต่เป็นเหยื่อความรุนแรงของสงครามเท่านั้น แต่พวกเขาจำนวนมากยังถูกบีบบังคับให้เข้าร่วมในความรุนแรงเหล่านี้ด้วย บางประเทศถึงกับบังคับเยาวชนที่ยังเป็นเด็กชายและหญิงตัวเล็กๆ ให้เป็นทหารเข้าสู่สงคราม พวกเด็กๆ ถูกหลอกลวงว่าจะได้รับอาหารและการศึกษา แต่เด็กๆ กลับถูกกักกันอยู่ในค่ายที่อยู่ห่างไกล เด็กๆ ต้องทนทุกข์ทรมานจากความหิวโหย ถูกล่วงละเมิด และถูกส่งเสริม “ให้ฆ่าแม้แต่คนที่มาจากหมู่บ้านเดียวกัน” และบ่อยครั้งที่เด็กและเยาวชนจำนวนมากถูกส่งไปแนวหน้าเพื่อทำลายกับระเบิดในสนามรบ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าชีวิตของเด็กๆ มีค่าเพียงเล็กน้อยสำหรับผู้ที่ใช้พวกเขาด้วยวิธีการดังกล่าว

อนาคตของเยาวชนที่ถืออาวุธมักจะตกอยู่ในอันตราย หลังจากเป็นทหารหลายปี บางคนถูกปลดและส่งกลับบ้าน หลายคนไม่สามารถปรับตัวเข้ากับชีวิตพลเรือน และอีกหลายคนรู้สึกละอายใจที่มีชีวิตรอดในขณะที่เพื่อนๆ ต้องเสียชีวิตไป ขึงมักจะกลายเป็นอาชญากรหรือผู้ติดยาเสพติด ฝันร้ายเหล่านี้ยังคงตามหลอกหลอนพวกเขาต่อไปอีก และสมองของพวกเขาจะสามารถลบล้างความทรงจำเกี่ยวกับความรุนแรงและความตายได้หรือ?

สารฉบับนี้ ห่วงใยบรรดาเด็กๆ เรือนล้าน ซึ่งถูกสังหารและระลึกถึงใบหน้าเศร้าๆ ของเด็กอื่นๆ อีกจำนวนมากที่กำลังทุกข์ทน และเป็นพลังผลักดันให้ “ผู้ใหญ่” ดำเนินมาตรการทุกอย่างที่เป็นไปได้ เพื่อปกป้องหรือสร้างสันติภาพ ขจัดสงครามและความขัดแย้งต่างๆ ให้หมดสิ้นไป

นอกจากสารฉบับนี้จะเป็นห่วงเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของสงครามแล้ว และยังเป็นห่วงเด็กที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ด้วย โดยระบุว่าเด็กเรือนล้านต้องทนทุกข์ทรมานจากความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ ที่ดำรงอยู่ทั้งในสังคมยากจน และสังคมที่พัฒนาแล้ว ความรุนแรงเหล่านี้มักจะไม่ค่อยเด่นชัดนัก แต่มีความน่าหวาดหวั่นไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เช่น ในบางประเทศ เด็กๆ ถูกบังคับให้ทำงานในวัยเยาว์ และมักจะได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดี พวกเขาถูกลงโทษอย่างรุนแรง และได้รับค่าจ้างที่ต่ำอย่างไม่น่าเชื่อ

เด็กหลายคนถูกซื้อขาย เพื่อให้เป็นขอทานหรือแม้กระทั่งถูกบังคับให้เป็นหญิงบริการ ดังเช่นกรณีที่เรียกว่า “การท่องเที่ยวเพื่อเพศสัมพันธ์”

สารฉบับนี้กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “ธุรกิจอันแสนน่ารังเกียจนี้ ไม่เพียงแต่ลดคุณค่าผู้ที่มีส่วนในธุรกิจนี้เท่านั้น แต่ยังลดคุณค่าผู้ที่ส่งเสริมธุรกิจนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งด้วย บางคนไม่ลังเลใจที่จะให้เด็กๆ เข้าร่วมในอาชญากรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขายยาเสพติด ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้พวกเด็กต้องเสี่ยงต่อการติดยาด้วย

เด็กจำนวนมากจึงต้องจบลงด้วยการยึดข้างถนนเป็นบ้าน ถูกครอบครัวทอดทิ้ง และคนจำนวนมากต่างมองพวกเขาว่าเป็น “ขยะสังคม” ซึ่งต้องกำจัดเสีย

สารฉบับนี้ยังระบุอีกว่า “เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ความรุนแรงต่อเด็กๆ สามารถพบได้แม้แต่ในครอบครัวที่มั่งคั่งสมบูรณ์ เด็กจำนวนมากยังถูกบังคับให้ต้องทนความเจ็บปวดที่เกิดจากการทะเลาะเบาะแว้งของพ่อแม่ หรือจากการที่ครอบครัวแตกแยก บางครั้งในครอบครัวที่มั่งคั่งสมบูรณ์ เด็กๆ กลับเติบโตขึ้นมาในสภาพที่โดดเดี่ยวอันน่าเศร้าสลด ปราศจากการแนะนำด้วยความรักอันมั่นคง และขาดการอบรมทางศีลธรรมที่เหมาะสม เมื่อถูกปล่อยให้อยู่ตามลำพัง เด็กๆ มักจะเรียนรู้ความเป็นจริงจากรายการโทรทัศน์ ซึ่งบ่อยครั้งมักจะนำเสนอรายการที่ไม่จริงและไม่ถูกต้องตามศีลธรรม

แม้สารฉบับนี้จะเน้นถึงสภาพความโหดร้ายที่เด็กจำนวนมากกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 กล่าวไว้ว่า “นี่เป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าที่จะชี้ให้เห็น แต่ข้าพเจ้ามิได้มีความตั้งใจที่จะยอมต่อความคิดในแง่ร้าย หรือเพิกเฉยต่อเครื่องหมายแห่งความหวัง”

พระองค์ยังทรงเต็มเปี่ยมด้วยพลังที่จะส่งเสริมและใช้ความพยายามให้เด็กๆ ได้รับความรักอย่างเหมาะสม เพราะเด็กเป็นผู้สร้าง “สันติภาพ” เป็นผู้สร้างโลกแห่งภราดรภาพและสมานฉันท์ ซึ่งเด็กๆ ควรได้รับโอกาสเพื่อการเติบโตอย่างเหมาะสม โดยการปรับให้เข้ากับความต้องการของแต่ละคน

สารฉบับนี้กล่าวไว้ว่า เด็กๆ มิใช่ภาระของสังคม พวกเขามิใช่เครื่องมือสำหรับการแสวงหากำไร หรือเป็นผู้ไม่มีสิทธิ เด็กๆ เป็นสมาชิกที่มีค่าของครอบครัวมนุษยชาติ เพราะพวกเขาเป็นความหวัง และเป็นศักยภาพของครอบครัวมนุษยชาติ

ในตอนท้ายของสารฉบับนี้กล่าวไว้ว่า คำสอนแห่งคริสตศาสนาอันลึกซึ้งคือ “การกลับเป็นเด็ก” มีจิตใจเรียบง่ายแบบเด็ก ซึ่งสำคัญมากกว่าข้อเรียกร้องธรรมดาทางศีลธรรม

ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงสั่งให้สานุศิษย์ของพระองค์ทำตัวเป็น “เด็ก” อีกครั้งหนึ่ง และพระองค์ทรงเปลี่ยนวิธีคิดของสานุศิษย์ให้รู้ว่า ผู้ใหญ่ต้องเรียนรู้วิถีทางของพระเจ้าจากเด็กๆ

และในย่อหน้าสุดท้ายของสารฉบับนี้ระบุไว้ว่า “ให้เราทุกคนรวมพลังต่อสู้ความรุนแรงทุกรูปแบบ และเอาชนะสงคราม ให้เราสร้างเงื่อนไขที่ให้หลักประกันว่าเด็กๆ สามารถรับโลกที่เป็นหนึ่งเดียว และมีความเป็นพี่น้องกันมากขึ้น อันเป็นเสมือนมรดกจากชนรุ่นหลังของเรา”

เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
สาระสำคัญของสารวันสันติภาพสากล ปี 1995/2538 : สตรี : แม่ครูแห่งสันติ พิมพ์
Friday, 19 May 2006

สาระสำคัญของสารวันสันติภาพสากล
ของสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น พอล ที่ 2
1 มกราคม 1995/2538
สตรี : แม่ครูแห่งสันติ

สารฉบับนี้เริ่มต้นด้วยความห่วงใยต่อโลกมนุษย์ และชี้ว่า “ความรุนแรง” ซึ่งปัจเจกบุคคลมากมายและบรรดาประชาชาติยังคงประสบอยู่ “สงคราม” ซึ่งยังคงก่อให้เกิดการนองเลือดอยู่ในหลายๆ ส่วนของโลก และ “ความอยุติธรรม” ซึ่งเป็นแอกหนักอึ้งของชีวิตบนทุกดินแดน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ “ไม่สามารถยอมรับได้” อีกต่อไป

สารปี 1995 นี้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “ถึงเวลาแล้วที่ต้องลงมือกระทำ มิใช่แต่เพียงคำพูด ...เราทุกคนต่างได้รับเรียกมาให้รื้อฟื้นปณิธานที่จะอุทิศตนทำงานเพื่อสรรค์สร้างสันติภาพ”

การงานเพื่อสันติภาพจะสัมฤทธิ์ผลและยั่งยืน จะต้องไม่มุ่งความสนใจเฉพาะเพียงแค่เงื่อนไขภายนอกแห่งการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันเท่านั้น แต่จะต้องซึมซาบลงไปถึงดวงใจของประชาชนและกระตุ้นจิตสำนึกใหม่ถึงเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สันติภาพที่แท้จริงจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อเกียรติและศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ได้รับการส่งเสริมในทุกระดับของสังคม และปัจเจกบุคคลทุกคนได้รับโอกาสที่จะดำเนินชีวิตโดยสอดคล้องกับศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์

สัจจะเกี่ยวกับมนุษย์ เป็นดังกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาทุกประการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสันติภาพ การสั่งสอนประชาชนถึงสัจจะประการนี้ เป็นวิถีทางหนึ่งซึ่งมีผลมากที่สุดและยั่งยืนนานที่สุดในการยืนยันถึงคุณค่าแห่งสันติภาพ

พระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 มอบสารฉบับนี้ โดยกล่าวถึงบรรดาสตรีโดยเฉพาะ และเชื้อเชิญบรรดาสตรีให้กลายเป็น “แม่ครูแห่งสันติ ด้วยชีวิตความเป็นอยู่ทั้งครบของพวกเธอ และในกิจการทุกประการของพวกเธอ ...ท่ามกลางสถานการณ์แห่งความขัดแย้งและสงคราม ขอให้พวกเธอก้าวหน้าต่อไปบนวิถีทางสู่สันติภาพ วิถีทางซึ่งสตรีที่กล้าหาญและมีสายตากว้างไกลมากมายได้เคยก้าวไปก่อนพวกเธอนั้นแล้ว”

สารฉบับนี้กล่าวไว้ว่า ก่อนอื่นใดทั้งหมด สตรีต้องทะนุถนอมสันติภายในของตัวเอง สันติภาพภายในมาจากการตระหนักรู้ว่าตนเป็นที่รักของพระเป็นเจ้า และมาจากความปรารถนาตอบสนองต่อความรักของพระองค์ ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยชีวิตอันน่าอัศจรรย์มากมายของบรรดาสตรี และได้ประสบความสำเร็จในการเผชิญหน้ากับสถานการณ์อันยากลำบากแห่งการกดขี่เบียดเบียน การเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง และสงคราม

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 ระบุไว้ในสารฉบับนี้อย่างชัดเจนว่า “ผู้หญิงจำเป็นต้องช่วยเหลือผู้หญิง” และจำเป็นต้องได้รับความสนับสนุนด้วยความช่วยเหลืออันมีค่าและทรงประสิทธิภาพ จากสมาคมขบวนการ และกลุ่มต่างๆ ซึ่งหลายกลุ่มเป็นองค์กรที่มีมิติทางศาสนา

สถาบันครอบครัวคือ “โรงเรียนแห่งแรกและเป็นรากฐานของการดำรงชีวิตสังคม” เป็นโรงเรียนสันติภาพแห่งแรกและดั้งเดิม

สารฉบับนี้กล่าวว่า เรากำลังเผชิญหน้ากับการเพิ่มขึ้นอย่างมากมายเหลือเชื่อของความรุนแรงทุกประเภทในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ปัจเจกชนเท่านั้น แต่รวมทั้งกลุ่มชนทั้งหมดเองดูเหมือนว่ากำลังสูญเสียความสำนึกว่าต้องเคารพต่อชีวิตมนุษย์ สตรี และเด็กๆ ซึ่งโชคร้ายที่บ่อยครั้งผู้หญิงและเด็กตกเป็นเหยื่อแห่งความรุนแรงอันมืดบอด และกลายเป็นเหยื่อของพฤติกรรมอันป่าเถื่อนรุนแรงผิดวิสัยมนุษย์

ในข้อสุดท้ายของสารฉบับนี้ ระบุไว้ว่า พระนางมารีย์ ราชินีแห่งสันติภาพ เป็นแม่แบบที่ใกล้ชิดกับสตรีในยุคสมัยของเรา พระนางมารีย์มีชีวิตอยู่ด้วยสำนึกอันลึกซึ้งต่อความรับผิดชอบในแผนการของพระเป็นเจ้า

และพระเป็นเจ้าสถิตอยู่กับพระนางมารีย์และโดยทางพระนางมารีย์ พระเป็นเจ้าได้ทรงเริ่มงานการสร้างสรรค์ใหม่ และเริ่มประวัติศาสตร์ใหม่ในโลกมนุษย์

เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
สาระสำคัญของสารวันสันติภาพสากล ปี 1994/2537 : ครอบครัว : สรรค์สร้างสันติในครอบครัวมนุษยชาติ พิมพ์
Friday, 19 May 2006

สาระสำคัญของสารวันสันติภาพสากล
ของสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น พอล ที่ 2
1 มกราคม 1994/2537
ครอบครัว : สรรค์สร้างสันติในครอบครัวมนุษยชาติ

“บางครั้งดูเหมือนว่าสันติภาพเป็นจุดหมายที่ไม่อาจเอื้อมคว้ามาได้อย่างแท้จริง ในท่ามกลางบรรยากาศอันเย็นชา และบางโอกาสก็เต็มไปด้วยพิษร้ายแห่งความเกลียดชัง ใครเล่าจะสามารถหวังถึงรุ่งอรุณแห่งยุคของสันติภาพได้ ยุคสันติภาพนี้จะเกิดขึ้นก็ด้วยอาศัยความสำนึกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันและความรักเท่านั้น”


แม้บทเริ่มต้นของสารฉบับนี้จะเป็นเหมือนการท้อแท้สิ้นหวังกับโลกในช่วงเวลานั้น แต่สารฉบับนี้ยังปลอบประโลมใจของเราว่า พวกเราต้องไม่สูญเสียขวัญและกำลังใจ เราย่อมรู้อยู่ว่า สันติภาพเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะนั่นเป็นแผนการของพระเป็นเจ้าตั้งแต่เริ่มต้น

พระเป็นเจ้าต้องการให้มนุษยชาติอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว ปรองดอง และสันติ โดยเริ่มจากในครอบครัวของคนทุกคน

ครอบครัวเป็นชุมชนพื้นฐานและชุมชนสำคัญในการให้การศึกษา และหน้าที่พิเศษสุดของครอบครัวคือ “การมีส่วนช่วยสร้างอนาคตแห่งสันติภาพ” เพราะคุณธรรมภายในบ้านอันตั้งมั่นอยู่บนความเคารพอย่างลึกซึ้งต่อชีวิตและต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์ ทั้งปฏิบัติออกมาด้วยความเข้าอกเข้าใจกัน อดทน ให้กำลังใจ ให้อภัยกันและกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้ครอบครัวมีประสบการณ์พื้นฐานของสันติภาพอย่างชัดเจน
ซึ่งวัฒนธรรมแห่งสันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้ “หากไร้ซึ่งความรักและการให้อภัย”

แต่บ่อยครั้งในปัจจุบัน ที่ครอบครัวกลายเป็นเวทีแห่งความตึงเครียดและการกดขี่ หรือเป็นเหยื่อของความรุนแรง การทะเลาะเบาะแว้งของพ่อแม่ การทอดทิ้งและปฏิบัติต่อกันอย่างไม่เหมาะสม การแยกทางกันของคู่รัก การหย่าร้างที่ทวีจำนวนขึ้นทุกขณะ นี่คือ “โรคระบาดร้ายแรง” ในสังคม

อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งที่ขัดขวางการพัฒนาสันติภาพในสังคม ที่สารฉบับนี้กล่าวถึงก็คือ มีเด็กๆ จำนวนมากมายเหลือเกินถูกตัดขาดจากความอบอุ่นของครอบครัว มีเด็กจำนวนนับพัน ไม่มีบ้าน มีแต่ถนน และไม่สามารถพึ่งพาอาศัยใครได้นอกจากตนเอง เด็กข้างถนนบางคนต้องตายอย่างสุดเศร้า บางคนถูกลวงเข้าสู่กระบวนการค้ายาเสพติด การค้าประเวณี และบ่อยครั้งที่พวกเขาเดินเข้าสู่ปลายทางขององค์การอาชญากรรม

อนาคตของสังคมอยู่ในขั้นอันตราย ชุมชนที่ปฏิเสธเด็กๆ หรือกีดกันเด็กๆ ให้ออกไปสุดขอบสังคม หรือปล่อยให้พวกเขาตกอยู่ในสถานการณ์อันหมดหวัง ชุมชนนั้นย่อมไม่อาจรู้จักสันติภาพ

ถ้าเราจะหวังให้อนาคตมีสันติภาพ เด็กๆ ทุกคนจะต้องได้รับประสบการณ์ ความอบอุ่นของการเอาใจใส่ดูแลอย่างสม่ำเสมอ มิใช่การทรยศและการกดขี่ สารฉบับนี้กล่าวไว้ว่า ถึงแม้รัฐจะสามารถจัดเตรียมวิธีการและโครงสร้างต่างๆ ไว้แล้วก็ตาม แต่ไม่มีใครสามารถทำหน้าที่แทนครอบครัวในอันที่จะให้บรรยากาศของความปลอดภัยและความไว้วางใจได้

ในฐานะที่ครอบครัวเป็นหัวใจของสังคม ครอบครัวมีสิทธิได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐ กฎหมายของรัฐต้องมุ่งส่งเสริมสวัสดิภาพของครอบครัว ช่วยครอบครัวให้ทำหน้าที่ของตนให้สำเร็จ

ตั้งแต่บรรทัดแรกจนท้ายสุดของสารฉบับนี้ ทำให้เรารู้อย่างแน่ชัดว่า ครอบครัวมีภารกิจเบื้องต้นที่สำคัญมากคือการมีส่วนร่วมสร้างสังคมให้เกิดสันติภาพ และจะขาดเสียมิได้ซึ่งความเคารพต่อชีวิตมนุษย์ และการพัฒนาของชีวิต



เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
สาระสำคัญของสารวันสันติภาพสากล ปี 1993/2536 : หากท่านปรารถนาสันติ จงเข้าหาคนยากจน พิมพ์
Friday, 19 May 2006

สาระสำคัญของสารวันสันติภาพสากล
ของสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น พอล ที่ 2
1 มกราคม 1993/2536
หากท่านปรารถนาสันติ จงเข้าหาคนยากจน

“มีใครคนใดบ้างที่ไม่ต้องการสันติภาพ”
คำเริ่มต้นของสารฉบับนี้ เป็นทั้งการตั้งคำถามและท้าทายโลกของเราเป็นอย่างยิ่ง

ในช่วงเวลาที่สารฉบับนี้ออกมานั้น ความหวาดกลัวสงครามระหว่างกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์ขัดแย้งกันได้หมดไปแล้ว แต่ความขัดแย้งที่รุนแรงภายในกำลังคุกรุ่นขึ้นในทุกส่วนของโลก เช่น สถานการณ์บอสเนีย-เฮอร์เชโกวินา ซึ่งสงครามได้คร่าชีวิตผู้คนเพิ่มขึ้นทุกวัน และดูเหมือนไม่มีอะไรจะมาหยุดยั้งความรุนแรงที่ปราศจากสติสัมปชัญญะของอาวุธสงครามได้

ในย่อหน้าที่สองของสารระบุอย่างชัดเจนว่า “โลกของเราปรากฏหลักฐานที่แสดงถึง “การคุกคามที่อันตรายต่อสันติภาพ” มากขึ้น คนเป็นจำนวนมากและประชาชนหลายชาติ กำลังมีชีวิตอยู่ในสภาพที่ยากจนสุดขีด ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมีมากขึ้น แม้แต่ในประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว นี่เป็นปัญหาที่มโนธรรมของมนุษยชาติไม่ควรมองข้าม เนื่องจากสภาพที่ผู้คนจำนวนมากกำลังดำรงอยู่นั้น เป็นการดูถูกศักดิ์ศรีภายในของพวกเขาเอง และเป็นผลคุกคามต่อความก้าวหน้าอย่างแท้จริงที่จะประสานกลมเกลียวกันของชุมชนโลก”

สารฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า การพูดถึงคำว่า “สันติภาพ” นั้น มีความหมายมากไปกว่าการไม่มีสงคราม เป็นการยืนยันเงื่อนไขของการเคารพอย่างแท้จริงต่อศักดิ์ศรีและสิทธิของมนุษย์ทุกคน อันเป็นเงื่อนไขซึ่งทำให้สามารถไปถึงความสำเร็จสมบูรณ์ ซึ่งการเอารัดเอาเปรียบคนอ่อนแอ ความยากจนข้นแค้นที่ยังมีอยู่ทั่วไป และความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ย่อมก่อให้เกิดความล่าช้าและเป็นอุปสรรคในการทำให้เกิดสันติภาพโดยแท้จริง

สารฉบับนี้ได้สรุปถึงปัญหาต่างๆ ที่ได้ทำร้ายคนยากจนและในที่สุดก็คุกคามสันติภาพ เช่น ปัญหาหนี้สินต่างประเทศ ยาเสพติด ซึ่งเกี่ยวพันกับความรุนแรงและอาชญากรรม หรือสถานการณ์ที่บางประเทศมีสภาพทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศที่เจริญกว่า ซึ่งเป็นการทำให้เกิดความตึงเครียดอันรบกวนระเบียบสังคม

สมเด็จพระสันตะปาปา กล่าวไว้ว่า “ความยากจนขาดแคลนเป็นสาเหตุที่ซ่อนเร้น แต่เป็นสาเหตุที่แท้จริงของการคุกคามสันติภาพ การลดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ทำให้เกิดการทำร้ายที่รุนแรงต่อคุณค่าของชีวิต และเป็นการโจมตีหัวใจของการพัฒนาอย่างสันติของสังคม”

สารฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า ประเทศอุตสาหกรรม ผู้คนถูกครอบงำด้วยความบ้าคลั่งและแข่งกันทางวัตถุข้าวของ สังคมบริโภคทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนยากจนนั้นชัดเจนขึ้น และการไขว่คว้าหาความสุขสบายในชีวิตอย่างไม่หยุดยั้ง กำลังปิดตาประชาชนมิให้มองเห็นความต้องการของผู้อื่น ในการที่จะส่งเสริมสวัสดิการทางสังคม เศรษฐกิจ และสวัสดิภาพทางวัฒนธรรม และจิตใจนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหยุดยั้งการบริโภคอย่างไม่จำกัด

สารฉบับนี้ระบุไว้อีกว่า “การรู้จักประมาณและความเรียบง่าย ควรจะเป็นบรรทัดฐานในชีวิตประจำวันของเรา” ปริมาณสินค้าซึ่งบริโภคโดยประชากรเพียงส่วนน้อยของโลกนั้น มีมากเกินทรัพยากรที่มีอยู่จะตอบสนองได้ การลดความต้องการลงเป็นก้าวแรกที่ทำได้ในการขจัดปัดเป่าความยากจน ซึ่งจะต้องทำควบคู่ไปกับมาตรการที่จะประกันว่าทรัพย์สินของโลกจะถูกกระจายอย่างยุติธรรม

ย่อหน้าสุดท้ายของสารฉบับนี้กล่าวอย่างหนักแน่นว่า “หากท่านปรารถนาสันติ จงเข้าหาคนยากจน” และให้คนรวยและคนจนรับรู้ว่าพวกเขาเป็นพี่น้องกัน ให้พวกเขาแบ่งปันซึ่งกันและกัน เยี่ยงบุตรของพระเจ้าผู้ทรงรักทุกคน ทรงปรารถนาดีกับทุกคน และทรงประทานพระคุณแห่งสันติภาพแก่ทุกคน

เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
<< หน้าแรก < ย้อนกลับ 91 92 93 94 95 หน้าถัดไป > หน้าสุดท้าย >>

ผลลัพธ์ 811 - 819 จาก 848